จงวางใจพระยะโฮวา—พระองค์จะช่วยคุณอย่างแน่นอน
จงวางใจพระยะโฮวา—พระองค์จะช่วยคุณอย่างแน่นอน
เล่าโดย เอดมันด์ ชมิดท์
ก่อนผมจะไปขึ้นศาลที่นิวยอร์กในเดือนตุลาคม ปี 1943 ผมระลึกถึงคำแนะนำข้างต้น. ตอนที่ผมอายุครบ 25 ปี ผมติดคุกมาเกือบสี่ปีแล้ว เนื่องจากรักษาความเป็นกลางตามหลักการคริสเตียน. เช่นเดียวกับสาวกของพระเยซูในศตวรรษแรก ผมตั้งใจแน่วแน่ที่จะ “เชื่อฟังพระเจ้าในฐานะผู้มีอำนาจปกครอง ไม่ใช่เชื่อฟังมนุษย์.” (กิจการ 5:29) แต่ก่อนที่ผมจะบอกคุณเกี่ยวกับเรื่องนี้ ผมจะเล่าให้ฟังว่าผมได้มีความเชื่ออย่างมั่นคงในพระเจ้าเช่นนั้นได้อย่างไร.
ผมเกิดวันที่ 23 เมษายน 1922 ที่เมืองคลีฟแลนด์ รัฐโอไฮโอ สหรัฐอเมริกาในอพาร์ตเมนต์ของเราบนชั้นสองของร้านขนมปังของพ่อ. สี่เดือนต่อมา เอดมันด์พ่อของผมเข้าร่วมการประชุมใหญ่ของนักศึกษาคัมภีร์ไบเบิล (ชื่อเรียกพยานพระยะโฮวาในสมัยนั้น) ที่เมืองซีดาร์พอยต์ใกล้กับเมืองแซนดัสกีซึ่งอยู่ห่างจากบ้านของเราประมาณ 160 กิโลเมตร.
ที่การประชุมนั้นผู้มาร่วมประชุมได้รับการกระตุ้นให้ “โฆษณา, โฆษณา, โฆษณากษัตริย์ของ [พระเจ้า] และราชอาณาจักรของพระองค์.” วันอาทิตย์ถัดมา พ่อของผมก็เริ่มเข้าร่วมในงานนี้. ท่านทำงานนี้ต่อไปอีก 66 ปีจนกระทั่งเสียชีวิตในวันที่ 4 กรกฎาคม 1988. ส่วนแมรีแม่ของผมได้รักษาความซื่อสัตย์ต่อพระเจ้าจนกระทั่งเสียชีวิตในปี 1981.
ร่วมกับพ่อแม่ในการนมัสการพระเจ้า
ครอบครัวของเราสมทบกับประชาคมที่ใช้ภาษาโปแลนด์ในคลีฟแลนด์. ทุกวันเสาร์ตอนบ่าย พวกเราหลายคนซึ่งเป็นเด็กได้ออกไปประกาศข่าวดีตามบ้านกับพวกผู้ใหญ่. ทุกวันอาทิตย์พ่อแม่ของเราจะฟังคำบรรยายเกี่ยวกับคัมภีร์ไบเบิลที่ห้องใหญ่ในหอประชุม. ในเวลาเดียวกัน ครูคนหนึ่งที่มีประสบการณ์จะนำการศึกษาคัมภีร์ไบเบิลกับพวกเราประมาณ 30 คนโดยใช้หนังสือคู่มือที่ชื่อพิณของพระเจ้า (ภาษาอังกฤษ). * ไม่ช้าผมเองก็นำการศึกษาคัมภีร์ไบเบิลกับหลายคนและพวกเขาก้าวหน้าเป็นอย่างดี.
ในเดือนกรกฎาคมปี 1931 ครอบครัวของเราซึ่งตอนนี้มีสมาชิกอีกหนึ่งคนคือแฟรงก์น้องชายของผมได้ไปร่วมการประชุมใหญ่ของกลุ่มนักศึกษาคัมภีร์ไบเบิลและคราวนี้จัดขึ้นที่เมืองโคลัมบัส ห่างจากบ้านของเราไปทางใต้ประมาณ 160 กิโลเมตร. ในการประชุมครั้งนี้เองที่นักศึกษาคัมภีร์ไบเบิลได้รับเอาชื่อตามพระคัมภีร์ว่าพยานพระยะโฮวาด้วยความภาคภูมิใจ. (ยะซายา 43:10-12) ในช่วง การประชุมนั้น ผมได้ร่วมออกไปประกาศเชิญชวนผู้คนให้มาฟังคำบรรยายของเจ. เอฟ. รัทเทอร์ฟอร์ด ซึ่งเป็นผู้นำหน้าในกิจการงานของพยานพระยะโฮวาในเวลานั้น. ตลอด 79 ปีนับจากนั้นมา ผมได้ทุ่มเทชีวิตให้กับการรับใช้พระยะโฮวาร่วมกับประชาชนของพระองค์.
มีความยินดีในงานรับใช้ แม้ในยามยากลำบาก
เมื่อถึงปี 1933 ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ส่งผลกระทบไปทั่วโลก. ในสหรัฐ ประชาชนมากกว่า 15 ล้านคนหรือหนึ่งในสี่ของคนวัยทำงานไม่มีงานทำ. เมืองต่าง ๆ ประสบภาวะล้มละลาย และคนยากจนไม่ได้รับความช่วยเหลือหรือสวัสดิการใด ๆ จากรัฐ. กระนั้น พี่น้องคริสเตียนได้ช่วยเหลือกันและกัน. ทุกวันอาทิตย์ครอบครัวของเราจะเอาขนมปังและขนมต่าง ๆ จากร้านของเราไปแบ่งพี่น้องที่หอประชุม. เงินทั้งหมดที่เหลือจากค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือน พ่อได้ส่งไปที่สำนักงานใหญ่ของพยานพระยะโฮวาที่บรุกลิน นิวยอร์ก. ท่านรู้ว่าเงินเหล่านี้จะมีส่วนช่วยในงานพิมพ์หนังสือต่าง ๆ เกี่ยวกับคัมภีร์ไบเบิล.
ในช่วงนั้น การกระจายเสียงทางวิทยุมีบทบาทมากในงานประกาศของเรา. สถานีวิทยุมากกว่า 400 สถานีได้ถ่ายทอดคำบรรยายต่าง ๆ จากการประชุมใหญ่ของเรา. ในทศวรรษ 1930 พยานฯ ยังได้ประดิษฐ์หีบเสียงแบบกระเป๋าหิ้วและแผ่นเสียงที่โรงงานในบรุกลิน. เราใช้สิ่งเหล่านี้ในงานประกาศและส่งรายงานว่าเราเปิดแผ่นเสียงคำบรรยายเรื่องคัมภีร์ไบเบิลให้คนที่ไม่ใช่พยานฯ ฟังกี่ครั้งและมีคนฟังกี่คน.
ในปี 1933 อะดอล์ฟ ฮิตเลอร์และพรรคนาซียึดครองอำนาจในเยอรมนี. พยานพระยะโฮวาที่นั่นถูกข่มเหงอย่างรุนแรงเพราะรักษาความเป็นกลางตามหลักการคริสเตียน. (โยฮัน 15:19; 17:14) เนื่องจากพวกเขาไม่ยอมเข้าร่วมในกิจกรรมทางการเมืองหรือสดุดีฮิตเลอร์ พยานฯ ในเยอรมนีจำนวนมากจึงถูกจำคุกหรือถูกส่งไปยังค่ายกักกัน. หลายคนถูกฆ่า ส่วนคนอื่น ๆ ถูกบังคับให้ทำงานหนักจนตาย. เนื่องจากถูกปฏิบัติอย่างโหดร้าย หลายคนจึงเสียชีวิตหลังจากถูกปล่อยตัวได้ไม่นาน. อย่างไรก็ตาม เรื่องที่ไม่ค่อยรู้กันมากนักคือ มีการข่มเหงพยานพระยะโฮวาในประเทศอื่น ๆ ด้วยรวมทั้งในสหรัฐ.
ในปี 1940 เราเข้าร่วมการประชุมใหญ่ที่ดีทรอยต์ รัฐมิชิแกน. ที่การประชุมนั้น ในวันที่ 28 กรกฎาคม ผมได้รับบัพติสมาเป็นสัญลักษณ์ของการอุทิศตัวแด่พระยะโฮวาพระเจ้า. เดือนก่อนหน้าที่จะมีการประชุม ศาลสูงของสหรัฐได้ประกาศว่าการไม่เคารพธงถือเป็นการทำผิดกฎหมายของประเทศและมีโทษถึงขั้นถูกไล่ออกจากโรงเรียน. พยานฯ จะทำอย่างไร? พยานฯ หลายคนตั้งโรงเรียนขึ้นเองเพื่อให้ลูกได้ศึกษาเล่าเรียน. โรงเรียนเหล่านี้เรียกว่า โรงเรียนราชอาณาจักร.
สงครามโลกครั้งที่ 2 เริ่มขึ้นที่ยุโรปในเดือนกันยายน ปี 1939 และกระแสของการคลั่งสงครามแพร่ไปทั่วสหรัฐ.
เยาวชนพยานฯ ถูกทั้งเยาวชนด้วยกันและผู้ใหญ่ที่ไม่เข้าใจจุดยืนของเราทำร้ายและทุบตี. มีรายงานว่าตั้งแต่ปี 1940 ถึง 1944 พยานพระยะโฮวาในสหรัฐถูกฝูงชนรุมทำร้ายมากกว่า 2,500 ครั้ง. มีการข่มเหงมากขึ้นหลังจากเพิร์ล ฮาร์เบอร์ถูกญี่ปุ่นโจมตีในวันที่ 7 ธันวาคม 1941. ก่อนหน้านั้นไม่กี่สัปดาห์ ผมเพิ่งเริ่มเป็นไพโอเนียร์ซึ่งเป็นชื่อเรียกผู้ประกาศเผยแพร่เต็มเวลาของพยานพระยะโฮวา. ผมเก็บเงินและซื้อรถพ่วงขนาด 7 เมตรเพื่อใช้เป็นที่พัก และพวกเราหลายคนย้ายไปลุยเซียนาเพื่อประกาศที่นั่น.การข่มเหงในรัฐทางใต้
ชาวบ้านบางคนอนุญาตให้เราจอดรถพ่วงได้ในไร่ถั่วพีแคนแห่งหนึ่งซึ่งอยู่ใกล้เมืองชอนเนอแรต. วันเสาร์วันหนึ่งเราตัดสินใจจะไปประกาศตามถนน แต่หัวหน้าตำรวจเรียกลูกน้องของเขามาจับเราและพาเข้าไปในที่ว่าการอำเภอ. หลังจากนั้น มีคนประมาณ 200 คนมาชุมนุมกันด้านหน้าอาคาร แล้วตำรวจก็ปล่อยเราออกไปให้พวกเขาโดยไม่มีการคุ้มกันใด ๆ. เราโล่งใจที่ฝูงชนเปิดทางให้เราเดินผ่านไป. วันรุ่งขึ้น เราไปที่เมืองใหญ่ชื่อแบตันรูชซึ่งอยู่ใกล้ ๆ เพื่อบอกเพื่อนพยานฯ ถึงเรื่องที่เกิดขึ้น.
เมื่อกลับมาที่ชอนเนอแรต เราพบกระดาษแผ่นหนึ่งติดอยู่ที่ประตูรถพ่วงของเรา เขียนว่า “โปรดมาพบผมที่บ้านพักคนงานบ่อน้ำมัน.” ลงชื่อ “อี. เอ็ม. วอห์น.” เราไปพบกับคุณวอห์น และเขาเชิญเราไปรับประทานอาหารกับเขาและภรรยา. เขาบอกว่าเขากับคนงานของเขาอยู่ในกลุ่มฝูงชนเมื่อวันเสาร์ด้วย และถ้าจำเป็นเขาก็พร้อมจะช่วยปกป้องเราจากฝูงชน. เรารู้สึกขอบคุณสำหรับกำลังใจและน้ำใจของเขา.
วันต่อมา ผู้ช่วยนายอำเภอหลายคนถือปืนมาจับเราและยึดหนังสือของเราไป. พวกเขายึดกุญแจรถพ่วงของผมและจับผมขังเดี่ยวอยู่ 17 วันโดยแทบจะไม่ให้อะไรกิน. คุณวอห์นพยายามช่วยเราแต่ไม่สำเร็จ. ระหว่างที่เราถูกจับ ฝูงชนกลุ่มเดิมก็มาเอาข้าวของของเราไป ส่วนของที่เหลือก็เผาทิ้งหมด รวมทั้งรถพ่วงของผมด้วย. ในตอนนั้น ผมไม่รู้เลยว่าพระยะโฮวากำลังเตรียมผมให้พร้อมสำหรับสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้น.
ถูกขังคุกในรัฐทางเหนือ
หลังจากกลับไปอยู่ทางเหนือได้หนึ่งเดือน ผมก็ได้รับแต่งตั้งไปเป็นไพโอเนียร์พิเศษที่โอลีน, นิวยอร์ก พร้อมกับเพื่อนพยานฯ บางคน. เมื่ออยู่ที่นั่น รัฐบาลเรียกตัวผมให้ไปขึ้นทะเบียนทหาร และผมถูกจัดอยู่ในกลุ่มที่ปฏิเสธการเป็นทหารเนื่องจากสติรู้สึกผิดชอบ. หลังจากผ่านการตรวจสภาพร่างกายและจิตใจ เอกสารของผมถูกประทับตราว่า “รอเข้ารับการฝึกเป็นนายทหาร.”
ผมสามารถทำงานไพโอเนียร์ต่อไปได้อีกหนึ่งปีหรือราว ๆ นั้น. ต่อมาในปี 1943 เนื่องจากผมไม่ยอมเลิกทำงานประกาศและไม่ไปรายงานตัวเข้ารับการฝึก เอฟบีไอจึงจับผมและสั่งให้ผมไปรายงานตัวที่ศาลรัฐบาลกลางในเมืองซีราคิวส์ รัฐนิวยอร์กสัปดาห์ถัดไป. ผมถูกตั้งข้อหา และหลังจากนั้นสองวันก็ถึงกำหนดที่ผมต้องไปขึ้นศาล.
ผมเป็นทนายแก้ต่างให้ตัวเอง. ที่การประชุมคริสเตียน พวกเราเยาวชนพยานฯ ได้รับการสอนให้รู้วิธีพูดปกป้องสิทธิของตัวเองตามรัฐธรรมนูญและวิธีปฏิบัติตัวอย่างเหมาะสมเมื่อต้องขึ้นศาล. ผมจำคำแนะนำดังที่กล่าวในตอนเริ่มเรื่องได้แม่นทีเดียว. อัยการบางคนถึงกับบ่นที่พวกพยานฯ รู้กฎหมายมากกว่าพวกเขาเสียอีก! อย่างไรก็ตาม คณะลูกขุนตัดสินว่าผมมีความผิด. เมื่อผู้พิพากษาถามว่าผมมีอะไรจะพูดอีกไหม ผมตอบเพียงว่า “วันนี้ประเทศนี้ก็ถูกพระเจ้าตั้งข้อหาแล้วเพราะสิ่งที่ได้ปฏิบัติกับผู้รับใช้ของพระองค์.”
ผมถูกตัดสินจำคุกเป็นเวลาสี่ปีในเรือนจำกลางที่ชิลลิคอที รัฐโอไฮโอ. เมื่ออยู่ที่นั่นผมได้ทำงานเป็นเลขานุการของเจ้าหน้าที่คนหนึ่งในเรือนจำ. หลังจากทำงานได้ไม่กี่สัปดาห์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายสอบสวนพิเศษคนหนึ่งจากวอชิงตัน ดี. ซี. ก็มาที่สำนักงานและบอกว่าพวกเขากำลังสอบสวนเฮย์เดน คัฟวิงตัน. เฮย์เดน คัฟวิงตันเป็นทนายของพยานพระยะโฮวาและเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางว่าเป็นทนายด้านกฎหมายรัฐธรรมนูญที่เก่งที่สุดคนหนึ่งของอเมริกา.
เจ้าหน้าที่ฝ่ายสอบสวนพิเศษคนนั้นบอกว่าเขาต้องการแฟ้มประวัติของนักโทษสองคนคือ แดนนี เฮอร์ทาโด และ
เอดมันด์ ชมิดท์. หัวหน้าของผมตอบว่า “ช่างบังเอิญเหลือเกิน คนนี้แหละคุณชมิดท์.” เจ้าหน้าที่คนนั้นมาทำงานนี้อย่างลับ ๆ แต่ทันใดนั้น เขาก็ได้รู้ว่าเรื่องทั้งหมดไม่เป็นความลับอีกต่อไป. หลังจากนั้นไม่นานผมก็ถูกย้ายไปทำงานในครัว.เป็นไพโอเนียร์, เข้าเบเธล, และแต่งงาน
วันที่ 26 กันยายน 1946 ผมถูกปล่อยตัวโดยมีการคุมประพฤติ และผมกลับไปเป็นไพโอเนียร์อีกครั้งหนึ่งที่ประชาคมไฮแลนด์ พาร์กในแคลิฟอร์เนีย. ต่อมาในเดือนกันยายน ปี 1948 เป้าหมายที่ผมตั้งไว้นานมาแล้วก็กลายเป็นจริง. ผมได้รับเชิญไปเป็นคนทำขนมปังที่สำนักงานใหญ่ (เบเธล) ที่บรุกลิน ซึ่งเป็นที่ผลิตหนังสืออธิบายคัมภีร์ไบเบิลสำหรับใช้ในงานประกาศทั่วโลก. ตอนนั้นผมเป็นพ่อครัวทำขนมอยู่ในภัตตาคารแห่งหนึ่งที่เมืองเกลนเดล. ผมลาออกจากงานทันทีและย้ายมาอยู่ที่เบเธล.
เจ็ดปีต่อมา ในปี 1955 มีการจัดการประชุมนานาชาติขึ้นหลายแห่งในยุโรป. ครอบครัวของผมออกเงินให้ผมไปร่วมการประชุมเหล่านั้น. ผมมีความสุขที่ได้เข้าร่วมการประชุมใหญ่ที่ลอนดอน, ปารีส, โรม, โดยเฉพาะอย่างยิ่งนือเรมแบร์ก เยอรมนี ซึ่งมีมากกว่า 107,000 คนได้ร่วมประชุมในสนามกีฬาขนาดใหญ่ที่ฮิตเลอร์เคยเดินตรวจกองทหารของเขาด้วยความภาคภูมิใจ. พยานพระยะโฮวาหลายคนในการประชุมนั้นเป็นผู้ที่ฮิตเลอร์เคยลั่นวาจาไว้ว่าจะต้องกำจัดให้ได้. นับว่าเป็นประสบการณ์ที่น่าตื่นเต้นจริง ๆ ที่ได้อยู่กับพวกเขา!
ที่การประชุมในนือเรมแบร์ก ผมได้พบรักกับพยานฯ สาวชาวเยอรมันคนหนึ่งชื่อบรีกิทเท แกร์วีน. หลังจากนั้นไม่ถึงหนึ่งปีเราก็แต่งงานกัน และกลับมาอยู่ใกล้ ๆ พ่อแม่ของผมที่เกลนเดล. ทอม ลูกชายคนแรกของเราเกิดในปี 1957 และดอน ลูกชายคนที่สองเกิดในปี 1958 และลูกสาวชื่อซาบีนาเกิดในปี 1960.
ชีวิตที่คุ้มค่าและมีความสุข
มีคนถามผมว่าเคยนึกเสียใจบ้างไหมที่ถูกฝูงชนก่อกวนและถูกจำคุกเพราะรับใช้พระเจ้า. ตรงกันข้าม ผมขอบคุณพระยะโฮวาที่มีสิทธิพิเศษได้รับใช้พระองค์ร่วมกับผู้รับใช้ที่ซื่อสัตย์อีกมากมาย. และผมหวังว่าประสบการณ์ของผมจะกระตุ้นคนอื่น ๆ ให้ใกล้ชิดพระเจ้ามากขึ้นและไม่ละทิ้งพระองค์.
ผู้รับใช้พระเจ้าหลายคนประสบกับความทุกข์แสนสาหัสเนื่องจากรับใช้พระองค์. แต่นั่นเป็นสิ่งที่เราได้รับการเตือนล่วงหน้าแล้วมิใช่หรือ? คัมภีร์ไบเบิลบอกว่า “ทุกคนที่ปรารถนาจะดำเนินชีวิตด้วยความเลื่อมใสพระเจ้าในฐานะสาวกพระคริสต์เยซูจะถูกข่มเหงด้วย.” (2 ติโมเธียว 3:12) แต่ถ้อยคำในบทเพลงสรรเสริญ 34:19 พิสูจน์แล้วว่าเป็นความจริงสักเพียงไรที่ว่า “เหตุอันตรายมากหลายย่อมเกิดแก่ผู้สัตย์ธรรม; แต่พระยะโฮวาทรงช่วยเขาให้พ้นจากเหตุทั้งปวงเหล่านั้น”!
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 7 จัดพิมพ์โดยพยานพระยะโฮวา แต่ปัจจุบันเลิกพิมพ์แล้ว.
[ภาพหน้า 27]
การประกาศในลุยเซียนาต้นทศวรรษ 1940
[ภาพหน้า 29]
เป็นคนทำขนมปังให้สมาชิกในสำนักงานใหญ่
[ภาพหน้า 29]
กับบรีกิทเท ภรรยาของผม