ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

หลายคนกลัวอะไร?

หลายคนกลัวอะไร?

หลาย​คน​กลัว​อะไร?

“คุณ​ไม่​จำเป็น​ต้อง​มี​ศาสนา​จึง​จะ​เชื่อ​ว่า​เรา​กำลัง​มุ่ง​ไป​สู่​ความ​หายนะ.”—สตีเฟน โอลิรี, ผู้​ช่วย​ศาสตราจารย์​จาก​มหาวิทยาลัย​เซาเทิร์น​แคลิฟอร์เนีย. *

คุณ​เห็น​ด้วย​กับ​คำ​กล่าว​นั้น​ไหม? บทความ​ชุด​นี้​ไม่​เพียง​พิจารณา​เหตุ​ผล​บาง​อย่าง​ที่​ผู้​คน​กลัว​อนาคต แต่​จะ​แสดง​ให้​เห็น​ด้วย​ว่า​ทำไม​คุณ​สามารถ​มั่น​ใจ​ได้​ว่า​ชีวิต​จะ​ไม่​สิ้น​สูญ​ไป​จาก​โลก. มี​เหตุ​ผล​หนักแน่น​ที่​จะ​มอง​อนาคต​ใน​แง่​ดี​แม้​จะ​มี​รายงาน​หลาย​เรื่อง​ที่​น่า​กังวล​ดัง​ที่​คุณ​จะ​เห็น​ต่อ​ไป​นี้.

ยัง​มี​โอกาส​สูง​ที่​จะ​เกิด​สงคราม​นิวเคลียร์. ใน​ปี 2007 วารสาร​แถลง​การณ์​ของ​นัก​วิทยาศาสตร์​สาขา​ปรมาณู (ภาษา​อังกฤษ) เตือน​ว่า “ตั้ง​แต่​มี​การ​ทิ้ง​ระเบิด​ปรมาณู​ที่​ฮิโรชิมา​และ​นางาซากิ โลก​ก็​ต้อง​เผชิญ​กับ​การ​ตัดสิน​ใจ​อย่าง​ที่​ไม่​เคย​มี​มา​ก่อน​ใน​เรื่อง​การ​ใช้​อาวุธ​ที่​อาจ​ก่อ​มหันตภัย​นี้.” ทำไม​จึง​มี​ความ​กังวล​เช่น​นั้น? วารสาร​นี้​รายงาน​ว่า​ใน​ปี 2007 ยัง​มี​อาวุธ​นิวเคลียร์​เหลือ​อยู่​ประมาณ 27,000 ลูก​และ​ใน​จำนวน​นี้​มี 2,000 ลูก​ที่ “พร้อม​จะ​ทำ​งาน​ได้​ทันที.” ถ้า​อาวุธ​เหล่า​นี้​แม้​เพียง​จำนวน​เล็ก​น้อย​ระเบิด​ขึ้น ทั้ง​โลก​ก็​จะ​พินาศ​วอด​วาย!

ตั้ง​แต่​ปี 2007 โอกาส​ที่​จะ​เกิด​สงคราม​นิวเคลียร์​ได้​ลด​ลง​ไหม? หนังสือ​ประจำ​ปี 2009 ของ​สถาบัน SIPRI * * กล่าว​ว่า ห้า​ชาติ​มหาอำนาจ​ทาง​นิวเคลียร์​ซึ่ง​ได้​แก่ จีน, ฝรั่งเศส, รัสเซีย, สหราชอาณาจักร, และ​สหรัฐ ล้วน​แต่ “ได้​เริ่ม​ใช้​อาวุธ​นิวเคลียร์​ชนิด​ใหม่ ๆ หรือ​ประกาศ​เจตนารมณ์​ว่า​จะ​ทำ​เช่น​นั้น.” แต่​หนังสือ​ดัง​กล่าว​บอก​ว่า​นอก​จาก​ประเทศ​เหล่า​นี้​แล้ว​ยัง​มี​ประเทศ​อื่น​ด้วย​ที่​มี​อาวุธ​นิวเคลียร์​ใน​ครอบครอง. เหล่า​นัก​วิจัย​คาด​ว่า​อินเดีย, ปากีสถาน, และ​อิสราเอล​ต่าง​ก็​มี​ระเบิด​นิวเคลียร์​ราว ๆ 60 ถึง 80 ลูก. พวก​เขา​กล่าว​ด้วย​ว่า​ปัจจุบัน​ทั่ว​โลก​มี​อาวุธ​นิวเคลียร์​ทั้ง​สิ้น 8,392 ลูก​ที่​พร้อม​จะ​ทำ​งาน​ได้​ทุก​เมื่อ!

การ​เปลี่ยน​แปลง​สภาพ​อากาศ​อาจ​ทำ​ให้​เกิด​ภัย​พิบัติ. วารสาร​แถลง​การณ์​ของ​นัก​วิทยาศาสตร์​สาขา​ปรมาณู ที่​กล่าว​ถึง​ข้าง​ต้น​ชี้​แจง​ว่า “อันตราย​จาก​การ​เปลี่ยน​แปลง​สภาพ​อากาศ​มี​ความ​ร้ายแรง​พอ ๆ กับ​อันตราย​จาก​อาวุธ​นิวเคลียร์.” นัก​วิทยาศาสตร์​ที่​ได้​รับ​การ​ยอม​รับ เช่น สตีเฟน ฮอว์คิง ศาสตราจารย์​เกียรติ​คุณ​ของ​มหาวิทยาลัย​เคมบริดจ์​และ​เซอร์​มาร์ติน รีส ผู้​อำนวย​การ​ของ​ทรินิตี คอลเลจ​แห่ง​มหาวิทยาลัย​เคมบริดจ์​ก็​เห็น​ด้วย​กับ​คำ​เตือน​ที่​ตรง​ไป​ตรง​มา​นี้. พวก​เขา​คิด​ว่า​การ​ใช้​เทคโนโลยี​อย่าง​ไม่​เหมาะ​สม​และ​กิจกรรม​ของ​มนุษย์​ที่​ส่ง​ผล​กระทบ​ต่อ​สิ่ง​แวด​ล้อม​อาจ​เปลี่ยน​แปลง​สภาพ​ชีวิต​บน​โลก​อย่าง​ที่​ไม่​อาจ​แก้ไข​ได้​หรือ​ถึง​กับ​ทำ​ให้​อารยธรรม​ที่​รุ่งเรือง​ล่ม​สลาย.

คำ​ทำนาย​เกี่ยว​กับ​หายนะ​ทำ​ให้​คน​นับ​ล้าน​หวั่น​วิตก. ลอง​พิมพ์​คำ​ว่า “อวสาน​โลก” และ “2012” ใน​เว็บไซต์​ชื่อ​ดัง​สำหรับ​การ​ค้น​หา​ใน​อินเทอร์เน็ต แล้ว​คุณ​จะ​พบ​คำ​ทำนาย​มาก​มาย​ที่​บ่ง​ชี้​ว่า​อวสาน​ของ​โลก​จะ​เกิด​ขึ้น​ใน​ปี​นั้น. ทำไม​จึง​มี​การ​ทำนาย​เช่น​นั้น? ปฏิทิน​โบราณ​ของ​ชาว​มายา​ซึ่ง​เรียก​ว่า “ปฏิทิน​แบบ​นับ​ยาว” จะ​สิ้น​สุด​ลง​ใน​ปี 2012. หลาย​คน​จึง​กลัว​ว่า​นี่​อาจ​เป็น​สัญญาณ​ว่า​อารยธรรม​อัน​รุ่งเรือง​ที่​เรา​เห็น​อยู่​นี้​จะ​ถึง​กาล​อวสาน.

หลาย​คน​ที่​ศรัทธา​ใน​พระเจ้า​เชื่อ​ว่า​คัมภีร์​ไบเบิล​สอน​เรื่อง​การ​ทำลาย​ล้าง​แผ่นดิน​โลก. พวก​เขา​เชื่อ​ว่า​ทุก​คน​ที่​ศรัทธา​ใน​พระเจ้า​จะ​ถูก​รับ​ขึ้น​ไป​ใน​สวรรค์ ส่วน​มนุษย์​ที่​เหลือ​จะ​ถูก​ทิ้ง​ให้​อยู่​ใน​โลก​ที่​สับสน​วุ่นวาย​หรือ​ไม่​ก็​ถูก​โยน​ลง​ใน​นรก.

แท้​จริง​แล้ว​คัมภีร์​ไบเบิล​บอก​ไหม​ว่า​โลก​จะ​แตก​หรือ​ถูก​ทำลาย​จน​ย่อยยับ? อัครสาวก​โยฮัน​เตือน​ว่า “อย่า​เชื่อ​ทุก​ถ้อย​คำ​ที่​กล่าว​โดย​การ​ดล​ใจ แต่​จง​ตรวจ​ดู​ว่า​ถ้อย​คำ​นั้น​มา​จาก​พระเจ้า​หรือ​ไม่.” (1 โยฮัน 4:1) แทน​ที่​จะ​เชื่อ​สิ่ง​ที่​คน​อื่น​เขา​พูด​กัน คง​จะ​ดี​มิ​ใช่​หรือ​ถ้า​คุณ​ได้​เปิด​คัมภีร์​ไบเบิล​ดู​ด้วย​ตัว​เอง​ว่า​พระ​คัมภีร์​กล่าว​อย่าง​ไร​เกี่ยว​กับ​อวสาน​ของ​โลก? สิ่ง​ที่​คัมภีร์​ไบเบิล​บอก​อาจ​จะ​ไม่​เหมือน​ที่​คุณ​คิด​ก็​ได้.

[เชิงอรรถ]

^ วรรค 2 จาก​บทความ​เรื่อง “ภัย​พิบัติ​ปลุก​กระแส​การ​ทำนาย​เรื่อง​วัน​โลกา​วินาศ” ใน​เว็บไซต์​ของ​เอ็ม​เอส​เอ็น​บี​ซี วัน​ที่ 19 ตุลาคม 2005.

^ วรรค 5 SIPRI คือ​สถาบัน​วิจัย​สันติภาพ​นานา​ชาติ​แห่ง​สตอกโฮล์ม.

^ วรรค 5 รายงาน​ดัง​กล่าว​มา​จาก​หนังสือ​ประจำ​ปี 2009 ของ​สถาบัน SIPRI เขียน​โดย แชนนอน เอ็น. ไคล์ นัก​วิจัย​อาวุโส​และ​หัวหน้า​ฝ่าย​อาวุธ​นิวเคลียร์​ใน​โครงการ​ควบคุม​และ​ไม่​แพร่​กระจาย​อาวุธ​ของ​สถาบัน SIPRI; ไวทาลี เฟดเชนโค นัก​วิจัย​ใน​โครงการ​ควบคุม​และ​ไม่​แพร่​กระจาย​อาวุธ​ของ​สถาบัน SIPRI; ฮานส์ เอ็ม. คริสเตนเซน ผู้​อำนวย​การ​ฝ่าย​ข้อมูล​นิวเคลียร์​ของ​สมาพันธ์​นัก​วิทยาศาสตร์​อเมริกัน.

[ที่​มา​ของ​ภาพ​หน้า 4]

Mushroom cloud: U.S. National Archives photo; hurricane photos: WHO/League of Red Cross and U.S. National Archives photo