ความจริงเกี่ยวกับบาป
ความจริงเกี่ยวกับบาป
คนป่วยจะพิสูจน์ว่าเขาไม่มีไข้โดยทุบปรอททิ้งได้ไหม? ไม่ได้แน่ ๆ! ทำนองเดียวกัน การที่คนมากมายปฏิเสธทัศนะของพระเจ้าในเรื่องบาป ก็ไม่ได้หมายความว่าไม่มีบาป. คัมภีร์ไบเบิลพระคำของพระเจ้ากล่าวถึงบาปหลายครั้งหลายหน. แท้จริงแล้วพระคัมภีร์สอนอะไรเกี่ยวกับบาป?
เราทุกคนล้วนบกพร่อง
ประมาณสองพันปีมาแล้ว อัครสาวกเปาโลกล่าวด้วยความข้องขัดใจว่า “การดีที่ข้าพเจ้าอยากทำ ข้าพเจ้าไม่ทำ แต่การชั่วที่ข้าพเจ้าไม่อยากทำ ข้าพเจ้าก็ทำอยู่เสมอ.” (โรม 7:19) ถ้าเราซื่อสัตย์ เราต้องยอมรับว่าตัวเราก็อยู่ในสภาพเดียวกับเปาโล. บางทีเราอาจต้องการปฏิบัติตามบัญญัติสิบประการหรือมาตรฐานความประพฤติอื่น ๆ แต่เราต้องยอมรับว่าไม่มีใครทำได้ครบถ้วน. ที่เป็นเช่นนั้นไม่ใช่เพราะเราจงใจละเมิดมาตรฐานอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่เป็นเพราะเราอ่อนแอ. ทำไมเราจึงอ่อนแอ? เปาโลเองให้คำตอบว่า “ถ้าข้าพเจ้าทำสิ่งที่ข้าพเจ้าไม่อยากทำ ที่ทำนั้นไม่ใช่ข้าพเจ้าอีกแล้ว แต่เป็นบาปที่อยู่ในตัวข้าพเจ้า.”—โรม 7:20
เช่นเดียวกับเปาโล มนุษย์ทุกคนได้รับผลกระทบจากความอ่อนแอที่อยู่ในตัว ซึ่งเป็นหลักฐานว่าเรามีบาปและความไม่สมบูรณ์มาแต่กำเนิด. อัครสาวกเปาโลกล่าวว่า “ทุกคนได้ทำบาปและไม่ได้แสดงคุณลักษณะอันยอดเยี่ยมของพระเจ้า.” อะไรทำให้เราอยู่ในสภาพนี้? เปาโลกล่าวต่อไปว่า “บาปเข้ามาในโลกเพราะคนคนเดียว [อาดาม] และความตายเกิดขึ้นเพราะบาปนั้น และความตายจึงลามไปถึงทุกคนเพราะทุกคนเป็นคนบาปอยู่แล้ว.”—โรม 3:23; 5:12
แม้คนมากมายจะปฏิเสธความคิดที่ว่าการทำผิดของพ่อแม่คู่แรกได้ทำให้เราเหินห่างจากพระเจ้าและสูญเสียความสมบูรณ์ที่เคยมีแต่แรก แต่คัมภีร์ไบเบิลสอนเช่นนี้จริง ๆ. การที่พระเยซูยกข้อความจากบทแรก ๆ ของหนังสือเยเนซิศเพื่อสนับสนุนเรื่องที่พระองค์ตรัส แสดงให้เห็นว่าพระองค์เชื่อว่าบันทึกเกี่ยวกับอาดามและฮาวาเป็นเรื่องจริง.—เยเนซิศ 1:27; 2:24; 5:2; มัดธาย 19:1-5
คำสอนสำคัญเรื่องหนึ่งในคัมภีร์ไบเบิลคือคำสอนที่ว่าพระเยซูเสด็จมายังแผ่นดินโลกเพื่อไถ่ถอนคนที่แสดงความเชื่อในพระองค์ให้หลุดพ้นจากสภาพผิดบาป. (โยฮัน 3:16) ความหวังของเราที่จะมีชีวิตในอนาคตขึ้นอยู่กับการที่เรายอมรับวิธีที่พระยะโฮวาทรงใช้เพื่อช่วยมนุษย์ที่สำนึกบุญคุณให้หลุดพ้นจากสถานการณ์ที่พวกเขาไม่อาจควบคุมได้. แต่ถ้าเราไม่เข้าใจชัดเจนว่าบาปคืออะไรตามทัศนะของพระเจ้า เราก็ไม่สามารถเข้าใจและแสดงความขอบคุณต่อวิธีที่พระองค์ใช้เพื่อช่วยเราให้พ้นจากบาป.
เครื่องบูชาของพระเยซูและเหตุผลที่จำเป็นต้องมี
พระยะโฮวาทรงประทานความหวังที่จะมีชีวิตตลอดไปแก่มนุษย์คนแรก. อาดามจะสูญเสียความหวังนี้ก็ต่อเมื่อเขากบฏต่อพระเจ้าเท่านั้น. อาดามกบฏจริง ๆ และเมื่อเขาทำเช่นนั้นเขาได้กลายเป็นคนบาป. (เยเนซิศ 2:15-17; 3:6) อาดามได้กระทำตรงกันข้ามกับพระทัยประสงค์ของพระเจ้า เขาไม่ได้เชื่อฟังพระองค์อย่างครบถ้วน และทำให้สัมพันธภาพของเขากับพระเจ้าเสียหาย. เมื่อเขาทำบาปโดยละเมิดกฎหมายของพระเจ้า เขาจึงเริ่มแก่ลงและในที่สุดก็ตาย. น่าเศร้า ลูกหลานของอาดามทั้งสิ้นรวมทั้งพวกเราล้วนเกิดมาในความบาปและต้องตายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้. เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น?
เหตุผลเกี่ยวกับเรื่องนี้เข้าใจได้ไม่ยาก. พ่อแม่ที่ไม่สมบูรณ์ไม่สามารถให้กำเนิดลูกที่สมบูรณ์ได้. ลูกหลานของอาดามทุกคนเกิดมาเป็นคนบาป และดังที่อัครสาวกเปาโลกล่าวไว้ “ค่าจ้างที่บาปจ่ายคือความตาย.” (โรม 6:23) อย่างไรก็ตาม ส่วนหลังของข้อคัมภีร์นี้ให้ความหวังแก่เรา ว่า “แต่ของประทานจากพระเจ้าคือชีวิตนิรันดร์เนื่องด้วยพระคริสต์เยซูองค์พระผู้เป็นเจ้าของเรา.” นี่หมายความว่าการสละชีวิตของพระเยซูทำให้มนุษย์ที่เชื่อฟังและสำนึกบุญคุณมีโอกาสหลุดพ้นจากผลกระทบของบาปที่อาดามได้ทำไว้. * (มัดธาย 20:28; 1 เปโตร 1:18, 19) เรื่องนี้น่าจะทำให้คุณรู้สึกอย่างไร?
ความรักของพระคริสต์ “กระตุ้นเรา”
อัครสาวกเปาโลได้รับการดลใจให้บันทึกคำตอบของพระเจ้าสำหรับคำถามข้างต้น. ท่านเขียนว่า “ความรักของพระคริสต์กระตุ้นเรา เพราะเราคิดเห็นอย่างนี้ คือ คนหนึ่งตายเพื่อคนทั้งปวง . . . และพระองค์สิ้นพระชนม์เพื่อคนทั้งปวงเพื่อว่าคนที่มีชีวิตอยู่จะไม่อยู่เพื่อตนเองอีกต่อไป แต่อยู่เพื่อพระองค์ผู้ได้สิ้นพระชนม์เพื่อพวกเขาและถูกปลุกให้คืนพระชนม์แล้ว.” (2 โครินท์ 5:14, 15) ถ้าใครคนหนึ่งเข้าใจว่าเครื่องบูชาของพระเยซูสามารถปลดปล่อยเขาจากผลกระทบของบาป และเขาปรารถนาที่จะแสดงความขอบคุณสำหรับการจัดเตรียมนี้ เขาควรพยายามดำเนินชีวิตประสานกับสิ่งที่พระเจ้าประสงค์ให้ทำ. นี่หมายความว่าเขาควรพยายามเข้าใจว่าพระเจ้าต้องการอะไร, ฝึกฝนสติรู้สึกผิดชอบให้เป็นไปตามมาตรฐานของคัมภีร์ไบเบิล, และดำเนินชีวิตสอดคล้องกับมาตรฐานเหล่านั้น.—โยฮัน 17:3, 17
การทำบาปทำให้เราสูญเสียสัมพันธภาพที่ดีกับพระยะโฮวาพระเจ้า. เมื่อกษัตริย์ดาวิดสำนึกว่าการเป็นชู้กับนางบัธเซบะและฆ่าสามีของนางนั้นเป็นบาปร้ายแรงเพียงไร ท่านคงต้องรู้สึกอับอายมากแน่ ๆ. แต่สิ่งที่ท่านเป็นห่วงมากที่สุด ซึ่งก็น่าจะเป็นเช่นนั้น คือบาปของท่านทำให้พระเจ้า ไม่พอพระทัย. ท่านได้ยอมรับต่อพระยะโฮวาด้วยความรู้สึกเสียใจอย่างยิ่งว่า “ข้าพเจ้าได้กระทำผิดต่อพระองค์, ต่อพระองค์แต่ผู้เดียว, และได้กระทำชั่วต่อพระเนตรพระองค์.” (บทเพลงสรรเสริญ 51:4) เช่นเดียวกัน เมื่อโยเซฟถูกล่อใจให้เล่นชู้ สติรู้สึกผิดชอบกระตุ้นท่านให้ถามว่า “ข้าพเจ้าจะทำผิดดังนี้อย่างไรได้, เป็นบาปใหญ่หลวงนักต่อพระเจ้า.”—เยเนซิศ 39:10
ดังนั้น บาปไม่ได้เป็นเพียงความรู้สึกเสียหน้าเพราะถูกจับได้ว่าทำผิด. บาปไม่ได้เป็นเรื่องของการถูกสังคมตำหนิเนื่องจากทำสิ่งที่ไม่สมควร. แต่บาปเป็นการละเมิดกฎหมายของ1 โยฮัน 3:4, 8
พระเจ้าในเรื่องเพศ, ความซื่อสัตย์, ความนับถือ, การนมัสการ, และอื่น ๆ ซึ่งทำให้สัมพันธภาพของเรากับพระเจ้าเสียหาย. ถ้าเราจงใจทำบาปเป็นอาจิณ เราก็ทำให้ตัวเองเป็นศัตรูของพระเจ้า. นี่เป็นความจริงที่ต้องใคร่ครวญอย่างจริงจัง.—ฉะนั้น บาปยังมีอยู่ไหม? ความจริงคือยังมี. ผู้คนเพียงแต่เรียกบาปโดยใช้คำอื่นเพื่อให้ฟังดูไม่ร้ายแรง. หลายคนเพิกเฉยต่อสติรู้สึกผิดชอบหรือไม่ก็ปล่อยให้ด้านชาไป. คนที่ต้องการจะได้รับความพอพระทัยจากพระเจ้าต้องต้านทานแนวโน้มเช่นนั้น. ดังที่เราได้เห็น บาปไม่เพียงทำลายความภูมิใจในตัวเองหรือทำให้รู้สึกอับอาย แต่ทำให้ถึงตาย. บาปเป็นเรื่องของชีวิตและความตาย.
ข่าวดีคือเราสามารถได้รับการอภัยโดยอาศัยคุณค่าแห่งเครื่องบูชาของพระเยซูถ้าเรากลับใจอย่างแท้จริงและเลิกทำบาป. เปาโลเขียนว่า “ผู้ที่การชั่วของพวกเขาได้รับการยกโทษและบาปของพวกเขาได้รับการปิดคลุมแล้วก็มีความสุข ผู้ที่พระยะโฮวาไม่ทรงถือโทษบาปของเขาก็มีความสุข.”—โรม 4:7, 8
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 10 สำหรับคำอธิบายอย่างละเอียดที่ว่าการสละชีวิตของพระเยซูช่วยมนุษย์ที่เชื่อฟังให้รอดได้อย่างไร โปรดดูหนังสือคัมภีร์ไบเบิลสอนอะไรจริงๆ? หน้า 47 ถึง 54 จัดพิมพ์โดยพยานพระยะโฮวา.
[กรอบ/ภาพหน้า 10]
กลับคำ
สำหรับชาวคาทอลิกส่วนใหญ่ แนวคิดเรื่องลิมโบเป็นเรื่องที่คลุมเครือมาตลอด. ในช่วงไม่กี่ทศวรรษมานี้ แนวคิดดังกล่าวค่อย ๆ หมดความนิยมไปเรื่อย ๆ จนถึงจุดที่ไม่มีการกล่าวถึงเรื่องนี้ในคู่มือถามตอบของคริสตจักรอีกต่อไป. ในปี 2007 คริสตจักรคาทอลิกได้ประกาศยกเลิกคำสอนเรื่องลิมโบอย่างเป็นทางการในเอกสารฉบับหนึ่งซึ่งกล่าวว่า “มีเหตุผลทางเทววิทยาและทางพิธีกรรมที่จะเชื่อว่าทารกที่ตายโดยไม่ได้รับบัพติสมาอาจได้รับการช่วยให้รอดและนำไปสู่ความสุขไม่รู้สิ้นสุด.”—คณะกรรมการด้านศาสนาระหว่างชาติ
ทำไมคริสตจักรจึงกลับคำหรือเปลี่ยนแปลงจุดยืนในเรื่องนี้? พูดง่าย ๆ คือ การทำเช่นนี้เป็นการปลดตัวเองออกจากสิ่งที่นักเขียนคอลัมน์ชาวฝรั่งเศสชื่ออองรี แต็ง เรียกว่า “มรดกที่เป็นภาระหนักซึ่งได้รับการปกป้องมาตั้งแต่ยุคกลางจนถึงศตวรรษที่ 20 โดยคริสตจักรที่อยู่เบื้องหลังได้ใช้คำสอนที่น่ากลัวเรื่องลิมโบนี้เพื่อกระตุ้นให้พ่อแม่นำลูกเข้าพิธีบัพติสมาให้เร็วที่สุดเท่าที่เป็นไปได้.” อย่างไรก็ตาม การยกเลิกคำสอนเรื่องลิมโบได้ทำให้เกิดประเด็นอื่น ๆ ตามมา.
คำสอนที่สืบต่อกันมาหรือมาจากพระคัมภีร์? ความเชื่อเรื่องลิมโบเริ่มมีมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 12 จากการที่นักเทววิทยาโต้แย้งกันเรื่องไฟชำระ. คริสตจักรคาทอลิกสอนว่าจิตวิญญาณยังอยู่หลังจากตาย ดังนั้น คริสตจักรจึงต้องหาที่อยู่ให้จิตวิญญาณของเด็กที่ไม่สามารถไปสวรรค์ได้เนื่องจากไม่ได้รับบัพติสมาแต่กระนั้นก็ไม่สมควรจะตกนรก. เพราะเหตุนี้จึงเกิดแนวคิดเรื่องลิมโบขึ้นมา.
อย่างไรก็ตาม คัมภีร์ไบเบิลไม่ได้สอนว่ามีบางส่วนของมนุษย์ที่เป็นอมตะและยังอยู่หลังจากตาย. แทนที่จะสอนเช่นนั้น คัมภีร์ไบเบิลกล่าวชัดเจนว่ามนุษย์ที่ทำบาปจะ “ถูกทำลาย” และ “จะตาย.” (กิจการ 3:23; ยะเอศเคล 18:4) เนื่องจากไม่มีส่วนใดเหลืออยู่หลังจากตายจึงไม่อาจมีสถานที่ที่เรียกว่าลิมโบได้. นอกจากนั้น คัมภีร์ไบเบิลยังกล่าวว่าความตายเป็นสภาพที่ไม่รับรู้สิ่งใดคล้ายกับการนอนหลับ.—ท่านผู้ประกาศ 9:5, 10; โยฮัน 11:11-14
คัมภีร์ไบเบิลแสดงให้เห็นว่าพระเจ้าทรงถือว่าลูกที่ยังเล็กอยู่ของพ่อแม่ที่เป็นคริสเตียนนั้นบริสุทธิ์. (1 โครินท์ 7:14) คำกล่าวนี้คงไม่มีความหมายอะไรถ้าการรับบัพติสมาสำหรับทารกเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อความรอด.
คำสอนเรื่องลิมโบแท้จริงแล้วเป็นการดูหมิ่นพระเจ้าโดยให้ภาพพระองค์เป็นเหมือนทรราชผู้โหดเหี้ยมซึ่งลงโทษผู้บริสุทธิ์ แทนที่จะเป็นพระบิดาผู้ยุติธรรมและเปี่ยมด้วยความรักอย่างที่พระองค์เป็นจริง ๆ. (พระบัญญัติ 32:4; มัดธาย 5:45; 1 โยฮัน 4:8) จึงไม่แปลกที่คริสเตียนที่จริงใจไม่เคยเข้าใจคำสอนซึ่งไม่เป็นไปตามหลักพระคัมภีร์นี้เลย!
[ภาพหน้า 9]
การดำเนินชีวิตสอดคล้องกับพระคำของพระเจ้าทำให้มีสัมพันธภาพที่ดีกับพระเจ้าและมนุษย์