กุญแจสู่ความสุขในครอบครัว
วิธีรับมือกับพ่อแม่ของคู่สมรส
เจนนี *พูด: แม่ของไรอันแสดงออกอย่างโจ่งแจ้งว่าไม่ชอบฉัน. แต่พ่อแม่ของฉันก็ปฏิบัติกับไรอันแย่พอ ๆ กัน. ที่จริง ฉันไม่เคยเห็นท่านทำขนาดนี้กับใครมาก่อน! การไปเยี่ยมพ่อแม่ของเราทั้งสองฝ่ายกลายเป็นเรื่องที่ก่อความเครียดให้กับเราทั้งคู่.
ไรอันพูด: แม่ของผมคิดว่าไม่มีใครดีพอสำหรับลูกของท่าน ท่านจึงหาข้อที่จะตำหนิเจนนีตั้งแต่แรก. และพ่อแม่ของเจนนีก็หาข้อติว่าผมอยู่เรื่อยเหมือนกัน. ปัญหาคือ พอเกิดเรื่องแบบนี้ทีไรผมกับเจนนีต่างก็จะปกป้องพ่อแม่ของตน และตำหนิกันและกัน.
ความขัดแย้งกับพ่อแม่ของคู่สมรสอาจเป็นเรื่องที่นักแสดงตลกนำไปเล่นให้ขบขัน แต่ในชีวิตจริงไม่ใช่เรื่องน่าหัวเราะ. รีนา ภรรยาคนหนึ่งในอินเดียกล่าวว่า “แม่ของสามีเข้ามาก้าวก่ายชีวิตสมรสของเราอยู่หลายปี. บ่อยครั้งฉันระบายอารมณ์ใส่สามีเพราะทำอย่างนั้นกับแม่ของเขาไม่ได้. ดูราวกับว่าเขาต้องเลือกครั้งแล้วครั้งเล่าว่าจะเป็นสามีที่ดีหรือจะเป็นลูกชายที่ดี.”
ทำไมพ่อแม่บางคนจึงเข้าไปก้าวก่ายชีวิตของลูกที่แต่งงานแล้ว? เจนนีที่กล่าวถึงข้างต้นให้เหตุผลข้อหนึ่งที่อาจเป็นไปได้. เธอพูดว่า “พ่อแม่คงรู้สึกว่ายากที่จะเชื่อว่าคนอายุน้อยและขาดประสบการณ์จะมาดูแลลูกของท่านได้.” ดิลิป สามีของรีนาให้เหตุผลเพิ่มเติมว่า “พ่อแม่ที่ทุ่มเทและคอยเอาใจใส่ลูกเสมออาจรู้สึกว่ากำลังถูกผลักไสให้ออกไปจากชีวิตของลูก. นอกจากนั้น ท่านอาจกังวลจริง ๆ ว่าลูกชายหรือลูกสาวจะไม่สามารถทำให้ชีวิตสมรสประสบความสำเร็จได้.”
พูดตามจริงแล้วบางครั้งพ่อแม่อาจเป็นฝ่ายถูกเชิญ ให้เข้ามายุ่งเกี่ยว. ขอพิจารณาตัวอย่างของไมเคิลกับลีน คู่สมรสในออสเตรเลีย. ไมเคิลบอกว่า “ลีนมาจากครอบครัวที่ใกล้ชิดสนิทสนมกันมากและปรึกษาหารือกันอย่างเปิดเผย. ดังนั้น หลังจากเราแต่งงานแล้ว เธอก็จะปรึกษากับพ่อในเรื่องที่จริง ๆ แล้วผมกับเธอต้องตัดสินใจกันเอง. พ่อของเธอมีความรู้และประสบการณ์มาก แต่ผมรู้สึกน้อยใจที่เธอปรึกษาพ่อแทนที่จะปรึกษาผม!”
เห็นได้ชัดว่า การที่พ่อแม่ของคู่สมรสเข้ามาก้าวก่ายอาจทำให้ชีวิตสมรสตึงเครียด. เป็นเช่นนั้นในกรณีของคุณไหม? คุณจะเข้ากับพ่อแม่ของคู่สมรสได้อย่างไร และคู่ของคุณจะเข้ากับพ่อแม่ของคุณได้อย่างไร? ให้เราพิจารณาข้อท้าทายสองประการที่อาจเกิดขึ้นและวิธีที่คุณจะรับมือได้.
ข้อท้าทายที่ 1:
คู่ของคุณดูเหมือนติดพ่อแม่มากเกินไป. ลูอิส สามีคนหนึ่งในสเปนกล่าวว่า “ภรรยาของผมรู้สึกว่าถ้าเราไม่อยู่ใกล้ ๆ พ่อแม่ แสดงว่าเธอไม่สนใจไยดีพวกท่านแล้ว.” เขากล่าวเสริมว่า “ในทางกลับกัน พอลูกชายของเราเกิด พ่อแม่ผมมาเยี่ยมเกือบทุกวัน ภรรยาผมกลับรู้สึกเครียด. เรื่องนี้ทำให้เรามีปัญหากันหลายครั้ง.”
เรื่องที่ควรคำนึงถึง:
เมื่อกล่าวถึงการจัดเตรียมเรื่องการสมรส คัมภีร์ไบเบิลกล่าวว่าในที่สุด “ผู้ชายจึงจะละบิดามารดาของตนไปผูกพันอยู่กับภรรยา: และเขาทั้งสองจะเป็นเนื้อหนังอันเดียวกัน.” (เยเนซิศ 2:24) การเป็น “เนื้อหนังอันเดียวกัน” ไม่ใช่แค่การอยู่ด้วยกัน. ที่จริง นี่หมายความว่า สามีและภรรยาจะรวมเข้าด้วยกันเป็นครอบครัวใหม่ ซึ่งต้องให้ความสำคัญมากกว่าครอบครัวเดิม. (1 โครินท์ 11:3) แน่นอนว่า ทั้งสามีและภรรยายังคงต้องนับถือพ่อแม่ของตน และบ่อยครั้งการทำเช่นนั้นหมายรวมถึงการสนใจและเอาใจใส่พวกท่าน. (เอเฟโซส์ 6:2) จะว่าอย่างไรถ้าวิธีที่คู่ของคุณทำหน้าที่ดังกล่าวทำให้คุณรู้สึกว่าถูกละเลยหรือถูกมองข้าม?
สิ่งที่คุณทำได้:
มองสถานการณ์ตามความเป็นจริง. คู่ของคุณติดพ่อแม่มากเกินไปจริง ๆ ไหม หรือเป็นไปได้ไหมว่าคุณไม่เคยมีความสัมพันธ์เช่นนั้นกับพ่อแม่ของคุณ? ถ้าเป็นเช่นนั้น ภูมิหลังด้านครอบครัวของคุณอาจมีผลอย่างไรต่อวิธีที่คุณมองเรื่องนี้? เป็นไปได้ไหมว่าคุณรู้สึกอิจฉา?—สุภาษิต 14:30; 1 โครินท์ 13:4; กาลาเทีย 5:26
เพื่อจะตอบคำถามเหล่านี้จำต้องตรวจสอบตัวเองอย่างตรงไปตรงมา. แต่นั่นเป็นเรื่องสำคัญที่คุณต้องทำ. จะว่าไปแล้ว ถ้าเรื่องพ่อแม่ของคู่สมรสทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างคุณกับคู่สมรสอยู่เสมอ ที่แท้แล้วปัญหาไม่ได้อยู่ที่พ่อแม่ แต่อยู่ที่คุณกับคู่สมรสต่างหาก.
ปัญหาหลายอย่างในชีวิตสมรสเกิดขึ้นเนื่องจากไม่มีคู่ใดที่จะมีความเห็นตรงกันในทุกเรื่อง. คุณจะพยายามมองเรื่องต่าง ๆ จากมุมมองของคู่สมรสได้ไหม? (ฟิลิปปอย 2:4; 4:5) เอเดรียน สามีคนหนึ่งในเม็กซิโกได้ทำเช่นนั้น. เขาบอกว่า “ภรรยาของผมเติบโตมาในครอบครัวที่มีปัญหา ผมจึงไม่อยากคบหาใกล้ชิดกับพ่อแม่ของเธอ. ในที่สุด ผมก็ไม่ติดต่อกับพวกท่านเลยเป็นปี ๆ. นี่ทำให้เกิดความขัดแย้งในชีวิตสมรสของเราเนื่องจากภรรยาผมยังต้องการติดต่อใกล้ชิดกับครอบครัว โดยเฉพาะกับแม่ของเธอ.”
ในที่สุด เอเดรียนก็มีทัศนะที่สมดุลในเรื่องนี้. เขากล่าวว่า “แม้ผมจะรู้ว่าการติดต่อใกล้ชิดกับพ่อแม่ของเธอมากเกินไปเป็นผลเสียต่อภรรยาผมทางด้านอารมณ์ แต่การไม่ติดต่อเสียเลยอาจก่อปัญหาเช่นกัน. ผมพยายามเท่าที่ทำได้เพื่อฟื้นฟูความสัมพันธ์ที่ดีกับพ่อตาแม่ยายและรักษาเอาไว้.” *
ลองวิธีนี้: ให้คุณและคู่สมรสเขียนสิ่งที่ทำให้คุณหนักใจมากที่สุดเกี่ยวกับพ่อแม่ของอีกฝ่ายหนึ่ง. ถ้าเป็นไปได้ให้เริ่มด้วยวลีที่ว่า “ฉันรู้สึกว่า . . . ” แล้วก็แลกกันอ่าน. จากนั้นช่วยกันคิดหาวิธีแก้ปัญหาเพื่อทำให้คู่ของคุณสบายใจขึ้น.
ข้อท้าทายที่ 2:
พ่อแม่ของคู่สมรสเข้ามาก้าวก่ายชีวิตสมรสของคุณอยู่เสมอและให้คำแนะนำโดยที่ไม่ได้ขอ. เนลเลีย ภรรยาคนหนึ่งในคาซัคสถานกล่าวว่า “ชีวิตสมรสช่วงเจ็ดปีแรกดิฉันอยู่กับครอบครัวของสามี. เรามีเรื่องขัดแย้งกันอยู่เรื่อย ๆ ทั้งในเรื่องการเลี้ยงลูก รวมไปถึงเรื่องอื่น ๆ เช่น การทำอาหารและการทำความสะอาดของดิฉัน. ดิฉันได้คุยกับสามีและแม่ของเขาในเรื่องนี้ แต่ยิ่งคุยก็มีแต่จะขัดแย้งกันมากขึ้น!”
เรื่องที่ควรคำนึงถึง:
เมื่อคุณแต่งงาน คุณไม่อยู่ใต้อำนาจพ่อแม่อีกต่อไป. แทนที่จะเป็นอย่างนั้น คัมภีร์ไบเบิลกล่าวว่า “พระคริสต์ทรงเป็นประมุขของผู้ชายทุกคน ผู้ชายเป็นประมุขของผู้หญิง” ดังนั้น ประมุขของผู้หญิงก็คือ สามี. (1 โครินท์ 11:3) กระนั้นก็ตาม ดังที่กล่าวในตอนต้น ทั้งสามีและภรรยาควรนับถือบิดามารดาของตน. ที่จริง สุภาษิต 23:22 บอกเราว่า “เจ้าจงฟังคำบิดาผู้บังเกิดเกล้าของเจ้า, และอย่าดูหมิ่นมารดาของเจ้าเมื่อท่านแก่ชรา.” แต่จะว่าอย่างไรถ้าพ่อแม่ของคุณ หรือของคู่สมรส มาก้าวก่ายมากเกินไปและพยายามจะยัดเยียดความคิดของท่านให้คุณ?
สิ่งที่คุณทำได้:
จงเอาใจเขามาใส่ใจเราโดยพยายามเข้าใจว่าอะไรทำให้พวกท่านทำสิ่งที่ดูเหมือนเป็นการเข้ามาก้าวก่าย. ไรอัน ที่กล่าวถึงในตอนต้นบอกว่า “บางครั้งพ่อแม่ก็ต้องการรู้ว่าท่านยังมีความสำคัญในชีวิตของลูก ๆ.” พ่อแม่ที่ทำเช่นนั้นอาจไม่มีเจตนาที่จะก้าวก่ายชีวิตของลูก และคุณสามารถรับมือกับเรื่องนี้ได้โดยใช้คำแนะนำของคัมภีร์ไบเบิลที่ให้ “ทนกันและกันเรื่อยไปและให้อภัยกันอย่างใจกว้างถ้าใครมีเหตุจะบ่นว่าผู้อื่น.” (โกโลซาย 3:13) แต่จะว่าอย่างไรถ้าพ่อแม่ของคู่สมรสเข้ามาก้าวก่ายมากเกินไปจนทำให้คุณกับคู่สมรสมีปัญหากัน?
คู่สมรสบางคู่เรียนรู้ที่จะกำหนดขอบเขตที่เหมาะสมว่าจะให้พ่อแม่เข้ามาเกี่ยวข้องด้วยถึงขีดไหน. นี่ไม่ได้หมายความว่าคุณต้องตั้งกฎให้พ่อแม่ทำตาม. * บ่อยครั้งคุณอาจเพียงแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนด้วยการกระทำว่าคุณให้ความสำคัญกับคู่ของคุณเป็นอันดับแรก. ตัวอย่างเช่น มาซายูกิ สามีคนหนึ่งในญี่ปุ่นกล่าวว่า “แม้ว่าพ่อแม่จะเสนอความคิดเห็น แต่ก็อย่าเพิ่งเห็นด้วยทันที. จำไว้ว่า คุณกำลังสร้างครอบครัวใหม่. ดังนั้น แรกทีเดียวควรจะดูว่าคู่ของคุณคิดอย่างไรกับคำแนะนำนั้น.”
ลองวิธีนี้: คุยกับคู่ของคุณว่าการกระทำแบบไหนของพ่อแม่ที่สร้างความขัดแย้งในชีวิตสมรสของคุณ. ช่วยกันเขียนลงไปว่าคุณจะกำหนดขอบเขตให้กับพ่อแม่ในเรื่องใดบ้างและจะทำอย่างไรเพื่อให้เป็นไปตามขอบเขตที่กำหนดไว้ ขณะเดียวกันก็ยังแสดงความนับถือต่อพวกท่าน.
ความขัดแย้งหลายเรื่องที่มีกับพ่อแม่ของคู่สมรสอาจลดน้อยลงได้ถ้าคุณพยายามเข้าใจเจตนาของพวกท่านและไม่ปล่อยให้ความขัดแย้งเหล่านั้นทำให้คุณทะเลาะกับคู่สมรส. ในเรื่องนี้ เจนนียอมรับว่า “บางครั้งการคุยกับสามีเกี่ยวกับเรื่องพ่อแม่ของเราก็ส่งผลกระทบด้านอารมณ์ค่อนข้างมาก และเห็นได้ชัดเลยว่าการพูดถึงข้อบกพร่องของพ่อแม่ทั้งสองฝ่ายอาจทำให้เจ็บปวดได้มากจริง ๆ. แต่ในที่สุด เราก็เลิกนำข้อบกพร่องของพ่อแม่ของเรามาเป็นเครื่องมือทำร้ายกัน แต่พยายามแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นจริง ๆ. ผลก็คือ เรากลายเป็นสามีภรรยาที่ใกล้ชิดกันมากขึ้น.”
^ วรรค 3 ชื่อสมมุติ.
^ วรรค 14 เป็นที่ยอมรับว่า ถ้าพ่อแม่ทำผิดร้ายแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งทำอยู่เรื่อย ๆ โดยไม่กลับใจ สายสัมพันธ์ของครอบครัวอาจตึงเครียดมากและจำเป็นต้องจำกัดการคบหา.—1 โครินท์ 5:11
^ วรรค 19 ในบางกรณี คุณอาจจำเป็นต้องคุยกับพ่อแม่หรือพ่อแม่ของคู่สมรสอย่างตรงไปตรงมา. ถ้าทำอย่างนั้น จงทำด้วยความนับถือและความอ่อนโยน.—สุภาษิต 15:1; เอเฟโซส์ 4:2; โกโลซาย 3:12
ถามตัวเองดังนี้ . . .
-
พ่อแม่ของคู่สมรสมีคุณลักษณะที่ดีอะไรบ้าง?
-
ฉันจะนับถือพ่อแม่ได้อย่างไรโดยที่ไม่ละเลยคู่สมรส?