พระเจ้าเสียพระทัยด้วยหรือ?
จงใกล้ชิดพระเจ้า
พระเจ้าเสียพระทัยด้วยหรือ?
เนื่องจากเป็นมนุษย์ไม่สมบูรณ์ เราทุกคนย่อมรู้สึกเสียใจเป็นครั้งคราว. ตัวอย่างเช่น เราอาจรู้สึกเสียใจหลังจากที่รู้ตัวว่าได้ทำผิดพลาดไป. น่าแปลกที่คัมภีร์ไบเบิลกล่าวว่าพระยะโฮวาก็ทรงรู้สึกเสียพระทัยด้วย. คุณอาจพูดว่า ‘แต่พระเจ้าทรงสมบูรณ์พร้อม. พระองค์ไม่ทรงทำผิดพลาดนี่!’ ถ้าเช่นนั้น พระเจ้าทรงเสียพระทัยในความหมายใด? คำตอบสำหรับคำถามนี้จะช่วยเราให้เข้าใจเรื่องหนึ่งที่น่าประทับใจ นั่นคือ พระยะโฮวาทรงมีความรู้สึก และการกระทำของเราอาจส่งผลกระทบต่อความรู้สึกของพระองค์ได้. ให้เราพิจารณาเรื่องราวที่บันทึกในวินิจฉัย 2:11-18.
หนังสือวินิจฉัยในคัมภีร์ไบเบิลบันทึกเหตุการณ์ช่วงที่ปั่นป่วนวุ่นวายในประวัติศาสตร์ชาติอิสราเอล. เวลานั้นชาตินี้ได้ตั้งรกรากในคะนาอันซึ่งเป็นดินแดนที่พระเจ้าได้สัญญากับอับราฮาม. หลายร้อยปีหลังจากนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตของชาวอิสราเอลอาจสรุปได้ว่าวนเวียนอยู่กับสี่เรื่องคือ การเอาใจออกห่าง, การกดขี่, การร้องทุกข์, และการช่วยให้รอด. *
การเอาใจออกห่าง. เนื่องจากอิทธิพลของชาวคะนาอัน ชาติอิสราเอลจึง “ละทิ้งพระยะโฮวา” และเริ่มหันไปนมัสการพระอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พวกเขาได้ “ปฏิบัติบาละและอัศธะโรธ.” * การเอาใจออกห่างจากพระเจ้าเช่นนั้นเท่ากับเป็นการออกหาก. ไม่น่าแปลกใจที่ชาวอิสราเอลได้ทำให้พระยะโฮวา พระเจ้าที่ช่วยพวกเขาออกจากอียิปต์ “ทรงพระพิโรธ”!—ข้อ 11-13; วินิจฉัย 2:1
การกดขี่. เนื่องจากพระพิโรธอันชอบธรรม พระยะโฮวาจึงไม่ปกป้องประชาชนที่หันหลังให้กับพระองค์อีกต่อไป. ชาวอิสราเอลจึงตกอยู่ “ในมือพวกข้าศึก” ซึ่งเข้ามาปล้นชิงในดินแดนนั้น.—ข้อ 14
การร้องทุกข์. เมื่อประสบความลำบากแสนสาหัส ชาวอิสราเอลก็รู้สึกเสียใจที่ได้ทำผิดและได้ร้องขอให้พระเจ้าช่วย. การร้องทุกข์ของพวกเขาอาจเห็นได้จากคำกล่าวที่ว่า “เสียงครางของเขา, เพราะเหตุพวกข่มเหงเบียดเบียน.” (ข้อ 18) การร้องทุกข์ต่อพระเจ้านั้นเป็นเรื่องหนึ่งที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก. (วินิจฉัย 3:9, 15; 4:3; 6:6, 7; 10:10) พระเจ้าทรงมีปฏิกิริยาเช่นไร?
การช่วยให้รอด. พระยะโฮวาทรงได้ยินเสียงร้องครางของพวกอิสราเอลและทรง “หวนพระทัย [“เสียพระทัย,” ล.ม.].” คำภาษาฮีบรูซึ่งแปลว่า “เสียพระทัย” อาจมีความหมายว่า “เปลี่ยนใจหรือเปลี่ยนความมุ่งหมาย.” หนังสืออ้างอิงเล่มหนึ่งกล่าวว่า “เนื่องจากเสียงร้องครางของพวกเขา พระยะโฮวาจึงเปลี่ยนพระทัยจากการลงโทษมาเป็นการช่วยให้รอด.” ด้วยความเมตตา พระยะโฮวาจึงได้ “ตั้งผู้วินิจฉัย” เพื่อจะช่วยประชาชนของพระองค์ให้พ้นจากศัตรู.—ข้อ 18
คุณสังเกตไหมว่าอะไรเป็นเหตุให้พระเจ้ารู้สึกเสียพระทัยหรือเปลี่ยนพระทัย? นั่นคือ ทัศนคติที่เปลี่ยนไปของประชาชน. ขอให้คิดดู: พ่อที่มีความรักอาจตีสอนลูกที่ทำผิด บางทีโดยการตัดสิทธิ์บางอย่าง. แต่เมื่อเห็นว่าลูกเสียใจจริง ๆ พ่อก็ตัดสินใจยกเลิกการลงโทษนั้น.
เราได้เรียนอะไรเกี่ยวกับพระยะโฮวาจากเรื่องที่ได้พิ-จารณามานี้? ในขณะที่การทำบาปอย่างจงใจทำให้พระองค์พิโรธ แต่การกลับใจจากใจจริงจะกระตุ้นให้พระองค์แสดงความเมตตา. จึงมีเหตุผลที่จะกล่าวได้ว่าสิ่งที่เราทำสามารถส่งผลกระทบต่อความรู้สึกของพระเจ้า. ขอเชิญคุณมาเรียนรู้ว่าทำอย่างไรจึงจะทำให้พระทัยของพระยะโฮวา “มีความยินดี.” (สุภาษิต 27:11) แล้วคุณจะไม่เสียใจเลย.
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 2 วินิจฉัย 2:11-18 เป็นส่วนหนึ่งของการเกริ่นนำอย่างย่อ ๆ ที่ทำให้เห็นภาพรวมของแนวการประพฤติของชาวอิสราเอลซึ่งมีรายละเอียดอยู่ในบทต่อ ๆ ไป.
^ วรรค 3 บาละ (บาอัล) เป็นพระที่สำคัญที่สุดของชาวคะนาอัน และอัศธะโรธ (อัชโทเรท) ถือกันว่าเป็นเทพธิดาที่เป็นมเหสีของบาอัล.