กุญแจสู่ความสุขในครอบครัว
การอบรมและตีสอนลูก
จอห์น: * ก่อนที่พ่อแม่จะลงโทษผมเพราะความผิดบางอย่าง ท่านจะพยายามเต็มที่เพื่อจะเข้าใจว่าทำไมผมถึงทำอย่างนั้นและคำนึงถึงสภาพการณ์ต่าง ๆ ที่มีในตอนนั้น. ผมพยายามจะใช้วิธีเดียวกันนี้กับลูก ๆ ของผม. แอลิสัน ภรรยาของผม มาจากครอบครัวที่มีภูมิหลังต่างกัน. พ่อแม่ของเธอหุนหันกว่าและดูเหมือนจะลงโทษลูกโดยไม่คำนึงถึงสถานการณ์แวดล้อมเลย. บางครั้งผมรู้สึกว่าภรรยาของผมลงโทษลูกด้วยวิธีที่ค่อนข้างรุนแรงคล้าย ๆ กัน.
แครอล: พ่อของดิฉันทิ้งครอบครัวไปตั้งแต่ดิฉันอายุแค่ห้าขวบ. พ่อไม่ได้สนใจดิฉันและน้อง ๆ อีกสามคนเลย. แม่ทำงานหนักมากเพื่อหาเลี้ยงพวกเรา และดิฉันก็ต้องรับผิดชอบหลายอย่างในการดูแลน้อง ๆ. เป็นเรื่องยากที่จะสนุกสนานตามประสาเด็กเมื่อต้องทำหน้าที่แทนพ่อแม่. จนถึงเดี๋ยวนี้ ดิฉันก็เป็นคนเคร่งขรึมมากกว่าจะขี้เล่น. เมื่อจำเป็นต้องตีสอนลูก ดิฉันจะเป็นทุกข์มากกับความผิดที่ลูกทำ. ดิฉันอยากจะรู้ว่าทำไมลูกจึงทำอย่างนั้นและพวกเขามีความคิดอย่างไร. แต่ตรงกันข้ามกับมาร์ก สามีของดิฉัน เขากลับไม่คิดมากกับเรื่องที่เกิดขึ้น. เขาโตมาในครอบครัวซึ่งมีพ่อที่รักลูกแต่ก็หนักแน่น และดูแลแม่ของมาร์กอย่างดีเสมอ. เมื่อลูกของเรามีปัญหา สามีของดิฉันจะรีบจัดการ. เขาจะดูว่าเกิดอะไรขึ้น แก้ไขสถานการณ์จนเรียบร้อย แล้วก็ไม่คิดถึงเรื่องนั้นอีกเลย.
ความเห็นของจอห์นกับแครอลแสดงให้เห็นว่า การอบรมเลี้ยงดูที่คุณได้รับในวัยเด็กอาจมีผลกระทบอย่างมากต่อวิธีที่คุณอบรมและตีสอนลูกของคุณเอง. เมื่อสามีและภรรยามาจากครอบครัวที่มีภูมิหลังต่างกัน พวกเขาก็อาจจะมีทัศนคติที่แตกต่างกันมากในเรื่องการอบรมสั่งสอนลูก. บางครั้งความแตกต่างเหล่านี้ทำให้เกิดปัญหาตึงเครียดในชีวิตสมรส.
ปัญหาตึงเครียดอาจทวีความรุนแรงขึ้นเนื่องจากความเหน็ดเหนื่อยอ่อนเพลีย. พ่อแม่มือใหม่จะเรียนรู้ภายในเวลาไม่นานว่า การอบรมเลี้ยงดูลูกเป็นงานที่เหน็ดเหนื่อยและต้องทำอยู่ตลอดเวลา. โจแอนซึ่งช่วยดาร์เรน สามีเลี้ยงดูลูกสาวสองคน กล่าวว่า “ดิฉันรักลูก แต่ลูก ๆ ไม่ค่อยยอมเข้านอนตามเวลาที่ดิฉันอยากให้
พวกเขานอน. พวกเขาตื่นนอนตอนที่ไม่ควรจะตื่น. พวกเขาชอบเข้ามาแทรกเวลาที่ดิฉันต้องการจะพูดคุย. พวกเขาวางรองเท้า เสื้อผ้ากับของเล่นทิ้งระเกะระกะ และไม่เคยเก็บเนยเข้าตู้เย็นเลย.”แจ็ก ซึ่งภรรยามีภาวะซึมเศร้าหลังคลอดลูกคนที่สองกล่าวว่า “หลังเลิกงานผมมักจะกลับมาบ้านอย่างหมดเรี่ยวหมดแรงแล้วก็ต้องเลี้ยงลูกที่เพิ่งคลอดอีกครึ่งค่อนคืน จึงเป็นเรื่องยากมากที่จะตีสอนลูกสาวคนโตได้อย่างเสมอต้นเสมอปลาย. เธออิจฉาที่เราแบ่งความสนใจให้กับน้องสาวของเธอ.”
เมื่อพ่อแม่ที่เหน็ดเหนื่อยถกเถียงกันเรื่องการอบรมสั่งสอนลูก การโต้เถียงเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็อาจลุกลามกลายเป็นการทะเลาะเบาะแว้งใหญ่โต. ความขัดแย้งที่ไม่ได้รับการแก้ไขอาจกลายเป็นสิ่งที่แยกคู่สมรสออกจากกัน และเปิดช่องให้ลูกฉวยประโยชน์เพื่อจะได้สิ่งที่เขาต้องการ. หลักการใดในคัมภีร์ไบเบิลจะช่วยคู่สมรสรักษาสายสมรสให้แน่นแฟ้นอยู่เสมอในขณะที่พยายามอบรมเลี้ยงดูบุตรอย่างดี?
ให้เวลากับคู่สมรส
สามีภรรยาควรสมรสกันก่อนที่ลูกจะเกิดมา และเป็นที่คาดหมายว่าพวกเขาจะอยู่ด้วยกันต่อไปอีกนานหลังจากที่ลูกจากบ้านไปแล้ว. คัมภีร์ไบเบิลกล่าวถึงความผูกพันในชีวิตสมรสว่า “ที่พระเจ้าทรงผูกมัดไว้ด้วยกันแล้วนั้นอย่าให้มนุษย์ทำให้แยกจากกันเลย.” (มัดธาย 19:6) แต่สำหรับบุตร ข้อความตอนเดียวกันนี้แสดงให้เห็นว่าพระเจ้าได้ตั้งพระทัยไว้ว่าในที่สุดเขาจะ “จากบิดามารดาไป.” (มัดธาย 19:5) อันที่จริง การเลี้ยงดูบุตรเป็นเพียงแง่หนึ่งของชีวิตสมรสเท่านั้น ไม่ใช่รากฐานของชีวิตสมรส. แน่นอนว่า บิดามารดาจำเป็นต้องทุ่มเทเวลาเพื่ออบรมเลี้ยงดูบุตร แต่พวกเขาควรจำไว้ว่า ชีวิตสมรสที่เข้มแข็งคือรากฐานที่ดีที่สุดสำหรับการเลี้ยงดูบุตร.
วิธีหนึ่งที่คู่สมรสจะรักษาความสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้นในช่วงหลายปีที่เลี้ยงดูบุตรคืออะไร? หากเป็นไปได้ จงจัดเวลาไว้ให้กันเป็นประจำโดยไม่มีลูก ๆ อยู่ด้วย. การทำเช่นนี้จะทำให้คุณได้พูดคุยเรื่องสำคัญต่าง ๆ ของครอบครัวและมีความสุขกับการได้อยู่ด้วยกัน. ต้องยอมรับว่าไม่ใช่เรื่องง่ายที่คู่สมรสจะหาเวลาอยู่ด้วยกันตามลำพัง. แอลิสัน มารดาที่ได้กล่าวถึงก่อนหน้านี้บอกว่า “เมื่อดิฉันกับสามีพอจะมีเวลาได้อยู่ด้วยกันตามลำพังสักหน่อย ลูกสาวคนเล็กก็เกิดร้องขึ้นมา หรือไม่อย่างนั้น ลูกสาวอายุหกขวบก็เกิดมี ‘ปัญหาใหญ่’ อย่างเช่น หาสีเทียนไม่เจอ.”
โจนและดาร์เรนซึ่งกล่าวถึงก่อนหน้านี้ ได้หาเวลาอยู่ด้วยกันโดยใช้วิธีกำหนดเวลาเข้านอนให้กับลูก ๆ. โจนบอกว่า “เรากำหนดเวลาแน่นอนที่ลูก ๆ จะอยู่ที่เตียงและพร้อมสำหรับการ ‘ปิดไฟ’ เสมอ. การทำอย่างนี้ทำให้ดาร์เรนกับดิฉันมีเวลาได้ผ่อนคลายและพูดคุยกัน.”
การกำหนดเวลาเข้านอนให้ลูกเป็นประจำไม่เพียงช่วยให้คู่สมรสมีเวลาสำหรับกันและกันเท่านั้น แต่ยังช่วยไม่ให้ลูก “คิดถึงตัวเองเกินกว่าที่จำเป็น” ด้วย. (โรม 12:3) ในที่สุดเด็ก ๆ ที่ถูกฝึกให้เคารพกฎเรื่องเวลาเข้านอนจะตระหนักว่า ถึงแม้เขาจะเป็นส่วนสำคัญของครอบครัวแต่ก็ไม่ได้เป็นส่วนเดียวที่สำคัญที่สุด และเขาจะต้องทำตามตารางเวลาของครอบครัว แทนที่จะคาดหมายให้ตารางเวลาของครอบครัวปรับเปลี่ยนไปตามความต้องการของเขา.
ลองวิธีนี้: กำหนดเวลาเข้านอนที่ตายตัวและยึดอยู่กับเวลานี้เสมอ. ถ้าลูกของคุณให้เหตุผลที่จะเข้านอนช้ากว่าเวลานั้นเล็กน้อย เช่น ต้องการจะดื่มน้ำสักแก้วหนึ่ง คุณก็อาจอนุญาตได้ครั้งหนึ่ง. แต่อย่ายอมให้ลูกเลื่อนเวลาเข้านอนออกไปเรื่อย ๆ ด้วยการขอโน่นขอนี่ไม่หยุด. ถ้าลูกขอร้องที่จะเข้านอนช้าสักห้านาทีและคุณต้องการจะอนุญาต ก็ให้ตั้งนาฬิกาไว้ห้านาที. เมื่อนาฬิการ้องเตือนแล้วก็พาลูกเข้านอนโดยไม่อนุญาตอะไรอีก. ให้คำของคุณ “ที่ว่าใช่ หมายความว่าใช่ ที่ว่าไม่ หมายความว่าไม่.”—มัดธาย 5:37.
จงผนึกกำลังกัน
สุภาษิตที่คมคายข้อหนึ่งกล่าวว่า “ศิษย์ของเราเอ๋ย, จงฟังโอวาทบิดาของเจ้า, และอย่าละทิ้งคำสอนของมารดาสุภาษิต 1:8) คัมภีร์ไบเบิลข้อนี้ชี้ให้เห็นว่า ทั้งพ่อและแม่ต่างมีสิทธิ์ที่จะใช้อำนาจกับลูก. อย่างไรก็ตาม แม้แต่คู่สมรสที่โตมาในครอบครัวที่มีภูมิหลังคล้ายกันก็ยังอาจมีความเห็นไม่ลงรอยกันในเรื่องที่ว่าควรอบรมตีสอนลูกอย่างไรและควรใช้กฎข้อใดของครอบครัวในสถานการณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง. พวกเขาจะจัดการปัญหานี้ได้อย่างไร?
เจ้า.” (จอห์นที่กล่าวถึงก่อนหน้านี้ บอกว่า “ผมรู้สึกว่าเป็นเรื่องสำคัญที่เราจะไม่ขัดแย้งกันต่อหน้าลูก.” แต่เขาก็ยอมรับว่าการผนึกกำลังกันเช่นนั้นเป็นเรื่องที่พูดง่ายแต่ทำยาก. จอห์นกล่าวว่า “เด็ก ๆ จะช่างสังเกต. แม้แต่ความขัดแย้งที่ไม่ได้แสดงออกมาทางคำพูด ลูกสาวของเราก็จับความรู้สึกได้.”
จอห์นกับแอลิสันจัดการปัญหานี้อย่างไร? แอลิสันบอกว่า “ถ้าดิฉันไม่เห็นด้วยกับวิธีที่สามีตีสอนลูก ดิฉันจะคอยจนกว่าลูกออกไปห่าง ๆ แล้วค่อยเสนอความคิดเห็น. ดิฉันไม่ต้องการให้ลูกคิดว่าเธอสามารถใช้วิธี ‘ทำให้แตกแยกแล้วเอาชนะ’ ได้โดยฉวยประโยชน์จากความคิดเห็นที่ต่างกันของเรา. ถ้าลูกรู้ว่าเราไม่เห็นพ้องกัน ดิฉันก็จะบอกลูกว่า สมาชิกทุกคนในครอบครัวต้องทำตามการจัดเตรียมของพระเจ้าและดิฉันเต็มใจยอมรับอำนาจพ่อของเธอในฐานะประมุข เช่นเดียวกับที่เธอเองควรยอมรับอำนาจของเราในฐานะพ่อแม่.” (1 โครินท์ 11:3; เอเฟโซส์ 6:1-3) จอห์นกล่าวว่า “เมื่อเราอยู่ด้วยกันเป็นครอบครัว ส่วนใหญ่ผมมักจะเป็นคนตีสอนลูก ๆ. แต่ถ้าแอลิสันรู้เรื่องที่เกิดขึ้นดีกว่า ผมจะปล่อยให้เธอเป็นฝ่ายตีสอนลูก แล้วผมก็คอยสนับสนุนเธอ. ถ้าผมไม่เห็นด้วยกับเธอในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ผมจะคุยกับเธอทีหลัง.”
คุณจะทำอย่างไรเพื่อป้องกันไม่ให้ความเห็นที่ต่างกันในเรื่องการอบรมลูกกลายเป็นเหตุทำให้คุณผิดพ้องหมองใจกับคู่สมรส และอาจส่งผลให้ลูกเคารพนับถือคุณน้อยลง?
ลองวิธีนี้: จัดเวลาไว้สัปดาห์ละครั้งเพื่อพูดคุยเรื่องการอบรมสั่งสอนลูก และหากมีความคิดเห็นที่ขัดแย้งกัน ก็จงพูดกันอย่างเปิดอก. พยายามเข้าใจมุมมองของคู่สมรส และเคารพสิทธิของคู่สมรสในฐานะที่เขาก็เป็นพ่อหรือแม่ของลูกเช่นกัน.
ก้าวไปด้วยกันในฐานะบิดามารดา
ไม่มีข้อสงสัยเลยว่า การอบรมเลี้ยงดูลูกเป็นงานหนัก. บางครั้งอาจดูเหมือนว่าคุณต้องทุ่มเททุกสิ่งทุกอย่างให้กับงานนี้. แต่ไม่ช้าก็เร็ว ลูกของคุณก็จะจากบ้านไป แล้วคุณกับคู่สมรสก็จะรู้สึกเหมือนได้อยู่กันสองคนอีกครั้ง. การเลี้ยงดูลูกจะทำให้สายสมรสของคุณแน่นแฟ้นขึ้นหรือตึงเครียดกว่าเดิม? คำตอบขึ้นอยู่กับว่าคุณนำหลักการในท่านผู้ประกาศ 4:9, 10 ไปใช้ได้ดีเพียงไร. ข้อนั้นกล่าวว่า “สองคนก็ดีกว่าคนเดียว, เพราะว่าเขาทั้งสองได้รับผลของงานดีกว่า. ด้วยว่าถ้าคนหนึ่งล้มลง, อีกคนหนึ่งจะได้พยุงยกเพื่อนของตนให้ลุกขึ้น.”
เมื่อพ่อแม่ทำงานกันเป็นทีม พวกเขาสามารถจะได้ผลงานที่น่าพอใจอย่างยิ่ง. แครอลซึ่งกล่าวถึงก่อนหน้านี้ พูดถึงความรู้สึกของเธอว่า “ดิฉันรู้ว่าสามีดิฉันมีคุณลักษณะที่ดีเยี่ยมมากมาย แต่การได้เลี้ยงลูกด้วยกันทำให้ดิฉันได้เห็นคุณลักษณะอื่น ๆ ของเขาอีกหลายอย่าง. ดิฉันนับถือเขาและรักเขามากขึ้นเมื่อเห็นเขาดูแลเอาใจใส่ลูกสาวของเราด้วยความรัก.” จอห์นพูดถึงแอลิสันว่า “การได้เห็นภรรยาของผมทำหน้าที่แม่ที่ห่วงใยและเอาใจใส่ลูกทำให้ผมรักและชื่นชมเธอยิ่งกว่าเดิม.”
ถ้าคุณให้เวลากับคู่สมรสและทำงานกันเป็นทีมระหว่างช่วงหลายปีที่เลี้ยงดูลูก สายสมรสของคุณก็จะแน่นแฟ้นขึ้นไปพร้อม ๆ กับที่ลูกของคุณเติบโตขึ้น. แล้วคุณก็จะวางตัวอย่างที่ดีเยี่ยมให้ลูกอีกด้วย
^ วรรค 3 ชื่อสมมุติ.
ถามตัวคุณเองว่า . . .
-
ฉันใช้เวลากับคู่สมรสมากแค่ไหนในแต่ละสัปดาห์โดยไม่มีลูก ๆ อยู่ด้วย?
-
ฉันสนับสนุนคู่สมรสอย่างไรบ้างเมื่อเขาหรือเธอตีสอนลูก?