เธอ “ใคร่ครวญอยู่ในใจ”
จงเลียนแบบความเชื่อของเขา
เธอ “ใคร่ครวญอยู่ในใจ”
มาเรียขยับตัวด้วยความรู้สึกเมื่อยล้าอยู่บนหลังสัตว์พาหนะตัวเล็ก. เธอนั่งบนหลังมันมานานหลายชั่วโมงแล้ว. ข้างหน้าเธอคือโยเซฟซึ่งกำลังเดินนำไปเรื่อย ๆ ตามเส้นทางสู่เบทเลเฮมที่ห่างไกล. มาเรียรู้สึกว่าทารกในครรภ์ของเธอกำลังดิ้นอีกครั้งหนึ่ง.
มาเรียตั้งครรภ์ได้หลายเดือนแล้วและคัมภีร์ไบเบิลพรรณนาถึงเธอในยามนี้ว่า “มีครรภ์แก่.” (ลูกา 2:5) เมื่อสองสามีภรรยาเดินผ่านทุ่งนาแปลงแล้วแปลงเล่า ชาวนาบางคนที่กำลังไถหรือหว่านคงจะเงยหน้าขึ้นมองและอดสงสัยไม่ได้ว่าทำไมผู้หญิงท้องแก่ขนาดนี้ยังจะเดินทางอีก. อะไรทำให้มาเรียต้องจากบ้านของเธอในนาซาเรทมาไกลถึงเพียงนี้?
เรื่องราวเริ่มขึ้นเมื่อหลายเดือนก่อน ตอนที่หญิงสาวชาวยิวผู้นี้ได้รับมอบหมายงานที่พิเศษที่สุดในประวัติศาสตร์ของมนุษย์. เธอต้องให้กำเนิดบุตรซึ่งต่อมาจะเป็นพระมาซีฮา พระบุตรของพระเจ้า! (ลูกา 1:35) เมื่อใกล้ถึงเวลาคลอด ก็เกิดมีความจำเป็นต้องเดินทาง. ตลอดการเดินทางครั้งนี้มาเรียเผชิญหลายสิ่งที่ทดสอบความเชื่อของเธอ. ให้เรามาดูว่าอะไรช่วยมาเรียให้รักษาความเชื่อที่เข้มแข็งเอาไว้.
การเดินทางสู่เบทเลเฮม
ไม่ได้มีเพียงโยเซฟกับมาเรียเท่านั้นที่กำลังเดินทาง. ก่อนหน้านี้ซีซาร์เอากุสตุสเพิ่งออกพระราชกฤษฎีกาให้มีการจดทะเบียนสำมะโนครัวทั่วแผ่นดิน และประชาชนทุกคนต้องเดินทางไปจดทะเบียนที่บ้านเกิดของตน. โยเซฟทำอย่างไรเมื่อทราบเช่นนั้น? บันทึกอ่านว่า “เนื่องจากโยเซฟอยู่ในเชื้อวงศ์ของดาวิด เขาก็ออกจากเมืองนาซาเรทในแคว้นแกลิลีขึ้นไปยังเมืองของดาวิดชื่อเบทเลเฮมในแคว้นยูเดีย.”—ลูกา 2:1-4.
ไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่ซีซาร์ออกพระราชกฤษฎีกาในเวลานี้. คำพยากรณ์ที่เขียนไว้ประมาณเจ็ดร้อยปีก่อนหน้านั้นบอกล่วงหน้าว่าพระมาซีฮาจะประสูติที่เบทเลเฮม. ปรากฏว่ามีเมืองหนึ่งชื่อเบทเลเฮมอยู่ห่างจากนาซาเรทไปเพียงสิบเอ็ดกิโลเมตรเท่านั้น. อย่างไรก็ตาม คำพยากรณ์บอกอย่างเจาะจงว่าสถานที่ที่พระมาซีฮาจะมาประสูติคือ “เบธเลเฮ็มเอฟราธา.” (มีคา 5:2) หากเดินทางโดยใช้ถนนในปัจจุบัน นาซาเรทจะอยู่ห่างจากหมู่บ้านเล็ก ๆ ซึ่งอยู่ทางใต้นี้ไปประมาณ 150 กิโลเมตรและเป็นเส้นทางที่ต้องขึ้นเขา. นั่นคือเบทเลเฮมที่โยเซฟจะต้องไป เนื่องจากเป็นบ้านเกิดของบรรพบุรุษในเชื้อวงศ์ของกษัตริย์ดาวิด ซึ่งทั้งโยเซฟและมาเรียต่างก็เกิดในเชื้อวงศ์นี้.
มาเรียจะสนับสนุนการตัดสินใจของโยเซฟไหม? ที่จริง การเดินทางไกลเช่นนั้นเป็นเรื่องยากลำบากสำหรับเธอ. ขณะนั้นดูเหมือนว่าเพิ่งจะเข้าสู่ฤดูใบไม้ร่วง จึงอาจมีฝนตกลงมาเล็กน้อยขณะที่ฤดูแล้งกำลังผ่านไป. นอกจากนั้น วลีที่ว่า “ออกจาก . . . แคว้นแกลิลีขึ้นไป” ก็เป็นคำกล่าวที่เหมาะสม เพราะเบทเลเฮมตั้งอยู่ในที่สูงชันเหนือระดับน้ำทะเลขึ้นไปมากกว่า 760 เมตร ในช่วงท้ายของการเดินทางที่ใช้เวลาหลายวันผู้เดินทางจึงต้องออกแรงมากเพื่อจะเดินขึ้นเขาไปถึงเบทเลเฮม. การเดินทางครั้งนี้อาจใช้เวลานานกว่าปกติเพราะมาเรียซึ่งกำลังท้องแก่คงจำเป็นต้องหยุดพักหลายครั้ง. ในเวลาใกล้คลอดเช่นนี้ หญิงสาวทั่วไปคงอยากอยู่ใกล้บ้านที่มีญาติพี่น้องและเพื่อนฝูงคอยช่วยเหลือเมื่อ
เริ่มเจ็บท้องคลอด. ไม่ต้องสงสัยว่า เธอต้องมีใจกล้ามากทีเดียวที่ออกเดินทางมาอย่างนี้.อย่างไรก็ตาม ลูกาเขียนว่า โยเซฟไป “จดทะเบียนสำมะโนครัวด้วยกันกับมาเรีย.” ท่านยังบันทึกด้วยว่า มาเรีย “ได้สมรสกันแล้ว [กับโยเซฟ].” (ลูกา 2:4, 5) การเป็นภรรยาของโยเซฟมีผลกระทบอย่างมากต่อการตัดสินใจของมาเรีย. เธอถือว่าสามีคือผู้ที่นำหน้าในเรื่องการนมัสการ และเธอยอมรับบทบาทที่พระเจ้ามอบให้ในฐานะผู้ช่วยโดยสนับสนุนการตัดสินใจของเขา. * ดังนั้น เธอจึงรับมือกับเรื่องนี้ซึ่งอาจเป็นการทดสอบความเชื่อของเธอโดยเชื่อฟังโยเซฟ.
มีอะไรอีกที่อาจกระตุ้นให้มาเรียเชื่อฟัง? เธอรู้ไหมว่ามีคำพยากรณ์ว่าเบทเลเฮมคือสถานที่ประสูติของพระมาซีฮา? คัมภีร์ไบเบิลไม่ได้บอก. เป็นไปได้ที่เธอจะรู้ เพราะดูเหมือนว่าเรื่องนี้เป็นที่รู้กันดีทั้งในหมู่ผู้นำทางศาสนาและแม้แต่ประชาชนทั่วไป. (มัดธาย 2:1-7; โยฮัน 7:40-42) มาเรียไม่ใช่คนที่ไม่รู้อะไรเกี่ยวกับพระคัมภีร์. (ลูกา 1:46-55) อย่างไรก็ตาม ไม่ว่ามาเรียจะตัดสินใจเดินทางเพราะเชื่อฟังสามี, คำสั่งของทางการ, หรือคำพยากรณ์ของพระเจ้า หรือเป็นเพราะทั้งสามอย่าง เธอก็ได้วางตัวอย่างที่ดีเยี่ยมให้แก่เราแล้ว. พระยะโฮวาทรงถือว่าความถ่อมใจและการพร้อมจะเชื่อฟังนั้นเป็นคุณลักษณะที่มีค่ามากของทั้งชายและหญิง. ในสมัยของเรา การยอมเชื่อฟังดูเหมือนเป็นคุณลักษณะที่ไม่ค่อยมีใครเห็นค่า มาเรียจึงเป็นตัวอย่างที่โดดเด่นสำหรับผู้มีความเชื่อในพระเจ้าทุกหนแห่ง.
การประสูติของพระคริสต์
มาเรียคงจะถอนใจด้วยความโล่งอกเมื่อมองเห็นเบทเลเฮมอยู่ข้างหน้า. ขณะที่พวกเขาเดินขึ้นไหล่เขามา ผ่านสวนมะกอกซึ่งเป็นพืชชนิดหนึ่งที่จะเก็บเกี่ยวหลังสุด มาเรียกับโยเซฟคงจะนึกถึงประวัติความเป็นมาของหมู่บ้านเล็ก ๆ แห่งนี้. เบทเลเฮมเป็นเมืองที่เล็กมากจนไม่ถูกนับเป็นเมืองหนึ่งของแคว้นยูดาห์ ดังที่ผู้พยากรณ์มีคาได้กล่าวเอาไว้ แต่ถึงอย่างไรที่นี่ก็เป็นบ้านเกิดของโบอัศ, นาอะมี, และดาวิด เมื่อพันกว่าปีก่อน.
มาเรียกับโยเซฟพบว่าที่หมู่บ้านแห่งนี้มีผู้คนคับคั่ง. คนอื่น ๆ ที่มาจดทะเบียนไปถึงก่อนพวกเขา จึงไม่มีที่ว่างสำหรับพวกเขาในห้องพัก. * พวกเขาไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากต้องพักค้างคืนในคอกสัตว์. เราคงจินตนาการได้ว่าโยเซฟคงจะรู้สึกกังวลใจสักเพียงไรเมื่อเห็นภรรยาเจ็บท้องมากอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อนและเจ็บมากขึ้นเรื่อย ๆ. ในสถานที่ที่ไม่เหมาะเลยเช่นนี้ มาเรียก็เริ่มเจ็บท้องคลอด.
ผู้หญิงทั่วโลกคงจะเห็นใจมาเรีย. ก่อนหน้านั้นราว ๆ 4,000 ปี พระยะโฮวาทรงพยากรณ์ว่า ผู้หญิงทุกคนจะเจ็บท้องเมื่อคลอดบุตรเนื่องจากบาปที่ได้รับสืบทอดมา. (เยเนซิศ 3:16) ไม่มีหลักฐานที่แสดงว่ามาเรียได้รับการยกเว้นในเรื่องนี้. บันทึกของลูกาไม่ได้พรรณนาเหตุการณ์ตอนนี้อย่างชัดเจน แต่บอกเพียงว่า “นางจึงคลอดบุตรชายหัวปี.” (ลูกา 2:7) ใช่แล้ว นี่คือ “บุตรชายหัวปี”—เป็นบุตรคนแรกของมาเรียก่อนที่เธอจะให้กำเนิดบุตรอีกหลายคน อย่างน้อย ๆ ก็เจ็ดคน. (มาระโก 6:3) แต่บุตรคนนี้จะ ไม่เหมือนคนอื่น ๆ. ไม่ใช่เพราะเขาเป็นบุตรคนแรกของเธอเท่านั้น แต่เพราะเขาเป็น “ผู้ที่เกิดก่อนสรรพสิ่งทรงสร้าง” ของพระยะโฮวา เป็นพระบุตรผู้ได้รับกำเนิดองค์เดียวของพระเจ้า!—โกโลซาย 1:15.
เมื่อถึงตอนนี้บันทึกของลูกาให้รายละเอียดเพิ่มเติมที่หลายคนคุ้นเคยดีว่า “นางเอาผ้าพันทารกแล้ววางไว้ในรางหญ้า.” (ลูกา 2:7) การแสดงละครเกี่ยวกับเหตุการณ์ในวันประสูติของพระเยซู, ภาพวาด, และฉากจำลองต่าง ๆ ทั่วโลกมักแสดงถึงอารมณ์ความรู้สึกที่เกินจริง. แต่ขอให้คิดถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง ๆ. รางหญ้านั้นเป็นที่ใส่อาหารสัตว์ ซึ่งสัตว์ในฟาร์มจะมากิน. ครอบครัวของโยเซฟกำลังอยู่ในคอกสัตว์ ซึ่งไม่ถือว่าเป็นสถานที่ที่มีอากาศสดชื่นหรือถูกสุขอนามัยเลย ไม่ว่าในสมัยก่อนหรือสมัยนี้. ที่จริงแล้ว ถ้าหากเลือกได้มีพ่อแม่คนไหนบ้างจะเลือกสถานที่เช่นนี้เป็นที่เกิดของลูก? พ่อแม่ส่วนใหญ่ต้องการสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับลูกของตน. มาเรียและโยเซฟคงต้องการยิ่งกว่านั้นสักเท่าไรที่จะจัดหาสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับพระบุตรของพระเจ้า!
อย่างไรก็ตาม ข้อจำกัดเหล่านี้ไม่ได้ทำให้พวกเขารู้สึกขมขื่น พวกเขาก็เพียงแต่ทำดีที่สุดเท่าที่ทำได้ด้วยสิ่งที่มีอยู่. ตัวอย่างเช่น ขอให้สังเกตว่ามาเรียเองก็ดูแลเอาใจใส่ทารกน้อยโดยเอาผ้าพันรอบตัวเขาแล้วค่อย ๆ เอาเขานอนในรางหญ้าเพื่อให้เขาอบอุ่นและปลอดภัย. มาเรียไม่ได้มัวแต่กังวลกับสภาพการณ์ของเธอในขณะนั้นจนละเลยการจัดหาสิ่งดีที่สุดเท่าที่เธอจะทำได้. ทั้งเธอและโยเซฟต่างก็ทราบว่า สิ่งสำคัญที่สุดที่พวกเขาจะทำให้ทารกคนนี้ได้คือช่วยเหลือและดูแลเขาในด้านการนมัสการพระเจ้า. (พระบัญญัติ 6:6-8) ทุกวันนี้ พ่อแม่ที่ฉลาดสุขุมพยายามจัดลำดับความสำคัญในแบบเดียวกันขณะที่ต้องเลี้ยงดูลูกในโลกที่ผู้คนมักไม่เห็นคุณค่าการนมัสการพระเจ้า.
การเยี่ยมที่ให้กำลังใจ
ทันใดนั้น บรรยากาศที่สงบก็ถูกขัดจังหวะด้วยเสียงอึกทึกวุ่นวาย. พวกคนเลี้ยงแกะพรวดพราดเข้ามาในคอกสัตว์ พวกเขาอยากจะเห็นครอบครัวนี้โดยเฉพาะอย่างยิ่งทารกน้อย. ชายเหล่านี้พูดไม่หยุดด้วยความตื่นเต้น ใบหน้าของพวกเขาเต็มไปด้วยความปลื้มปีติ. พวกเขารีบเดินทางมาจากไหล่เขาซึ่งพวกเขาอาศัยอยู่กับฝูงสัตว์. * พวกเขาเล่าให้โยเซฟกับมาเรียที่กำลังฉงนฟังถึงประสบการณ์อันน่าตื่นเต้นที่เพิ่งเกิดขึ้นกับพวกเขา. ขณะที่กำลังเฝ้าฝูงสัตว์อยู่ในกลางคืนวันนั้น จู่ ๆ ก็มีทูตสวรรค์องค์หนึ่งมาปรากฏแก่พวกเขา. รัศมีของพระยะโฮวาส่องรอบพวกเขา และทูตสวรรค์องค์นั้นบอกพวกเขาว่า พระคริสต์ หรือพระมาซีฮาเพิ่งจะประสูติในเบทเลเฮม. พวกเขาจะพบพระกุมารนอนอยู่ในรางหญ้าและมีผ้าพันไว้. แล้วก็มีสิ่งที่น่าตื่นตาตื่นใจยิ่งกว่านั้นอีก เมื่อทูตสวรรค์หมู่ใหญ่ปรากฏขึ้นแล้วร้องเพลงสรรเสริญพระเจ้าอย่างกึกก้อง!
ไม่แปลกใจเลยที่คนเลี้ยงแกะผู้ถ่อมใจเหล่านี้รีบเดินทางมาเบทเลเฮม! พวกเขาคงจะตื่นเต้นมากที่เห็นทารกแรกเกิดนอนอยู่ในรางหญ้าอย่างที่ทูตสวรรค์บอกจริง ๆ. พวกเขาไม่เก็บข่าวดีนี้ไว้เป็นความลับ. “พวกเขาก็เล่าเรื่อง . . . และทุกคนที่ได้ยินเรื่องที่คนเลี้ยงแกะเล่าก็ประหลาดใจ.” (ลูกา 2:17, 18) มีเหตุผลที่เชื่อได้ว่าพวกผู้นำศาสนาในสมัยนั้นดูถูกคนเลี้ยงแกะ. แต่เห็นได้ชัดว่าพระยะโฮวาทรงเห็นค่าของคนเลี้ยงแกะที่ซื่อสัตย์และถ่อมใจเหล่านี้. แต่การเยี่ยมของพวกเขามีผลอย่างไรต่อมาเรีย?
แน่นอนว่ามาเรียคงรู้สึกเหนื่อยล้าจากการคลอดบุตร แต่เธอก็ตั้งใจฟังคำพูดทุกคำของคนเลี้ยงแกะ. และไม่เพียงเท่านั้น “มาเรียจดจำถ้อยคำทั้งหมดนั้นไว้และใคร่ครวญอยู่ในใจ.” (ลูกา 2:19) หญิงสาวผู้นี้เป็นคนที่คิดใคร่ครวญอะไรลึกซึ้งจริง ๆ. เธอรู้ว่าข่าวที่ทูตสวรรค์นำมานี้เป็นเรื่องสำคัญมาก. พระยะโฮวาพระเจ้าของเธอต้องการให้เธอรู้และเข้าใจว่าบุตรของเธอเป็นใครและมีความสำคัญเพียงไร. ดังนั้น เธอจึงไม่เพียงแต่ฟังเท่านั้น. มาเรียจดจำคำพูดทุกคำไว้ในใจเพื่อว่าเธอจะนำมาใคร่ครวญอีกในหลายเดือนหลายปีข้างหน้า. นี่แหละคือสิ่งสำคัญที่ทำให้มาเรียมีความเชื่อและแสดงความเชื่อนั้นตลอดชีวิตของเธอ.
คุณจะทำตามแบบอย่างของมาเรียไหม? พระยะโฮวาทรงบรรจุความจริงที่สำคัญยิ่งไว้ในพระคำของพระองค์. 2 ติโมเธียว 3:16) และก็เช่นเดียวกับมาเรีย เราจำเป็นต้องเอาความจริงในพระคัมภีร์ใส่ไว้ในหัวใจเราและพยายามทำความเข้าใจให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น. ถ้าเราไตร่ตรองสิ่งที่เราได้อ่านจากคัมภีร์ไบเบิลและคิดถึงวิธีต่าง ๆ ที่จะนำคำแนะนำของพระยะโฮวาไปใช้ให้มากขึ้น ความเชื่อของเราก็จะได้รับการบำรุงเลี้ยงที่จำเป็นเพื่อจะเติบโตได้.
แต่ความจริงเหล่านั้นคงไม่เป็นประโยชน์อะไรแก่เราถ้าเราไม่ให้ความสนใจกับความจริงนั้นก่อน. เราแสดงว่าเราสนใจความจริงโดยอ่านคัมภีร์ไบเบิลเป็นประจำ และถือว่าหนังสือเล่มนี้คือพระคำที่มีขึ้นโดยการดลใจจากพระเจ้า ไม่ใช่เป็นเพียงวรรณกรรมชิ้นหนึ่งเท่านั้น. (มีคำกล่าวอื่นอีกที่ต้องจดจำ
เมื่อพระกุมารอายุได้แปดวัน มาเรียกับโยเซฟก็ให้เขารับสุหนัตตามที่พระบัญญัติของโมเซกำหนดไว้ และตั้งชื่อเขาว่าเยซู ตามที่พระเจ้าทรงสั่งไว้. (ลูกา 1:31) และเมื่อครบ 40 วันพวกเขาก็พาพระกุมารออกจากเบทเลเฮมไปยังพระวิหารที่กรุงเยรูซาเลมซึ่งอยู่ห่างออกไปไม่กี่กิโลเมตร และถวายเครื่องบูชาเพื่อชำระตัวที่พระบัญญัติอนุญาตให้สำหรับคนยากจน คือนกเขาหรือนกพิราบสองตัว. ถ้าพวกเขาจะรู้สึกอายที่ไม่สามารถถวายแกะผู้ตัวหนึ่งกับนกเขาตัวหนึ่งเหมือนพ่อแม่คู่อื่น ๆ ได้ พวกเขาก็ไม่ใส่ใจกับความรู้สึกนั้น. ถึงอย่างไรพวกเขาก็ได้รับกำลังใจมากทีเดียวเมื่ออยู่ที่นั่น.—ลูกา 2:21-24.
ชายชราชื่อซิมโอนเข้ามาหาพวกเขาแล้วพูดกับมาเรียในเรื่องที่เธอจะต้องจดจำไว้ในใจเพิ่มขึ้นอีก. พระเจ้าทรงสัญญากับชายผู้นี้ว่าเขาจะได้เห็นพระมาซีฮาก่อนเขาตาย และพระวิญญาณบริสุทธิ์ของพระยะโฮวาก็เปิดเผยให้เขารู้ว่าพระกุมารเยซูคือผู้ช่วยให้รอดที่มีการพยากรณ์ไว้. นอกจากนี้ ซิมโอนยังได้เตือนมาเรียว่าเธอจะต้องทนรับความเจ็บปวดในวันข้างหน้า. เขาบอกว่า เธอจะรู้สึกเหมือนถูกดาบยาวแทงทะลุ. (ลูกา 2:25-35) แม้แต่คำพูดที่บอกถึงอนาคตอันเลวร้ายเช่นนั้นก็อาจได้ช่วยมาเรียให้อดทนเมื่อเธอเผชิญกับความทุกข์นั้นในอีกกว่าสามสิบปีต่อมา. ถัดจากซิมโอนก็มีผู้พยากรณ์หญิงชื่ออันนาที่ได้เห็นพระกุมารเยซูและเริ่มพูดถึงทารกนั้นกับทุกคนที่เฝ้ารอการปลดปล่อยกรุงเยรูซาเลม.—ลูกา 2:36-38.
นับเป็นการตัดสินใจที่ดีจริง ๆ ที่โยเซฟกับมาเรียพาบุตรน้อยไปยังพระวิหารของพระยะโฮวาที่กรุงเยรูซาเลม! โดยทำเช่นนั้น พวกเขาได้ช่วยลูกของตนให้เริ่มเข้าร่วมการนมัสการพระเจ้าอย่างซื่อสัตย์ที่พระวิหารของพระยะโฮวา ซึ่งเป็นสิ่งที่เขาจะทำไปตลอดชีวิต. เมื่ออยู่ที่นั่น พวกเขาทำทุกอย่างที่ทำได้ในการรับใช้พระเจ้าและรับเอาคำแนะนำสั่งสอนรวมทั้งการหนุนใจ. ไม่ต้องสงสัยว่า มาเรียคงต้องออกจากพระวิหารในวันนั้นพร้อมด้วยความเชื่อที่เข้มแข็งกว่าเดิม และหัวใจของเธอเต็มไปด้วยถ้อยคำสำคัญที่ต้องใคร่ครวญและบอกเล่าแก่คนอื่น ๆ.
เป็นภาพที่งดงามจริง ๆ ที่เห็นพ่อแม่ในทุกวันนี้กำลังทำตามตัวอย่างของโยเซฟและมาเรีย. ท่ามกลางพยานพระยะโฮวา พ่อแม่ที่ซื่อสัตย์ต่างพาลูกของตนมายังการประชุมคริสเตียน. พ่อแม่เหล่านี้ทำสุดความสามารถในการรับใช้พระเจ้าและพูดหนุนใจเพื่อนร่วมความเชื่อ. แล้วพวกเขาก็กลับไปพร้อมกับความเชื่อที่เข้มแข็งกว่าเดิม, มีความสุขมากขึ้น, และมีสิ่งดี ๆ มากมายที่จะแบ่งปันแก่คนอื่น. คุณเองก็ได้รับเชิญอย่างใจจริงให้เข้าร่วมประชุมกับพวกเขาเช่นกัน. ถ้าคุณทำเช่นนั้น คุณจะพบว่าความเชื่อของคุณจะเข้มแข็งยิ่งขึ้น เช่นเดียวกับความเชื่อของมาเรีย.
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 10 ขอให้สังเกตความแตกต่างระหว่างข้อความตอนนี้กับคำพรรณนาการเดินทางครั้งก่อนของมาเรียที่ว่า “มาเรียจึง . . . ไป” เยี่ยมเอลิซาเบท. (ลูกา 1:39) ตอนนั้นมาเรียหมั้นแล้วแต่ยังไม่ได้แต่งงาน เธอจึงอาจเดินทางไปโดยไม่ได้ปรึกษาโยเซฟ. แต่เมื่อแต่งงานแล้ว ผู้ที่ตัดสินใจว่าทั้งสองจะเดินทางไปด้วยกันคือโยเซฟ ไม่ใช่มาเรีย.
^ วรรค 14 เป็นธรรมเนียมในสมัยนั้นที่เมืองเล็ก ๆ จะมีห้องพักรวมสำหรับคนเดินทางหรือกองคาราวานจะแวะพักค้างคืนได้.
^ วรรค 19 การที่คนเลี้ยงแกะเหล่านี้อยู่นอกบ้านในเวลานั้นยืนยันข้อมูลที่ได้จากการลำดับเหตุการณ์ในคัมภีร์ไบเบิลที่ว่า การประสูติของพระคริสต์ไม่ได้เกิดขึ้นในเดือนธันวาคมซึ่งฝูงสัตว์จะถูกเก็บไว้ในคอกใกล้บ้าน แต่พระองค์ประสูติในเวลาใดเวลาหนึ่งช่วงต้นเดือนตุลาคม.
[ภาพหน้า 25]
พระเจ้าทรงอวยพรให้ซิมโอนได้เห็นผู้ช่วยให้รอดที่ได้พยากรณ์ไว้