กิตติคุณทั้งสี่น่าเชื่อถือเพียงไร?
กิตติคุณทั้งสี่น่าเชื่อถือเพียงไร?
“ปัจจุบันต้องมองว่ากิตติคุณทั้งสี่เป็นผลงานการแต่งนิยายของคริสเตียนในยุคแรก.”—เบอร์ตัน แอล. แมค, ศาสตราจารย์เกษียณอายุด้านการศึกษาพันธสัญญาใหม่.
ศาสตราจารย์ผู้นี้ไม่ใช่คนเดียวที่มีทัศนะเช่นนั้น. ผู้คงแก่เรียนบางคนเคยตั้งข้อสงสัยในเรื่องความน่าเชื่อถือของหนังสือกิตติคุณที่เขียนโดยมัดธาย, มาระโก, ลูกา, และโยฮัน ซึ่งเป็นบันทึกในคัมภีร์ไบเบิลเกี่ยวกับชีวิตและงานสั่งสอนของพระเยซู. ทำไมบางคนจึงมองว่ากิตติคุณเป็นเรื่องที่แต่งขึ้น? ทัศนะของคนเหล่านี้ควรเป็นเหตุทำให้คุณสงสัยความถูกต้องเป็นจริงของกิตติคุณไหม? ให้เรามาตรวจสอบหลักฐานบางอย่างด้วยกัน.
การตั้งข้อสงสัยในเรื่องความน่าเชื่อถือของกิตติคุณ
ในช่วง 17 ศตวรรษแรกแห่งสากลศักราช ไม่เคยมีใครสงสัยความน่าเชื่อถือของกิตติคุณทั้งสี่อย่างจริงจัง. อย่างไรก็ตาม ในเวลาต่อมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา มีนักวิชาการบางคนถือว่ากิตติคุณทั้งสี่ไม่ได้เขียนขึ้นโดยการดลใจจากพระเจ้า แต่แต่งขึ้นโดยมนุษย์. นอกจากนี้ พวกเขายังไม่ยอมรับด้วยว่าผู้เขียนกิตติคุณได้ข้อมูลเกี่ยวกับพระเยซูมาจากการรู้เห็นและได้ยินด้วยตนเอง และยืนยันว่าคนเหล่านี้ไม่สามารถจะบันทึกประวัติศาสตร์ที่น่าเชื่อถือได้. ไม่เพียงเท่านั้น พวกเขายังลงความเห็นว่า เค้าโครงและเนื้อหาที่คล้ายคลึงกันในกิตติคุณสามเล่มแรก—ซึ่งบางครั้งเรียกว่า “ซีนอปติก” ที่แปลว่า “ความเห็นที่พ้องกัน”—บ่งชี้ว่าผู้เขียนกิตติคุณได้คัดลอกเรื่องราวหลายส่วนจากกันและกัน. นอกจากนี้ นักวิจารณ์ยังได้ปฏิเสธการอัศจรรย์ต่าง ๆ และการคืนพระชนม์ของพระเยซูที่กล่าวถึงในกิตติคุณด้วย. บางคนถึงกับอ้างว่าพระเยซูไม่ได้เป็นบุคคลจริงในประวัติศาสตร์เลยด้วยซ้ำ!
นักวิจารณ์เหล่านี้ลงความเห็นว่า มาระโกคงต้องเป็นคนแรกที่เขียนกิตติคุณ เพราะดูเหมือนว่ากิตติคุณของมาระโกแทบไม่ได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติมจากกิตติคุณของมัดธายและลูกา. เหล่านักวิจารณ์ยังสันนิษฐานด้วยว่า มัดธายและลูกาได้อาศัยหนังสือมาระโกเป็นพื้นฐานในการเรียบเรียงกิตติคุณของตนเองและได้หาข้อมูลเพิ่มเติมจากอีกแหล่งหนึ่ง คือ เอกสารซึ่งพวกผู้คงแก่เรียนเรียกว่า คิว (มาจากภาษาเยอรมัน เควลเล แปลว่า “แหล่ง”). ตามความเห็นของผู้คงแก่เรียนด้านคัมภีร์ไบเบิล เอ. เอฟ. เจ. ไคลน์ การตั้งข้อสันนิษฐานเช่นนั้นเป็นการ “ลดฐานะผู้เขียนหนังสือกิตติคุณให้กลายเป็นเพียงผู้รวบรวมเรื่องราวเล็ก ๆ น้อย ๆ.” ความคิดเช่นนั้น แท้จริงแล้วทำให้ผู้เขียนกิตติคุณกลายเป็นคนที่แอบคัดลอกงานเขียนของผู้อื่นและเป็นนักแต่งนิยาย. ทฤษฎีเช่นนี้บ่อนทำลายความเชื่อที่ว่าคัมภีร์ไบเบิลเป็นหนังสือที่มีขึ้นโดยการดลใจจากพระเจ้า.—2 ติโมเธียว 3:16.
ผู้เขียนกิตติคุณแอบคัดลอกงานเขียนของคนอื่นไหม?
เนื้อความที่คล้ายคลึงกันของกิตติคุณสามเล่มแรกเป็นข้อพิสูจน์จริง ๆ ไหมว่าผู้เขียนเพียงแต่คัดลอกงานเขียนของกันและกัน? ไม่เลย. ทำไมจึงกล่าวเช่นนั้น? เหตุผลหนึ่งคือ พระเยซูทรงสัญญากับเหล่าสาวกว่า พระวิญญาณบริสุทธิ์จะ ‘ช่วยพวกเขาให้ระลึกถึงทุกสิ่งที่พระองค์ได้บอกพวกเขาไว้.’ (โยฮัน 14:26) ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ผู้เขียนกิตติคุณทั้งสามจะจำเรื่องราวและบันทึกเหตุการณ์บางเรื่องเหมือนกัน. จริงอยู่ ผู้เขียนคัมภีร์ไบเบิลบางคนอาจเคยอ่านและอ้างถึงสิ่งที่อีกคนหนึ่งเขียนไว้ แต่การทำอย่างนั้นน่าจะบ่งชี้ว่าพวกเขาได้ศึกษาค้นคว้าอย่างถี่ถ้วน ไม่ใช่การแอบคัดลอกงานเขียนของคนอื่น. (2 เปโตร 3:15) นอกจากนั้น พจนานุกรม ดิ แองเคอร์ ไบเบิล กล่าวว่า “ธรรมเนียมการบอกเล่าเรื่องราวแบบปากต่อปากอาจเป็นเหตุให้มีการบันทึกคำตรัสอันน่าจดจำของพระเยซูด้วยถ้อยคำที่เหมือน ๆ กัน.”
ลูกา 1:1-4) คำพูดนี้ฟังเหมือนกับว่าท่านได้แอบคัดลอกงานเขียนของคนอื่นหรือเป็นนักแต่งนิยายไหม? ตรงกันข้ามเลยทีเดียว! หลังจากวิเคราะห์งานเขียนของลูกาอย่างถี่ถ้วนแล้ว นักโบราณคดีวิลเลียม แรมซีย์ได้สรุปว่า “ลูกาเป็นนักประวัติศาสตร์ชั้นแนวหน้า: ไม่ใช่เพราะข้อมูลของท่านน่าเชื่อถือเท่านั้น แต่เพราะตัวท่านเองมีทักษะในการเขียนเรื่องทางประวัติศาสตร์จริง ๆ . . . ผู้เขียนคนนี้สมควรถูกจัดอยู่ในกลุ่มนักประวัติศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดโดยแท้.”
ลูกากล่าวว่าท่านได้สนทนากับประจักษ์พยานหลายคนและได้ “สืบเสาะทุกเรื่องตั้งแต่ต้นอย่างถูกต้องแม่นยำ.” (พยานหลักฐานจากเหล่านักเขียนแห่งคริสตจักรโบราณ รวมถึงจากออริเกน นักเทววิทยาแห่งศตวรรษที่สามแสดงให้เห็นเช่นกันว่าอัครสาวกมัดธายเป็นคนแรกที่เขียนกิตติคุณ. ออริเกนเขียนว่า “กิตติคุณเล่มแรกเขียนโดยมัดธาย คนเดียวกับที่เคยเป็นคนเก็บภาษี แต่ภายหลังมาเป็นอัครสาวกของพระเยซูคริสต์ และเขาเขียนกิตติคุณนี้เพื่อชาวยิวที่เปลี่ยนมานับถือศาสนาคริสต์ โดยเขียนเป็นภาษาฮีบรู.” เห็นได้ชัดว่า ไม่มีความจำเป็นที่มัดธาย ผู้เป็นอัครสาวกและประจักษ์พยานคนหนึ่งจะแอบคัดลอกงานเขียนของมาระโกผู้ที่ไม่ใช่ประจักษ์พยาน. ถ้าเช่นนั้น อะไรคือความจริงเกี่ยวกับคำกล่าวอ้างที่ว่ามัดธายและลูกาคัดลอกงานเขียนของมาระโกและเอกสารที่เรียกว่าคิวที่พวกเขากล่าวถึง?
กิตติคุณของมาระโกเขียนขึ้นเป็นเล่มแรกไหม?
พจนานุกรมดิ แองเคอร์ ไบเบิล ยอมรับว่า ทฤษฎีที่ว่ากิตติคุณของมาระโกเขียนขึ้นเป็นเล่มแรกและเป็นแหล่งข้อมูลของกิตติคุณมัดธายและลูกาไม่ใช่ทฤษฎีที่อาศัย “ข้ออ้างที่มีเหตุผลหนักแน่น.” อย่างไรก็ตาม ผู้คงแก่เรียน
หลายคนรู้สึกว่า มาระโกเขียนกิตติคุณก่อนมัดธายและลูกา เพราะมาระโกให้รายละเอียดเพิ่มเติมจากที่มีในกิตติคุณอื่นเพียงเล็กน้อย. ตัวอย่างเช่น โยฮันเนส คืห์น ผู้คงแก่เรียนด้านคัมภีร์ไบเบิลในศตวรรษที่ 19 ยืนยันว่ากิตติคุณของมาระโกคงต้องเขียนขึ้นเป็นเล่มแรก. หากไม่ใช่เช่นนั้น คืห์นกล่าวว่า “เราก็คงต้องจินตนาการว่ามาระโกได้ตัดม้วนหนังสือสองม้วนของมัดธายและลูกาเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย ใส่รวมกันในหม้อใบหนึ่ง แล้วก็ใช้ส่วนผสมในหม้อนั้นมาเรียบเรียงเป็นกิตติคุณของตนเอง.”เนื่องจากกิตติคุณของมาระโกสั้นที่สุด จึงไม่น่าแปลกใจหากกิตติคุณเล่มนี้จะมีรายละเอียดเฉพาะตัวน้อยกว่าเล่มอื่น. แต่นั่นก็ไม่ใช่ข้อพิสูจน์ว่ากิตติคุณเล่มนี้เขียนขึ้นเป็นเล่มแรก. นอกจากนั้น ไม่เป็นความจริงเลยที่ว่ามาระโกไม่ได้เขียนอะไรเพิ่มเติมจากที่มีในมัดธายและลูกา. บันทึกของมาระโกเกี่ยวกับงานประกาศของพระเยซูที่มีชีวิตชีวาและเดินเรื่องอย่างรวดเร็ว ที่จริงแล้วมีข้อความและรายละเอียดที่น่าทึ่งมากกว่า 180 ที่ซึ่งไม่มีในมัดธายและลูกา ทำให้บันทึกเรื่องราวชีวิตของพระเยซูในมาระโกมีลักษณะเฉพาะตัวอย่างแท้จริง.—ดู กรอบหน้า 13.
จะว่าอย่างไรเกี่ยวกับเอกสารคิว?
จะว่าอย่างไรเกี่ยวกับเอกสารคิวซึ่งบางคนอ้างว่าเป็นแหล่งข้อมูลที่มัดธายและลูกาใช้? เจมส์ เอ็ม. โรบินสัน ศาสตราจารย์ด้านศาสนา กล่าวว่า “ไม่ต้องสงสัยว่าคิวเป็นข้อเขียนที่สำคัญที่สุดของคริสเตียนที่เรามีอยู่.” คำพูดนี้น่าแปลกใจเพราะปัจจุบันนี้ไม่มีเอกสารคิวและที่จริงแล้วไม่มีใครสามารถพิสูจน์ได้ด้วยซ้ำว่าเคยมีเอกสารนี้อยู่จริง! การที่เอกสารนี้หายไปทั้งหมดยิ่งเป็นเรื่องน่าสังเกต เนื่องจากพวกผู้คงแก่เรียนอ้างว่าต้องมีสำเนาเอกสารนี้หลายฉบับ. นอกจากนี้ เหล่านักเขียนแห่งคริสตจักรโบราณไม่เคยกล่าวถึงเอกสารคิวเลย.
ลองคิดดูสิ. พวกเขาทึกทักว่า เอกสารคิวมีอยู่จริงและสนับสนุนสมมุติฐานที่ว่ามาระโกเป็นกิตติคุณเล่มแรกที่เขียนขึ้น. กรณีนี้เป็นการตั้งสมมุติฐานหนึ่งขึ้นบนอีกสมมุติฐานหนึ่งมิใช่หรือ? ในเรื่องทฤษฎีต่าง ๆ เหล่านี้ นับว่าสุขุมที่เราจะจำสุภาษิตข้อหนึ่งไว้ ที่ว่า “คนโง่เชื่อคำบอกเล่าทุกคำ; แต่คนฉลาดย่อมมองดูทางเดินของเขาด้วยความระวัง.”—สุภาษิต 14:15.
กิตติคุณทั้งสี่—ถูกต้องและเชื่อถือได้
ด้วยการคาดเดาและการตั้งสมมุติฐานโดยไม่มีมูล ผู้คงแก่เรียนที่ชอบวิพากษ์วิจารณ์ได้เบนความสนใจของหลายคนไปจากการศึกษาเรื่องราวที่เชื่อถือได้เกี่ยวกับชีวิตและงานสั่งสอนของพระเยซูซึ่งบันทึกไว้ในกิตติคุณ. บันทึกเหล่านี้แสดงชัดเจนว่า คริสเตียนยุคแรกไม่ได้ถือว่าเหตุการณ์เกี่ยวกับการประสูติ, งานสั่งสอน, การสิ้นพระชนม์, และการคืนพระชนม์ของพระเยซูนั้นเป็นเพียงนิยาย. มีประจักษ์พยานหลายร้อยคนยืนยันความถูกต้องเป็นจริงของข้อมูลเหล่านี้. คริสเตียนยุคแรกเหล่านี้เต็มใจเผชิญการข่มเหงและความตายเพื่อจะติดตามพระเยซู และพวกเขาตระหนักดีว่าการเป็นคริสเตียนคงเป็นเรื่องโง่เขลาถ้างานสั่งสอนและการคืนพระชนม์ของพระเยซูเป็นเพียงเรื่องที่เขียนขึ้นจากจินตนาการเท่านั้น.—1 โครินท์ 15:3-8, 17, 19; 2 ติโมเธียว 2:2.
เกี่ยวกับข้อถกเถียงในเรื่องสมมุติฐานที่ว่ามาระโกน่าจะเป็นกิตติคุณเล่มแรกที่เขียนขึ้นและเอกสารคิวที่หายสาบสูญไปอย่างน่าสงสัย จอร์จ ดับเบิลยู. บิวแคนัน ศาสตราจารย์ด้านเทววิทยา ได้กล่าวว่า “การให้ความสนใจกับสมมุติฐานเรื่องแหล่งที่มามากเกินไปจะเบนความสนใจของนักศึกษาคัมภีร์ไบเบิลไปจากการศึกษาเนื้อความจริง ๆ ของคัมภีร์ไบเบิล.” ความคิดดังกล่าวสอดคล้องกับคำแนะนำของอัครสาวกเปาโลที่บอกติโมเธียวว่าไม่ให้ “ใส่ใจเรื่องเท็จและเรื่องลำดับวงศ์ตระกูลซึ่งก่อข้อสงสัยที่ทำให้ต้องค้นคว้าเสียเวลาเปล่า แทนที่จะได้รับอะไร ๆ ที่เสริมความเชื่อจากพระเจ้า.”—1 ติโมเธียว 1:4.
กิตติคุณทั้งสี่เชื่อถือได้. หนังสือเหล่านี้มีเรื่องราวที่เชื่อถือได้ซึ่งบันทึกโดยประจักษ์พยานหลายคนและเขียนขึ้นโดยอาศัยการศึกษาค้นคว้าอย่างถี่ถ้วน. หนังสือเหล่านี้ทำให้เรารู้ความจริงที่น่าทึ่งมากมายเกี่ยวกับชีวิตของพระเยซูคริสต์. ฉะนั้น เช่นเดียวกับติโมเธียวในสมัยโบราณ เราควรเอาใจใส่คำกล่าวของเปาโลที่ว่า “จงทำตามสิ่งที่ท่านได้เรียนรู้และสิ่งที่ท่านได้รับการช่วยให้เชื่อมั่นว่าเป็นความจริงต่อ ๆ ไป.” เรามีเหตุผลหนักแน่นที่จะยอมรับว่า “พระคัมภีร์ทุกตอนมีขึ้นโดยการดลใจจากพระเจ้า”—รวมถึงกิตติคุณทั้งสี่ด้วย.—2 ติโมเธียว 3:14-17.
[กรอบหน้า 13]
ถ้าไม่มีหนังสือของมาระโก เราจะไม่รู้เลยว่า . . .
พระเยซูทอดพระเนตรคนที่อยู่รอบ ๆ ด้วยความเคืองพระทัยและรู้สึกเศร้าพระทัยยิ่งนักเพราะหัวใจที่ด้านชาของพวกเขา (มาระโก 3:5)
โยฮันกับยาโกโบมีอีกชื่อหนึ่งว่า โบอาเนอร์เยส (มาระโก 3:17)
ผู้หญิงที่ตกเลือดได้เสียทรัพย์สินที่มีจนหมดตัว (มาระโก 5:26)
นางเฮโรดิอัสผูกพยาบาท โยฮันผู้ให้บัพติสมาและเฮโรดยำเกรง โยฮันและคอยปกป้องเขา (มาระโก 6:19, 20)
พระเยซูทรงเชิญพวกสาวกให้พักสักหน่อย (มาระโก 6:31)
พวกฟาริซายล้างมือถึงข้อศอก (มาระโก 7:2-4)
พระเยซูทรงโอบเด็ก ๆ ไว้ (มาระโก 10:16)
พระเยซูทรงรู้สึกรัก ขุนนางหนุ่ม (มาระโก 10:21)
เปโตร, ยาโกโบ, โยฮัน, และอันเดรอัสได้ทูลถามพระองค์เป็นการส่วนตัว (มาระโก 13:3)
ชายหนุ่มคนหนึ่งทิ้งผ้าลินินไว้ (มาระโก 14:51, 52)
นอกจากนั้น อุปมาโวหารเรื่องหนึ่งของพระเยซูและการอัศจรรย์สองครั้งมีบันทึกเฉพาะในหนังสือของมาระโกเท่านั้น.—มาระโก 4:26-29; 7:32-37; 8:22-26.
กิตติคุณของมาระโกให้รายละเอียดอีกมากมายที่ไม่มีกล่าวถึงในกิตติคุณเล่มอื่น. เราจะรู้คุณค่ากิตติคุณเล่มนี้มากขึ้นอย่างแน่นอน ถ้าเราใช้เวลาใคร่ครวญอย่างจริงจังเกี่ยวกับคุณค่าของรายละเอียดที่สำคัญทั้งหมดนั้น.