ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

คำถามจากผู้อ่าน

คำถามจากผู้อ่าน

ในอดีต หนังสือของเรามักจะบอกว่าบางคนหรือบางสิ่งเป็นภาพเล็งถึงหรือเงาของสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต แต่ไม่กี่ปีมานี้ เราแทบไม่ได้อธิบายแบบนั้นเลย เพราะอะไร?

วารสารหอสังเกตการณ์ ฉบับ 15 กันยายน 1950 อธิบายว่าบันทึกบางเรื่องในคัมภีร์ไบเบิลไม่ว่าจะเป็นคน เหตุการณ์ หรือสิ่งของมักใช้เป็นภาพเล็งถึงหรือเงา ของบางคนหรือบางสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตหรือที่เรียกว่าตัวจริง

ในอดีต หนังสือของเราบอกว่าผู้รับใช้ที่ซื่อสัตย์ทั้งชายและหญิง เช่น ดะโบรา อะลีฮู ยิฟทาห์ โยบ ราฮาบ ริบะคาห์ และคนอื่น ๆ อีกหลายคนเป็นภาพเล็งถึงหรือเงาของผู้ถูกเจิมหรือไม่ก็ “ชนฝูงใหญ่” (วิ. 7:9) ตัวอย่างเช่น เราเคยบอกว่ายิฟทาห์ โยบ และริบะคาห์เป็นภาพเล็งถึงผู้ถูกเจิม ส่วนดะโบราและราฮาบเป็นภาพเล็งถึงชนฝูงใหญ่ แต่ไม่กี่ปีมานี้ เราไม่ได้อธิบายแบบนั้นอีก เพราะอะไร?

เงา

แกะปัศคาที่ชาวอิสราเอลโบราณถวายเป็นเครื่องบูชาเป็นภาพเล็งถึงหรือเงาของบางสิ่ง—อาฤ. 9:2

ตัวจริง

เปาโลบอกว่าพระคริสต์เป็น “แกะปัศคาของเรา”—1 โค. 5:7

คัมภีร์ไบเบิลได้พูดถึงบางคนว่าเป็นภาพเล็งถึงบางคนหรือบางอย่างในอนาคต เช่น ที่กาลาเทีย 4:21-31 อัครสาวกเปาโลได้อ้างถึง “ภาพเปรียบเทียบ” ซึ่งเกี่ยวข้องกับผู้หญิงสองคน คนแรกคือฮาการ์สาวใช้ของอับราฮาม เปาโลอธิบายว่าฮาการ์เป็นภาพเล็งถึงชาติอิสราเอลที่มีสายสัมพันธ์กับพระยะโฮวาโดยทางกฎหมายของโมเซ คนที่สองคือซาราห์ภรรยาของอับราฮามซึ่งเป็น “หญิงที่เป็นไท” ซาราห์เป็นภาพเล็งถึงภรรยาของพระเจ้าหรือองค์การของพระยะโฮวาที่อยู่ในสวรรค์ เปาโลยังได้พูดถึงความคล้ายกันระหว่างเมลคีเซเด็คกับพระเยซูซึ่งเป็นทั้งกษัตริย์และปุโรหิต (ฮีบรู 6:20; 7:1-3) นอกจากนั้น เปาโลยังเปรียบผู้พยากรณ์ยะซายาห์และลูกของเขากับพระเยซูและคริสเตียนผู้ถูกเจิม (ฮีบรู 2:13, 14) พระยะโฮวาดลใจเปาโลให้เปรียบเทียบสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ ดังนั้น เราแน่ใจได้ว่าสิ่งเหล่านี้เป็นภาพเล็งถึงหรือมีความหมายอย่างนั้นจริง ๆ

แม้คัมภีร์ไบเบิลบอกว่าบางคนจะเป็นภาพเล็งถึงหรือเงาของอะไรบางอย่าง แต่เราไม่ควรสรุปเอาเองว่ารายละเอียดหรือเหตุการณ์ทุกอย่างในชีวิตของคน ๆ นั้นเป็นภาพเล็งถึงสิ่งที่จะเกิดในอนาคตเสมอไป เช่น เปาโลอธิบายว่าเมลคีเซเด็คเป็นภาพเล็งถึงพระเยซู แต่เปาโลก็ไม่ได้พูดถึงเหตุการณ์ที่เมลคีเซเด็คเอาขนมปังและเหล้าองุ่นมาให้อับราฮามหลังจากที่อับราฮามเอาชนะกษัตริย์ทั้งสี่ ดังนั้น ไม่มีเหตุผลตามหลักพระคัมภีร์ที่เราจะต้องหาความหมายแฝงของเหตุการณ์นั้น—เย. 14:1, 18

หลายศตวรรษหลังจากพระเยซูเสียชีวิต ผู้เขียนบางคนได้ทำผิดพลาดอย่างมาก พวกเขาตีความบันทึกในคัมภีร์ไบเบิลทุกเรื่องว่ามีความหมายแฝงอยู่ สารานุกรมเล่มหนึ่ง (The International Standard Bible Encyclopaedia) อธิบายคำสอนของออริเกน อัมโบรส และเจโรมว่า “พวกเขามองหาแต่สิ่งที่เป็นภาพเล็งถึงในทุก ๆ เรื่อง ทุก ๆ เหตุการณ์ในพระคัมภีร์ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ขนาดไหนก็ตาม แม้แต่เรื่องง่าย ๆ และธรรมดาพวกเขาก็คิดว่าน่าจะมีความจริงที่ [ซ่อน] อยู่ในนั้น . . . และแม้แต่จำนวนปลาที่สาวกจับได้ในคืนที่พระผู้ช่วยให้รอด [พระเยซู] ฟื้นขึ้นจากตายมาปรากฏแก่พวกเขาซึ่งมี 153 ตัว พวกเขาก็ยังพยายามจะตีความให้ได้!”

นักเขียนอีกคนหนึ่งชื่อเอากุสตินแห่งฮิปโปอธิบายว่าบันทึกในคัมภีร์ไบเบิลตอนที่พระเยซูเลี้ยงอาหารผู้ชาย 5,000 คนด้วยขนมปังข้าวบาร์เลย์ 5 ก้อนและปลา 2 ตัวก็มีความหมายแฝงอยู่ด้วย เขาบอกว่าขนมปังข้าวบาร์เลย์ห้าก้อนเป็นภาพเล็งถึงหนังสือห้าเล่มแรกของคัมภีร์ไบเบิล นอกจากนั้น เขาบอกว่าการที่ข้าวบาร์เลย์ด้อยกว่าข้าวสาลีหมายถึง “พันธสัญญาเก่า” สำคัญน้อยกว่า “พันธสัญญาใหม่” เขายังอธิบายอีกว่าปลาสองตัวเป็นภาพเล็งถึงกษัตริย์องค์หนึ่งกับปุโรหิตคนหนึ่ง นักวิชาการคนอื่นก็อธิบายว่าการที่ยาโคบซื้อสิทธิบุตรหัวปีของเอซาวด้วยถั่วแดงต้มชามหนึ่งเป็นภาพเล็งถึงการที่พระเยซูได้ซื้อความหวังที่จะให้มนุษย์ไปอยู่บนสวรรค์ด้วยเลือดของท่าน!

ถ้าคุณรู้สึกว่าคำอธิบายเหล่านั้นยากที่จะเชื่อ คุณก็คงรู้ว่าทำไมไม่ควรใช้คำอธิบายแบบนี้ เพราะจริง ๆ แล้วมนุษย์ไม่สามารถรู้ได้ว่าเรื่องไหนในคัมภีร์ไบเบิลมีความหมายแฝงอยู่และเรื่องไหนไม่มี ถ้าอย่างนั้น อะไรเป็นวิธีที่ดีที่สุด? เมื่อพระคัมภีร์บอกว่าบางคน บางเหตุการณ์ หรือสิ่งของบางอย่างเป็นภาพเล็งถึงสิ่งใดสิ่งหนึ่งในอนาคต เราก็ยอมรับคำอธิบายเหล่านั้น แต่เราไม่ควรตีความเอาเองว่าเรื่องใดเรื่องหนึ่งในคัมภีร์ไบเบิลเป็นภาพเล็งถึงหรือเงาถ้าไม่มีเหตุผลตามหลักพระคัมภีร์

ถ้าอย่างนั้น เราจะได้รับประโยชน์อะไรจากรายละเอียดและบันทึกต่าง ๆ ที่เราได้อ่านในพระคัมภีร์? อัครสาวกเปาโลเขียนว่า “ทุกสิ่งที่เขียนไว้ก่อนแล้วก็เขียนไว้เพื่อสั่งสอนเรา เพื่อเรา จะมีความหวังโดยความเพียรอดทนของเรา และโดยการชูใจจากพระคัมภีร์” (โรม 15:4) เปาโลกำลังบอกคริสเตียนผู้ถูกเจิมในศตวรรษแรกถึงวิธีที่บันทึกในพระคัมภีร์เป็นประโยชน์ต่อพวกเขา อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่นั้นมาคริสเตียนทุกคนรวมถึง “แกะอื่น” ก็ได้รับประโยชน์จากบทเรียนต่าง ๆ ที่พบในพระคัมภีร์ด้วย—โย. 10:16; 2 ติโม. 3:1

บันทึกส่วนใหญ่ในคัมภีร์ไบเบิลไม่ได้มีไว้สำหรับผู้ถูกเจิม คนที่เป็น “แกะอื่น” หรือคริสเตียนที่มีชีวิตในช่วงใดช่วงหนึ่งโดยเฉพาะ แทนที่จะเป็นอย่างนั้น บันทึกในคัมภีร์ไบเบิลส่วนใหญ่มีประโยชน์สำหรับผู้รับใช้ของพระเจ้าทุกคนทั้งในอดีตและปัจจุบัน ตัวอย่างเช่น ความทุกข์ลำบากของโยบไม่ได้เป็นภาพเล็งถึงความทุกข์ลำบากของผู้ถูกเจิมในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่งเท่านั้น เพราะผู้รับใช้ของพระเจ้าหลายคนทั้งชายและหญิง ไม่ว่าจะเป็นผู้ถูกเจิมหรือ “แกะอื่น” ต่างก็เจอความทุกข์ลำบากเหมือนโยบและได้รับประโยชน์จากเรื่องราวของโยบ พวกเขาต่างก็ ‘เห็นผลบั้นปลายที่พระยะโฮวาทรงโปรดให้เกิดแก่พวกเขาแล้วว่า พระยะโฮวาทรงเปี่ยมด้วยความรักและความเมตตา’—ยโก. 5:11

ทุกวันนี้ ในประชาคมคริสเตียน เราพบพี่น้องหญิงสูงอายุที่ซื่อสัตย์เหมือนดะโบรา ผู้ปกครองที่อายุยังน้อยที่มีสติปัญญาเหมือนอะลีฮู และเหล่าไพโอเนียร์ที่มีความกระตือรือร้นและความกล้าหาญเหมือนยิฟทาห์ นอกจากนั้น พี่น้องชายหญิงหลายคนที่ซื่อสัตย์ก็มีความเพียรอดทนเหมือนโยบ เรารู้สึกขอบคุณพระยะโฮวาที่จัดให้มี “ทุกสิ่งที่เขียนไว้ก่อนแล้ว” แก่เราในทุกวันนี้ “เพื่อเราจะมีความหวัง” และ “การชูใจจากพระคัมภีร์”!

จากเหตุผลที่ได้กล่าวไป เราจึงไม่พยายามหาว่าเรื่องไหนในคัมภีร์ไบเบิลเป็นภาพเล็งถึงสิ่งหนึ่งหรือเงา และเรื่องไหนเป็นสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตหรือตัวจริง แทนที่จะเป็นอย่างนั้น ตอนนี้หนังสือของเราเน้นบทเรียนที่มีค่าจากคัมภีร์ไบเบิลมากขึ้น