องครักษ์ของจักรพรรดิโรมันได้ฟังการประกาศข่าวดี
ปีนั้นเป็นสากลศักราช 59. ทหารที่อ่อนล้าจากการเดินทางคุมนักโทษกลุ่มหนึ่งเข้าสู่กรุงโรมทางประตูปอร์ตา คาเปนา. พระราชวังของจักรพรรดิเนโรตั้งอยู่บนเขาปาลาตีเน และมีทหารองครักษ์ที่ซ่อนดาบไว้ใต้เสื้อชั้นนอกของพวกเขาคอยคุ้มกัน. * นายร้อยยูลีอุสนำนักโทษเดินผ่านลานชุมนุมของโรมันแล้วขึ้นไปที่เขาวีมีนัล. พวกเขาผ่านสวนที่มีแท่นบูชาสำหรับเทพเจ้าของชาวโรมันหลายแท่น และผ่านไปทางลานสวนสนามซึ่งมีการซ้อมรบกันที่นั่น.
คนหนึ่งที่อยู่ในกลุ่มนักโทษคืออัครสาวกเปาโล. หลายเดือนก่อนหน้านั้นตอนที่ท่านอยู่บนเรือที่ถูกพายุกระหน่ำ ทูตสวรรค์องค์หนึ่งของพระเจ้าบอกเปาโลว่า “เจ้าจะต้องไปยืนต่อหน้าซีซาร์.” (กิจ. 27:24) เปาโลกำลังจะประสบเหตุการณ์ดังกล่าวนั้นไหม? ขณะที่ท่านมองดูเมืองหลวงของจักรวรรดิโรมัน ท่านคงระลึกถึงถ้อยคำที่พระเยซูองค์พระผู้เป็นเจ้าตรัสกับท่านที่หอคอยอันโทเนียในกรุงเยรูซาเลมอย่างแน่นอน. พระเยซูตรัสว่า “จงมีใจกล้าเถิด! ด้วยว่าเจ้าได้ประกาศเรื่องของเราอย่างถี่ถ้วนแล้วในกรุงเยรูซาเลม จงประกาศในกรุงโรมอย่างนั้นด้วย.”—กิจ. 23:10, 11
เปาโลอาจหยุดชั่วขณะเพื่อดูคัสตรา ปรีโตเรีย ป้อมปราการใหญ่ซึ่งมีกำแพงอิฐสีแดงอันสูงใหญ่และมีเชิงเทินและหอคอยอยู่ที่ส่วนบน. ป้อมปราการนี้เป็นที่พักอาศัยขององครักษ์ของจักรพรรดิ รวมทั้งกองกำลังตำรวจของกรุงโรมด้วย. โดยมีกองพันทหารองครักษ์ ของจักรพรรดิ 12 กองพันกับกองพันตำรวจอีกหลายกองพันประจำการอยู่ที่นั่น ป้อมปราการนี้จึงอาจเป็นที่อยู่ของทหารหลายหมื่นคน รวมทหารม้าด้วย. เมื่อมองคัสตรา ปรีโตเรีย เปาโลคงจะนึกถึงขุมกำลังอันเกรียงไกรของจักรพรรดิ. เนื่องจากองครักษ์ของจักรพรรดิมีหน้าที่ในการคุมนักโทษจากแคว้นต่างๆ ยูลีอุสจึงนำคณะของเขาผ่านประตูทางเข้าหลักประตูหนึ่งในสี่ประตู. หลังจากการเดินทางหลายเดือนที่เต็มไปด้วยอันตราย ในที่สุดเขาก็นำนักโทษมาถึงจุดหมายปลายทาง.—กิจ. 27:1-3, 43, 44
เปาโลประกาศ “โดยไม่มีการขัดขวาง”
ระหว่างการเดินทาง เปาโลได้รับนิมิตจากพระเจ้าที่บอกให้รู้ว่าทุกคนที่อยู่บนเรือจะรอดชีวิตจากภัยเรือแตก. ท่านถูกงูพิษกัด แต่ไม่เป็นอะไรเลย. ท่านรักษาคนป่วยบนเกาะมอลตา ซึ่งทำให้ชาวเกาะนั้นพูดกันว่าท่านเป็นพระ. เหตุการณ์เหล่านี้อาจกลายเป็นข่าวที่แพร่ไปในหมู่องครักษ์ของจักรพรรดิซึ่งเชื่อเรื่องไสยศาสตร์.
ก่อนหน้านั้นเปาโลได้พบกับพี่น้องที่มาจากโรมซึ่ง ‘เดินทางไกลมาพบท่านถึงที่ตลาดอัปปิอุสและที่บ้านสามโรงแรม.’ (กิจ. 28:15) แต่ในฐานะนักโทษ ท่านจะประกาศข่าวดีในกรุงโรมตามที่ตั้งใจไว้ได้อย่างไร? (โรม 1:14, 15) บางคนคิดว่านักโทษคงจะถูกพาตัวไปหาหัวหน้าองครักษ์. หากเป็นอย่างนั้น เปาโลคงถูกพาไปหาอาฟรานีอุส บูร์รุส ผู้บัญชาการองครักษ์โรมัน ซึ่งอาจมีอำนาจเป็นที่สองรองจากจักรพรรดิ. * ไม่ว่าจริงๆแล้วเป็นอย่างไร แทนที่เปาโลจะถูกคุมโดยพวกผู้บังคับกองร้อย ตอนนี้ท่านถูกคุมตัวโดยองครักษ์คนหนึ่งที่เป็นเพียงพลทหาร. เปาโลได้รับอนุญาตให้จัดหาที่พักเองและสามารถรับรองแขกและประกาศแก่คนที่มาเยี่ยม “โดยไม่มีการขัดขวาง.”—กิจ. 28:16, 30, 31
เปาโลประกาศให้ทั้งผู้ใหญ่ผู้น้อยฟัง
ในการทำหน้าที่พิจารณาคดี บูร์รุสอาจสอบสวนอัครสาวกเปาโลที่พระราชวังหรือที่ค่ายองครักษ์ ก่อนจะส่งคดีต่อไปให้จักรพรรดิเนโร. เปาโลไม่ได้ปล่อยให้โอกาสพิเศษนี้ที่จะ “ประกาศข่าวดีให้ทั้งผู้ใหญ่ผู้น้อยได้ฟัง” ผ่านไป. (กิจ. 26:19-23) ไม่ว่าบูร์รุสอาจลงความเห็นเช่นไร แต่เปาโลได้รับการยกเว้นไม่ต้องถูกจองจำในค่ายขององครักษ์. *
เปาโลเช่าบ้านที่ใหญ่พอจะต้อนรับ “พวกผู้นำของชาวยิว” และประกาศข่าวดีให้พวกเขาฟัง รวมทั้งคนอื่นๆอีกหลายคนที่มาหาท่านที่บ้านพัก. ท่านยังมีผู้ฟังอีกกลุ่มหนึ่งด้วยที่กลายมาเป็นผู้ฟังโดยปริยาย คือพวกทหารองครักษ์ที่ได้ยินท่าน ‘อธิบายเรื่องราชอาณาจักรของพระเจ้าและเรื่องพระเยซูแก่ชาวยิวอย่างถี่ถ้วนตั้งแต่เช้าจดเย็น.’—กิจ. 28:17, 23
กองพันองครักษ์ที่ทำหน้าที่ในพระราชวังจะเปลี่ยนกะทุกวัน เมื่อถึงชั่วโมงที่แปดของวัน. ทหารที่คุมเปาโลก็เปลี่ยนกะอย่างสม่ำเสมอด้วย. ในช่วงสองปีที่ท่านอัครสาวกถูกคุมขัง มีทหารหลายคนได้ยินได้ฟังท่านบอกพี่น้องชายบางคนให้เขียนจดหมายตามคำบอกของท่านไปถึงประชาคมเอเฟโซส์, ฟิลิปปอย, โกโลซาย, และถึงคริสเตียนชาวฮีบรู รวมทั้งเห็นท่านเขียนจดหมายด้วยตัวเองไปถึงคริสเตียนที่ชื่อฟิเลโมน. ขณะถูกคุมขัง เปาโลแสดงความสนใจเป็นส่วนตัวต่อโอเนซิมุส ทาสที่หลบหนีนายมา ‘ซึ่งท่านได้เป็นเหมือนบิดาของเขาขณะที่ท่านถูกจองจำอยู่’ และส่งทาสคนนี้กลับไปหานายของเขา. (ฟิเล. 10) ไม่ต้องสงสัยเลยว่าเปาโลคงได้แสดงความสนใจเป็นส่วนตัวต่อทหารที่คุมตัวท่านด้วย. (1 โค. 9:22) เราคงนึกภาพได้ว่าท่านอาจถามทหารคนหนึ่งว่ายุทธภัณฑ์แต่ละชิ้นมีไว้เพื่ออะไร แล้วก็ใช้ข้อมูลนี้อย่างเหมาะเจาะในการยกตัวอย่างเปรียบเทียบ.—เอเฟ. 6:13-17
“กล่าวคำของพระเจ้าโดยไม่กลัว”
การที่เปาโลถูกคุมขังมีส่วนช่วยให้ “ข่าวดียิ่งแพร่ออกไป” ในหมู่ทหารองครักษ์และคนอื่นๆ. (ฟิลิป. 1:12, 13) ผู้ที่อยู่ในป้อมปราการคัสตรา ปรีโตเรียมีการติดต่อเกี่ยวข้องกับผู้คนมากมายทั่วจักรวรรดิโรมัน รวมทั้งจักรพรรดิและคนที่อยู่ในราชสำนัก. คนที่อยู่ในราชสำนักมีทั้งสมาชิกที่เป็นเชื้อพระวงศ์, คนรับใช้, และทาส ซึ่งบางคนได้เข้ามาเป็นคริสเตียน. (ฟิลิป. 4:22) การประกาศอย่างกล้าหาญของเปาโลทำให้พี่น้องในกรุงโรมกล้า “กล่าวคำของพระเจ้าโดยไม่กลัว.”—ฟิลิป. 1:14
การประกาศข่าวดีของเปาโลในกรุงโรมยังช่วยหนุนใจเราด้วยขณะที่เรา ‘ประกาศพระคำทั้งในเวลาที่สะดวกและในยามยากลำบาก.’ (2 ติโม. 4:2) บางคนในพวกเราต้องอยู่แต่ในบ้าน ในสถานพักฟื้นหรือโรงพยาบาล หรือแม้แต่ถูกจำคุกเนื่องด้วยความเชื่อ. ไม่ว่าเราอยู่ในสภาพการณ์เช่นไร เราอาจพบคนที่จะฟังข่าวดีได้จากคนที่มาหาเรา เช่น คนที่มาให้บริการต่างๆแก่เราที่บ้าน. เมื่อเราประกาศอย่างกล้าหาญในทุกโอกาส เราก็จะเห็นด้วยตัวเองว่า “พระคำของพระเจ้า ... ไม่ถูกล่ามไว้.”—2 ติโม. 2:8, 9
^ วรรค 2 ดูกรอบ “องครักษ์ของจักรพรรดิในสมัยของเนโร.”
^ วรรค 7 โปรดดูกรอบ “เซกซ์ตุส อาฟรานีอุส บูร์รุส.”