ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

คริสเตียนผู้ปกครอง ‘เพื่อนร่วมงานที่ทำให้เรายินดี’

คริสเตียนผู้ปกครอง ‘เพื่อนร่วมงานที่ทำให้เรายินดี’

“เรา ... เป็นเพื่อนร่วมงานเพื่อทำให้พวกท่านชื่นชมยินดี.”—2 โค. 1:24

1. เปาโลได้ยินอะไรเกี่ยวกับพี่น้องในเมืองโครินท์ซึ่งทำให้ท่านยินดีอย่างยิ่ง?

ตอนนั้นเป็นสากลศักราช 55. อัครสาวกเปาโลอยู่ที่เมืองท่าโตรอัส แต่ท่านอดคิดถึงพี่น้องที่เมืองโครินท์ไม่ได้. ก่อนหน้านั้นในปีเดียวกันนี้เอง ท่านเป็นทุกข์ใจที่ได้ยินว่าพี่น้องทะเลาะกัน. ด้วยความห่วงใยแบบที่พ่อมีต่อลูก ท่านจึงเขียนจดหมายไปเพื่อว่ากล่าวแก้ไขพวกเขา. (1 โค. 1:11; 4:15) ท่านยังส่งทิทุสเพื่อนร่วมงานของท่านไปหาพวกเขาด้วย และบอกทิทุสให้กลับมารายงานท่านที่เมืองโตรอัส. เปาโลคอยทิทุสอยู่ในเมืองโตรอัส ปรารถนาอย่างยิ่งที่จะรู้ว่าพี่น้องในเมืองโครินท์เป็นอย่างไร. แต่เปาโลก็ต้องผิดหวังอย่างมากเพราะทิทุสยังไม่กลับมา. เปาโลจึงแล่นเรือไปแคว้นมาซิโดเนีย. ท่านยินดีเมื่อได้พบทิทุสที่นั่น. ทิทุสเล่าให้เปาโลฟังว่าพี่น้องในเมืองโครินท์ทำตามคำแนะนำของท่านและอยากพบท่านมาก. เมื่อเปาโลได้ฟังรายงานที่ดีเช่นนั้น ท่าน “จึงยินดีมากขึ้นอีก.”—2 โค. 2:12, 13; 7:5-9

2. (ก) เปาโลเขียนไว้อย่างไรเกี่ยวกับความเชื่อและความยินดีในจดหมายที่ส่งไปถึงพี่น้องในเมืองโครินท์? (ข) เราจะพิจารณาคำถามอะไร?

2 ไม่นานหลังจากนั้น เปาโลเขียนจดหมายฉบับที่สองไปถึงพี่น้องในเมืองโครินท์. ท่านบอกพวกเขาว่า “เราไม่ใช่นายควบคุมความเชื่อของพวกท่าน แต่เป็นเพื่อนร่วมงานเพื่อทำให้พวกท่านชื่นชมยินดี เพราะพวกท่านยืนหยัดมั่นคงอยู่ได้ก็เพราะความเชื่อของพวกท่าน.” (2 โค. 1:24) เปาโลหมายความอย่างไร? และคริสเตียนผู้ปกครองในปัจจุบันจะเรียนอะไรได้จากคำพูดดังกล่าว?

ความเชื่อและความยินดีของเรา

3. (ก) เปาโลหมายความอย่างไรเมื่อท่านกล่าวว่า “พวกท่านยืนหยัดมั่นคง ... เพราะความเชื่อของพวกท่าน”? (ข) ผู้ปกครองในปัจจุบันจะเลียนแบบตัวอย่างของเปาโลได้อย่างไร?

3 เปาโลกล่าวถึงคุณลักษณะสำคัญสองประการที่คริสเตียนต้อง มี คือความเชื่อและความยินดี. ก่อนอื่น ท่านเขียนเกี่ยวกับความเชื่อว่า “เราไม่ใช่นายควบคุมความเชื่อของพวกท่าน ... เพราะพวกท่านยืนหยัดมั่นคงอยู่ได้ก็เพราะความเชื่อของพวกท่าน.” เปาโลรู้ว่าพี่น้องในเมืองโครินท์กำลังรับใช้พระเจ้าด้วยความภักดีเนื่องจากความเชื่อของพวกเขาเองที่มีต่อพระเจ้า ไม่ใช่เพราะท่านหรือมนุษย์คนใด. ท่านมั่นใจว่าพวกเขารักพระเจ้าจริงๆและต้องการทำสิ่งที่ถูกต้อง. ด้วยเหตุนั้น เปาโลไม่จำเป็นต้องควบคุมความเชื่อของพี่น้อง และท่านไม่ต้องการจะทำอย่างนั้น. (2 โค. 2:3) ในทุกวันนี้ ผู้ปกครองเลียนแบบตัวอย่างของเปาโลด้วยการแสดงความเชื่อมั่นว่าพี่น้องมีความเชื่อในพระเจ้าและรับใช้พระองค์ด้วยแรงกระตุ้นที่ดี. (2 เทส. 3:4) พวกเขาไม่ตั้งกฎที่เข้มงวดให้พี่น้องในประชาคมทำตาม. แทนที่จะทำอย่างนั้น พวกเขาช่วยพี่น้องให้ตัดสินใจโดยใช้หลักการในคัมภีร์ไบเบิลและทำตามการชี้นำจากองค์การของพระยะโฮวา. ผู้ปกครองในทุกวันนี้ไม่ทำตัวเป็นนายที่ควบคุมความเชื่อของพี่น้อง.—1 เป. 5:2, 3

4. (ก) เปาโลหมายความอย่างไรเมื่อท่านเขียนว่า “เรา ... เป็นเพื่อนร่วมงานเพื่อทำให้พวกท่านชื่นชมยินดี”? (ข) ผู้ปกครองในปัจจุบันจะเลียนแบบเปาโลได้อย่างไร?

4 เปาโลยังกล่าวด้วยว่า “เรา ... เป็นเพื่อนร่วมงานเพื่อทำให้พวกท่านชื่นชมยินดี.” “เพื่อนร่วมงาน” เหล่านี้คือใคร? พวกเขาเป็นคนที่ทำงานหนักด้วยกันกับเปาโลเพื่อช่วยพี่น้องในเมืองโครินท์. เรารู้ได้อย่างไร? เพราะในจดหมายฉบับเดียวกันเปาโลกล่าวถึงเพื่อนร่วมงานสองคนเมื่อท่านเขียนเกี่ยวกับพระเยซู “ที่ข้าพเจ้ากับซีละวานุสและติโมเธียวประกาศท่ามกลางพวกท่าน.” (2 โค. 1:19) นอกจากนั้น ทุกครั้งที่เปาโลใช้คำว่า “เพื่อนร่วมงาน” ในจดหมายของท่าน ท่านหมายถึงคนที่ทำงานหนักด้วยกันกับท่านในงานประกาศ เช่น อะโปลโลส อะคีลัส ปริสกา ติโมเธียว และทิทุส. (โรม 16:3, 21; 1 โค. 3:6-9; 2 โค. 8:23) ดังนั้น เมื่อเปาโลกล่าวว่า “เรา ... เป็นเพื่อนร่วมงานเพื่อทำให้พวกท่านชื่นชมยินดี” ท่านกำลังบอกพี่น้องในเมืองโครินท์ให้มั่นใจว่าท่านกับเพื่อนๆต้องการทำทุกสิ่งที่ทำได้เพื่อช่วยประชาคมให้รับใช้พระเจ้าด้วยความยินดี. ในปัจจุบัน คริสเตียนผู้ปกครองก็มีความปรารถนาแบบเดียวกัน. พวกเขาต้องการทำทุกสิ่งที่ทำได้เพื่อช่วยพี่น้องให้ “ปฏิบัติพระยะโฮวาด้วยใจชื่นชม.”—เพลง. 100:2; ฟิลิป. 1:25

5. มีการขอให้พี่น้องบางคนตอบคำถามอะไร และคุณควรทำอะไรเมื่อพิจารณาคำตอบของพวกเขา?

5 เมื่อไม่นานมานี้ มีการขอให้พี่น้องชายหญิงกลุ่มหนึ่งที่อยู่ในส่วนต่างๆของโลกตอบคำถามที่ว่า “คำพูดและการกระทำแบบไหนของผู้ปกครองที่ทำให้คุณมีความยินดีมากขึ้น?” ต่อไปนี้เราจะพิจารณาคำตอบของพวกเขา. ขณะที่เราพิจารณา ขอให้คิดถึงสิ่งที่ผู้ปกครองพูดหรือทำที่ทำให้คุณยินดีมากขึ้น. นอกจากนั้น ขอให้เราทุกคนคิดถึงวิธีที่เราอาจมีส่วนส่งเสริมน้ำใจยินดีในประชาคมของเราเอง. *

“ขอฝากความคิดถึงมายังเปอร์ซิส”

6, 7. (ก) วิธีหนึ่งที่ผู้ปกครองจะเลียนแบบพระเยซู เปาโล และผู้รับใช้ของพระเจ้าคนอื่นๆได้คืออะไร? (ข) ทำไมพี่น้องจึงดีใจเมื่อผู้ปกครองจำชื่อพวกเขาได้?

6 พี่น้องหลายคนกล่าวว่าพวกเขามีความสุขเมื่อผู้ปกครองแสดงความสนใจในตัวพวกเขา. วิธีที่ผู้ปกครองจะทำอย่างนั้นได้ก็คือโดยทำตามแบบอย่างของดาวิด อะลีฮู และพระเยซู. (อ่าน 2 ซามูเอล 9:6; โยบ 33:1; ลูกา 19:5) ผู้รับใช้พระยะโฮวาเหล่านี้แต่ละคนแสดงความสนใจอย่างแท้จริงในผู้อื่นด้วยการเรียกชื่อพวกเขา. เปาโลเองก็เห็นความสำคัญของการจำชื่อและเอ่ยชื่อเพื่อนร่วมความเชื่อ. ท่านลงท้ายจดหมายของท่านฉบับหนึ่งด้วยการฝากความคิดถึงไปยังพี่น้องชายหญิงมาก กว่า 25 คนโดยเอ่ยชื่อของพวกเขา. พี่น้องหญิงคนหนึ่งที่เปาโลเอ่ยชื่อคือเปอร์ซิส. ท่านกล่าวถึงนางว่า “ขอฝากความคิดถึงมายังเปอร์ซิสพี่น้องที่รักของเรา.”—โรม 16:3-15

7 ผู้ปกครองบางคนมีปัญหาในการจำชื่อพี่น้อง. ถึงกระนั้น เมื่อพวกเขาพยายามจริงๆเพื่อจะจำได้ ก็เป็นเหมือนกับพวกเขากำลังบอกเพื่อนร่วมความเชื่อว่า ‘คุณสำคัญสำหรับผม.’ (เอ็ก. 33:17) ผู้ปกครองจะทำให้พี่น้องมีความยินดีมากขึ้นถ้าพวกเขาจำชื่อของพี่น้องได้เมื่อเชิญให้ออกความคิดเห็นในการศึกษาหอสังเกตการณ์หรือในการประชุมอื่นๆ.—เทียบกับโยฮัน 10:3

“นางทำงานหนักในการรับใช้องค์พระผู้เป็นเจ้า”

8. เปาโลเลียนแบบพระยะโฮวาและพระเยซูอย่างไร?

8 เปาโลยังแสดงความสนใจในตัวคนอื่นๆด้วยการชมเชยพวกเขาอย่างจริงใจด้วย. นี่เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ผู้ปกครองสามารถช่วยพี่น้องให้รับใช้พระเจ้าด้วยความยินดี. ในจดหมายที่เขียนถึงพี่น้องในเมืองโครินท์ ท่านเขียนว่า “ข้าพเจ้าภูมิใจในพวกท่านมาก.” (2 โค. 7:4) คำชมเชยดังกล่าวคงต้องทำให้พี่น้องในเมืองโครินท์ชื่นใจจริงๆ. เปาโลแสดงความรู้สึกคล้ายๆกันนี้ต่อพี่น้องในประชาคมอื่นๆด้วย. (โรม 1:8; ฟิลิป. 1:3-5; 1 เทส. 1:8) ที่จริง เมื่อท่านกล่าวถึงเปอร์ซิสในจดหมายที่ส่งไปถึงประชาคมในกรุงโรม เปาโลยังกล่าวด้วยว่า “นางทำงานหนักในการรับใช้องค์พระผู้เป็นเจ้า.” (โรม 16:12) คำชมเชยนั้นคงต้องให้กำลังใจแก่พี่น้องหญิงที่ซื่อสัตย์คนนี้อย่างมากทีเดียว! เมื่อเปาโลชมเชยคนอื่นๆเช่นนั้น ท่านกำลังเลียนแบบพระยะโฮวาและพระเยซู.—อ่านมาระโก 1:9-11; โยฮัน 1:47; วิ. 2:2, 13, 19

9. ทำไมทุกคนในประชาคมมีความสุขมากขึ้นเมื่อมีการชมเชยกันและกัน?

9 ผู้ปกครองในทุกวันนี้ยังเห็นความสำคัญของการบอกพี่น้องให้รู้ว่าพวกเขามีค่าด้วย. (สุภา. 3:27; 15:23) ทุกครั้งที่ผู้ปกครองชมเชยพี่น้อง นั่นแสดงว่าเขาสนใจพี่น้องและสังเกตสิ่งที่พวกเขาทำ. พี่น้องในประชาคมอยากได้ยินคำชมเชยที่ทำให้มั่นใจจากผู้ปกครอง. พี่น้องหญิงคนหนึ่งซึ่งอายุ 50 กว่าปีพูดว่าเธอแทบไม่ได้รับคำชมเลยในที่ทำงาน. ผู้คนไม่สนใจคนอื่นและชิงดีชิงเด่นกัน. ดังนั้น เมื่อผู้ปกครองขอบคุณเธอสำหรับบางสิ่งที่เธอทำเพื่อประชาคม เธอจึงรู้สึกดีขึ้นมาก. เธอบอกว่า “นั่นทำให้ดิฉันรู้สึกว่าพระบิดาผู้อยู่ในสวรรค์ทรงรักดิฉัน.” พี่น้องชายคนหนึ่งซึ่งเลี้ยงลูกสองคนตามลำพังกล่าวว่าเมื่อไม่นานมานี้มีผู้ปกครองคนหนึ่งชมเชยเขา. คำพูดของผู้ปกครองทำให้เขามีกำลังใจที่จะทำให้ดีที่สุดในการรับใช้พระเจ้าต่อๆไป. เห็นได้ชัดว่าเมื่อผู้ปกครองชมเชยพี่น้องอย่างจริงใจ เขาช่วยพี่น้องให้รับใช้พระเจ้าต่อๆไปด้วยความยินดี “และไม่รู้จักอิดโรย.”—ยซา. 40:31

‘จงบำรุงเลี้ยงประชาคมของพระเจ้า’

10, 11. (ก) ผู้ปกครองจะเลียนแบบนะเฮมยาได้อย่างไร? (ข) ผู้ปกครองจะเสริมความเชื่อของพี่น้องให้เข้มแข็งเมื่อไปเยี่ยมบำรุงเลี้ยงได้โดยวิธีใด?

10 วิธีสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่ผู้ปกครองแสดงความรักต่อพี่น้องและช่วยพวกเขาให้รับใช้พระเจ้าด้วยความยินดีคืออะไร? พวกเขาลงมือทำทันทีเพื่อช่วยคนที่จำเป็นต้องได้รับการหนุนใจ. (อ่านกิจการ 20:28) โดยทำอย่างนั้น พวกเขาเลียนแบบผู้รับใช้ที่ซื่อสัตย์ในสมัยคัมภีร์ไบเบิล. ตัวอย่างเช่น คัมภีร์ไบเบิลกล่าวว่าเมื่อนะเฮมยาสังเกตว่าเพื่อนร่วมชาติชาวยิวท้อแท้ใจ ท่านทำอะไรบางอย่างเพื่อหนุนใจพวกเขา. (นเฮม. 4:14) ในทุกวันนี้ ผู้ปกครองต้องการทำอย่างเดียวกัน. เมื่อพี่น้องท้อใจ พวกเขาทำสิ่งที่ทำได้เพื่อหนุนใจพี่น้อง. ผู้ปกครองพยายามไปเยี่ยมพี่น้องที่บ้านและให้ “ของประทานฝ่ายวิญญาณ” แก่พวกเขา นั่นคือพูดคุยเรื่องที่เสริม ความเชื่อของพวกเขาให้เข้มแข็ง. (โรม 1:11) ผู้ปกครองจะทำอย่างนี้ได้อย่างไร?

11 ผู้ปกครองต้องคิดให้ละเอียดเกี่ยวกับสิ่งที่เขาจะพูดเพื่อหนุนกำลังใจก่อนที่เขาจะไปเยี่ยมพี่น้อง. เขาอาจถามตัวเองว่า ‘พี่น้องคนนี้มีปัญหาอะไร? ผมจะพูดอะไรดีที่จะทำให้เขารู้สึกดีขึ้น? พระคัมภีร์ข้อไหนหรือตัวอย่างของใครในพระคัมภีร์ที่จะให้กำลังใจเขาได้?’ ถ้าผู้ปกครองคิดล่วงหน้าเกี่ยวกับพี่น้องที่เขาจะไปเยี่ยม เขาก็จะพูดอย่างที่จะช่วยคนนั้นได้จริงๆ ไม่ใช่แค่พูดคุยเรื่องทั่วๆไปในชีวิตประจำวัน. เมื่อเยี่ยมบำรุงเลี้ยง ผู้ปกครองจะเปิดโอกาสให้พี่น้องระบายความรู้สึกของเขาและตั้งใจฟังสิ่งที่เขาพูด. (ยโก. 1:19) พี่น้องหญิงคนหนึ่งกล่าวว่า “ดิฉันรู้สึกดีจริงๆเมื่อผู้ปกครองตั้งใจฟังดิฉัน.”—ลูกา 8:18

ผู้ปกครองคิดอย่างละเอียดเกี่ยวกับวิธีที่เขาจะหนุนกำลังใจเราก่อนที่เขาจะเยี่ยมบำรุงเลี้ยง

12. มีใครบ้างในประชาคมที่จำเป็นต้องได้รับการหนุนใจ และเพราะเหตุใด?

12 ใครจะได้รับประโยชน์จากการเยี่ยมบำรุงเลี้ยง? เปาโลเตือนสติเพื่อนผู้ปกครองให้ “เอาใจใส่ ... แกะทั้งฝูง.” สมาชิกทุกคน ในประชาคมจำเป็นต้องได้รับการหนุนใจ รวมทั้งผู้ประกาศและไพโอเนียร์ที่รับใช้อย่างซื่อสัตย์มาเป็นเวลาหลายปีด้วย. ทำไมพวกเขาจำเป็นต้องได้รับการบำรุงเลี้ยงจากผู้ปกครอง? ที่เป็นอย่างนั้นก็เพราะบางครั้งคนที่มีความเชื่อเข้มแข็งก็อาจรู้สึกว่าพวกเขาถูกกดดันจากโลกชั่วนี้จนแทบจะทนไม่ไหวเหมือนกัน. เพื่อจะเห็นชัดขึ้นว่าทำไมบางครั้งแม้แต่ผู้รับใช้พระเจ้าที่เข้มแข็งก็จำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือจากเพื่อน ขอให้เราพิจารณาเหตุการณ์หนึ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตของกษัตริย์ดาวิด.

อะบีซัย “เข้ามาช่วย” ดาวิด

13. (ก) อิชบีเบโนบฉวยโอกาสโจมตีดาวิดตอนไหน? (ข) ทำไมอะบีซัยจึงเข้ามาช่วยดาวิดได้ทันเวลา?

13 ไม่นานหลังจากที่ดาวิดซึ่งตอนนั้นอายุยังน้อยได้รับการเจิมเป็นกษัตริย์ เขาเผชิญหน้ากับฆาละยัธซึ่งเป็นลูกหลานในวงศ์วานของราฟา ซึ่งเป็นคนร่างยักษ์. ดาวิดผู้กล้าหาญฆ่าชายร่างยักษ์ผู้นี้. (1 ซามู. 17:4, 48-51; 1 โคร. 20:5, 8, ฉบับอมตธรรม ร่วมสมัย) หลายปีต่อมา ขณะทำศึกสงครามกับพวกฟิลิสติน ดาวิดเผชิญหน้ากับชายร่างยักษ์อีกคนหนึ่ง. ชายผู้นี้ชื่ออิชบีเบโนบ ซึ่งเป็นลูกหลานในวงศ์วานของราฟาด้วย. (2 ซามู. 21:16, ฉบับอมตธรรมร่วมสมัย) แต่ในครั้งนี้ ดาวิดเกือบถูกชายร่างยักษ์ฆ่า. เพราะเหตุใด? ไม่ใช่เพราะดาวิดมีความกล้าหาญน้อยลง. คัมภีร์ไบเบิลบอกว่า “ดาวิดก็อ่อนกำลังลง.” เมื่ออิชบีเบโนบเห็นว่าดาวิดอยู่ในสภาพที่อ่อนล้าอย่างนั้น เขาก็ “หมายจะสังหารดาวิดเสีย.” แต่ก่อนที่เขาจะทันได้ใช้อาวุธแทงดาวิด อะบีซัย “ตรงรี่เข้ามาช่วย [ดาวิด] สังหารชาวฟีลิสเตียคนนั้น.” (2 ซามู. 21:15-17, ฉบับอมตธรรมร่วมสมัย) ดาวิดรอดตายหวุดหวิด! ท่านคงต้องรู้สึกขอบคุณอะบีซัยจริงๆที่คอยสังเกตดูท่านและรีบเข้ามาช่วยทันทีเมื่อท่านตกอยู่ในอันตราย. เราเรียนอะไรได้จากเรื่องนี้?

14. (ก) อะไรจะช่วยเราให้รักษาความซื่อสัตย์เมื่อต้องรับมือปัญหาที่ใหญ่โตราวกับยักษ์? (ข) ผู้ปกครองจะช่วยพี่น้องให้รักษาความซื่อสัตย์และได้ความยินดีกลับคืนมาได้อย่างไร? จงยกตัวอย่าง.

14 ประชาชนของพระยะโฮวาทั่วโลกกำลังรับใช้พระเจ้าแม้ว่าซาตานและตัวแทนของมันพยายามขัดขวางพวกเขา. บางคนในพวกเราเผชิญปัญหาที่ใหญ่โตราวกับยักษ์. แต่เราไว้วางใจพระยะโฮวาอย่างเต็มที่ซึ่งทำให้เรามีกำลังที่จะรักษาความซื่อสัตย์เมื่อต้องรับมือปัญหาที่ยุ่งยากอย่างยิ่ง เช่นเดียวกับที่ดาวิดมีกำลังที่จะฆ่าฆาละยัธ. แต่มีบางครั้งที่เรารู้สึกว่าไม่มีกำลังพอที่จะต่อสู้กับโลกของซาตานได้อีกต่อไป. ในสภาพที่อ่อนแอเช่นนั้น เป็นเรื่องง่ายที่เราจะท้อใจกับปัญหาซึ่งตามปกติแล้วเราอดทนได้. แต่ผู้ปกครองอาจสังเกตเห็นว่าเรารู้สึกอย่างไรและให้ความช่วยเหลือได้ทันท่วงที. แล้วเราก็รู้สึกว่าสามารถรับใช้พระเจ้าด้วยความยินดีต่อไปได้. หลายคนในพวกเราได้รับความช่วยเหลืออย่างนี้. ไพโอเนียร์คนหนึ่งซึ่งอายุ 60 กว่าปีเล่าว่า “มีอยู่ช่วงหนึ่ง ดิฉันรู้สึกไม่ค่อยดีและการทำงานรับใช้ในเขตประกาศทำให้ดิฉันหมดแรง. ผู้ปกครองคนหนึ่งสังเกตเห็นว่าดิฉันไม่ค่อยมีกำลังและเข้ามาคุยกับดิฉัน. เราคุยกันเกี่ยวกับเรื่องราวตอนหนึ่งจากพระคัมภีร์. ดิฉันทำตามคำแนะนำที่เขาให้และได้รับประโยชน์.” เธอกล่าวต่ออีกว่า “ผู้ปกครองคนนี้ช่างน่ารักจริงๆที่สังเกตเห็นว่าดิฉันกำลังอ่อนแอและช่วยเหลือดิฉัน!” เป็นเรื่องที่ให้กำลังใจอย่างมากที่รู้ว่าเรามีผู้ปกครองที่รักและคอยดูแลเราอยู่เสมอและพร้อมจะช่วยเรา เช่นเดียวกับอะบีซัยที่พร้อมจะช่วยดาวิด.

“เพื่อให้พวกท่านรู้ว่าข้าพเจ้ารักพวกท่าน”

15, 16. (ก) ทำไมพี่น้องจึงรักเปาโลมาก? (ข) ทำไมเราจึงรักผู้ปกครอง?

15 ผู้ปกครองทำงานหนักมาก. บางครั้ง ผู้ปกครองนอนไม่ค่อยหลับเพราะกังวลเรื่องของพี่น้อง และพวกเขาอาจตื่นขึ้นมากลางดึกเพื่อจะอธิษฐานเพื่อพี่น้องหรือเพื่อจะไปช่วยพี่น้อง. (2 โค. 11:27, 28) ถึงกระนั้น ผู้ปกครองยินดีทำตามหน้าที่รับผิดชอบของตนอย่างเต็มที่ เช่นเดียวกับเปาโล. ท่านเขียนถึงพี่น้องในเมืองโครินท์ว่า “ข้าพเจ้าจะสละทุกสิ่งและทุ่มเทตัวเพื่อท่านทั้งหลายด้วยความยินดียิ่ง.” (2 โค. 12:15) เนื่องจากเปาโลรักพี่น้อง ท่านจึง “ทุ่มเทตัว” หรือใช้กำลังวังชาทั้งหมดของท่านเพื่อช่วยพี่น้องให้เข้มแข็ง. (อ่าน 2 โครินท์ 2:4; ฟิลิป. 2:17; 1 เทส. 2:8) จึงไม่แปลกที่พี่น้องรักเปาโลมาก!—กิจ. 20:31-38

16 พวกเราที่เป็นผู้รับใช้ของพระเจ้าในทุกวันนี้ก็รักผู้ปกครองและขอบคุณพระยะโฮวาที่ทรงใช้พวกเขาให้ดูแลเรา. เรามีความสุขที่พวกเขาสนใจเราแต่ละคนและเยี่ยมบำรุงเลี้ยงพวกเรา. และเรารู้สึกขอบคุณที่พวกเขาอยู่พร้อมเสมอที่จะช่วยเราเมื่อเรารู้สึกว่าจะทนรับมือปัญหาไม่ไหวแล้ว. คริสเตียนผู้ปกครองที่ใส่ใจดูแลฝูงแกะเช่นนี้เป็น ‘เพื่อนร่วมงานที่ทำให้เรายินดี’ อย่างแท้จริง.

^ วรรค 5 มีการถามพี่น้องกลุ่มเดียวกันนี้ด้วยว่า “คุณคิดว่าคุณลักษณะอะไรสำคัญที่สุดสำหรับผู้ปกครอง?” ส่วนใหญ่ตอบว่า “ความกรุณาและการเป็นคนที่คุยได้ง่าย.” อีกไม่นานจะมีการพิจารณาคุณลักษณะดังกล่าวในวารสารหอสังเกตการณ์.