อย่าหันไปมอง “สิ่งต่าง ๆ ที่อยู่เบื้องหลัง”
อย่าหันไปมอง “สิ่งต่าง ๆ ที่อยู่เบื้องหลัง”
“คนที่เอามือจับคันไถแล้วหันไปมองสิ่งต่าง ๆ ที่อยู่เบื้องหลังก็ไม่เหมาะสมกับราชอาณาจักรของพระเจ้า.”—ลูกา 9:62
คุณจะตอบอย่างไร?
เหตุใดเราควร “ระลึกถึงภรรยาของโลต”?
สามเรื่องอะไรที่เราไม่ควรคิดถึงมากเกินไป?
เราจะก้าวให้ทันองค์การของพระยะโฮวาได้อย่างไร?
1. พระเยซูทรงเตือนไว้อย่างไร และนั่นทำให้เกิดคำถามอะไรขึ้น?
“จงระลึกถึงภรรยาของโลต.” (ลูกา 17:32) คำเตือนนี้ที่พระเยซูคริสต์ทรงให้ไว้เมื่อเกือบ 2,000 ปีที่แล้วมีความสำคัญสำหรับสมัยนี้ยิ่งกว่าแต่ก่อน. แต่พระเยซูทรงหมายถึงอะไรเมื่อทรงเตือนอย่างจริงจังเช่นนั้น? ไม่จำเป็นต้องอธิบายเพิ่มเติมอีกสำหรับผู้ฟังที่เป็นชาวยิว. พวกเขารู้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับภรรยาของโลต. ขณะที่หนีออกจากเมืองโซโดมพร้อมกับครอบครัว นางไม่เชื่อฟังพระบัญชาของพระเจ้าโดยหันไปมองเมืองนั้นและถูกเปลี่ยนเป็นเสาเกลือ.—อ่านเยเนซิศ 19:17, 26
2. อะไรอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้ภรรยาของโลตหันไปมอง และนางชดใช้ความผิดที่ไม่เชื่อฟังเช่นนั้นอย่างไร?
2 แต่ทำไมภรรยาของโลตจึงหันไปมอง? นางเกิดความอยากรู้อยากเห็นเกี่ยวกับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นไหม? นางเหลียวหลังไปมองเพราะนางไม่มีความเชื่อหรือขาดความเชื่อไหม? หรือเป็นเพราะว่านางมองสิ่งต่าง ๆ ทั้งหมดที่นางละไว้เบื้องหลังในเมืองโซโดมด้วยความเสียดาย. (ลูกา 17:31) ไม่ว่านางหันไปมองด้วยสาเหตุใดก็ตาม นางชดใช้ความผิดด้วยชีวิตเพราะการไม่เชื่อฟัง. คิดดูสิ! นางเสียชีวิตพร้อมกับชาวเมืองโซโดมและโกโมราห์ที่เป็นพวกวิปริตทางเพศ. ไม่แปลกเลยที่พระเยซูตรัสว่า “จงระลึกถึงภรรยาของโลต”!
3. พระเยซูทรงเน้นอย่างไรว่าเราไม่ควรทำราวกับหันไปมองสิ่งที่อยู่เบื้องหลัง?
3 เราเองก็มีชีวิตอยู่ในสมัยที่เราต้องไม่ทำราวกับหันไปมองสิ่งที่อยู่เบื้องหลัง. พระเยซูทรงเน้นจุดนี้เมื่อพระองค์ตอบชายคนหนึ่งที่ขอกลับไปลาคนในครอบครัวก่อนแล้วจึงจะมาเป็นสาวกของพระองค์. พระเยซูตรัสว่า “คนที่เอามือจับคันไถแล้วหันไปมองสิ่งต่าง ๆ ที่อยู่เบื้องหลังก็ไม่เหมาะสมกับราชอาณาจักรของพระเจ้า.” (ลูกา 9:62) พระเยซูทรงเข้มงวดเกินไปหรือไม่มีเหตุผลไหมที่ตอบอย่างนั้น? ไม่เลย เพราะพระองค์ทรงทราบว่าคำขอของชายคนนี้เป็นเพียงข้อแก้ตัวเพื่อหลบเลี่ยงหน้าที่รับผิดชอบ. พระเยซูทรงพรรณนา การผัดวันประกันพรุ่งเช่นนั้นว่าเป็นเหมือนการมอง “สิ่งต่าง ๆ ที่อยู่เบื้องหลัง.” จะเกิดอะไรขึ้นถ้าคนที่กำลังไถนาหันไปมองข้างหลังชั่วขณะหนึ่งหรือถึงกับวางมือจากคันไถแล้วหันไปมอง? ไม่ว่าจะอย่างไรเขาก็จะเขวจากสิ่งที่ควรทำ และอาจเกิดผลเสียหายต่องานของเขา.
4. เราต้องให้ตาเราจดจ่ออยู่กับสิ่งใด?
4 แทนที่จะหันไปสนใจอดีต เราต้องจดจ่อเสมอกับสิ่งที่อยู่ข้างหน้า. ขอให้สังเกตว่าสุภาษิต 4:25 กล่าวถึงจุดนี้ไว้อย่างชัดเจนว่า “จงให้หน่วยตาของเจ้ามองตรงไปข้างหน้า, และจงให้หนังตาของเจ้าเบิกมองข้างหน้าเจ้า.”
5. เพราะเหตุใดเราจึงไม่หันไปมองสิ่งที่อยู่เบื้องหลัง?
5 เรามีเหตุผลที่ดีที่จะไม่มองสิ่งต่าง ๆ ที่อยู่เบื้องหลัง. เหตุผลดังกล่าวคืออะไร? สมัยนี้เป็น “สมัยสุดท้าย.” (2 ติโม. 3:1) ในเวลานี้เราไม่เพียงแค่เผชิญกับการกวาดล้างสองเมืองที่ชั่วช้า แต่เผชิญกับการทำลายล้างระบบทั้งสิ้นของโลก. อะไรจะช่วยเราให้หลีกเลี่ยงสิ่งใดก็ตามที่คล้ายกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับภรรยาของโลต? ก่อนอื่น เราต้องรู้ว่ามีสิ่งใดบ้างที่อยู่เบื้องหลังที่เราอาจถูกล่อใจให้หันไปมอง. (2 โค. 2:11) ดังนั้น ขอให้เราพิจารณาว่าสิ่งเหล่านั้นคืออะไรและเราจะไม่เพ่งตามองสิ่งเหล่านั้นได้อย่างไร.
แนวคิดที่ว่าอดีตดีกว่า
6. เหตุใดความทรงจำของเราไม่อาจไว้วางใจได้เสมอไป?
6 อันตรายอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดก็คือทัศนะอันบิดเบือนที่ว่าชีวิตในอดีตดีกว่าในปัจจุบัน. ความทรงจำของเราอาจไม่ใช่สิ่งที่จะวางใจได้เสมอไป. โดยที่ไม่รู้ตัว เราอาจไม่ค่อยจะนึกถึงปัญหาที่เราเคยมีในอดีตและในขณะเดียวกันก็นึกถึงเรื่องที่น่ายินดีมากเกินไป ทำให้ดูเหมือนว่าสิ่งต่าง ๆ ในอดีตดีเกินจริง. การนึกถึงอดีตอย่างบิดเบือนเช่นนี้อาจทำให้เราอยากกลับไปใช้ชีวิตเหมือนในอดีต. แต่คัมภีร์ไบเบิลเตือนเราว่า “อย่าถามว่า ‘ทำไมสมัยก่อนดีกว่าเดี๋ยวนี้?’ เพราะนั่นไม่ใช่คำถามที่ฉลาดเลย.” (ผู้ป. 7:10, ฉบับอมตธรรมร่วมสมัย ) เหตุใดการคิดแบบนี้จึงเป็นอันตราย?
7-9. (ก) เกิดอะไรขึ้นกับชาวอิสราเอลในอียิปต์? (ข) ชาวอิสราเอลมีเหตุผลอะไรที่จะยินดี? (ค) ชาวอิสราเอลเริ่มบ่นและแสดงความไม่พอใจเรื่องอะไร?
7 ขอให้พิจารณาสิ่งที่เกิดขึ้นกับชาวอิสราเอลในสมัยโมเซ. แม้ว่าในตอนเริ่มแรกชาวอียิปต์ถือว่าชาวอิสราเอลเป็นแขกของประเทศอียิปต์ แต่หลังจากโยเซฟเสียชีวิตแล้วชาวอียิปต์ “ได้ตั้งนายงานกะเกณฑ์ชนชาติยิศราเอลให้ทำการงานอย่างตรากตรำ.” (เอ็ก. 1:11) ในที่สุด ประชาชนของพระเจ้าก็เผชิญกับสิ่งที่อาจเรียกได้ว่าเป็นการฆ่าล้างชาติพันธุ์แบบหนึ่งเมื่อฟาโรห์พยายามจำกัดจำนวนของพวกเขา. (เอ็ก. 1:15, 16, 22) จึงไม่แปลกที่พระยะโฮวาตรัสกับโมเซว่า “แท้จริงเราได้เห็นความทุกข์ของพวกพลไพร่ของเราที่อยู่ประเทศอายฆุบโต; เราได้ยินเสียงร้องของเขาเพราะการกระทำของนายงานนั้น; เรารู้ถึงความทุกข์โศกของเขา.”—เอ็ก. 3:7
8 คุณนึกออกไหมว่าชาวอิสราเอลคงยินดีขนาดไหนเมื่อพวกเขา ในฐานะเสรีชน ยกขบวนเดินออกจากดินแดนที่พวกเขาเคยตกเป็นทาส? พวกเขาเห็นฤทธิ์อำนาจที่น่าทึ่งของพระยะโฮวาด้วยตาตัวเอง เมื่อพระองค์ทรงทำให้เกิดภัยพิบัติสิบประการแก่ฟาโรห์ผู้เย่อหยิ่งและประชาชนของเขา. (อ่านเอ็กโซโด 6:1, 6, 7) ที่จริง ในที่สุดชาวอียิปต์ไม่เพียงแต่ยอมปล่อยชาวอิสราเอลให้เป็นอิสระเท่านั้น แต่พวกเขายังเร่งให้ชาวอิสราเอลรีบไป ให้ทองและเงินแก่พวกเขาเป็นจำนวนมากถึงขนาดที่กล่าวได้ว่าประชาชนของพระเจ้าได้ “ริบเอาสิ่งของต่าง ๆ ของ ชาวอายฆุบโตเสีย.” (เอ็ก. 12:33-36) ชาวอิสราเอลชื่นใจยินดีมากขึ้นไปอีกเมื่อพวกเขาเห็นฟาโรห์และกองทัพถูกทำลายในทะเลแดง. (เอ็ก. 14:30, 31) การได้เห็นเหตุการณ์ที่น่าตื่นเต้นเหล่านั้นด้วยตาตัวเองคงเป็นเรื่องที่เสริมความเชื่อของพวกเขาสักเพียงไร!
9 อย่างไรก็ตาม ไม่น่าเชื่อเลยที่หลังจากพวกเขาได้รับการช่วยให้รอดอย่างมหัศจรรย์ได้ไม่นาน ประชาชนเหล่านี้เริ่มบ่นและแสดงความไม่พอใจ. บ่นเรื่องอะไร? เรื่องอาหาร! พวกเขาเริ่มไม่พอใจกับอาหารที่พระยะโฮวาประทานแก่พวกเขาและบ่นว่า “เราระลึกถึงปลาที่เราเคยกินเป็นบริบูรณ์ในเมืองอายฆุบโต, แลแตงกวาแตงโมแลใบกระเทียมแลหัวกระเทียม. บัดนี้จิตใจเราแห้งห่อไปไม่มีสิ่งใดตรงหน้าเราเลยเว้นแต่มานานี้.” (อาฤ. 11:5, 6) ใช่แล้ว พวกเขาเริ่มมีทัศนะผิดเพี้ยน ถึงขนาดที่พวกเขาอยากกลับไปยังดินแดนที่บังคับพวกเขาเป็นทาสด้วยซ้ำ! (อาฤ. 14:2-4) ชาวอิสราเอลหันไปมองสิ่งต่าง ๆ ที่อยู่เบื้องหลังและสูญเสียความโปรดปรานของพระยะโฮวา.—อาฤ. 11:10
10. ตัวอย่างของชาวอิสราเอลสอนเราอย่างไร?
10 มีบทเรียนอะไรสำหรับเราในปัจจุบัน? เมื่อเผชิญปัญหาและความลำบาก ขอเราอย่าฝังใจอยู่กับสิ่งที่อาจดูเหมือนเป็นเรื่องที่ดีในอดีต ซึ่งอาจเป็นสิ่งที่เรามีหรือได้รับก่อนจะเรียนรู้จักความจริงด้วยซ้ำ. แม้ว่าไม่ผิดที่จะใคร่ครวญเพื่อจะได้บทเรียนจากประสบการณ์ในอดีตหรือหวนระลึกถึงความทรงจำที่น่ายินดี แต่เราจำเป็นต้องมีทัศนะเกี่ยวกับอดีตแบบที่สมดุลและตรงกับความเป็นจริง. มิฉะนั้น เราอาจรู้สึกไม่พอใจสภาพของเราในปัจจุบันมากยิ่งขึ้นไปอีกและถูกล่อใจให้หวนกลับไปสู่วิถีชีวิตแบบเดิมได้.—อ่าน 2 เปโตร 2:20-22
สิ่งที่เราเสียสละในอดีต
11. บางคนมองการเสียสละที่ตนเคยทำในอดีตอย่างไร?
11 น่าเศร้า บางคนมองย้อนไปดูสิ่งที่ตัวเองได้เสียสละในอดีตและรู้สึกเสียดายที่เขาทำอย่างนั้น. คุณอาจเคยมีโอกาสที่จะได้เรียนสูง ๆ มีชื่อเสียงเด่นดัง หรือมีความมั่นคงด้านการเงิน แต่คุณได้ตัดสินใจไม่ไขว่คว้าสิ่งเหล่านั้น. พี่น้องของเราหลายคนสละงานอาชีพที่มีรายได้งามในแวดวงธุรกิจหรือการศึกษา ในวงการบันเทิงหรือกีฬา. เมื่อเวลาผ่านไป ถึงตอนนี้อวสานก็ยังไม่มา. คุณนึกภาพไหมว่าชีวิตคุณอาจเป็นเช่นไรถ้าไม่ได้เสียสละอย่างที่ได้ทำไป?
12. เปาโลรู้สึกอย่างไรเกี่ยวกับสิ่งต่าง ๆ ที่ท่านได้ทิ้งไว้เบื้องหลัง?
12 อัครสาวกเปาโลสละหลายสิ่งหลายอย่างเพื่อมาเป็นสาวกของพระคริสต์. (ฟิลิป. 3:4-6) ท่านรู้สึกอย่างไรเกี่ยวกับสิ่งที่ท่านทิ้งไว้เบื้องหลัง? ท่านบอกเราว่า “สิ่งใดที่เคยเป็นประโยชน์ต่อข้าพเจ้า ข้าพเจ้าถือว่าสิ่งเหล่านั้นไร้ประโยชน์เพราะเห็นแก่พระคริสต์.” เพราะเหตุใด? ท่านกล่าวต่ออีกว่า “ข้าพเจ้าถือว่าทุกสิ่งไร้ประโยชน์จริง ๆ เช่นกันเนื่องจากคุณค่าอันเลิศล้ำ แห่งความรู้เรื่องพระคริสต์เยซูองค์พระผู้เป็นเจ้าของข้าพเจ้า. เพราะเห็นแก่พระองค์ ข้าพเจ้าจึงยอมสละทุกสิ่งและถือว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นเหมือนเศษขยะ เพื่อข้าพเจ้าจะมีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดกับพระคริสต์.” * (ฟิลิป. 3:7, 8) เช่นเดียวกับคนที่โยนขยะทิ้งจะไม่คร่ำครวญหาขยะที่ทิ้งไป เปาโลไม่เสียใจเลยที่ท่านสละโอกาสที่จะก้าวหน้าทางโลกซึ่งท่านได้ทิ้งไว้เบื้องหลัง. ท่านคิดว่าสิ่งเหล่านั้นไม่มีค่าอีกต่อไป.
13, 14. เราจะทำตามแบบอย่างที่เปาโลวางไว้ได้อย่างไร?
13 อะไรจะช่วยเราได้ถ้าเห็นว่าตัวเองกำลังเริ่มคิดถึงสิ่งที่เรียกกันว่าโอกาสดี ๆ ในชีวิตที่เราพลาดไป? ขอให้ทำตามตัวอย่างที่เปาโลวางไว้. โดยวิธีใด? จงคิดถึงคุณค่าของสิ่งที่คุณมีอยู่ในขณะนี้. คุณมีสายสัมพันธ์ที่ล้ำค่ากับพระยะโฮวาและมีประวัติบันทึกในเรื่องความซื่อสัตย์อยู่กับพระองค์. (ฮีบรู 6:10) มีผลประโยชน์ด้านวัตถุอะไรบ้างซึ่งโลกนี้เสนอให้ที่พอจะมีคุณค่าใกล้เคียงกับพระพรฝ่ายวิญญาณที่เรามีอยู่ในเวลานี้และที่จะได้รับในอนาคต?—อ่านมาระโก 10:28-30
14 ถัดจากนั้น เปาโลกล่าวถึงบางสิ่งบางอย่างที่จะช่วยเราให้ดำเนินอย่างซื่อสัตย์ต่อ ๆ ไป. ท่านกล่าวว่าท่าน “กำลังลืมสิ่งต่าง ๆ ที่อยู่ข้างหลังและโน้มตัวไปหาสิ่งที่อยู่ข้างหน้า.” (ฟิลิป. 3:13) ขอให้สังเกตว่าเปาโลเน้นสองขั้นตอนที่เราจำเป็นต้องทำ. ขั้นตอนแรก เราต้องลืมสิ่งที่เราทิ้งไว้ข้างหลัง และไม่เสียเวลาและกำลังอันมีค่าไปกับการคิดถึงสิ่งเหล่านั้นมากเกินไป. ขั้นตอนที่สอง เช่นเดียวกับนักวิ่งที่วิ่งเข้าเส้นชัย เราต้องโน้มตัวไปข้างหน้า คือเพ่งความสนใจไปยังสิ่งที่อยู่ข้างหน้า.
15. เราได้รับประโยชน์อะไรเมื่อเราใคร่ครวญตัวอย่างของผู้รับใช้ที่ซื่อสัตย์ของพระเจ้า?
15 เมื่อเราใคร่ครวญตัวอย่างของเหล่าผู้รับใช้ที่ซื่อสัตย์ของพระเจ้า ไม่ว่าในอดีตหรือในปัจจุบัน เราจะได้รับแรงกระตุ้นมากขึ้นเพื่อจะรุดหน้าต่อ ๆ ไปแทนที่จะมองสิ่งต่าง ๆ ที่อยู่ข้างหลัง. ตัวอย่างเช่น ถ้าอับราฮามและซาราห์คิดถึงเมืองอูร์อยู่เรื่อย ๆ “พวกเขาก็คงมีโอกาสกลับไปได้.” (ฮีบรู 11:13-15) แต่พวกเขาไม่กลับไปที่นั่น. เมื่อโมเซออกจากอียิปต์ไปในครั้งแรก ท่านละทิ้งสิ่งต่าง ๆ ไว้ข้างหลังยิ่งกว่าที่ชาวอิสราเอลคนใด ๆ ได้ทำในภายหลังมาก. ถึงกระนั้น ไม่มีบันทึกว่าท่านอาลัยอาวรณ์ถึงสิ่งเหล่านั้น. แทนที่จะเป็นอย่างนั้น บันทึกในคัมภีร์ไบเบิลบอกเราว่า “ท่านถือว่าความอับอายขายหน้าเพื่อพระคริสต์ล้ำค่ากว่าสมบัติทั้งหลายของอียิปต์ เพราะท่านเพ่งดูที่บำเหน็จที่จะได้รับนั้น.”—ฮีบรู 11:26
ประสบการณ์ที่ไม่ดีในอดีต
16. ประสบการณ์ในอดีตอาจมีผลต่อเราอย่างไร?
16 อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ประสบการณ์ในอดีตทุกอย่างเป็นประสบการณ์ที่ดี. เราอาจถูกครอบงำด้วยความคิดเกี่ยวกับบาปในอดีตหรือความผิดพลาดที่เราเคยทำ. (เพลง. 51:3) เราอาจยังคงรู้สึกเจ็บแปลบใจจากการตีสอนที่เราได้รับ. (ฮีบรู 12:11) ความไม่ยุติธรรมหรือสิ่งที่เราคิดว่าไม่ยุติธรรมอาจครอบงำความคิดของเรา. (เพลง. 55:2) เราอาจทำอะไรได้เพื่อจะไม่ปล่อยให้ประสบการณ์เช่นนั้นทำให้เราครุ่นคิดแต่สิ่งที่เกิดขึ้นในอดีต? ขอให้พิจารณาสามตัวอย่างต่อไปนี้.
17. (ก) เหตุใดเปาโลพรรณนาตัวท่านเองว่าเป็น “ผู้ที่เล็กน้อยกว่าผู้เล็กน้อยในเหล่าผู้บริสุทธิ์”? (ข) อะไรช่วยเปาโลไม่ให้คิดในแง่ลบ?
17 ความผิดพลาดในอดีต. อัครสาวกเปาโลพรรณนาตัวท่านเองว่าเป็น “ผู้ที่เล็กน้อยกว่าผู้เล็กน้อยในเหล่าผู้บริสุทธิ์.” (เอเฟ. 3:8) ทำไมท่านรู้สึกอย่างนั้น? ท่านกล่าวว่า “เพราะข้าพเจ้าเคยข่มเหงประชาคมของพระเจ้า.” (1 โค. 15:9) คุณนึกภาพออกไหมว่าเปาโลคงต้องรู้สึกอย่างไรเมื่อท่านพบบางคนที่ท่านเคยข่มเหง? อย่างไรก็ตาม แทนที่จะปล่อยให้ความคิดในแง่ลบครอบงำ เปาโลมุ่งสนใจที่ พระกรุณาอันใหญ่หลวงซึ่งท่านได้รับ. (1 ติโม. 1:12-16) นั่นทำให้ท่านรู้สึกขอบพระคุณพระเจ้า และความขอบคุณนี้กระตุ้นท่านให้รุดหน้าต่อไปในงานรับใช้. การกระทำที่ผิดบาปในอดีตเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งต่าง ๆ ที่เปาโลตั้งใจแน่วแน่ว่าจะลืม. ถ้าเราทำเหมือนกับเปาโล คือมุ่งสนใจที่พระเมตตาซึ่งพระยะโฮวาทรงแสดงต่อเรา กำลังของเราก็จะไม่ถูกบั่นทอนไปเพราะความกระวนกระวายใจเนื่องด้วยเหตุการณ์ในอดีตที่เราเปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้. และเราก็จะสามารถใช้กำลังวังชาของเราในการทำงานที่ได้รับมอบหมาย.
18. (ก) อาจเกิดอะไรขึ้นถ้าเรามองในแง่ลบเมื่อคิดถึงคำแนะนำที่เราเคยได้รับ? (ข) เราอาจปฏิบัติตามคำแนะนำของโซโลมอนได้อย่างไรในเรื่องการยอมรับคำแนะนำ?
18 คำแนะนำที่ทำให้เจ็บปวด. จะว่าอย่างไรถ้าเรารู้สึกขุ่นเคืองเมื่อคิดถึงคำแนะนำบางอย่างที่เราเคยได้รับ? นั่นอาจไม่ใช่แค่ทำให้เจ็บปวด แต่ยังทำให้หมดกำลังหรือทำให้เรา “ท้อใจ” ด้วย. (ฮีบรู 12:5) ไม่ว่าเราจะ “ดูเบา” คำแนะนำเพราะเราไม่ยอมรับคำแนะนำนั้นหรือว่าเรา “ท้อใจ” เพราะเรายอมรับคำแนะนำแต่แล้วก็เลิกทำตามคำแนะนำนั้น ผลก็ไม่ต่างกัน. คำแนะนำนั้นจะไม่เป็นประโยชน์ต่อเราและไม่ได้ขัดเกลาเราให้ดีขึ้น. นับว่าดีกว่าสักเพียงไรที่จะเอาใจใส่คำกล่าวของโซโลมอน ที่ว่า “จงยึดคำสั่งสอนไว้ให้มั่น; อย่าปล่อยเสียเลย; จงรักษาไว้ให้ดี; เพราะว่านั่นคือชีวิตของเจ้า.” (สุภา. 4:13) เช่นเดียวกับคนขับรถที่ทำตามป้ายจราจร ขอให้เรายอมรับคำแนะนำ ทำตาม และรุดหน้าต่อไป.—สุภา. 4:26, 27; อ่านฮีบรู 12:12, 13
19. เราจะเลียนแบบความเชื่อของฮะบาฆูคและยิระมะยาห์ได้อย่างไร?
19 ความไม่ยุติธรรมหรือสิ่งที่เราคิดว่าไม่ยุติธรรม. บางครั้ง เราอาจคิดเหมือนกับผู้พยากรณ์ฮะบาฆูคที่ร้องขอความยุติธรรมจากพระยะโฮวา เพราะไม่เข้าใจว่าทำไมพระยะโฮวาทรงยอมให้สิ่งที่ไม่ยุติธรรมบางอย่างเกิดขึ้น. (ฮบา. 1:2, 3) นับว่าสำคัญสักเพียงไรที่เราจะเลียนแบบความเชื่อของผู้พยากรณ์ผู้นี้ ซึ่งกล่าวว่า “ถึงกระนั้น ข้าพเจ้าจะร่าเริงในพระเจ้า. ข้าพเจ้าจะเปรมปรีดิ์ในพระเจ้าแห่งความรอดของข้าพเจ้า.” (ฮบา. 3:18, ฉบับ R73) เช่นเดียวกับยิระมะยาห์ ถ้าเรา “คอยท่า” อยู่เสมอด้วยความเชื่อเต็มเปี่ยมในพระยะโฮวา พระเจ้าผู้ยุติธรรม เราจะมั่นใจได้ว่าทุกสิ่งจะได้รับการแก้ไขให้ถูกต้องในเวลาที่เหมาะสม.—ทุกข์. 3:19-24, ล.ม.
20. เราจะพิสูจน์ให้เห็นได้อย่างไรว่าเรา “ระลึกถึงภรรยาของโลต”?
20 เรามีชีวิตอยู่ในเวลาที่น่าตื่นเต้น. เหตุการณ์อันน่าพิศวงกำลังเกิดขึ้นในตอนนี้และยังมีอีกหลายอย่างคอยอยู่ในวันข้างหน้า. ขอให้เราแต่ละคนก้าวให้ทันองค์การของพระยะโฮวา. ขอให้เราเอาใจใส่คำแนะนำจากพระคัมภีร์ที่ให้มองตรงไปข้างหน้าและไม่หันไปมองสิ่งที่อยู่เบื้องหลัง. โดยทำอย่างนั้น เราจะพิสูจน์ให้เห็นว่าเรา “ระลึกถึงภรรยาของโลต”!
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 12 คำภาษาเดิมที่แปลในที่นี้ว่า “ขยะ” ยังหมายถึง สิ่งที่ “โยนให้แก่สุนัข” “มูลสัตว์” และ “อุจจาระ” ด้วย. ผู้คงแก่เรียนด้านคัมภีร์ไบเบิลคนหนึ่งกล่าวว่า เปาโลใช้คำนี้เพื่อสื่อถึง “การหลบหลีกอย่างไม่ลังเลจากบางสิ่งที่ไร้ค่าและน่าขยะแขยง ซึ่งเป็นสิ่งที่คนเราจะไม่เกี่ยวข้องด้วยอีกต่อไป.”
[คำถาม]