ให้เราชื่นชมยินดีด้วยกัน!
ให้เราชื่นชมยินดีด้วยกัน!
ความสุขและความยินดีหาได้ยากขึ้นเรื่อย ๆ. สำหรับหลายคน การแบ่งปันความรู้สึกที่ดีให้คนอื่นอาจเป็นเรื่องที่แทบจะเป็นไปไม่ได้เลย. ชีวิตในสมัยปัจจุบัน โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ ๆ ทำให้ผู้คนเก็บตัวและปลีกตัวจากคนอื่น.
อัลเบอร์โต โอลีเวรีโอ ศาสตราจารย์ด้านจิตชีววิทยากล่าวว่า “ความเหงามีอยู่ทั่วไป. ไม่มีข้อสงสัยเลยว่าชีวิตในเขตที่มีอาคารบ้านเรือนหนาแน่นทำให้ผู้คนปลีกตัวจากคนอื่นได้ง่ายขึ้น. สถานการณ์หลาย ๆ อย่างทำให้เราไม่สนใจชีวิตส่วนตัวของเพื่อนร่วมงาน เพื่อนบ้าน หรือแคชเชียร์ที่ทำงานในซูเปอร์มาร์เกตใกล้บ้าน.” บ่อยครั้ง การปลีกตัวเช่นนั้นทำให้เกิดโรคซึมเศร้า.
อย่างไรก็ตาม สังคมคริสเตียนไม่เป็นอย่างนั้นและไม่มีน้ำใจอย่างนั้น. อัครสาวกเปาโลเขียนว่า “จงชื่นชมยินดีเสมอ.” (1 เทส. 5:16) มีหลายเหตุผลที่เราจะยินดีและมีความสุขด้วยกัน. เรานมัสการพระยะโฮวา พระเจ้าองค์ใหญ่ยิ่งสูงสุด; เราเข้าใจข่าวสารที่เป็นความจริงในคัมภีร์ไบเบิล; เรามีความหวังที่จะรอดชีวิตและมีชีวิตตลอดไป; และเรายังสามารถช่วยคนอื่น ๆ ให้ได้รับพระพรอย่างเดียวกัน.—เพลง. 106:4, 5; ยิระ. 15:16; โรม 12:12
ความชื่นชมยินดีและการแบ่งปันความยินดีแก่คนอื่นเป็นลักษณะเด่นของคริสเตียนแท้. จึงไม่แปลกที่เปาโลเขียนถึงพี่น้องในเมืองฟิลิปปอยว่า “ข้าพเจ้าก็ดีใจและยินดีกับพวกท่านทุกคน พวกท่านเองก็ควรดีใจและยินดีกับข้าพเจ้าด้วย.” (ฟิลิป. 2:17, 18) ในข้อนี้ที่เปาโลเขียนเพียงไม่กี่คำ ท่านกล่าวถึงการดีใจและการยินดีกับคนอื่นถึงสองครั้ง.
แน่นอน คริสเตียนต้องระวังแนวโน้มที่จะปลีกตัวจากคนอื่น. คนที่ตัดขาดการติดต่อกับคนอื่นไม่อาจจะมีความยินดีกับเพื่อนร่วมความเชื่อได้. ดังนั้น เราจะทำตามคำกระตุ้นเตือนของเปาโลได้อย่างไรที่ให้ “ชื่นชมยินดีเสมอที่ได้เป็นผู้รับใช้องค์พระผู้เป็นเจ้า” ร่วมกับพี่น้องของเรา?—ฟิลิป. 3:1
จงชื่นชมยินดีกับเพื่อนร่วมความเชื่อ
เมื่อเปาโลเขียนจดหมายถึงคริสเตียนในเมืองฟิลิปปอย ท่านคงเป็นนักโทษอยู่ในกรุงโรมซึ่งเป็นผลมาจากการประกาศของท่าน. (ฟิลิป. 1:7; 4:22) ถึงกระนั้น การถูกจำคุกก็ไม่ทำให้ความกระตือรือร้นของท่านในการรับใช้ลดน้อยลง. ตรงกันข้าม ท่านยินดีที่ได้รับใช้พระยะโฮวาอย่างเต็มที่เท่าที่จะทำได้และ “เสนอตัวเหมือนเครื่องบูชาดื่ม.” (ฟิลิป. 2:17) ทัศนคติของเปาโลแสดงให้เห็นว่าความยินดีไม่ขึ้นอยู่กับสภาพการณ์ของคนเรา. แม้ถูกคุมขัง ท่านก็ยังกล่าวว่า “ข้าพเจ้ายังจะยินดีต่อไปเรื่อย ๆ.”—ฟิลิป. 1:18
เปาโลก่อตั้งประชาคมในเมืองฟิลิปปอยและท่านรักพี่น้องที่นั่นเป็นพิเศษ. ท่านรู้ว่าการแบ่งปันความยินดีที่ท่านได้รับในการรับใช้พระยะโฮวาจะให้กำลังใจพวกเขาด้วย. ดังนั้น ท่านเขียนว่า “พี่น้องทั้งหลาย ข้าพเจ้าอยากให้พวกท่านรู้ว่าเรื่องที่เกิดขึ้นกับข้าพเจ้านั้นกลับทำให้ข่าวดียิ่งแพร่ออกไป จนเรื่องที่ข้าพเจ้าถูกกักขังเนื่องจากความเชื่อในพระคริสต์เป็นที่รู้กันทั่วในหมู่องครักษ์ของจักรพรรดิและคนอื่น ๆ ด้วย.” (ฟิลิป. 1:12, 13) การที่เปาโลบอกเล่าประสบการณ์ที่ให้กำลังใจนี้เป็นวิธีหนึ่งที่ท่านดีใจและยินดีกับเพื่อนร่วมความเชื่อ. พี่น้องในเมืองฟิลิปปอยก็คงยินดีกับเปาโลด้วย. แต่เพื่อที่พวกเขาจะยินดีกับเปาโลได้ พวกเขาต้องไม่ท้อใจเพราะสิ่งที่เปาโลประสบ. แทนที่จะเป็นอย่างนั้น พวกเขาจำเป็นต้องทำตามแบบอย่างของท่าน. (ฟิลิป. 1:14; 3:17) นอกจากนั้น คริสเตียนในเมืองฟิลิปปอยสามารถทูลขอเพื่อเปาโลในคำอธิษฐานและให้ความช่วยเหลือและการสนับสนุนแก่ท่านเท่าที่พวกเขาจะทำได้ต่อ ๆ ไป.—ฟิลิป. 1:19; 4:14-16
เรามีน้ำใจยินดีเหมือนกับเปาโลไหม? เราพยายามมองสภาพการณ์ในชีวิตและงานรับใช้ของคริสเตียนในแง่ดีไหม? เมื่อเราคบหาสมาคมกับพี่น้อง นับว่าดีที่จะชื่นชมยินดีกับงานประกาศ. เราไม่จำเป็นต้องคอยจนมีประสบการณ์ที่น่าตื่นเต้นเสียก่อนจึงจะชื่นชมยินดีกับงานประกาศได้. เราอาจกระตุ้นให้คนอื่นสนใจข่าวสารเรื่องราชอาณาจักรได้โดยใช้คำนำหรือวิธีการชักเหตุผลที่มีประสิทธิภาพ. เราอาจสนทนากันเป็นอย่างดีกับเจ้าของบ้านเกี่ยวกับข้อคัมภีร์ข้อหนึ่ง. หรืออาจแค่เจ้าของบ้านในเขตประกาศดูออกว่าเราเป็นพยานพระยะโฮวาก็เป็นการให้คำพยานที่ดีแล้ว. การบอกเล่าประสบการณ์เช่นนั้นเป็นวิธีหนึ่งที่เราจะยินดีด้วยกันได้.
ประชาชนของพระยะโฮวาหลายคนเสียสละเพื่อทำงานประกาศ. ไพโอเนียร์ ผู้ดูแลเดินทาง สมาชิกครอบครัวเบเธล มิชชันนารี และผู้รับใช้นานาชาติทุ่มเทตัวเองในการรับใช้เต็มเวลาและชื่นชมยินดีในการทำงานเหล่านั้น. เราดีใจและยินดีกับพวกเขาไหม? ถ้าอย่างนั้น ให้เราแสดงความขอบคุณพี่น้องที่รักเหล่านี้ซึ่งเป็น “เพื่อนร่วมงาน . . . เพื่อราชอาณาจักรของพระเจ้า.” (โกโล. 4:11) เมื่อเรามาอยู่ด้วยกันในการประชุมประจำประชาคมหรือการประชุมใหญ่ของคริสเตียน เราสามารถหนุนใจพวกเขาได้เป็นอย่างดี. เรายังเลียนแบบตัวอย่างที่กระตือรือร้นของพวกเขาได้ด้วย. และเราสามารถสร้าง “โอกาส” ที่จะได้ฟังประสบการณ์และคำพูดที่ให้กำลังใจของพวกเขาด้วยการแสดงน้ำใจรับรองแขก เช่น อาจเชิญพวกเขามารับประทานอาหารด้วยกัน.—ฟิลิป. 4:10
จงชื่นชมยินดีกับคนที่ถูกทดสอบ
การอดทนการข่มเหงและการเอาชนะการทดสอบทำให้เปาโลตั้งใจแน่วแน่ยิ่งขึ้นที่จะซื่อสัตย์ต่อพระยะโฮวา. (โกโล. 1:24; ยโก. 1:2, 3) การรู้ว่าพี่น้องในเมืองฟิลิปปอยคงจะถูกทดสอบคล้าย ๆ กันและจะได้รับกำลังใจจากความเพียรอดทนของท่านทำให้ท่านมีเหตุผลที่จะดีใจและยินดีกับพวกเขา. ด้วยเหตุนั้น ท่านเขียนว่า “พระองค์ทรงประทานสิทธิพิเศษแก่ท่านทั้งหลายไม่เพียงให้เชื่อพระคริสต์เท่านั้น แต่ให้ทนทุกข์เพื่อพระองค์ด้วย. ท่านทั้งหลายจึงต่อสู้อย่างที่เห็นข้าพเจ้าต่อสู้และอย่างที่ท่านได้ยินว่าข้าพเจ้าต่อสู้อยู่.”—ฟิลิป. 1:29, 30
คล้ายกัน คริสเตียนในทุกวันนี้ก็ถูกต่อต้านเพราะพวกเขาประกาศ. บางครั้งผู้ที่ต่อต้านใช้ความรุนแรง แต่บ่อยครั้งพวกเขาใช้วิธีที่แยบยลกว่า. การต่อต้านอาจมาในรูปของการกล่าวหาผิด ๆ จากพวกผู้ออกหาก ความเป็นปฏิปักษ์จากคนในครอบครัว การเยาะเย้ยจากเพื่อนร่วมงานหรือเพื่อนนักเรียน. พระเยซูทรงเตือนว่าการทดสอบเหล่านี้ไม่ควรทำให้เราแปลกใจหรือทำให้เราท้อใจ. แทนที่จะเป็นอย่างนั้น การทดสอบเหล่านั้นเป็นเหตุที่ทำให้เรายินดี. พระองค์ตรัสว่า “เจ้าทั้งหลายมีความสุขเมื่อผู้คนติเตียนและข่มเหงพวกเจ้าและพูดมุสาเรื่องชั่วร้ายสารพัดอย่างต่อต้านพวกเจ้าเพราะเรา. จงปลาบปลื้มยินดีเพราะบำเหน็จของเจ้าทั้งหลายมีมากมายในสวรรค์.”—มัด. 5:11, 12
เราไม่ควรตกใจกลัวเมื่อได้ยินว่าพี่น้องของเราในบางประเทศถูกข่มเหงอย่างรุนแรง. ตรงกันข้าม เราควรยินดีที่พวกเขาเพียรอดทน. เราสามารถอธิษฐานเพื่อพวกเขา ขอพระยะโฮวาค้ำจุนพวกเขาให้รักษาความเชื่อและความอดทน. (ฟิลิป. 1:3, 4) แม้ว่าเราอาจทำอะไรได้ไม่มากนักเพื่อพี่น้องที่รักเหล่านั้น แต่เราสามารถช่วยพี่น้องที่อยู่ในประชาคมของเราเองที่กำลังรับมือการทดสอบอยู่. เราสามารถแสดงความสนใจและช่วยเหลือพวกเขา. เราสามารถสร้างโอกาสเพื่อจะยินดีกับพวกเขาด้วยการเชิญพวกเขาให้มาร่วมการนมัสการประจำครอบครัวตอนเย็นด้วยกันกับเรา ร่วมประกาศด้วยกันกับพวกเขา และใช้เวลาในการพักผ่อนหย่อนใจด้วยกัน ในบางโอกาส.
เรามีเหตุผลมากมายที่จะยินดีด้วยกัน! ขอให้เราต้านทานน้ำใจของโลกที่ชอบปลีกตัวจากคนอื่นและแบ่งปันความยินดีกับพี่น้องของเราต่อ ๆ ไป. โดยทำอย่างนั้น เราจะไม่เพียงแต่ส่งเสริมความรักและเอกภาพในประชาคม แต่เราจะชื่นชมกับภราดรภาพของคริสเตียนอย่างเต็มที่. (ฟิลิป. 2:1, 2) ใช่แล้ว “จงชื่นชมยินดีเสมอที่ได้เป็นผู้รับใช้องค์พระผู้เป็นเจ้า” เพราะเปาโลกระตุ้นเราว่า “ข้าพเจ้าขอบอกอีกครั้งว่า จงชื่นชมยินดีเถิด!”—ฟิลิป. 4:4
[ที่มาของภาพหน้า 6]
Globe: Courtesy of Replogle Globes