การประชุมที่นับเป็นประวัติการณ์
การประชุมที่นับเป็นประวัติการณ์
“เมื่อการประชุมนี้จบลง คุณจะพูดว่า ‘นี่เป็นการประชุมประจำปีที่นับเป็นประวัติการณ์อย่างแท้จริง!’ ” สตีเฟน เลตต์ ซึ่งเป็นสมาชิกคณะกรรมการปกครองของพยานพระยะโฮวากล่าวอย่างนั้นเพื่อกระตุ้นผู้ฟังกลุ่มใหญ่ให้คาดหมายว่าจะได้รับอะไรจากการประชุมนี้. พวกเขามาประชุมกันในการประชุมประจำปีของสมาคมว็อชเทาเวอร์ ไบเบิล แอนด์ แทร็กต์ แห่งเพนซิลเวเนียครั้งที่ 126 ซึ่งจัดเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2010 ที่หอประชุมใหญ่ของพยานพระยะโฮวาที่เจอร์ซีย์ซิตี รัฐนิวเจอร์ซีย์ สหรัฐอเมริกา. มีเรื่องเด่นอะไรบ้างในการประชุมที่นับเป็นประวัติการณ์นี้?
คำบรรยายแรกซึ่งบรรยายโดยบร. เลตต์เป็นการพิจารณาอย่างกระตือรือร้นเกี่ยวกับราชรถฝ่ายสวรรค์ของพระยะโฮวาตามที่พรรณนาในหนังสือยะเอศเคล. ราชรถอันสง่างามที่ใหญ่โตมหึมานี้เป็นภาพพรรณนาองค์การของพระเจ้าซึ่งอยู่ในการควบคุมของพระยะโฮวาทั้งหมด. ส่วนขององค์การนี้ที่อยู่ในสวรรค์ ซึ่งประกอบด้วยเหล่าทูตสวรรค์ เคลื่อนที่เร็วดุจสายฟ้าแลบ ซึ่งบร. เลตต์กล่าวว่าเร็วเท่ากับความคิดของพระยะโฮวา. องค์การของพระยะโฮวาพระเจ้าส่วนที่อยู่บนแผ่นดินโลกก็เคลื่อนไปคล้าย ๆ กัน. บร. เลตต์ชี้ให้เห็นความก้าวหน้าที่น่าตื่นเต้นบางอย่างในองค์การของพระเจ้าส่วนที่เห็นได้ด้วยตาในช่วงไม่กี่ปีมานี้.
ตัวอย่างเช่น ตอนนี้มีการรวมสำนักงานสาขาจำนวนหนึ่งเข้าด้วยกันซึ่งทำให้หลายคนที่เคยรับใช้ในสำนักงานสาขาในประเทศเหล่านั้นเน้นงานรับใช้ในเขตประกาศมากขึ้นได้. บร. เลตต์กระตุ้นผู้ฟังให้อธิษฐานขอให้คณะกรรมการปกครอง ซึ่งเป็นตัวแทนชนชั้นทาส ไม่เพียงแต่จะซื่อสัตย์ต่อ ๆ ไป แต่มีความสุขุมรอบคอบด้วย.—มัดธาย 24:45-47
รายงานที่หนุนใจและการสัมภาษณ์ที่อบอุ่น
แท็บ ฮันส์เบอร์เกอร์ ซึ่งรับใช้ในคณะกรรมการสาขาประเทศเฮติ รายงานอย่างน่าประทับใจเกี่ยวกับผลที่ตามมาหลังจากเกิดแผ่นดินไหวในวันที่ 12 มกราคม 2010 ซึ่งทำให้ผู้คนในประเทศนี้เสียชีวิตประมาณ 300,000 คน. เขาเล่าว่านักเทศน์นักบวชบอกผู้คนว่าพระเจ้าทรงลงโทษคนที่เป็นเหยื่อของแผ่นดินไหวเพราะพวกเขาขาดความเชื่อ และทรงคุ้มครองคนดี. กระนั้น อาชญากรหลายพันคนเป็นอิสระเมื่อกำแพงคุกพังลงมาตอนที่เกิดแผ่นดินไหว. ชาวเฮติที่สุจริตใจจำนวนมากได้รับการปลอบโยนเมื่อได้เรียนรู้ความจริงว่าทำไมยุคสมัยของเราจึงมีความทุกข์มากมายเหลือเกิน. บร. ฮันส์เบอร์เกอร์อ้างถึงพี่น้องชาวเฮติที่ซื่อสัตย์คนหนึ่งที่สูญเสียภรรยาในภัยพิบัติครั้งนี้ซึ่งพูดว่า “จนถึงวันนี้ผมก็ยังร้องไห้อยู่. ผมไม่รู้ว่าผมจะโศกเศร้าไปอีกนานเท่าไร แต่ผมชื่นชมยินดีที่ได้รับความ
รักจากองค์การของพระยะโฮวา. ผมมีความหวังและผมตั้งใจแน่วแน่ว่าจะแบ่งปันความหวังนี้ให้คนอื่น ๆ.”มาร์ก แซนเดอร์สัน ซึ่งตอนนี้เป็นสมาชิกครอบครัวเบเธลบรุกลิน รายงานเกี่ยวกับประเทศฟิลิปปินส์. เนื่องจากเคยเป็นสมาชิกคณะกรรมการสาขาที่นั่น เขายิ้มกว้างขณะที่กล่าวถึงยอดใหม่ของผู้ประกาศราชอาณาจักรที่ต่อเนื่องถึง 32 ครั้งและเล่าว่ามีจำนวนรายศึกษาคัมภีร์ไบเบิลมากกว่าผู้ประกาศมาก. เขาเล่าเรื่องพี่น้องชายคนหนึ่งชื่อมิเกล ซึ่งหลานชายถูกฆาตกรรม. มิเกลพยายามอย่างมากจนทำให้ฆาตกรถูกฟ้องร้องและจำคุก. ต่อมาเมื่อมิเกลประกาศที่เรือนจำนั้น เขาพบกับคนที่ฆ่าหลานชายเขา. แม้ว่ามิเกลรู้สึกลำบากใจมาก แต่เขาก็พูดกับชายคนนี้อย่างอ่อนโยนและกรุณา. ในที่สุด เขาศึกษาพระคัมภีร์กับชายคนนี้ ซึ่งตอบรับเป็นอย่างดีและเปลี่ยนมาเป็นคนที่รักพระยะโฮวา. ตอนนี้เขารับบัพติสมาแล้ว. มิเกลเป็นเพื่อนสนิทของเขาและกำลังพยายามช่วยพี่น้องใหม่คนนี้ให้ได้รับการปล่อยตัวจากคุกเร็วกว่ากำหนด. *
รายการต่อไปเป็นการสัมภาษณ์ซึ่งนำโดยมาร์ก นูแมร์ ซึ่งเป็นผู้สอนในแผนกโรงเรียนตามระบอบของพระเจ้า. เขาสัมภาษณ์คู่สมรสสามคู่ อลิกซ์และซาราห์ ไรน์มูเอลเลอร์ เดวิดและคริสตา เชเฟอร์ และโรเบิร์ตกับเคทรา ซิรังโก. อลิกซ์ ไรน์มูเอลเลอร์ ซึ่งเป็นผู้ช่วยคณะกรรมการฝ่ายการพิมพ์เล่าว่าเขาเชื่อมั่นในความจริงได้อย่างไรขณะที่รับใช้เป็นไพโอเนียร์ในแคนาดาตอนที่เขาอายุแค่ 15 ปี และบ่อยครั้งต้องทำงานตามลำพัง. เมื่อถามว่าใครในเบเธลที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตเขามากที่สุด บร. ไรน์มูเอลเลอร์กล่าวถึงพี่น้องชายที่ซื่อสัตย์สามคน และเล่าว่าพวกท่านแต่ละคนช่วยเขาให้เติบโตฝ่ายวิญญาณอย่างไร. ซาราห์ ภรรยาของเขา เล่าถึงมิตรภาพที่เคยมีกับพี่น้องหญิงคนหนึ่งซึ่งอดทนหลายสิบปีกับการถูกคุมขังในประเทศจีนเพราะความเชื่อของเธอ. ซาราห์กล่าวว่าเธอเองได้เรียนรู้ที่จะไว้วางใจพระยะโฮวาด้วยการอธิษฐานถึงพระองค์เป็นส่วนตัว.
เดวิด เชเฟอร์ ผู้ช่วยคณะกรรมการฝ่ายการสอน ยกย่องแม่ของเขาที่มีความเชื่อเข้มแข็งและเล่าเรื่องพี่น้องชายบางคนที่ทำงานเป็นคนตัดไม้และช่วยเขาให้เป็นไพโอเนียร์สมทบตอนที่เป็นวัยรุ่น. คริสตา ภรรยาของเขา แสดงความรู้สึกขอบคุณที่เธอได้รับประโยชน์จากตัวอย่างที่ดีของสมาชิกครอบครัวเบเธลที่อายุมากกว่าซึ่งได้พิสูจน์ตัว “ซื่อสัตย์ในเรื่องเล็กน้อย” ดังที่พระเยซูทรงแนะนำ.—ลูกา 16:10
โรเบิร์ต ซิรังโก ผู้ช่วยคณะกรรมการฝ่ายการเขียน เล่าความหลังเกี่ยวกับปู่ย่าตายายทั้งสี่คนของเขา ซึ่งเป็นผู้อพยพชาวฮังการีและเป็นคริสเตียนผู้ถูกเจิม. ตอนที่เขา
ยังเด็ก เขารู้สึกประทับใจเมื่อได้เข้าร่วมการประชุมภาคขนาดใหญ่ในทศวรรษ 1950 และได้เรียนรู้ว่าองค์การของพระยะโฮวานั้นใหญ่กว่าประชาคมที่เขาสมทบอยู่มาก. เคทรา ภรรยาของเขา เล่าถึงวิธีที่เธอเรียนรู้ที่จะภักดีเมื่อรับใช้เป็นไพโอเนียร์ในประชาคมที่มีปัญหาเรื่องการออกหากและปัญหาอื่น ๆ. เธออดทนและในที่สุดได้รับมอบหมายให้รับใช้ในฐานะไพโอเนียร์พิเศษในประชาคมหนึ่งที่มีเอกภาพซึ่งทำให้เธอซาบซึ้งใจมาก.ถัดจากนั้น มานเฟรด โทนัค รายงานเกี่ยวกับประเทศเอธิโอเปีย. ดินแดนแห่งนี้มีประวัติยาวนานย้อนไปจนถึงสมัยคัมภีร์ไบเบิล และปัจจุบันมีผู้ประกาศข่าวดีมากกว่า 9,000 คน. พี่น้องส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในกรุงแอดดิสอาบาบา เมืองหลวง หรือในเขตปริมณฑล. เขตที่อยู่ห่างไกลจึงจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือมากขึ้น. เพื่อสนองความจำเป็นนี้ จึงมีการเชิญพยานฯ ชาวเอธิโอเปียที่อาศัยอยู่ในประเทศอื่น ๆ ให้มาเยี่ยมเพื่อประกาศในบางพื้นที่ที่อยู่ห่างไกล. พี่น้องหลายคนมาสนับสนุนพยานฯ ในท้องถิ่น และได้พบว่ามีหลายคนตอบรับข่าวดี.
ส่วนหนึ่งที่เป็นจุดเด่นของการประชุมนี้คือคำบรรยายชุดเกี่ยวกับพยานพระยะโฮวาในรัสเซียและการต่อสู้ทางกฎหมาย. ออลิส เบอร์กดาห์ สมาชิกคณะกรรมการสาขาในรัสเซียเล่าประวัติการข่มเหงพยานฯ ในรัสเซีย โดยเฉพาะที่กรุงมอสโก. ฟิลิป บรัมลีย์ จากแผนกกฎหมายของสำนักงานสาขาสหรัฐเล่าเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่น่าตื่นเต้นในช่วงไม่กี่เดือนก่อนหน้านั้น เมื่อศาลสิทธิมนุษยชนแห่งยุโรปพิจารณาข้อกล่าวหาเก้าข้อที่กล่าวหาพยานฯ. ศาลนี้ตัดสินอย่างเป็นเอกฉันท์ว่าข้อกล่าวหาทั้งเก้าข้อไม่มีข้อใดที่มีเหตุผลฟังขึ้น และในหลายคดีศาลนี้ถึงกับให้เหตุผลอย่างละเอียดเพื่อหักล้างข้อโต้แย้ง. แม้ว่ายังต้องรอดูว่าผลจะเป็นอย่างไร บร. บรัมลีย์หวังว่าการตัดสินของศาลนี้อาจมีผลกระทบต่อคดีต่าง ๆ ในประเทศอื่น ๆ.
หลังจากประกาศข่าวที่น่าตื่นเต้นนี้ บร. เลตต์ประกาศว่าศาลสิทธิมนุษยชนแห่งยุโรปรับพิจารณาคดีเกี่ยวกับภาษีที่มีปัญหามายาวนานระหว่างรัฐบาลฝรั่งเศสกับพยานพระยะโฮวา. ศาลนี้ซึ่งได้รับความนับถืออย่างมากยอมรับว่ามีการยื่นฟ้องในคดีแบบนี้เพียงไม่กี่คดี. จนถึงตอนนี้ ศาลสิทธิมนุษยชนแห่งยุโรปได้พิจารณาคดีทั้งหมด 39 คดีที่เกี่ยวข้องกับพยานพระยะโฮวา และได้ตัดสินให้เราชนะ 37 คดี. บร. เลตต์สนับสนุนให้ประชาชนทั้งหมดของพระเจ้าช่วยกันอธิษฐานขอพระยะโฮวาพระเจ้าเกี่ยวกับเรื่องนี้.
รายงานสุดท้ายมาจากบร. ริชาร์ด มอร์ลัน ผู้สอนโรงเรียนสำหรับผู้ปกครองประชาคม. เขาพูดถึงโรงเรียนนี้อย่างกระตือรือร้น และบอกว่ามีการตอบรับด้วยความขอบคุณจากผู้ปกครองที่เข้าร่วมการอบรม.
คำบรรยายอื่น ๆ โดยสมาชิกคณะกรรมการปกครอง
กาย เพียร์ซ จากคณะกรรมการปกครองบรรยายด้วยความรู้สึกจากใจเน้นเกี่ยวกับข้อพระคัมภีร์ประจำปี 2011 ‘จงหาที่ลี้ภัยโดยวางใจในพระนามพระยะโฮวา.’ (ซฟัน. 3:12, ล.ม.) ท่านกล่าวว่า แม้ว่าในตอนนี้เป็นเวลาที่น่ายินดีในหลาย ๆ ทางสำหรับประชาชนของพระยะโฮวา แต่ก็เป็นเวลาที่ต้องเอาจริงเอาจังด้วย. วันใหญ่ของพระยะโฮวามาใกล้แล้ว กระนั้น ผู้คนก็ยังคงหาที่ลี้ภัยจากศาสนาเท็จ สถาบันทางการเมือง ความมั่งคั่งร่ำรวย หลักปรัชญาที่สนับสนุนให้หนีความเป็นจริง และอื่น ๆ. เพื่อจะหาที่ลี้ภัยแท้ เราจำเป็นต้องร้องออกพระนามพระยะโฮวา ซึ่งเกี่ยวข้องกับการรู้จัก นับถืออย่างลึกซึ้ง และไว้วางใจในพระองค์ผู้ทรงเป็นเจ้าของพระนามนั้น แสดงความรักต่อพระองค์ด้วยทุกสิ่งที่เรามี.
ถัดมา เดวิด สเปลน จากคณะกรรมการปกครอง พิจารณาอย่างจริงจังและกระตุ้นความคิดในคำบรรยายเรื่อง “คุณได้เข้าสู่การหยุดพักของพระเจ้าแล้วไหม?” ท่านกล่าวว่าการหยุดพักของพระเจ้าไม่ได้หมายความว่าพระองค์ไม่ทำอะไร เนื่องจากพระยะโฮวาและพระบุตร “ทำงานอยู่” ตลอดช่วงวันแห่งการหยุดพักโดยนัยนั้นเพื่อทำให้พระประสงค์ของพระเจ้าสำหรับสิ่งทรงสร้างทั้งหลายทางแผ่นดินโลกสำเร็จเสร็จสิ้น. (โย. 5:17) ถ้าอย่างนั้น เราจะเข้าสู่การหยุดพักของพระเจ้าได้โดยวิธีใด? การหยุดทำบาปและเลิกตั้งตัวเองเป็นคนชอบธรรมเป็นแค่ส่วนหนึ่งของคำตอบ. เราจำเป็นต้องแสดงความเชื่อและดำเนินชีวิตโดยคำนึงถึงพระประสงค์ของพระเจ้า ทำอะไรก็ตามที่เราทำได้เพื่อส่งเสริมพระประสงค์นั้น. บางครั้ง นั่นอาจเป็นเรื่องยากเป็นพิเศษ แต่เราต้องยอมรับคำแนะนำและร่วมมือกับการชี้นำที่มาจากองค์การของพระยะโฮวา. บร. สเปลนวิงวอนผู้ฟังให้ทำทุกสิ่งที่ทำได้เพื่อเข้าสู่การหยุดพักของพระเจ้า.
คำบรรยายสุดท้าย ซึ่งบรรยายโดยแอนโทนี มอร์ริส จากคณะกรรมการปกครอง มีชื่อว่า “เรากำลังคอยท่าอะไร?” บร. มอร์ริสบรรยายอย่างกระตือรือร้นและอบอุ่นเหมือนพ่อพูดกับลูก เตือนผู้ฟังให้นึกถึงเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นตามคำพยากรณ์ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ผู้ซื่อสัตย์ทุกคนคอยท่าด้วยใจจดใจจ่อ. เหตุการณ์ดังกล่าวรวมถึงการประกาศว่า “สงบสุขและปลอดภัยแล้ว!” และการทำลายล้างศาสนาเท็จ. (1 เทส. 5:2, 3; วิ. 17:15-17) บร. มอร์ริสเตือนให้ระวังอย่าพูดว่า “อาร์มาเก็ดดอนจะมาแล้วแน่ ๆ” เมื่อเห็นข่าวที่ไม่ตรงกับคำพยากรณ์เหล่านั้น. ท่านแนะนำให้มีทัศนะที่ยินดี อดทน และรอคอย ดังที่มีคา 7:7 กล่าวไว้. แต่ในขณะเดียวกัน ท่านกระตุ้นทุกคนให้ “ผนึกกำลัง” กับคณะกรรมการปกครอง เข้ามารวมตัวกันอย่างใกล้ชิดเหมือนกับทหารที่เข้าสู่การรบที่ดุเดือด. ท่านกล่าวว่า “ท่านทั้งหลายที่คอยท่าพระยะโฮวา, จงตั้งข้อให้แข็ง.”—เพลง. 31:24
ในตอนท้าย มีคำประกาศบางอย่างที่สำคัญและน่าตื่นเต้น. เจฟฟรีย์ แจ็กสัน จากคณะกรรมการปกครอง ประกาศแผนการที่จะมีการทดลองออกหอสังเกตการณ์ ฉบับศึกษาแบบง่าย สำหรับคนที่มีความเข้าใจภาษาอังกฤษจำกัด. จากนั้น สตีเฟน เลตต์ ประกาศว่าคณะกรรมการปกครองจะจัดให้มีการเยี่ยมบำรุงเลี้ยงผู้ดูแลภาคและภรรยาในสหรัฐ. ถัดจากนั้นเขาก็ประกาศว่าโรงเรียนฝึกอบรมเพื่องานรับใช้จะเปลี่ยนชื่อเป็นโรงเรียนคัมภีร์ไบเบิลสำหรับพี่น้องชายโสด. ในไม่ช้า จะมีโรงเรียนคัมภีร์ไบเบิลสำหรับคู่สมรสคริสเตียนด้วย. โรงเรียนนี้จะช่วยให้คู่สมรสได้รับการฝึกอบรมเพิ่มเติมเพื่อพวกเขาจะเป็นประโยชน์ต่อองค์การของพระยะโฮวามากขึ้น. บร. เลตต์ยังประกาศด้วยว่าโรงเรียนสำหรับผู้ดูแลเดินทางและภรรยา และโรงเรียนสำหรับสมาชิกคณะกรรมการสาขาและภรรยา จะจัดเพิ่มเป็นสองชั้นเรียนในแต่ปีที่แพตเทอร์สัน และจะจัดให้คนที่เคยเข้าร่วมมาแล้วได้เข้าร่วมเป็นครั้งที่สอง.
การประชุมครั้งนี้จบลงอย่างที่ทุกคนซึ้งใจเมื่อ จอห์น อี. บารร์ วัย 97 ปี ซึ่งเป็นสมาชิกคณะกรรมการปกครองมานาน อธิษฐานอย่างถ่อมใจและจริงใจ. * ทุกคนออกจากที่ประชุมด้วยความประทับใจว่านี่เป็นวันที่นับเป็นประวัติการณ์อย่างแท้จริง.
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 7 โปรดดูหนังสือประจำปีของพยานพระยะโฮวา 2011 หน้า 62-63 (ภาษาอังกฤษ).
^ วรรค 20 บร. บารร์ จบชีวิตทางแผ่นดินโลกเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2010.
[คำโปรยหน้า 19]
การสัมภาษณ์ที่ทำให้ผู้ฟังทั้งหมดชื่นชมยินดี
[คำโปรยหน้า 20]
พระยะโฮวาทรงอวยพรงานประกาศในเอธิโอเปีย