เยาวชนควรรับบัพติสมาไหม?
เยาวชนควรรับบัพติสมาไหม?
“ผมมีความสุขมากที่ตอนนี้ลูกสาวผมเป็นผู้รับใช้พระยะโฮวาแล้ว และผมรู้ว่าเธอก็มีความสุขด้วย” คาร์ลอส * ซึ่งเป็นบิดาคริสเตียนคนหนึ่งในประเทศฟิลิปปินส์ กล่าวไว้อย่างนั้น. บิดาคนหนึ่งจากประเทศกรีซเขียนว่า “ผมกับภรรยาดีใจที่ลูกสามคนของเรารับบัพติสมาเป็นพยานพระยะโฮวาในช่วงที่พวกเขาเป็นวัยรุ่น. พวกเขาก้าวหน้าฝ่ายวิญญาณเป็นอย่างดีและมีความสุขในการรับใช้พระยะโฮวา.”
บิดามารดาคริสเตียนมีเหตุผลที่จะยินดีอย่างยิ่งเมื่อลูกรับบัพติสมา แต่บางครั้งความยินดีนั้นก็มาพร้อม ๆ กับความรู้สึกกังวล. มารดาคนหนึ่งกล่าวว่า “ดิฉันมีความสุขมากแต่ก็กังวลใจมาก.” ทำไมจึงมีความรู้สึกดีใจและกังวลใจระคนกันอย่างนี้? “ดิฉันเข้าใจดีว่าตอนนี้ลูกชายต้องรับผิดชอบการกระทำของเขาต่อพระยะโฮวาอย่างเต็มตัว.”
การรับใช้พระยะโฮวาในฐานะพยานที่รับบัพติสมาแล้วเป็นเป้าหมายที่เยาวชนทุกคนควรมี. กระนั้น บิดามารดาที่เลื่อมใสพระเจ้าอาจสงสัยว่า ‘ฉันรู้ว่าลูกได้ก้าวหน้าเป็นอย่างดี แต่เขาเข้มแข็งพอที่จะต้านทานแรงกดดันให้ทำผิดศีลธรรมและรักษาความสะอาดเฉพาะพระพักตร์พระยะโฮวาไหม?’ บิดามารดาคนอื่น ๆ อาจถามตัวเองว่า ‘ถ้าถูกล่อใจให้มุ่งแสวงหาสิ่งฝ่ายวัตถุ ลูกของฉันจะยังคงรับใช้พระเจ้าด้วยความยินดีและกระตือรือร้นไหม?’ ด้วยเหตุนั้น คำแนะนำตามหลักพระคัมภีร์อะไรที่จะช่วยบิดามารดาตัดสินได้ว่าลูกของเขาพร้อมจะรับบัพติสมาแล้วหรือไม่?
การเป็นสาวก ข้อเรียกร้องที่สำคัญที่สุด
แทนที่จะระบุว่าอายุเท่าไรจึงจะรับบัพติสมาได้ พระคำของพระเจ้าให้รายละเอียดเกี่ยวกับสภาพฝ่ายวิญญาณของคนที่มีคุณสมบัติที่จะทำตามขั้นตอนนี้. พระเยซูทรงสั่งเหล่าสาวกว่า “จงไปสอนคนจากทุกชาติให้เป็นสาวก ให้พวกเขารับบัพติสมา.” (มัด. 28:19) ดังนั้น การรับบัพติสมาเป็นขั้นตอนสำหรับคนที่เป็นสาวกของพระคริสต์อยู่แล้ว.
สาวกคืออะไร? หนังสือการหยั่งเห็นเข้าใจพระคัมภีร์ (ภาษาอังกฤษ) อธิบายว่า “คำนี้ส่วนใหญ่แล้วใช้กับคนที่ไม่เพียงแค่เชื่อคำสอนของพระคริสต์ แต่ทำตามคำสอนของพระองค์อย่างใกล้ชิดด้วย.” คนที่อายุค่อนข้างน้อยจะเป็นสาวกแท้ของพระคริสต์ได้ไหม? พี่น้องหญิงคนหนึ่ง
ที่รับใช้เป็นมิชชันนารีในลาตินอเมริกามากว่า 40 ปีเขียนเกี่ยวกับตัวเธอและพี่สาวน้องสาวของเธอว่า “เราโตพอที่จะรู้ว่าเราต้องการรับใช้พระยะโฮวาและมีชีวิตอยู่ในอุทยาน. การอุทิศตัวช่วยให้เราเข้มแข็งเมื่อต้องรับมือการล่อใจที่คนหนุ่มสาวมักเจอ. เราไม่เสียใจที่ได้อุทิศตัวแด่พระเจ้าตั้งแต่อายุยังน้อย.”คุณจะรู้ได้อย่างไรว่าลูกเป็นสาวกของพระคริสต์แล้วหรือยัง? คัมภีร์ไบเบิลกล่าวว่า “ถึงเป็นเด็กอยู่ก็ยังสังเกตความประพฤติของเขาว่าจะเป็นคนดีหรือชั่ว.” (สุภา. 20:11) ขอให้พิจารณาว่ามีการประพฤติแบบใดบ้างที่แสดงให้เห็นว่าเยาวชนกำลังทำให้ ‘ความก้าวหน้าของเขาปรากฏ’ ในฐานะสาวกคนหนึ่ง.—1 ติโม. 4:15
สิ่งที่บ่งบอกว่าลูกเป็นสาวกของพระคริสต์
ลูกเชื่อฟังคุณไหม? (โกโล. 3:20) เขาทำงานบ้านที่คุณมอบหมายให้ทำไหม? คัมภีร์ไบเบิลกล่าวถึงพระเยซูเมื่ออายุประมาณ 12 พรรษาว่า “พระองค์ . . . อยู่ในการปกครองของ [บิดามารดา] ต่อไป.” (ลูกา 2:51) แน่นอน ไม่มีเด็กคนไหนในทุกวันนี้ที่จะเชื่อฟังบิดามารดาของเขาได้อย่างครบถ้วน. แต่คริสเตียนแท้ต้อง “ดำเนินตามรอยพระบาทของ [พระเยซู] อย่างใกล้ชิด.” ดังนั้น เยาวชนที่ต้องการจะรับบัพติสมาควรเป็นที่รู้จักกันว่าเขาเป็นลูกที่เชื่อฟังบิดามารดา.—1 เป. 2:21
ขอพิจารณาคำถามต่อไปนี้: ลูกของคุณ ‘แสวงหาราชอาณาจักรก่อนเสมอไป’ ในการประกาศไหม? (มัด. 6:33) เขาพร้อมจะบอกข่าวดีแก่คนอื่น ๆ ไหม หรือว่าคุณต้องกระตุ้นให้เขาออกไปประกาศตามบ้าน? เขาใส่ใจหน้าที่รับผิดชอบของตนในฐานะผู้ประกาศที่ยังไม่ได้รับบัพติสมาไหม? เขาอยากกลับเยี่ยมเยียนผู้สนใจที่เขาพบในเขตประกาศไหม? เขาบอกเพื่อนนักเรียนและครูให้รู้ว่าเขาเป็นพยานพระยะโฮวาไหม?
การเข้าร่วมการประชุมประจำประชาคมเป็นเรื่องสำคัญสำหรับเขาไหม? (เพลง. 122:1) เขาชอบออกความเห็นในการศึกษาหอสังเกตการณ์ และการศึกษาพระคัมภีร์ประจำประชาคมไหม? เขามีส่วนร่วมในโรงเรียนการรับใช้ตามระบอบของพระเจ้าอย่างกระตือรือร้นไหม?—ฮีบรู 10:24, 25
ลูกของคุณพยายามรักษาความสะอาดด้านศีลธรรมโดยหลีกเลี่ยงการคบเพื่อนที่ไม่ดีในโรงเรียนและในที่อื่น ๆ ไหม? (สุภา. 13:20) ดนตรี ภาพยนตร์ รายการโทรทัศน์ วิดีโอเกม และเว็บไซต์อินเทอร์เน็ตแบบไหนที่เขาชอบ? คำพูดและการกระทำของเขาแสดงให้เห็นว่าเขาต้องการทำตามมาตรฐานในคัมภีร์ไบเบิลไหม?
ลูกของคุณมีความรู้ในพระคัมภีร์ดีขนาดไหน? ในการนมัสการประจำครอบครัวตอนเย็น เขาอธิบายสิ่งที่ได้เรียนรู้เป็นคำพูดของตนเองได้ไหม? เขาอธิบายความจริงพื้นฐานในคัมภีร์ไบเบิลได้ไหม? (สุภา. 2:6-9) เขาสนใจอ่านคัมภีร์ไบเบิลและศึกษาหนังสือที่ทาสสัตย์ซื่อและสุขุมจัดเตรียมให้ไหม? (มัด. 24:45) เขาสงสัยและถามเกี่ยวกับคำสอนในคัมภีร์ไบเบิลและข้อคัมภีร์บางข้อไหม?
คำถามเหล่านี้อาจช่วยคุณได้ในการวัดความก้าวหน้าฝ่ายวิญญาณของลูก. หลังจากพิจารณาคำถามเหล่านี้แล้ว คุณอาจลงความเห็นได้ว่าเขาควรปรับปรุงในด้านใดก่อนที่จะรับบัพติสมา. แต่ถ้าแนวทางชีวิตของเขาแสดงว่าเขาเป็นสาวกของพระคริสต์และเขาอุทิศชีวิตแด่พระเจ้าแล้วจริง ๆ คุณก็อาจมั่นใจได้ว่าเขาพร้อมจะรับบัพติสมาแล้ว.
เยาวชนสรรเสริญพระยะโฮวาได้
มีผู้รับใช้ของพระเจ้าจำนวนมากที่แสดงความซื่อสัตย์และภักดีขณะเป็นวัยรุ่นหรือเด็กกว่านั้น. ขอให้นึกถึงโยเซฟ ซามูเอล โยซียาห์ และพระเยซู. (เย. 37:2; 39:1-3; 1 ซามู. 1:24-28; 2:18-20; 2 โคร. 34:1-3; ลูกา 2:42-49) และบุตรสาวสี่คนของฟิลิป ซึ่งเป็นผู้พยากรณ์ คงต้องได้รับการอบรมอย่างดีตั้งแต่อายุยังน้อย.—กิจ. 21:8, 9
พยานฯ คนหนึ่งในประเทศกรีซกล่าวว่า “ผมรับบัพติสมาตอนอายุ 12 ปี. ผมไม่เสียใจเลยที่ตัดสินใจอย่างนั้น. ตั้งแต่นั้นจนถึงตอนนี้เวลาก็ผ่านไป 24 ปีแล้ว ผมทำงานรับใช้เต็มเวลามาทั้งหมด 23 ปี. ความรักของผมที่มีต่อพระยะโฮวาช่วยผมเสมอให้รับมือปัญหาที่คนหนุ่มสาวมักเจอ. ตอนอายุ 12 ปี ผมไม่มีความรู้ด้านพระคัมภีร์เท่ากับตอนนี้. แต่ผมรู้ว่าผมรักพระยะโฮวาและต้องการรับใช้พระองค์ตลอดไป. ผมดีใจที่พระองค์ทรงช่วยผมให้ยังคงรับใช้พระองค์ได้ต่อ ๆ ไป.”
ไม่ว่าจะอายุน้อยหรือมาก ใครก็ตามที่แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าเขาเป็นสาวกแท้ของพระคริสต์ควรรับบัพติสมา. อัครสาวกเปาโลเขียนว่า “การแสดงความเชื่อจากหัวใจจะทำให้คนเรามีฐานะชอบธรรม แต่การประกาศความเชื่อด้วยปากอย่างเปิดเผยนำไปสู่ความรอด.” (โรม 10:10) เมื่อสาวกของพระคริสต์ที่อายุยังน้อยรับบัพติสมา นั่นเป็นก้าวสำคัญในชีวิตของเขาและเป็นเหตุการณ์สำคัญของทั้งตัวเขาเองและบิดามารดา. ขออย่าให้สิ่งใดมาพรากความยินดีที่คุณและลูกจะได้รับ.
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 2 บางชื่อในบทความนี้เป็นชื่อสมมุติ.
[กรอบหน้า 5]
ทัศนะที่ถูกต้องเรื่องการรับบัพติสมา
บิดามารดาบางคนถือว่าการรับบัพติสมาของลูกเป็นขั้นตอนที่เป็นประโยชน์แต่ก็มีความเสี่ยงด้วย คล้ายกันกับการได้รับใบอนุญาตขับขี่. แต่การรับบัพติสมาและการรับใช้อันศักดิ์สิทธิ์จะทำให้คนเราไม่ประสบความสำเร็จในอนาคตไหม? คัมภีร์ไบเบิลตอบว่าไม่เป็นเช่นนั้นเลย. สุภาษิต 10:22 กล่าวว่า “พระพรของพระยะโฮวากระทำให้เกิดความมั่งคั่ง; และพระองค์จะไม่เพิ่มความทุกข์ยากให้เลย.” และเปาโลเขียนถึงชายหนุ่มติโมเธียวว่า “แน่ละ ความเลื่อมใสพระเจ้าพร้อมกับความอิ่มใจพอใจในสิ่งที่มีอยู่ทำให้ได้ประโยชน์มาก.”—1ติโม. 6:6
จริงอยู่ การรับใช้พระยะโฮวาไม่ใช่เรื่องง่าย. ยิระมะยาห์เผชิญความลำบากหลายอย่างในการทำหน้าที่เป็นผู้พยากรณ์ของพระเจ้า. ถึงกระนั้น ท่านเขียนเกี่ยวกับการนมัสการพระเจ้าองค์เที่ยงแท้ว่า “คำโอวาทของพระองค์เป็นที่ให้เกิดความอภิรมย์ยินดีในใจข้าพเจ้า, เพราะข้าพเจ้าเรียกชื่อด้วยนามของพระองค์, โอ้พระยะโฮวาพระเจ้าของพลโยธาทั้งหลาย.” (ยิระ. 15:16) ยิระมะยาห์รู้ว่าการรับใช้พระเจ้าทำให้ท่านมีความยินดี. โลกของซาตานทำให้เกิดความทุกข์ยาก. บิดามารดาจำเป็นต้องช่วยลูกให้เห็นความแตกต่างดังกล่าว.—ยิระ. 1:19
[กรอบ/ภาพหน้า 6]
ลูกของฉันควรผัดเลื่อนการรับบัพติสมาไหม?
บางครั้ง แม้แต่เมื่อลูกมีคุณสมบัติที่จะรับบัพติสมาได้ บิดามารดาอาจตัดสินใจว่าควรเลื่อนการรับบัพติสมาออกไปก่อน. พวกเขาอาจมีเหตุผลอะไร?
ฉันกลัวว่าถ้าลูกรับบัพติสมา ภายหลังเขาอาจทำผิดร้ายแรงและถูกตัดสัมพันธ์. มีเหตุผลไหมที่จะคิดว่าคนหนุ่มสาวที่ผัดเลื่อนการรับบัพติสมาออกไปจะไม่ต้องให้การต่อพระเจ้าในเรื่องความประพฤติของตน? โซโลมอนให้คำแนะนำต่อไปนี้แก่คนหนุ่มสาว: “เจ้าจงรู้ไว้ว่า, เนื่องด้วย [การกระทำของเจ้า] พระเจ้าจะทรงนำเจ้าเข้ามาถึงการพิพากษา.” (ผู้ป. 11:9) และโดยไม่มีข้อยกเว้นเรื่องอายุ เปาโลให้ข้อเตือนใจดังนี้: “เราแต่ละคนจะต้องให้การเรื่องของตัวเองต่อพระเจ้า.”—โรม 14:12
ผู้นมัสการทั้งที่รับบัพติสมาแล้วและยังไม่ได้รับบัพติสมาต้องให้การต่อพระเจ้า. อย่าลืมว่า พระยะโฮวาทรงปกป้องผู้รับใช้ของพระองค์โดย ‘ไม่ทรงให้พวกเขาถูกล่อใจเกินกว่าจะทนได้.’ (1 โค. 10:13) ตราบใดที่พวกเขา “มีสติอยู่เสมอ” และต่อสู้การล่อใจ พวกเขาก็จะมั่นใจได้ว่าพระเจ้าจะช่วยพวกเขา. (1 เป. 5:6-9) มารดาคริสเตียนคนหนึ่งเขียนว่า “ลูกที่รับบัพติสมาแล้วมีเหตุผลมากกว่าที่จะอยู่ห่างจากสิ่งชั่วของโลก. ลูกชายดิฉันซึ่งรับบัพติสมาตอนอายุ 15 ปีรู้สึกว่าการรับบัพติสมาเป็นสิ่งที่ช่วยปกป้องเขาไว้. เขาบอกว่า ‘เราไม่คิดจะทำอะไรที่ขัดกับกฎหมายของพระยะโฮวา.’ การรับบัพติสมาเป็นแรงกระตุ้นที่มีพลังให้ดำเนินในทางชอบธรรม.”
ถ้าคุณอบรมลูกให้เชื่อฟังพระยะโฮวาด้วยการพร่ำสอนและการวางตัวอย่าง คุณก็จะมั่นใจได้ว่าพวกเขาจะเชื่อฟังพระยะโฮวาต่อ ๆ ไปหลังจากที่รับบัพติสมาแล้ว. สุภาษิต 20:7 กล่าวว่า “คนชอบธรรมที่ประพฤติตามความสุจริตของตน, ลูกหลานของเขาจะอยู่เป็นสุข.”
ฉันอยากเห็นลูกบรรลุเป้าหมายบางอย่างก่อน. เยาวชนควรเรียนรู้ที่จะทำงานเพื่อภายหลังพวกเขาจะเลี้ยงตัวเองได้. แต่นับว่าเป็นอันตรายที่จะสนับสนุนพวกเขาให้ยึดเอารูปแบบชีวิตที่เน้นเรื่องการศึกษาและความมั่นคงทางการเงินแทนที่จะเน้นการนมัสการแท้. พระเยซูตรัสเกี่ยวกับ “เมล็ดพืช” หรือพระคำแห่งราชอาณาจักรที่ไม่เติบโตว่า “ส่วนเมล็ดพืชที่หว่านลงกลางต้นไม้มีหนามคือพระคำที่คนได้ยิน แต่ความวิตกกังวลกับชีวิตในยุคนี้และอำนาจล่อลวงของทรัพย์สมบัติก็มาบดบังพระคำนั้น เขาจึงไม่เกิดผล.” (มัด. 13:22) การวางแผนชีวิตที่จัดให้เป้าหมายฝ่ายโลกมาก่อนสิ่งฝ่ายวิญญาณอาจดับความปรารถนาของเยาวชนที่จะรับใช้พระเจ้า.
ผู้ปกครองที่มีประสบการณ์คนหนึ่งกล่าวถึงเยาวชนที่มีคุณสมบัติที่จะรับบัพติสมาได้ แต่บิดามารดาไม่เห็นด้วย ว่า “การกีดกันเยาวชนไว้ไม่ให้รับบัพติสมาอาจทำให้ความก้าวหน้าทางฝ่ายวิญญาณของเขาหยุดชะงักและทำให้เขาท้อใจ.” และผู้ดูแลเดินทางคนหนึ่งเขียนว่า “เยาวชนอาจเริ่มรู้สึกไม่มั่นคงหรือมีปมด้อยทางฝ่ายวิญญาณ. เขาอาจหันไปหาโลกเพื่อจะรู้สึกว่าเขาประสบความสำเร็จ.”
[ภาพ]
มหาวิทยาลัยควรมาก่อนสิ่งอื่นไหม?
[ภาพหน้า 3]
เยาวชนสามารถแสดงให้เห็นว่าเขาเป็นสาวกของพระคริสต์
[ภาพหน้า 3]
การเตรียมส่วนการประชุมและการมีส่วนร่วมในการประชุม
[ภาพหน้า 4]
การเชื่อฟังบิดามารดา
[ภาพหน้า 4]
การมีส่วนร่วมในการประกาศ
[ภาพหน้า 4]
การอธิษฐานส่วนตัว