วิธีที่พระเยซูยกย่องความชอบธรรมของพระเจ้า
วิธีที่พระเยซูยกย่องความชอบธรรมของพระเจ้า
“พระเจ้าทรงจัดให้ [พระคริสต์] เป็นเครื่องบูชาระงับพระพิโรธโดยความเชื่อในพระโลหิตของพระองค์ ทั้งนี้ก็เพื่อแสดงความชอบธรรมของพระเจ้าเอง.”—โรม 3:25
1, 2. (ก) คัมภีร์ไบเบิลสอนเราอย่างไรเกี่ยวกับสภาพของมนุษย์? (ข) บทความนี้จะพิจารณาคำถามอะไรบ้าง?
บันทึกในพระคัมภีร์เกี่ยวกับการขืนอำนาจในสวนเอเดนเป็นเรื่องที่รู้จักกันดี. เราทุกคนรู้สึกถึงผลกระทบจากบาปของอาดามดังที่มีคำอธิบายไว้ว่า “บาปเข้ามาในโลกเพราะคนคนเดียวและความตายเกิดขึ้นเพราะบาปนั้น และความตายจึงลามไปถึงทุกคนเพราะทุกคนเป็นคนบาปอยู่แล้ว.” (โรม 5:12) ไม่ว่าเราจะพยายามขนาดไหนเพื่อทำสิ่งที่ถูกต้อง เราก็ยังทำผิดซึ่งทำให้เราต้องได้รับการให้อภัยจากพระเจ้า. แม้แต่อัครสาวกเปาโลก็ยังคร่ำครวญว่า “การดีที่ข้าพเจ้าอยากทำ ข้าพเจ้าไม่ทำ แต่การชั่วที่ข้าพเจ้าไม่อยากทำ ข้าพเจ้าก็ทำอยู่เสมอ. ข้าพเจ้าเป็นคนน่าสมเพชเสียจริง!”—โรม 7:19, 24
2 ลักษณะที่ผิดบาปในตัวเราทำให้เกิดคำถามที่สำคัญต่อไปนี้: เป็นไปได้อย่างไรที่พระเยซูชาวนาซาเรทจะเกิดมาโดยไม่ได้รับบาปที่ตกทอดมา และเหตุใดพระองค์จึงทรงรับบัพติสมา? แนวทางชีวิตของพระเยซูยกย่องความชอบธรรมของพระยะโฮวาอย่างไร? ที่สำคัญที่สุด การสิ้นพระชนม์ของพระคริสต์ทำให้อะไรสำเร็จ?
ความชอบธรรมของพระเจ้าถูกท้าทาย
3. ซาตานล่อลวงฮาวาอย่างไร?
3 อาดามและฮาวาพ่อแม่คู่แรกของเราปฏิเสธอำนาจปกครองสูงสุดของพระเจ้า และยอมรับอำนาจปกครองของ “งูตัวแรกเดิมซึ่งถูกเรียกว่าพญามารและซาตาน” ซึ่งเป็นการกระทำที่โง่เขลา. (วิ. 12:9) ขอให้พิจารณาว่าเรื่องนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร? ซาตานตั้งข้อสงสัยว่าพระยะโฮวาทรงเป็นผู้ปกครองที่ชอบธรรมหรือไม่. มันทำอย่างนั้นโดยถามฮาวาว่า “จริงหรือที่พระเจ้าตรัสห้ามว่า, ‘เจ้าอย่ากินผลไม้ทุกอย่างในสวนนี้’?” ฮาวาทวนพระบัญชาที่ชัดเจนของพระเจ้าว่า มีเพียงต้นเดียวเท่านั้นที่ห้ามแตะต้อง มิฉะนั้นพวกเขาจะตาย. แล้วซาตานก็กล่าวหาว่าพระเจ้าโกหก. พญามารพูดว่า “เจ้าจะไม่ตายจริงดอก.” มันล่อลวงฮาวาต่อไปให้เชื่อว่าพระเจ้าทรงกีดกันสิ่งดีไว้จากเธอ และการกินผลไม้นั้นจะทำให้เธอเป็นเหมือนพระเจ้า คือมีอิสรภาพด้านศีลธรรม.—เย. 3:1-5
4. มนุษย์ตกเข้าสู่อำนาจปกครองของซาตานผู้เป็นปฏิปักษ์ของพระเจ้าได้อย่างไร?
4 ที่แท้แล้วซาตานพูดเป็นนัย ๆ ว่า มนุษย์จะมีความสุขมากกว่าถ้าดำเนินในแนวทางที่ไม่ต้องพึ่งพระเจ้า. แทนที่จะสนับสนุนการปกครองอันชอบธรรมของพระเจ้า อาดามฟังภรรยาของตนและร่วมกับเธอในการกินผลไม้ต้องห้าม. ดังนั้น อาดามละทิ้งฐานะอันสมบูรณ์ที่มีกับพระยะโฮวาและนำเราเข้ามาอยู่ใต้แอกอันทารุณของบาปและความตาย. ขณะเดียวกัน มนุษย์ก็ตกอยู่ใต้อำนาจปกครองของซาตาน “พระที่ชั่วช้าของโลกนี้” ซึ่งเป็นปฏิปักษ์ของพระเจ้า.—2 โค. 4:4, ฉบับประชานิยม; โรม 7:14
5. (ก) พระยะโฮวาทรงพิสูจน์อย่างไรว่าคำตรัสของพระองค์เป็นความจริง? (ข) พระเจ้าประทานความหวังอะไรแก่ลูกหลานของอาดามกับฮาวา?
5 เป็นเช่นนั้นจริงตามที่พระองค์ตรัสไว้ พระยะโฮวาทรงพิพากษาให้อาดามและฮาวารับโทษถึงแก่ความตาย. (เย. 3:16-19) แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าพระประสงค์ของพระเจ้าล้มเหลว. ตรงกันข้ามเลย! เมื่อพระยะโฮวาทรงพิพากษาอาดามและฮาวา พระองค์ทรงประทานความหวังอันสดใสแก่ลูกหลานที่จะเกิดมาในอนาคต. พระองค์ทรงทำอย่างนั้นโดยการประกาศพระประสงค์ของพระองค์ที่จะให้มี “ผู้สืบเชื้อสาย” ซึ่งจะถูกซาตานทำให้ส้นเท้าฟกช้ำ. อย่าง ไรก็ตาม ผู้สืบเชื้อสายตามคำสัญญาดังกล่าวจะหายจากบาดแผลที่ส้นเท้าและจะ “บดขยี้หัว [ซาตาน].” (เย. 3:15, ล.ม.) คัมภีร์ไบเบิลอธิบายเรื่องนี้อย่างละเอียดโดยกล่าวเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์ดังต่อไปนี้: “ที่พระบุตรของพระเจ้าเสด็จมาก็เพื่อทำลายการงานของ [พญามาร].” (1 โย. 3:8) แต่ความประพฤติและการสิ้นพระชนม์ของพระเยซูเป็นการยกย่องความชอบธรรมของพระเจ้าอย่างไร?
การรับบัพติสมาของพระเยซูมีความหมายเช่นไร?
6. เรารู้ได้อย่างไรว่าพระเยซูไม่ได้รับบาปจากอาดาม?
6 เมื่อพระเยซูทรงเป็นผู้ใหญ่แล้ว พระองค์จะต้องมีค่าเท่ากันพอดีกับอาดามตอนที่เป็นมนุษย์สมบูรณ์. (โรม 5:14; 1 โค. 15:45) นี่หมายความว่าพระเยซูต้องประสูติเป็นมนุษย์สมบูรณ์. เป็นเช่นนั้นได้อย่างไร? ทูตสวรรค์กาบรีเอลอธิบายกับมาเรียมารดาของพระเยซูอย่างชัดเจนว่า “พระวิญญาณบริสุทธิ์จะมาบนเจ้า และฤทธิ์ของพระผู้สูงสุดจะปกคลุมเจ้า. เพราะเหตุนั้น ผู้ที่กำเนิดมาจะถูกเรียกว่าผู้บริสุทธิ์ และเรียกว่าพระบุตรของพระเจ้า.” (ลูกา 1:35) ในช่วงแรกเริ่มของชีวิตพระเยซู ดูเหมือนว่ามาเรียจะบอกพระองค์เกี่ยวกับข้อเท็จจริงบางอย่างเรื่องการประสูติ. ด้วยเหตุนี้ ในโอกาสหนึ่งตอนที่พระเยซูยังเยาว์ เมื่อมาเรียและโยเซฟบิดาเลี้ยงพบพระองค์ในพระวิหารของพระเจ้า พระองค์ทรงถามว่า “พ่อกับแม่ไม่รู้หรือว่าลูกต้องอยู่ในพระนิเวศของพระบิดา?” (ลูกา 2:49) เห็นได้ชัดว่า ตั้งแต่วัยเยาว์พระเยซูทรงทราบว่าพระองค์เป็นพระบุตรของพระเจ้า. ดังนั้น การยกย่องความชอบธรรมของพระเจ้าเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งสำหรับพระองค์.
7. พระเยซูทรงมีทรัพย์อะไรที่ล้ำค่า?
7 พระเยซูแสดงความสนใจอย่างมากในสิ่งฝ่ายวิญญาณโดยทรงเข้าร่วมการประชุมนมัสการเป็นประจำ. เนื่องจากทรงมีความคิดที่สมบูรณ์พร้อม พระองค์คงต้องเข้าใจทุกอย่างที่ได้ยินและอ่านในพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรู. (ลูกา 4:16) พระองค์ยังมีทรัพย์ที่ล้ำค่าอีกอย่างหนึ่งด้วย คือพระกายมนุษย์สมบูรณ์ที่สามารถถวายเป็นเครื่องบูชาเพื่อมนุษย์ทั้งสิ้น. ตอนที่พระเยซูทรงรับบัพติสมา พระองค์ทรงอธิษฐานและอาจคิดถึงคำพยากรณ์ในบทเพลงสรรเสริญ 40:6-8.—ลูกา 3:21; อ่านฮีบรู 10:5-10 *
8. เหตุใดโยฮันผู้ให้บัพติสมาพยายามทัดทานพระเยซูไว้ไม่ให้รับบัพติสมา?
8 ในตอนแรกโยฮันผู้ให้บัพติสมาทัดทานพระเยซูไว้ไม่ให้รับบัพติสมา. เพราะเหตุใด? เพราะในตอนนั้นโยฮันกำลังจุ่มตัวชาวยิวในน้ำเป็นสัญลักษณ์ว่าพวกเขากลับใจจากบาปที่เกิดจากการละเมิดพระบัญญัติ. ในฐานะญาติใกล้ชิด โยฮันต้องรู้อยู่แล้วว่าพระเยซูทรงเป็นผู้ชอบธรรม จึงไม่จำเป็นต้องกลับใจ. พระเยซูรับรองกับโยฮันว่าเป็นเรื่องเหมาะสมที่พระองค์จะรับบัพติสมา. พระเยซูทรงอธิบายว่า มัด. 3:15
“เราทั้งสองควรทำเช่นนี้เพื่อทุกสิ่งที่ชอบธรรมจะสำเร็จ.”—9. การรับบัพติสมาของพระเยซูเป็นสัญลักษณ์แสดงถึงอะไร?
9 ในฐานะมนุษย์สมบูรณ์ พระเยซูอาจลงความเห็นได้ว่าพระองค์มีความสามารถที่จะให้กำเนิดเผ่าพันธุ์มนุษย์ที่สมบูรณ์เช่นเดียวกับอาดาม. แต่พระเยซูไม่เคยปรารถนาที่จะมีอนาคตอย่างนั้นเลยเพราะนั่นไม่ใช่พระประสงค์ของพระยะโฮวาสำหรับพระองค์. พระเจ้าทรงส่งพระเยซูมายังแผ่นดินโลกเพื่อทำหน้าที่ในฐานะผู้สืบเชื้อสายตามคำสัญญาหรือพระมาซีฮาให้สำเร็จ. นี่รวมถึงการถวายชีวิตมนุษย์สมบูรณ์ของพระเยซูเป็นเครื่องบูชา. (อ่านยะซายา 53:5, 6, 12) แน่นอน การรับบัพติสมาของพระเยซูไม่ได้มีความหมายเช่นเดียวกับการรับบัพติสมาของเรา. การรับบัพติสมาของพระเยซูไม่ได้เกี่ยวข้องกับการอุทิศตัวแด่พระยะโฮวา เนื่องจากพระองค์เป็นส่วนของชาติอิสราเอลที่อุทิศตัวแด่พระเจ้าอยู่แล้ว. แทนที่จะเป็นเช่นนั้น การรับบัพติสมาของพระเยซูเป็นสัญลักษณ์ของการเสนอ พระองค์เองเพื่อทำตามพระทัยประสงค์ของพระเจ้าดังที่มีบอกไว้ล่วงหน้าในพระคัมภีร์ว่าพระมาซีฮาจะทำเช่นนั้น.
10. การทำตามพระประสงค์ของพระเจ้าในฐานะพระมาซีฮาเกี่ยวข้องกับอะไรบ้าง และพระเยซูทรงรู้สึกอย่างไรในเรื่องนี้?
10 พระประสงค์ของพระยะโฮวาสำหรับพระเยซูเกี่ยวข้องกับการประกาศข่าวดีเรื่องราชอาณาจักรของพระเจ้า, การสอนคนให้เป็นสาวก, และเตรียมพวกเขาไว้สำหรับงานสอนคนให้เป็นสาวกในอนาคต. การที่พระเยซูเสนอพระองค์เองยังรวมถึงความเต็มพระทัยที่จะทนรับการข่มเหงและการสิ้นพระชนม์อย่างทารุณเพื่อสนับสนุนการปกครองอันชอบธรรมของพระยะโฮวาพระเจ้า. เนื่องจากพระเยซูรักพระบิดาผู้อยู่ในสวรรค์อย่างแท้จริง พระองค์ทรงยินดีทำตามพระประสงค์ของพระเจ้าและพอพระทัยอย่างยิ่งที่ได้เสนอพระกายพระองค์เป็นเครื่องบูชา. (โย. 14:31) นอกจากนั้น พระองค์ทรงยินดีด้วยที่ทราบว่าคุณค่าชีวิตสมบูรณ์ของพระองค์สามารถถวายแด่พระเจ้าเป็นเครื่องบูชาเพื่อซื้อเราคืนจากการเป็นทาสบาปและความตาย. พระเจ้าทรงเห็นด้วยไหมกับการที่พระเยซูทรงเสนอพระองค์เองเพื่อรับหน้าที่รับผิดชอบอันใหญ่หลวงเหล่านี้? แน่นอน!
11. พระยะโฮวาทรงแสดงอย่างไรว่าพระองค์ทรงยอมรับพระเยซูในฐานะพระมาซีฮาหรือพระคริสต์ตามคำสัญญา?
11 ผู้เขียนหนังสือกิตติคุณทั้งสี่ล้วนยืนยันว่าพระยะโฮวาแสดงอย่างชัดเจนว่าพระองค์พอพระทัยพระเยซูเมื่อพระองค์เสด็จขึ้นจากน้ำที่แม่น้ำจอร์แดน. โยฮันผู้ให้บัพติสมายืนยันเรื่องนี้ว่า “ข้าพเจ้าได้เห็นพระวิญญาณลงมาจากท้องฟ้าดุจนกพิราบและมาอยู่บน [พระเยซู] . . . ข้าพเจ้าได้เห็นแล้ว และข้าพเจ้าได้ยืนยันว่าผู้นั้นเป็นพระบุตรของพระเจ้า.” (โย. 1:32-34) ยิ่งกว่านั้น พระยะโฮวาทรงประกาศในโอกาสนั้นว่า “นี่คือบุตรที่รักของเราซึ่งเราพอใจมาก.”—มัด. 3:17; มโก. 1:11; ลูกา 3:22
ซื่อสัตย์จนสิ้นพระชนม์
12. พระเยซูทรงทำอะไรเป็นเวลาสามปีครึ่งหลังจากรับบัพติสมาแล้ว?
12 เป็นเวลาสามปีครึ่ง พระเยซูทรงทุ่มเทในการสอนผู้คนเกี่ยวกับพระบิดาและความชอบธรรมแห่งการปกครองของพระเจ้า. การเดินทางด้วยเท้าไปทั่วแผ่นดินที่ทรงสัญญาทำให้พระองค์เหน็ดเหนื่อย แต่ไม่มีสิ่งใดยับยั้งพระองค์ไว้จากการอธิบายความจริงอย่างถี่ถ้วน. (โย. 4:6, 34; 18:37) พระเยซูทรงสอนคนอื่น ๆ เรื่องราชอาณาจักรของพระเจ้า. โดยการรักษาคนป่วยอย่างอัศจรรย์, เลี้ยงอาหารฝูงชนที่หิวโหย, และแม้กระทั่งปลุกคนให้เป็นขึ้นจากตาย พระองค์ทรงแสดงให้เห็นว่าราชอาณาจักรจะทำอะไรบ้างให้สำเร็จเพื่อมนุษยชาติ.—มัด. 11:4, 5
13. พระเยซูทรงสอนอะไรในเรื่องการอธิษฐาน?
13 แทนที่จะยกย่องตัวเองในเรื่องการสอนและการเยียวยารักษา พระเยซูทรงวางตัวอย่างที่ยอดเยี่ยมโดยการถวายคำสรรเสริญทั้งสิ้นแด่พระยะโฮวาด้วยความถ่อมใจ. (โย. 5:19; 11:41-44) นอกจากนั้น พระเยซูทรงบอกให้เรารู้ว่าเรื่องสำคัญที่สุดที่เราควรอธิษฐานคืออะไร. คำอธิษฐานของเราควรรวมเอาคำขอที่ให้พระนามของพระเจ้า “เป็นที่นับถืออันบริสุทธิ์” และ ให้การปกครองอันชอบธรรมของพระองค์มาแทนที่การปกครองที่ชั่วร้ายของซาตานเพื่อ “พระประสงค์ของพระองค์สำเร็จบนแผ่นดินโลกเช่นเดียวกับในสวรรค์.” (มัด. 6:9, 10) พระเยซูยังกระตุ้นเราให้ลงมือกระทำสอดคล้องกับคำอธิษฐานนั้นด้วยโดย “แสวงหาราชอาณาจักรและความชอบธรรมของ [พระเจ้า] ก่อนเสมอไป.”—มัด. 6:33
14. แม้ว่าพระเยซูเป็นมนุษย์สมบูรณ์ เหตุใดพระองค์จึงต้องพยายามเพื่อจะทำหน้าที่ตามพระประสงค์ของพระเจ้าให้สำเร็จ?
14 เมื่อใกล้จะถึงเวลาที่พระเยซูจะสิ้นพระชนม์เป็นเครื่องบูชา พระองค์เริ่มรู้สึกตึงเครียดอย่างยิ่งเพราะหน้าที่รับผิดชอบหนักที่พระองค์แบกรับอยู่. พระประสงค์และชื่อเสียงของพระบิดาขึ้นอยู่กับการที่พระเยซูทรงอดทนการทดสอบที่ไม่ยุติธรรมและการสิ้นพระชนม์อย่างทารุณ. ห้าวันก่อนจะสิ้นพระชนม์ พระเยซูอธิษฐานว่า “ตอนนี้ เราเป็นทุกข์นัก เราจะพูดอย่างไรดี? ข้าแต่พระบิดา โปรดช่วยข้าพเจ้าให้พ้นจากช่วงเวลานี้เถิด. แต่ที่ข้าพเจ้ามาถึงช่วงเวลานี้ก็เพราะเหตุนั้น.” หลังจากแสดงความรู้สึกตามธรรมดาของมนุษย์ พระเยซูหันมาสนใจเรื่องที่สำคัญกว่าและอธิษฐานว่า “ข้าแต่พระบิดา ขอทรงโปรดให้พระนามของพระองค์ได้รับการเทิดทูน.” พระยะโฮวาทรงตอบทันทีว่า “เราทำให้นามของเราได้รับการเทิดทูนแล้วและจะทำให้ได้รับการเทิดทูนอีก.” (โย. 12:27, 28) พระเยซูทรงเต็มพระทัยจะเผชิญการทดสอบที่หนักหนาสาหัสที่สุดเท่าที่มนุษย์เคยเผชิญมาในเรื่องความภักดี. แต่ไม่ต้องสงสัยเลยว่า การได้ยินคำตรัสของพระบิดาผู้อยู่ในสวรรค์ทำให้พระเยซูมีความเชื่อมั่นอย่างแรงกล้าว่าพระองค์จะประสบความสำเร็จในการยกย่องเชิดชูการปกครองสูงสุดของพระยะโฮวา. และพระองค์ทรงทำได้สำเร็จจริง ๆ!
การสิ้นพระชนม์ของพระเยซูทำให้อะไรสำเร็จ?
15. ตอนที่พระเยซูกำลังจะสิ้นพระชนม์ทำไมพระองค์จึงตรัสว่า “สำเร็จแล้ว”?
15 ขณะพระเยซูถูกตรึงบนเสาทรมานและเกือบจะสูดลมหายใจเฮือกสุดท้าย พระองค์ตรัสว่า “สำเร็จแล้ว!” (โย. 19:30) พระเยซูได้ทำหลายสิ่งที่ยิ่งใหญ่ให้สำเร็จด้วยความช่วยเหลือจากพระเจ้าในช่วงสามปีครึ่งนับตั้งแต่พระองค์รับบัพติสมาจนกระทั่งสิ้นพระชนม์! เมื่อพระเยซูสิ้นพระชนม์ก็เกิดแผ่นดินไหวอย่างรุนแรงขึ้น และนายร้อยชาวโรมันซึ่งเป็นผู้ควบคุมการประหารก็ถูกกระตุ้นให้พูดว่า “คนนี้เป็นบุตรของพระเจ้าแน่แล้ว.” (มัด. 27:54) ดูเหมือนว่า นายร้อยคนนี้เห็นพระเยซูถูกเยาะเย้ยเพราะอ้างว่าเป็นพระบุตรของพระเจ้า. แม้ทรงทนทุกข์อย่างหนัก พระเยซูทรงรักษาความซื่อสัตย์มั่นคงและพิสูจน์ว่าซาตานเป็นตัวมุสาที่น่าชิงชังรังเกียจ. ซาตานท้าทายทุกคนที่สนับสนุนการปกครองของพระเจ้าว่า “คนย่อมสละอะไร ๆ ทุกสิ่งได้, เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนชีวิตของตนให้คงอยู่.” (โยบ 2:4) ด้วยการรักษาความซื่อสัตย์ พระเยซูทรงแสดงว่าอาดามและฮาวาสามารถพิสูจน์ตัวซื่อสัตย์ได้เมื่อเผชิญการทดสอบที่ง่ายกว่ามาก. ที่สำคัญยิ่งกว่าสิ่งอื่นใด ชีวิตและการสิ้นพระชนม์ของพระเยซูยกย่องเชิดชูการปกครองอันชอบธรรมของพระยะโฮวา. (อ่านสุภาษิต 27:11) การสิ้นพระชนม์ของพระเยซูได้ทำให้อะไรสำเร็จมากกว่านั้นไหม? เป็นเช่นนั้นอย่างแน่นอน!
16, 17. (ก) เหตุใดพยานของพระยะโฮวาก่อนยุคคริสเตียนจึงมีฐานะอันชอบธรรมเฉพาะพระเจ้า? (ข) พระยะโฮวาประทานบำเหน็จแก่พระบุตรผู้ซื่อสัตย์ของพระองค์อย่างไร และพระเยซูคริสต์องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงทำอะไรอยู่เรื่อยมา?
16 ผู้รับใช้หลายคนของพระยะโฮวามีชีวิตอยู่ก่อนพระเยซูจะมายังแผ่นดินโลก. พวกเขามีฐานะอันชอบธรรมเฉพาะพระเจ้าและมีความหวังที่จะได้รับการปลุกให้เป็นขึ้นจากตาย. (ยซา. 25:8; ดานิ. 12:13) แต่ในแง่ของกฎหมายแล้ว พระยะโฮวาพระเจ้าองค์บริสุทธิ์สามารถอวยพรมนุษย์ผิดบาปด้วยวิธีที่น่าพิศวงเช่นนั้นได้อย่างไร? คัมภีร์ไบเบิลอธิบายว่า “พระเจ้าทรงจัดให้ [พระเยซูคริสต์] เป็นเครื่องบูชาระงับพระพิโรธโดยความเชื่อในพระโลหิตของพระองค์ ทั้งนี้ก็เพื่อแสดงความชอบธรรมของพระเจ้า เอง ด้วยพระองค์ทรงอภัยบาปซึ่งเกิดขึ้นในอดีตในเวลาที่พระองค์ทรงอดกลั้นพระทัยไว้ พระองค์ทรงทำเช่นนั้นเพื่อแสดงความชอบธรรมของพระองค์ในปัจจุบัน พระองค์จึงทรงเป็นผู้ชอบธรรมแม้แต่เมื่อทรงถือว่ามนุษย์ที่มีความเชื่อในพระเยซูเป็นคนชอบธรรม.”—โรม 3:25, 26 *
17 พระยะโฮวาประทานบำเหน็จแก่พระเยซูโดยทรงปลุกพระองค์ให้คืนพระชนม์เพื่อรับฐานะที่สูงกว่าตอนที่พระองค์เสด็จมายังแผ่นดินโลก. บัดนี้พระเยซูทรงมีอมตชีพในฐานะกายวิญญาณที่มีสง่าราศี. (ฮีบรู 1:3) ในฐานะมหาปุโรหิตและพระมหากษัตริย์ พระเยซูคริสต์องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงช่วยเหล่าสาวกต่อ ๆ ไปให้ยกย่องความชอบธรรมของพระเจ้า. และเรารู้สึกขอบคุณสักเพียงไรที่พระยะโฮวาพระบิดาของเราผู้อยู่ในสวรรค์ทรงเป็นผู้ประทานบำเหน็จแก่ทุกคนที่ทำอย่างนี้และรับใช้อย่างภักดีเลียนแบบพระบุตรของพระองค์!—อ่านบทเพลงสรรเสริญ 34:3; ฮีบรู 11:6
18. บทความถัดไปจะเน้นเรื่องอะไร?
18 มนุษย์ผู้ซื่อสัตย์ทั้งหมดย้อนไปจนถึงเฮเบลมีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดกับพระยะโฮวาเนื่องจากพวกเขาแสดงความเชื่อและเชื่อมั่นในผู้สืบเชื้อสายที่ทรงสัญญา. พระยะโฮวาทรงรู้ว่าพระบุตรจะรักษาความซื่อสัตย์มั่นคงและการสิ้นพระชนม์ของพระองค์จะปิดคลุม “บาปของโลก” ไว้มิด. (โย. 1:29) การสิ้นพระชนม์ของพระเยซูยังเป็นประโยชน์ต่อทุกคนที่มีชีวิตอยู่ในทุกวันนี้ด้วย. (โรม 3:26) ค่าไถ่ของพระคริสต์จะทำให้คุณได้รับพระพรอะไรบ้าง? จะมีการพิจารณาเรื่องนี้ในบทความถัดไป.
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 7 ในที่นี้อัครสาวกเปาโลยกข้อความจากบทเพลงสรรเสริญ 40:6-8 ตามฉบับแปลกรีกเซปตัวจินต์ซึ่งมีวลีที่ว่า “พระองค์ทรงเตรียมกายให้ข้าพเจ้า.” วลีนี้ไม่พบในฉบับสำเนาของพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูโบราณที่มีอยู่.
^ วรรค 16 โปรดดู “คำถามจากผู้อ่าน” ในหน้า 6 และ 7.
คุณจะตอบอย่างไร?
• ความชอบธรรมของพระเจ้าถูกท้าทายอย่างไร?
• บัพติสมาของพระเยซูเป็นสัญลักษณ์แสดงถึงอะไร?
• การสิ้นพระชนม์ของพระเยซูทำให้อะไรสำเร็จ?
[คำถาม]
[ภาพหน้า 9]
คุณรู้ไหมว่าการรับบัพติสมาของพระเยซูเป็นสัญลักษณ์แสดงถึงอะไร?