จงต้านทานแรงกดดันจากทัศนะของคนหมู่มาก
จงต้านทานแรงกดดันจากทัศนะของคนหมู่มาก
แนวคิดเกี่ยวกับเรื่องที่ว่าสิ่งไหนเหมาะหรือสิ่งไหนไม่เหมาะ และสิ่งไหนน่าสรรเสริญหรือสิ่งไหนน่าตำหนินั้นแตกต่างกันไปในแต่ละแห่ง. แนวคิดเหล่านี้เปลี่ยนไปตามกาลเวลาด้วย. ดังนั้น เมื่ออ่านบันทึกเกี่ยวกับเหตุการณ์ต่าง ๆ ในพระคัมภีร์ที่เกิดขึ้นในสมัยอดีต เราต้องพิจารณาแนวคิดและค่านิยมของผู้คนทั่วไปในสมัยคัมภีร์ไบเบิลให้ดีแทนที่จะคิดเอาเองเกี่ยวกับสิ่งที่เราอ่าน.
ตัวอย่างเช่น ขอให้พิจารณาแนวคิดสองอย่างที่มีการกล่าวซ้ำหลายครั้งในพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีก นั่นคือแนวคิดเรื่องเกียรติยศและความอับอาย. เพื่อจะเข้าใจดีขึ้นในข้อความต่าง ๆ ที่พูดถึงการได้รับเกียรติและความอับอายขายหน้า เราควรพิจารณาว่าผู้คนในสมัยนั้นมีทัศนะต่อแนวคิดทั้งสองนี้อย่างไร.
ค่านิยมในสมัยศตวรรษแรก
ผู้คงแก่เรียนคนหนึ่งกล่าวว่า “ชาวกรีก, ชาวโรมัน, และชาวยูเดียล้วนถือว่าเกียรติยศและความอับอายเป็นเรื่องที่ผู้คนให้ความสำคัญอย่างยิ่งในวัฒนธรรมของพวกเขา. พวกผู้ชายแสวงหาเกียรติยศ, ชื่อเสียง, เกียรติคุณ, การยอมรับ, และความนับถือ ถึงขนาดที่ยอมตายเพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งเหล่านี้.” ค่านิยมเช่นนั้นทำให้พวกเขาอ่อนไหวง่ายต่อความคิดเห็นของคนอื่น.
สถานภาพ, ตำแหน่ง, และเกียรติยศคือสิ่งที่ถือกันว่าสำคัญที่สุดในสังคมที่มีความสำนึกอย่างแรงกล้าในเรื่องลำดับชั้น ตั้งแต่ชนชั้นสูงไล่ลงมาจนถึงทาส. เกียรติยศไม่ได้ขึ้นอยู่กับการประเมินค่าตัวเองเท่านั้น แต่รวมถึงการที่คนอื่นประเมินค่าเราด้วย. การให้เกียรติใครคนหนึ่งหมายถึงการยอมรับอย่างเปิดเผยว่าเขาประพฤติอย่างที่คนอื่นคาดหมายจากเขา. นอกจากนั้น การให้เกียรติใครคนหนึ่งยังเกิดจากการที่คนเราประทับใจในสิ่งที่เห็นภายนอก เช่น ความมั่งคั่ง, ตำแหน่ง, หรือความสูงศักดิ์ และด้วยเหตุนั้นจึงให้ความสนใจแก่คนคนนั้นอย่างที่เขาสมควรได้รับ. การได้รับเกียรติอาจเป็นผลมาจากความประพฤติที่ดีงามหรือการที่เขาโดดเด่นกว่าคนอื่น. ในทางตรงกันข้าม เมื่อคนเราถูกทำให้ขายหน้าหรือถูกเยาะเย้ยต่อหน้าสาธารณชนเขารู้สึกละอายหรือรู้สึกเสียเกียรติ. ความละอายไม่ได้เป็นเพียงแค่ความรู้สึกส่วนตัวหรือเป็นปฏิกิริยาตอบสนองต่อสติรู้สึกผิดชอบของคนเรา แต่เป็นผลจากการถูกสังคมประณาม.
เมื่อพระเยซูพูดถึงคนหนึ่งที่ได้รับเชิญให้นั่ง “ในที่นั่งอันทรงเกียรติ” หรือให้นั่ง “ในที่ต่ำที่สุด” ในงานเลี้ยง นั่นเกี่ยวข้องกับการได้รับเกียรติหรือไม่ก็ถูกทำให้อับอายตามค่านิยมของผู้คนในสมัยนั้น. (ลูกา 14:8-10) มีอย่างน้อยสองครั้งที่สาวกของพระเยซูโต้เถียงกันว่า “ใครจะเป็นใหญ่ที่สุดในพวกเขา.” (ลูกา 9:46; 22:24) พวกเขากำลังสะท้อนให้เห็นว่าผู้คนในสังคมที่พวกเขาอยู่เป็นห่วงเรื่องนี้กันมาก. ขณะเดียวกัน พวกหัวหน้าศาสนาชาวยิวที่หยิ่งยโสและมีน้ำใจแข่งขันชิงดีถือว่าการประกาศของพระเยซูเป็นการบั่นทอนเกียรติและอำนาจของพวกเขา. แต่ความพยายามของพวกเขาที่จะพิสูจน์ให้ฝูงชนเห็นว่าตัวเองเหนือกว่าโดยการโต้เถียงกับพระองค์นั้นล้มเหลวเสมอ.—ลูกา 13:11-17
อีกแนวคิดหนึ่งที่มีอยู่ทั่วไปในหมู่ชาวยิว, กรีก, และโรมันในศตวรรษแรกคือ “การถูกจับและถูกกล่าวหาต่อหน้าสาธารณชนว่าทำผิด” เป็นเรื่องน่าละอาย. การที่ใครคนหนึ่งถูกกักขังถือว่าเป็นเรื่องที่เสื่อมเสียเกียรติ. การถูกปฏิบัติเช่นนี้เป็นการดูหมิ่นคนนั้นต่อหน้าเพื่อน, ครอบครัว, และต่อผู้คนทั่วไปในชุมชน ไม่ว่าเขาจะผิดจริงหรือไม่. นั่นทำให้ชื่อเสียงเขาเป็นมลทินซึ่งอาจทำให้เขาสูญเสียความนับถือตัวเอง และอาจทำลายความสัมพันธ์ที่เขามีกับคนอื่น ๆ. ที่น่าอายยิ่งกว่าการถูกกักขังก็คือการถูกเปลื้องเสื้อ
ผ้าหรือถูกเฆี่ยน. การถูกปฏิบัติเช่นนี้กระตุ้นให้เกิดการดูถูกและเย้ยหยัน ซึ่งเป็นการทำให้คนนั้นเสื่อมเสียเกียรติ.เรื่องที่ทำให้อับอายขายหน้ามากที่สุดก็คือการลงโทษด้วยการประหารบนเสาทรมาน. ผู้คงแก่เรียนชื่อมาร์ติน เฮงเอล กล่าวว่า การประหารด้วยวิธีนี้เป็น “การลงโทษที่ใช้กับทาส. นั่นเป็นสัญลักษณ์ของการทำให้อับอายขายหน้าอย่างยิ่ง, เป็นความอัปยศที่สุด, และเป็นการทรมานที่แสนสาหัส.” ครอบครัวและเพื่อนของคนที่ถูกทำให้เสียเกียรติเช่นนี้จะถูกกดดันจากสังคมให้ตัดความสัมพันธ์กับพวกเขา. เนื่องจากพระคริสต์สิ้นพระชนม์อย่างนี้ ทุกคนที่ต้องการเป็นคริสเตียนในศตวรรษแรกแห่งสากลศักราชจึงต้องเผชิญกับข้อท้าทายในการถูกคนทั่วไปเยาะเย้ย. ผู้คนส่วนใหญ่คงถือว่าเป็นเรื่องแปลกประหลาดที่ใครคนหนึ่งระบุตัวเองว่าเป็นสาวกของคนที่ถูกตรึง. อัครสาวกเปาโลเขียนว่า “เราประกาศเรื่องพระคริสต์ถูกตรึงบนเสา ซึ่งเป็นเรื่องที่ทำให้ชาวยิวขุ่นเคือง แต่เป็นเรื่องโง่เขลาสำหรับชนต่างชาติ.” (1 โค. 1:23) คริสเตียนยุคแรกรับมือข้อท้าทายนี้อย่างไร?
ค่านิยมที่ต่างออกไป
คริสเตียนในศตวรรษแรกเชื่อฟังพระบัญญัติและพยายามไม่ให้ตัวเองต้องได้รับความละอายเพราะการทำผิด. อัครสาวกเปโตรเขียนว่า “อย่าให้พวกท่านคนใดทนทุกข์เพราะเป็นฆาตกร เป็นขโมย เป็นคนทำชั่ว หรือเป็นคนที่ชอบยุ่งกับเรื่องของคนอื่น.” (1 เป. 4:15) อย่างไรก็ตาม พระเยซูทรงบอกล่วงหน้าว่าเหล่าสาวกจะถูกข่มเหงเพราะพระนามของพระองค์. (โย. 15:20) เปโตรเขียนว่า “ถ้า [ใคร] ทนทุกข์เพราะเป็นคริสเตียน อย่าให้เขารู้สึกอาย แต่ให้เขาสรรเสริญพระเจ้า.” (1 เป. 4:16) การไม่รู้สึกละอายเมื่อทนทุกข์ในฐานะสาวกของพระคริสต์เท่ากับเป็นการปฏิเสธบรรทัดฐานของสังคมในสมัยนั้น.
คริสเตียนไม่ควรให้มาตรฐานของคนอื่น ๆ มากำหนดการประพฤติของพวกเขา. ผู้คนในศตวรรษแรกถือว่าเป็นเรื่องโง่ที่จะนับถือคนที่ถูกตรึงว่าเป็นพระมาซีฮา. ทัศนะแบบนี้อาจสร้างแรงกดดันแก่คริสเตียนที่จะคล้อยตามวิธีคิดแบบที่ผู้คนทั่วไปยอมรับ. แต่การที่พวกเขาเชื่อว่าพระเยซูเป็นพระมาซีฮา หมายถึงการที่พวกเขาจะต้องทำตามแบบอย่างของพระองค์แม้ถูกเยาะเย้ย. พระเยซูตรัสว่า “ผู้ใดอายที่เป็นสาวกของเราและเชื่อคำของเราในยุคของคนที่ไม่ซื่อสัตย์ต่อพระเจ้าและชั่วช้านี้ บุตรมนุษย์ก็จะอายถ้าจะยอมรับว่าเขาเป็นสาวกเมื่อท่านมาในฐานะที่มีเกียรติอันรุ่งโรจน์อย่างที่พระบิดามี และมาพร้อมกับเหล่าทูตสวรรค์ผู้บริสุทธิ์.”—ในทุกวันนี้เราอาจเผชิญแรงกดดันต่าง ๆ ที่มุ่งหมายให้เราละทิ้งหลักการคริสเตียน. แรงกดดันเหล่านี้อาจมาจากเพื่อนนักเรียน, เพื่อนบ้าน, หรือเพื่อนร่วมงานที่พยายามชักชวนเราให้ร่วมทำสิ่งที่ผิดศีลธรรม, ไม่ซื่อสัตย์, หรือทำอะไรที่น่าสงสัย. คนเหล่านี้อาจพยายามทำให้เรารู้สึกอายที่จะยืนหยัดเพื่อหลักการที่ถูกต้อง. เราควรแสดงปฏิกิริยาอย่างไร?
จงเลียนแบบคนเหล่านั้นที่ไม่คำนึงถึงความอับอาย
เพื่อจะรักษาความซื่อสัตย์มั่นคงต่อพระยะโฮวา พระเยซูถูกประหารด้วยวิธีที่ทำให้เสื่อมเสียเกียรติที่สุด. “พระองค์ทรงทนทุกข์จนสิ้นพระชนม์บนเสาทรมานโดยไม่ทรงคำนึงถึงความอับอาย.” (ฮีบรู 12:2) ศัตรูของพระเยซูตบพระพักตร์, ถ่มน้ำลายรด, ถอดฉลองพระองค์ออก, เฆี่ยน, ตรึง, และด่าว่าพระองค์. (มโก. 14:65; 15:29-32) กระนั้น พระเยซูไม่ทรงคำนึงถึงความอับอายอย่างที่พวกเขาพยายามจะให้พระองค์อับอาย. เป็นเช่นนั้นอย่างไร? พระองค์ไม่ทรงยอมแพ้แม้ถูกปฏิบัติเช่นนั้น. พระเยซูทรงรู้ว่าในสายพระเนตรพระยะโฮวา พระองค์ไม่ได้เสียเกียรติ และแน่นอนว่าพระองค์ไม่พยายามจะได้เกียรติจากมนุษย์. แม้ว่าพระองค์สิ้นพระชนม์เยี่ยงทาส พระยะโฮวาให้เกียรติพระองค์โดยการปลุกพระองค์ให้คืนพระชนม์ และให้ตำแหน่งที่มีเกียรติสูงสุดรองจากพระเจ้า. เราอ่านที่ฟิลิปปอย 2:8-11 ว่า “[พระคริสต์เยซู] ทรงถ่อมพระทัยเชื่อฟังจนสิ้นพระชนม์ คือสิ้นพระชนม์บนเสาทรมาน. เพราะเหตุนี้ พระเจ้าจึงทรงโปรดให้พระองค์ดำรงตำแหน่งสูงขึ้นและทรงประทานพระนามอันสูงส่งเหนือนามอื่นทั้งหมดแก่พระองค์ เพื่อว่าใครก็ตามที่อยู่ในสวรรค์และบนแผ่นดินโลก รวมทั้งคนที่อยู่ใต้พื้นดินจะคุกเข่าลงในพระนามพระเยซู และลิ้นทุกลิ้นจะยอมรับอย่างเปิดเผยว่าพระเยซูคริสต์เป็นองค์พระผู้เป็นเจ้าเพื่อยกย่องพระเจ้าผู้เป็นพระบิดา.”
ไม่ใช่ว่าพระเยซูไม่รู้สึกอะไรเลยเกี่ยวกับการเสื่อมเสียเกียรติเมื่อพระองค์ถูกประหาร. การที่พระเยซูถูกประณามว่าเป็นผู้หมิ่นประมาทซึ่งอาจทำให้พระบิดาเสื่อมเสียเกียรติเป็นเรื่องที่พระบุตรของพระเจ้าทรงเป็นห่วง. พระเยซูทูลพระยะโฮวาว่าขออย่าให้พระองค์ต้องเสื่อมเสียเกียรติเช่นนั้น. พระองค์ทรงอธิษฐานว่า “ขอทรงเอาถ้วยนี้ไปจากข้าพเจ้า.” แต่พระเยซูทรงยอมทำตามพระประสงค์ของพระเจ้า. (มโก. 14:36) ถึงกระนั้น พระเยซูต้านทานแรงกดดันต่าง ๆ ที่โถมทับพระองค์และไม่ทรงคำนึงถึงความอับอาย. ที่จริง คนที่รู้สึกอับอายอย่างนั้นต้องเป็นคนที่รับเอาค่านิยมโดยทั่วไปของผู้คนสมัยนั้นอย่างเต็มที่. เห็นได้ชัดว่าพระเยซูไม่ได้เป็นเช่นนั้น.
เหล่าสาวกของพระเยซูก็ถูกจับกุม และถูกเฆี่ยนด้วย. การถูกกระทำเช่นนั้นทำให้พวกเขาเสียเกียรติในสายตาของหลายคน. พวกเขาถูกดูหมิ่นเหยียดหยาม. แต่พวกเขาไม่ท้อถอย. สาวกแท้ของพระเยซูต้านทานแรงกดดันจากทัศนะของคนหมู่มากและไม่คำนึงถึงความอับอาย. (มัด. 10:17; กิจ. 5:40; 2 โค. 11:23-25) พวกเขารู้ว่าต้อง ‘แบกเสาทรมานของตนแล้วตามพระเยซูเรื่อยไป.’—ลูกา 9:23, 26
จะว่าอย่างไรสำหรับพวกเราในทุกวันนี้? สิ่งที่โลกนี้ถือว่าโง่เขลา, อ่อนแอ, และต่ำต้อย พระเจ้าทรงมองว่ามีปัญญา, มีอำนาจ, และมีเกียรติ. (1 โค. 1:25-28) เป็นเรื่องโง่เขลาและไม่มองการณ์ไกลที่เราจะให้ความเห็นของคนหมู่มากชักนำเรามิใช่หรือ?
ใครก็ตามที่อยากได้เกียรติต้องให้ความสำคัญต่อสิ่งที่โลกคิดเกี่ยวกับตัวพวกเขา. ในทางตรงกันข้าม เช่นเดียวกับพระเยซูและเหล่าสาวกในศตวรรษแรก เราปรารถนาให้พระยะโฮวาเป็นมิตรของเรา. ด้วยเหตุนั้น สิ่งที่มีเกียรติในสายพระเนตรของพระองค์เราจะถือว่ามีเกียรติ และสิ่งที่พระองค์ทรงถือว่าน่าอับอายเราก็จะถือว่าน่าอับอาย.
[ภาพหน้า 4]
พระเยซูไม่ได้รับอิทธิพลจากแนวคิดของโลกในเรื่องสิ่งที่น่าละอาย