เป็นที่พอพระทัยพระเจ้าเสมอแม้เผชิญกับการเปลี่ยนแปลง
เป็นที่พอพระทัยพระเจ้าเสมอแม้เผชิญกับการเปลี่ยนแปลง
คุณกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงในชีวิตอยู่ไหม? คุณรู้สึกว่ายากจะยอมรับการเปลี่ยนแปลงเหล่านั้นไหม? พวกเราส่วนใหญ่เคยอยู่ในสถานการณ์แบบนั้นหรือไม่ก็จะเผชิญกับสถานการณ์แบบนั้นในวันข้างหน้า. ตัวอย่างชีวิตจริงของบางคนในอดีตอาจช่วยบอกให้เรารู้ว่าคุณลักษณะอะไรที่จะเป็นประโยชน์ต่อเรา.
ตัวอย่างเช่น ขอให้พิจารณาเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างที่ดาวิดต้องเผชิญ. ท่านเป็นเพียงเด็กเลี้ยงแกะตอนที่ซามูเอลเจิมท่านให้เป็นกษัตริย์ในอนาคต. ขณะที่อายุยังน้อย ท่านได้อาสาไปสู้กับฆาละยัธ ชายร่างยักษ์ชาวฟิลิสติน. (1 ซามู. 17:26-32, 42) หนุ่มน้อยดาวิดได้รับเชิญให้ไปอยู่ในราชสำนักของกษัตริย์ซาอูล และได้รับแต่งตั้งเป็นแม่ทัพ. ดาวิดไม่นึกฝันมาก่อนด้วยซ้ำว่าจะประสบกับการเปลี่ยนแปลงทั้งหมดเหล่านี้ในชีวิตท่าน; และท่านก็ไม่อาจคาดการณ์ได้เลยว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับท่านต่อไป.
ความสัมพันธ์ของท่านกับซาอูลตึงเครียดถึงขีดสุด. (1 ซามู. 18:8, 9; 19:9, 10) เพื่อรักษาชีวิตของท่านไว้ ดาวิดต้องใช้ชีวิตในฐานะผู้ลี้ภัยเป็นเวลาหลายปี. แม้แต่เมื่อท่านขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์ปกครองชาติอิสราเอล สถานการณ์ของท่านเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง โดยเฉพาะหลังจากที่ท่านเล่นชู้และพยายามจะปกปิดความผิดด้วยการฆ่าคน. ผลอย่างหนึ่งที่เกิดจากการทำผิดดังกล่าวก็คือท่านต้องประสบกับความยุ่งยากในราชวงศ์ของท่าน เช่น ท่านต้องรับมือกับการกบฏของอับซาโลม ราชบุตรของท่านเอง. (2 ซามู. 12:10-12; 15:1-14) ถึงกระนั้น หลังจากที่ดาวิดกลับใจจากบาปที่ท่านได้เล่นชู้และฆ่าคน พระยะโฮวาทรงให้อภัยท่านและดาวิดได้รับความพอพระทัยจากพระเจ้าอีกครั้งหนึ่ง.
อาจมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในชีวิตของคุณด้วย. ปัญหาสุขภาพ, ความลำบากด้านเศรษฐกิจ, หรือปัญหาในครอบครัว หรือแม้แต่การกระทำบางอย่างของเราเอง ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในชีวิตเรา. มีคุณลักษณะอะไรบ้างที่อาจช่วยเราให้พร้อมยิ่งขึ้นที่จะรับมือกับข้อท้าทายเช่นนั้น?
ความถ่อมใจช่วยเรา
ความถ่อมเกี่ยวข้องกับการมีทัศนคติที่ยอมอยู่ใต้อำนาจ. ความถ่อมที่แท้จริงสามารถช่วยเราให้เห็นตัวเราเองอย่างที่เราเป็นจริง ๆ และเห็นคนอื่น ๆ อย่างที่พวกเขาเป็นจริง ๆ. โดยการยอมรับคุณลักษณะและความสำเร็จของคนอื่น ๆ
เราจะเห็นค่าพวกเขาและสิ่งที่พวกเขาทำมากขึ้น. คล้ายกัน ความถ่อมอาจช่วยเราให้เข้าใจว่าทำไมบางสิ่งจึงเกิดขึ้นกับเราและเราควรรับมือกับเรื่องนั้นอย่างไร.โยนาธาน ราชบุตรของซาอูล เป็นตัวอย่างที่ดี. สภาพการณ์ในชีวิตท่านเปลี่ยนไปเนื่องด้วยเหตุการณ์ที่ท่านไม่อาจควบคุมได้. เมื่อซามูเอลบอกซาอูลว่าพระยะโฮวาจะเอาอาณาจักรไปจากเขา ท่านไม่ได้บอกว่าโยนาธานจะได้ขึ้นมาเป็นกษัตริย์แทน. (1 ซามู. 15:28; 16:1, 12, 13) การที่พระเจ้าทรงเลือกดาวิดให้เป็นกษัตริย์องค์ถัดไปของอิสราเอลทำให้โยนาธานหมดโอกาสที่จะได้เป็นกษัตริย์. ในแง่หนึ่ง การไม่เชื่อฟังของซาอูลส่งผลร้ายต่อโยนาธาน. แม้ว่าโยนาธานไม่ต้องรับผิดชอบต่อการกระทำของซาอูล แต่ท่านจะไม่ได้สืบทอดบัลลังก์ของราชบิดา. (1 ซามู. 20:30, 31) โยนาธานแสดงปฏิกิริยาอย่างไรต่อสถานการณ์นี้? ท่านขุ่นเคืองที่สูญเสียโอกาสและอิจฉาดาวิดไหม? ไม่. แม้ว่าโยนาธานแก่กว่าดาวิดมากและมีประสบการณ์มากกว่า ท่านสนับสนุนดาวิดอย่างภักดี. (1 ซามู. 23:16-18) ความถ่อมช่วยท่านให้เข้าใจว่าใครที่ได้รับพระพรจากพระเจ้า และท่านไม่ “คิดถึงตัวเองเกินกว่าที่จำเป็น.” (โรม 12:3) โยนาธานเข้าใจว่าพระยะโฮวาทรงคาดหมายให้ท่านทำอะไรและยอมรับการตัดสินของพระองค์ในเรื่องนี้.
แน่นอน การเปลี่ยนแปลงหลายอย่างทำให้เกิดความยุ่งยากบางอย่าง. เมื่อมาถึงจุดหนึ่ง โยนาธานต้องเกี่ยวข้องกับชายสองคนที่ใกล้ชิดกับท่าน. คนหนึ่งคือดาวิด สหายของท่าน ซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากพระยะโฮวาให้เป็นกษัตริย์ในอนาคต. อีกคนหนึ่งคือซาอูล ราชบิดาของท่าน ซึ่งถูกพระยะโฮวาปฏิเสธแต่ก็ยังคงปกครองเป็นกษัตริย์. สถานการณ์นี้คงต้องทำให้โยนาธานเครียดทีเดียว ขณะที่ท่านพยายามทำให้พระยะโฮวาพอพระทัยต่อ ๆ ไป. การเปลี่ยนแปลงที่เราต้องเผชิญอาจทำให้เรากังวลและหวั่นเกรง. แต่ถ้าเราพยายามเข้าใจทัศนะของพระยะโฮวา เราจะสามารถรับใช้อย่างภักดีต่อ ๆ ไปขณะที่รับมือกับการเปลี่ยนแปลง.
ความสำคัญของความเจียมตัว
ความเจียมตัวเกี่ยวข้องกับการรู้ข้อจำกัดของตัวเอง. ไม่ควรสับสนหรือเข้าใจไขว้เขวว่าความเจียมตัวคือความถ่อม. คนถ่อมอาจไม่สำนึกอย่างเต็มที่ถึงข้อจำกัดของเขา.
ดาวิดเป็นคนเจียมตัว. แม้ว่าพระยะโฮวาทรงเลือกท่านให้เป็นกษัตริย์ แต่ท่านต้องรออีกหลายปีจึงจะได้ขึ้นครองบัลลังก์. คัมภีร์ไบเบิลไม่ได้บอกว่าดาวิดได้รับคำอธิบายใด ๆ จากพระยะโฮวาถึงเหตุผลที่การรับตำแหน่งของท่านดูเหมือนว่าล่าช้า. แม้ว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นดูเหมือนว่าน่าข้องขัดใจ แต่นั่นไม่ได้รบกวนใจท่าน. ท่านรู้ตัวดีถึงข้อจำกัดของตนเอง และท่านเข้าใจว่าพระยะโฮวา ผู้ทรงยอมให้เกิดสถานการณ์อย่างนั้น ทรงคอยดูแลเรื่องต่าง ๆ. ด้วยเหตุนั้น ดาวิดไม่ได้ฆ่าซาอูลและยังห้ามอะบิซัยสหายของท่านไม่ให้ทำอย่างนั้นด้วย แม้ว่าจะเป็นการทำเพื่อให้ชีวิตของท่านเองปลอดภัย.—1 ซามู. 26:6-9
บางครั้งอาจเกิดสถานการณ์อย่างหนึ่งขึ้นในประชาคมของเราที่เราไม่เข้าใจ หรือเมื่อพิจารณาจากมุมมองของเราดูเหมือนว่าไม่ได้มีการจัดการในวิธีที่ดีที่สุดหรืออย่างเป็นระบบระเบียบที่สุด. เราจะยอมรับด้วยความเจียมตัวไหมว่าพระเยซูทรงเป็นประมุขของประชาคมและพระองค์ทรงทำหน้าที่โดยทางคณะผู้ปกครองที่ได้รับการแต่งตั้งให้นำหน้า? สุภา. 11:2
เราจะแสดงความเจียมตัวไหม โดยรู้ว่าเพื่อจะเป็นที่พอพระทัยพระยะโฮวาเสมอเราจำเป็นต้องรอคอยให้พระองค์นำเราโดยทางพระเยซูคริสต์? เราจะคอยท่าอย่างเจียมตัวไหมแม้ว่าอาจไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำอย่างนั้น?—ความอ่อนน้อมช่วยเราให้มองในแง่บวก
ความอ่อนน้อมเป็นสภาพของจิตใจที่อ่อนโยน. ความอ่อนน้อมทำให้เราสามารถทนรับการร้ายด้วยความอดทนและไม่หงุดหงิด, ขุ่นเคือง, หรือเคียดแค้น. ความอ่อนน้อมเป็นคุณลักษณะที่พัฒนาได้ไม่ง่ายนัก. น่าสนใจที่พระคัมภีร์ข้อหนึ่งบอกว่า “ผู้มีใจอ่อนน้อมทั้งปวงบนแผ่นดินโลก” ได้รับเชิญให้ “แสวงหา ความอ่อนน้อม.” (ซฟัน. 2:3, ล.ม.) ความอ่อนน้อมเกี่ยวข้องกับความถ่อมและความเจียมตัว รวมถึงคุณลักษณะอื่น ๆ ด้วย เช่น ความดีและความอ่อนโยน. เพราะคนที่อ่อนน้อมยอมรับการสอนและการนวดปั้น เขาจึงสามารถก้าวหน้าฝ่ายวิญญาณ.
ความอ่อนน้อมช่วยเราให้รับมือกับการเปลี่ยนแปลงในชีวิตได้อย่างไร? คุณคงเคยสังเกตว่าหลายคนมีแนวโน้มจะมองการเปลี่ยนแปลงในแง่ลบ. อันที่จริง การเปลี่ยนแปลงเหล่านั้นอาจเป็นโอกาสที่เราจะได้รับการฝึกอบรมมากขึ้นจากพระยะโฮวา. ชีวิตของโมเซเป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นอย่างนั้น.
ตอนที่ท่านอายุ 40 ปี โมเซมีคุณลักษณะหลายอย่างที่ดีเยี่ยม. ท่านไวในการสังเกตเห็นความจำเป็นของประชาชนของพระเจ้าและมีน้ำใจเสียสละ. (ฮีบรู 11:24-26) ถึงกระนั้น ก่อนได้รับมอบหมายจากพระยะโฮวาให้นำชาติอิสราเอลออกจากอียิปต์ โมเซต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงที่ช่วยขัดเกลาให้ท่านมีความอ่อนน้อมยิ่งขึ้น. ท่านต้องหนีออกจากอียิปต์และไปอาศัยในแผ่นดินมิดยานเป็นเวลา 40 ปี ทำงานเป็นคนเลี้ยงแกะ และไม่ได้เป็นคนเด่นอีกต่อไป. ผลเป็นอย่างไร? การเปลี่ยนแปลงนี้ทำให้ท่านเป็นคนที่ดีขึ้น. (อาฤ. 12:3) ท่านเรียนรู้ที่จะจัดให้ผลประโยชน์ฝ่ายวิญญาณมาก่อนผลประโยชน์ของตัวเอง.
เพื่อจะเห็นตัวอย่างในเรื่องความอ่อนน้อมของโมเซ ให้เราพิจารณาสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อพระยะโฮวาตรัสว่าพระองค์ทรงมีพระประสงค์ที่จะปฏิเสธชาติอิสราเอลที่ไม่เชื่อฟังและให้ลูกหลานของโมเซกลายเป็นชาติใหญ่. (อาฤ. 14:11-20) โมเซทูลอ้อนวอนขอเพื่อชาตินี้. คำพูดของท่านแสดงให้เห็นว่าท่านเป็นห่วงชื่อเสียงของพระเจ้าและสวัสดิภาพของบรรดาพี่น้องของท่าน ไม่ใช่ผลประโยชน์ของตัวเอง. คนที่จะทำบทบาทแบบเดียวกับโมเซในฐานะผู้นำชาติและเป็นผู้กลางต้องเป็นคนอ่อนน้อม. มิระยามและอาโรนบ่นว่าโมเซ แต่บันทึกในคัมภีร์ไบเบิลกล่าวว่าท่าน “เป็นคนถ่อมจิตใจอ่อนยิ่งมากกว่าคนทั้งปวงที่อยู่บนแผ่นดิน.” (อาฤ. 12:1-3, 9-15) ดูเหมือนว่า ด้วยความอ่อนน้อมโมเซอดทนกับคำพูดดูถูกของคนทั้งสอง. จะเป็นอย่างไรถ้าโมเซไม่ได้เป็นคนอ่อนน้อม?
ในอีกโอกาสหนึ่ง พระวิญญาณของพระยะโฮวาสถิตกับชายสองคน ทำให้พวกเขากล่าวพยากรณ์. ยะโฮซูอะ ผู้ติดตามโมเซ รู้สึกว่าสิ่งที่ชาวอิสราเอลสองคนนั้นทำไม่เหมาะสม. แต่ด้วยความอ่อนน้อมโมเซมองเรื่องนี้จากทัศนะของพระยะโฮวา และไม่อาฤ. 11:26-29) ถ้าโมเซไม่อ่อนน้อม ท่านจะยอมรับการเปลี่ยนแปลงนี้ที่เป็นการจัดเตรียมของพระยะโฮวาไหม?
กังวลว่าท่านจะสูญเสียอำนาจ. (ความอ่อนน้อมทำให้โมเซสามารถใช้อำนาจอันใหญ่ยิ่งที่พระเจ้าประทานและบทบาทที่พระองค์ทรงมอบหมายอย่างเหมาะสม. พระยะโฮวาทรงเชิญท่านให้ขึ้นไปบนภูเขาโฮเรบและยืนอยู่ต่อหน้าประชาชน. พระเจ้าตรัสกับโมเซโดยทางทูตสวรรค์และแต่งตั้งท่านให้เป็นผู้กลางแห่งสัญญา. ความอ่อนน้อมของโมเซทำให้ท่านยอมรับการเปลี่ยนแปลงใหญ่หลวงในเรื่องอำนาจของท่านและยังคงเป็นที่พอพระทัยพระเจ้าต่อไป.
แล้วจะว่าอย่างไรสำหรับเรา? ความอ่อนน้อมเป็นคุณลักษณะที่ขาดไม่ได้เพื่อเราแต่ละคนจะก้าวหน้า. ทุกคนที่ได้รับสิทธิพิเศษและอำนาจท่ามกลางประชาชนของพระเจ้าจำเป็นต้องอ่อนน้อม. ความอ่อนน้อมป้องกันเราไว้ไม่ให้หยิ่งยโสเมื่อเผชิญกับการเปลี่ยนแปลง และทำให้เราสามารถรับมือกับสถานการณ์ต่าง ๆ โดยมีทัศนะที่ถูกต้อง. ปฏิกิริยาของเราเป็นเรื่องสำคัญ. เราจะยอมรับการเปลี่ยนแปลงไหม? เราจะมองการเปลี่ยนแปลงว่าเป็นโอกาสที่จะปรับปรุงไหม? การเปลี่ยนแปลงอาจเป็นโอกาสที่เราจะสามารถพัฒนาความอ่อนน้อม!
เราจะพบว่าเราเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงในชีวิตอยู่เสมอ. บางครั้ง ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้น. ข้อจำกัดของตัวเราเองและอารมณ์ที่ตึงเครียดอาจทำให้เป็นเรื่องยากที่เราจะรักษาทัศนะที่ดีทางฝ่ายวิญญาณ. ถึงกระนั้น คุณลักษณะต่าง ๆ เช่น ความถ่อม, ความเจียมตัว, และความอ่อนน้อมจะช่วยเราให้ยอมรับการเปลี่ยนแปลงและเป็นที่พอพระทัยพระเจ้าเสมอ.
[คำโปรยหน้า 4]
ความถ่อมที่แท้จริงทำให้เราเห็นว่าตัวเราเองเป็นอย่างไรจริง ๆ
[คำโปรยหน้า 5]
ความอ่อนน้อมเป็นคุณลักษณะที่ขาดไม่ได้เพื่อเราแต่ละคนจะก้าวหน้า
[ภาพหน้า 5]
โมเซต้องรับมือกับข้อท้าทายต่าง ๆ ที่ช่วยขัดเกลาให้ท่านอ่อนน้อมยิ่งขึ้น