การประชุมใหญ่สามครั้งเปลี่ยนชีวิตผม
การประชุมใหญ่สามครั้งเปลี่ยนชีวิตผม
เล่าโดย จอร์จ วอเรินเชิก
คุณเคยรู้สึกประทับใจสิ่งที่คุณได้ยินในการประชุมใหญ่จนถูกกระตุ้นให้เปลี่ยนชีวิตตัวเองไหม? นั่นคือสิ่งที่เกิดขึ้นกับผม. เมื่อมองย้อนไป ผมเห็นได้ว่ามีการประชุมใหญ่สามครั้งที่ส่งผลต่อชีวิตของผมเป็นพิเศษ. การประชุมใหญ่ครั้งแรกที่ผมพูดถึงนั้นช่วยผมให้มีความกล้ามากขึ้น; ครั้งที่สอง ทำให้ผมอิ่มใจมากขึ้นกับสิ่งที่ตนมีอยู่; ครั้งที่สาม กระตุ้นผมให้มีน้ำใจในการให้มากขึ้น. แต่ก่อนที่ผมจะเล่าถึงการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ขอผมเล่าเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงหลายปีก่อนที่ผมจะเข้าร่วมการประชุมใหญ่เหล่านั้น ซึ่งเกิดขึ้นตอนที่ผมเป็นเด็ก.
ผมเกิดในปี 1928 เป็นลูกคนสุดท้องจากทั้งหมดสามคน. ผมกับพี่สาว มาร์จีและโอลกา เติบโตขึ้นมาในเมืองเซาท์บาวด์บรูก รัฐนิวเจอร์ซีย์ สหรัฐ ซึ่งในเวลานั้นเมืองนี้มีประชากรประมาณ 2,000 คน. แม้ว่าเรายากจน แต่แม่เป็นคนเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่. เมื่อไรก็ตามที่แม่มีเงินพอจะทำอาหารมื้อพิเศษ แม่จะแบ่งปันอาหารนั้นให้เพื่อนบ้าน. เมื่อผมอายุเก้าขวบ มีพยานพระยะโฮวาคนหนึ่งมาคุยกับแม่. พยานฯ คนนี้พูดภาษาฮังการี ซึ่งเป็นภาษาดั้งเดิมของแม่ ทำให้แม่สนใจฟังข่าวสารจากคัมภีร์ไบเบิลที่เธอบอก. ต่อมา เบอร์ทา พี่น้องหญิงคนหนึ่งวัย 20 เศษ ๆ นำการศึกษาพระคัมภีร์กับแม่ต่อ และช่วยแม่ให้เป็นผู้รับใช้ของพระยะโฮวา.
ไม่เหมือนกับแม่ ผมเป็นคนขี้อายและไม่มีความมั่นใจในตัวเอง. ที่แย่เข้าไปใหญ่ก็คือ แม่มักพูดดูถูกผม. เมื่อผมถามแม่ทั้งน้ำตาว่า “ทำไมแม่ชอบว่าผมอยู่เรื่อยเลย?” แม่ก็บอกว่าแม่รักผม แต่ไม่อยากทำให้ผมเสียคน. แม่มีเจตนาดี แต่การที่แม่ไม่ชมผมบ้างเลยทำให้ผมรู้สึกว่าตัวเองไม่มีค่า.
วันหนึ่ง เพื่อนบ้านคนหนึ่งซึ่งมักพูดกับผมอย่างกรุณาขอให้ผมไปโรงเรียนรวีวารศึกษาเป็นเพื่อนลูกชายเธอ. ผมรู้ว่าพระยะโฮวาคงไม่พอพระทัยถ้าผมไป แต่ผมไม่กล้าขัดใจเพื่อนบ้านที่มีใจกรุณาคนนี้. ดังนั้น แม้ว่าผมรู้สึกละอายใจแต่ผมก็ไปโบสถ์อยู่หลายเดือน. ที่โรงเรียน ความกลัวหน้ามนุษย์ก็ทำให้ผมทำอย่างที่ขัดกับสติรู้สึกผิดชอบของตัวเองด้วย. ครูใหญ่ ซึ่งเป็นคนชอบใช้อำนาจบาตรใหญ่ กำชับพวกครูให้คอยดูว่าเด็กทุกคนเคารพธงชาติ. ผมก็เคารพไปกับเขาด้วย. เหตุการณ์เป็นอย่างนี้อยู่ประมาณปีหนึ่ง แล้วก็เกิดการเปลี่ยนแปลง.
บทเรียนในเรื่องความกล้า
ในปี 1939 มีการจัดกลุ่มการศึกษาหนังสือขึ้นที่บ้านของเรา. เบน มิซคัลสกี พี่น้องไพโอเนียร์หนุ่ม เป็นผู้นำกลุ่มศึกษา. เราเรียกเขาว่าบิกเบน ซึ่งนับว่าเป็นชื่อที่เหมาะกับเขาทีเดียว. ในความรู้สึกของผม เขาดูสูงใหญ่พอ ๆ กับประตูหน้าบ้านของเรา. แม้ว่ารูปร่างของเขาใหญ่โต แต่หัวใจของเขาอ่อนโยน และรอยยิ้มที่อบอุ่นของเขาทำให้ผมรู้สึกเป็นกันเองในเวลาอันรวดเร็ว. ดังนั้น เมื่อเบนชวนผมไปด้วยกันกับเขาในงานประกาศ ผมจึงยินดีไป. เรากลายเป็นเพื่อนกัน. เมื่อผมเศร้าซึม เขาก็จะพูดกับผมแบบพี่ชายที่ห่วงใยพูดกับน้อง. นั่นนับว่ามีความหมายมากต่อผม และทำให้ผมรักเขามาก.
ในปี 1941 เบนเชิญครอบครัวเรานั่งรถของเขาไปยังการประชุมใหญ่ที่เมืองเซนต์หลุยส์ รัฐมิสซูรีด้วยกัน. ลองนึกดูสิว่าผมตื่นเต้นขนาดไหน! ผมไม่เคยเดินทางไกลจากบ้านเกิน 80 กิโลเมตร แต่ตอนนี้ผมกำลังจะไปยังที่ซึ่งอยู่ห่างออกไป 1,500 กิโลเมตร! อย่างไรก็ตาม มีปัญหาที่เซนต์หลุยส์. นักเทศน์สั่งสมาชิกในเขตปกครองของเขาให้ยกเลิกการจัดเตรียมใด ๆ ที่จะให้พยานฯ พักในบ้านของพวกเขา. หลายคนยกเลิกตามคำสั่งนั้น. ครอบครัวที่เราจะไปพักด้วยก็ถูกขู่เหมือนกัน. ถึงกระนั้น พวกเขาต้อนรับเรา. เจ้าของบ้านบอกกับเราว่าพวกเขาจะไม่ผิดคำพูดที่ได้ให้สัญญาไว้ว่าจะให้เราพักกับเขา. ผมประทับใจในความกล้าหาญของพวกเขา.
พี่สาวทั้งสองคนของผมรับบัพติสมาในการประชุมนั้น. ในวันเดียวกันนั้น ในคำบรรยายที่ปลุกเร้าใจของบราเดอร์รัทเทอร์ฟอร์ดซึ่งมาจากเบเธลบรุกลิน ท่านได้ขอให้เด็กทุกคนที่ต้องการทำตามพระประสงค์ของพระเจ้ายืนขึ้น. มีเด็กราว ๆ 15,000 คนลุกขึ้นยืน. ผมก็ลุกด้วย. จากนั้น ท่านขอให้พวกเราที่ต้องการทำเต็มที่ในงานประกาศพูดว่า “ใช่.” ผมตะโกนพร้อม ๆ กับเด็กคนอื่น ๆ ว่า “ใช่!” แล้วก็มีเสียงปรบมือดังกึกก้องตามมา. ใจผมเกิดความห้าวหาญขึ้นมา.
หลังจากที่การประชุมจบลง เราได้ไปเยี่ยมพี่น้องชายคนหนึ่งที่เวสต์เวอร์จิเนีย. เขาเล่าให้ฟังว่ามีอยู่ครั้งหนึ่งขณะที่เขาประกาศอยู่ ฝูงชนที่โกรธแค้นรุมทุบตีเขาและราดน้ำมันดินแล้วก็โปรยขนนกใส่เขาทั่วทั้งตัว. ผมฟังเขาเล่าจนแทบจะลืมหายใจ. พี่น้องคนนี้บอกว่า “แต่ผมจะประกาศต่อ ๆ ไป.” เมื่อเราจากพี่น้องคนนั้นมา ผมรู้สึกเหมือนกับดาวิด. ผมพร้อมแล้วที่จะเผชิญหน้ากับฆาละยัธ ซึ่งก็คือครูใหญ่ที่โรงเรียนผมนั่นเอง.
เมื่อกลับมาที่โรงเรียน ผมเข้าพบครูใหญ่. เขาจ้องมองผมอย่างดุ ๆ. ผมอธิษฐานเงียบ ๆ ขอความช่วยเหลือจากพระยะโฮวา. แล้วผมก็พูดโพล่งออกมาว่า “ผมไปร่วมการประชุมใหญ่ของพยานพระยะโฮวามา. ต่อไปนี้ผมจะไม่เคารพธงอีกแล้ว!” เกิดมีความเงียบอยู่นาน. ครูใหญ่ลุกจากโต๊ะช้า ๆ แล้วเดินมาหาผม. หน้าของเขาแดงก่ำด้วยความโกรธ. เขาตวาดว่า “แกต้องเคารพธง ถ้าไม่ทำแกถูกไล่ออกแน่!” คราวนี้ผมไม่ยอมอะลุ่มอล่วย และลึก ๆ ข้างในผมรู้สึกยินดีอย่างที่ไม่เคยรู้สึกมาก่อน.
ผมแทบรอไม่ไหวที่จะบอกเบนถึงเรื่องที่เกิดขึ้น. เมื่อผมเห็นเขาที่หอประชุม ผมก็ร้องบอกเขาว่า “ผมถูกไล่ออกจากโรงเรียน! ผมไม่เคารพธง!” เบนดึงผมเข้าไปกอด ยิ้ม และพูดว่า “พระยะโฮวาต้องรักเธอแน่ ๆ เลย.” (บัญ. 31:6) นั่นช่างเป็นคำพูดที่กระตุ้นใจผมจริง ๆ! ในวันที่ 15 มิถุนายน 1942 ผมก็รับบัพติสมา.
เรียนรู้เคล็ดลับของความอิ่มใจพอใจ
หลังสงครามโลกครั้งที่สอง เศรษฐกิจของประเทศก็เฟื่องฟูอย่างรวดเร็ว และวัตถุนิยมก็แพร่ระบาดไปทั่วประเทศ. ผมมีงานที่ให้รายได้ดีและสามารถซื้อหลายสิ่งที่เมื่อก่อนได้แค่ฝันถึง. เพื่อนของผมบางคนมีรถมอเตอร์ไซค์; ส่วนบางคนก็ปรับปรุงบ้านใหม่. ผมซื้อรถยนต์ใหม่เอี่ยมคันหนึ่ง. ไม่นานนัก ความปรารถนาที่จะมีความสะดวกสบายด้านวัตถุมากขึ้นก็เริ่มเบียดบังการรับใช้พระยะโฮวา. ผมรู้ว่าชีวิตผมกำลังมุ่งไปผิดทาง. แต่ยังดีที่การประชุมใหญ่ในปี 1950 ที่นครนิวยอร์กช่วยผมให้แก้ไขเปลี่ยนแปลงแนวทางของตัวเอง.
ในการประชุมนั้น ผู้บรรยายคนแล้วคนเล่าได้สนับสนุนผู้ฟังให้มุ่งหน้าไปในงานประกาศ. ผู้บรรยายคนหนึ่งกระตุ้นเราว่า “จงปลดของหนักทิ้งไป เหลือไว้แต่สิ่งที่จำเป็นจริง ๆ แล้วก็วิ่งแข่งต่อไป.” ฟังดูเหมือนกับว่าเขากำลังพูดกับผมโดยตรง. ผมยังได้เห็นพิธีมอบวุฒิบัตรแก่ผู้สำเร็จหลักสูตรโรงเรียนกิเลียดด้วย ซึ่งทำให้ผมคิดว่า ‘ถ้าพยานฯ เหล่านี้ซึ่งอายุรุ่นราวคราวเดียวกับผมสามารถสละความสะดวกสบายด้านวัตถุไปรับใช้ในต่างแดนได้
ผมก็น่าจะเต็มใจทำอย่างเดียวกันในประเทศของตัวเอง.’ เมื่อสิ้นสุดการประชุมใหญ่ครั้งนั้น ผมจึงตัดสินใจว่าจะเป็นไพโอเนียร์.ระหว่างนั้น ผมได้เริ่มติดต่อฝากรักกับเอฟลิน มอนดัก ซึ่งเป็นพี่น้องหญิงที่กระตือรือร้นในประชาคมของผม. แม่ของเอฟลินซึ่งเลี้ยงลูกหกคนเป็นผู้หญิงที่มีความกล้า. เธอชอบประกาศหน้าโบสถ์ใหญ่ของโรมันคาทอลิก. แม้นักเทศน์ที่โกรธแค้นไล่เธอให้ไปประกาศที่อื่นอยู่บ่อย ๆ เธอก็ยังปักหลักไม่ยอมไปไหน. เช่นเดียวกับแม่ของเธอ เอฟลินไม่กลัวหน้ามนุษย์.—สุภา. 29:25
ในปี 1951 ผมแต่งงานกับเอฟลิน ลาออกจากงานที่เราทำ และเริ่มเป็นไพโอเนียร์. ผู้ดูแลหมวดสนับสนุนเราให้ย้ายไปที่อามากันเซตต์ หมู่บ้านที่ตั้งอยู่บนชายฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติก ห่างจากนครนิวยอร์กไปประมาณ 160 กิโลเมตร. เมื่อพี่น้องที่ประชาคมนี้แจ้งให้เราทราบว่าพวกเขาไม่มีที่พักให้เรา เราจึงหารถพ่วงเพื่อใช้เป็นที่พัก แต่ก็หาคันที่เรามีเงินพอจะซื้อไม่ได้. แต่แล้วเราก็พบรถพ่วงคันหนึ่งที่สภาพชำรุดทรุดโทรม. เจ้าของเรียกราคา 31,500 บาท—เท่ากับจำนวนเงินที่เราได้รับเป็นของขวัญแต่งงานพอดิบพอดี. เราซื้อรถพ่วงคันนี้เอามาซ่อมแล้วก็พ่วงลากมันไปยังเขตทำงานใหม่ของเรา. แต่เราไปถึงที่นั่นโดยที่ไม่มีเงินเหลือแม้แต่สตางค์แดงเดียว และก็นึกสงสัยอยู่ว่าเราจะไปรอดหรือไม่ในฐานะไพโอเนียร์.
เอฟลินทำงานทำความสะอาดบ้าน และผมได้งานทำความสะอาดตอนดึกที่ภัตตาคารอาหารอิตาลี. เจ้าของภัตตาคารบอกผมว่า “ถ้ามีอาหารเหลือ ก็เอากลับบ้านไปให้ภรรยาคุณได้เลยนะ.” ดังนั้น เมื่อผมกลับถึงบ้านตอนตีสอง รถพ่วงของเราก็เต็มไปด้วยกลิ่นหอมอบอวลของพิซซ่าและพาสตา. อาหารอุ่นเสิร์ฟเหล่านี้นับเป็นลาภปากของเราโดยแท้ โดยเฉพาะในฤดูหนาวที่เราตัวสั่นงั่ก ๆ อยู่ในตู้รถพ่วงที่เย็นเฉียบ. นอกจากนั้น บางครั้งพี่น้องในประชาคมนำปลาตัวเบ้อเริ่มมาวางไว้ให้เราที่บันไดประตูรถพ่วง. ในช่วงหลายปีที่เรารับใช้ร่วมกับพี่น้องที่รักของเราในอามากันเซตต์ เราเรียนรู้ว่าการอิ่มใจพอใจกับสิ่งจำเป็นพื้นฐานทำให้เรามีชีวิตที่น่ายินดี. เรามีความสุขมากในช่วงนั้น.
เราถูกกระตุ้นให้ทุ่มเทมากขึ้น
ในเดือนกรกฎาคม 1953 เราได้ต้อนรับมิชชันนารีหลายร้อยคนที่มาจากเขตมอบหมายในต่างแดนเพื่อเข้าร่วมการประชุมนานาชาติที่นครนิวยอร์ก. พวกเขาเล่าประสบการณ์หลายเรื่องที่น่าทึ่ง. ความตื่นเต้นของพวกเขากระตุ้นคนอื่น ๆ ให้รู้สึกตื่นเต้นไปด้วย. นอกจากนั้น เมื่อผู้บรรยายคนหนึ่งในการประชุมเน้นว่ายังมีอีกหลายดินแดนที่ยังไม่เคยมีการประกาศข่าวสารเรื่องราชอาณาจักร เราก็รู้ว่าเราต้องทำอะไร—เรารู้ว่าเราต้องทุ่มเทมากขึ้นเพื่อขยายงานรับใช้ของเรา. ในการประชุมนั้นเอง เราได้ยื่นใบสมัครเพื่อจะรับการฝึกอบรมเป็นมิชชันนารี. ในปีเดียวกันนั้น เราได้รับเชิญให้เข้าเรียนในชั้นเรียนที่ 23 ของโรงเรียนกิเลียด ซึ่งเริ่มในเดือนกุมภาพันธ์ 1954. นับเป็นสิทธิพิเศษอย่างยิ่งจริง ๆ!
เรารู้สึกตื่นเต้นเมื่อรู้ว่าเราได้รับมอบหมายให้ไปรับใช้ที่บราซิล. ก่อนเราจะออกเดินทางซึ่งใช้เวลา 14 วันโดยเรือกลไฟ พี่น้องคนหนึ่งซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบที่เบเธลบอกผมว่า “มิชชันนารีหญิงโสดเก้าคนจะเดินทางไปบราซิลด้วยกันกับคุณและภรรยา. ดูแลพวกเธอให้ดีนะ!” คุณนึกภาพออกไหมว่าบรรดาลูกเรือมองผมอย่างขำ ๆ อย่างไรเมื่อเห็นผมเดินขึ้นเรือพร้อมกับมีสาวน้อยอีกสิบคนติดสอยห้อยตามมา? แต่พวกพี่น้องหญิงเหล่านี้ไม่มีปัญหาเลยในการรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าว. ถึงกระนั้น ผมรู้สึกโล่งใจเมื่อเราก้าวเหยียบแผ่นดินประเทศบราซิลอย่างปลอดภัย.
หลังจากเรียนภาษาโปรตุเกส ผมได้รับมอบหมายให้ทำงานหมวดในรีโอกรันดีโดซูล รัฐทางตอนใต้ของบราซิล. ผู้ดูแลหมวดที่ผมจะทำหน้าที่แทนเขา ซึ่งเป็นคนโสด บอกผมกับภรรยาว่า “ผมแปลกใจที่คู่สมรสถูกส่งมาที่นี่. ท้องที่นี้มันขรุขระ ไปไหนมาไหนลำบาก.” ประชาคมต่าง ๆ ตั้งอยู่กระจัดกระจายทั่วพื้นที่อันกว้างใหญ่ในชนบท และสามารถไปถึงบางประชาคมได้ด้วยรถบรรทุกเท่านั้น. ถ้าเราซื้ออาหารให้คนขับสักมื้อหนึ่ง เขาก็จะยอมให้เราปีนขึ้นไปนั่งบนหลังรถ. เรานั่งคร่อมบนห่อสินค้าเหมือนกับขี่ม้า สองมือจับเชือกรัดห่อสินค้าไว้แน่น. พอรถเข้าโค้งที่หักมาก ๆ ทีไร เราก็เป็นต้องหาอะไรยึดจับไว้อย่างสุดชีวิตเมื่อห่อสินค้าซึ่งกองเป็นตั้งสูงเอียงเอน ทำให้มองลงไปเห็นก้นหุบเหวลึกลิบลิ่ว. อย่างไรก็ดี เมื่อได้เห็นใบหน้าที่ฉายแววความสุขของพี่น้องซึ่งคอยท่าเราด้วยใจจดใจจ่อ เรารู้สึกว่าเป็นเรื่องที่คุ้มค่าความพยายามอย่างแท้จริงที่ต้องเดินทางยาวนานทั้งวันอย่างทรหดแบบนั้น.
เราพักที่บ้านของพี่น้อง. พวกเขายากจนมาก แต่นั่นไม่ได้ยับยั้งพวกเขาไว้จากการให้. ในพื้นที่โดดเดี่ยวห่างไกลแห่งหนึ่ง พี่น้องทั้งหมดทำงานในโรงงานบรรจุเนื้อ. ค่าแรงที่ต่ำมากทำให้พวกเขามีเงินพอจะซื้ออาหารกินได้แค่วันละมื้อ. วันไหนพวกเขาไม่ทำงาน พวกเขาก็จะไม่ได้ค่าแรง. ถึงจะอย่างนั้น ในช่วงที่เราไปเยี่ยม พวกเขาหยุดงานสองวันเพื่อสนับสนุนกิจกรรมของประชาคม. พวกเขาไว้วางใจพระยะโฮวา. พี่น้องที่ถ่อมใจเหล่านี้เป็นตัวอย่างที่สอนเราเกี่ยวกับการเสียสละเพื่อราชอาณาจักรของพระเจ้าซึ่งเราจะไม่มีวันลืมเลย. การได้อยู่ท่ามกลางพวกเขาทำให้เราได้เรียนรู้บทเรียนที่ไม่มีโรงเรียนไหนจะสอนเราได้. ผมคิดถึงพี่น้องเหล่านี้ทีไร น้ำตาแห่งความยินดีเป็นต้องคลอเบ้าทุกที.
ในปี 1976 เรากลับไปที่สหรัฐเพื่อดูแลแม่ผมที่ป่วย. เป็นเรื่องยากที่เราจะทำใจเมื่อต้องลาจากบราซิล แต่เรารู้สึกขอบคุณที่ได้เห็นการเติบโตอย่างน่าทึ่งของผู้ประกาศและประชาคมในประเทศนี้. เมื่อไรก็ตามที่เราได้รับจดหมายจากบราซิล ความทรงจำที่งดงามถึงช่วงเวลาอันวิ-เศษสุดในชีวิตของเราก็จะกลับมา.
พบเพื่อนรักอีกครั้ง
ในช่วงที่ดูแลแม่ เราเป็นไพโอเนียร์และรับงานทำความสะอาด. ในปี 1980 แม่ผมก็เสียชีวิตอย่างซื่อสัตย์ต่อพระยะโฮวา. หลังจากนั้น ผมได้รับเชิญให้รับใช้ในงานหมวดที่สหรัฐ. ในปี 1990 ผมกับภรรยาได้ไปเยี่ยมประชาคมหนึ่งในรัฐคอนเนตทิคัต และที่นั่นเราพบกับใครคนหนึ่งที่พิเศษมาก. ผู้ปกครองคนหนึ่งในประชาคมนั้นคือเบน—ใช่ เบนคนเดียวกันนี้แหละที่ได้ช่วยผมเมื่อประมาณ 50 ปีที่แล้วให้แสดงจุดยืนอยู่ฝ่ายพระยะโฮวา. คุณนึกภาพออกไหมว่าเรายินดีขนาดไหนขณะที่เราโอบกอดกัน?
ตั้งแต่ปี 1996 ผมกับเอฟลินรับใช้เป็นไพโอเนียร์พิเศษที่สุขภาพไม่แข็งแรงในประชาคมที่ใช้ภาษาโปรตุเกสในเมืองเอลิซาเบท รัฐนิวเจอร์ซีย์. ผมมีปัญหาสุขภาพ แต่ด้วยความช่วยเหลือจากภรรยาผู้เป็นที่รัก ผมร่วมทำงานรับใช้มากเท่าที่จะทำได้. เอฟลินยังได้ช่วยเพื่อนบ้านผู้สูงอายุคนหนึ่งซึ่งมีสภาพร่างกายอ่อนแอ. ชื่อของเธอหรือ? เบอร์ทา—ใช่ เบอร์ทาคนเดียวกันนี้แหละที่ได้ช่วยแม่ของผมให้เป็นผู้รับใช้ของพระยะโฮวาเมื่อกว่า 70 ปีที่แล้ว! เรายินดีที่มีโอกาสแสดงความขอบคุณสำหรับทุกสิ่งที่เธอได้ทำเพื่อช่วยครอบครัวผมให้เรียนความจริง.
ผมรู้สึกขอบคุณการประชุมใหญ่ในสมัยแรก ๆ ที่ผมได้เข้าร่วมซึ่งกระตุ้นใจผมให้ยึดจุดยืนเพื่อการนมัสการแท้, จัดชีวิตให้เรียบง่าย, และขยายงานรับใช้ของผม. ใช่แล้ว การประชุมเหล่านั้นส่งผลต่อวิถีชีวิตของผมอย่างแท้จริง.
[ภาพหน้า 23]
แม่ของเอฟลิน (ซ้าย) กับแม่ของผม
[ภาพหน้า 23]
เบนเพื่อนของผม
[ภาพหน้า 24]
ที่บราซิล
[ภาพหน้า 25]
ผมกับเอฟลินในปัจจุบัน