‘พระยะโฮวาทรงให้พระพักตร์ของพระองค์ส่องสว่างแก่พวกเขา’
‘พระยะโฮวาทรงให้พระพักตร์ของพระองค์ส่องสว่างแก่พวกเขา’
มีกล้ามเนื้อมากกว่า 30 มัดอยู่ในใบหน้ามนุษย์. ต้องใช้กล้ามเนื้อถึง 14 มัดทำงานประสานกันเพียงเพื่อจะทำให้คุณยิ้มได้! ลองนึกภาพว่าการสนทนาของคุณจะเป็นอย่างไรถ้าไม่มีกล้ามเนื้อเหล่านี้. จะดึงดูดใจไหม? ไม่เป็นอย่างนั้นแน่. แต่สำหรับคนหูหนวก กล้ามเนื้อที่ใบหน้าทำหน้าที่ไม่เพียงเพื่อทำให้การสนทนามีชีวิตชีวา. เมื่อรวมเข้ากับการออกท่าทาง การแสดงความรู้สึกทางใบหน้าเป็นวิธีสำคัญในการถ่ายทอดความคิดและแนวคิด. หลายคนพิศวงที่เห็นว่าภาษามือสามารถถ่ายทอดแม้กระทั่งความคิดที่ซับซ้อน ตลอดจนความคิดที่มีความหมายต่างกันเพียงเล็กน้อย.
เมื่อไม่นานมานี้ คนหูหนวกทั่วโลกได้เห็นใบหน้าที่มีการแสดงความรู้สึกและสีหน้ามากยิ่งกว่าใบหน้ามนุษย์คนใด ๆ. อาจกล่าวโดยนัยได้ว่า พวกเขาได้เห็น “พระพักตร์พระยะโฮวา.” (ทุกข์. 2:19) เรื่องนี้ไม่ได้เกิดขึ้นโดยบังเอิญ. พระยะโฮวาทรงแสดงความรักใหญ่ยิ่งต่อคนหูหนวกมานานแล้ว. พระองค์ทรงแสดงความรักอย่างนั้นตั้งแต่สมัยชาติอิสราเอลโบราณ. (เลวี. 19:14) ในสมัยปัจจุบัน ความรักของพระองค์ต่อคนหูหนวกก็เห็นได้ชัดเจนเช่นกัน. “[พระเจ้า] ทรงประสงค์ให้คนทุกชนิดรอดและได้รับความรู้ถ่องแท้เรื่องความจริง.” (1 ติโม. 2:4) ด้วยการได้รับความรู้ถ่องแท้เรื่องความจริงเกี่ยวกับพระเจ้า จึงราวกับว่าคนหูหนวกจำนวนมากได้เห็นพระพักตร์พระองค์. พวกเขาสามารถรับความรู้ถ่องแท้นั้นได้อย่างไรในเมื่อพวกเขาไม่ได้ยิน? ก่อนจะตอบคำถามนี้ ให้เราพิจารณาเหตุผลที่ภาษามือมีความสำคัญต่อคนหูหนวก.
การมองเห็นคือ การได้ยิน
มีข้อเข้าใจผิดมากมายเกี่ยวกับคนหูหนวกและภาษามือ. ให้เรามาแก้ข้อเข้าใจผิดบางอย่าง. คนหูหนวกสามารถขับขี่รถได้. การอ่านริมฝีปากเป็นเรื่องที่ยากอย่างยิ่งสำหรับคนหูหนวก. ภาษามือไม่เกี่ยวข้องอะไรเลยกับภาษาเบรลล์ และไม่ใช่เป็นเพียงการแสดงท่าทางแบบละครใบ้. ไม่มีภาษามือสากล. นอกจากนั้น ภาษามือในแต่ละท้องถิ่นยังมีลักษณะที่ต่างกันเล็กน้อย แบบเดียวกับที่ภาษาพูดมีสำเนียงของแต่ละท้องถิ่น.
คนหูหนวกอ่านได้ไหม? แม้ว่าบางคนอ่านได้ดี แต่ความจริงก็คือการอ่านเป็นเรื่องยากมากสำหรับคนหูหนวกส่วนใหญ่. เพราะเหตุใด? เพราะข้อความที่อยู่ในหน้าหนังสือทั้งหลายมีต้นกำเนิดมาจากภาษาพูด. ขอให้ลองพิจารณาวิธีที่เด็กหูดีเรียนภาษา. นับตั้งแต่เด็กเกิดมา รอบตัวเขามีแต่ผู้คนที่ใช้ภาษาซึ่งพูดกันในท้องถิ่น. เพียงชั่วเวลาสั้น ๆ เขาก็สามารถผูกคำเข้าด้วยกันเป็นประโยค. เรื่องนี้เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติจากการได้ยิน ภาษาพูด. ด้วยเหตุนั้น เมื่อเด็กหูดีเริ่มอ่านหนังสือ นั่นเป็นเพียงแค่เรื่องของการเรียนรู้จักตัวอักษรซึ่งอยู่บนกระดาษที่ตรงกับเสียงและคำที่พวกเขารู้จักอยู่แล้ว.
ทีนี้ ขอลองนึกภาพว่าตัวคุณเองไปอยู่ในต่างประเทศและอยู่ในห้องกระจกกันเสียง. คุณไม่เคยได้ยินภาษาพูดของประเทศนั้นเลย. แต่ละวัน มีคนท้องถิ่นมาหาคุณและพยายามพูดกับคุณผ่านกระจก. คุณไม่สามารถได้ยินว่าพวก
เขาพูดอะไร. คุณเห็นเพียงแค่ว่าพวกเขาขยับปาก. เมื่อเห็นว่าคุณไม่เข้าใจ พวกเขาจึงเขียนข้อความที่ต้องการพูดบนแผ่นกระดาษ แล้วให้คุณดูทางกระจก. พวกเขาคิดว่าคุณคงจะเข้าใจข้อความนั้นได้. คุณคิดว่าคุณจะเข้าใจได้แค่ไหน? คุณคงพบว่าแทบเป็นไปไม่ได้เลยที่จะสื่อความกันในสถานการณ์แบบนี้. เพราะเหตุใด? เพราะสิ่งที่พวกเขาเขียนนั้นใช้แทนภาษาพูดที่คุณไม่เคยได้ยินมาก่อน. คนหูหนวกส่วนใหญ่อยู่ในสถานการณ์แบบนี้แหละ.ภาษามือเป็นวิธีสื่อสารที่สมบูรณ์แบบสำหรับคนหูหนวก. บุคคลคนหนึ่งใช้ท่าทางเพื่อสร้างแนวคิดต่าง ๆ ขึ้นในบริเวณพื้นที่รอบ ๆ ตัวเขา. การเคลื่อนไหวของเขาในพื้นที่ดังกล่าวพร้อมกับการแสดงออกทางใบหน้าเป็นไปตามหลักไวยากรณ์ของภาษามือ. โดยวิธีนี้ ภาษาที่อาศัยการมองเห็นจึงถูกสร้างขึ้นมา ซึ่งทำให้เป็นไปได้ที่จะถ่ายทอดข้อมูลไปที่ตา.
ที่จริง เกือบจะทุกความเคลื่อนไหวที่คนหูหนวกทำโดยอาศัยมือ, ร่างกาย, และใบหน้าขณะที่เขากำลังสื่อความล้วนมีความหมาย. การแสดงออกทางใบหน้าไม่ได้เป็นเพียงแค่เพื่อให้เกิดผลกระทบที่เร้าอารมณ์เท่านั้น แต่เป็นส่วนสำคัญของไวยากรณ์ภาษามือ. ตัวอย่างเช่น การถามคำถามพร้อมกับเลิกคิ้วขึ้นอาจเป็นการระบุว่าเป็นคำถามเชิงวาทศิลป์ หรือจะเป็นคำถามที่ต้องการให้ตอบว่าใช่หรือไม่ใช่ก็ได้. ถ้าขมวดคิ้ว นั่นอาจเป็นการถามว่า ใคร, อะไร, ที่ไหน, เมื่อไร, ทำไม, หรืออย่างไร. การเคลื่อนไหวปากบางลักษณะอาจเป็นวิธีบอกขนาดของวัตถุหรือความหนักเบาของการกระทำ. วิธีที่คนหูหนวกเคลื่อนไหวศีรษะ, ยักไหล่, ขยับกระพุ้งแก้ม, และกะพริบตาล้วนแต่เป็นการเสริมความหมายที่เป็นรายละเอียดปลีกย่อยเข้ากับแนวคิดที่ต้องการถ่ายทอด.
การเคลื่อนไหวทางกายเหล่านี้ช่วยให้ผู้ที่มองดูเข้าใจข้อมูลในแบบที่น่าเพลิดเพลิน. โดยใช้รูปแบบการแสดงออกที่หลากหลายอย่างนี้ คนหูหนวกที่รู้ภาษามือดีก็พร้อมที่จะสื่อความแนวคิดใด ๆ ก็ตาม—ตั้งแต่บทกวีไปจนถึงเรื่องทางเทคนิค, ตั้งแต่เรื่องรักโรแมนติกไปจนถึงเรื่องตลกขบขัน, ตั้งแต่เรื่องที่สัมผัสจับต้องได้ไปจนถึงเรื่องที่เป็นนามธรรม.
สิ่งพิมพ์ในรูปดีวีดีภาษามือเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง
เมื่อความรู้เกี่ยวกับพระยะโฮวาถูกแสดงให้เห็นภาพในภาษามือ คนหูหนวกก็ราวกับสามารถได้ยินข่าวสารและ “เชื่อ” ในพระเจ้าผู้เป็นต้นกำเนิดข่าวสารนี้. ด้วยเหตุนั้น พยานพระยะโฮวาได้พยายามอย่างมากที่จะประกาศกับคนหูหนวกทั่วโลกและจัดเตรียมสิ่งที่จะช่วยให้พวกเขาได้รับประโยชน์. (โรม 10:14) ปัจจุบัน มีทีมแปลภาษามือ 58 ทีมทั่วโลก และสิ่งพิมพ์ในรูปดีวีดีภาษามือก็มีแล้วใน 40 ภาษา. งานทั้งหมดนี้คุ้มค่าไหม?
เจเรมี ซึ่งพ่อแม่เป็นคนหูหนวก กล่าวว่า “ผมจำได้ว่าพ่อผมเคยใช้เวลาหลายชั่วโมงในห้องนอนเพื่อศึกษาอย่างหนัก พยายามจะเข้าใจข้อความเพียงไม่กี่ย่อหน้าของบทความหนึ่งในหอสังเกตการณ์. แล้วพ่อก็พรวดออกมาจากห้องนอนและส่งภาษามืออย่างตื่นเต้นว่า ‘พ่อเข้าใจแล้วล่ะ! พ่อ
เข้าใจแล้ว!’ แล้วพ่อก็อธิบายความหมายของเรื่องนั้นกับผม. ตอนนั้นผมอายุแค่ 12 ขวบ. ผมกวาดตาอ่านข้อความนั้นแล้วก็ส่งภาษามือไปว่า ‘พ่อครับ ผมว่ามันไม่ได้หมายความอย่างนั้นหรอก. จริง ๆ แล้ว . . . ’ พ่อยกมือบอกให้ผมหยุดพูด และกลับเข้าไปในห้องเพื่อจะคิดเองว่าข้อความที่เขียนในย่อหน้าเหล่านั้นหมายถึงอะไร. ผมจะไม่มีวันลืมสีหน้าที่แสดงถึงความผิดหวังของพ่อ และความรู้สึกชื่นชมของผม ขณะที่ผมมองพ่อเดินกลับเข้าไปในห้องนอน. อย่างไรก็ตาม ดีวีดีภาษามือที่มีอยู่ในตอนนี้ช่วยให้พ่อเข้าใจข้อมูลต่าง ๆ ได้ดีขึ้นมาก. ผมไม่ได้คิดไปเองว่าผมเห็นใบหน้าของพ่อฉายแววแห่งความสุขเมื่อท่านสื่อความว่าท่านรู้สึกอย่างไรเกี่ยวกับพระยะโฮวา.”ขอพิจารณาด้วยถึงประสบการณ์ของคู่สมรสพยานฯ ซึ่งได้พูดกับเฮสเซเนีย หญิงสาวหูหนวกคนหนึ่งที่ประเทศชิลี. หลังจากได้รับอนุญาตจากแม่ของเธอให้ฉายดีวีดีหนังสือของฉันเกี่ยวด้วยเรื่องราวในพระคัมภีร์ไบเบิ้ล ในภาษามือชิลีให้เฮสเซเนียดู พวกเขารายงานว่า “เมื่อเฮสเซเนียเริ่มดูดีวีดีนี้ เธอก็เริ่มหัวเราะแล้วก็ร้องไห้. เมื่อแม่ถามว่าทำไมเธอจึงร้องไห้ เธอตอบว่าเพราะเธอชอบเรื่องที่เธอกำลังดู. แม่ของเธอจึงได้รู้ว่าเธอสามารถเข้าใจทุกสิ่งที่อยู่ในดีวีดี.”
หญิงหูหนวกซึ่งอาศัยอยู่ในเขตชนบทของเวเนซุเอลามีลูกคนหนึ่ง และเธอกำลังตั้งครรภ์ลูกคนที่สอง. เธอกับสามีคิดว่าคงไม่มีเงินพอจะเลี้ยงลูกอีกคนได้ พวกเขาจึงคิดจะทำแท้ง. โดยที่ไม่รู้เรื่องนี้เลย พยานพระยะโฮวาได้แวะเยี่ยมที่บ้านของพวกเขาและเปิดดีวีดีพระผู้สร้างทรงเรียกร้องอะไรจากเรา? ในภาษามือเวเนซุเอลา บทที่ 12 ให้ทั้งสองดู. บทนี้อธิบายเกี่ยวกับทัศนะของพระเจ้าในเรื่องการทำแท้งและการฆ่าคน. ต่อมา สตรีคนนี้บอกพยานฯ ว่าเธอรู้สึกขอบคุณจริง ๆ ที่เธอได้ศึกษาบทเรียนดังกล่าว. เธอกล่าวว่าเพราะบทเรียนนี้เธอกับสามีจึงตัดสินใจไม่ทำแท้ง. เด็กคนหนึ่งรอดชีวิตด้วยความช่วยเหลือจากดีวีดีภาษามือ!
ลอร์เรน พยานฯ หูหนวกคนหนึ่ง อธิบายว่า “การเรียนคัมภีร์ไบเบิลเป็นเหมือนกับการต่อภาพจิกซอว์ขนาดใหญ่. มีช่องว่าง หรือมีชิ้นส่วนที่ขาดหายไป ในความเข้าใจของดิฉันเกี่ยวกับภาพรวมทั้งหมด. แต่เมื่อความจริงในคัมภีร์ไบเบิลมีให้เรียนรู้ได้มากขึ้นในภาษามือ ช่องว่างเหล่านั้นก็ถูกเติมเต็ม.” จอร์จ ซึ่งหูหนวกและเป็นพยานฯ มา 38 ปีแล้ว กล่าวว่า “ไม่มีข้อสงสัยเลยว่าความสามารถในการเข้าใจด้วยตัวเองทำให้เรานับถือและมั่นใจตัวเองมากขึ้น. ผมคิดว่าดีวีดีภาษามือก่อผลกระทบต่อการเติบโตฝ่ายวิญญาณของผมเองอย่างใหญ่หลวงเลยทีเดียว.”
“มีการประชุมในภาษาของผมเอง!”
นอกจากดีวีดีภาษามือแล้ว พยานพระยะโฮวายังได้จัดตั้งประชาคมซึ่งมีการจัดรายการประชุมทั้งหมดในภาษามือด้วย. ปัจจุบัน มีประชาคมภาษามือทั่วโลกมากกว่า 1,100 ประชาคม. มีการบรรยายกับผู้เข้าร่วมการประชุมที่เป็นคนหูหนวกในภาษาของพวกเขา และมีการสอนความจริงในคัมภีร์ไบเบิลแบบที่คนหูหนวกคิด คือโดยใช้ภาษาของพวก
เขา. ความจริงได้รับการถ่ายทอดแบบที่แสดงความนับถือต่อวัฒนธรรมและประสบการณ์ชีวิตของพวกเขา.การตั้งประชาคมภาษามือเป็นประโยชน์ไหม? ขอให้พิจารณาประสบการณ์ของซีริล ซึ่งรับบัพติสมาเป็นพยานพระยะโฮวาในปี 1955. เขาพยายามศึกษาหนังสือต่าง ๆ เท่าที่เขาสามารถทำได้และเข้าร่วมการประชุมคริสเตียนเป็นประจำอยู่หลายปี. บางครั้งมีผู้แปลภาษามือ แต่บางครั้งก็ไม่มี. เมื่อไม่มีผู้แปลเลย เขาก็ต้องพึ่งพี่น้องที่พยายามช่วยเขาด้วยความรักโดยเขียนบอกเขาสั้น ๆ ว่ากำลังมีการพิจารณาอะไรจากเวที. ต้องรอจนถึงปี 1989 เมื่อเขาเป็นพยานฯ มานานถึง 34 ปี จึงได้มีการตั้งประชาคมภาษามือแห่งแรกขึ้นในกรุงนิวยอร์ก สหรัฐ. ในฐานะสมาชิกคนหนึ่งในประชาคมนั้น ซีริลรู้สึกอย่างไร? “มันเหมือนกับว่าได้ออกจากป่า เหมือนกับโผล่พ้นอุโมงค์อันมืดมิดออกมาสู่ความสว่าง. ในที่สุดก็มีการประชุมในภาษาของผมเอง!”
ประชาคมภาษามือของพยานพระยะโฮวาเป็นสถานที่ซึ่งคนหูหนวกสามารถมาประชุมกันเป็นประจำเพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับพระเจ้าและนมัสการพระองค์. ประชาคมเหล่านี้เป็นสถานที่ซึ่งประชาชนของพระเจ้าสามารถเสริมสร้างสายสัมพันธ์และหนุนใจกัน. ในโลกที่คนหูหนวกอาจถูกตัดขาดทางภาษาและทางสังคม ประชาคมเหล่านี้เป็นแหล่งพักพิงที่พวกเขาจะสามารถสื่อความและคบหาสมาคมกัน. ในสภาพแวดล้อมแบบนั้น คนหูหนวกสามารถเรียนรู้, เติบโต, และรับใช้พระยะโฮวาได้มากขึ้น. พยานฯ ที่หูหนวกหลายคนสามารถรับใช้เป็นผู้เผยแพร่เต็มเวลา. บางคนได้ย้ายไปประเทศอื่นเพื่อช่วยคนหูหนวกเรียนรู้เกี่ยวกับพระยะโฮวา. ผู้ชายคริสเตียนที่หูหนวกเรียนรู้ที่จะเป็นผู้สอน, ผู้จัดระเบียบ, และผู้บำรุงเลี้ยงที่มีประสิทธิภาพ และหลายคนจึงสามารถมีคุณสมบัติที่จะทำหน้าที่รับผิดชอบในประชาคม.
ในสหรัฐ มีประชาคมภาษามือมากกว่า 100 ประชาคมและมีกลุ่มภาษามือประมาณ 80 กลุ่ม. ในบราซิล มีประชาคมภาษามือประมาณ 300 ประชาคม และอีกกว่า 400 กลุ่ม. มีประชาคมภาษามือเกือบ 300 ประชาคมในเม็กซิโก. รัสเซียมีประชาคมภาษามือมากกว่า 30 ประชาคมและ 113 กลุ่ม. นี่เป็นเพียงแค่ไม่กี่ตัวอย่างของการเติบโตที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก.
พยานพระยะโฮวายังจัดการประชุมหมวด, การประชุมพิเศษ, และการประชุมภาคภาษามือด้วย. ปีที่แล้ว มีการจัดการประชุมภาคขึ้นมากกว่า 120 แห่งทั่วโลกในภาษามือต่าง ๆ หลายภาษา. การประชุมเหล่านี้ทำให้พยานฯ ที่หูหนวกเห็นได้ว่า พวกเขาเป็นส่วนหนึ่งของสังคมพี่น้องคริสเตียนทั่วโลกซึ่งได้รับประโยชน์จากอาหารฝ่ายวิญญาณตามเวลา.
เลนนาร์ดเป็นคนหูหนวกและเป็นพยานพระยะโฮวามานานกว่า 25 ปี. เขาเล่าว่า “ผมรู้มาโดยตลอดว่าพระยะโฮวาทรงเป็นพระเจ้าองค์เที่ยงแท้. แต่ผมไม่เคยเข้าใจอย่างชัดเจนว่าทำไมพระองค์ทรงยอมให้มีความทุกข์. บางครั้ง เรื่องนี้ทำให้ผมรู้สึกโกรธพระองค์. แต่ในคำบรรยายหนึ่ง ณ การประชุมภาคภาษามือ ผมได้มาเข้าใจประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ในที่สุด. เมื่อคำบรรยายจบลง ภรรยาผมใช้ศอกกระทุ้งผมแล้วถามว่า ‘คุณได้คำตอบที่จุใจแล้วหรือยัง?’ ผมสามารถบอกว่าใช่ได้อย่างจริงใจ! หลังจากที่เวลาผ่านไป 25 ปี ผมรู้สึกขอบคุณที่ผมไม่ได้ทิ้งพระยะโฮวา. ผมรักพระองค์เสมอ แต่ว่าผมไม่เข้าใจพระองค์อย่างเต็มที่. เดี๋ยวนี้ ผมเข้าใจแล้ว!”
ขอบคุณจากหัวใจ
“การแสดงออก” อะไรบนพระพักตร์พระยะโฮวาที่คนหูหนวกเห็นเมื่อได้เรียนรู้เกี่ยวกับพระองค์? ความรัก, ความปรานี, ความยุติธรรม, ความภักดี, ความกรุณารักใคร่—และคุณลักษณะอื่น ๆ อีกมาก.
ในเวลานี้ สังคมนานาชาติของพยานพระยะโฮวาที่เป็นคนหูหนวกกำลังเห็นพระพักตร์พระยะโฮวาและจะเห็นชัดยิ่งขึ้นเรื่อย ๆ. ด้วยความรักจากพระทัยของพระองค์ต่อคนหูหนวก ‘พระยะโฮวาทรงให้พระพักตร์ของพระองค์ส่องสว่างแก่พวกเขา.’ (อาฤ. 6:25) คนหูหนวกเหล่านี้รู้สึกขอบคุณมากเพียงไรที่พวกเขาได้มารู้จักพระยะโฮวา!
[ภาพหน้า 25]
มีประชาคมภาษามือทั่วโลกมากกว่า 1,100 ประชาคม
[ภาพหน้า 26]
พระพักตร์พระยะโฮวาส่องสว่างแก่คนหูหนวก