‘จงตื่นตัว’
‘จงตื่นตัว’
“อวสานของทุกสิ่งมาใกล้แล้ว. . . . จง . . . ตื่นตัวและเอาใจใส่ในการอธิษฐาน.”—1 เป. 4:7.
1. สาระสำคัญของคำสอนของพระเยซูคืออะไร?
เมื่อพระเยซูคริสต์ทรงอยู่บนแผ่นดินโลก สาระสำคัญของคำสอนของพระองค์คือราชอาณาจักรของพระเจ้า. พระยะโฮวาจะใช้ราชอาณาจักรนี้เพื่อพิสูจน์ว่าพระองค์ทรงมีสิทธิอย่างถูกต้องในการปกครองเหนือสิ่งทรงสร้างทั้งสิ้นและจะทำให้พระนามของพระองค์เป็นที่นับถืออันบริสุทธิ์. ด้วยเหตุนั้น พระเยซูทรงสอนเหล่าสาวกให้อธิษฐานถึงพระเจ้าว่า “ขอให้ราชอาณาจักรของพระองค์มาเถิด. ขอให้พระประสงค์ของพระองค์สำเร็จบนแผ่นดินโลกเช่นเดียวกับในสวรรค์.” (มัด. 4:17; 6:9, 10) อีกไม่นาน รัฐบาลราชอาณาจักรจะนำอวสานมาสู่โลกของซาตาน แล้วก็คอยดูแลให้มีการทำตามพระประสงค์ของพระเจ้าทั่วทั้งโลก. ดังที่ดานิเอลบอกไว้ล่วงหน้า ราชอาณาจักรของพระเจ้า “จะทำลายอาณาจักรอื่น ๆ [ในปัจจุบัน] ลงให้ย่อยยับและเผาผลาญเสียสิ้น, และอาณาจักรนี้จะดำรงอยู่เป็นนิจ.”—ดานิ. 2:44.
2. (ก) เหล่าสาวกของพระเยซูจะรู้โดยวิธีใดว่าพระองค์ทรงประทับเมื่อรับอำนาจแห่งราชอาณาจักรแล้ว? (ข) สัญญาณนั้นจะบ่งบอกอะไรด้วย?
2 เนื่องจากการมาของราชอาณาจักรของพระเจ้ามีความสำคัญมากสำหรับเหล่าสาวกของพระเยซู พวกเขาจึงถามพระองค์ว่า “อะไรจะเป็นสัญญาณบอกว่าพระองค์ประทับอยู่และบอกว่าเป็นช่วงสุดท้ายของยุค?” (มัด. 24:3) จะต้องมีสัญญาณที่มองเห็นได้ เพราะคนที่อยู่บนแผ่นดินโลกจะไม่อาจมองเห็นการประทับของพระคริสต์เมื่อรับอำนาจแห่งราชอาณาจักรแล้ว. จะมีหลายสิ่งซึ่งได้บอกไว้ล่วงหน้าในพระคัมภีร์ที่ประกอบกันเป็นสัญญาณดังกล่าว. ด้วยเหตุนั้น เหล่าสาวกของพระเยซูที่มีชีวิตในเวลานั้นจึงสามารถมองออกว่าพระองค์ได้เริ่มปกครองแล้วในสวรรค์. นอกจากนั้น สัญญาณดังกล่าวจะเป็นจุดเริ่มต้นของช่วงเวลาซึ่งเป็นที่รู้จักกันในคัมภีร์ไบเบิลว่า “สมัยสุดท้าย” ของระบบชั่วที่ครอบงำโลกนี้อยู่.—2 ติโม. 3:1-5, 13; มัด. 24:7-14.
จงตื่นตัวในสมัยสุดท้าย
3. เหตุใดคริสเตียนจำเป็นต้องตื่นตัว?
3 อัครสาวกเปโตรเขียนว่า “อวสานของทุกสิ่งมาใกล้แล้ว. ฉะนั้น จงมีสติ คอยตื่นตัวและเอาใจใส่ในการอธิษฐาน.” (1 เป. 4:7) เหล่าสาวกของพระเยซูจำเป็นต้องตื่นตัว คอยสังเกตเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในโลกซึ่งชี้ว่าพระองค์ทรงประทับเพื่อรับอำนาจแห่งราชอาณาจักรแล้ว. และ พวกเขาต้องตื่นตัวมากยิ่งขึ้นเมื่ออวสานของยุคปัจจุบันอันชั่วช้าใกล้เข้ามา. พระเยซูทรงบอกเหล่าสาวกว่า “จงเฝ้าระวังอยู่เสมอ เพราะเจ้าทั้งหลายไม่รู้ว่าเจ้าของบ้านจะมา [ลงโทษโลกของซาตานตามคำพิพากษา] เมื่อไร.”—มโก. 13:35, 36.
4. จงเทียบให้เห็นความแตกต่างระหว่างเจตคติของผู้คนที่เป็นส่วนของโลกซาตานกับเจตคติของผู้รับใช้พระยะโฮวา. (รวมความเห็นจากกรอบด้วย.)
4 ผู้คนทั่วไปอยู่ใต้อิทธิพลของซาตาน และพวกเขาไม่ได้คอยสังเกตความหมายของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในโลก. พวกเขาไม่ได้สังเกตและเข้าใจเกี่ยวกับการประทับของพระคริสต์เมื่อรับอำนาจแห่งราชอาณาจักร. แต่เหล่าสาวกแท้ของพระคริสต์ตื่นตัวอยู่ตลอดและพวกเขาสังเกตเข้าใจความหมายที่แท้จริงของสิ่งที่เกิดขึ้นในศตวรรษที่ผ่านไป. นับตั้งแต่ปี 1925 พยานพระยะโฮวาตระหนักว่าสงครามโลกครั้งที่ 1 และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหลังจากนั้นเป็นหลักฐานที่เสริมให้มั่นใจว่าการประทับของพระคริสต์เมื่อรับอำนาจแห่งราชอาณาจักรสวรรค์เริ่มต้นในปี 1914. ด้วยเหตุนั้น สมัยสุดท้ายของยุคชั่วนี้ที่อยู่ใต้อำนาจซาตานได้เริ่มต้นแล้ว. หลายคนที่ช่างสังเกต แม้ไม่รู้ความหมาย ต่างก็ตระหนักว่ามีความแตกต่างอย่างมากระหว่างช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 กับช่วงเวลาหลังจากนั้น.—ดูกรอบ “สมัยที่ปั่นป่วนวุ่นวายเริ่มต้นขึ้น.”
5. เหตุใดจึงสำคัญอย่างยิ่งที่เราต้องตื่นตัวต่อ ๆ ไป?
5 ถึงตอนนี้ก็เป็นเวลาเกือบหนึ่งศตวรรษแล้ว เหตุการณ์ต่าง ๆ อันน่าขนพองสยองเกล้าที่เกิดขึ้นทั่วโลกพิสูจน์ว่าเรามีชีวิตอยู่ในสมัยสุดท้าย. มีเวลาเหลืออยู่น้อยมากก่อนที่พระยะโฮวาจะทรงมีบัญชาให้พระคริสต์นำกองกำลังทูตสวรรค์ที่มีฤทธิ์มาทำลายโลกของซาตาน. (วิ. 19:11-21) มีคำสั่งให้คริสเตียนแท้เฝ้าระวังอยู่เสมอ. ดังนั้น เป็นเรื่องเร่งด่วนที่เราจะทำอย่างนั้นต่อ ๆ ไปขณะที่เราคอยท่าจะเห็นอวสานของระบบนี้. (มัด. 24:42) เราต้องเฝ้าระวังอยู่เสมอ และด้วยการชี้นำจากพระคริสต์ เราต้องทำงานอย่างหนึ่งให้สำเร็จไปทั่วโลก.
งานที่ต้องทำทั่วโลก
6, 7. มีความก้าวหน้าอย่างไรเกี่ยวกับงานประกาศเรื่องราชอาณาจักรในสมัยสุดท้าย?
6 งานที่ผู้รับใช้พระยะโฮวาต้องทำนั้นมีบอกไว้ล่วงหน้า โดยที่เป็นส่วนหนึ่งของสัญญาณซึ่งชี้ว่าเราอยู่ในสมัยสุดมัด. 24:14.
ท้ายของระบบชั่วในปัจจุบัน. พระเยซูทรงพรรณนางานนี้ซึ่งจะทำกันทั่วโลกเมื่อพระองค์ตรัสถึงหลายสิ่งที่จะเกิดขึ้นในเวลาอวสาน. คำพยากรณ์ของพระองค์รวมคำตรัสที่มีความหมายสำคัญนี้ด้วย ที่ว่า “ข่าวดีเรื่องราชอาณาจักรจะได้รับการประกาศไปทั่วแผ่นดินโลกที่มีคนอาศัยอยู่เพื่อให้พยานหลักฐานแก่ทุกชาติ แล้วอวสานจะมาถึง.”—7 ขอให้นึกถึงข้อเท็จจริงบางอย่างที่เกี่ยวข้องกับคำพยากรณ์ส่วนนี้ของพระเยซู. จำนวนคนที่ประกาศข่าวดีเมื่อสมัยสุดท้ายเริ่มขึ้นในปี 1914 มีน้อยมาก. เวลานี้จำนวนผู้ประกาศได้เพิ่มขึ้นอย่างมาก. มีพยานพระยะโฮวากว่า 7,000,000 คนทำงานประกาศอยู่ทั่วโลก โดยได้รับการจัดระเบียบเป็นประชาคมต่าง ๆ มากกว่า 100,000 ประชาคม. มีคนอื่น ๆ อีกประมาณ 10,000,000 คนที่ประชุมด้วยกันกับพยานพระยะโฮวาในปี 2008 ในการประชุมอนุสรณ์ระลึกถึงการสิ้นพระชนม์ของพระคริสต์. จำนวนผู้เข้าร่วมเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้านั้นมากทีเดียว.
8. เหตุใดการต่อต้านไม่ได้ขัดขวางความสำเร็จของงานประกาศ?
8 นับเป็นการให้คำพยานเรื่องราชอาณาจักรของพระเจ้าในทุกชาติที่กว้างขวางใหญ่โตจริง ๆ ก่อนที่อวสานของยุคนี้จะมาถึง! ความก้าวหน้าอย่างนั้นเกิดขึ้นทั้ง ๆ ที่ซาตานเป็น “พระเจ้าของยุคนี้.” (2 โค. 4:4) องค์ประกอบทั้งหมดของโลกนี้ ทั้งการเมือง, ศาสนา, และการค้า ตลอดจนช่องทางในการโฆษณาชวนเชื่อของโลก ถูกควบคุมโดยซาตาน. ถ้าอย่างนั้น เหตุผลที่งานให้คำพยานสำเร็จผลอย่างน่าทึ่งเช่นนั้นคืออะไร? งานนี้ได้รับการหนุนหลังจากพระยะโฮวา. ด้วยเหตุนั้น งานประกาศเรื่องราชอาณาจักรดำเนินต่อไปอย่างน่าพิศวงแม้ว่าซาตานพยายามจะทำให้งานนี้ยุติลง.
9. เหตุใดจึงอาจกล่าวได้ว่าความรุ่งเรืองฝ่ายวิญญาณของเราเป็นเรื่องมหัศจรรย์?
9 อาจพรรณนาถึงความสำเร็จของงานประกาศเรื่องราชอาณาจักรและความเติบโตรุ่งเรืองฝ่ายวิญญาณของประชาชนของพระยะโฮวาได้ว่าเป็นเรื่องมหัศจรรย์. หากไม่มีการสนับสนุนจากพระเจ้า ซึ่งก็รวมถึงการที่พระองค์ทรงชี้นำและปกป้องประชาชนของพระองค์ งานประกาศย่อมไม่มีทางเป็นไปได้. (อ่านมัดธาย 19:26.) เราสามารถมั่นใจว่าเนื่องจากพระวิญญาณบริสุทธิ์ของพระเจ้าช่วยกระตุ้นหัวใจของผู้คนที่ตื่นตัวซึ่งเต็มใจจะรับใช้ งานประกาศนี้จะ ดำเนินไปจนสำเร็จเสร็จสิ้น “แล้วอวสานจะมาถึง.” เวลานั้นกำลังใกล้จะถึงอยู่แล้ว.
“ความทุกข์ลำบากครั้งใหญ่”
10. พระเยซูทรงพรรณนาความทุกข์ลำบากครั้งใหญ่ที่กำลังจะมาถึงอย่างไร?
10 อวสานของยุคชั่วนี้จะเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่เรียกว่า “ความทุกข์ลำบากครั้งใหญ่.” (วิ. 7:14) คัมภีร์ไบเบิลไม่ได้บอกเราว่าช่วงเวลานั้นจะนานเท่าไร แต่พระเยซูตรัสว่า “ในเวลานั้นจะมีความทุกข์ลำบากใหญ่อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นเลยตั้งแต่เริ่มมีมนุษย์โลกจนบัดนี้ และจะไม่เกิดขึ้นอีกเลย.” (มัด. 24:21) เมื่อเราพิจารณาความทุกข์ลำบากที่โลกนี้เคยประสบมาแล้ว เช่น ในสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อมีคนประมาณ 50 ถึง 60 ล้านคนเสียชีวิต ความทุกข์ลำบากครั้งใหญ่ที่กำลังจะมาถึงจะต้องรุนแรงอย่างยิ่งจริง ๆ. ความทุกข์ลำบากครั้งใหญ่จะไปถึงจุดสุดยอดในสงครามอาร์มาเก็ดดอน. นั่นคือตอนที่พระยะโฮวาจะส่งกองกำลังสำเร็จโทษของพระองค์ให้ทำลายระบบทั้งสิ้นของซาตานที่อยู่บนโลกจนไม่เหลือร่องรอยอีกต่อไป.—วิ. 16:14, 16.
11, 12. เหตุการณ์อะไรเป็นสัญญาณบอกให้รู้ว่าความทุกข์ลำบากครั้งใหญ่เริ่มต้นแล้ว?
11 คำพยากรณ์ในคัมภีร์ไบเบิลไม่ได้บอกว่าช่วงแรกของความทุกข์ลำบากครั้งใหญ่จะเกิดขึ้นเมื่อไร. อย่างไรก็ตาม มีคำพยากรณ์บอกให้เรารู้ว่าจะมีเหตุการณ์พิเศษอะไรเกิดขึ้นซึ่งเป็นสัญญาณว่าความทุกข์ลำบากครั้งใหญ่เริ่มต้นแล้ว. เหตุการณ์ดังกล่าวก็คือการที่อำนาจทางการเมืองจะทำลายศาสนาเท็จทั้งหมด. ในคำพยากรณ์ของพระคัมภีร์ซึ่งพบที่วิวรณ์บท 17 และ 18 ศาสนาเท็จถูกเปรียบเหมือนกับหญิงแพศยาซึ่งทำผิดประเวณีกับระบอบทางการเมืองของโลก. วิวรณ์ 17:16 แสดงให้เห็นว่าในอีกไม่ช้าองค์ประกอบทางการเมืองเหล่านี้ “จะพากันเกลียดชังหญิงแพศยานั้นและล้างผลาญนางและทำให้นางเปลือยกายแล้วจะกินเนื้อนางและเอาไฟเผานางจนสิ้นซาก.”
12 เมื่อถึงเวลาที่เหตุการณ์ดังกล่าวจะเกิดขึ้น พระเจ้าจะ “ทรงดลใจพวกเขา [ผู้ปกครองทางการเมือง] ให้ทำตามความคิดของพระองค์” ด้วยการทำลายศาสนาเท็จทั้งสิ้น. (วิ. 17:17) ดังนั้น จึงกล่าวได้ว่าการทำลายนี้มาจากพระเจ้า. การทำลายนี้เป็นการพิพากษาลงโทษศาสนาที่หน้าซื่อใจคดซึ่งสอนหลักคำสอนที่ตรงกันข้ามกับพระประสงค์ของพระเจ้าและข่มเหงผู้รับใช้ของพระองค์มานาน. ผู้คนโดยทั่วไปในโลกไม่คาดคิดเลยว่าอีกไม่นานศาสนาเท็จจะถูกทำลายอย่างนี้. แต่ผู้รับใช้ที่ซื่อสัตย์ของพระยะโฮวาคาดหมายว่าจะเห็นเหตุการณ์นี้. และพวกเขาบอกผู้คนให้ทราบเรื่องนี้ตลอดช่วงสมัยสุดท้าย.
13. อะไรแสดงว่าอวสานของศาสนาเท็จจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว?
13 ผู้คนที่เห็นศาสนาเท็จถูกทำลายจะตระหนกตกใจอย่างยิ่ง. คำพยากรณ์ในคัมภีร์ไบเบิลบอกว่าแม้แต่ “กษัตริย์ทั้งหลายแห่งแผ่นดินโลก” บางองค์ก็จะกล่าวถึงการทำลายนั้นว่า “น่าเสียดาย น่าเสียดาย . . . เพราะในชั่วโมงเดียวการพิพากษาก็มาถึงเจ้าแล้ว!” (วิ. 18:9, 10, 16, 19) การที่คัมภีร์ไบเบิลใช้คำ “ชั่วโมงเดียว” แสดงว่าเหตุการณ์นี้จะเกิดขึ้นค่อนข้างรวดเร็ว.
14. เมื่อในที่สุดศัตรูของพระยะโฮวาหันมาโจมตีผู้รับใช้ของพระองค์ พระเจ้าจะทรงตอบโต้อย่างไร?
14 เราเข้าใจว่าช่วงหนึ่งหลังจากศาสนาเท็จถูกทำลายแล้ว ผู้รับใช้ของพระยะโฮวาซึ่งได้ประกาศข่าวสารการพิพากษาของพระองค์ก็จะถูกโจมตี. (ยเอศ. 38:14-16) เมื่อการโจมตีดังกล่าวเริ่มขึ้น พวกผู้โจมตีจะต้องเผชิญหน้ากับพระยะโฮวาผู้ทรงสัญญาว่าจะปกป้องประชาชนที่ซื่อสัตย์ต่อพระองค์. พระยะโฮวาทรงประกาศว่า “เราว่าด้วยความเดือดร้อนของเราและด้วยความพิโรธของเราดังไฟ . . . และเขาทั้งหลายจะได้รู้ว่าเราคือยะโฮวา.” (อ่านยะเอศเคล .) พระเจ้าตรัสไว้ในพระคำของพระองค์ว่า “ผู้ใดได้แตะต้องเจ้า [ผู้รับใช้ที่ซื่อสัตย์ของพระองค์] ก็ได้แตะต้องแก้วพระเนตรของ [เรา].” ( 38:18-23ซคา. 2:8, ฉบับ R73) ดังนั้น เมื่อศัตรูของพระองค์เริ่มประทุษร้ายผู้รับใช้ของพระองค์ทั่วโลก พระยะโฮวาจะทรงตอบโต้. พระองค์จะถูกกระตุ้นให้ลงมือจัดการซึ่งจะนำไปถึงช่วงสุดท้ายของความทุกข์ลำบากครั้งใหญ่ ซึ่งก็คือจุดสุดยอดในสงครามอาร์มาเก็ดดอน. ภายใต้การบัญชาการของพระคริสต์ กองกำลังแห่งทูตสวรรค์ที่มีฤทธิ์จะสำเร็จโทษโลกของซาตานตามการพิพากษาของพระยะโฮวา.
เราควรได้รับผลกระทบอย่างไร?
15. เราควรได้รับผลกระทบอย่างไรจากการรู้ว่าใกล้จะถึงอวสานของยุคนี้แล้ว?
15 การรู้ว่าใกล้จะถึงอวสานของยุคชั่วนี้เต็มทีแล้วควรมีผลต่อเราอย่างไร? อัครสาวกเปโตรเขียนว่า “เนื่องจากสิ่งทั้งปวงนี้จะต้องสลายไปเช่นนั้น ท่านทั้งหลายจงคิดให้ดีว่าควรเป็นคนอย่างไร. ท่านทั้งหลายควรเป็นคนที่ประพฤติบริสุทธิ์และทำสิ่งที่แสดงว่าท่านเลื่อมใสพระเจ้า!” (2 เป. 3:11) ถ้อยคำดังกล่าวเน้นความจำเป็นต้องคอยเฝ้าระวังเพื่อให้แน่ใจว่าการประพฤติของเราสอดคล้องกับข้อเรียกร้องของพระเจ้า และเราใช้ชีวิตอย่างที่แสดงความเลื่อมใสพระเจ้า ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าเรารักพระยะโฮวา. การทำสิ่งที่แสดงว่าเราเลื่อมใสพระเจ้ารวมถึงการทำอย่างเต็มที่ในการประกาศข่าวดีเรื่องราชอาณาจักรก่อนอวสานจะมาถึง. เปโตรเขียนด้วยว่า “อวสานของทุกสิ่งมาใกล้แล้ว. . . . จง . . . ตื่นตัวและเอาใจใส่ในการอธิษฐาน.” (1 เป. 4:7) เราใกล้ชิดพระยะโฮวาและแสดงความรักต่อพระองค์โดยเข้าเฝ้าพระองค์เสมอด้วยการอธิษฐาน ขอพระองค์ประทานการชี้นำโดยทางพระวิญญาณบริสุทธิ์และประชาคมของพระองค์ซึ่งมีอยู่ทั่วโลก.
16. เหตุใดเราจำเป็นต้องยึดมั่นกับคำแนะนำของพระเจ้า?
16 ในสมัยที่อันตรายอย่างยิ่งนี้ เราจำเป็นต้องยึดมั่นกับคำแนะนำในพระคำของพระเจ้าที่ว่า “ท่านทั้งหลายจงเฝ้าระวังให้ดี จะได้ไม่ประพฤติอย่างคนไร้ปัญญา แต่ประพฤติอย่างคนมีปัญญา โดยใช้ทุกโอกาสให้เกิดประโยชน์มากที่สุด เพราะสมัยนี้ชั่วช้า.” (เอเฟ. 5:15, 16) ความชั่วมีมากมายในเวลานี้ยิ่งกว่าสมัยใด ๆ ในประวัติศาสตร์. ซาตานได้ใช้หลายสิ่งเพื่อขัดขวางผู้คนไม่ให้ทำตามพระประสงค์ของพระยะโฮวาหรือทำให้พวกเขาเขว. ในฐานะผู้รับใช้ของพระเจ้า เรารู้เรื่องนี้ และเราไม่ต้องการปล่อยให้สิ่งใดมาบ่อนทำลายความภักดีต่อพระเจ้า. เรารู้ด้วยว่าอีกไม่นานจะเกิดอะไรขึ้น และเราเชื่อมั่นในพระยะโฮวาและพระประสงค์ของพระองค์.—อ่าน 1 โยฮัน 2:15-17.
17. จงพรรณนาว่าผู้รอดชีวิตผ่านอาร์มาเก็ดดอนจะมีปฏิกิริยาอย่างไรเมื่อมีการกลับเป็นขึ้นจากตายเกิดขึ้น.
17 คำสัญญาอันยอดเยี่ยมที่พระเจ้าจะปลุกคนตายให้กลับมีชีวิตอีกครั้งจะสำเร็จเป็นจริง เพราะ “คนชอบธรรมและคนไม่ชอบธรรมจะกลับเป็นขึ้นจากตาย.” (กิจ. 24:15) โปรดสังเกตว่าคำสัญญานี้เน้นชัดเจนว่า “จะกลับเป็นขึ้นจากตาย”! ไม่มีข้อสงสัยในเรื่องนี้ เพราะพระยะโฮวาได้ตรัสรับรองไว้! ยะซายา 26:19 สัญญาว่า “คนของพระองค์ที่ตายแล้ว, จะกลับเป็น. . . . ท่านทั้งหลายที่ยังจมอยู่ในผงคลีดินนั้นจะตื่นขึ้นร้องเพลงด้วยความชื่นชมยินดี . . . แผ่นดินโลกจะปล่อยคนตายให้คืนชีพ.” ถ้อยคำดังกล่าวสำเร็จเป็นจริงในเบื้องต้นไปแล้วเมื่อประชาชนของพระเจ้าในสมัยโบราณได้รับการปลดปล่อยให้กลับสู่มาตุภูมิ และนั่นทำให้เราเชื่อมั่นว่าจะมีความสำเร็จเป็นจริงในความหมายตรงตัวในโลกใหม่. จะมีความยินดีอย่างใหญ่หลวงสักเพียงไรเมื่อคนที่ถูกปลุกให้เป็นขึ้นจากตายได้มาอยู่ด้วยกันอีกครั้งกับคนที่พวกเขารัก! ใกล้จะถึงอวสานของโลกซาตาน และโลกใหม่ของพระเจ้าก็จวนจะถึงอยู่แล้ว. นับว่าสำคัญจริง ๆ ที่เราต้องคอยตื่นตัวอยู่เสมอ!
คุณจำได้ไหม?
• สาระสำคัญของคำสอนของพระเยซูคืออะไร?
• งานประกาศเรื่องราชอาณาจักรทำกันอย่างกว้างขวางเพียงไรในขณะนี้?
• เหตุใดจึงสำคัญอย่างยิ่งที่จะคอยตื่นตัวอยู่เสมอ?
• คุณรู้สึกว่าคำสัญญาที่กิจการ 24:15 ให้กำลังใจอย่างไร?
[คำถาม]
[กรอบ/ภาพหน้า 16, 17]
สมัยที่ปั่นป่วนวุ่นวายเริ่มต้นขึ้น
สมัยที่ปั่นป่วนวุ่นวาย: การผจญภัยในโลกใหม่ (ภาษาอังกฤษ) เป็นชื่อหนังสือที่ออกในปี 2007 เขียนโดยอะลัน กรีนสแปน. เป็นเวลาเกือบ 20 ปีที่เขาเป็นประธานกรรมการธนาคารแห่งสหรัฐ ซึ่งดูแลระบบการธนาคารส่วนกลางทั้งหมดของประเทศ. กรีนสแปนเน้นให้เห็นความแตกต่างอย่างเด่นชัดระหว่างสถานการณ์โลกก่อนปี 1914 กับสถานการณ์หลังจากปีนั้น:
“จากรายงานทั้งหมดในสมัยนั้น โลกก่อนปี 1914 ดูเหมือนว่าไต่ระดับสูงขึ้นเรื่อย ๆ อย่างไม่มีทางตกต่ำได้เลยในด้านไมตรีจิตต่อเพื่อนมนุษย์และอารยธรรม; สังคมมนุษย์อยู่ในสภาพที่ดีมากจนดูราวกับจะไปถึงขั้นสมบูรณ์แบบได้เลยทีเดียว. การค้าทาสอันน่ารังเกียจสิ้นสุดลงแล้วตั้งแต่ศตวรรษที่สิบเก้า. ความรุนแรงแบบที่ไร้ความเป็นมนุษย์ดูเหมือนจะลดลง. . . . มีความก้าวหน้าในการประดิษฐ์สิ่งใหม่ ๆ ทั่วโลกตลอดศตวรรษที่สิบเก้า ทำให้มีทางรถไฟ, โทรศัพท์, แสงไฟฟ้า, ภาพยนตร์, รถยนต์, และเครื่องอำนวยความสะดวกในบ้านนับไม่ถ้วน. วิทยาศาสตร์การแพทย์, โภชนาการที่ดีขึ้น, และการจัดจ่ายน้ำดื่มที่ปลอดภัยให้มวลชนได้เพิ่มอายุขัยโดยเฉลี่ยของมนุษย์ . . . ทุกคนคิดว่าความก้าวหน้านี้จะดำเนินต่อไปอย่างไม่มีทางย้อนกลับ.”
แต่ . . . “สงครามโลกครั้งที่ 1 สร้างความเสียหายต่อไมตรีจิตของเพื่อนมนุษย์และอารยธรรมมากยิ่งกว่าสงครามโลกครั้งที่ 2 แม้สงครามโลกครั้งที่ 2 จะสร้างความเสียหายด้านกายภาพมากกว่า: สงครามโลกครั้งที่ 1 ทำลายอุดมคติ. ผมไม่อาจลบความคิดเกี่ยวกับช่วงเวลาก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 ซึ่งตอนนั้นอนาคตของมนุษยชาติดูเหมือนจะไม่มีอะไรฉุดรั้งได้และไร้ขีดจำกัด. ปัจจุบัน ทัศนะของเราแตกต่างอย่างมากจากเมื่อร้อยปีที่แล้ว แต่อาจสอดคล้องกับความเป็นจริงมากกว่าอยู่บ้าง. ความหวาดกลัว, ภาวะโลกร้อน, หรือลัทธิอิงสามัญชนที่กลับมารุ่งเรืองอีกครั้งจะส่งผลต่อยุคปัจจุบันอันเป็นยุคโลกาภิวัตน์ที่ส่งเสริมชีวิตให้ก้าวรุดหน้า แบบเดียวกับที่สงครามโลกครั้งที่ 1 เคยส่งผลต่อโลกในยุคก่อนหน้านั้นไหม? ไม่มีใครแน่ใจได้ว่าคำตอบจะเป็นอย่างไร.”
กรีนสแปนจำได้ว่าในสมัยที่เขายังเรียนหนังสืออยู่ เบนยามิน เอ็ม. แอนเดอร์สัน ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ (1886-1949) เคยกล่าวไว้ว่า “คนที่โตพอจะจำได้และเข้าใจว่าโลกก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 เป็นอย่างไรต่างก็มองย้อนไปถึงช่วงเวลานั้นด้วยความรู้สึกโหยหาอาลัย. ในตอนนั้นคนเรามีความรู้สึกมั่นคงปลอดภัย ซึ่งนับจากนั้นมาก็ไม่เคยมีอยู่อีกเลย.”—หนังสือเศรษฐศาสตร์กับสวัสดิภาพของประชาชน (ภาษาอังกฤษ).
มีข้อสรุปคล้ายกันในหนังสือโลกที่ยังไม่ลุล่วง (ภาษาอังกฤษ) เขียนโดย จี. เจ. ไมเยอร์ ตีพิมพ์ในปี 2006. หนังสือนี้กล่าวไว้ว่า “บ่อยครั้งที่มีคนกล่าวว่าเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ได้ ‘เปลี่ยนทุกสิ่ง.’ คำพูดดังกล่าวเป็นความจริงอย่างน้อยก็ในกรณีมหาสงคราม [1914-1918]. สงครามนี้ได้เปลี่ยนทุกสิ่งจริง ๆ: ไม่ใช่แค่เขตแดน ไม่ใช่แค่รัฐบาลและชะตากรรมของชาติต่าง ๆ แต่เปลี่ยนแม้กระทั่งวิธีที่ผู้คนมองโลกและมองตัวเองนับแต่นั้นมา. เหตุการณ์นั้นกลายเป็นเหมือนกับหลุมในกาลเวลา ซึ่งทำให้โลกในสมัยหลังสงครามครั้งนี้แตกต่างอย่างถาวรจากทุกสิ่งที่อยู่ก่อนหน้านั้น.”
[ภาพหน้า 18]
ณ อาร์มาเก็ดดอน พระยะโฮวาจะส่งกองกำลังทูตสวรรค์ที่มีฤทธิ์ออกไปปฏิบัติการ