เมื่อความคาดหวังไม่เป็นดังปรารถนา
เมื่อความคาดหวังไม่เป็นดังปรารถนา
ความผิดหวังอาจเกิดขึ้นกับชีวิตสมรสของใครก็ได้ แม้ว่าคู่ชายหญิงดูเหมือนว่าไปกันได้ดีในช่วงที่ติดต่อคบหากัน. แต่เป็นไปได้อย่างไรที่คนสองคนซึ่งดูเหมือนว่าเข้ากันได้ดีก่อนจะกล่าวคำปฏิญาณสมรสกันกลับเปลี่ยนไปมากเหลือเกินหลังจากนั้น?
คัมภีร์ไบเบิลกล่าวว่าคนที่แต่งงานก็จะมี “ความเจ็บปวดและความทุกข์ระทม.” (1 โกรินโธ 7:28, เดอะ นิว อิงลิช ไบเบิล) บ่อยครั้ง ความทุกข์ยากเช่นนั้นในระดับหนึ่งเป็นผลจากความไม่สมบูรณ์ของมนุษย์. (โรม 3:23) นอกจากนี้ ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือทั้งสองฝ่ายอาจไม่ได้นำหลักการในคัมภีร์ไบเบิลไปใช้. (ยะซายา 48:17, 18) อย่างไรก็ตาม บางครั้งชายหรือหญิงแต่งงานโดยคาดหวังในสิ่งที่ไม่ตรงกับความเป็นจริง. เมื่อเป็นเช่นนี้ ความเข้าใจผิดอาจนำไปสู่ปัญหาที่ร้ายแรงได้.
ความคาดหวังที่ไม่ตรงกับความเป็นจริง
ถ้าคุณเป็นสามีหรือภรรยา คุณคงได้แต่งงานโดยมีความคาดหวังหลายอย่าง ซึ่งคนส่วนใหญ่ก็เป็นเช่นนั้น. ขอให้ใช้เวลาครู่หนึ่งใคร่ครวญดูว่าชีวิตแบบไหนที่คุณหวังเอาไว้. ชีวิตสมรสของคุณไม่เป็นอย่างที่คุณนึกฝันไว้ไหม? ถ้าเป็นอย่างนั้น อย่าเพิ่งสรุปว่าปัญหาของคุณไม่มีทางแก้. การนำหลักการในคัมภีร์ไบเบิลมาใช้จะช่วยคุณจัดการเรื่องราวให้เรียบร้อยได้. * (2 ติโมเธียว 3:16, ล.ม.) ระหว่างนี้ คงจะดีถ้าคุณจะทบทวนดูบางสิ่งที่คุณอาจได้คาดหวังไว้เกี่ยวกับชีวิตสมรส.
ตัวอย่างเช่น บางคนเคยคิดว่าชีวิตสมรสคงเต็มไปด้วยความหวานชื่น เหมือนกับที่พรรณนาไว้ในเทพนิยาย. หรือบางทีคุณอาจคิดว่าคุณกับคู่ของคุณจะใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ด้วยกันและคุณสองคนจะแก้ไขความไม่ลงรอยทุกอย่างได้โดยราบรื่นและในวิธีที่เป็นผู้ใหญ่. หลายคนเชื่อว่าการแต่งงานจะทำให้ไม่ต้องควบคุมตัวในเรื่องความปรารถนาทางเพศอีกต่อไป. เนื่องจากความคาดหวังตามธรรมดาทั้งหมดนี้ไม่ตรงกับความเป็นจริงเท่าไรนัก ความคาดหวังเหล่านี้จึงกลายเป็นความผิดหวังสำหรับบางคน.—เยเนซิศ 3:16.
ความคาดหวังที่ไม่ตรงกับความเป็นจริงอีกอย่างหนึ่งคือการคิดว่าแค่แต่งงานก็จะมีความสุข. แน่ละ การมีคู่ชีวิตอาจทำให้มีความยินดีอย่างเหลือล้น. (สุภาษิต 18:22; 31:10; ท่านผู้ประกาศ 4:9) แต่จะคาดหมายได้ไหมว่าการแต่งงานจะเป็นยาวิเศษที่แก้ความไม่ลงรอยทุกอย่างให้หมดไป? คนที่คิดเช่นนั้นมักต้องสะดุ้งตื่นมาพบกับความจริงที่โหดร้าย!
ความคาดหวังที่ไม่เอ่ยออกมา
ใช่ว่าความคาดหวังทุกอย่างจะขัดกับความเป็นจริง. ตรงกันข้าม ความคาดหวังบางอย่างเกี่ยวข้องกับความปรารถนาที่สมเหตุสมผล. อย่างไรก็ตาม ความคาดหวังบางอย่างอาจก่อปัญหา. ชายคนหนึ่งซึ่งเป็นผู้ให้คำปรึกษาแก่คู่สมรสสังเกตว่า “ผมเห็นสามีภรรยาโกรธกันเพราะ
ฝ่ายหนึ่งกำลังรอให้ความคาดหวังบางอย่างของตนเป็นจริง ในขณะที่คู่ของเขาไม่เคยรู้แน่ชัดเลยว่าอีกฝ่ายต้องการสิ่งนั้นตั้งแต่แรก.” เพื่อจะเข้าใจว่าเรื่องแบบนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร ขอพิจารณาฉากเหตุการณ์ต่อไปนี้:แมรีแต่งงานกับเดวิดซึ่งอาศัยอยู่ไกลจากบ้านเกิดของเธอหลายร้อยกิโลเมตร. ก่อนจะแต่งงานกัน แมรีรู้อยู่แล้วว่าการย้ายไปยังที่ใหม่อาจมีปัญหาหลายอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเนื่องจากเธอเป็นคนขี้อาย. ถึงกระนั้น เธอก็มั่นใจว่าเดวิดจะช่วยเธอให้ปรับตัวได้. ตัวอย่างเช่น แมรีคาดหมายว่าเดวิดจะอยู่ข้าง ๆ เธอและช่วยเธอทำความคุ้นเคยกับเพื่อน ๆ ของเขา. แต่กลับไม่เป็นอย่างนั้น. เดวิดมัวแต่พูดคุยกับบรรดาเพื่อนฝูงของเขาซึ่งมีมากมาย ทิ้งแมรีผู้มาใหม่ไว้คนเดียว. แมรีรู้สึกว่าถูกละเลย หรือถึงกับถูกทอดทิ้งด้วยซ้ำ. เธอสงสัยว่า ‘ทำไมเดวิดไม่คิดถึงความรู้สึกของฉันเอาเสียเลย?’
สิ่งที่แมรีคาดหวังไว้ไม่ตรงกับความเป็นจริงอย่างนั้นไหม? ไม่ใช่อย่างนั้นเสียทีเดียว. เธอเพียงแต่ต้องการให้สามีช่วยเธอปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมใหม่. แมรีเป็นคนขี้อาย และเธอรู้สึกว่าการที่ต้องพบกับคนใหม่ ๆ มากมายนั้นเป็นเรื่องยากเกินไปสำหรับเธอ. แต่ความจริงคือ แมรีไม่เคยเผยความรู้สึกของเธอให้เดวิดทราบ. ดังนั้น เดวิดจึงไม่รู้ว่าแมรีกำลังรู้สึกเช่นไร. จะเกิดอะไรขึ้นถ้าสถานการณ์ยังเป็นเช่นนี้ต่อไป? แมรีอาจรู้สึกขุ่นเคือง และเมื่อเวลาผ่านไปเธอก็อาจคิดว่าสามีไม่สนใจความรู้สึกของเธอเลย.
บางทีคุณเองก็อาจรู้สึกผิดหวังและข้องขัดใจเมื่อคู่สมรสของคุณดูเหมือนว่าไม่ตอบสนองต่อความจำเป็นของคุณ. ถ้าเป็นอย่างนั้น คุณจะทำอะไรได้บ้าง?
จงพูดออกมา
ความคาดหวังที่ไม่สมปรารถนาอาจทำให้ทุกข์ใจได้จริง ๆ. (สุภาษิต 13:12) แต่ก็มีบางอย่างที่คุณจะทำได้เมื่อ เกิดเหตุการณ์เช่นนี้. สุภาษิตข้อหนึ่งในคัมภีร์ไบเบิลกล่าวว่า “ท่านจะโน้มน้าวคนอื่นได้หากท่านมีปัญญาและพูดจามีเหตุผล.” (สุภาษิต 16:23, ฉบับแปลคอนเทมโพรารี อิงลิช) ดังนั้น ถ้าคุณรู้สึกว่าความคาดหวังที่สมเหตุสมผลของคุณไม่ได้รับการตอบสนอง ก็จงพูดคุยเรื่องนั้นกับคู่ของคุณ.
คุณควรพยายามเลือกเวลาที่เหมาะ, สถานที่ที่เหมาะ, และคำพูดที่เหมาะเพื่อบอกสิ่งที่คุณกังวล. (สุภาษิต 25:11) จงพูดด้วยท่าทีสงบและด้วยความนับถือ. จำไว้เสมอว่าจุดประสงค์ของคุณคือ ไม่ใช่เพื่อกล่าวโทษคู่สมรสของคุณ แต่เพื่อบอกให้เขารู้ว่าคุณคาดหมายอะไรและมีความรู้สึกเช่นไร.—สุภาษิต 15:1.
แล้วทำไมคุณควรจะต้องทำทั้งหมดนี้? คู่สมรสที่เห็นอกเห็นใจจะมองไม่ออกเลยหรือว่าคุณต้องการอะไร? เอาละ อาจเป็นไปได้ว่าคู่สมรสของคุณเพียงแต่มองดูเรื่องที่เกิดขึ้นในแง่มุมที่ต่างออกไป แต่ก็ยินดีจะคำนึงถึงความต้องการของคุณหากคุณอธิบายให้เขาเข้าใจ. นี่ไม่ใช่สัญญาณเตือนว่าชีวิตสมรสของคุณไม่ประสบความสำเร็จ เพราะคุณยังสามารถบอกเขาได้ว่าคุณต้องการอะไร และนี่ก็ไม่ใช่หลักฐานที่แสดงว่าคู่ของคุณไม่สนใจความรู้สึกของคุณ.
ดังนั้น อย่าลังเลที่จะพูดกับคู่สมรสของคุณ. ตัวอย่างเช่น ในสถานการณ์ที่กล่าวถึงในตอนต้น แมรีอาจพูดกับเดวิดว่า “ฉันต้องยอมรับว่าการต้องเจอกับคนใหม่ ๆ มากอย่างนี้เป็นเรื่องยากอยู่เหมือนกัน. คุณจะช่วยฉันทำความรู้จักกับทุกคนได้ไหมจนกว่าฉันจะคุ้นเคยกับที่นี่มากกว่านี้?”
“ว่องไวในการฟัง”
ตอนนี้ขอให้คิดถึงเรื่องนี้ในอีกแง่มุมหนึ่ง. สมมุติว่าคู่ของคุณเข้ามาพูดกับคุณ และเขารู้สึกทุกข์ใจเพราะคุณไม่ได้ทำตามความคาดหวังที่สมเหตุสมผลของเขา. ถ้าเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ จงฟังคู่สมรสของคุณ! อย่าพยายามปกป้องตัวเอง. แทนที่จะทำอย่างนั้น จง “ว่องไวในการฟัง, ช้าในการพูด, ช้าในการโกรธ.” (ยาโกโบ 1:19; สุภาษิต 18:13) อัครสาวกเปาโลกระตุ้นเตือนคริสเตียนดังนี้: “อย่าให้ผู้ใดกระทำอะไรเพื่อประโยชน์ของตนเองเท่านั้น แต่ให้คิดถึงประโยชน์ของคนอื่นด้วย.”—1 โกรินโธ 10:24.
คุณจะทำเช่นนั้นได้โดยสมมุติตัวเองอยู่ในสถานการณ์เดียวกันกับคู่สมรสของคุณ. คัมภีร์ไบเบิลกล่าวว่า “ท่านทั้งหลายที่เป็นสามีก็เหมือนกัน, จงอยู่กินกับภรรยาโดยใช้ความรู้” หรือตามที่แปลในฉบับแปลเจ. บี. ฟิลลิปส์ ว่า “ท่านทั้งหลายที่เป็นสามี ควรพยายามเข้าใจภรรยาที่ท่านอยู่กินด้วย.” (1 เปโตร 3:7) แน่ทีเดียว ภรรยาก็ควรพยายามทำอย่างเดียวกันกับสามีด้วย.
จำไว้ว่า ไม่ว่าคุณกับคู่สมรสจะเข้ากันได้ดีเพียงไร คุณก็ไม่ได้มองดูทุกเรื่องจากมุมมองเดียวกัน. (ดูกรอบ “ที่เดียวกัน แต่คนละมุมมอง.”) จริง ๆ แล้วนี่นับว่าเป็นข้อดี เพราะเป็นเรื่องดีที่จะมองดูเรื่องต่าง ๆ จากมุมมองของอีกฝ่ายหนึ่ง. คุณกับคู่สมรสต่างก็มาแต่งงานกันโดยมีความคาดหวังของคุณเองซึ่งขึ้นอยู่กับปัจจัยต่าง ๆ เช่น ภูมิหลังทางครอบครัวและวัฒนธรรม. ผลก็คือ แม้คุณทั้งสองอาจรักกันมาก แต่ก็อาจไม่มีความคาดหวังอย่างเดียวกันก็ได้.
ตัวอย่างเช่น คู่สมรสคริสเตียนอาจรู้หลักการคัมภีร์ไบเบิลดีในเรื่องความเป็นประมุข. (เอเฟโซ 5:22, 23) แต่หากจะพูดอย่างเจาะจงลงไป ในครอบครัวของคุณจะมีการใช้ตำแหน่งประมุขและการยอมอยู่ใต้อำนาจอย่างไร? คุณสองคนยึดถือหลักการคัมภีร์ไบเบิลข้อนี้ไหม และคุณกำลังพยายามจริง ๆ ที่จะทำตามหลักการนี้จริง ๆ ไหม?
นอกจากนี้ คุณอาจมีแง่คิดที่ต่างกันในเรื่องอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับชีวิตประจำวันด้วย. ใครจะเป็นคนดูแลงานบ้านบางอย่าง? คุณจะใช้เวลากับญาติพี่น้องเมื่อไร และใช้เวลามากแค่ไหน? คู่สมรสคริสเตียนจะแสดงให้เห็นอย่างไรว่าพวกเขาให้ผลประโยชน์ของราชอาณาจักรมาเป็นอันดับแรกในชีวิต? (มัดธาย 6:33) เกี่ยวกับเรื่องเงิน คนเราอาจกลายเป็นหนี้ได้ง่าย ๆ ดังนั้น นับว่าคุ้มค่าที่จะมัธยัสถ์และอด-ออม. แต่การเป็นคนมัธยัสถ์และอดออมนั้นหมายความว่าอย่างไรจริง ๆ? เรื่องเหล่านี้จำเป็นต้องมีการพูดคุยกันอย่างเปิดเผยและด้วยความนับถือซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างมาก.
การพูดคุยเช่นนั้นจะช่วยคุณให้มีสันติสุขมากขึ้นในชีวิตสมรส แม้แต่ในตอนนี้ที่ความคาดหวังบางอย่างไม่เป็นไปอย่างที่หวังแล้ว. ที่จริง คุณจะสามารถทำตามคำกระตุ้นเตือนของอัครสาวกเปาโลได้ดีขึ้น ที่ว่า “จงทนต่อกันอยู่เรื่อยไปและอภัยให้กันอย่างใจกว้างถ้าผู้ใดมีสาเหตุจะบ่นว่าคนอื่น.”—โกโลซาย 3:13, ล.ม.
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 5 คำแนะนำที่ดีมากมายสำหรับคู่สมรสมีอยู่ในหนังสือเคล็ดลับสำหรับความสุขในครอบครัว ซึ่งจัดพิมพ์โดยพยานพระยะโฮวา.
[กรอบ/ภาพหน้า 10]
ที่เดียวกัน แต่คนละมุมมอง
“ลองนึกภาพนักท่องเที่ยวกลุ่มหนึ่งกำลังชมทัศนียภาพที่งามวิจิตร. ถึงแม้ทั้งกลุ่มมองทิวทัศน์เดียวกันอยู่ก็ตาม แต่ละคนก็เห็นภาพต่างกัน. ทำไม? เพราะแต่ละคนมีมุมมองที่ต่างกัน. คนสองคนไม่อาจยืนอยู่ในตำแหน่งเดียวกันพอดี. นอกจากนี้ ไม่ใช่ทุกคนเพ่งเล็งในส่วนเดียวกันของทิวทัศน์. แต่ละคนพบแง่มุมที่ต่างกันซึ่งดึงดูดใจโดยเฉพาะ. เป็นจริงเช่นเดียวกันในชีวิตสมรส. แม้แต่เมื่ออยู่ร่วมกันอย่างปรองดองทีเดียวก็ตาม ก็ไม่มีสามีภรรยาคู่ไหนที่มีทัศนะเหมือนกันพอดีในเรื่องต่าง ๆ. . . . การสื่อความนับรวมความพยายามที่จะปรับความแตกต่างเหล่านี้ให้เป็นความสัมพันธ์แบบเนื้อหนังอันเดียวกัน. สิ่งนี้เรียกร้องการจัดเวลาเพื่อสนทนากัน.”—หอสังเกตการณ์ 1 สิงหาคม 1993 หน้า 4.
[กรอบหน้า 11]
สิ่งที่คุณจะทำได้ในตอนนี้
• ตรวจดูความคาดหวังของคุณอีกครั้ง. ความคาดหวังเหล่านั้นตรงกับความเป็นจริงไหม? คุณคาดหวังกับคู่สมรสมากเกินควรไหม?—ฟิลิปปอย 2:4; 4:5.
• พยายามปรับความคาดหวังใด ๆ ที่ไม่ตรงกับความเป็นจริง. ตัวอย่างเช่น แทนที่จะพูดว่า “เราจะไม่มีวันขัดแย้งกัน” จงตั้งใจว่าจะพยายามจัดการกับความแตกต่างอย่างสันติ.—เอเฟโซ 4:32.
• พูดคุยกันเกี่ยวกับสิ่งที่คุณคาดหวัง. การพูดคุยกันในเรื่องต่าง ๆ เป็นขั้นตอนสำคัญในการเรียนรู้วิธีแสดงความรักและความนับถือต่อกัน.—เอเฟโซ 5:33.
[ภาพหน้า 9]
จง “ว่องไวในการฟัง” สิ่งที่ทำให้คู่สมรสของคุณกังวล