มีความสุขกับการรอคอยพระยะโฮวา
มีความสุขกับการรอคอยพระยะโฮวา
คุณเคยรับประทานผลไม้ที่ยังดิบอยู่ไหม? ไม่ต้องสงสัยว่าคุณคงผิดหวังกับรสชาติของมัน. กว่าผลไม้จะสุกต้องใช้เวลา แต่ก็คุ้มค่ากับการรอคอยอย่างแน่นอน. มีสภาพการณ์อื่นด้วยที่การรอคอยนับว่าคุ้มค่า. คัมภีร์ไบเบิลกล่าวว่า “เป็นการดีที่มนุษย์จะสงบใจรอคอยความรอดของพระยะโฮวา.” (บทเพลงร้องทุกข์ของยิระมะยา 3:26; ติโต 2:13) คริสเตียนต้องรอคอยพระยะโฮวาในทางใดบ้าง? ทำอย่างไรเราจึงจะได้ประโยชน์จากการรอคอยพระองค์?
การรอคอยพระเจ้าเกี่ยวข้องกับอะไร?
ในฐานะคริสเตียน เรา “คอยท่าและคำนึงถึงวันของพระยะโฮวาเสมอ.” เราตั้งตาคอยการบรรเทาเมื่อพระองค์จะทำให้เกิดความ “พินาศแห่งบรรดาคนที่ดูหมิ่นพระเจ้า.” (2 เปโตร 3:7, 12, ล.ม.) พระยะโฮวาเองทรงต้องการจะกำจัดความชั่วทั้งหมดโดยเร็ว แต่ทรงรั้งรออยู่เพื่อจะช่วยคริสเตียนให้รอดในวิธีที่จะถวายเกียรติแด่พระนามของพระองค์. คัมภีร์ไบเบิลกล่าวว่า “พระเจ้าประสงค์จะสำแดงความพิโรธของพระองค์ และบันดาลให้ฤทธิ์เดชของพระองค์ปรากฏ, แต่ยังได้ทรงอดกลั้นพระทัยไว้ช้านานแก่ผู้เหล่านั้นที่เป็นเครื่องภาชนะแห่งความพิโรธซึ่งทรงจัดเตรียมไว้สำหรับความพินาศ และเพื่อจะได้ทรงสำแดงสง่าราศีอันอุดมของพระองค์แก่ผู้เหล่านั้นที่เป็นเครื่องภาชนะแห่งความเมตตา.” (โรม 9:22, 23) เช่นเดียวกับในสมัยของโนฮา พระยะโฮวาทรงทราบว่าเมื่อไรคือเวลาที่เหมาะที่จะช่วยประชาชนของพระองค์ในปัจจุบันให้รอด. (1 เปโตร 3:20) เพราะฉะนั้น การรอคอยพระเจ้าจึงหมายรวมถึงการรอเวลาที่พระองค์จะทรงปฏิบัติการ.
ขณะที่เรารอคอยวันของพระยะโฮวา บางครั้งเราอาจไม่สบายใจที่เห็นว่ามาตรฐานศีลธรรมของโลกรอบตัวเราตกต่ำลงทุกวัน. เมื่อเรารู้สึกเช่นนั้น นับว่าดีที่จะใคร่ครวญคำกล่าวของมีคาผู้พยากรณ์ของพระเจ้า ซึ่งเขียนว่า “ผู้ภักดีสูญหายไปจากแผ่นดินโลก และท่ามกลางมนุษยชาติไม่มีผู้ซื่อตรง.” แล้วท่านกล่าวต่อไปว่า “ส่วนข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจะคอยท่าพระยะโฮวาต่อ ๆ ไป. ข้าพเจ้าจะสำแดงเจตคติแบบที่รอคอยพระเจ้าแห่งความรอดของข้าพเจ้า.” (มีคา 7:2, 7, ล.ม.) “เจตคติแบบที่รอคอย” ซึ่งเราควรปลูกฝังคืออะไร? เนื่องจากบ่อยครั้งการรอคอยทำให้ข้องขัดใจ เราจะมีความยินดีในขณะที่รอคอยพระเจ้าได้อย่างไร?
มีความสุขขณะที่รอคอย
เราสามารถเรียนทัศนะที่ถูกต้องได้จากพระยะโฮวา. พระองค์ไม่เคยเลิกเป็น “พระเจ้าผู้มีความสุข.” (1 ติโมเธียว 1:11, ล.ม.) พระองค์ทรงมีความสุขขณะที่รอคอย เพราะพระองค์ทรงทำงานอยู่เสมอเพื่อให้สิ่งต่าง ๆ สำเร็จตามพระประสงค์ของพระองค์ที่จะทำให้ผู้ที่รักพระองค์บรรลุถึงระดับความสมบูรณ์อย่างที่ทรงตั้งพระทัยไว้เมื่อทรงสร้างพวกเขา. (โรม 5:12; 6:23) พระองค์ทรงเห็นผลที่น่าพอใจของงานที่ทรงทำ นั่นคือ หลายล้านคนถูกดึงดูดมายังการนมัสการแท้. พระเยซูตรัสว่า “พระบิดาของเราก็ยังทรงกระทำการอยู่จนถึงบัดนี้, และเราก็กระทำด้วย.” (โยฮัน 5:17) การทำสิ่งต่าง ๆ เพื่อคนอื่นเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้มีความสุข. (กิจการ 20:35) คริสเตียนแท้ก็ไม่ได้คอยอยู่เฉย ๆ เช่นกัน. แทนที่จะทำเช่นนั้น พวกเขาทำงานอยู่ตลอดเวลาเพื่อช่วยคนอื่น ๆ ให้เรียนรู้พระประสงค์ของพระเจ้าที่มีต่อมนุษยชาติ.
คนที่ซื่อสัตย์ภักดีมีความยินดีเสมอที่ได้สรรเสริญพระเจ้าขณะรอคอยเวลาที่พระองค์จะทรงปฏิบัติการ. ให้เราพิจารณาตัวอย่างของดาวิด ผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญ. ดาวิดถูกกษัตริย์ของท่านข่มเหง, ถูกเพื่อนสนิทหักหลัง, และถูกลูกชายทรยศ. ในสภาพการณ์แต่ละอย่างนี้ ดาวิดจะมีเพลงสรรเสริญบท 71 ซึ่งดูเหมือนว่าดาวิดเป็นผู้เขียน กล่าวว่า “ฝ่ายข้าพเจ้าจะหวังใจในพระองค์อยู่เสมอ และจะยังสรรเสริญพระองค์ยิ่ง ๆ ขึ้นไป. ปากของข้าพเจ้าจะพรรณนาถึงความชอบธรรมของพระองค์, และความรอดของพระองค์วันยังค่ำ.” (บทเพลงสรรเสริญ 71:14, 15) แทนที่จะรอคอยด้วยความกระวนกระวาย ดาวิดมีความยินดีเพราะท่านง่วนอยู่กับการสรรเสริญพระยะโฮวาและเสริมกำลังคนอื่น ๆ ในการนมัสการแท้.—บทเพลงสรรเสริญ 71:23.
ความสุขได้ไหมขณะที่รอคอยการบรรเทาซึ่งจะมีมาเมื่อถึงเวลากำหนดของพระยะโฮวา?การรอคอยพระยะโฮวาไม่ทำให้หงุดหงิดกระวนกระวายใจเหมือนกับการรอรถประจำทางที่มาช้า. การรอคอยพระยะโฮวาเป็นเหมือนกับการที่พ่อแม่เฝ้ารอให้ลูกค่อย ๆ เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่พวกเขาจะภูมิใจได้. หลายปีที่ผ่านไปเต็มไปด้วยกิจกรรม ทั้งการอบรม, สั่งสอน, และตีสอน ซึ่งทั้งหมดทำไปเพื่อจะบรรลุผลอย่างที่ต้องการ. ทำนองเดียวกัน พวกเราที่รอคอยพระยะโฮวามีความสุขที่ได้ช่วยคนอื่น ๆ ให้เข้าใกล้พระเจ้า. เราเองก็ต้องการจะได้รับความพอพระทัยจากพระเจ้าและได้ความรอดในที่สุดเช่นกัน.
ไม่หมดหวัง
การรอคอยพระยะโฮวาหมายความว่าเรารักพระยะโฮวาและรับใช้พระองค์ต่อ ๆ ไปโดยไม่หมดหวัง. การทำเช่นนี้อาจเป็นเรื่องท้าทาย. ผู้รับใช้ของพระเจ้าหลายคนในทุกวันนี้อาศัยอยู่ในสังคมที่ผู้คนเยาะเย้ยถากถางคนที่ดำเนินชีวิตโดยอาศัยความเชื่อในคำสัญญาของพระเจ้า. แต่ขอให้คิดถึงตัวอย่างของชาวอิสราเอลที่ซื่อสัตย์ซึ่งรักษาความหวังของพวกเขาไว้ตลอด 70 ปีที่เป็นเชลยอยู่ในบาบิโลน. อะไรช่วยพวกเขาให้ทำเช่นนั้น? ไม่ต้องสงสัยว่า การอ่านบทเพลงสรรเสริญได้ช่วยเสริมกำลังพวกเขา. บทเพลงหนึ่งที่ให้กำลังใจซึ่งเวลานั้นคงได้เขียนขึ้นแล้วกล่าวดังนี้: “ข้าพเจ้าได้วางใจไว้ในพระวจนะของพระองค์นั้น. จิตต์ใจของข้าพเจ้าได้คอยท่าพระเจ้ายิ่งกว่าคนยามคอยท่าเวลารุ่งเช้า; จริง ๆ นะพระเจ้าค่ะ, ยิ่งเสียกว่าคนยามคอยท่าเวลารุ่งเช้า. แน่ะพวกยิศราเอลเอ๋ย, จงวางใจในพระยะโฮวาเถิด.”—บทเพลงสรรเสริญ 130:5-7.
ชาวยิวที่รักษาความหวังของตนไว้เสมอโดยอ่านและพูดถึงความหวังนั้นต่างก็ได้รับรางวัลเมื่อในที่สุดบาบิโลนถูกผู้รุกรานยึดครอง. ชาวยิวที่ซื่อสัตย์หลายพันคนรีบเดินทางกลับไปยังกรุงเยรูซาเลม. มีการเขียนเกี่ยวกับช่วงเวลานั้นไว้ว่า “คราวเมื่อพระยะโฮวาทรงนำพวกเชลยกลับมาถึงเมืองซีโอน . . . ปากของพวกข้าพเจ้าเต็มไปด้วยการหัวเราะ.” (บทเพลงสรรเสริญ 126:1, 2) ชาวยิวเหล่านั้นไม่ได้เลิกรา แต่พวกเขาบำรุงรักษาความเชื่อของตนไว้เสมอ. และพวกเขาไม่เคยหยุดร้องเพลงสรรเสริญพระยะโฮวา.
ด้วยวิธีเดียวกันนี้ คริสเตียนแท้ซึ่งรอคอยพระเจ้าใน “ช่วงอวสานของระบบนี้” พยายามอย่างไม่ละลดเพื่อจะรักษาความเชื่อของตนไว้. พวกเขาศึกษาพระคำของพระเจ้า, ให้กำลังใจกันและกัน, และสรรเสริญพระยะโฮวาเรื่อยไปโดยประกาศข่าวดีเรื่องราชอาณาจักรของพระองค์.—มัดธาย 24:3, 14, ล.ม.
รอคอยเพื่อจะได้ประโยชน์จากการตีสอน
ยิระมะยาผู้พยากรณ์ของพระเจ้าเขียนไว้ว่า “เป็นการดีที่มนุษย์จะสงบใจรอคอยความรอดของพระยะโฮวา.” (บทเพลงร้องทุกข์ของยิระมะยา 3:26) ยิระมะยาหมายความ ว่าเป็นการดีที่ประชาชนของพระเจ้าจะไม่บ่นเกี่ยวกับวิธีที่พระยะโฮวาทรงตีสอนพวกเขาเมื่อทรงปล่อยให้กรุงเยรูซาเลมถูกทำลาย. แทนที่จะบ่น พวกเขาควรรับประโยชน์จากประสบการณ์นั้นโดยใคร่ครวญถึงการไม่เชื่อฟังของตนและความจำเป็นที่พวกเขาต้องเปลี่ยนทัศนคติ.—บทเพลงร้องทุกข์ของยิระมะยา 3:40, 42.
วิธีที่เราได้ประโยชน์จากการตีสอนของพระยะโฮวาอาจเปรียบได้กับวิธีที่ผลไม้สุก. คัมภีร์ไบเบิลกล่าวเกี่ยวกับการตีสอนจากพระเจ้าดังนี้ “ภายหลังก็กระทำให้เกิดผลเป็นความสุขสำราญแก่บรรดาคนที่ต้องทนอยู่นั้น, คือความชอบธรรมนั้นเอง.” (เฮ็บราย 12:11) เช่นเดียวกับผลไม้ที่กว่าจะสุกต้องอาศัยเวลา เราก็ต้องการเวลาเพื่อจะเปลี่ยนแปลงทัศนคติของเราในเรื่องต่าง ๆ หลังจากที่ได้รับการฝึกสอนที่พระเจ้าทรงจัดเตรียมให้แล้ว. ตัวอย่างเช่น ถ้าการประพฤติที่ไม่ถูกต้องของเราทำให้เราสูญเสียสิทธิพิเศษบางอย่างในประชาคม การที่เราเต็มใจรอคอยพระเจ้าจะป้องกันไม่ให้เราท้อใจหรือเลิกรับใช้พระองค์. ในกรณีเช่นนั้น ถ้อยคำที่ดาวิดได้เขียนโดยการดลใจให้กำลังใจแก่เราดังนี้: “ความพิโรธของ [พระเจ้า] เป็นแต่เวลาพริบตาเดียว; แต่พระกรุณาของพระองค์มีอยู่ชั่วอายุ: การร้องไห้ร่ำไรอาจมีอยู่ตลอดคืน, แต่ในเวลาเช้าคงจะมีความโสมนัสยินดี.” (บทเพลงสรรเสริญ 30:5) ถ้าเราปลูกฝังเจตคติที่รอคอยและใช้คำแนะนำที่ได้รับจากพระคำและองค์การของพระเจ้า เวลาที่เราจะ “โสมนัสยินดี” จะมาถึง.
การเติบโตสู่ความอาวุโสต้องใช้เวลา
ถ้าคุณยังหนุ่มหรือเพิ่งรับบัพติสมา คุณอาจกระตือรือร้นที่จะมีหน้าที่รับผิดชอบบางอย่างในประชาคมคริสเตียน. แต่การจะพัฒนาความอาวุโสฝ่ายวิญญาณที่จำเป็นเพื่อรับเอาหน้าที่รับผิดชอบเหล่านั้นต้องใช้เวลา. ดังนั้น จงใช้ประโยชน์จากความหนุ่มแน่นของคุณเพื่อจะเติบโตฝ่ายวิญญาณ. ตัวอย่างเช่น วัยหนุ่มสาวเป็นช่วงที่เหมาะมากที่จะอ่านคัมภีร์ไบเบิลทั้งเล่ม, พัฒนาคุณลักษณะแบบคริสเตียน, และเรียนรู้ทักษะในการทำให้คนเป็นสาวก. (ท่านผู้ประกาศ 12:1) ถ้าคุณแสดงเจตคติแบบรอคอยด้วยความถ่อมใจ เวลาที่พระยะโฮวาจะโปรดให้คุณมีหน้าที่รับผิดชอบเพิ่มขึ้นจะมาถึง.
งานทำให้คนเป็นสาวกก็ต้องใช้ความอดทนด้วย. เช่นเดียวกับชาวนาชาวไร่ที่ต้องเฝ้ารดน้ำจนกว่าพระเจ้าจะบันดาลให้เมล็ดพืชงอกขึ้น งานทำให้คนเป็นสาวกก็เป็นเช่นนั้นด้วย. (1 โกรินโธ 3:7; ยาโกโบ 5:7) เพื่อจะปลูกฝังความเชื่อและความหยั่งรู้ค่าต่อพระยะโฮวาไว้ในหัวใจของผู้อื่นต้องใช้เวลาศึกษาคัมภีร์ไบเบิลอย่างอดทนกันเป็นเดือน ๆ หรือกระทั่งเป็นปี ๆ. การรอคอยพระยะโฮวาหมายรวมถึงการเพียรอดทน แม้ในตอนแรกนักศึกษาจะไม่ตอบสนองต่อสิ่งที่เรียน. แต่ถ้าอย่างน้อยพวกเขาแสดงความหยั่งรู้ค่าบ้าง นั่นก็อาจเป็นสิ่งบ่งบอกว่าพวกเขากำลังตอบรับพระวิญญาณของพระยะโฮวา. หากคุณอดทน คุณอาจมีความยินดีที่ได้เห็นวิธีที่พระยะโฮวาทำให้นักศึกษาของคุณเติบโตจนกลายเป็นสาวกของพระคริสต์.—มัดธาย 28:20.
แสดงความรักด้วยการรอคอย
เพื่อเป็นตัวอย่างให้เห็นว่าการรอคอยอาจเป็นการแสดงความรักและความมั่นใจได้อย่างไร ขอให้คิดถึงสถานการณ์ของหญิงชราคนหนึ่งซึ่งอาศัยอยู่ในเขตที่แห้งแล้งแถบเทือกเขาแอนดีส ในอเมริกาใต้. เธอกับเพื่อนพยานฯ อีกคนหนึ่งเป็นพยานพระยะโฮวาเพียงสองคนในหมู่บ้าน. คุณนึกภาพออกไหมว่าพวกเธอจะรอคอยการมาเยือนของเพื่อนคริสเตียนอย่างกระตือรือร้นเพียงไร? ครั้งหนึ่ง ผู้ดูแลเดินทางซึ่งเพิ่งมาเยี่ยมพวกเธอเป็นครั้งแรกเกิดหลงทาง. เขาต้องย้อนกลับไปตั้งต้นใหม่ ทำให้เสียเวลาไปหลายชั่วโมง. เวลาล่วงเลยเที่ยงคืนมานานแล้ว เมื่อในที่สุดเขามองเห็นหมู่บ้านอยู่แต่ไกล. เนื่องจากบริเวณนั้นยังไม่มีไฟฟ้าใช้ เขาจึงแปลกใจที่เห็นแสงไฟ. เขามีความสุขจริง ๆ เมื่อในที่สุดก็มาถึงทางเข้าหมู่บ้านและพบว่าแสงไฟที่เขาเห็นนั้นเป็นแสงจากตะเกียงน้ำมันที่พี่น้องสูงอายุคนนี้ยกชูเอาไว้! เธอแน่ใจว่าเขาต้องมา เธอจึงคอยอยู่.
ด้วยความอดทนคล้าย ๆ กันนั้น เรามีความสุขในการรอคอยพระยะโฮวา. เราแน่ใจว่าพระองค์จะรักษาคำสัญญาของพระองค์. และเช่นเดียวกับผู้ดูแลเดินทางคนนั้น เราหยั่งรู้ค่าผู้ที่รอคอยเราด้วยความรัก. ดังนั้น เราจึงไม่แปลกใจที่พระเจ้าทรงหยั่งรู้ค่าผู้ที่รอคอยพระองค์. คัมภีร์ไบเบิลกล่าวว่า “พระยะโฮวาทรงยินดีใน . . . ผู้ที่ไว้ใจใน [“รอคอย,” ล.ม.] พระกรุณาคุณของพระองค์.”—บทเพลงสรรเสริญ 147:11.
[ภาพหน้า 18]
คนที่ง่วนอยู่กับการสรรเสริญพระเจ้ามีความยินดีในการรอคอยพระยะโฮวา