จงดำเนินชีวิตอย่างมีความสุขด้วยความเกรงกลัวพระยะโฮวา
จงดำเนินชีวิตอย่างมีความสุขด้วยความเกรงกลัวพระยะโฮวา
“ท่านทั้งหลายผู้ชอบธรรม [“ผู้บริสุทธิ์,” ล.ม.] ของพระยะโฮวา, จงยำเกรงพระองค์; เพราะผู้ที่ยำเกรงพระองค์จะไม่ขัดสนสิ่งใดเลย.”—บทเพลงสรรเสริญ 34:9.
1, 2. (ก) คริสต์ศาสนจักรมีทัศนะที่แตกต่างกันเช่นไรบ้างในเรื่องการเกรงกลัวพระเจ้า? (ข) ตอนนี้เราจะพิจารณาคำถามอะไรบ้าง?
นักเทศน์ทั้งหลายในคริสต์ศาสนจักรที่เทศน์เรื่องความเกรงกลัวพระเจ้า บ่อยครั้งอาศัยคำสอนซึ่งไม่เป็นไปตามหลักพระคัมภีร์ที่ว่า พระเจ้าทรงลงโทษคนบาปตลอดไปในไฟนรก. หลักคำสอนเช่นนั้นขัดแย้งกับสิ่งที่คัมภีร์ไบเบิลสอนเกี่ยวกับพระยะโฮวาผู้ทรงเป็นพระเจ้าแห่งความรักและความยุติธรรม. (เยเนซิศ 3:19; พระบัญญัติ 32:4; โรม 6:23; 1 โยฮัน 4:8) นักเทศน์คนอื่น ๆ แห่งคริสต์ศาสนจักรใช้แนวการสอนที่ตรงกันข้าม. พวกเขาไม่เคยเอ่ยถึงการเกรงกลัวพระเจ้า. แทนที่จะทำอย่างนั้น พวกเขาสอนว่าพระเจ้าทรงมีทัศนะเปิดกว้างและทรงยอมรับเกือบจะทุกคนโดยไม่คำนึงว่าเขาดำเนินชีวิตแบบใด. นี่ก็ไม่ใช่สิ่งที่คัมภีร์ไบเบิลสอนเช่นกัน.—ฆะลาเตีย 5:19-21.
2 อันที่จริง คัมภีร์ไบเบิลสนับสนุนเราให้เกรงกลัวพระเจ้า. (วิวรณ์ 14:7) ความจริงข้อนี้ทำให้เกิดคำถามขึ้นมา. เหตุใดพระเจ้าผู้ทรงเปี่ยมด้วยความรักทรงประสงค์ให้เรากลัวพระองค์? ความเกรงกลัวแบบใดที่พระเจ้าทรงเรียกร้องจากเรา? การเกรงกลัวพระเจ้าสามารถให้ประโยชน์แก่เราอย่างไร? เราจะพิจารณาคำถามเหล่านี้ขณะที่เราพิจารณาเพลงสรรเสริญบท 34 กันต่อไป.
เหตุที่เกรงกลัวพระเจ้า
3. (ก) คุณรู้สึกอย่างไรต่อพระบัญชาที่ให้เกรงกลัวพระเจ้า? (ข) เหตุใดคนที่เกรงกลัวพระยะโฮวาจึงมีความสุข?
3 ในฐานะพระผู้สร้างและผู้ปกครององค์บรมมหิศรแห่งเอกภพ พระยะโฮวาทรงสมควรได้รับความเกรงกลัว. (1 เปโตร 2:17) อย่างไรก็ตาม ความกลัวเช่นนั้นไม่ใช่ความหวาดกลัวพระเจ้าผู้โหดร้าย หากแต่เป็นความเคารพ ยำเกรงเพราะความเป็นบุคคลอย่างที่พระยะโฮวาทรงเป็น. ความเกรงกลัวพระเจ้ายังหมายถึงการกลัวว่าจะทำให้พระองค์ไม่พอพระทัย. ความกลัวแบบนี้ต่อพระเจ้าเป็นสิ่งที่สูงส่งและยกสภาพฝ่ายวิญญาณให้สูงขึ้น ไม่ใช่ทำให้หดหู่หรือหวาดหวั่น. พระยะโฮวา “พระเจ้าผู้ประกอบด้วยความสุข” ทรงประสงค์ให้มนุษย์ที่พระองค์ทรงสร้างชื่นชมกับชีวิต. (1 ติโมเธียว 1:11) แต่เพื่อจะเป็นอย่างนั้นได้ เราต้องดำเนินชีวิตสอดคล้องกับข้อเรียกร้องของพระเจ้า. สำหรับหลายคนแล้ว นั่นหมายถึงการเปลี่ยนรูปแบบชีวิตใหม่. ทุกคนที่ทำการเปลี่ยนแปลงที่จำเป็นประสบกับความสัตย์จริงตามถ้อยคำของดาวิดผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญที่ว่า “ท่านทั้งหลายจงชิมดูจึงจะรู้ว่าพระยะโฮวาเป็นผู้ประเสริฐ; ผู้ใดที่พึ่งอาศัยในพระองค์ก็เป็นสุข. ท่านทั้งหลายผู้ชอบธรรม [“ผู้บริสุทธิ์,” ล.ม.] ของพระยะโฮวา, จงยำเกรงพระองค์; เพราะผู้ที่ยำเกรงพระองค์จะไม่ขัดสนสิ่งใดเลย.” (บทเพลงสรรเสริญ 34:8, 9) เพราะมีสายสัมพันธ์ที่ดีกับพระเจ้า ทุกคนที่เกรงกลัวพระยะโฮวาไม่ขาดสิ่งใดที่มีคุณค่าถาวร.
4. ทั้งดาวิดและพระเยซูได้ให้คำรับรองอะไร?
4 โปรดสังเกตว่าดาวิดให้เกียรติคนของท่านโดยเรียกพวกเขาว่า “ผู้บริสุทธิ์” ตามความหมายที่ใช้กันในสมัยของท่าน. พวกเขาเป็นส่วนหนึ่งของชาติบริสุทธิ์ของพระเจ้า. พวกเขายังได้เสี่ยงชีวิตติดตามดาวิดด้วย. แม้ว่าพวกเขาอยู่ในระหว่างหนีกษัตริย์ซาอูล แต่ดาวิดมั่นใจว่าพระยะโฮวาจะประทานสิ่งจำเป็นพื้นฐานแก่พวกเขาต่อ ๆ ไป. ดาวิดเขียนดังนี้: “สิงโตหนุ่ม ๆ ยังเคยต้องขัดสน, และแสบท้อง; แต่ส่วนเหล่าคนที่แสวงหาพระยะโฮวาจะไม่ขัดสนสิ่งที่ดีเลย.” (บทเพลงสรรเสริญ 34:10) พระเยซูให้คำรับรองคล้าย ๆ กันนั้นกับเหล่าสาวก.—มัดธาย 6:33.
5. (ก) หลายคนที่ติดตามพระเยซูมีพื้นเพเช่นไร? (ข) พระเยซูทรงให้คำแนะนำอะไรในเรื่องความกลัว?
5 หลายคนที่ฟังพระเยซูสอนมาจากกลุ่มคนที่ด้อยโอกาส ชาวยิวที่เป็นชนชั้นล่าง. ด้วยเหตุนั้น พระเยซู “ทรงสงสารเขา ด้วยเขาถูกรังควานและไร้ที่พึ่งดุจฝูงแกะไม่มีผู้เลี้ยง.” (มัดธาย 9:36, ฉบับแปลใหม่) คนต่ำต้อยเช่นนั้นจะกล้าติดตามพระเยซูไหม? เพื่อจะทำอย่างนั้น พวกเขาจำเป็นต้องปลูกฝังความเกรงกลัวพระยะโฮวา ไม่ใช่ความกลัวมนุษย์. พระเยซูตรัสว่า “อย่ากลัวผู้ที่ฆ่าได้แต่ร่างกาย, และภายหลังไม่มีอะไรที่จะทำได้อีก. แต่เราจะสำแดงให้ท่านรู้ก่อนว่าควรจะกลัวผู้ใด จงกลัวพระองค์ผู้ทรงฆ่าตนแล้วก็ยังมีฤทธิ์ที่จะทิ้งลงในนรก [“เกเฮนนา,” ภาษาเดิม] ได้. แท้จริงเราบอกท่านว่า, จงกลัวพระองค์นั้นแหละ. นกกะจาบห้าตัวเขาขายหกสตางค์มิใช่หรือ และนกนั้นแม้สักตัวเดียวพระเจ้ามิได้ทรงลืมเลย. ถึงผมของท่านทั้งหลายก็ทรงนับไว้แล้วทุกเส้น. อย่ากลัวเลย, ท่านทั้งหลายประเสริฐกว่านกกะจาบหลายตัว.”—ลูกา 12:4-7.
6. (ก) ถ้อยคำอะไรของพระเยซูที่ช่วยเสริมความเข้มแข็งแก่คริสเตียน? (ข) เหตุใดพระเยซูทรงเป็นตัวอย่างที่ดีที่สุดในการแสดงความเกรงกลัวพระเจ้า?
6 เมื่อผู้เกรงกลัวพระยะโฮวาถูกศัตรูกดดันให้เลิกรับใช้พระเจ้า พวกเขาอาจนึกขึ้นได้ถึงคำแนะนำของพระเยซูที่ว่า “ทุกคนที่จะรับเราต่อหน้ามนุษย์, บุตรมนุษย์ก็จะรับคนนั้นต่อหน้าเหล่าทูตของพระเจ้า. แต่ผู้ที่ปฏิเสธเราต่อหน้ามนุษย์, บุตรมนุษย์จะปฏิเสธผู้นั้นต่อหน้าเหล่าทูตของพระเจ้า.” (ลูกา 12:8, 9) ถ้อยคำดังกล่าวช่วยเสริมความเข้มแข็งแก่คริสเตียน โดยเฉพาะในดินแดนที่การนมัสการแท้ถูกสั่งห้าม. คนเหล่านั้นสรรเสริญพระยะโฮวาต่อไปอย่างสุขุมรอบคอบ ณ การประชุมคริสเตียนและในงานประกาศ. (กิจการ 5:29) พระเยซูทรงวางตัวอย่างที่ดีที่สุดใน การแสดง ‘ความเกรงกลัวพระเจ้า.’ (เฮ็บราย 5:7, ล.ม.) มีถ้อยคำเชิงพยากรณ์บอกล่วงหน้าถึงพระองค์ดังนี้: “พระวิญญาณของพระยะโฮวาจะลงมาบนท่าน วิญญาณแห่ง . . . ความเกรงกลัวพระยะโฮวา; และท่านจะมีความชื่นชมยินดีในความยำเกรงพระยะโฮวา.” (ยะซายา 11:2, 3, ล.ม.) ด้วยเหตุนั้น พระเยซูทรงมีคุณวุฒิสูงยิ่งที่จะสอนเราในเรื่องผลประโยชน์ต่าง ๆ ของการเกรงกลัวพระเจ้า.
7. (ก) คริสเตียนอาจเหมือนกับตอบรับคำเชิญคล้าย ๆ กับที่ดาวิดเชิญโดยวิธีใด? (ข) บิดามารดาสามารถทำตามแบบอย่างที่ดีของดาวิดได้อย่างไร?
7 ทุกคนที่ติดตามตัวอย่างของพระเยซูและที่เชื่อฟังคำสอนของพระองค์ก็เหมือนกับกำลังตอบรับคำเชิญคล้าย ๆ กับที่ดาวิดเชิญ ที่ว่า “บุตรทั้งหลายเอ๋ย, จงมาฟังคำข้าเถิด: ข้าจะสอนให้เจ้ารู้ถึงความเกรงกลัวพระยะโฮวา.” (บทเพลงสรรเสริญ 34:11) เป็นเรื่องธรรมดาที่ดาวิดจะเรียกคนของท่านว่า “บุตรทั้งหลาย” เพราะพวกเขานับถือท่านเป็นผู้นำ. ดาวิดเองให้ความช่วยเหลือฝ่ายวิญญาณแก่เหล่าผู้ติดตามท่าน เพื่อพวกเขาจะเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันได้และได้รับความโปรดปรานจากพระเจ้า. ช่างเป็นตัวอย่างที่ดีจริง ๆ สำหรับคริสเตียนที่เป็นบิดามารดา! พระยะโฮวาได้ประทานอำนาจแก่บิดามารดาในส่วนที่เกี่ยวกับบุตรชายหญิง ให้ “อบรมเลี้ยงดูเขาต่อไปด้วยการตีสอนและการปรับความคิดจิตใจตามหลักการของพระยะโฮวา.” (เอเฟโซ 6:4, ล.ม.) โดยพิจารณาเรื่องฝ่ายวิญญาณกับบุตรในแต่ละวันและโดยนำการศึกษาคัมภีร์ไบเบิลกับลูก ๆ เป็นประจำ บิดามารดาช่วยบุตรวัยเยาว์ของตนให้ดำเนินชีวิตอย่างมีความสุขด้วยความเกรงกลัวพระยะโฮวา.—พระบัญญัติ 6:6, 7.
วิธีแสดงความเกรงกลัวพระเจ้าในชีวิตจริง
8, 9. (ก) อะไรทำให้วิถีชีวิตที่เกรงกลัวพระเจ้าน่าดึงดูดใจมาก? (ข) การระวังลิ้นของเราเกี่ยวข้องกับอะไร?
8 ดังกล่าวแล้วข้างต้น การเกรงกลัวพระยะโฮวาไม่ทำให้เราขาดความยินดี. ดาวิดถามดังนี้: “ใครผู้ใดอยากได้ชีวิตจำเริญ, และปรารถนามีอายุยั่งยืนเพื่อจะได้เห็นลาภอันดี?” (บทเพลงสรรเสริญ 34:12) เห็นได้ชัด ความเกรงกลัวพระยะโฮวาเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับการมีชีวิตยืนยาวที่มีความสุขและชื่นชมสิ่งดี ๆ. อย่างไรก็ตาม เป็นเรื่องง่ายที่จะอ้างว่า “ฉันเกรงกลัวพระเจ้า.” แต่ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่จะพิสูจน์ด้วยการกระทำของเราว่าเราเกรงกลัวพระองค์. ด้วยเหตุนั้น ดาวิดจึงอธิบายต่อไปว่าเราจะแสดงความเกรงกลัวพระเจ้าได้อย่างไร.
9 “จงระวังลิ้นของตนให้ปราศจากคำชั่ว, และจงระวังริมฝีปากอย่าให้พูดคำมารยาอุบาย.” (บทเพลงสรรเสริญ 34:13) อัครสาวกเปโตรได้รับการดลใจให้ยกข้อความส่วนนี้ของเพลงสรรเสริญบท 34 หลังจากที่ท่านให้คำแนะนำคริสเตียนให้ปฏิบัติต่อกันด้วยความรักใคร่ฉันพี่น้อง. (1 เปโตร 3:8-12) การระวังลิ้นของเราให้ปราศจากคำชั่วหมายถึงการที่เราจะหลีกเลี่ยงการแพร่คำซุบซิบที่ทำให้เสียหาย. แทนที่จะทำอย่างนั้น เราจะพยายามเสริมสร้างกันเสมอเมื่อเราคุยกับคนอื่น. นอกจากนั้น เราจะพยายามเป็นคนกล้าพูดความจริง.—เอเฟโซ 4:25, 29, 31; ยาโกโบ 5:16.
10. (ก) จงอธิบายว่าการทิ้งการชั่วหมายถึงอะไร. (ข) การทำสิ่งที่ดีหมายรวมถึงอะไรบ้าง?
10 “จงทิ้งการชั่วและประพฤติการดี; จงแสวงหาความสงบสุขและติดตามไปเถิด.” (บทเพลงสรรเสริญ 34:14) เราหลีกเลี่ยงสิ่งที่พระเจ้าทรงตำหนิ เช่น การผิดศีลธรรมทางเพศ, สื่อลามก, การขโมย, ลัทธิภูติผีปิศาจ, ความรุนแรง, การเมาเหล้า, และการใช้ยาเสพติด. เรายังปฏิเสธความบันเทิงที่เน้นในเรื่องสิ่งน่าเกลียดเหล่านั้นด้วย. (เอเฟโซ 5:10-12) แทนที่จะใช้เวลากับสิ่งเหล่านั้น เราใช้เวลาของเราเพื่อทำสิ่งที่ดี. สิ่งดีที่สุดที่เราสามารถทำได้ก็คือการเข้าร่วมเป็นประจำในงานประกาศเรื่องราชอาณาจักรและงานทำให้คนเป็นสาวก ช่วยคนอื่นให้ได้รับความรอด. (มัดธาย 24:14; 28:19, 20) การทำดียังหมายรวมถึงการเตรียมตัวให้พร้อมและการเข้าร่วมการประชุมคริสเตียน, การบริจาคเพื่องานทั่วโลก, การดูแลหอประชุมราชอาณาจักร, และการให้ความสนใจต่อความจำเป็นของคริสเตียนที่ลำบากขัดสน.
11. (ก) ดาวิดลงมือทำอย่างไรตามที่ท่านพูดในเรื่องการรักษาสันติสุข? (ข) คุณอาจทำอะไรได้เพื่อ “แสวงหาความสงบสุข” ในประชาคม?
11 ดาวิดวางตัวอย่างที่ดีในเรื่องการแสวงหาสันติสุข. สองครั้งสองครา ท่านมีโอกาสฆ่าซาอูล. ทั้งสองครั้ง ท่านยับยั้งตัวไว้ไม่ใช้ความรุนแรงและในภายหลังก็ได้พูดกับกษัตริย์ด้วยความนับถือ โดยหวังว่าจะกลับมามีสันติสุขต่อกันอีก. (1 ซามูเอล 24:8-11; 26:17-20) อาจทำอะไรได้ในทุกวันนี้เมื่อเกิดสถานการณ์อย่างใดอย่างหนึ่งที่คุกคามสันติ สุขของประชาคม? เราควร “แสวงหาความสงบสุขและติดตามไป.” ด้วยเหตุนั้น หากเรารู้สึกว่าสายสัมพันธ์ระหว่างเรากับเพื่อนร่วมความเชื่อเริ่มตึงเครียด เราเชื่อฟังคำแนะนำของพระเยซูที่ว่า ให้ “ไปคืนดีกันกับพี่น้องผู้นั้นเสียก่อน.” จากนั้น จึงค่อยดำเนินต่อ ๆ ไปในแง่มุมอื่น ๆ ของการนมัสการแท้ของเรา.—มัดธาย 5:23, 24; เอเฟโซ 4:26.
ความเกรงกลัวพระเจ้านำพระพรอันอุดมมาให้
12, 13. (ก) ผู้เกรงกลัวพระเจ้าได้รับประโยชน์อะไรในปัจจุบัน? (ข) ในไม่ช้า ผู้นมัสการที่ซื่อสัตย์จะได้รับบำเหน็จอันยิ่งใหญ่อะไร?
12 “พระเนตรพระยะโฮวาเพ่งดูผู้ชอบธรรม, และพระกรรณของพระองค์ทรงสดับฟังคำทูลร้องทุกข์ของเขา.” (บทเพลงสรรเสริญ 34:15) บันทึกเกี่ยวกับการปฏิบัติของพระเจ้าต่อดาวิดให้ข้อพิสูจน์ว่าคำกล่าวนี้เป็นความจริง. ทุกวันนี้ เรามีความยินดีอย่างลึกล้ำและมีสันติสุขภายใน เพราะเราทราบว่าพระยะโฮวากำลังเฝ้าดูเราอยู่. เราเชื่อมั่นว่าพระองค์จะทรงตอบสนองความจำเป็นของเราเสมอ แม้แต่เมื่อเราถูกกดดันอย่างหนัก. เราทราบว่าในไม่ช้า ผู้นมัสการแท้ทุกคนจะเผชิญการโจมตีของโกกแห่งมาโกกและ “วันใหญ่ยิ่งอันน่ากลัวของพระยะโฮวา” ตามที่มีบอกไว้ล่วงหน้า. (โยเอล 2:11, 31; ยะเอศเคล 38:14-18, 21-23) ไม่ว่าสถานการณ์ที่เราต้องเผชิญในตอนนั้นจะเป็นเช่นไร ถ้อยคำของดาวิดจะเป็นจริงในกรณีของเรา ที่ว่า “เมื่อร้องทูลพระยะโฮวาทรงสดับฟัง, และได้ทรงช่วยให้พ้นจากทุกข์ยากของเขาทั้งสิ้น.”—บทเพลงสรรเสริญ 34:17.
13 จะเป็นเรื่องน่าตื่นเต้นสักเพียงไรเมื่อถึงเวลานั้นที่เห็นพระยะโฮวาทำให้พระนามอันยิ่งใหญ่ของพระองค์ได้รับความนับถือ! หัวใจเราจะเต็มเปี่ยมด้วยความสะพรึงกลัวและความเคารพนับถือยิ่งกว่าเดิม และผู้ต่อต้านทุกคนจะพบจุดจบอันอัปยศ. “พระพักตร์พระยะโฮวาก็ผินไปจากคนทั้งหลายที่กระทำชั่ว, เพื่อจะทรงล้างผลาญสิ่งซึ่งเป็นที่ระลึกถึงเขาให้ศูนย์เสียจากแผ่นดินโลก.” (บทเพลงสรรเสริญ 34:16) บำเหน็จจะมีบริบูรณ์สักเพียงไรเมื่อจะได้รับการช่วยให้รอดอันยิ่งใหญ่เข้าสู่โลกใหม่อันชอบธรรมของพระเจ้า!
คำสัญญาที่ช่วยเราให้อดทน
14. อะไรจะช่วยเราให้อดทนได้แม้ประสบภัยอันตราย?
14 ในระหว่างนี้ จำเป็นต้องอดทนเพื่อจะเชื่อฟังพระยะโฮวาต่อ ๆ ไปได้ในโลกที่เสื่อมทรามและไม่เป็นมิตร. ความเกรงกลัวพระเจ้าช่วยเราอย่างมากให้ปลูกฝังความอดทน. เนื่องจากเรามีชีวิตอยู่ในสมัยวิกฤติ ผู้รับใช้บางคนของพระยะโฮวาประสบความลำบากอย่างหนักที่ประหนึ่งว่าทำให้หัวใจสลายและจิตใจชอกช้ำ. อย่างไรก็ตาม พวกเขามั่นใจได้อย่างเต็มที่ว่าหากพวกเขาหมายพึ่งพระยะโฮวา พระองค์จะทรงช่วยพวกเขาให้อดทน. ถ้อยคำของดาวิดให้คำปลอบประโลมอย่างแท้จริงดังนี้: “พระยะโฮวาทรงอยู่ใกล้คนที่หัวใจสลาย; และคนที่จิตใจชอกช้ำพระองค์ทรงช่วยให้รอด.” (บทเพลงสรรเสริญ 34:18, ล.ม.) ดาวิดกล่าวต่อไปอย่างที่ให้กำลังใจดังนี้: “เหตุอันตรายมากหลายย่อมเกิดแก่ผู้สัตย์ธรรม; แต่พระยะโฮวาทรงช่วยเขาให้พ้นจากเหตุทั้งปวงเหล่านั้น.” (บทเพลงสรรเสริญ 34:19) ไม่ว่ามีภัยอันตรายมากมายขนาดไหนเกิดขึ้นกับเรา พระยะโฮวาทรงฤทธิ์ยิ่งใหญ่พอที่จะช่วยเราได้.
15, 16. (ก) ดาวิดทราบข่าวเรื่องความหายนะอะไรหลังจากแต่งเพลงสรรเสริญบท 34 ได้ไม่นาน? (ข) อะไรจะช่วยเราให้อดทนการทดลอง?
เพลงสรรเสริญบท 34 ดาวิดได้ยินข่าวเกี่ยวกับความหายนะที่เกิดขึ้นกับประชากรเมืองโนบ เมื่อซาอูลสังหารหมู่พวกเขาและปุโรหิตส่วนใหญ่. ท่านคงต้องทุกข์ใจสักเพียงไรเมื่อนึกถึงว่าเป็นเพราะท่านแวะที่เมืองโนบนั่นเองที่กระตุ้นให้ซาอูลโกรธ! (1 ซามูเอล 22:13, 18-21) ไม่ต้องสงสัยเลยว่าดาวิดหมายพึ่งพระยะโฮวาเพื่อจะได้รับความช่วยเหลือ และท่านได้รับการปลอบประโลมอย่างแน่นอนจากความหวังในเรื่องการกลับเป็นขึ้นจากตายของ “คนชอบธรรม” ในอนาคต.—กิจการ 24:15.
15 ไม่นานหลังจากแต่ง16 ปัจจุบัน ความหวังเรื่องการกลับเป็นขึ้นจากตายเสริมเราให้เข้มแข็งด้วยเช่นกัน. เราทราบว่าไม่มีสิ่งใดที่ศัตรูของเราสามารถก่อผลเสียหายต่อเราอย่างถาวร. (มัดธาย 10:28) ดาวิดแสดงออกซึ่งความเชื่อมั่นคล้าย ๆ กันในถ้อยคำที่ว่า “พระองค์ทรงรักษาบรรดากะดูกของ [ผู้ชอบธรรม] ไว้ ไม่ให้หักสักซี่หนึ่งเลย.” (บทเพลงสรรเสริญ 34:20) ข้อพระคัมภีร์นี้สำเร็จเป็นจริงตามตัวอักษรในกรณีของพระเยซู. แม้ว่าพระเยซูทรงถูกประหารอย่างโหดร้าย แต่ไม่มีกระดูกของพระองค์สักซี่ที่ “หัก.” (โยฮัน 19:36) เมื่อนำมาใช้ในความหมายที่กว้างกว่า บทเพลงสรรเสริญ 34:20 รับรองกับเราว่าไม่ว่าคริสเตียนผู้ถูกเจิมและ “แกะอื่น” สหายของพวกเขาเผชิญกับการทดลองอะไร พวกเขาจะไม่มีทางได้รับผลเสียหายอย่างถาวร. อาจกล่าวโดยนัยได้ว่า กระดูกของพวกเขาจะไม่หักเลย.—โยฮัน 10:16.
17. ความหายนะอะไรคอยท่าเหล่าคนที่เกลียดชังประชาชนของพระยะโฮวาอย่างไม่ยอมกลับใจ?
17 สำหรับคนชั่วนั้น สถานการณ์ไม่เหมือนกัน. ไม่ช้า พวกเขาจะเก็บเกี่ยวสิ่งชั่วที่พวกเขาได้หว่าน. “ความชั่วจะประหารคนชั่ว; และคนที่ชังผู้สัตย์ธรรมจะมีโทษ?” (บทเพลงสรรเสริญ 34:21) ทุกคนที่ต่อต้านประชาชนของพระเจ้าอยู่เรื่อยไปต้องพบกับความหายนะที่เลวร้ายที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้. ในคราวการปรากฏของพระเยซูคริสต์ พวกเขา “จะรับโทษคือความพินาศนิรันดร์.”—2 เธซะโลนิเก 1:9.
18. “ชนฝูงใหญ่” ได้รับการไถ่ถอนแล้วในความหมายใด และพวกเขาจะได้ประสบกับอะไรในอนาคต?
18 เพลงสรรเสริญของดาวิดลงท้ายด้วยคำรับรองดังนี้: “พระยะโฮวาทรงไถ่จิตต์วิญญาณผู้ทาสของพระองค์; และผู้ที่วางใจในพระองค์ไม่ต้องถูกปรับโทษสักคนเดียว.” (บทเพลงสรรเสริญ 34:22) เมื่อใกล้จะสิ้นสุดช่วง 40 ปีแห่งการครองราชย์ กษัตริย์ดาวิดกล่าวดังนี้: “[พระเจ้า] ทรงไถ่จิตต์ใจของเราออกจากความทุกข์ลำบาก.” (1 กษัตริย์ 1:29) เช่นเดียวกับดาวิด ในไม่ช้าผู้เกรงกลัวพระยะโฮวาจะสามารถมองย้อนกลับและชื่นชมยินดีที่ได้ถูกไถ่ถอนให้หลุดพ้นจากความผิดใด ๆ อันเนื่องจากบาปและได้รับการช่วยให้รอดจากความยุ่งยากทั้งสิ้น. คริสเตียนผู้ถูกเจิมส่วนใหญ่ได้รับบำเหน็จของตนในสวรรค์แล้ว. ตอนนี้ “ชนฝูงใหญ่” จากทุกชาติกำลังเข้าร่วมสมทบกับชนที่เหลือแห่งเหล่าพี่น้องของพระคริสต์ในการรับใช้พระเจ้า และด้วยเหตุนั้นจึงมีฐานะที่สะอาดจำเพาะพระยะโฮวา. ทั้งนี้ก็เพราะพวกเขาแสดงความเชื่อในอำนาจไถ่ถอนของพระโลหิตที่หลั่งออกของพระเยซู. ระหว่างรัชสมัยพันปีของพระคริสต์ที่กำลังจะมาถึง จะมีการใช้ผลประโยชน์ของเครื่องบูชาไถ่กับพวกเขาอย่างเต็มที่ ช่วยให้พวกเขาบรรลุสภาพมนุษย์สมบูรณ์.—วิวรณ์ 7:9, 14, 17, ล.ม.; 21:3-5.
19. สมาชิกของ “ชนฝูงใหญ่” ตั้งใจแน่วแน่จะทำอะไร?
19 เหตุใดพระพรทั้งหมดนี้จะอยู่กับ “ชนฝูงใหญ่” แห่งเหล่าผู้นมัสการพระเจ้า? เนื่องจากพวกเขาตั้งใจแน่วแน่จะเกรงกลัวพระยะโฮวาต่อ ๆ ไป, รับใช้พระองค์ด้วยความเลื่อมใสยำเกรง, และเชื่อฟังด้วยความเคารพนับถือ. จริงทีเดียว ความเกรงกลัวพระยะโฮวาทำให้ชีวิตน่าชื่นชมในเวลานี้ และช่วยเราให้ “ยึดเอาชีวิตแท้” ให้มั่น กล่าวคือ ชีวิตนิรันดร์ในโลกใหม่ของพระเจ้า.—1 ติโมเธียว 6:12, 18, 19, ล.ม.; วิวรณ์ 15:3, 4.
คุณจำได้ไหม?
• เหตุใดเราควรเกรงกลัวพระเจ้า และการเกรงกลัวพระองค์หมายความเช่นไร?
• ความเกรงกลัวพระเจ้าควรมีผลเช่นไรต่อความประพฤติของเรา?
• บำเหน็จอะไรมาจากการเกรงกลัวพระเจ้า?
• คำสัญญาอะไรช่วยเราให้อดทน?
[คำถาม]
[ภาพหน้า 26]
ผู้เกรงกลัวพระยะโฮวาใช้ความสุขุมรอบคอบเมื่อถูกสั่งห้าม
[ภาพหน้า 28]
สิ่งดีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดที่เราทำได้เพื่อเพื่อนบ้านก็คือการบอกข่าวดีเรื่องราชอาณาจักรแก่พวกเขา