จุดเด่นจากพระธรรมท่านผู้ประกาศ
พระคำของพระยะโฮวามีชีวิต
จุดเด่นจากพระธรรมท่านผู้ประกาศ
โยบปฐมบรรพบุรุษกล่าวว่า “อันมนุษย์ซึ่งเกิดจากเพศหญิงย่อมมีแต่วันเวลาน้อยนัก, และประกอบไปด้วยความทุกข์ยากลำบาก.” (โยบ 14:1) นับเป็นเรื่องสำคัญสักเพียงไรที่เราจะไม่ใช้ชีวิตอันแสนสั้นของเราโดยเปล่าประโยชน์ไปกับกิจธุระและความพยายามต่าง ๆ ที่ไร้ค่า! เราควรใช้เวลา, พลังงาน, และเงินทองไปกับการมุ่งติดตามสิ่งใด? อะไรที่เราควรหลีกเลี่ยง? ถ้อยคำแห่งสติปัญญาที่บันทึกไว้ในพระธรรมท่านผู้ประกาศให้คำแนะนำที่ดีในเรื่องนี้. ข่าวสารในพระธรรมนี้ “สามารถหยั่งรู้ความคิดและความมุ่งหมายในหัวใจ” และช่วยเราให้ดำเนินชีวิตอย่างมีความหมายได้.—เฮ็บราย 4:12, ล.ม.
พระธรรมท่านผู้ประกาศ ซึ่งเขียนโดยบุรุษที่เลื่องชื่อในเรื่องสติปัญญา คือกษัตริย์ซะโลโมแห่งอิสราเอลโบราณ มีคำแนะนำที่ใช้ได้จริงในเรื่องที่ว่า อะไรเป็นสิ่งที่มีค่าอย่างแท้จริงในชีวิตและอะไรคือสิ่งที่ไร้ค่า. เนื่องจากซะโลโมพาดพิงถึงโครงการก่อสร้างบางอย่างที่ท่านทำ ท่านคงต้องเขียนพระธรรมท่านผู้ประกาศหลังเสร็จสิ้นการก่อสร้าง และก่อนที่ท่านจะหันเหไปจากการนมัสการแท้. (นะเฮมยา 13:26) ช่วงเวลานั้นจะอยู่ก่อนปี 1000 ก่อนสากลศักราช จนถึงช่วงท้ายแห่งการครองราชย์ 40 ปีของซะโลโม.
อะไรคือสิ่งที่ไม่อนิจจัง?
ท่านผู้รวบรวมกล่าวว่า “สารพัตรเป็นอนิจจัง. การที่มนุษย์ตรากตรำทำงานอยู่กลางแดด, มนุษย์นั้นได้ประโยชน์อะไรจากการงานทั้งปวงของเขาเล่า?” (ท่านผู้ประกาศ 1:2, 3) คำว่า “อนิจจัง” และ “อยู่กลางแดด” หรือ “ภายใต้ดวงอาทิตย์” ปรากฏซ้ำหลายครั้งในพระธรรมท่านผู้ประกาศ. คำภาษาฮีบรูสำหรับคำว่า “อนิจจัง” ตามตัวอักษรหมายถึง “ลมหายใจ” หรือ “ไอน้ำ” และสิ่งที่ไร้แก่นสาร, ไม่คงทนถาวร, หรือขาดคุณค่าที่ยั่งยืน. ถ้อยคำที่ว่า “ภายใต้ดวงอาทิตย์” หมายถึง “บนแผ่นดินโลกนี้” หรือ “ในโลกนี้.” ฉะนั้น สิ่งสารพัตร—ซึ่งก็คือ สิ่งทั้งปวงที่มนุษย์พยายามทำโดยไม่สนใจพระทัยประสงค์ของพระเจ้า—เป็นอนิจจัง หรือไร้ค่า.
ซะโลโมกล่าวว่า “จงระวังเท้าของเจ้าเมื่อเจ้าไปยังวิหารของพระเจ้า; เพราะการเข้าใกล้ชิดเพื่อจะเชื่อฟังก็ดีกว่า.” (ท่านผู้ประกาศ 5:1) การเข้าร่วมในการนมัสการแท้ของพระยะโฮวาพระเจ้าไม่ไร้ค่าหรือไม่อนิจจัง. ที่จริง การให้ความเอาใจใส่ต่อสัมพันธภาพของเรากับพระองค์เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เราดำเนินชีวิตอย่างมีความหมาย.
คำตอบสำหรับคำถามเกี่ยวกับข้อพระคัมภีร์:
1:4-10—วัฏจักรของธรรมชาติทำให้ “เพลียละเหี่ยไป” ในแง่ใด? ท่านผู้รวบรวมกล่าวถึงกลไกการทำงานขั้นพื้นฐานเพียงสามสิ่งที่ทำให้ชีวิตบนแผ่นดินโลกดำรงอยู่ได้ นั่นคือ ดวงอาทิตย์, ทิศทางของกระแสลม, และวัฏจักรของน้ำ. ในความเป็นจริง วัฏจักรของธรรมชาติยังมีอีกมากมายและสลับซับซ้อนมาก. คนเราอาจใช้เวลาทั้งชีวิตศึกษาวัฏจักรเหล่านี้และก็ยังไม่เข้าใจเต็มที่. นั่นอาจทำให้ “เพลียละเหี่ยไป” แน่ ๆ. นอกจากนั้น นับเป็นเรื่องน่าข้องขัดใจหากเปรียบเทียบช่วงชีวิตอันแสนสั้นของเรากับวัฏจักรต่าง ๆ เหล่านี้ที่หมุนเวียนไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด. แม้แต่การพยายามค้นพบสิ่งใหม่ ๆ ก็ยังทำให้เพลียละเหี่ยไป. ที่จริง การคิดค้นสิ่งใหม่ ๆ ก็เป็นเพียงการใช้หลักการที่พระเจ้าเที่ยงแท้ทรงกำหนดไว้แล้วและมีการใช้อยู่แล้วในการสร้างของพระองค์.
2:1, 2—เหตุใดจึงกล่าวว่าการหัวเราะเป็น “การโฉดเขลา”? การหัวเราะอาจช่วยเราให้ลืมความทุกข์ได้ชั่วขณะ และการสนุกรื่นเริงอาจทำให้เรามองปัญหาที่มีอยู่เป็นเรื่องเล็กน้อย. อย่างไรก็ตาม การหัวเราะไม่ได้ทำให้ความยากลำบากที่เรามีอยู่หมดไป. ฉะนั้น การมุ่งแสวงหาความสุขโดยการหัวเราะจึงกล่าวได้ว่าเป็น “การโฉดเขลา.”
3:11—พระเจ้าทรงทำให้อะไร “งดงามตามฤดูกาลของสิ่งนั้น”? บางสิ่งที่พระยะโฮวาพระเจ้าได้ทรงกระทำให้ “งดงาม” หรือเหมาะสมและเป็นประโยชน์ตามเวลาที่สมควรก็คือการสร้างอาดามและฮาวา, สัญญาโดยทางรุ้งกินน้ำ, สัญญากับอับราฮาม, สัญญากับดาวิด, การเสด็จมาของพระมาซีฮา, และการแต่งตั้งพระเยซูคริสต์เป็นกษัตริย์แห่งราชอาณาจักรของพระเจ้า. อย่างไรก็ตาม มีสิ่งอื่นด้วยที่พระยะโฮวาจะทำให้ “งดงาม” ในอนาคตอันใกล้นี้. เราจะมั่นใจได้ว่าโลกใหม่อันชอบธรรมจะกลายเป็นจริงเมื่อถึงเวลาอันสมควร.—2 เปโตร 3:13.
3:15ข (ล.ม.)—‘พระเจ้าเที่ยงแท้ทรงเฝ้าแสวงหาสิ่งที่ถูกตามหา’ อย่างไร? “สิ่งที่ถูกตามหา” อาจหมายถึงสิ่งที่พระเจ้ามีพระประสงค์จะทำ. ขณะที่วัฏจักรซึ่งเกิดขึ้นซ้ำ ๆ เช่น การเกิดและการตายรวมถึงสงครามและสันติภาพ อาจทำให้มนุษย์รู้สึกไร้อำนาจและเป็นเหตุให้เขาคิดว่าประวัติศาสตร์คงจะซ้ำรอยอยู่เนือง ๆ แต่พระเจ้าเที่ยงแท้สามารถแสวงหาและทำให้ทุกสิ่งที่พระองค์ประสงค์สำเร็จเป็นจริง. (ท่านผู้ประกาศ 3:1-10, 15ก) “สิ่งที่ถูกตามหา” อาจหมายถึงคนชอบธรรมซึ่งบ่อยครั้งถูกคนชั่วไล่ตาม. ในกรณีนี้ พระยะโฮวาจะแสวงหาคนชอบธรรมเพื่อ “สำแดงว่าพระองค์ทรงฤทธานุภาพ” เพราะเห็นแก่พวกเขา.—2 โครนิกา 16:9.
5:9 (ฉบับแปลใหม่)—“ผลประโยชน์แห่งแผ่นดินโลกก็อยู่ที่เขาเหล่านั้นทั้งหมด” ในแง่ใด? ทุกคนที่อาศัยอยู่บนแผ่นดินโลกดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วย “ผลประโยชน์แห่งแผ่นดินโลก” หรือผลผลิตจากแผ่นดิน. แม้แต่กษัตริย์ก็ไม่เว้น. เพื่อจะได้ผลผลิตจากทุ่งนาของตน กษัตริย์ก็ต้องใช้คนไปดูแลหรือเพาะปลูกเช่นกัน.
บทเรียนสำหรับเรา:
1:15. เป็นการเปล่าประโยชน์ที่จะใช้เวลาและพลังงานเพื่อพยายามแก้ไขการกดขี่ข่มเหงและความไม่ยุติธรรมที่เราเห็นในทุกวันนี้. เฉพาะแต่ราชอาณาจักรของพระเจ้าเท่านั้นที่จะขจัดความชั่วให้หมดไป.—ดานิเอล 2:44.
2:4-11. กิจกรรมที่ส่งเสริมด้านวัฒนธรรม เช่น สถาปัตยกรรม, การจัดสวน, และดนตรี รวมถึงการใช้ชีวิตอย่างหรูหราฟุ่มเฟือยเป็นเหมือน “วิ่งไล่ตามลม” เพราะไม่ทำให้ชีวิตมีความหมายอย่างแท้จริงทั้งไม่ทำให้มีความสุขถาวร.
2:12-16. สติปัญญาเหนือกว่าความโง่เขลาก็เพราะสติปัญญาช่วยแก้ปัญหาบางอย่างได้. แต่ในเรื่องความตาย สติปัญญาของมนุษย์ช่วยอะไรไม่ได้เลย. และแม้ว่าคนเราอาจมีชื่อเสียงเลื่องลือเพราะมีสติปัญญา แต่ไม่ช้าเขาก็ถูกลืม.
2:24; 3:12, 13, 22. การชื่นชมผลงานของตัวเองไม่ใช่เรื่องผิด.
2:26. สติปัญญาจากพระเจ้าซึ่งก่อความสุข จะประทานให้แก่ “คนที่พระองค์ทรงพอพระทัย.” เป็นไปไม่ได้ที่จะได้รับสติปัญญานี้โดยไม่มีสัมพันธภาพที่ดีกับพระเจ้า.
3:16, 17. การคาดหวังความยุติธรรมในทุกเรื่องนั้นไม่ตรงกับความเป็นจริง. แทนที่จะรู้สึกกังวลเกี่ยวกับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในโลกทุกวันนี้ เราควรคอยท่าพระยะโฮวาจัดเรื่องราวต่าง ๆ ให้เรียบร้อย.
4:4. การทำงานหนักและชำนิชำนาญทำให้มีความสุข. แต่การทำงานหนักเพียงเพื่อให้เด่นกว่าคนอื่น ย่อมส่งเสริมน้ำใจแข่งขันและเป็นเหตุให้เกิดความคิดมุ่งร้ายและอิจฉาริษยา. การขยันขันแข็งในงานรับใช้ของคริสเตียนต้องมาจากแรงกระตุ้นที่ถูกต้อง.
4:7-12. สัมพันธภาพกับเพื่อนมนุษย์มีความสำคัญยิ่งกว่าการมีทรัพย์สมบัติและไม่ควรสละสัมพันธภาพกับเพื่อนมนุษย์เพื่อแลกกับความร่ำรวย.
4:13. ตำแหน่งและอายุไม่อาจทำให้คนเราได้รับความนับถือเสมอไป. คนที่มีตำแหน่งหน้าที่ควรปฏิบัติอย่างสุขุม.
4:15, 16. “คนรอง” ซึ่งหมายถึงผู้สืบทอดราชบัลลังก์กษัตริย์ ตอนแรกอาจได้รับการสนับสนุนจาก ‘มนุษย์ทั้งสิ้นที่เขาอยู่เหนือ’ แต่ ‘ภายหลังก็ไม่ชื่นชมยินดีกับเขา.’ จริงทีเดียว การเป็นที่นิยมชมชอบมักไม่ยั่งยืน.
5:2. คำอธิษฐานของเราควรแสดงถึงการคิดใคร่ครวญและความเคารพยำเกรง ไม่ใช่การพูดยืดยาว.
5:3-7. การหมกมุ่นครุ่นคิดเรื่องทรัพย์สมบัติวัตถุอาจกระตุ้นให้คนเราฝันกลางวันในเรื่องผลประโยชน์อันเห็นแก่ตัว. ทั้งยังอาจทำให้คนเรากระสับกระส่ายคิดฟุ้งซ่านตอนกลางคืน ทำให้นอนหลับไม่สนิท. การพูดมากอาจทำให้คนเราดูโง่เขลาในสายตาคนอื่น และอาจเป็นเหตุให้ด่วนปฏิญาณต่อพระเจ้า. ‘ความยำเกรงพระเจ้า’ ป้องกันเราไว้ไม่ให้กระทำสิ่งเหล่านี้.
6:1-9. การมีทรัพย์สมบัติ, ยศถาบรรดาศักดิ์, อายุยืน, และแม้แต่การมีบุตรหลานมากมาย ทั้งหมดนี้จะมีประโยชน์อะไรหากเราอยู่ในสภาพที่ไม่สามารถชื่นชมกับสิ่งเหล่านี้ได้? และ “เห็นแล้วกับลูกตาก็ดีกว่า” หรือการเผชิญกับความเป็นจริงก็ยังดีกว่า “แส่ตาเที่ยวมองหา” ซึ่งก็คือการพยายามที่จะสนองความปรารถนาที่ไม่มีทางได้รับสมตามที่ต้องการ. ฉะนั้น วิธีที่ดีที่สุดในการดำเนินชีวิตคือการพอใจกับ “เครื่องอุปโภคบริโภค” และขณะเดียวกันก็ชื่นชมกับสิ่งดี ๆ ในชีวิตและจดจ่ออยู่กับการรักษาสัมพันธภาพที่ใกล้ชิดกับพระยะโฮวา.—1 ติโมเธียว 6:8.
คำแนะนำสำหรับคนฉลาด
เราจะปกป้องชื่อเสียงของตนเองไว้ได้อย่างไร? เราควรมีทัศนะเช่นไรต่อบรรดาผู้ปกครองมนุษย์และความอยุติธรรมที่เราเห็น? เนื่องจากคนตายไม่รับรู้อะไร เราน่าจะใช้ชีวิตในปัจจุบันนี้ของเราอย่างไร? เยาวชนอาจจะใช้เวลาและพลังงานของตนอย่างสุขุมโดยวิธีใด? คำแนะนำที่ดีจากท่านผู้รวบรวมเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้และเรื่องอื่น ๆ ได้มีการบันทึกไว้ให้เราในพระธรรมท่านผู้ประกาศบท 7 ถึง 12.
คำตอบสำหรับคำถามเกี่ยวกับข้อพระคัมภีร์:
7:19—สติปัญญาดีกว่า “ผู้ครอบครองสิบคน” อย่างไร? เมื่อใช้ในความหมายเป็นนัยในคัมภีร์ไบเบิล เลขสิบหมายถึงความครบถ้วน. ซะโลโมกำลังบอกว่าคุณค่าในการปกป้องของสติปัญญาดียิ่งกว่ากองทหารป้องกันเมืองที่มีกำลังพลเต็มอัตราศึก.
10:2—หัวใจของคนเรา “อยู่ที่ข้างขวามือ” หรือ “อยู่ที่ข้างซ้ายมือ” ในความหมายเช่นไร? เนื่องจากตำแหน่งขวามือมักจะหมายถึงความโปรดปราน หัวใจที่อยู่ขวามือหมายถึงหัวใจที่กระตุ้นให้คนเราทำสิ่งดี. อย่างไรก็ตาม ถ้าหัวใจกระตุ้นให้คนเราเข้าสู่แนวทางชั่ว ก็อาจกล่าวได้ว่าหัวใจอยู่ข้างซ้ายมือ.
10:15—“การงานของคนโฉดเขลากระทำให้เขาเหน็ดเหนื่อย” อย่างไร? ถ้าคนเราขาดวิจารณญาณที่ดี งานหนักที่เขาทำก็ไม่ทำให้เกิดสิ่งใดที่คุ้มค่าจริง ๆ. เขาจะไม่ได้รับความพึงพอใจในสิ่งที่เขาได้ทำไป. ความพยายามอย่างไม่หยุดหย่อนเช่นนั้นมีแต่จะทำให้เขาเหน็ดเหนื่อย.
11:7, 8—ถ้อยคำที่ว่า “ความสว่างจำเริญลูกตา, และลูกตาทั้งสองเห็นดวงตะวันได้ก็ดีอยู่แล้ว” หมายความเช่นไร? แสงสว่างและดวงอาทิตย์ทำให้สิ่งมีชีวิตพึงพอใจ. ซะโลโมทรงกล่าวในที่นี้ว่า การมีชีวิตอยู่เป็นสิ่งที่ดีและเราน่าจะ “ชื่นชมยินดี” ก่อนที่วันแห่งความมืดหรือวัยชรา จะปล้นเอากำลังวังชาและความกระปรี้กระเปร่าของเราไป.
11:10 (ล.ม.)—เหตุใด “ความหนุ่มแน่นและวัยฉกรรจ์แห่งชีวิต” จึงอนิจจัง? ชีวิตในวัยหนุ่มสาวถ้าใช้อย่างไม่เหมาะสมก็เป็นอนิจจัง เนื่องจากช่วงเวลาที่กระปรี้กระเปร่าของวัยหนุ่มสาวจะหมดไปอย่างรวดเร็วเหมือนไอน้ำ.
บทเรียนสำหรับเรา:
7:6. การหัวเราะไม่ถูกกาลเทศะเป็นการยั่วโทสะและไร้ประโยชน์เหมือนเสียงเปรี๊ยะ ๆ ของหนามที่ไหม้อยู่ใต้หม้อ. เราควรหลีกเลี่ยงการหัวเราะเช่นนี้.
7:21, 22. เราไม่ควรกังวลมากเกินไปเกี่ยวกับสิ่งที่คนอื่นพูดถึงเรา.
8:2, 3; 10:4. เมื่อเราถูกติเตียนหรือถูกว่ากล่าวแก้ไขจากคนที่มีตำแหน่งสูงกว่าหรือนายจ้าง นับว่าสุขุมที่เราจะยังคงมีท่าทีที่สงบ. การทำเช่นนี้ดีกว่า “รีบออกไป” จากเขา หรือการผลีผลามลาออกจากงาน.
8:8; 9:5-10, 12. ชีวิตเราอาจจบสิ้นลงโดยไม่ได้คาดคิดเหมือนปลาถูกจับอยู่ในอวนหรือนกถูกดักติดอยู่ในบ่วงแร้ว. ยิ่งกว่านั้น เมื่อพลังชีวิตจะออกจากร่างคนตาย ไม่มีใครอาจรั้งไว้ได้ ทั้งไม่มีมนุษย์คนใดได้รับการงดเว้นที่จะไม่ต้องสู้กับความตาย. ฉะนั้น เราไม่ควรปล่อยเวลาให้เสียไปอย่างเปล่าประโยชน์. พระยะโฮวาประสงค์ให้เราเห็นค่าของชีวิตและเพลิดเพลินยินดีกับชีวิตในแนวทางที่ดีงาม. เพื่อจะทำเช่นนี้ เราน่าจะจัดให้การรับใช้พระยะโฮวาเป็นอันดับแรกในชีวิต.
8:16, 17. ทุกสิ่งที่พระเจ้าทำและยอมให้เกิดขึ้นกับมนุษยชาติเป็นเรื่องที่ไม่อาจเข้าใจได้อย่างเต็มที่แม้เราจะยอมอดหลับอดนอนเพื่อทำความเข้าใจก็ตาม. หากเราเป็นทุกข์กับความผิดทุกเรื่องก็มีแต่จะทำให้เราไม่มีความสุขในชีวิต.
9:16-18. เราควรเห็นคุณค่าสติปัญญาแม้ผู้คนส่วนใหญ่ไม่หยั่งรู้ค่าก็ตาม. คำพูดเบา ๆ ของคนฉลาดน่าจะเป็นที่ชื่นชอบกว่าเสียงตะโกนของคนโฉดเขลา.
10:1. เราต้องระวังคำพูดและการกระทำของเรา. การขาดความสุขุมเพียงครั้งเดียว เช่น การระเบิดอารมณ์, การดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์มากเกินไป, หรือความประพฤติทางเพศที่ไม่สะอาด ก็เพียงพอที่จะทำลายชื่อเสียงที่ดีของคนที่น่านับถือ.
10:5-11 (ฉบับแปลใหม่). คนไร้ความสามารถที่ได้รับตำแหน่งสูง ๆ ไม่ใช่คนที่น่าอิจฉา. การขาดความสามารถในการทำงานแม้เป็นงานง่าย ๆ ก็อาจทำให้เกิดผลเสียตามมา. แทนที่จะเป็นเช่นนั้น นับว่าเป็นประโยชน์ที่จะพัฒนาความสามารถในการใช้ ‘สติปัญญาเพื่อช่วยให้บรรลุความสำเร็จ.’ เป็นเรื่องสำคัญสักเพียงไรที่เราจะพัฒนาตนเองให้เป็นผู้มีความสามารถในงานประกาศเรื่องราชอาณาจักรและงานทำให้คนเป็นสาวก!
11:1, 2. เราควรจะแสดงความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่อย่างเต็มใจ. การทำเช่นนี้ก็จะทำให้เกิดความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่เช่นกัน.—ลูกา 6:38.
11:3-6. ความไม่แน่นอนของชีวิตไม่ควรทำให้เราเป็นคนไม่กล้าตัดสินใจ.
11:9; 12:1-7. คนหนุ่มสาวต้องให้การต่อพระยะโฮวา. ด้วยเหตุนั้น พวกเขาควรใช้เวลาและพลังงานในการรับใช้พระเจ้าก่อนที่ความชราจะปล้นเอาความกระปรี้กระเปร่าของเขาไป.
“ถ้อยคำของบรรดาผู้มีปัญญา” เพื่อชี้แนะเรา
เราควรมอง “ถ้อยคำหวานหู” ที่ท่านผู้รวบรวมได้สืบเสาะและเรียบเรียงขึ้นมาอย่างไร? ตรงกันข้ามกับ “หนังสือมากเล่ม” จากสติปัญญาของมนุษย์ “ถ้อยคำของนักปราชญ์ [“บรรดาผู้มีปัญญา,” ล.ม.] เป็นประดุจประตัก, และถ้อยคำของนักรวบรวมวิชาเป็นประดุจตะปูตรึงไว้แน่น, ซึ่งผู้เลี้ยงผู้เดียวได้ให้ไว้.” (ท่านผู้ประกาศ 12:10-12) ถ้อยคำแห่งสติปัญญาที่ได้รับจาก “ผู้เลี้ยงผู้เดียว” ซึ่งก็คือพระยะโฮวา มีผลกระทบอย่างไม่เสื่อมคลายต่อชีวิตของเรา.
การนำคำแนะนำที่สุขุมซึ่งพบในพระธรรมท่านผู้ประกาศไปใช้ จะช่วยเราให้มีชีวิตที่มีความหมายและมีความสุขอย่างแน่นอน. ยิ่งกว่านั้น เราได้รับคำรับรองว่า “ความสวัสดิมงคลจะมีแก่เขาทั้งหลายที่ยำเกรงพระเจ้า.” ดังนั้น ให้เราตั้งใจแน่วแน่ที่จะ ‘เกรงกลัวพระเจ้าและถือรักษาบัญญัติทั้งปวงของพระองค์.’—ท่านผู้ประกาศ 8:12; 12:13.
[ภาพหน้า 15]
หนึ่งในสิ่งที่งดงามที่สุดจากพระหัตถกิจของพระเจ้าจะกลายเป็นจริงเมื่อถึงเวลาอันควร
[ภาพหน้า 16]
ของประทานจากพระเจ้ารวมถึงการได้กิน, ดื่ม, และชื่นชมกับความดีความงามในบรรดาการงานหนักของเรา