จงพิสูจน์ความเชื่อด้วยวิธีที่คุณดำเนินชีวิต
จงพิสูจน์ความเชื่อด้วยวิธีที่คุณดำเนินชีวิต
“ความเชื่อ, ถ้าปราศจากการประพฤติ, ความเชื่อก็ตายอยู่ในตัวเองแล้ว.”—ยาโกโบ 2:17.
1. เหตุใดคริสเตียนในยุคแรกให้ความสนใจทั้งต่อความเชื่อและการประพฤติ?
ส่วนใหญ่แล้ว คริสเตียนในยุคแรกพิสูจน์ความเชื่อด้วยวิธีที่พวกเขาดำเนินชีวิตจริง ๆ. สาวกยาโกโบกระตุ้นคริสเตียนทุกคนดังนี้: “จงเป็นผู้ปฏิบัติตามพระคำ และไม่ใช่เป็นแต่เพียงผู้ฟังเท่านั้น.” ท่านกล่าวเสริมอีกว่า “ร่างกายที่ปราศจากวิญญาณตายแล้วฉันใด ความเชื่อที่ปราศจากการกระทำก็ตายแล้วฉันนั้น.” (ยาโกโบ 1:22, ล.ม.; 2:26, ล.ม.) ประมาณ 35 ปีหลังจากท่านเขียนข้อความนี้ คริสเตียนหลายคนยังคงพิสูจน์ความเชื่อของตนด้วยการประพฤติที่เหมาะสม. แต่น่าเศร้าที่บางคนไม่ได้ทำอย่างนั้น. พระเยซูทรงชมเชยประชาคมสเมอร์นา; ทว่า พระองค์ตรัสกับหลายคนในประชาคมซาร์ดิสดังนี้: “เรารู้จักกิจการของพวกเจ้า, คือว่าเจ้ามีชื่อว่าเจ้าเป็นอยู่แต่ว่าตายเสียแล้ว.”—วิวรณ์ 2:8-11; 3:1.
2. คริสเตียนควรถามตัวเองเช่นไรเกี่ยวกับความเชื่อของตน?
2 ฉะนั้น พระเยซูทรงหนุนใจพี่น้องที่อยู่ในประชาคมซาร์ดิส—และครอบคลุมไปถึงทุกคนที่จะอ่านคำตรัสของพระองค์ในภายหลัง—ให้พิสูจน์ความรักแรกเดิมที่มีต่อความจริงของคริสเตียนและตื่นตัวฝ่ายวิญญาณ. (วิวรณ์ 3:2, 3) เราแต่ละคนอาจถามตัวเองดังนี้: ‘การกระทำของฉัน เป็นอย่างไร? การกระทำของฉันแสดงอย่างชัดเจนไหมว่าฉันกำลังพยายามเต็มที่เพื่อพิสูจน์ความเชื่อด้วยทุกสิ่งที่ฉันทำ แม้แต่ในส่วนที่ไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับงานประกาศหรือการประชุมประชาคม?’ (ลูกา 16:10) มีหลายแง่มุมในชีวิตที่อาจพิจารณาได้ แต่ให้เราพิจารณากันเพียงแง่เดียว: การสังสรรค์ รวมไปถึงการเลี้ยงฉลองที่มักทำกันหลังจากการสมรสของคริสเตียน.
การสังสรรค์กลุ่มเล็ก ๆ
3. ทัศนะของคัมภีร์ไบเบิลเป็นเช่นไรในเรื่องการร่วมงานเลี้ยงสังสรรค์?
3 เราส่วนใหญ่ยินดีที่ได้รับเชิญไปร่วมงานสังสรรค์กับคริสเตียนที่มีความสุข. พระยะโฮวาทรงเป็น “พระเจ้าผู้ประกอบด้วยความสุข” ที่ประสงค์ให้ผู้รับใช้พระองค์มีความสุข. (1 ติโมเธียว 1:11) พระองค์ทรงให้ซะโลโมเขียนความจริงข้อนี้ไว้ในคัมภีร์ไบเบิลว่า “ข้าฯ จึงลงมือสนุกสนาน, ด้วยว่าภายใต้ดวงอาทิตย์มนุษย์ไม่มีอะไรดีไปกว่ากินและดื่มกับชื่นชมยินดี, และให้อาการนี้คลุกคลีไปในการงานของตนตลอดชีวิตของตน.” (ท่านผู้ประกาศ 3:1, 4, 13; 8:15) ความชื่นชมยินดีเช่นนั้นอาจมีอยู่ ณ การรับประทานอาหารด้วยกันในครอบครัวหรือการเลี้ยงสังสรรค์เป็นกลุ่มเล็ก ๆ ในหมู่ผู้นมัสการแท้.—โยบ 1:4, 5, 18; ลูกา 10:38-42; 14:12-14.
4. คนที่จัดงานสังสรรค์ควรสนใจในเรื่องใด?
4 หากคุณกำลังจัดและรับผิดชอบการสังสรรค์เช่นนั้น คุณควรคิดวางแผนให้รอบคอบ แม้แต่ในกรณีที่คุณเชิญเพื่อนร่วมความเชื่อมารับประทานอาหารและสนทนากันอย่างเป็นกันเองเพียงไม่กี่คน. (โรม 12:13) คุณคงต้องการจะตรวจดูให้ “ทุกสิ่งดำเนินไปอย่างที่ถูกที่ควร” โดยได้รับการชี้นำจาก “สติปัญญาที่มาจากเบื้องบน.” (1 โกรินโธ 14:40, ล.ม.; ยาโกโบ 3:17) อัครสาวกเปาโลเขียนดังนี้: “ถ้าท่านทั้งหลายจะกินจะดื่มก็ดี, หรือจะทำประการใดก็ดี, จงกระทำทุกสิ่งให้เป็นที่ถวายเกียรติยศแก่พระเจ้า. อย่าเป็นต้นเหตุให้ . . . หลงผิด.” (1 โกรินโธ 10:31, 32) มีแง่มุมใดบ้างที่จำเป็นต้องเอาใจใส่เป็นพิเศษ? การพิจารณาเรื่องเช่นนี้ไว้ล่วงหน้าอาจช่วยให้แน่ใจได้ว่าสิ่งที่คุณและแขกของคุณจะทำนั้นสะท้อนให้เห็นว่าคุณปฏิบัติสอดคล้องกับความเชื่อ.—โรม 12:2.
การสังสรรค์จะเป็นแบบใด?
5. เหตุใดเจ้าภาพควรคิดให้รอบคอบว่าเขาจะเสิร์ฟเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์และมีดนตรีในงานหรือไม่?
5 หลายคนที่เป็นเจ้าภาพเผชิญกับเรื่องที่ต้องตัดสินใจว่าจะเสิร์ฟเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์หรือไม่. การเสิร์ฟเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ไม่ใช่สิ่งจำเป็นเพื่อทำให้การสังสรรค์นั้นสนุกเพลิดเพลิน. ขอให้นึกถึงตอนที่พระเยซูทรงจัดเตรียมให้มีอาหารเลี้ยงคนกลุ่มใหญ่ที่มาหาพระองค์ โดยที่พระองค์ทรงทำให้ขนมปังและปลาทวีจำนวน. บันทึกไม่ได้บอกว่าพระองค์ทรงจัดให้มีเหล้าองุ่นโดยวิธีอัศจรรย์ แม้เราทราบว่าพระองค์ทรงสามารถทำได้. (มัดธาย 14:14-21) หากคุณตัดสินใจจะเสิร์ฟเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ในงานสังสรรค์ จงควบคุมว่าจะมีการเสิร์ฟเท่าไร และตรวจดูให้แน่ใจว่ามีเครื่องดื่มอย่างอื่นเสิร์ฟให้แก่คนที่ไม่ต้องการดื่มเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์. (1 ติโมเธียว 3:2, 3, 8; 5:23; 1 เปโตร 4:3) อย่าทำให้ใครรู้สึกถูกกดดันให้ดื่มสิ่งที่อาจกัด “เหมือนงู.” (สุภาษิต 23:29-32) จะว่าอย่างไรในเรื่องดนตรีหรือการร้องเพลง? หากการสังสรรค์ของคุณจะมีดนตรี ไม่ต้องสงสัยเลยว่าคุณก็จะเลือกเพลงอย่างระมัดระวัง พิจารณาทั้งจังหวะและเนื้อร้อง. (โกโลซาย 3:8; ยาโกโบ 1:21) คริสเตียนหลายคนพบว่าการเล่นดนตรีบรรเลงเพลงราชอาณาจักร หรือกระทั่งร้องเพลงเหล่านั้นด้วยกันส่งเสริมบรรยากาศที่ดี. (เอเฟโซ 5:19, 20) และแน่นอน ต้องคอยตรวจสอบความดังอยู่เสมอเพื่อไม่ให้เสียงดนตรีรบกวนการสนทนาที่น่ายินดีและเพื่อจะไม่รบกวนเพื่อนบ้าน.—มัดธาย 7:12.
6. เจ้าภาพจะแสดงได้อย่างไรว่าความเชื่อของเขาเป็นความเชื่ออันมีชีวิตในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการสนทนาหรือกิจกรรมอื่น ๆ?
6 ในงานสังสรรค์ คริสเตียนอาจคุยกันในเรื่องต่าง ๆ, อ่านออกเสียงเรื่องบางเรื่อง, หรือเล่าประสบการณ์ที่น่าฟิลิปปอย 4:5, ล.ม.) คนเหล่านั้นก็จะรู้สึกได้ว่าคุณดำเนินชีวิตสอดคล้องกับความเชื่ออันมีชีวิตของคุณ—ความเชื่อซึ่งมีผลกระทบต่อทุกแง่มุมในชีวิต.
สนใจ. หากการสนทนาเริ่มจะออกนอกลู่นอกทาง เจ้าภาพควรจะเปลี่ยนเรื่องใหม่ด้วยความผ่อนหนักผ่อนเบา. เขาควรตื่นตัวด้วยเพื่อจะไม่ปล่อยให้ใครครองการสนทนาอยู่ฝ่ายเดียว. หากเขาเห็นว่ามีใครเริ่มพูดอยู่คนเดียวมากไปแล้ว เขาก็อาจออกปากแทรกการพูดของคนนั้นอย่างสุขุมเพื่อเปิดทางให้คนอื่นได้พูดบ้าง โดยอาจโน้มน้าวให้เยาวชนเปิดใจหรือเริ่มสนทนาเรื่องใหม่ที่เปิดโอกาสให้หลายคนแสดงความเห็น. ทั้งคนหนุ่มและผู้สูงอายุจะพอใจยินดีเมื่องานสังสรรค์เป็นอย่างนี้. หากคุณ ซึ่งเป็นผู้จัดงาน ดูแลให้งานดำเนินไปอย่างฉลาดสุขุมและผ่อนหนักผ่อนเบา ‘ความมีเหตุผลของคุณก็จะปรากฏ’ แก่คนที่ร่วมงาน. (การสมรสและงานเลี้ยงฉลองสมรส
7. เหตุใดควรคิดให้ดีเมื่อวางแผนการสมรสและจัดงานเลี้ยงฉลองสมรส?
7 โอกาสพิเศษที่ทำให้ยินดีอีกโอกาสหนึ่งคือการสมรสของคริสเตียน. ผู้รับใช้ของพระเจ้าในสมัยโบราณ รวมทั้งพระเยซูและเหล่าสาวกด้วย เต็มใจเข้าร่วมในโอกาสที่น่ายินดีเช่นนั้น ซึ่งก็รวมถึงงานเลี้ยงสังสรรค์ด้วย. (เยเนซิศ 29:21, 22; โยฮัน 2:1, 2) อย่างไรก็ตาม ประสบการณ์ในช่วงหลัง ๆ นี้แสดงให้เห็นชัดว่าการวางแผนจัดงานสังสรรค์ในโอกาสที่มีการสมรสจำเป็นต้องพยายามเป็นพิเศษเพื่อให้งานนั้นสะท้อนถึงวิจารณญาณที่ดีและความสมดุลแบบคริสเตียน. แม้กระนั้น การจัดงานเลี้ยงเหล่านี้เป็นเรื่องหนึ่งที่ทำกันอยู่ตามปกติในชีวิตคนเราซึ่งทำให้คริสเตียนมีโอกาสจะแสดงถึงความเชื่อของตน.
8, 9. สิ่งที่ทำกันในงานสมรสหลาย ๆ งานยืนยันถ้อยคำที่เราอ่านใน 1 โยฮัน 2:16, 17 อย่างไร?
8 หลายคนที่ไม่รู้จักหลักการของพระเจ้าหรือไม่สนใจหลักการของพระองค์มองงานสมรสว่าเป็นโอกาสที่จะทำอะไร ๆ แบบเลยเถิด หรืออาจใช้เป็นข้ออ้างที่จะปล่อยตัว. ในวารสารฉบับหนึ่งที่ยุโรป หญิงคนหนึ่งซึ่งเพิ่งแต่งงานกล่าวถึงการสมรสของเธอที่หรูหราแบบการอภิเษกสมรสของราชนิกุล โดยบอกว่า ‘เรานั่งในรถนำขบวนแห่ซึ่งใช้ม้าสี่ตัวลาก ตามด้วยรถม้าติดประทุน 12 คัน และรถเทียมม้าอีกหนึ่งคันที่บรรทุกวงดนตรีบรรเลงเพลง. หลังจากนั้น เราได้รับประทานอาหารมื้อพิเศษสุดและฟังดนตรีชั้นเยี่ยม; มันช่างยอดเยี่ยมจริง ๆ. มันเหมือนกับที่ดิฉันเคยใฝ่ฝันไว้เลย วันนั้นดิฉันรู้สึกเหมือนตัวเองเป็นราชินีเลยล่ะ.’
9 แม้ว่าธรรมเนียมอาจต่างกันไปในแต่ละประเทศ แต่ความรู้สึกแบบเกินพอดีดังกล่าวมีแต่จะยืนยันถ้อยคำที่อัครสาวกโยฮันเขียนไว้ ที่ว่า “สารพัตรซึ่งมีอยู่ในโลก, คือความใคร่ของเนื้อหนังและความใคร่ของตาและการอวดอ้างถือตัวในชาตินี้ไม่ได้เกิดมาจากพระบิดา, แต่เกิดมาจากโลก.” คุณนึกภาพออกไหมที่คู่บ่าวสาวคริสเตียนที่มีความเป็นผู้ใหญ่อยากจัดงานสมรสที่ “หรูหราแบบการอภิเษกสมรสของราชนิกุล” พร้อมกับจัดงานเลี้ยงรับรองที่ฟุ่มเฟือยแบบเทพนิยาย? แทนที่จะเป็นอย่างนั้น มุมมองของทั้งสองน่าจะคำนึงถึงข้อเท็จจริงที่ว่า “ผู้ที่ประพฤติตามพระทัยของพระเจ้าคงจะตั้งอยู่เป็นนิตย์.”—1 โยฮัน 2:16, 17.
10. (ก) เพื่อจะจัดงานสมรสอย่างสมเหตุผล เหตุใดจึงจำเป็นต้องมีการวางแผน? (ข) ควรตัดสินใจอย่างไรเกี่ยวกับคนที่จะเชิญมาร่วมงาน?
10 คู่บ่าวสาวคริสเตียนต้องการเป็นคนมองอะไรตามความเป็นจริงและมีเหตุผล และคัมภีร์ไบเบิลสามารถช่วยได้ในเรื่องนี้. แม้ว่าวันแต่งงานเป็นวันที่สำคัญ แต่เขาทราบว่านั่นเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของชีวิตสมรสของคริสเตียนสองคนซึ่งมีชีวิตนิรันดร์รออยู่ในวันข้างหน้า. เขาไม่จำเป็นต้องจัดงานเลี้ยงสมรสใหญ่โต. หากเขาเลือกที่จะจัดให้มีงานเลี้ยงฉลอง เขาก็จะคิดคำนวณให้ดีในเรื่องค่าใช้จ่ายและพิจารณาลักษณะของงานอย่างรอบคอบ. (ลูกา 14:28) ในชีวิตของคริสเตียนที่อยู่ด้วยกัน สามีจะเป็นประมุขตามหลักพระคัมภีร์. (1 โกรินโธ 11:3; เอเฟโซ 5:22, 23) ดังนั้น เจ้าบ่าวเป็นผู้ที่ต้องรับผิดชอบในอันดับแรกสำหรับการจัดงานเลี้ยงฉลองสมรส. แน่ล่ะ เขาจะคำนึงถึงผู้ที่จะมาเป็นภรรยาของเขาโดยปรึกษากับเธอว่ามีใครบ้างที่จะเชิญหรือจะสามารถเชิญกี่คนมาร่วมงานเลี้ยงสมรส. อาจเป็นไปไม่ได้หรือไม่เหมาะสมในทางปฏิบัติที่จะเชิญเพื่อนและญาติทุกคนมาร่วมงาน; ฉะนั้น ต้องมีการตัดสินใจอย่างที่คำนึงถึงความพอเหมาะพอดี. ทั้งสองน่าจะมั่นใจได้ว่าหากเขาไม่สามารถ เชิญเพื่อนคริสเตียนบางคนได้ พี่น้องเหล่านี้ก็จะเข้าใจและไม่รู้สึกขุ่นเคือง.—ท่านผู้ประกาศ 7:9.
“ผู้ดูแลงานเลี้ยง”
11. “ผู้ดูแลงานเลี้ยง” สามารถมีบทบาทเช่นไรได้ในงานสมรส?
11 หากคู่สมรสเลือกจะจัดให้มีการสังสรรค์เพื่อฉลองการสมรส เขาจะทำให้แน่ใจได้อย่างไรว่าจะรักษาให้โอกาสนั้นเป็นที่น่านับถือ? เป็นเวลาหลายสิบปีมาแล้วที่พยานพระยะโฮวาตระหนักในคุณค่าของการใช้แง่มุมหนึ่งที่มีการกล่าวถึงเกี่ยวข้องกับงานเลี้ยงสมรสที่พระเยซูทรงเข้าร่วมที่บ้านคานา. งานนั้นมี “ผู้ดูแลงานเลี้ยง” ซึ่งคงต้องเป็นเพื่อนร่วมความเชื่อที่ไว้ใจได้. (โยฮัน 2:9, 10, ล.ม.) ในทำนองเดียวกัน เจ้าบ่าวที่ฉลาดสุขุมจะเลือกพี่น้องชายคนหนึ่งซึ่งเป็นคริสเตียนที่อาวุโสฝ่ายวิญญาณให้รับบทบาทที่สำคัญนี้. หลังจากสอบถามพูดคุยกันจนทราบความต้องการและรสนิยมของเจ้าบ่าวแล้ว ผู้ดูแลงานเลี้ยงก็จะสามารถดำเนินการในเรื่องต่าง ๆ ได้ ทั้งก่อนงานเริ่มและเมื่อเริ่มงานแล้ว.
12. เจ้าบ่าวควรพิจารณาอะไรเกี่ยวกับการใช้เครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์?
12 สอดคล้องกับที่ได้พิจารณาไปในข้อ 5 บางคู่เลือกจะไม่เสิร์ฟเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ในงานเลี้ยง เพราะเกรงว่าอาจมีบางคนดื่มมากเกินไปจนกลายเป็นรอยด่างที่ลดทอนความสุขและความสำเร็จของงาน. (โรม 13:13; 1 โกรินโธ 5:11) อย่างไรก็ตาม หากเขาจัดให้มีเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ เจ้าบ่าวควรตรวจดูให้แน่ใจว่ามีการเสิร์ฟอย่างเหมาะสมและเตรียมไว้ในปริมาณพอควร. มีเหล้าองุ่นในงานสมรสที่พระเยซูทรงเข้าร่วมที่บ้านคานา และพระองค์ทรงทำเหล้าองุ่นคุณภาพดีให้ในงานนี้. น่าสนใจ ผู้ดูแลงานเลี้ยงได้ตั้งข้อสังเกตว่า “ใคร ๆ ย่อมเอาเหล้าองุ่นอย่างดีมาก่อน และเมื่อคนเมากันแล้วจึงเอาที่ไม่สู้ดีมา. ท่านได้เก็บเหล้าองุ่นอย่างดีไว้จนถึงบัดนี้.” (โยฮัน 2:10, ล.ม.) แน่นอน พระเยซูไม่ส่งเสริมการเมาเหล้า เพราะพระองค์ทรงมีทัศนะว่าการเมาเหล้าเป็นพฤติกรรมที่น่ารังเกียจ. (ลูกา 12:45, 46) ในคำกล่าวแสดงความแปลกใจเรื่องคุณภาพของเหล้าองุ่น ผู้ดูแลงานเลี้ยงแสดงให้เห็นชัดเจนว่าเขาเคยพบเห็นกรณีที่แขกบางคนที่ไปงานเลี้ยงสมรสดื่มจนเมา. (กิจการ 2:15; 1 เธซะโลนิเก 5:7) ด้วยเหตุนั้น ทั้งเจ้าบ่าวและคริสเตียนที่เชื่อถือได้ที่เขาขอให้ช่วยเป็นผู้ดูแลงานเลี้ยงควรตรวจดูให้แน่ใจว่าทุกคนที่เข้าร่วมงานจะปฏิบัติตามคำสั่งที่ชัดเจนที่ว่า “อย่าเมาเหล้าองุ่นอันเป็นเหตุให้เสียคนไป.”—เอเฟโซ 5:18; สุภาษิต 20:1; โฮเซอา 4:11.
13. คู่บ่าวสาวควรพิจารณาอะไรหากเขาจัดให้มีดนตรีในงานเลี้ยงสมรส และเพราะเหตุใด?
13 เช่นเดียวกับการสังสรรค์อื่น ๆ หากมีดนตรี ควรเอาใจใส่อย่างเหมาะสมในเรื่องความดังเพื่อจะสามารถสนทนาอย่างที่ได้ยินกันชัดเจน. คริสเตียนผู้ปกครองคนหนึ่งให้ข้อสังเกตดังนี้: “ขณะที่งานดำเนินไปเรื่อย ๆ เมื่อการสนทนาเริ่มมีชีวิตชีวามากขึ้นหรือเริ่มมีการเต้นรำกัน บางครั้งมีการเร่งเสียงดนตรีให้ดังขึ้น. เสียงเพลงที่ตอนแรกเป็นดนตรีคลอเบา ๆ อาจกลายเป็นเสียงดังหนวกหูและขัดขวางการสนทนา. งานเลี้ยงฉลองการสมรสเปิดโอกาสที่จะสร้างมิตรภาพที่น่าเพลิดเพลิน. น่าเสียดายสักเพียงไรหากดนตรีเสียงดังทำลายโอกาสที่จะสร้างมิตรภาพอย่างนั้น!” ในเรื่องนี้ก็เช่นกัน เจ้าบ่าวและผู้ดูแลงานเลี้ยงจำเป็นต้องดูแลรับผิดชอบ ไม่โยนความรับผิดชอบไปให้นักดนตรี แม้แต่ในกรณีที่จ้างให้มาเล่น ให้ตัดสินใจเลือกในเรื่องชนิดและความดังของดนตรีที่จะเล่น. เปาโลเขียนดังนี้: “ท่านจะประกอบกิจสิ่งหนึ่งสิ่งใดก็ดี, จะเป็นด้วยวาจาหรือการประพฤติต่าง ๆ ก็ดี, จงกระทำทุกสิ่งในพระนามพระเยซูเจ้า.” (โกโลซาย 3:17) เมื่อแขกกลับถึงบ้านจากงานเลี้ยงสมรส (หรืองานเลี้ยงรับรอง) เขาจะจำได้ว่าดนตรีในงานสะท้อนว่าคู่บ่าวสาวกำลังทำทุกสิ่งในพระนามพระเยซูไหม? ควรจะปรากฏว่าเป็นอย่างนั้น.
14. คริสเตียนน่าจะหวนระลึกถึงอะไรด้วยความยินดีเกี่ยวกับงานสมรส?
14 ใช่แล้ว งานสมรสที่จัดอย่างดีย่อมเป็นที่จดจำพร้อมกับความรู้สึกที่ดี. อาดัมและเอดีตา ซึ่งสมรสกันมา 30 ปีแล้ว ให้ความเห็นเกี่ยวกับงานสมรสหนึ่งว่า “คุณสามารถรู้สึกได้เลยถึงบรรยากาศแบบคริสเตียน. มีการเล่นเพลงที่
สรรเสริญพระยะโฮวา แต่ก็มีรายการบันเทิงที่ดีงามอื่น ๆ ด้วย. การเต้นรำและดนตรีถูกจัดให้มีความสำคัญรองลงไป. เป็นงานสมรสที่น่ายินดีและเสริมสร้าง และทุกสิ่งสอดคล้องกับหลักการในคัมภีร์ไบเบิล.” เห็นได้ชัด มีหลายสิ่งที่เจ้าบ่าวและเจ้าสาวสามารถทำได้เพื่อแสดงว่าเขากำลังพิสูจน์ความเชื่อของตนโดยการประพฤติ.ของขวัญแต่งงาน
15. คำแนะนำอะไรในคัมภีร์ไบเบิลสามารถใช้ได้ในเรื่องของขวัญแต่งงาน?
15 ในหลายประเทศ เป็นเรื่องธรรมดาที่เพื่อนและญาติ ๆ จะให้ของขวัญแก่คู่บ่าวสาว. หากคุณเลือกจะให้ คุณน่าจะจำอะไรไว้? ขอให้นึกถึงข้อสังเกตของอัครสาวกโยฮันเกี่ยวกับ “การอวดอ้างปัจจัยการดำรงชีวิตของตน.” ท่านไม่ได้โยงการอวดเช่นนั้นเข้ากับคริสเตียนที่แสดงความเชื่อในภาคปฏิบัติ แต่โยงเข้ากับ ‘โลกที่กำลังจะผ่านพ้นไป.’ (1 โยฮัน 2:16, 17, ล.ม.) เมื่อคำนึงถึงข้อสังเกตที่ได้รับการดลใจของโยฮัน คู่สมรสใหม่ควรจะประกาศต่อหน้าธารกำนัลว่าใครให้ของขวัญแต่ละชิ้นไหม? คริสเตียนจากมาซิโดเนียและอะคายะได้บริจาคเงินให้พี่น้องในกรุงเยรูซาเลม แต่ไม่มีอะไรบ่งบอกเลยว่ามีการประกาศชื่อพวกเขา. (โรม 15:26) คริสเตียนหลายคนที่ให้ของขวัญแต่งงานคงอยากให้โดยไม่ประสงค์จะออกนามมากกว่าจะดึงดูดความสนใจอย่างไม่เหมาะสมมาสู่ตัวเอง. ในเรื่องนี้ ขอให้ทบทวนคำแนะนำของพระเยซูซึ่งพบที่มัดธาย 6:1-4.
16. คู่สมรสใหม่จะหลีกเลี่ยงการทำร้ายความรู้สึกของผู้อื่นได้อย่างไรเกี่ยวข้องกับของขวัญแต่งงาน?
16 การบอกชื่อผู้ให้ของขวัญอาจ “ยั่วยุให้มีการแข่งขันชิงดีกัน” ว่าใครให้ของขวัญที่ดีกว่าหรือราคาแพงกว่า. ด้วยเหตุนั้น คริสเตียนซึ่งเป็นคู่สมรสใหม่ที่ฉลาดสุขุมจะหลีกเลี่ยงการประกาศชื่อผู้ให้ของขวัญ. การประกาศชื่อผู้ให้ของขวัญอาจทำให้คนอื่นซึ่งอาจจะไม่สามารถให้ของขวัญรู้สึกอาย. (ฆะลาเตีย 5:26, ล.ม.; 6:10) จริงอยู่ ไม่ผิดที่เจ้าบ่าวและเจ้าสาวจะทราบว่าใครที่ได้ให้ของขวัญชิ้นไหน. เขาอาจรู้ได้จากบัตรอวยพรที่เหมาะสมซึ่งติดไว้ที่ของขวัญ แต่เขาจะไม่อ่านบัตรนั้นต่อหน้าธารกำนัล. เมื่อซื้อของขวัญ, ให้ของขวัญ, และรับของขวัญแต่งงาน เราทุกคนมีโอกาสที่จะพิสูจน์ว่าแม้แต่ในเรื่องส่วนตัวเช่นนี้ ความเชื่อของเรามีผลต่อการกระทำของเรา. *
17. คริสเตียนควรมีเป้าหมายอะไรในเรื่องความเชื่อและการกระทำของตน?
17 แน่ล่ะ การพิสูจน์ความเชื่อของเราหมายรวมมากกว่าเพียงแค่ดำเนินชีวิตอย่างมีศีลธรรม, เข้าร่วมการประชุมคริสเตียน, และร่วมในงานประกาศ. ขอให้เราแต่ละคนมีความเชื่ออันมีชีวิตที่ส่งผลกระทบต่อทุกสิ่งที่เราทำ. ใช่แล้ว เราสามารถแสดงความเชื่อโดยการกระทำ “ที่ถ้วนถี่” รวมถึงในบางขอบเขตของชีวิตที่ได้พิจารณาไปแล้วข้างต้น.—วิวรณ์ 3:2.
18. ถ้อยคำที่โยฮัน 13:17 จะปรากฏว่าเป็นความจริงได้อย่างไรเกี่ยวข้องกับการสมรสและการสังสรรค์ของคริสเตียน?
18 หลังจากพระเยซูทรงวางตัวอย่างที่ดีแก่เหล่าอัครสาวกที่ซื่อสัตย์โดยทรงถ่อมพระองค์ล้างเท้าให้พวกเขา พระองค์ตรัสว่า “ถ้าท่านทั้งหลายรู้สิ่งเหล่านั้นแล้วและประพฤติตาม, ท่านก็จะเป็นสุข.” (โยฮัน 13:4-17) ในท้องถิ่นที่เราอยู่ในปัจจุบัน อาจไม่จำเป็นหรือไม่ใช่เรื่องปกติที่จะล้างเท้าให้อีกคนหนึ่ง เช่น แขกซึ่งมาเยี่ยมที่บ้าน. แต่ดังที่เราได้พิจารณากันไปในบทความนี้ มีแง่มุมอื่น ๆ ในชีวิตที่เราสามารถแสดงความเชื่อของเราโดยการกระทำที่เปี่ยมด้วยความรักและคำนึงถึงความรู้สึกของผู้อื่น ซึ่งก็หมายรวมถึงคนที่มาร่วมงานสังสรรค์และงานสมรสของคริสเตียนด้วย. เราสามารถทำเช่นนั้น ไม่ว่าเราจะเป็นเจ้าบ่าวเจ้าสาวหรือเป็นแขกในการสมรสหรือในงานเลี้ยงฉลองสมรสที่น่ายินดีของคริสเตียนที่ต้องการแสดงความเชื่อโดยการกระทำ.
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 16 จะมีการพิจารณาเพิ่มเติมเกี่ยวกับแง่มุมต่าง ๆ ของการสมรสและงานเลี้ยงฉลองสมรสในบทความถัดไปที่ชื่อ “จงเพิ่มความยินดีและความน่านับถือแก่วันแต่งงานของคุณ.”
คุณจะตอบอย่างไร?
คุณจะพิสูจน์ความเชื่อของคุณได้อย่างไร
• เมื่อจัดงานสังสรรค์?
• เมื่อจัดการสมรสหรืองานเลี้ยงฉลองสมรส?
• เมื่อให้หรือรับของขวัญแต่งงาน?
[คำถาม]
[ภาพหน้า 24]
แม้แต่เมื่อเชิญแขกเพียงไม่กี่คน จงให้ “สติปัญญาที่มาจากเบื้องบน” ชี้นำคุณ