ศักดิ์ศรีของมนุษย์เป็นไปได้สำหรับทุกคน
ศักดิ์ศรีของมนุษย์เป็นไปได้สำหรับทุกคน
“เราต้องสร้างโลกใหม่—โลกที่ดียิ่งกว่านี้—โลกซึ่งศักดิ์ศรีที่ควรจะมีอยู่ตลอดไปของมนุษย์จะได้รับความนับถือ.”—ประธานาธิบดีแฮร์รี ทรูแมน ของสหรัฐ ซานฟรานซิสโก แคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา วันที่ 25 เมษายน 1945.
เช่นเดียวกับผู้คนมากมายซึ่งมีชีวิตอยู่ในช่วงหลายปีหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ประธานาธิบดีทรูแมนเชื่อว่า มนุษย์สามารถเรียนจากอดีตและทำให้ “โลกใหม่” ที่ทุกคนจะได้รับการปฏิบัติอย่างมีศักดิ์ศรีเป็นจริงขึ้นมา. น่าเศร้า เหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันไม่ได้เป็นอย่างที่หวังไว้. “ศักดิ์ศรีที่ควรจะมีอยู่ตลอดไปของมนุษย์” ถูกทำลายเรื่อยมาเนื่องจากรากเหง้าของปัญหาไม่ได้เกิดจากมนุษย์ แต่เกิดจากศัตรูตัวฉกาจที่สุดของมนุษย์.
รากเหง้าของปัญหา
คัมภีร์ไบเบิลบ่งชี้ว่าศัตรูผู้นี้คือซาตานพญามาร กายวิญญาณชั่วซึ่งท้าทายสิทธิการปกครองของพระเจ้านับตั้งแต่เริ่มต้นประวัติศาสตร์มนุษย์. นับตั้งแต่ซาตานติดต่อกับฮาวาในสวนเอเดน มันมีเป้าหมายที่จะชักนำมนุษย์ให้หันเหไปจากการรับใช้พระผู้สร้างของพวกเขา. (เยเนซิศ 3:1-5) ลองคิดถึงผลเสียหายที่เกิดกับอาดามและฮาวาดูสิเมื่อพวกเขาพ่ายแพ้ต่อการยุยงของพญามาร! ผลกระทบของการที่พวกเขาฝ่าฝืนกฎหมาย ของพระเจ้าเรื่องผลไม้ต้องห้ามที่เกิดขึ้นทันทีคือ ทั้งสองคน “หลบไปซ่อนตัวอยู่ใต้ต้นไม้ในสวนนั้น, ให้พ้นจากพระพักตร์พระยะโฮวาเจ้า.” เพราะเหตุใด? อาดามยอมรับว่า “ข้าพเจ้าได้ยินพระสุรเสียงพระองค์ในสวนก็กลัว, เพราะเปลือยกายอยู่; จึงได้ซ่อนตัวเสีย.” (เยเนซิศ 3:8-10) สัมพันธภาพของอาดามกับพระบิดาของเขาผู้สถิตในสวรรค์และทัศนะที่เขามีต่อตัวเองได้เปลี่ยนไป. เขาอายและรู้สึกว่าไม่อาจปรากฏตัวจำเพาะพระพักตร์พระยะโฮวาได้อย่างสะดวกใจอีกต่อไป.
ทำไมพญามารต้องการให้อาดามนับถือตัวเองน้อยลง? เพราะมนุษย์ถูกสร้างตามแบบของพระเจ้า และซาตานยินดีที่เห็นมนุษย์ประพฤติในแบบที่ไม่อาจสะท้อนสง่าราศีของพระเจ้าได้. (เยเนซิศ 1:27; โรม 3:23) เรื่องนี้ช่วยอธิบายว่าเหตุใดการกระทำที่ทำให้ผู้อื่นเสื่อมเสียเกียรติจึงเกิดขึ้นตลอดประวัติศาสตร์มนุษย์. ในฐานะ “พระเจ้าของระบบนี้” ซาตานส่งเสริมน้ำใจเช่นนี้ใน “ระหว่างเวลาที่มนุษย์ใช้อำนาจเหนือมนุษย์อย่างที่ก่อผลเสียหายแก่เขา.” (2 โกรินโธ 4:4, ล.ม.; ท่านผู้ประกาศ 8:9 ล.ม.; 1 โยฮัน 5:19) นี่หมายความว่าศักดิ์ศรีที่แท้จริงของมนุษย์จะสูญสิ้นไปตลอดกาลไหม?
พระยะโฮวาทรงทำให้สิ่งทรงสร้างของพระองค์มีศักดิ์ศรี
ลองคิดอีกครั้งถึงสภาพในสวนเอเดนก่อนที่อาดามกับฮาวาจะทำบาป. พวกเขามีอาหารรับประทานอย่างอุดมสมบูรณ์, มีงานที่น่าพอใจ, และได้รับโอกาสที่จะมีชีวิตไม่สิ้นสุดพร้อมกับมีสุขภาพร่างกายแข็งแรง ทั้งตัวเขาเองและลูกหลาน. (เยเนซิศ 1:28) ทุกแง่มุมในชีวิตความเป็นอยู่ของพวกเขาเน้นพระประสงค์ของพระเจ้าสำหรับมนุษยชาติอันเปี่ยมด้วยความรักและการคำนึงถึงศักดิ์ศรี.
ทัศนะของพระยะโฮวาในเรื่องศักดิ์ศรีของมนุษย์เปลี่ยนไปไหมเมื่ออาดามและฮาวาได้ทำบาป? ไม่. พระองค์คำนึงถึงความอับอายของพวกเขาตอนที่รู้สึกตัวว่ากำลังเปลือยกายอยู่. ด้วยความรัก พระเจ้าทรงประทาน ‘เสื้อหนังสัตว์’ ให้พวกเขาใส่แทนใบมะเดื่อที่เขานำมากลัดเป็นเครื่องปกปิดร่างกาย. (เยเนซิศ 3:7, 21) แทนที่จะปล่อยให้พวกเขารู้สึกอาย พระเจ้าทรงปฏิบัติต่อพวกเขาอย่างคำนึงถึงศักดิ์ศรี.
ต่อมา เมื่อทรงปฏิบัติต่อชาติอิสราเอล พระยะโฮวาทรงแสดงความเมตตาแก่ลูกกำพร้า, หญิงม่าย, และคนต่างด้าว ซึ่งเป็นสมาชิกในสังคมที่บ่อยครั้งได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมมากที่สุด. (บทเพลงสรรเสริญ 72:13) ตัวอย่างเช่น เมื่อมีการเก็บเกี่ยวพืชผลในทุ่งนา, ต้นมะกอกเทศ, และสวนองุ่น ชาวอิสราเอลได้รับคำสั่งไม่ให้กลับไปเก็บพืชผลที่ตกค้างอยู่. แทนที่จะเป็นเช่นนั้น พระเจ้าบัญชาว่า พืชผลที่ตกค้างเหล่านั้น “ให้เป็นของสำหรับคนต่างชาติ, ลูกกำพร้า, และหญิงหม้าย.” (พระบัญญัติ 24:19-21) เมื่อปฏิบัติตามข้อกฎหมายเหล่านี้ จึงไม่มีใครต้องไปเป็นขอทานและผู้คนมีงานที่มีเกียรติทำแม้แต่คนที่ยากจนที่สุด.
พระเยซูคำนึงถึงศักดิ์ศรีผู้อื่น
ขณะอยู่บนแผ่นดินโลก พระเยซูคริสต์ พระบุตรของพระเจ้าได้แสดงให้เห็นว่าทรงคำนึงถึงศักดิ์ศรีของผู้อื่น. ตัวอย่างเช่น เมื่ออยู่ที่แกลิลี มีชายคนหนึ่งที่เป็นโรคเรื้อนทั้งตัวเลวีติโก 13:45) อย่างไรก็ตาม ชายคนดังกล่าวไม่ได้ทำเช่นนั้นเมื่อเข้ามาหาพระเยซู. แทนที่จะทำอย่างนั้น เขาซบหน้าลงและอ้อนวอนพระเยซูว่า “พระองค์เจ้าข้า, ถ้าพระองค์พอพระทัยพระองค์อาจจะทำให้ข้าพเจ้าหายโรคเป็นสะอาดได้.” (ลูกา 5:12) พระเยซูได้ตอบรับอย่างไร? พระเยซูไม่ได้ตำหนิชายคนนี้ว่าละเมิดพระบัญญัติ ทั้งไม่ได้มองข้ามหรือเดินหนีเขา. แทนที่จะทำเช่นนั้น พระองค์ปฏิบัติกับคนโรคเรื้อนนั้นอย่างมีศักดิ์ศรีโดยแตะที่ตัวเขาและตรัสว่า “เราพอใจแล้ว, จงหายโรคและสะอาดเถิด.”—ลูกา 5:13.
เข้ามาหาพระองค์. ตามพระบัญญัติของโมเซ คนที่เป็นโรคเรื้อนต้องร้องเตือนว่า “มลทิน ๆ” เพื่อป้องกันไม่ให้คนอื่นติดโรค. (ในโอกาสอื่น ๆ พระเยซูสามารถรักษาผู้คนโดยไม่จำเป็นต้องสัมผัสตัว—บางครั้งจากที่ห่างไกลด้วยซ้ำ. แต่ในกรณีนี้ พระองค์เลือกที่จะสัมผัสตัวชายคนนี้. (มัดธาย 15:21-28; มาระโก 10:51, 52; ลูกา 7:1-10) เนื่องจากเขาเป็น “โรคเรื้อนเต็มทั้งตัว” ไม่สงสัยเลยว่าเป็นเวลานานหลายปีแล้วที่เขาไม่ได้รับการสัมผัสจากเพื่อนมนุษย์. คงต้องเป็นการปลอบโยนสักเพียงไรที่มีใครสัมผัสตัวเขาอีกครั้ง! สิ่งที่ชายคนนั้นหวังคือการหายจากโรคเรื้อนเท่านั้น. กระนั้น วิธี รักษาของพระเยซูได้ช่วยฟื้นฟูบางสิ่งที่สำคัญยิ่งกว่านั้นอย่างไม่ต้องสงสัย นั่นคือ ศักดิ์ศรีของมนุษย์. เป็นเรื่องสมเหตุผลไหมที่จะเชื่อว่าการคำนึงถึงศักดิ์ศรีของผู้อื่นยังคงมีอยู่ในสังคมปัจจุบันนี้? ถ้าใช่ จะมีการแสดงออกโดยวิธีใด?
กฎที่คำนึงถึงศักดิ์ศรี
พระเยซูตรัสสิ่งที่หลายคนถือว่าเป็นคำสอนซึ่งเป็นที่รู้จักกันมากที่สุดเท่าที่เคยมีมาเกี่ยวกับสัมพันธภาพระหว่างมนุษย์ พระองค์ตรัสว่า “เหตุฉะนั้นสิ่งสารพัตรซึ่งท่านปรารถนาให้มนุษย์ทำแก่ท่าน, จงกระทำอย่างนั้นแก่เขาเหมือนกัน.” (มัดธาย 7:12) กฎข้อนี้ซึ่งบ่อยครั้งเรียกว่ากฎทอง กระตุ้นเราให้นับถือเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน โดยหวังว่าเขาจะนับถือเราเช่นเดียวกัน.
ดังที่ประวัติศาสตร์แสดงให้เห็น คนเราใช่ว่าจะทำตามกฎข้อนี้ได้โดยอัตโนมัติ บ่อยครั้งเป็นไปในทางตรงกันข้าม. ชายคนหนึ่งซึ่งเราจะเรียกเขาว่าแฮโรลด์กล่าวว่า “ที่จริงแล้วผมเคยสนุกกับการทำให้คนอื่นอับอาย. แค่พูดไม่กี่คำ ผมก็ทำให้เขาหัวเสีย, อับอาย, และบางครั้งถึงกับร้องไห้ก็มี.” แต่มีบางสิ่งเกิดขึ้นซึ่งส่งผลให้แฮโรลด์เปลี่ยนวิธีปฏิบัติต่อผู้อื่น. “พยานพระยะโฮวาหลายคนเริ่มมาเยี่ยมผม. เมื่อมองย้อนกลับไป ผมรู้สึกละอายใจเมื่อคิดถึงสิ่งที่ผมพูดหรือทำกับพวกเขาในบางครั้ง. แต่พวกเขาไม่เคยเลิกรา และทีละเล็กทีละน้อย ความจริงในคัมภีร์ไบเบิลกระทบหัวใจผมและกระตุ้นให้ผมเปลี่ยนนิสัย.” ทุกวันนี้ แฮโรลด์รับใช้ฐานะผู้ปกครองในประชาคมคริสเตียน.
ประสบการณ์ของแฮโรลด์ให้หลักฐานว่า “พระคำของพระเจ้ามีชีวิตและทรงพลังและคมกว่าดาบสองคมและแทงทะลุถึงขนาดที่แยกออกระหว่างตัวตนที่เห็นกับตัวตนจริง ๆ และระหว่างกระดูกกับไขกระดูก และสามารถหยั่งรู้ความคิดและความมุ่งหมายในหัวใจ.” (เฮ็บราย 4:12, ล.ม.) พระคำของพระเจ้ามีพลังกระทบหัวใจของคนเรา อีกทั้งเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรมของคนเรา. ปัจจัยสำคัญในการคำนึงถึงศักดิ์ศรีของผู้อื่นก็คือ ความปรารถนาอย่างจริงใจที่จะช่วยเหลือแทนที่จะทำให้เจ็บช้ำ ให้เกียรติแทนที่จะทำให้อับอาย.—กิจการ 20:35; โรม 12:10.
ศักดิ์ศรีที่แท้จริงได้รับการฟื้นฟู
ความปรารถนาเดียวกันนี้นี่เองที่กระตุ้นให้พยานพระยะโฮวาพูดกับคนอื่น ๆ ถึงความหวังอันยอดเยี่ยมในคัมภีร์ไบเบิล. (กิจการ 5:42) ไม่มีวิธีใดที่จะแสดงความนับถือและคำนึงถึงศักดิ์ศรีเพื่อนมนุษย์ได้ดีไปกว่าการบอก “ข่าวดีเกี่ยวกับสิ่งที่ดีกว่า.” (ยะซายา 52:7, ล.ม.) “สิ่งที่ดีกว่า” หมายรวมถึงการสวม “บุคลิกภาพใหม่” ซึ่งจะประหาร “ความปรารถนาที่ก่อความเสียหาย” ในการทำให้ผู้อื่นได้รับความอับอาย. (โกโลซาย 3:5-10, ล.ม.) นอกจากนั้น สิ่งที่ดีกว่ายังรวมถึงพระประสงค์ของพระยะโฮวาที่อีกไม่นานจะขจัดสภาพการณ์และเจตคติที่ทำลายศักดิ์ศรีของมนุษย์ รวมทั้งซาตานพญามารตัวยุยงอีกด้วย. (ดานิเอล 2:44; มัดธาย 6:9, 10; วิวรณ์ 20:1, 2, 10) เฉพาะเมื่อแผ่นดินโลก “เต็มไปด้วยความรู้ฝ่ายพระยะโฮวา” แล้วเท่านั้น การปฏิบัติต่อมนุษย์ทุกคนอย่างมีศักดิ์ศรีจึงจะเป็นจริงในที่สุด.—ยะซายา 11:9.
เราขอเชิญคุณเรียนรู้เกี่ยวกับความหวังอันยอดเยี่ยมนี้. โดยการสมทบกับพยานพระยะโฮวา คุณจะได้เห็นด้วยตัวเองว่าการนำหลักการในคัมภีร์ไบเบิลไปใช้ทำให้มีการปฏิบัติต่อผู้อื่นอย่างคำนึงถึงศักดิ์ศรี. และคุณจะได้เรียนรู้วิธีที่ราชอาณาจักรของพระเจ้าจะนำมาซึ่ง ‘โลกใหม่ที่ดียิ่งกว่านี้’ โลกที่ “ศักดิ์ศรีที่ควรจะมีอยู่ตลอดไปของมนุษย์” จะเป็นจริง จะไม่ถูกเหยียบย่ำอีกเลย.
[กรอบ/ภาพหน้า 6]
การรักษาความซื่อสัตย์มั่นคงปกป้องศักดิ์ศรีของพวกเขา
ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 พยานพระยะโฮวามากกว่า 2,000 คนถูกส่งไปยังค่ายกักกันนาซีเพราะความเชื่อของพวกเขา. ในการให้ข้อสังเกตเกี่ยวกับการแสดงความซื่อสัตย์มั่นคงอย่างน่าทึ่งของพวกเขา เกมา ลา กวาร์เดีย กลุค อดีตนักโทษในค่ายกักกันราเฟนส์บรึค เล่าในหนังสือของเธอชื่อเรื่องราวของฉัน (ภาษาอังกฤษ) ว่า “ครั้งหนึ่งเกสตาโปประกาศว่านักศึกษาคัมภีร์ไบเบิลคนใดก็ตามที่แจ้งว่าจะละทิ้งความเชื่อของตนและเซ็นชื่อกำกับในเอกสาร จะได้รับการปล่อยตัวและไม่ถูกข่มเหงอีกเลย.” เธอเขียนเกี่ยวกับคนที่ปฏิเสธการเซ็นชื่อในเอกสารว่า “พวกเขายอมลำบากต่อไปและรอคอยยุคแห่งการปลดปล่อยอย่างอดทน.” เหตุใดพวกเขาจึงยึดจุดยืนเช่นนั้น? มักดาเลนาที่กล่าวถึงในตอนต้นบทความก่อนซึ่งตอนนี้อายุ 80 กว่าปีแล้วอธิบายว่า “การรักษาความซื่อสัตย์ต่อพระยะโฮวาสำคัญยิ่งกว่าการทำอะไรก็ตามเพื่อรักษาชีวิต. การรักษาศักดิ์ศรีของเราหมายถึงการรักษาความซื่อสัตย์มั่นคง.” *
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 23 สำหรับรายละเอียดเรื่องราวชีวิตของครอบครัวคุสเซโรว์ โปรดดูหอสังเกตการณ์ (ภาษาอังกฤษ) ฉบับ 1 กันยายน 1985 หน้า 10-15.
[ภาพหน้า 5]
พระเยซูคำนึงถึงศักดิ์ศรีของผู้ที่พระองค์ทรงรักษา
[ภาพหน้า 7]
พยานพระยะโฮวาคำนึงถึงศักดิ์ศรีของผู้อื่นโดยบอก “ข่าวดีเกี่ยวกับสิ่งที่ดีกว่า” แก่เขา