พระยะโฮวาทรงช่วยผู้ทุกข์ลำบากให้รอด
พระยะโฮวาทรงช่วยผู้ทุกข์ลำบากให้รอด
“เหตุอันตรายมากหลายย่อมเกิดแก่ผู้สัตย์ธรรม; แต่พระยะโฮวาทรงช่วยเขาให้พ้นจากเหตุทั้งปวงเหล่านั้น.”—บทเพลงสรรเสริญ 34:19.
1, 2. คริสเตียนผู้ซื่อสัตย์คนหนึ่งเผชิญปัญหาอะไร และเหตุใดเราอาจมีความรู้สึกคล้าย ๆ กัน?
สตรีสาวคนหนึ่งชื่อเคโกะ *เป็นพยานพระยะโฮวามานานกว่า 20 ปี. ช่วงหนึ่ง เธอรับใช้เป็นไพโอเนียร์ประจำ หรือผู้ประกาศราชอาณาจักรเต็มเวลา. เธอถือว่างานนี้เป็นสิทธิพิเศษที่มีค่าอย่างยิ่ง. แต่เมื่อไม่นานมานี้ เคโกะจมอยู่ในความรู้สึกสิ้นหวังและโดดเดี่ยว. เธอกล่าวว่า “ดิฉันได้แต่ร้องไห้.” เพื่อสู้กับความคิดในแง่ลบ เคโกะพยายามใช้เวลามากขึ้นในการศึกษาส่วนตัว. แต่เธอบอกว่า “ถึงจะทำอย่างนี้แล้ว ดิฉันก็ยังไม่สามารถเปลี่ยนแปลงสภาพของตัวเองให้ดีขึ้นได้. ดิฉันซึมเศร้าถึงขนาดที่อยากตาย.”
2 คุณเคยต่อสู้กับความรู้สึกสิ้นหวังคล้าย ๆ กันนี้ไหม? ในฐานะพยานพระยะโฮวา คุณมีเหตุผลมากมายที่จะยินดีเพราะความเลื่อมใสพระเจ้า “อำนวยประโยชน์แก่ชีวิตในปัจจุบันและชีวิตอนาคตด้วย.” (1 ติโมเธียว 4:8, ล.ม.) ในตอนนี้ คุณอยู่ในอุทยานฝ่ายวิญญาณ! แต่นั่นหมายความไหมว่าคุณได้รับการปกป้องให้พ้นจากความทุกข์ลำบากทั้งสิ้น? ไม่เลย! คัมภีร์ไบเบิลกล่าวว่า “เหตุอันตรายมากหลายย่อมเกิดแก่ผู้สัตย์ธรรม.” (บทเพลงสรรเสริญ 34:19) เรื่องนี้ไม่น่าแปลกใจ เพราะ “มนุษย์โลกทั้งสิ้นทอดตัวจมอยู่ในมารร้าย” คือซาตานพญามาร. (1 โยฮัน 5:19) ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เราทุกคนได้รับผลกระทบจากความเป็นจริงดังกล่าว.—เอเฟโซ 6:12.
ผลกระทบของความทุกข์ลำบาก
3. จงยกตัวอย่างในคัมภีร์ไบเบิลเกี่ยวกับผู้รับใช้ของพระเจ้าที่ประสบความทุกข์อย่างหนัก.
3 ความทุกข์ที่ยืดเยื้ออาจทำให้เรามองโลกอย่างหดหู่ไปเสียทั้งหมด. (สุภาษิต 15:15) ขอให้พิจารณาโยบผู้สัตย์ธรรม. ขณะประสบความลำบากแสนสาหัส โยบกล่าวว่า “อันมนุษย์ซึ่งเกิดจากเพศหญิงย่อมมีแต่วันเวลาน้อยนัก, และประกอบไปด้วยความทุกข์ยากลำบาก.” (โยบ 14:1) ความยินดีของโยบหายไปหมด. มีอยู่ช่วงหนึ่ง ท่านถึงกับคิดว่าพระยะโฮวาละทิ้งท่านไปแล้ว. (โยบ 29:1-5) โยบไม่ใช่ผู้รับใช้ของพระเจ้าเพียงคนเดียวที่ประสบความทุกข์อย่างรุนแรง. คัมภีร์ไบเบิลบอกเราว่านางฮันนา “เป็นทุกข์ร้อนใจ” เพราะการที่เธอไม่มีบุตร. (1 ซามูเอล 1:9-11) เพราะทุกข์ใจด้วยเรื่องในครอบครัว ริบะคากล่าวว่า “ฉันเบื่อชีวิตของฉันเหลือเกิน.” (เยเนซิศ 27:46, ฉบับแปลใหม่) เมื่อใคร่ครวญถึงความผิดพลาดของตัวเอง ดาวิดกล่าวดังนี้: “ตลอดวันข้าพเจ้าเดินไปมาด้วย ความเศร้าหมอง.” (บทเพลงสรรเสริญ 38:6, ล.ม.) ยกขึ้นมาเพียงไม่กี่ตัวอย่างก็ทำให้เห็นชัดแล้วว่าชายหญิงที่เกรงกลัวพระเจ้าก่อนสมัยคริสเตียนก็ต้องอดทนกับช่วงเวลาที่เป็นทุกข์หนัก.
4. เหตุใดจึงไม่น่าแปลกใจที่มี “ผู้ที่ท้อใจ” ท่ามกลางคริสเตียนในทุกวันนี้?
4 แล้วคริสเตียนล่ะ? อัครสาวกเปาโลเห็นว่าจำเป็นต้องบอกชาวเทสซาโลนิเกให้ “หนุนน้ำใจผู้ที่ท้อใจ.” (1 เธซะโลนิเก 5:14) หนังสืออ้างอิงเล่มหนึ่งให้ข้อสังเกตว่าคำกรีกที่แปลไว้ว่า “ผู้ที่ท้อใจ” อาจอ้างอิงถึงคน “ที่หดหู่อยู่ชั่วขณะหนึ่งเพราะความเครียดในชีวิต.” ถ้อยคำของเปาโลบ่งชี้ว่าผู้ถูกเจิมด้วยพระวิญญาณบางคนในประชาคมเทสซาโลนิเกรู้สึกหดหู่. มีคริสเตียนที่ท้อใจในทุกวันนี้ด้วย. แต่เพราะเหตุใดพวกเขาจึงท้อแท้? ให้เรามาพิจารณาสาเหตุทั่วไปสามประการ.
ความไม่สมบูรณ์อาจทำให้เราเป็นทุกข์
5, 6. เราอาจได้รับการปลอบประโลมเช่นไรจากโรม 7:22-25?
5 ไม่เหมือนกับบางคนที่เสื่อมทรามซึ่ง “ปราศจากความสะดุ้งต่อบาป” คริสเตียนแท้รู้สึกทุกข์ใจในสภาพผิดบาปของตน. (เอเฟโซ 4:19) พวกเขาอาจรู้สึกเหมือนกับเปาโลซึ่งได้เขียนไว้ว่า “ฝ่ายจิตต์ใจของข้าพเจ้าก็มีความเห็นชอบในพระบัญญัติแห่งพระเจ้า. แต่ข้าพเจ้าเห็นมีกฎธรรมดาอีกอย่างหนึ่งอยู่ในอวัยวะของข้าพเจ้า, ซึ่งสู้รบกันกับกฎธรรมดาซึ่งอยู่ในใจข้าพเจ้า, และชักนำข้าพเจ้าให้อยู่ใต้บังคับกฎธรรมดาความผิดซึ่งอยู่ในอวัยวะของข้าพเจ้า.” จากนั้น เปาโลก็อุทานว่า “โอ ข้าพเจ้าเป็นคนเข็ญใจจริง!”—โรม 7:22-24.
6 คุณเคยรู้สึกแบบเปาโลไหม? ไม่ผิดที่คุณรู้ตัวดีถึงความไม่สมบูรณ์ของคุณ เพราะความสำนึกเช่นนี้อาจช่วยย้ำให้คุณตระหนักถึงความร้ายแรงของบาปและเสริมความตั้งใจของคุณที่จะหลีกเลี่ยงความชั่ว. แต่คุณไม่จำเป็นต้องเป็นทุกข์ตลอดเวลาเพราะข้อบกพร่องของคุณ. หลังจากกล่าวถึงความทุกข์ใจตามข้อความที่เพิ่งยกขึ้นมา เปาโลกล่าวต่ออีกว่า “ข้าพเจ้าขอบพระคุณของพระเจ้าโดยพระเยซูคริสต์องค์พระผู้เป็นเจ้าของเรา.” (โรม 7:25) ใช่แล้ว เปาโลมีความเชื่อมั่นว่าพระโลหิตที่หลั่งออกของพระเยซูสามารถไถ่ถอนท่านให้พ้นจากบาปที่ได้รับตกทอดมา.—โรม 5:18.
7. หากใครเป็นทุกข์เพราะแนวโน้มที่ผิดบาป อะไรอาจช่วยเขาได้?
7 หากคุณรู้สึกเป็นทุกข์เพราะธรรมชาติที่ผิดบาปของคุณ ก็ขอให้คุณรับคำปลอบโยนจากถ้อยคำของอัครสาวกโยฮันซึ่งเขียนว่า “ถ้าผู้ใดหลงกระทำผิด เราก็มีพระองค์ผู้ช่วยเหลือสถิตอยู่กับพระบิดา, คือพระเยซูคริสต์ผู้เที่ยงธรรมนั้น และพระองค์นั้นเป็นผู้ทรงระงับพระพิโรธเพราะความบาปของพวกเรา, และไม่ใช่ของพวกเราพวกเดียว, แต่ว่าของมนุษย์โลกทั้งสิ้นด้วย.” (1 โยฮัน 2:1, 2) หากคุณรู้สึกทุกข์ใจเพราะแนวโน้มที่ผิดบาปของคุณ ขอจำไว้เสมอว่าพระเยซูสิ้นพระชนม์เพื่อคนบาป ไม่ใช่เพื่อคนที่สมบูรณ์. จริงทีเดียว “คนทั้งปวง ได้ทำผิดทุกคน, และขาดการถวายเกียรติยศแก่พระเจ้า.”—โรม 3:23.
8, 9. เหตุใดเราไม่ควรคิดประณามตัวเอง?
8 แต่สมมุติว่าคุณเคยทำผิดร้ายแรงในอดีต. ไม่ต้องสงสัยเลยว่าคุณได้เอ่ยถึงเรื่องนี้ในคำอธิษฐานถึงพระยะโฮวา และบางทีอาจพูดเรื่องนี้บ่อยครั้ง. คุณได้รับความช่วยเหลือฝ่ายวิญญาณจากผู้ปกครองคริสเตียน. (ยาโกโบ 5:14, 15) คุณกลับใจอย่างแท้จริง และเพราะเหตุนั้นจึงยังคงเป็นส่วนหนึ่งในประชาคม. หรือบางทีคุณอาจได้ทิ้งองค์การของพระเจ้าไปช่วงหนึ่ง แต่ภายหลังคุณได้กลับใจและกลับมามีฐานะที่สะอาดอีกครั้งหนึ่ง. ไม่ว่าสถานการณ์เป็นเช่นไร บาปที่คุณเคยทำในอดีตอาจผุดขึ้นมาในจิตใจและทำให้คุณเป็นทุกข์. หากเป็นอย่างนั้น ขอจำไว้ว่าพระยะโฮวาทรงให้อภัย “อย่างล้นเหลือ” แก่คนที่กลับใจอย่างแท้จริง. (ยะซายา 55:7, ฉบับแปลใหม่) นอกจากนั้น พระองค์ไม่ประสงค์ให้คุณรู้สึกว่าตนเองไม่มีหวังที่จะรอด. ซาตานต่างหากที่อยากให้เรารู้สึกอย่างนั้น. (2 โกรินโธ 2:7, 10, 11) พญามารจะถูกทำลายเพราะนั่นคือสิ่งที่มันสมควรได้รับ แต่มันอยากให้คุณรู้สึกว่าคุณควรถูกพิพากษาเช่นเดียวกับมัน. (วิวรณ์ 20:10) อย่าปล่อยให้ซาตานประสบผลสำเร็จตามแผนการของมันในการทำลายความเชื่อของคุณ. (เอเฟโซ 6:11) แทนที่จะเป็นอย่างนั้น “จงยืนหยัดต่อต้านมัน” ในเรื่องนี้ เช่นเดียวกับที่คุณยืนหยัดในเรื่องอื่น ๆ.—1 เปโตร 5:9, ล.ม.
9 ที่วิวรณ์ 12:10 ซาตานถูกเรียกว่า “ผู้ที่กล่าวโทษพวกพี่น้องของเรา” ซึ่งก็คือคริสเตียนผู้ถูกเจิม. มัน “กล่าวโทษเขาต่อพระพักตร์พระเจ้าทั้งกลางวันกลางคืน.” การคิดใคร่ครวญ ข้อนี้อาจช่วยคุณให้เห็นว่า ซาตานผู้กล่าวหาเท็จย่อมจะยินดีหากคุณกล่าวโทษและประณามตัวคุณเอง แม้ว่าพระยะโฮวาไม่ทรงทำอย่างนั้น. (1 โยฮัน 3:19-22) ทำไมจะต้องทุกข์ใจเพราะข้อผิดพลาดของคุณอยู่ตลอดถึงขนาดที่ทำให้รู้สึกอยากยอมแพ้ล่ะ? อย่าปล่อยให้ซาตานทำลายความสัมพันธ์ของคุณกับพระเจ้า. อย่าปล่อยให้พญามารทำให้คุณมองไม่เห็นข้อเท็จจริงที่ว่า พระยะโฮวา “ทรงเมตตากรุณา ทรงพระพิโรธช้าและบริบูรณ์ด้วยความกรุณารักใคร่.”—เอ็กโซโด 34:6, ล.ม.
ข้อจำกัดของเราเองอาจทำให้ท้อใจได้
10. ข้อจำกัดที่เรามีอาจทำให้เราท้อใจอย่างไร?
10 คริสเตียนบางคนท้อใจเพราะข้อจำกัดของเขาก่อผลกระทบบางอย่างต่อการรับใช้พระเจ้า. คุณเป็นอย่างนั้นไหม? อาจเป็นได้ว่าความเจ็บป่วยที่รุนแรง, อายุที่มากแล้ว, หรือสภาพการณ์อื่น ๆ ทำให้คุณไม่สามารถอุทิศเวลาในการรับใช้ได้มากเหมือนที่เคยทำในอดีต. จริงอยู่ คริสเตียนได้รับการสนับสนุนให้ซื้อโอกาสมาใช้เพื่องานรับใช้พระเจ้า. (เอเฟโซ 5:15, 16) แต่จะว่าอย่างไรหากสิ่งที่เป็นข้อจำกัดทำให้คุณทำได้แค่นี้จริง ๆ ในงานรับใช้และเป็นเหตุที่ทำให้คุณท้อใจ?
11. คำแนะนำของเปาโลดังบันทึกที่ฆะลาเตีย 6:4 อาจให้ประโยชน์แก่เราได้อย่างไร?
11 คัมภีร์ไบเบิลกระตุ้นเราไม่ให้เฉื่อยชา แต่ให้เป็น “ผู้เลียนแบบคนเหล่านั้น ซึ่งโดยทางความเชื่อและความอดทนจึงได้รับคำสัญญาเป็นมรดก.” (เฮ็บราย 6:12, ล.ม.) เราจะทำอย่างนี้ได้ก็ต่อเมื่อเราพิจารณาดูตัวอย่างที่ดีของพวกเขาและพยายามเลียนแบบความเชื่อของพวกเขา. อย่างไรก็ตาม เราจะไม่ได้รับประโยชน์หากเราเปรียบเทียบตัวเราเองในแง่ลบกับคนอื่น ๆ แล้วลงความเห็นว่าสิ่งที่เราทำนั้นไม่มีอะไรดีพอสักอย่าง. ด้วยเหตุนั้น เราควรทำตามคำแนะนำของเปาโลที่ว่า “ให้แต่ละคนพิสูจน์ดูว่างานของเขาเองเป็นอย่างไร และครั้นแล้วเขาจะมีเหตุที่จะปีติยินดีเกี่ยวกับตัวเขาเองเท่านั้น และไม่ใช่โดยเปรียบเทียบกับคนอื่น.”—ฆะลาเตีย 6:4, ล.ม.
12. เหตุใดเราสามารถยินดีปรีดาในการรับใช้ที่เราถวายแด่พระยะโฮวา?
12 คริสเตียนมีเหตุผลที่ดีที่จะยินดีปรีดา แม้เมื่อทำได้จำกัดเพราะมีปัญหาสุขภาพอย่างรุนแรง. คัมภีร์ไบเบิลรับรองกับเราว่า “พระเจ้าไม่ใช่อธรรมที่จะทรงลืมการงานของท่านและความรักที่ท่านได้สำแดงต่อพระนามของพระองค์.” (เฮ็บราย 6:10) สภาพการณ์อาจเกินการควบคุมของคุณ ทำให้ยากที่คุณจะรักษาระดับของงานที่คุณเคยทำได้. แต่ด้วยความช่วยเหลือจากพระยะโฮวา คุณอาจสามารถร่วมในงานรับใช้ของคริสเตียนบางรูปแบบได้อย่างเต็มที่ยิ่งขึ้น เช่น การให้คำพยานทางโทรศัพท์และทางจดหมาย. คุณแน่ใจได้เลยว่าพระยะโฮวาพระเจ้าจะทรงอวยพรคุณสำหรับการรับใช้ด้วยสิ้นสุดจิตวิญญาณและความรักที่คุณแสดงต่อพระองค์และต่อเพื่อนมนุษย์.—มัดธาย 22:36-40.
“วิกฤตกาล” อาจทำให้เราอ่อนระอาใจได้
13, 14. (ก) “วิกฤตกาล” อาจทำให้เราทุกข์ใจอย่างไร? (ข) เห็นได้ชัดอย่างไรว่าผู้คนในปัจจุบันขาดความรักใคร่ตามธรรมชาติ?
13 แม้เราคอยท่าที่จะมีชีวิตในโลกใหม่อันชอบธรรมของพระเจ้า แต่ในเวลานี้เรามีชีวิตอยู่ใน “วิกฤตกาลซึ่งยากที่จะรับมือได้.” (2 ติโมเธียว 3:1, ล.ม.) เราเบาใจที่ทราบว่าเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่ก่อความทุกข์ใจบ่งชี้ว่าเราใกล้จะได้รับการช่วยให้รอด. กระนั้น เราได้รับผลกระทบจากสภาพการณ์รอบตัวเรา. ตัวอย่างเช่น จะเป็นอย่างไรหากคุณตกงาน? งานอาจหาได้ยาก และเมื่อผ่านไปหลายเดือน คุณอาจนึกสงสัยว่าพระยะโฮวาทรงเห็นสภาพการณ์ที่ยากลำบากของคุณหรือได้ยินคำอธิษฐานของคุณหรือไม่. หรือบางทีคุณอาจตกเป็นเหยื่อของการเลือกปฏิบัติหรือความอยุติธรรมแบบใดแบบหนึ่ง. แม้แต่การกวาดตาอ่านหัวข่าวหนังสือพิมพ์ก็อาจทำให้คุณรู้สึกเหมือนโลตผู้ชอบธรรมซึ่ง “มีทุกข์เป็นอันมาก” เพราะการประพฤติหละหลวมของคนที่อยู่รอบตัวท่าน.—2 เปโตร 2:7.
14 มีแง่มุมเฉพาะอย่างหนึ่งของสมัยสุดท้ายที่เราไม่อาจมองข้ามได้. คัมภีร์ไบเบิลบอกล่วงหน้าว่าหลายคนจะ “ไม่มีความรักใคร่ตามธรรมชาติ.” (2 ติโมเธียว 3:3, ล.ม.) ความรักในครอบครัวหดหายไปอย่างมากในหลาย ๆ ครอบครัว. ที่จริง หนังสือความรุนแรงในครอบครัว (ภาษาอังกฤษ) กล่าวว่า “หลักฐานชี้ว่าผู้คนมีโอกาสมากขึ้นที่จะถูกฆ่า, ถูกทำร้ายร่างกาย, หรือถูกทำร้ายทางอารมณ์หรือทางเพศโดยคนในครอบครัวเดียวกันมากกว่าโดยคนอื่น.” หนังสือนี้ยังกล่าว อีกด้วยว่า “สถานที่ซึ่งผู้คนน่าจะได้รับความรักและรู้สึกปลอดภัยกลับเป็นสถานที่อันตรายที่สุดสำหรับผู้ใหญ่และเด็กบางคน.” คนที่เคยอยู่ในบ้านที่สภาพแวดล้อมไม่ดีอาจมีความวิตกกังวลและหดหู่ติดตัวไปเป็นเวลานาน. จะว่าอย่างไรหากคุณมีประสบการณ์อย่างนั้น?
15. ความรักของพระยะโฮวายอดเยี่ยมกว่าความรักของมนุษย์อย่างไร?
15 ดาวิดผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญร้องเพลงดังนี้: “แม้บิดาและมารดาของข้าพระองค์ทอดทิ้งข้าพระองค์ แต่พระเจ้าจะทรงยกข้าพระองค์ขึ้น.” (บทเพลงสรรเสริญ 27:10, ฉบับแปลใหม่) ช่างรู้สึกสบายใจสักเพียงไรที่ทราบว่าความรักของพระยะโฮวานั้นเหนือกว่าความรักของบิดามารดาที่เป็นมนุษย์เสียอีก! ไม่ว่าการปฏิเสธ, การปฏิบัติอย่างเลวร้าย, หรือการทอดทิ้งจากพ่อแม่อาจสร้างความเจ็บปวดสักเพียงไร แต่นั่นไม่ทำให้ความห่วงใยที่พระยะโฮวาทรงมีต่อคุณน้อยลงเลย. (โรม 8:38, 39) พึงจำไว้ว่า พระเจ้าทรงชักนำผู้ที่พระองค์ทรงรักให้มาหาพระองค์. (โยฮัน 3:16; 6:44) ไม่ว่าคุณอาจถูกปฏิบัติอย่างไรจากเพื่อนมนุษย์ พระบิดาฝ่ายสวรรค์ทรงรักคุณ!
แนวทางที่ใช้ได้จริงเพื่อบรรเทาความท้อแท้
16, 17. เมื่อรู้สึกท้อแท้ อาจทำอะไรได้เพื่อรักษาความเข้มแข็งฝ่ายวิญญาณไว้?
16 คุณสามารถดำเนินตามแนวทางบางอย่างที่ใช้ได้จริงเพื่อรับมือกับความท้อแท้. ตัวอย่างเช่น ร่วมในกิจกรรมที่เสริมสร้างของคริสเตียนอย่างเต็มที่. คิดรำพึงพระคำของพระเจ้า โดยเฉพาะช่วงที่ความท้อใจกำลังถาโถมเข้ามา. ผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญร้องเพลงว่า “เมื่อข้าพเจ้าพูดว่า, เท้าของข้าพเจ้าพลาดพลั้งไป; โอ้พระยะโฮวา, พระกรุณาคุณของพระองค์ก็ทรงประคองข้าพเจ้าไว้. ครั้นข้าพเจ้ามีความสาละวนในใจเป็นอันมากความประเล้าประโลมของพระองค์ก็จะทรงกระทำให้จิตต์วิญญาณของข้าพเจ้าชื่นบาน.” (บทเพลงสรรเสริญ 94:18, 19) การอ่านคัมภีร์ไบเบิลเป็นประจำจะช่วยเติมจิตใจของคุณด้วยถ้อยคำปลอบโยนและแนวคิดที่ให้การค้ำชู.
17 การอธิษฐานก็สำคัญมากด้วย. แม้แต่ในกรณีที่คุณไม่สามารถแสดงความรู้สึกในส่วนลึกออกมาเป็นคำพูด พระยะโฮวาก็ทรงทราบว่าคุณกำลังพยายามพูดอะไร. (โรม 8:26, 27) ผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญให้คำรับรองดังนี้: “จงทอดภาระของท่านไว้กับพระยะโฮวา, และพระองค์จะทรงเป็นธุระให้. พระองค์จะไม่ยอมให้คนชอบธรรมแตกฉานซ่านเซ็นไป.”—บทเพลงสรรเสริญ 55:22.
18. คนที่ซึมเศร้าอาจทำอะไรได้บ้างเพื่อจัดการกับปัญหาของเขา?
18 บางคนรู้สึกสิ้นหวังเพราะโรคซึมเศร้า. * หากคุณเป็นโรคนี้ ขอให้พยายามเพ่งความสนใจไปที่โลกใหม่ของพระเจ้าและมองไปถึงเวลาเมื่อ “ไม่มีใครที่อาศัยอยู่ที่นั่นพูดว่า, ‘ข้าพเจ้าป่วยอยู่.’ ” (ยะซายา 33:24) หากความรู้สึกในแง่ลบของคุณดูเหมือนจะหนักกว่าเพียงแค่ความรู้สึกเศร้าซึมบ้างเป็นครั้งคราว อาจสุขุมที่จะรับความช่วยเหลือจากแพทย์เฉพาะทาง. (มัดธาย 9:12) การดูแลสุขภาพกายให้ดีเป็นเรื่องสำคัญด้วย. อาหารที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพและการออกกำลังกายบ้างอาจช่วยได้. ตรวจดูให้แน่ใจว่าคุณมีการพักผ่อนอย่างเพียงพอ. อย่าชมโทรทัศน์จนดึกดื่น และหลีกเลี่ยงนันทนาการบางอย่างซึ่งจะทำให้คุณหมดแรงทั้งทางกายและทางใจ. เหนือสิ่งอื่นใด จงร่วมในงานรับใช้ที่ทำให้พระเจ้าพอพระทัยต่อ ๆ ไป! แม้ยังไม่ถึงเวลาที่พระยะโฮวาจะ “เช็ดน้ำตาทุก ๆ หยด” แต่พระองค์จะทรงช่วยคุณให้อดทนได้.—วิวรณ์ 21:4; 1 โกรินโธ 10:13.
ดำเนินชีวิต “ภายใต้พระหัตถ์อันทรงฤทธิ์ของพระเจ้า”
19. พระยะโฮวาทรงสัญญาอะไรกับคนที่ทุกข์ลำบาก?
19 คัมภีร์ไบเบิลรับรองกับเราว่าแม้ความทุกข์ยากลำบากที่เกิดกับผู้ชอบธรรมมีมากมาย “แต่พระยะโฮวาทรงช่วยเขาให้พ้นจากเหตุทั้งปวงเหล่านั้น.” (บทเพลงสรรเสริญ 34:19) พระเจ้าทรงทำเช่นนี้อย่างไร? เมื่ออัครสาวกเปาโลอธิษฐานครั้งแล้วครั้งเล่าให้ “เสี้ยนหนามในเนื้อหนัง” หลุดไป พระยะโฮวาทรงบอกท่านว่า “โดยความอ่อนแอของเจ้าเดชของเราจึงปรากฏมีฤทธิ์ขึ้นเต็มขนาด.” (2 โกรินโธ 12:7-9) พระยะโฮวาทรงสัญญาอะไรกับเปาโล และพระองค์ทรงสัญญาอะไรกับคุณ? ไม่ใช่การรักษาให้หายทันทีในตอนนี้ แต่ทรงสัญญาจะประทานกำลังที่ช่วยให้อดทนได้.
20. แม้เผชิญการทดลอง เรามั่นใจในเรื่องใดตามที่กล่าวไว้ใน 1 เปโตร 5:6, 7?
20 อัครสาวกเปโตรเขียนดังนี้: “ท่านทั้งหลายจงถ่อมใจลงภายใต้พระหัตถ์อันทรงฤทธิ์ของพระเจ้าเพื่อว่าพระองค์จะได้ทรงยกท่านขึ้นเมื่อถึงเวลาอันควร จงละความกระวนกระวายของท่านไว้กับพระองค์เพราะว่าพระองค์ทรงห่วงใยท่านทั้งหลาย.” (1 เปโตร 5:6, 7, ฉบับแปลใหม่) เนื่องจากพระยะโฮวาทรงห่วงใยคุณ พระองค์จะไม่ทรงละทิ้งคุณ. พระองค์จะทรงค้ำจุนคุณแม้คุณเผชิญการทดลองใด ๆ ก็ตาม. จำไว้ว่าคริสเตียนที่ซื่อสัตย์นั้นอยู่ “ภายใต้พระหัตถ์อันทรงฤทธิ์ของพระเจ้า.” ขณะเรารับใช้พระยะโฮวา พระองค์ประทานกำลังให้เราอดทนได้. หากเราซื่อสัตย์ต่อพระองค์ ไม่มีสิ่งใดที่จะทำความเสียหายฝ่ายวิญญาณแก่เราอย่างถาวร. ด้วยเหตุนั้น ขอให้เรารักษาความซื่อสัตย์มั่นคงต่อพระยะโฮวาเพื่อเราจะสามารถได้รับชีวิตนิรันดร์ในโลกใหม่ที่ทรงสัญญา และจะได้เห็นวันที่พระองค์จะทรงช่วยผู้ทุกข์ลำบากให้หลุดพ้นอย่างถาวร!
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 1 ชื่อสมมุติ.
^ วรรค 18 หนักกว่าความท้อใจ โรคซึมเศร้าเป็นสภาพที่แพทย์วินิจฉัยว่าเป็นความเศร้าซึมที่รุนแรงและต่อเนื่อง. สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม โปรดดูหอสังเกตการณ์ ฉบับ 15 ตุลาคม 1988 หน้า 27-32; 15 พฤศจิกายน 1988 หน้า 25-30; และ 1 กันยายน 1996 หน้า 30-31.
คุณจำได้ไหม?
• เหตุใดความทุกข์ลำบากจึงมีผลกระทบแม้แต่กับผู้รับใช้ของพระยะโฮวา?
• มีปัจจัยอะไรบ้างที่ทำให้ประชาชนของพระเจ้าบางคนรู้สึกท้อแท้?
• พระยะโฮวาทรงช่วยเราให้รับมือกับความกังวลอย่างไร?
• เราอยู่ “ภายใต้พระหัตถ์อันทรงฤทธิ์ของพระเจ้า” อย่างไร?
[คำถาม]
[ภาพหน้า 25]
แม้เผชิญความลำบากต่าง ๆ ประชาชนของพระยะโฮวามีเหตุผลที่จะยินดี
[ภาพหน้า 28]
การให้คำพยานทางโทรศัพท์เป็นวิธีหนึ่งในการถวายสิ่งดีที่สุดของคุณแด่พระยะโฮวา