ประชาชนของพระเจ้าต้องรักความกรุณา
ประชาชนของพระเจ้าต้องรักความกรุณา
“อะไรคือสิ่งที่พระยะโฮวาทรงเรียกร้องจากเจ้านอกจากให้สำแดงความยุติธรรมและให้รักความกรุณา และให้เจียมตัวในการดำเนินกับพระเจ้าของเจ้า?”—มีคา 6:8, ล.ม.
1, 2. (ก) เหตุใดเราไม่ควรรู้สึกแปลกใจที่พระยะโฮวาทรงคาดหมายให้ประชาชนของพระองค์แสดงความกรุณา? (ข) คำถามอะไรบ้างในเรื่องความกรุณาที่เราพึงพิจารณา?
พระยะโฮวาเป็นพระเจ้าผู้ทรงพระกรุณา. (โรม 2:4; 11:22) อาดามกับฮาวามนุษย์คู่แรกคงต้องรู้สึกขอบคุณสักเพียงไรต่อพระกรุณาของพระเจ้า! ในสวนเอเดน ทั้งสองแวดล้อมไปด้วยสิ่งทรงสร้างต่าง ๆ ที่ประจักษ์แก่ตา ซึ่งให้หลักฐานถึงพระกรุณาของพระเจ้าที่มีต่อมนุษย์ ซึ่งมีความสามารถที่จะเพลิดเพลินกับสิ่งเหล่านั้น. และพระเจ้าทรงสำแดงพระกรุณาเรื่อยไปต่อทุกคน แม้กระทั่งต่อคนชั่วและคนอกตัญญู.
2 เนื่องจากถูกสร้างตามแบบพระเจ้า มนุษย์จึงมีความสามารถที่จะสะท้อนคุณลักษณะของพระเจ้า. (เยเนซิศ 1:26) ไม่น่าแปลกใจที่พระยะโฮวาทรงคาดหมายให้เราแสดงความกรุณา. ดังที่มีคา 6:8 (ล.ม.) กล่าว ประชาชนของพระเจ้าต้อง “รักความกรุณา.” แต่ว่าความกรุณาคืออะไร? ความกรุณาเกี่ยวข้องอย่างไรกับคุณลักษณะอื่น ๆ อย่างพระเจ้า? เนื่องจากมนุษย์มีความสามารถที่จะแสดงความกรุณา เหตุใดโลกจึงเป็นสถานที่ที่มีความโหดร้ายทารุณเหลือเกิน? ทำไมเราในฐานะที่เป็นคริสเตียนควรพยายามแสดงความกรุณาเมื่อติดต่อสัมพันธ์กับผู้อื่น?
ความกรุณาคืออะไร?
3. คุณจะนิยามความกรุณาว่าอย่างไร?
3 คนเราแสดงความกรุณาโดยการให้ความสนใจต่อสวัสดิภาพของผู้อื่น อีกทั้งแสดงออกด้วยการกระทำที่ก่อประโยชน์และโดยใช้ถ้อยคำที่คำนึงถึงความรู้สึกของคนอื่น. การแสดงความกรุณาหมายถึงการทำการดีแทนที่จะทำสิ่งใดที่ก่อความเสียหาย. ผู้ที่มีความกรุณามีความเป็นมิตร, อ่อนโยน, เห็นอกเห็นใจ, และสุภาพ. บุคคลเช่นนั้นมีใจเอื้ออารี คำนึงถึงความจำเป็นของผู้อื่น. อัครสาวกเปาโลกำชับคริสเตียนดังนี้: “จงสวมตัวท่านด้วยความเมตตารักใคร่อันอ่อนละมุน, ความกรุณา, จิตใจอ่อนน้อม, ความอ่อนโยน, และความอดกลั้นไว้นาน.” (โกโลซาย 3:12, ล.ม.) ความกรุณาจึงเป็นส่วนประกอบแห่งเสื้อผ้าโดยนัยของคริสเตียนแท้ทุกคน.
4. พระยะโฮวาทรงนำหน้าอย่างไรในการสำแดงความกรุณาต่อมนุษยชาติ?
4 พระยะโฮวาพระเจ้าทรงนำหน้าในการสำแดงความกรุณา. ดังที่เปาโลกล่าว ในคราวที่ “พระกรุณาและความรักต่อมนุษย์ในส่วนของพระเจ้าพระผู้ช่วยให้รอดของเราได้มีการสำแดง . . . พระองค์ทรงช่วยเราให้รอดด้วยการชำระที่ทำให้เรามีชีวิตใหม่และด้วยการสร้างเราขึ้นใหม่โดยพระวิญญาณบริสุทธิ์.” (ติโต 3:4, 5, ล.ม.) พระเจ้าทรง “ชำระ” คริสเตียนผู้ถูกเจิมให้สะอาดในพระโลหิตของพระเยซู ซึ่งหมายถึงทรงใช้คุณค่าแห่งเครื่องบูชาไถ่ของพระคริสต์เพื่อประโยชน์ของพวกเขา. คริสเตียนผู้ถูกเจิมยังถูกสร้างขึ้นใหม่โดยทางพระวิญญาณบริสุทธิ์ด้วย และกลายเป็น “สิ่งทรงสร้างใหม่” ฐานะเหล่าบุตรของพระเจ้าที่ได้รับการกำเนิดด้วยพระวิญญาณ. (2 โกรินโธ 5:17, ล.ม.) นอกจากนั้น พระเจ้าสำแดงความกรุณาและความรักแก่ “ชนฝูงใหญ่” ที่ได้ “ชำระเสื้อยาวของเขาและทำให้ขาวในพระโลหิตของพระเมษโปดก.”—วิวรณ์ 7:9, 14, ล.ม.; 1 โยฮัน 2:1, 2.
5. เหตุใดผู้ที่ได้รับการชี้นำโดยพระวิญญาณของพระเจ้าจึงควรแสดงความกรุณา?
5 ความกรุณาเป็นผลประการหนึ่งแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์หรือพลังปฏิบัติการของพระเจ้าด้วย. เปาโลกล่าวว่า “ผลแห่งพระวิญญาณคือ ความรัก, ความยินดี, สันติสุข, ความอดกลั้นไว้นาน, ความกรุณา, ความดี, ความเชื่อ, ความอ่อนโยน, การควบคุมตนเอง. สิ่งเหล่านี้ไม่มีกฎหมายห้ามเลย.” (ฆะลาเตีย 5:22, 23, ล.ม.) ฉะนั้น ผู้ที่ได้รับการชี้นำโดยพระวิญญาณของพระเจ้าจึงควรแสดงความกรุณาต่อผู้อื่นมิใช่หรือ?
ความกรุณาแท้ไม่ใช่ความอ่อนแอ
6. เมื่อใดที่ความกรุณาเป็นความอ่อนแอ และเพราะเหตุใด?
6 บางคนถือว่าความกรุณาเป็นความอ่อนแอ. พวกเขารู้สึกว่าคนเราต้องแข็งกร้าว หรือกระทั่งหยาบคายในบางครั้ง เพื่อให้คนอื่นเห็นว่าเขาเข้มแข็ง. แต่ในความเป็นจริงแล้ว ต้องอาศัยความเข้มแข็งจริง ๆ เพื่อจะแสดงความกรุณาแท้ และที่จะไม่แสดงความกรุณาอย่างผิด ๆ. เนื่องจากความกรุณาแท้เป็นผลประการหนึ่งแห่งพระวิญญาณของพระเจ้า คุณลักษณะดังกล่าวจึงไม่ใช่เจตคติที่หย่อนยานและอะลุ่มอล่วยต่อการประพฤติผิด. ในทางตรงข้าม การแสดงความกรุณาอย่างผิด ๆ เป็นความอ่อนแอที่ทำให้คนเรายอมให้กับการทำผิด.
7. (ก) เอลีแสดงอย่างไรว่าเป็นคนหย่อนยาน? (ข) เหตุใดผู้ปกครองต้องระวังที่จะไม่แสดงความกรุณาอย่างผิด ๆ?
7 เพื่อเป็นตัวอย่าง ขอให้พิจารณากรณีของเอลี มหาปุโรหิตแห่งชาติอิสราเอล. เขาหย่อนยานในการตีสอนฮฟนีกับฟีนะฮาศบุตรชาย ซึ่งทำหน้าที่เป็นปุโรหิตที่พลับพลา. เนื่องจากไม่พอใจกับส่วนแบ่งจากเครื่องบูชาที่กำหนดไว้ให้ตนตามพระบัญญัติของพระเจ้า ทั้งสองจึงบอกคนใช้ให้เรียกร้องเอาเนื้อดิบจากผู้ถวายก่อนที่จะมีการเผาไขมันสัตว์ถวายให้เกิดควันบนแท่นบูชา. นอกจากนั้น บุตรชายของเอลียังทำผิดศีลธรรมทางเพศกับพวกผู้หญิงซึ่งรับใช้อยู่บริเวณทางเข้าพลับพลา. แต่แทนที่จะปลดฮฟนีกับฟีนะฮาศออกจากตำแหน่ง เอลีเพียงแค่ตำหนิบุตรทั้งสองเล็กน้อย. (1 ซามูเอล 2:12-29) ไม่น่าประหลาดใจเลยที่ “พระดำรัสของพระยะโฮวาไม่สู้จะมีในสมัยนั้น”! (1 ซามูเอล 3:1, ล.ม.) คริสเตียนผู้ปกครองต้องระวังไม่พ่ายแพ้ต่อแรงจูงใจที่จะแสดงความกรุณาอย่างผิด ๆ ต่อผู้กระทำผิดที่อาจทำให้สภาพฝ่ายวิญญาณของประชาคมตกอยู่ในอันตราย. ความกรุณาแท้ไม่ปิดหูปิดตาต่อคำพูดและการกระทำที่ชั่วซึ่งฝ่าฝืนมาตรฐานของพระเจ้า.
8. พระเยซูทรงแสดงความกรุณาแท้อย่างไร?
8 พระเยซูคริสต์ ผู้เป็นแบบอย่างของเรา ไม่เคยมีความผิดในเรื่องการแสดงความกรุณาอย่างผิด ๆ. พระองค์ทรงเป็นแบบอย่างอันยอดเยี่ยมในเรื่องความกรุณาแท้. ตัวอย่างเช่น ‘พระองค์ทรงรู้สึกรักใคร่อย่างอ่อนละมุนต่อประชาชน เนื่องจากพวกเขาถูกถลกหนังและทุบตีเหมือนฝูงแกะไม่มีผู้เลี้ยง.’ ผู้มีหัวใจสุจริตไม่กลัวที่จะเข้าใกล้พระเยซู และถึงกับพาลูกเล็ก ๆ มาหาพระองค์. ขอให้คิดถึงความกรุณาและความเอ็นดูที่พระองค์ทรงแสดงออกเมื่อ “ทรงอุ้มเด็กเล็ก ๆ เหล่านั้นวางพระหัตถ์บนเขาและทรงอวยพรให้.” (มัดธาย 9:36; มาระโก 10:13-16) แม้ว่าพระเยซูทรงกรุณา กระนั้น พระองค์ทรงหนักแน่นในสิ่งที่ถูกต้องในสายพระเนตรของพระบิดาฝ่ายสวรรค์ของพระองค์. พระเยซูไม่เคยยอมให้กับการกระทำชั่ว พระองค์มีความกล้าที่พระเจ้าประทานให้ในการประณามพวกผู้นำศาสนาที่หน้าซื่อใจคด. ดังบันทึกไว้ที่มัดธาย 23:13-26 พระเยซูแถลงซ้ำหลายครั้งว่า “วิบัติแก่เจ้าพวกอาลักษณ์และพวกฟาริซาย, คนหน้าซื่อใจคด.”
ความกรุณากับคุณลักษณะอื่น ๆ อย่างพระเจ้า
9. ความกรุณาเกี่ยวข้องอย่างไรกับความอดกลั้นไว้นานและความดี?
9 ความกรุณาเกี่ยวข้องกับคุณลักษณะอื่น ๆ ที่เป็นผลแห่งพระวิญญาณของพระเจ้า. ความกรุณาถูกจัดลำดับให้อยู่ระหว่าง “ความอดกลั้นไว้นาน” และ “ความดี.” ที่จริงแล้ว ผู้ที่ปลูกฝังความกรุณาแสดงคุณลักษณะนี้ด้วยการอด
กลั้นไว้นาน. เขาอดกลั้นแม้แต่กับคนที่ไร้ความกรุณา. ความกรุณาเกี่ยวข้องกับความดีตรงที่ว่า ความกรุณาบ่อยครั้งแสดงออกด้วยการกระทำที่เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น. คำภาษากรีกที่ใช้ในคัมภีร์ไบเบิลสำหรับคำว่า “ความกรุณา” อาจแปลในบางครั้งว่า “ความดี.” การแสดงออกซึ่งคุณลักษณะดังกล่าวในท่ามกลางคริสเตียนยุคแรกก่อความประหลาดใจแก่คนนอกศาสนามากถึงขนาดที่พวกเขาเรียกเหล่าสาวกของพระเยซูว่า ‘ผู้ประกอบด้วยความกรุณา’ ตามที่เทอร์ทูลเลียนกล่าว.10. ความกรุณาเกี่ยวข้องอย่างไรกับความรัก?
10 มีความเกี่ยวข้องกันระหว่างความกรุณากับความรัก. พระเยซูตรัสเกี่ยวกับสาวกของพระองค์ว่า “คนทั้งปวงจะรู้ได้ว่าเจ้าเป็นเหล่าสาวกของเราก็เพราะว่าเจ้าทั้งหลายรักซึ่งกันและกัน.” (โยฮัน 13:35) และในเรื่องความรักนี้ เปาโลกล่าวว่า “ความรักอดกลั้นไว้นานและแสดงความกรุณา” (1 โกรินโธ 13:4, ล.ม.) ความกรุณาเกี่ยวข้องกับความรักด้วยเช่นกันในคำว่า “ความกรุณารักใคร่” ซึ่งมีการใช้บ่อย ๆ ในพระคัมภีร์. นี่เป็นความกรุณาที่เกิดมาจากความรักอย่างภักดี. คำนามภาษาฮีบรูที่ได้รับการแปลว่า “ความกรุณารักใคร่” มีความหมายมากยิ่งกว่าความรักใคร่. ความกรุณารักใคร่เป็นความกรุณาซึ่งผูกพันรักใคร่กับเป้าหมายอย่างหนึ่งจนกว่าจุดประสงค์เกี่ยวกับเป้าหมายนั้นจะบรรลุผล. ความกรุณารักใคร่หรือความรักอย่างภักดีของพระยะโฮวามีการแสดงออกในหลายทาง. ดังเห็นตัวอย่างได้จากการที่พระองค์ทรงช่วยให้รอดและให้การปกป้อง.—บทเพลงสรรเสริญ 6:4; 40:11; 143:12.
11. ความกรุณารักใคร่ของพระเจ้าให้คำรับรองอะไรแก่เรา?
11 ความกรุณารักใคร่ของพระยะโฮวาดึงดูดผู้คนให้เข้ามาหาพระองค์. (ยิระมะยา 31:3) เมื่อเหล่าผู้รับใช้ที่ซื่อสัตย์ของพระเจ้าต้องการการช่วยให้รอดหรือความช่วยเหลือ พวกเขารู้ว่าความกรุณารักใคร่ของพระองค์เป็นความรักอย่างภักดีจริง ๆ. ความกรุณารักใคร่ของพระองค์จะไม่ทำให้พวกเขาผิดหวัง. ด้วยเหตุนั้น พวกเขาจึงสามารถอธิษฐานด้วยความมั่นใจเช่นเดียวกับผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญที่กล่าวว่า “แต่ข้าพเจ้าได้วางใจในพระกรุณา [“ความกรุณารักใคร่,” ล.ม.] ของพระองค์; ใจของข้าพเจ้าจะชื่นชมยินดีในความรอดของพระองค์.” (บทเพลงสรรเสริญ 13:5) เนื่องจากความรักของพระเจ้าเป็นความรักอย่างภักดี บรรดาผู้รับใช้ของพระองค์จึงวางใจพระองค์ได้อย่างเต็มเปี่ยม. พวกเขามีคำรับรองนี้ที่ว่า “พระยะโฮวาจะไม่ทรงละทิ้งพลไพร่ของพระองค์, เหล่าคนที่เป็นมฤดกของพระองค์นั้นพระองค์จะไม่ทรงละไว้.”—บทเพลงสรรเสริญ 94:14.
เหตุใดโลกจึงมีความโหดร้ายมากเหลือเกิน?
12. เมื่อไรและวิธีใดที่การปกครองที่กดขี่เริ่มต้นขึ้น?
12 คำตอบสำหรับคำถามนี้เกี่ยวข้องกับสิ่งที่เกิดขึ้นในสวนเอเดน. ในตอนต้นของประวัติศาสตร์มนุษย์ กายวิญญาณองค์หนึ่ง ที่กลายมาเป็นผู้คิดถึงแต่ตัวเองและทะนงตน เริ่มดำเนินแผนการที่จะเป็นผู้ครองโลก. ผลจากการดำเนินตามแผนของมัน มันได้เป็น “ผู้ครองโลก” จริง ๆ ซึ่งที่แท้แล้วเป็นผู้กดขี่อย่างมาก. (โยฮัน 12:31) มันกลายมาเป็นที่รู้จักกันว่าซาตานพญามาร ผู้เป็นปฏิปักษ์ตัวเอ้ของทั้งพระเจ้าและมนุษย์. (โยฮัน 8:44; วิวรณ์ 12:9) แผนการอันเห็นแก่ตัวของมันที่จะตั้งการปกครองขึ้นมาแข่งขันกับการปกครองด้วยความกรุณาของพระยะโฮวาถูกเปิดเผยไม่นานหลังจากมีการสร้างฮาวา. ด้วยเหตุนี้การปกครองที่ร้ายกาจจึงเริ่มต้นขึ้น เมื่ออาดามเลือกแนวทางที่จะเป็นเอกเทศจากการปกครองของพระเจ้าและปฏิเสธพระกรุณาของพระองค์อย่างสิ้นเชิง. (เยเนซิศ 3:1-6) แทนที่จะได้เป็นอิสระจริง ๆ ที่แท้อาดามกับฮาวาตกอยู่ใต้อิทธิพลอันเห็นแก่ตัวและทะนงตนของพญามาร และกลายเป็นผู้อยู่ในการปกครองของมัน.
13-15. (ก) อะไรคือผลบางประการที่ตามมาจากการปฏิเสธการปกครองอันชอบธรรมของพระยะโฮวา? (ข) เหตุใดโลกนี้จึงเป็นสถานที่ที่มีความโหดร้าย?
13 ขอให้เราพิจารณาผลบางอย่างที่ตามมา. อาดามกับฮาวาถูกขับออกจากส่วนที่เป็นอุทยานของแผ่นดินโลก. ทั้งสองเปลี่ยนสภาพจากการอยู่ในสวนเขียวชอุ่มบริบูรณ์ที่หาผักผลไม้ที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพรับประทานได้ง่ายไปเป็นสภาพที่ยากลำบากภายนอกสวนเอเดน. พระเจ้าตรัสกับอาดามดังนี้: “เพราะเหตุเจ้าได้เชื่อฟังถ้อยคำของภรรยา, แล้วกินผลไม้ที่เราห้ามว่าอย่ากินนั้น: แผ่นดินจึงต้องถูกแช่งสาปเพราะตัวเจ้า; เจ้าจะต้องหากินที่แผ่นดินด้วยความลำบากจนสิ้นชีวิต; แผ่นดินจะงอกต้นไม้ที่มีหนามให้แก่เจ้า.” การที่แผ่นดินถูกแช่งสาปหมายความว่า ตั้งแต่นี้ไปการเพาะปลูกบนแผ่นดินนั้นจะเป็นงานที่แสนลำบาก. แผ่นดินที่ถูกแช่งสาปและพืชที่มีหนามงอกขึ้นบนแผ่นดินนั้นก่อผลกระทบเยเนซิศ 3:17-19; 5:29.
แก่ลูกหลานของอาดามอย่างมากจนลาเม็คบิดาของโนฮาถึงกับเอ่ยถึง ‘ความเหน็ดเหนื่อยจากมือของพวกเขา เนื่องจากแผ่นดินที่พระเจ้าได้ทรงสาปไว้นั้น.’—14 นอกจากนี้ อาดามกับฮาวายังสูญเสียความสงบสุขไปและได้ความทุกข์เดือดร้อนมาแทน. พระเจ้าตรัสแก่ฮาวาว่า “เราจะทำให้เจ้าได้ความทุกข์ลำบากมากขึ้นในกาลเมื่อเจ้ามีครรภ์และเมื่อคลอดบุตร; เจ้าจะต้องอาศัยพึ่งสามี, และเขาจะบังคับบัญชาเจ้า.” ต่อมา คายินบุตรคนแรกของอาดามกับฮาวากระทำการฆาตกรรมเฮเบลน้องชายของตนอย่างเหี้ยมโหด.—เยเนซิศ 3:16; 4:8.
15 อัครสาวกโยฮันแถลงว่า “โลกทั้งสิ้นอยู่ในอำนาจตัวชั่วร้าย.” (1 โยฮัน 5:19, ล.ม.) เช่นเดียวกับผู้ครอบครองโลก โลกในทุกวันนี้สะท้อนถึงลักษณะนิสัยอันเลวร้ายซึ่งรวมทั้งความเห็นแก่ตัวและการทะนงตน. ไม่น่าประหลาดใจเลยที่โลกมีความโหดร้ายทารุณเหลือเกิน! แต่ก็จะไม่เป็นอย่างนี้ตลอดไป. พระยะโฮวาจะคอยดูแลให้ความเมตตากรุณามีแพร่หลายภายใต้ราชอาณาจักรของพระองค์ แทนที่จะมีความโหดร้ายทารุณ.
ความกรุณาจะมีแพร่หลายภายใต้ราชอาณาจักรของพระเจ้า
16. เหตุใดการปกครองของพระเจ้าโดยทางพระคริสต์เยซูจึงมีความกรุณาเป็นลักษณะสำคัญ และเรื่องนี้ทำให้เราสมควรที่จะต้องทำอะไร?
16 พระยะโฮวาและพระคริสต์เยซูผู้ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นกษัตริย์แห่งราชอาณาจักรทรงเรียกร้องให้บรรดาผู้อยู่ภายใต้การปกครองของพระองค์ทั้งสองเป็นที่รู้จักว่าเป็นคนกรุณา. (มีคา 6:8, ล.ม.) พระเยซูคริสต์ทำให้เราเห็นภาพล่วงหน้าในเรื่องที่ว่าการบริหารการปกครองซึ่งพระบิดาทรงมอบให้พระองค์นั้นจะมีความกรุณาเป็นลักษณะสำคัญอย่างไร. (เฮ็บราย 1:3) สิ่งนี้จะเห็นได้จากคำตรัสของพระเยซูที่เปิดโปงพวกผู้นำศาสนาเท็จ ซึ่งกดขี่ประชาชนด้วยภาระหนัก. พระองค์ตรัสว่า “บรรดาผู้ที่ทำงานหนักและมีภาระมาก จงมาหาเรา และเราจะทำให้เจ้าทั้งหลายสดชื่น. จงรับแอกของเราไว้บนเจ้าทั้งหลายและเรียนจากเรา เพราะเรามีจิตใจอ่อนโยนและหัวใจถ่อม และเจ้าจะได้ความสดชื่นสำหรับจิตวิญญาณของเจ้า. เพราะแอกของเราก็พอเหมาะและภาระของเราก็เบา.” (มัดธาย 11:28-30, ล.ม.) ผู้ปกครองจำนวนมากมายเหลือเกินในโลก ไม่ว่าจะเป็นผู้นำทางศาสนาหรือไม่ก็ตาม ทำให้ประชาชนของตนเหนื่อยอ่อนด้วยการวางกฎเกณฑ์ไม่รู้จักหยุดหย่อนและให้ทำสิ่งที่ทำไปก็สูญเปล่า. แต่สิ่งที่พระเยซูทรงเรียกร้องจากเหล่าสาวกของพระองค์นั้นเหมาะกับความจำเป็นและความสามารถของพวกเขา. นั่นช่างเป็นแอกที่พอเหมาะและให้ความสดชื่นเสียจริง ๆ! เราถูกกระตุ้นใจให้เลียนแบบพระองค์ในการแสดงความกรุณาต่อผู้อื่นมิใช่หรือ?—โยฮัน 13:15.
17, 18. เหตุใดเรามั่นใจได้ว่าผู้ที่จะปกครองร่วมกับพระคริสต์ในสวรรค์และตัวแทนของพระองค์ทางแผ่นดินโลกจะแสดงความกรุณา?
17 คำกล่าวอันน่าประทับใจซึ่งพระเยซูบอกแก่เหล่าอัครสาวกของพระองค์เน้นว่าการปกครองแห่งราชอาณาจักรของพระเจ้าต่างจากการปกครองของมนุษย์อย่างเห็นได้ชัด. คัมภีร์ไบเบิลกล่าวว่า “มีการเถียงกันในพวกเขา [เหล่าสาวก] ว่าใครจะนับว่าเป็นใหญ่. พระองค์จึงตรัสแก่ลูกา 22:24-27.
เขาว่า, ‘กษัตริย์ของชาวต่างประเทศย่อมกดขี่บังคับบัญชาเขา และผู้ที่มีอำนาจเหนือเขานั้นเขาเรียกว่าเจ้าคุณ. แต่พวกท่านจะหาเป็นอย่างนั้นไม่ แต่ผู้ใดในพวกท่านที่เป็นพี่, ให้ผู้นั้นเป็นเหมือนน้อง และผู้ใดเป็นนาย, ให้ผู้นั้นเป็นเหมือนคนรับใช้. ด้วยว่าใครเป็นใหญ่กว่า, ผู้ที่นั่งโต๊ะหรือผู้รับใช้, ผู้ที่นั่งโต๊ะมิใช่หรือ แต่ว่าเราอยู่ท่ามกลางท่านทั้งหลายเหมือนผู้รับใช้.’ ”—18 ผู้ปกครองที่เป็นมนุษย์พยายามสร้างความเป็นใหญ่ให้ตนเองด้วยการ “กดขี่บังคับบัญชา” ประชาชนและแสวงหาอิสริยยศ ราวกับว่ายศศักดิ์เหล่านั้นจะทำให้พวกเขาเหนือกว่าผู้ที่เขาปกครอง. แต่พระเยซูตรัสว่าความเป็นใหญ่ที่แท้จริงมาจากการรับใช้ผู้อื่น คือมุ่งมั่นที่จะรับใช้ผู้อื่นด้วยความอุตสาหะไม่ละลด. คนเหล่านั้นทุกคนที่จะปกครองร่วมกับพระคริสต์ในสวรรค์หรือทำหน้าที่เป็นตัวแทนของพระองค์ทางแผ่นดินโลกต้องพยายามติดตามตัวอย่างของพระองค์ในเรื่องความถ่อมใจและความกรุณา.
19, 20. (ก) พระเยซูแสดงให้เห็นอย่างไรถึงขอบเขตแห่งพระกรุณาของพระยะโฮวา? (ข) เราจะเลียนแบบพระยะโฮวาได้อย่างไรในการแสดงความกรุณา?
19 ขอเราพิจารณาคำแนะนำด้วยความรักอีกประการหนึ่งที่พระเยซูประทานให้. พระเยซูแสดงให้เห็นถึงขอบเขตแห่งพระกรุณาของพระยะโฮวา โดยตรัสว่า “แม้ว่าท่านทั้งหลายรักผู้ที่รักท่าน จะทรงนับว่าเป็นคุณอะไรแก่ท่าน ถึงแม้คนบาปก็ยังรักผู้ที่รักเขาเหมือนกัน ถ้าท่านทั้งหลายทำดีแก่ผู้ที่ทำดีแก่ท่าน จะทรงนับว่าเป็นคุณอะไรแก่ท่าน เพราะว่าคนบาปก็กระทำเหมือนกัน ถ้าท่านทั้งหลายให้ยืมเฉพาะแต่ผู้ที่ท่านหวังจะได้คืนจากเขาอีก จะทรงนับว่าเป็นคุณอะไรแก่ท่าน ถึงแม้คนบาปก็ยังให้คนบาปยืม โดยหวังว่าจะได้รับคืนจากเขาเท่ากัน แต่จงรักศัตรูของท่านทั้งหลาย และทำการดีต่อเขา จงให้เขายืมโดยไม่หวังที่จะได้คืนอีก บำเหน็จของท่านทั้งหลายจึงจะมีบริบูรณ์ และท่านทั้งหลายจะเป็นบุตรของพระเจ้าสูงสุด เพราะว่าพระองค์ยังทรงโปรด [“กรุณา,” ล.ม.] แก่คนอกตัญญูและคนชั่ว ท่านทั้งหลายจงมีความเมตตากรุณา เหมือนอย่างพระบิดาของท่านมีพระทัยเมตตากรุณา.”—ลูกา 6:32-36, ฉบับแปลใหม่.
20 ความกรุณาอย่างพระเจ้าไม่เห็นแก่ตัว. ความกรุณาอย่างพระเจ้าไม่ได้เรียกร้องหรือคาดหมายสิ่งใดเป็นการตอบแทน. ด้วยพระกรุณา พระยะโฮวา “ทรงบันดาลให้ดวงอาทิตย์ขึ้นส่องสว่างแก่คนดีและคนชั่ว และให้ฝนตกแก่คนชอบธรรมและคนอธรรม.” (มัดธาย 5:43-45; กิจการ 14:) โดยการเลียนแบบอย่างพระบิดาฝ่ายสวรรค์ของเรา เราไม่เพียงแต่จะไม่ทำการร้ายต่อผู้ที่อกตัญญู แต่จะทำการดีต่อเขา แม้แต่กับคนที่แสดงตัวว่าเป็นศัตรูของเรา. ด้วยการแสดงความกรุณา เราแสดงให้พระยะโฮวาและพระเยซูเห็นว่าเราปรารถนาที่จะมีชีวิตอยู่ภายใต้การปกครองแห่งราชอาณาจักรของพระเจ้า เมื่อความกรุณาและคุณลักษณะอื่น ๆ อย่างพระเจ้าจะปรากฏในความสัมพันธ์ทั้งสิ้นท่ามกลางมนุษย์. 16, 17
ทำไมเราควรแสดงความกรุณา?
21, 22. ทำไมเราควรแสดงความกรุณา?
21 การแสดงความกรุณานับว่าสำคัญเป็นพิเศษสำหรับคริสเตียนแท้. นั่นเป็นหลักฐานว่าพระวิญญาณของพระเจ้ากระทำกิจในตัวเรา. ยิ่งกว่านั้น เมื่อเราแสดงความกรุณาแท้ เราเลียนแบบพระยะโฮวาพระเจ้าและพระคริสต์เยซู. ความกรุณายังเป็นข้อเรียกร้องสำหรับผู้ที่จะเป็นราษฎรแห่งราชอาณาจักรของพระเจ้าด้วย. เพราะฉะนั้น เราต้องรักความกรุณาและเรียนรู้ที่จะแสดงคุณลักษณะดังกล่าว.
22 ในภาคปฏิบัติ มีทางใดบ้างที่เราสามารถแสดงความกรุณาในชีวิตประจำวัน? บทความถัดไปจะพิจารณาเรื่องนี้.
คุณจะตอบอย่างไร?
• ความกรุณาคืออะไร?
• เหตุใดโลกจึงเป็นสถานที่ที่มีความโหดร้ายทารุณ?
• เราทราบได้อย่างไรว่าความกรุณาจะมีแพร่หลายภายใต้การปกครองของพระเจ้า?
• ทำไมการแสดงความกรุณาจึงเป็นเรื่องสำคัญสำหรับผู้ที่ปรารถนาจะมีชีวิตอยู่ภายใต้ราชอาณาจักรของพระเจ้า?
[คำถาม]
[ภาพหน้า 13]
คริสเตียนผู้ปกครองพยายามเป็นคนกรุณาเมื่อปฏิบัติต่อฝูงแกะ
[ภาพหน้า 15]
ความกรุณารักใคร่ของพระยะโฮวาจะไม่ทำให้ผู้รับใช้ของพระองค์ผิดหวังเมื่อประสบความยากลำบาก
[ภาพหน้า 16]
ด้วยพระกรุณา พระยะโฮวาทรงให้ดวงอาทิตย์ส่องสว่างและให้ฝนตกแก่มนุษย์ทุกคน