คุณถือว่าเพื่อนร่วมความเชื่อที่สูงอายุมีค่าไหม?
คุณถือว่าเพื่อนร่วมความเชื่อที่สูงอายุมีค่าไหม?
เมื่อประชาชนแห่งอิสราเอลโบราณได้เข้าสู่สัมพันธภาพทางสัญญาไมตรีกับพระเจ้า พวกเขาได้รับพระบัญชาให้ “คำนับคนผมหงอกและนับถือคนแก่, และเกรงกลัวพระเจ้า.” (เลวีติโก 19:32) ด้วยเหตุนี้ การนับถือผู้สูงอายุจึงเป็นหน้าที่อันศักดิ์สิทธิ์ที่เกี่ยวข้องกับการยอมอยู่ใต้อำนาจพระเจ้า. แม้ว่าคริสเตียนในปัจจุบันไม่อยู่ใต้พระบัญญัติของโมเซอีกแล้ว แต่ข้อนี้ก็ช่วยเตือนใจเราว่า พระยะโฮวาทรงถือว่าผู้สูงอายุซึ่งรับใช้พระองค์มีค่าและเป็นที่รัก. (สุภาษิต 16:31; เฮ็บราย 7:18) เราสะท้อนทัศนะของพระยะโฮวาไหม? เราถือว่าพี่น้องชายหญิงคริสเตียนที่สูงอายุของเรามีค่าไหม?
ท่านถือว่าเพื่อนผู้สูงอายุของท่านมีค่า
เรื่องราวหนึ่งในคัมภีร์ไบเบิลที่แสดงให้เห็นเด่นชัดในเรื่องการนับถือผู้สูงอายุพบได้ในพระธรรมพงศาวดารกษัตริย์ฉบับสอง. ที่นั่นได้พรรณนาว่าผู้พยากรณ์อะลีซาซึ่งอายุน้อยกว่าสืบตำแหน่งต่อจากผู้พยากรณ์เอลียาได้อย่างไร. ขอให้พิจารณาว่าเกิดอะไรขึ้นในช่วงสุดท้ายของเอลียาในฐานะผู้พยากรณ์ในอาณาจักรอิสราเอลสิบตระกูล.
ในเวลานั้น ผู้พยากรณ์สูงอายุได้รับการชี้นำจากพระยะโฮวาให้เดินทางจากกิลกาล (ฆีละฆาล) ไปยังเบทเอล จากเบทเอลไปยังเยริโค และจากเยริโคไปยังแม่น้ำจอร์แดน. (2 กษัตริย์ 2:1, 2, 4, 6) ตลอดช่วงการเดินทางประมาณ 50 กิโลเมตร เอลียาเร่งเร้าให้อะลีซาเลิกติดตามท่านถึงสามครั้ง. อย่างไรก็ตาม เช่นเดียวกับหลายศตวรรษก่อนที่รูธปฏิเสธอย่างหนักแน่นที่จะไปจากนางนาอะมี อะลีซาก็ปฏิเสธที่จะไปจากผู้พยากรณ์สูงอายุเช่นเดียวกัน. (ประวัตินางรูธ 1:16, 17) อะลีซากล่าวถึงสามครั้งว่า “พระยะโฮวาทรงพระชนม์อยู่, และจิตต์ใจของท่านมีชีวิตอยู่แน่ฉันใด, ข้าพเจ้าจะไม่ละทิ้งท่านแน่ฉันนั้น.” (2 กษัตริย์ 2:2, 4, 6) ในขณะนั้นอะลีซาอยู่ช่วยเอลียาแล้วประมาณหกปี. กระนั้น ท่านก็ยังคงปรารถนาจะทำงานรับใช้ร่วมกับเอลียาให้นานเท่าที่เป็นไปได้. ที่จริง บันทึกนั้นเสริมว่า “และอยู่มาเมื่อท่านทั้งสองยังเดินพูดกันต่อไป ดูเถิด . . . เอลียาได้ขึ้นไป.” (ข้อ 11, ฉบับแปลใหม่) เอลียาและอะลีซาได้สนทนากันจนกระทั่งช่วงท้ายที่สุดแห่งงานรับใช้ของเอลียาในอิสราเอล. ปรากฏชัดว่า ผู้พยากรณ์ที่อายุน้อยกว่ากระตือรือร้นที่จะซึมซับเอาคำสอนและการหนุนใจให้มากเท่าที่เป็นไปได้จากผู้ที่สูงวัยกว่า ซึ่งเป็นผู้พยากรณ์ที่มีประสบการณ์มากกว่า. เป็นที่แน่ชัดว่า ท่านถือว่าเพื่อนผู้สูงอายุของท่านมีค่ามาก.
‘เป็นเหมือนบิดาและมารดา’
ไม่ใช่เรื่องยากที่จะเข้าใจว่าทำไมอะลีซาจึงรักผู้พยากรณ์สูงอายุเหมือนเพื่อน—หรือกระทั่งเหมือนบิดาฝ่ายวิญญาณ. (2 กษัตริย์ 2:12) ก่อนงานมอบหมายของเอลียาในอิสราเอลจะเสร็จสิ้นลง ท่านกล่าวกับอะลีซาว่า “สิ่งอะไรซึ่งท่านจะให้ฉันทำสำหรับท่าน, จงขอเถิด, ก่อนที่ฉันจะถูกรับไปจากท่าน.” (ข้อ 9) จวบจนช่วงท้ายสุดทีเดียว เอลียาแสดงให้เห็นว่าท่านห่วงใยสวัสดิภาพฝ่ายวิญญาณของผู้ที่จะสืบตำแหน่งต่อจากท่านและเป็นห่วงเรื่องการสานต่องานของพระเจ้า.
ในทุกวันนี้ เป็นเรื่องอบอุ่นใจที่เห็นความห่วงใยแบบบิดาและมารดาอย่างเดียวกันนี้ท่ามกลางพี่น้องชายหญิงคริสเตียนสูงอายุ ซึ่งเต็มใจแบ่งปันความรู้และสติปัญญาให้แก่ผู้ที่อ่อนวัยกว่า. ตัวอย่างเช่น อาสาสมัครที่ทำงานรับใช้มานานในสำนักงานสาขาของพยานพระยะโฮวา ยินดีที่จะช่วยสมาชิกใหม่ของครอบครัวเบเธลให้มีความชำนาญตามที่จำเป็นเพื่อจะทำงานรับใช้ของเขาได้. เช่นเดียวกับผู้ดูแลเดินทางและภรรยาของเขาที่เยี่ยมประชาคมต่าง ๆ มานานหลายปี ยินดีที่จะแบ่งปันประสบการณ์ที่สั่งสมมานานให้แก่คนที่ถูกฝึกให้รับใช้เป็นผู้ดูแลเดินทาง. ยิ่งกว่านั้น ในประชาคมต่าง ๆ ของพยานพระยะโฮวาตลอดทั่วโลก มีพี่น้องชายหญิงสูงอายุที่รับใช้พระยะโฮวาอย่างซื่อสัตย์มานานหลายสิบปี ซึ่งก็ยินดีที่จะแบ่งปันสติปัญญาที่ใช้การได้จริงและประสบการณ์ให้สมาชิกใหม่ ๆ ของประชาคม.—สุภาษิต 2:7; ฟิลิปปอย 3:17; ติโต 2:3-5.
ความเป็นห่วงอย่างจริงใจที่คริสเตียนสูงอายุที่รักเหล่านี้แสดงออก ทำให้การที่เราจะแสดงความนับถือต่อพวกเขาเป็นเรื่องที่น่ายินดีอย่างแท้จริง. ด้วยเหตุนี้ เราจึงปรารถนาที่จะเลียนแบบตัวอย่างของอะลีซาในการแสดงความหยั่งรู้ค่าอย่างสุดซึ้งต่อเพื่อนร่วมความเชื่อที่สูงอายุ. ดังที่อัครสาวกเปาโลเตือนใจเราไว้ ให้เราปฏิบัติต่อ “ชายสูงอายุ . . . เหมือนเป็นบิดา” และ “ผู้หญิงสูงอายุเหมือนเป็นมารดา” ต่อ ๆ ไป. (1 ติโมเธียว 5:1, 2, ล.ม.) โดยการทำเช่นนี้ เรามีส่วนช่วยอย่างมากให้ประชาคมคริสเตียนตลอดทั่วโลกดำเนินงานได้อย่างเหมาะสมและก้าวหน้าต่อไป.
[ภาพหน้า 30]
อะลีซาปรารถนาจะทำงานรับใช้ร่วมกับเอลียาให้นานเท่าที่เป็นไปได้
[ภาพหน้า 31]
ผู้ที่อ่อนวัยกว่าได้รับประโยชน์มากจากคริสเตียนสูงอายุ