เราจะดำเนินในพระนามของพระยะโฮวาตลอดไป!
เราจะดำเนินในพระนามของพระยะโฮวาตลอดไป!
“เราจะดำเนินในพระนามของพระยะโฮวาพระเจ้าของเราจนถึงเวลาไม่กำหนด ตลอดไปเป็นนิตย์.”—มีคา 4:5, ล.ม.
1. ข่าวสารอะไรที่มีการกล่าวไว้ในพระธรรมมีคาบท 3 ถึง บท 5?
พระยะโฮวามีบางสิ่งจะบอกประชาชนของพระองค์ และพระองค์ทรงใช้มีคาให้เป็นผู้พยากรณ์. พระเจ้าทรงประสงค์จะจัดการกับผู้กระทำผิด. พระองค์ตั้งพระทัยจะลงโทษอิสราเอลเนื่องจากการออกหากของพวกเขา. แต่น่ายินดีที่พระยะโฮวาจะทรงอวยพรผู้ที่ดำเนินในพระนามของพระองค์. ข่าวสารเหล่านี้มีกล่าวไว้อย่างชัดเจนในบท 3 ถึงบท 5 ของคำพยากรณ์ของมีคา.
2, 3. (ก) พวกผู้นำอิสราเอลน่าจะสำแดงคุณลักษณะอะไร แต่จริง ๆ แล้ว พวกเขากำลังทำอะไร? (ข) คุณจะอธิบายภาพพจน์ที่ใช้กล่าวเปรียบเทียบในมีคา 3:2, 3 อย่างไร?
2 ผู้พยากรณ์ของพระเจ้าประกาศว่า “ท่านทั้งหลายผู้เป็นประมุขของยาโคบ คือบรรดาผู้ครอบครองพงศ์พันธุ์อิสราเอล จงฟัง ท่านทั้งหลายต้องทราบความยุติธรรมไม่ใช่หรือ?” ใช่แล้ว! พวกเขาน่าจะทราบเรื่องความยุติธรรม แต่จริง ๆ แล้ว พวกเขากำลังทำอะไร? มีคากล่าวว่า “ท่านทั้งหลายผู้เกลียดชังความดีและรักความชั่ว ผู้ที่ฉีกหนังออกจากประชาชนของเรา และฉีกเนื้อออกจากกระดูกของเขาทั้งหลาย; ผู้ที่กินเนื้อแห่งชนชาติของเราและถลกหนังออกจากตัวเขาทั้งหลาย และหักกระดูกของเขาเป็นท่อน ๆ และสับเป็นชิ้น ๆ เหมือนเนื้อที่อยู่ในหม้อ เหมือนเนื้อที่อยู่ในหม้อทะนน [“หม้อหุงต้ม,” ล.ม.].”—มีคา 3:1-3, ฉบับแปลใหม่.
3 เหลือเชื่อจริง ๆ พวกผู้นำกำลังกดขี่ประชาชนผู้ยากไร้ และไร้ทางสู้! คนที่ฟังมีคาจะเข้าใจภาพพจน์ที่ท่านใช้ในที่นี้ได้ไม่ยาก. เพื่อจะเตรียมต้มแกะที่ฆ่าแล้ว ต้องถลกหนังของมันออกก่อน แล้วสับแกะเป็นชิ้น ๆ. บางครั้งจะทุบกระดูกให้แตกเพื่อให้ไขกระดูกไหลออก. แล้วต้มทั้งเนื้อและกระดูกด้วยกันในหม้อใบใหญ่คล้าย ๆ กับหม้อที่มีคากล่าวถึง. (ยะเอศเคล 24:3-5, 10) นี่เป็นตัวอย่างเปรียบเทียบที่เหมาะจริง ๆ ในเรื่องการปฏิบัติอย่างทารุณโหดร้ายต่อประชาชนในสมัยมีคาด้วยน้ำมือของพวกผู้นำที่ชั่วช้าของพวกเขา!
พระยะโฮวาทรงเรียกร้องให้เราสำแดงความยุติธรรม
4. มีความแตกต่างอะไรระหว่างพระยะโฮวากับผู้นำอิสราเอล?
4 มีความแตกต่างที่เด่นชัดระหว่างพระยะโฮวาซึ่งเป็นผู้เลี้ยงแกะที่เปี่ยมด้วยความรักกับพวกผู้นำอิสราเอล. เนื่องจากพวกเขาไม่สำแดงความยุติธรรม พวกเขาจึงไม่ได้ทำหน้าที่มอบหมายของตนในการปกป้องฝูงแกะ. แทนที่จะทำเช่นนั้น พวกเขากลับแสวงหาประโยชน์จากฝูงแกะโดยนัยนี้อย่างเห็นแก่ตัว, ไม่ให้ความยุติธรรมแก่ฝูงแกะ, และทำให้แกะ “โลหิตตก” อย่างที่กล่าวไว้ในมีคา 3:10 (ล.ม.). พวกเราอาจเรียนอะไรได้จากเรื่องนี้?
5. พระยะโฮวาทรงเรียกร้องอะไรจากผู้นำหน้าท่ามกลางประชาชนของพระองค์?
5 พระเจ้าทรงเรียกร้องให้ผู้นำหน้าท่ามกลางประชาชนของพระองค์สำแดงความยุติธรรม. เราพบว่าเป็นเช่นนั้นจริงท่ามกลางผู้รับใช้ของพระยะโฮวาในปัจจุบัน. นอกจากนั้น เรื่องนี้สอดคล้องกับยะซายา 32:1 ซึ่งอ่านว่า “นี่แน่ะ, กษัตริย์จะทรงราชย์ตั้งอยู่ในความชอบธรรม, และเจ้านายพลเมืองจะปกครองด้วยความยุติธรรม.” แต่เราพบอะไรในสมัยของมีคา? เราพบว่า “ผู้เกลียดชังความดีและรักความชั่ว” บิดเบือนความยุติธรรมอยู่ไม่หยุดหย่อน.
คำอธิษฐานของใครได้คำตอบ?
6, 7. จุดสำคัญอะไรที่มีการเน้นในมีคา 3:4?
6 ผู้คนที่ชั่วช้าในสมัยมีคาคาดหมายได้ไหมว่าพระยะโฮวาจะทรงโปรดปรานพวกเขา? ไม่มีทาง! มีคา 3:4 กล่าวดังนี้: “เขาพวกนั้นจะร้องทุกข์ขอพระยะโฮวาช่วย, แต่พระองค์ จะไม่ทรงตอบเขาเลย; เออ, คราวนั้นพระองค์จะทรงซ่อนพระพักตร์ของพระองค์เสียจากเขา, ให้สมกับการกระทำอันชั่วร้ายของเขา.” ข้อนี้เน้นจุดที่สำคัญมากจุดหนึ่ง.
7 พระยะโฮวาจะไม่ตอบคำอธิษฐานของเราถ้าเราทำบาป. จะเป็นอย่างนั้นแน่นอนถ้าเราดำเนินชีวิตแบบตีสองหน้า ปิดบังความผิดของเราขณะที่แสร้งทำเป็นรับใช้พระเจ้าอย่างซื่อสัตย์. ตามบทเพลงสรรเสริญ 26:4 (ล.ม.) ดาวิดร้องเพลงดังนี้: “ข้าพเจ้าไม่ได้นั่งกับคนอสัตย์; และข้าพเจ้าไม่เข้าไปเกี่ยวข้องกับคนอำพรางตัว.” ยิ่งกว่านั้นสักเท่าไรที่พระยะโฮวาจะไม่ตอบคำอธิษฐานของคนที่จงใจฝ่าฝืนพระคำของพระองค์!
ได้รับกำลังโดยทางพระวิญญาณของพระเจ้า
8. ผู้พยากรณ์เท็จสมัยมีคาได้รับการเตือนเรื่องอะไร?
8 กิจปฏิบัติที่ชั่วช้าบางอย่างนั้นแพร่หลายท่ามกลางพวกผู้นำศาสนาของอิสราเอลอย่างแท้จริง! ผู้พยากรณ์เท็จทำให้ประชาชนของพระเจ้าหลงทางฝ่ายวิญญาณ. พวกผู้นำศาสนาที่มักโลภเหล่านี้ร้องว่า “จงเป็นสุขเถิด!” แต่ที่แท้แล้วประกาศสงครามต่อผู้ที่ไม่ยื่นอะไรใส่ปากของเขา. พระยะโฮวาจึงตรัสดังนี้: “เพราะฉะนั้น จะเป็นกลางคืนแก่เจ้า ปราศจากนิมิต, และความมืดทึบจะบังเกิดแก่เจ้า ปราศจากการทำนาย สำหรับพวกผู้เผยพระวจนะนี้ ดวงอาทิตย์จะตกไป และกลางวันก็จะมืดอยู่เหนือเขา ผู้เห็นนิมิตจะขายหน้า ผู้ทำนายจะอับอาย. เขาทั้งหลายจะปิดปาก [“หนวด,” ล.ม.].”—มีคา 3:5-7ก, ฉบับแปลใหม่.
9, 10. ‘การปิดหนวด’ เป็นการแสดงถึงอะไร และทำไมมีคาไม่จำเป็นต้องทำเช่นนั้น?
9 ทำไมต้อง “ปิดหนวด”? นั่นเป็นท่าทางที่คนชั่วในสมัยมีคาทำกันเมื่อรู้สึกอับอาย. และก็สมควรแล้วที่คนชั่วเหล่านั้นจะอับอาย. “ไม่มีคำตอบมาจากพระเจ้า” สำหรับพวกเขา. (มีคา 3:7ข, ฉบับแปลใหม่) พระยะโฮวาไม่สนพระทัยคำอธิษฐานของคนชั่วที่เย่อหยิ่งไม่ว่าคนใด.
10 แต่มีคาไม่จำเป็นต้อง “ปิดหนวด.” ท่านไม่ได้อับอาย. พระยะโฮวาทรงตอบคำอธิษฐานของท่าน. โปรดสังเกตที่มีคา 3:8 (ฉบับแปลใหม่) ซึ่งท่านผู้พยากรณ์ที่ซื่อสัตย์กล่าวว่า “แต่สำหรับข้าพเจ้า ข้าพเจ้าเต็มด้วยฤทธิ์เดช คือด้วยพระวิญญาณของพระเจ้า และทั้งความยุติธรรมกับกำลัง.” มีคารู้สึกขอบคุณจริง ๆ ที่ตลอดเวลายาวนานที่ท่านรับใช้อย่างซื่อสัตย์นั้น ท่าน “เต็มด้วยฤทธิ์เดช คือด้วยพระวิญญาณของพระเจ้า” เสมอ! นั่นเป็นเหตุที่ท่านมีกำลังเพื่อจะ “ประกาศการทรยศของยาโคบแก่เขาเอง และประกาศบาปของอิสราเอลแก่เขาเอง.”
11. คนเราจะได้รับกำลังอย่างไรเพื่อประกาศข่าวสารจากพระเจ้า?
11 มีคาจำเป็นต้องมีกำลังมากกว่าที่มนุษย์ทั่วไปมีเพื่อจะประกาศข่าวสารการพิพากษาลงโทษจากพระเจ้า. พระวิญญาณของพระยะโฮวา หรือพลังปฏิบัติการอันทรงพลังของพระองค์เป็นสิ่งจำเป็น. แล้วพวกเราล่ะ? งานประกาศที่เราได้รับมอบหมายจะสำเร็จได้ก็ต่อเมื่อพระยะโฮวาทรงเสริมกำลังเราโดยทางพระวิญญาณบริสุทธิ์ของพระองค์เท่านั้น. งานประกาศของเราจะไม่สำเร็จอย่างแน่นอนหากเราจงใจทำบาป. เพราะถ้าเป็นอย่างนั้น พระเจ้าคงจะไม่ตอบคำอธิษฐานที่เราทูลขอกำลังสำหรับงานนี้. เราไม่มีทางประกาศข่าวสารการพิพากษาของพระบิดาของเราผู้สถิตในสวรรค์ได้ หาก “พระวิญญาณของพระเจ้า” ไม่อยู่กับเรา. โดยทางคำอธิษฐานซึ่งได้รับการสดับฟังและด้วยความช่วยเหลือจากพระวิญญาณบริสุทธิ์ เราจึงสามารถประกาศพระคำของพระเจ้าด้วยความกล้าหาญเช่นเดียวกับมีคา.
12. ทำไมสาวกในยุคแรกของพระเยซูจึงสามารถ ‘กล่าวคำของพระองค์ต่อไปด้วยใจกล้า’?
กิจการ 4:23-31 ได้. ลองนึกภาพว่าคุณเป็นคนหนึ่งในเหล่าสาวกของพระเยซูในศตวรรษแรก. พวกผู้ข่มเหงที่บ้าคลั่งพยายามทำให้เหล่าสาวกของพระคริสต์หยุดประกาศ. แต่ผู้ภักดีเหล่านี้ทูลอธิษฐานพระผู้เป็นเจ้าองค์บรมมหิศรว่า “พระองค์เจ้าข้า, ขอโปรดทอดพระเนตรการขู่ของเขา, และโปรดประทานให้ผู้ทาสของพระองค์กล่าวถ้อยคำของพระองค์ด้วยใจกล้า.” ผลเป็นอย่างไร? เมื่อพวกเขาอธิษฐานแล้ว ที่ซึ่งพวกเขาประชุมอยู่นั้นได้หวั่นไหว และพวกเขาเหล่านั้นประกอบด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์และกล่าวคำของพระเจ้าด้วยใจกล้าหาญ. ดังนั้น ขอให้เราหมายพึ่งพระยะโฮวาโดยการอธิษฐานและพึ่งความช่วยเหลือจากพระองค์โดยทางพระวิญญาณบริสุทธิ์ขณะที่เราทำงานรับใช้ให้สำเร็จ.
12 บางทีคุณจำเรื่องราวที่13. จะเกิดอะไรขึ้นกับเยรูซาเลมและซะมาเรีย และเพราะเหตุใด?
13 ขอให้เรากลับไปพิจารณาสมัยของมีคาอีกครั้ง. ตามที่มีคา 3:9-12 (ฉบับแปลใหม่) กล่าว พวกผู้ปกครองที่มีความผิดฐานทำให้โลหิตตกตัดสินความด้วยเห็นแก่สินบน, ปุโรหิตสั่งสอนด้วยเห็นแก่สินจ้าง, และพวกผู้พยากรณ์ทำนายด้วยเห็นแก่เงิน. จึงไม่น่าประหลาดใจที่พระเจ้าทรงพิพากษาเยรูซาเลม นครหลวงของยูดาห์ว่า “จะกลายเป็นกองสิ่งสลักหักพัง”! เนื่องจากการนมัสการเท็จและความเสื่อมทางศีลธรรมแพร่หลายในอิสราเอลเช่นกัน มีคาจึงได้รับการดลใจให้ประกาศเตือนว่าพระเจ้าจะทำให้กรุงซะมาเรียเป็น “กองสิ่งสลักหักพัง.” (มีคา 1:6, ฉบับแปลใหม่) ที่จริง ท่านผู้พยากรณ์มีชีวิตอยู่จนได้เห็นความพินาศของซะมาเรียตามที่บอกไว้ล่วงหน้า ซึ่งเกิดขึ้นโดยกองทัพอัสซีเรียในปี 740 ก่อน ส.ศ. (2 กษัตริย์ 17:5, 6; 25:1-21) เห็นได้ชัดว่าข่าวสารอันทรงพลังที่พิพากษาเยรูซาเลมและซะมาเรียจะประกาศได้ก็ต่อเมื่อได้รับกำลังจากพระยะโฮวาเท่านั้น.
14. คำพยากรณ์ที่บันทึกไว้ในมีคา 3:12 สำเร็จสมจริงอย่างไร และเรื่องนี้ควรมีผลกระทบต่อเราอย่างไร?
14 ยูดาห์จะหนีไม่พ้นการพิพากษาลงโทษจากพระยะโฮวาอย่างแน่นอน. ในความสำเร็จเป็นจริงของคำพยากรณ์ตามที่บันทึกไว้ในมีคา 3:12 ซีโอนจะถูก “ไถเหมือนไถนา.” จากมุมมองของเราในศตวรรษที่ 21 เราทราบว่าสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นเมื่อชาวบาบิโลนบุกทำลายยูดาห์และเยรูซาเลมจนย่อยยับในปี 607 ก่อน ส.ศ. เหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นหลังจากมีคาพยากรณ์ไปแล้วกว่าศตวรรษ แต่ท่านก็มั่นใจว่าเหตุการณ์นั้นจะเกิดขึ้น. แน่ล่ะ เราควรมั่นใจเช่นเดียวกันว่าระบบชั่วในปัจจุบันจะถึงจุดจบใน “วันของพระยะโฮวา” ที่บอกไว้ล่วงหน้า.—2 เปโตร 3:11, 12, ล.ม.
พระยะโฮวาจัดการเรื่องราวให้เรียบร้อย
15. คุณจะพรรณนาคำพยากรณ์ตามที่บันทึกไว้ในมีคา 4:1-4 โดยใช้คำพูดของคุณเองอย่างไร?
15 เมื่อมองย้อนกลับไป เราเห็นว่าต่อจากนั้น มีคาประกาศข่าวสารเกี่ยวกับความหวังอันน่าตื่นเต้น. ถ้อยคำที่เราพบในมีคา 4:1-4 (ล.ม.) นั้นช่างให้กำลังใจจริง ๆ! บางส่วนของข้อเหล่านั้น มีคากล่าวว่า “ในช่วงสุดท้ายแห่งสมัยจะต้องเป็นไปดังนี้ ภูเขาแห่งราชนิเวศของพระยะโฮวาจะถูกตั้งขึ้นอย่างมั่นคงเหนือยอดภูเขาทั้งหลาย และจะถูกยกขึ้นเหนือเขาทั้งปวงเป็นแน่; และชนชาติทั้งหลายจะหลั่งไหลไปที่นั่น. . . . และพระองค์จะทรงตัดสินความท่ามกลางหลายชนชาติอย่างแน่นอน และจัดการเรื่องราวอันเกี่ยวข้องกับชาติต่าง ๆ ที่เข้มแข็งที่อยู่ห่างไกลให้เรียบร้อย. และเขาทั้งหลายจะต้องตีดาบของตนเป็นผาลและตีหอกของตนเป็นพร้าขอ. ชาติจะไม่ยกดาบขึ้นต่อสู้ชาติ และพวกเขาจะไม่เรียนการสงครามอีกต่อไป. และพวกเขาแต่ละคนจะนั่งอยู่ใต้เถาองุ่นและใต้ต้นมะเดื่อของเขา และจะไม่มีใครทำให้เขาหวาดกลัว ด้วยว่าพระโอษฐ์ของพระยะโฮวาแห่งพลโยธาตรัสไว้ดังนั้น.”
16, 17. มีคา 4:1-4 กำลังสำเร็จเป็นจริงอย่างไรในปัจจุบัน?
16 ใครคือ “หลายชนชาติ” และ “ชาติต่าง ๆ ที่เข้มแข็ง” ตามที่กล่าวในคำพยากรณ์? พวกเขาไม่ใช่ชาติหรือรัฐบาลต่าง ๆ ในโลกนี้. แทนที่จะเป็นเช่นนั้น คำพยากรณ์ดังกล่าวใช้กับปัจเจกบุคคลที่ออกมาจากทุกชาติ ซึ่งกำลังถวายการรับใช้อันศักดิ์สิทธิ์อย่างเป็นเอกภาพร่วมกันบนภูเขาแห่งการนมัสการแท้ของพระยะโฮวาอยู่ในขณะนี้.
17 สอดคล้องกับคำพยากรณ์ของมีคา การนมัสการพระยะโฮวาอย่างบริสุทธิ์จะมีไปทั่วโลกในความหมายที่ครบถ้วนในอีกไม่ช้า. ในปัจจุบัน ผู้คน “ที่มีความโน้มเอียงอย่างถูกต้องเพื่อชีวิตนิรันดร์” กำลังได้รับการสอนตามแนวทางของพระยะโฮวา. (กิจการ 13:48, ล.ม.) พระยะโฮวากำลังทำการตัดสินและจัดการเรื่องราวต่าง ๆ ให้เรียบร้อยทางฝ่ายวิญญาณ เพื่อเหล่าผู้เชื่อถือที่ให้การสนับสนุนราชอาณาจักร. คนเหล่านี้จะรอดผ่าน “ความทุกข์ลำบากครั้งใหญ่” ในฐานะเป็นส่วนของ “ชนฝูงใหญ่.” (วิวรณ์ 7:9, 14, ล.ม.) เนื่องจากพวกเขาตีดาบเป็นผาลไถนาแล้ว พวกเขาจึงอยู่อย่างสันติสุขกับเพื่อนพยานพระยะโฮวาและกับผู้อื่น แม้แต่ในทุกวันนี้. ช่างน่ายินดีจริง ๆ ที่ได้อยู่ท่ามกลางพวกเขา!
ตั้งใจแน่วแน่จะดำเนินในพระนามของพระยะโฮวา
18. อะไรคือความหมายโดยนัยของ ‘การนั่งอยู่ใต้เถาองุ่นและใต้ต้นมะเดื่อของตน’?
18 ในสมัยของเราซึ่งความกลัวแผ่คลุมทั่วแผ่นดินโลกเหมือนเมฆดำทะมึน เรารู้สึกตื่นเต้นดีใจที่หลายคนกำลังเรียนรู้วิถีทางของพระยะโฮวา. เราเฝ้าคอยเวลาที่จวนจะมาถึง เมื่อทุกคนที่รักพระเจ้าจะไม่ศึกษายุทธศาสตร์อีกต่อไป แต่จะนั่งใต้เถาองุ่นและต้นมะเดื่อของตน. ต้นมะเดื่อมักปลูกในสวนองุ่น. (ลูกา 13:6) การนั่งใต้เถาองุ่นและต้นมะเดื่อของตนแสดงถึงสภาพที่สงบสุข, รุ่งเรือง, และปลอดภัย. แม้แต่ในปัจจุบัน การที่เรามีสัมพันธภาพกับพระยะโฮวาทำให้เรามีจิตใจสงบและความปลอดภัยฝ่ายวิญญาณ. เมื่อสภาพการณ์เหล่านั้นมีอยู่ภายใต้การปกครองแห่งราชอาณาจักร เราจะไม่กลัวและรู้สึกปลอดภัยอย่างเต็มที่.
19. การดำเนินในพระนามของพระยะโฮวาหมายความอย่างไร?
19 เพื่อจะได้รับความโปรดปรานและพระพรจากพระเจ้า เราต้องดำเนินในพระนามของพระยะโฮวา. มีการกล่าวถึงเรื่องนี้อย่างมีพลังที่มีคา 4:5 (ล.ม.) ซึ่งท่านผู้พยากรณ์ประกาศว่า “ประชาชนทั้งสิ้น ต่างก็จะดำเนินในนามแห่งพระเจ้าของเขา; แต่ส่วนเราจะดำเนินในพระนามของพระ ยะโฮวาพระเจ้าของเราจนถึงเวลาไม่กำหนด ตลอดไปเป็นนิตย์.” การดำเนินในพระนามของพระยะโฮวาไม่ได้หมายความเพียงแค่พูดว่าพระองค์เป็นพระเจ้าของเรา. การดำเนินในพระนามของพระองค์เรียกร้องไม่เพียงแต่การเข้าร่วมในการประชุมคริสเตียนและการประกาศเรื่องราชอาณาจักร แม้ว่ากิจกรรมเหล่านั้นก็นับว่าสำคัญเช่นกัน. หากเราดำเนินในพระนามของพระยะโฮวา เราอุทิศตัวแด่พระองค์และมุ่งมั่นพยายามรับใช้พระองค์อย่างซื่อสัตย์ต่อ ๆ ไปด้วยความรักอย่างสิ้นสุดจิตวิญญาณ. (มัดธาย 22:37) และแน่นอน ในฐานะผู้นมัสการพระองค์ เราตั้งใจจะดำเนินในพระนามของพระยะโฮวาพระเจ้าของเราตลอดไปเป็นนิตย์.
20. มีคา 4:6-13 บอกล่วงหน้าเรื่องอะไร?
20 ทีนี้ เชิญพิจารณาถ้อยคำเชิงพยากรณ์ที่มีคา 4:6-13 (ล.ม.). “บุตรีแห่งซีโอน” จะถูกกวาดไปเป็นเชลย “ไกลถึงบาบิโลน.” นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นจริงกับผู้ที่อาศัยในเยรูซาเลมในศตวรรษที่เจ็ดก่อน ส.ศ. ถึงกระนั้น คำพยากรณ์ของมีคาบ่งชี้ว่า ชนที่เหลือจะได้กลับไปยูดาห์ และในการฟื้นฟูซีโอน พระยะโฮวาจะบดขยี้เหล่าศัตรูของพวกเขา.
21, 22. มีคา 5:2 สำเร็จเป็นจริงอย่างไร?
21 มีคาบท 5 บอกล่วงหน้าถึงเรื่องที่น่าตื่นเต้นอื่น ๆ อีก. ตัวอย่างเช่น ขอให้สังเกตสิ่งที่มีบอกไว้ที่มีคา 5:2-4 (ล.ม.). มีคาพยากรณ์ว่า ผู้ปกครองที่พระเจ้าแต่งตั้ง—“ผู้ซึ่งมีต้นกำเนิดมาตั้งแต่สมัยแรก ๆ”—จะออกมาจากเบทเลเฮม. ท่านจะปกครองอย่างผู้เลี้ยงแกะ “ด้วยกำลังจากพระยะโฮวา.” ยิ่งกว่านั้น ผู้ปกครองผู้นี้จะเป็นใหญ่ ไม่เฉพาะแต่ในอิสราเอลเท่านั้น แต่จนถึง “ที่สุดปลายแผ่นดินโลก.” โลกโดยทั่วไปอาจฉงนสนเท่ห์ว่าบุคคลผู้นี้เป็นใคร แต่นี่ไม่ใช่เรื่องลึกลับอะไรสำหรับเรา.
22 ใครเป็นบุคคลสำคัญที่สุดเท่าที่เคยเกิดมาในเบทเลเฮม? และใครจะ “ยิ่งใหญ่ไปตลอดจนถึงที่สุดปลายแผ่นดินโลก”? จะเป็นใครอื่นไม่ได้นอกจากพระมาซีฮา คือพระเยซูคริสต์! เมื่อเฮโรดมหาราชถามพวกปุโรหิตใหญ่และอาลักษณ์ว่า มาซีฮานั้นจะถือกำเนิดที่ไหน พวกเขาทูลตอบว่า “ที่บ้านเบธเลเฮ็มมณฑลยูดาย.” พวกเขาถึงกับยกข้อความจากมีคา 5:2 ขึ้นมากล่าวด้วยซ้ำ. (มัดธาย 2:3-6) สามัญชนทั่วไปบางคนก็ทราบเรื่องนี้ด้วย เพราะโยฮัน 7:42 ยกคำพูดของพวกเขามากล่าวที่ว่า “พระคัมภีร์กล่าวแล้วมิใช่หรือว่าพระคริสต์จะมาจากเชื้อวงศ์ของดาวิด, และจากหมู่บ้านเบธเลเฮ็มที่ดาวิดได้อยู่นั้น?”
ความสดชื่นแท้สำหรับผู้คน
23. มีคา 5:7 กำลังสำเร็จเป็นจริงอย่างไรในปัจจุบัน?
23 มีคา 5:5-15 กล่าวถึงการรุกรานของอัสซีเรียซึ่งจะประสบความสำเร็จเพียงช่วงสั้น ๆ และบอกว่าพระเจ้าจะลงมือแก้แค้นประชาชาติที่มิได้เชื่อฟัง. มีคา 5:7 (ล.ม.) มีคำสัญญาเรื่องการนำชนที่เหลือชาวยิวที่กลับใจกลับคืนสู่มาตุภูมิของพวกเขา แต่ข้อความดังกล่าวยังนำมาใช้กับสมัยของเราด้วย. มีคากล่าวว่า “ชนที่เหลือแห่งยาโคบจะต้องเป็นเหมือนน้ำค้างจากพระยะโฮวาท่ามกลางหลายชนชาติ เป็นเหมือนห่าฝนที่ตกลงบนพืชผัก.” นี่เป็นการใช้คำเปรียบที่เหมาะเจาะอย่างยิ่งเพื่อบอกล่วงหน้าว่าชนที่เหลือแห่งยาโคบ หรืออิสราเอลฝ่ายวิญญาณ จะเป็นของประทานจากพระเจ้าสำหรับผู้คน. “แกะอื่น” ของพระเยซู ผู้ซึ่งมีความหวังทางแผ่นดินโลก รู้สึกยินดีที่ได้รับใช้เคียงบ่าเคียงไหล่กับชนที่เหลือแห่ง “อิสราเอลของพระเจ้า” สมัยปัจจุบัน เพื่อช่วยคนอื่น ๆ ให้ได้รับความสดชื่นฝ่ายวิญญาณ. (โยฮัน 10:16; ฆะลาเตีย 6:16, ล.ม.; ซะฟันยา 3:9) ในเรื่องนี้ มีจุดสำคัญอย่างหนึ่งที่พึงพิจารณา. ฐานะผู้ประกาศราชอาณาจักร เราทุกคนควรทะนุถนอมสิทธิพิเศษของเราในการนำความสดชื่นแท้ไปให้คนอื่น ๆ.
24. มีจุดไหนจากมีคาบท 3 ถึงบท 5 ที่ประทับใจคุณ?
24 คุณได้เรียนอะไรจากคำพยากรณ์ของมีคาบท 3 ถึงบท 5? บางที อาจเป็นจุดต่าง ๆ เหล่านี้: (1) พระเจ้าทรง
เรียกร้องให้ผู้นำหน้าท่ามกลางประชาชนของพระองค์สำแดงความยุติธรรม. (2) พระยะโฮวาจะไม่ตอบคำอธิษฐานของเราหากเราจงใจทำบาป. (3) งานประกาศที่เราได้รับมอบหมายจะสำเร็จได้ก็ต่อเมื่อพระเจ้าเสริมกำลังเราโดยทางพระวิญญาณบริสุทธิ์ของพระองค์. (4) เพื่อจะได้รับความโปรดปรานจากพระเจ้า เราต้องดำเนินในพระนามของพระยะโฮวา. (5) ฐานะผู้ประกาศราชอาณาจักร เราควรทะนุถนอมสิทธิพิเศษของเราในการนำความสดชื่นแท้ไปให้ผู้คน. อาจมีจุดอื่น ๆ อีกก็ได้ที่ประทับใจคุณ. แต่มีอะไรอีกไหมที่เราจะเรียนได้จากพระธรรมเชิงพยากรณ์เล่มนี้? บทความถัดไปจะช่วยเราได้บทเรียนที่นำไปใช้ได้จากคำพยากรณ์ของมีคาที่เสริมสร้างความเชื่อในสองบทสุดท้าย.คุณจะตอบอย่างไร?
• พระเจ้าทรงเรียกร้องอะไรจากผู้นำหน้าท่ามกลางประชาชนของพระองค์?
• เหตุใดการอธิษฐานและพระวิญญาณบริสุทธิ์มีบทบาทสำคัญเกี่ยวข้องกับงานรับใช้ที่เราทำถวายพระยะโฮวา?
• ‘การดำเนินในพระนามของพระยะโฮวา’ หมายความอย่างไร?
[คำถาม]
[ภาพหน้า 15]
คุณอธิบายตัวอย่างเปรียบเทียบของมีคาที่เกี่ยวข้องกับหม้อหุงต้มได้ไหม?
[ภาพหน้า 16]
เช่นเดียวกับมีคา เราทำงานรับใช้ด้วยความกล้าหาญ