เขตงานมิชชันนารีกลายเป็นบ้านของเรา
เรื่องราวชีวิตจริง
เขตงานมิชชันนารีกลายเป็นบ้านของเรา
เล่าโดยดิก วอลดรัน
วันนั้นเป็นบ่ายวันอาทิตย์ในเดือนกันยายน 1953. เราเพิ่งเดินทางมาถึงประเทศแอฟริกาตะวันตกเฉียงใต้ (นามิเบียในปัจจุบัน) ได้ไม่กี่วัน. เราเข้าประเทศนี้ยังไม่ครบหนึ่งสัปดาห์และกำลังจะจัดการประชุมสาธารณะในวินด์ฮุก เมืองหลวงของประเทศ. อะไรได้ดลใจเราให้เดินทางจากออสเตรเลียมายังดินแดนในแอฟริกาแห่งนี้? ผมและภรรยาพร้อมกับสตรีสาวสามคนมาที่นี่ในฐานะมิชชันนารีเผยแพร่ข่าวดีเรื่องราชอาณาจักรของพระเจ้า.—มัดธาย 24:14.
ชีวิตผมเริ่มต้นในถิ่นไกลโพ้น คือออสเตรเลีย ในปี 1914 ซึ่งมีความสำคัญยิ่ง. ชีวิตวัยรุ่นของผมอยู่ในช่วงภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ และผมจำเป็นต้องมีส่วนช่วยทำมาหากินเลี้ยงครอบครัว. ตอนนั้นไม่มีการว่าจ้าง แต่ผมหาช่องทางได้โดยออกล่ากระต่ายป่าซึ่งมีชุกชุมในออสเตรเลีย. โดยวิธีนี้ เนื้อกระต่ายจึงเป็นส่วนหนึ่งที่ผมจุนเจืออาหารแก่ครอบครัวอย่างสม่ำเสมอ.
ตอนเกิดสงครามโลกครั้งที่สองเมื่อปี 1939 ผมหางานได้โดยทำกับบริษัทเดินรถรางและรถประจำทางในนครเมลเบิร์น. มีพนักงานประมาณ 700 คน ผลัดเปลี่ยนกันทำงานบนรถประจำทาง และทุก ๆ รอบการเข้าเวร ผมพบพนักงานขับรถหรือพนักงานเก็บค่าโดยสารไม่ซ้ำหน้ากัน. ผมมักจะถามเขาว่า “คุณนับถือศาสนาอะไร?” และขอให้เขาอธิบายความเชื่อของเขา. คนที่ให้คำตอบผมได้อย่างน่าพอใจก็มีแต่พยานพระยะโฮวาเท่านั้น. เขาอธิบายข่าวสารที่ยึดคัมภีร์ไบเบิลเป็นหลักในเรื่องอุทยานบนแผ่นดินโลก ซึ่งที่นั่นมนุษย์ผู้เกรงกลัวพระเจ้าจะมีชีวิตตลอดไป.—บทเพลงสรรเสริญ 37:29.
ในช่วงเวลานั้น แม่ของผมได้ติดต่อพยานพระยะโฮวาเช่นกัน. บ่อยครั้ง เมื่อผมเลิกงานกะดึกกลับถึงบ้าน อาหาร
รอผมอยู่แล้วพร้อมกับวารสารคอนโซเลชัน (ปัจจุบันชื่อตื่นเถิด!) เรื่องที่ผมอ่านนั้นน่าสนใจ. ในที่สุด ผมลงความเห็นว่านี่แหละคือศาสนาแท้ และจึงเข้าร่วมสมทบกับประชาคมอย่างแข็งขัน แล้วรับบัพติสมาในเดือนพฤษภาคม 1940.มีบ้านไพโอเนียร์หลังหนึ่งในเมลเบิร์น พยานพระยะโฮวาซึ่งเป็นผู้เผยแพร่เต็มเวลาประมาณ 25 คนอาศัยอยู่ที่นั่นด้วยกัน. ผมเองก็ย้ายเข้าไปอยู่กับพวกเขา. วันแล้ววันเล่าผมได้ฟังเขาเล่าประสบการณ์อันน่าตื่นเต้นที่เขาพานพบขณะทำงานเผยแพร่ และความปรารถนาอยากเป็นไพโอเนียร์ค่อย ๆ ก่อตัวขึ้นในหัวใจผม. ผลที่สุด ผมจึงสมัครเป็นไพโอเนียร์. ผมได้การตอบรับและถูกเรียกไปปฏิบัติงานในสำนักงานสาขาแห่งพยานพระยะโฮวาในออสเตรเลีย. ดังนั้น ผมจึงกลายเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวเบเธล.
การจำคุกและการประกาศห้าม
หน้าที่มอบหมายอย่างหนึ่งของผมที่เบเธลคือทำงานในโรงเลื่อย. ที่นั่น เราตัดไม้เผาถ่านผลิตเชื้อเพลิง. ทั้งนี้ เพื่อนำไปใช้กับยานพาหนะที่สำนักงานสาขา เนื่องจากอยู่ในภาวะสงคราม น้ำมันเบนซินขาดแคลน. พวกเรา 12 คนทำงานในโรงเลื่อย ทุกคนถูกหมายเกณฑ์ให้เข้าประจำการในกองทัพ. จากนั้นไม่นาน พวกเราถูกตัดสินจำคุกหกเดือน เพราะพวกเราปฏิเสธการเป็นทหารตามหลักการของคัมภีร์ไบเบิล. (ยะซายา 2:4) เขาส่งเราไปที่ฟาร์มของเรือนจำอันเป็นค่ายแรงงาน. ที่นั่นเขาให้เราทำงานอะไร? แปลกจริง ๆ เราต้องทำงานตัดไม้ งานประเภทเดียวกันที่เราถูกฝึกให้ทำในเบเธล!
พวกเราตัดไม้อย่างช่ำชองและทำได้ดีมากจนผู้บัญชาการเรือนจำอนุญาตให้เรามีคัมภีร์ไบเบิลและสรรพหนังสือเกี่ยวกับพระคัมภีร์ ทั้ง ๆ ที่มีกฎระเบียบเข้มงวดห้ามเรามีสิ่งเหล่านี้. ในช่วงนี้เอง ผมได้รับบทเรียนอันเป็นคุณประโยชน์ว่าด้วยเรื่องมนุษยสัมพันธ์. ตอนที่ผมทำงานในเบเธล ผมเข้ากับบราเดอร์คนหนึ่งไม่ได้เลย. อุปนิสัยของเราต่างกันลิบ. คุณคิดว่าทางเรือนจำได้จัดใครอยู่ห้องขังเดียวกันกับผม? ไม่ใช่ใครอื่น บราเดอร์คนนี้แหละ. มาบัดนี้ เรามีโอกาสได้รู้จักกันมากขึ้น และผลก็คือ เรากลายเป็นเพื่อนสนิทและคงไว้ซึ่งมิตรภาพอันยาวนาน.
ต่อมา มีคำสั่งห้ามงานของพยานพระยะโฮวาในออสเตรเลีย. เงินกองทุนทั้งหมดถูกยึดและสมาชิกเบเธลไม่ค่อยมีเงินใช้. คราวหนึ่ง หนึ่งในกลุ่มพี่น้องเหล่านี้เข้ามาหาผมพูดว่า “ดิก ผมอยากเข้าไปทำงานเผยแพร่ในเมือง แต่ไม่มีรองเท้าใส่ มีแค่รองเท้าบูตใส่ทำงาน.” ผมดีใจที่ได้ช่วยสงเคราะห์เขา และเขาได้รองเท้าผมใส่เข้าไปในเมือง.
ในเวลาต่อมา เราได้ข่าวเขาถูกจับขังคุกเพราะออกไปเผยแพร่. ผมอดใจไม่ได้ที่จะเขียนข้อความสั้น ๆ ถึงเขาว่า “ผมเสียใจในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับคุณ. ดีนะที่ผมไม่ได้เป็นคนใส่รองเท้าคู่นั้น.” แต่ไม่นานเท่าใดผมก็ถูกจับและถูกจำคุกเป็นหนที่สองเนื่องจากการยืนหยัดรักษาความเป็นกลาง. หลังจากถูกปล่อยตัว ผมได้รับหน้าที่มอบหมายให้ดูแลฟาร์มซึ่งผลิตอาหารส่งให้ครอบครัวเบเธล. ตอนนั้น พวกเราชนะคดีความตามการตัดสินของศาล และเป็นอันว่าการสั่งห้ามกิจกรรมของพยานพระยะโฮวาถูกยกเลิก.
สมรสกับผู้เผยแพร่ข่าวดีที่มีใจแรงกล้า
ระหว่างทำงานที่ฟาร์ม ผมเริ่มตรึกตรองเรื่องชีวิตสมรสอย่างจริงจังและเกิดต้องใจไพโอเนียร์สาวชื่อโคราลี โคลเกน. คุณยายของโคราลีเป็นคนแรกในครอบครัวที่แสดงความสนใจข่าวสารของคัมภีร์ไบเบิล. ก่อนสิ้นใจ คุณยายได้สั่งเสียวีรา คุณแม่ของโคราลีว่า “อบรมเลี้ยงดูลูก ๆ ให้รักและปฏิบัติพระเจ้านะ และวันหนึ่งเราจะพบกันในโลกที่เป็นอุทยาน.” ในเวลาต่อมา เมื่อไพโอเนียร์มาที่บ้านวีราพร้อมด้วยหนังสือเล่มเล็กชื่อหลายล้านคนที่มีชีวิตอยู่ในเวลานี้จะไม่ตาย (ภาษาอังกฤษ) คำพูดเหล่านั้นจึงเริ่มจะเป็นที่เข้าใจ. หนังสือเล่มนั้นทำให้วีราเชื่อมั่นว่าเป็นพระประสงค์ของพระเจ้าที่จะให้มนุษยชาติดำรงชีวิตบนแผ่นดินโลกที่เป็นอุทยาน. (วิวรณ์ 21:4) เธอได้รับบัพติสมา ณ ช่วงต้นทศวรรษ 1930 และเป็นไปตามการสนับสนุนของแม่ เธอได้ช่วยลูกสาวสามคน ได้แก่ลูซี, จีน, และโคราลีพัฒนาความรักต่อพระเจ้า. แต่คุณพ่อของโคราลีต่อต้านอย่างรุนแรงที่คนในครอบครัวแสดงความสนใจศาสนานี้ ดังพระเยซูทรงเตือนล่วงหน้าว่าอาจจะเกิดขึ้นภายในครอบครัว.—มัดธาย 10:34-36.
ครอบครัวโคลเกนมีพรสวรรค์ทางดนตรี ลูกแต่ละคนสามารถเล่นเครื่องดนตรีได้. โคราลีสีไวโอลิน และปี 1939 เมื่อมีอายุ 15 ปี เธอได้รับใบประกาศเกียรติคุณด้านดนตรี. เมื่อสงครามโลกครั้งที่สองระเบิดขึ้น โคราลีเริ่มคิดเรื่องอนาคตของตัวเองอย่างจริงจัง. ถึงเวลาที่เธอต้องตัดสินใจว่าเธอจะทำอย่างไรกับชีวิต. ทางหนึ่งก็มีความเป็นไปได้ที่จะยึดเอาดนตรีเป็นงานประจำชีพ. ได้มีผู้เสนอให้เธอเล่นในวงเมลเบิร์นซิมโฟนีออร์เคสตรา. อีกทางหนึ่ง มีความเป็นไปได้ที่จะอุทิศเวลาให้แก่งานสำคัญเกี่ยวกับการเผยแพร่ข่าวสารเรื่องราชอาณาจักร. ภายหลังการครุ่นคิดพิจารณาอย่างจริงจัง โคราลีพร้อมด้วยพี่สาวสองคนจึงตกลงใจรับบัพติสมาในปี 1940 และเตรียมตัวเข้าสู่งานเผยแพร่เต็มเวลา.
ไม่นานหลังจากโคราลีตัดสินใจจะทำงานรับใช้เต็มเวลาเมื่อได้รับการทาบทามโดยบราเดอร์คนหนึ่งซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบมากมาย คือลอยด์ แบร์รี จากสาขาออสเตรเลียซึ่งภายหลังเขารับใช้ฐานะสมาชิกคณะกรรมการปกครองแห่งพยานพระยะโฮวา. เขาเพิ่งเสร็จการบรรยายในเมลเบิร์น และพูดชวนโคราลีว่า “ผมจะกลับไปเบเธล. ขึ้นรถไฟกลับพร้อมกันไหมล่ะ และสมัครเข้าเป็นสมาชิกเบเธลเลย?” เธอขานรับการเชิญชวนด้วยความเต็มใจ.
โคราลีและพี่น้องหญิงคนอื่น ๆ ที่อยู่ในบ้านเบเธลมีบทบาทสำคัญในการจัดเตรียมสรรพหนังสือเกี่ยวกับคัมภีร์ไบเบิลให้แก่พวกพี่น้องในออสเตรเลียตลอดหลายปีที่มีการสั่งห้ามเนื่องด้วยภาวะสงคราม. อันที่จริง พี่น้องหญิงเหล่านี้ได้ทำงานพิมพ์ส่วนใหญ่ภายใต้การดูแลของบราเดอร์มัลคอล์ม เวล. ในช่วงการสั่งห้ามนานกว่าสองปีนั้น มีการพิมพ์และเย็บเล่มหนังสือโลกใหม่ (ภาษาอังกฤษ) และหนังสือเด็กทั้งหลาย (ภาษาอังกฤษ) และการพิมพ์วารสารว็อชเทาเวอร์ ก็ไม่เคยขาดแม้แต่ฉบับเดียว.
เพื่อหลบตำรวจ จึงจำเป็นต้องย้ายแท่นพิมพ์บ่อย ๆ ไม่น้อยกว่า 15 ครั้ง. ในกรณีหนึ่ง มีการพิมพ์สรรพหนังสือเกี่ยวกับคัมภีร์ไบเบิลในห้องใต้ถุนตึก ซึ่งมีงานพิมพ์อย่างอื่นบังหน้า. เมื่อมีทีท่าว่าจะเกิดอันตราย ซิสเตอร์ประจำแผนกต้อนรับสามารถกดกริ่งส่งสัญญาณไปที่ห้องใต้ถุนตึกให้พี่น้องหญิงที่นั่นเก็บซ่อนหนังสือต่าง ๆ ก่อนที่คนหนึ่งคนใดจะเริ่มลงมือตรวจค้น.
ระหว่างการตรวจค้นคราวหนึ่ง พี่น้องหญิงบางคนตกใจสุดขีดเมื่อพวกเธอเห็นว่ามีหอสังเกตการณ์ ฉบับหนึ่งวางอยู่บนโต๊ะซึ่งใคร ๆ ก็มองเห็นได้ถนัด. พอตำรวจเดินเข้ามา เขาก็วางกระเป๋าของเขาทับหอสังเกตการณ์ ฉบับนั้น แล้วเริ่มตรวจค้น. ครั้นไม่พบสิ่งใด เขาก็คว้ากระเป๋าเดินออกไป!
ภายหลังการยกเลิกคำสั่งห้าม และทรัพย์สินของสาขาถูกนำส่งคืนให้พวกพี่น้องแล้ว พี่น้องหลายคนได้รับการเสนอโอกาสที่จะออกไปยังเขตงานในฐานะไพโอเนียร์พิเศษ. ตอนนั้นแหละที่โคราลีอาสาสมัครไปที่เกลนีนิส. ผมได้ร่วมงานกับเธอที่นั่นภายหลังการแต่งงานของเราเมื่อวันที่ 1 มกราคม 1948. พอถึงเวลาที่เราละจากเขตงานมอบหมายนั้นก็มีประชาคมหนึ่งที่เจริญก้าวหน้าที่นั่น.
เขตงานมอบหมายของเราถัดจากนั้นคือร็อกแฮมป์ตัน แต่เราหาที่พักอาศัยไม่ได้เลย. ดังนั้น เราจึงตั้งเต็นท์กลางแจ้งในบริเวณไร่ของผู้สนใจคนหนึ่ง. ปรากฏว่าเต็นท์หลังนั้นเป็นบ้านพักอาศัยของเรานานถึงเก้าเดือน. เราอาจอยู่ต่อได้นานกว่านั้น ทว่าพอถึงหน้าฝน พายุโซนร้อนพัดกระหน่ำเต็นท์จนฉีกขาดใช้การไม่ได้ และสายฝนที่หลั่งลงมาได้พัดพาเอาเต็นท์จมหายไปกับสายน้ำ. *
เราย้ายไปเขตมอบหมายต่างแดน
ขณะอยู่ที่ร็อกแฮมป์ตัน เราได้รับเชิญให้เข้าเรียนรุ่นที่ 19 ของโรงเรียนว็อชเทาเวอร์ไบเบิลแห่งกิเลียด เพื่อรับการฝึกอบรมเป็นมิชชันนารี. และภายหลังจบหลักสูตรการเรียนปี 1952 แล้ว เราจึงถูกส่งไปยังประเทศซึ่งมีชื่อเรียกในสมัยนั้นว่าแอฟริกาตะวันตกเฉียงใต้.
นักเทศน์นักบวชแห่งคริสต์ศาสนจักรไม่รอช้าที่จะแสดงให้เห็นว่าเขารู้สึกอย่างไรต่องานเผยแพร่ของเรา. ทุกวันอาทิตย์ต่อเนื่องนานถึงหกสัปดาห์ พวกเขาประกาศเตือนจากธรรมาสน์ให้สมาชิกโบสถ์ระวังพวกเรา. เขาสั่งประชาชนไม่ให้เปิดประตูต้อนรับและอย่าให้พวกเราอ่านจากคัมภีร์ไบเบิลให้เขาฟัง เพราะพวกเขาจะสับสน. ณ เขตงานในละแวกหนึ่ง เราจำหน่ายหนังสือออกไปหลายเล่ม แต่แล้วก็มีนักเทศน์เดินตามหลังเราจากบ้านหนึ่งไปบ้านหนึ่งเพื่อเก็บรวบรวมหนังสือเหล่านั้น. วันหนึ่งเรามีโอกาสได้พูดคุยกันในห้องอ่านหนังสือของนักเทศน์ และพบว่าเขามีหนังสือของเรากองเป็นพะเนิน.
หลังจากนั้นไม่นาน เจ้าหน้าที่ประจำท้องถิ่นก็เริ่มวิตกกังวลกับกิจกรรมของเราเช่นกัน. ไม่ต้องสงสัย เนื่องจากการยุยงของนักเทศน์นักบวช พวกเขาระแวงว่าเราอาจพัวพันกับระบอบคอมมิวนิสต์. ดังนั้น พวกเราถูกพิมพ์ลายนิ้วมือ และประชาชนบางคนที่เราไปเยี่ยมก็ถูกเรียกตัวไปสอบสวน. ทั้งที่มีการต่อต้านขัดขวางเช่นนี้ จำนวนคนเข้าร่วม ณ การประชุมต่าง ๆ ของเราก็ยังเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ.
นับตั้งแต่แรกที่มาอยู่ที่นี่ เราได้แสดงความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะแพร่ข่าวสารของคัมภีร์ไบเบิลไปยังประชากรพื้นเมืองเผ่าโอวัมโบ, เผ่าเฮอเรโร, และเผ่านามา. แต่เรื่องนี้ไม่ง่าย. ย้อนไปในสมัยนั้น ประเทศแอฟริกาตะวันตกเฉียงใต้อยู่ภายใต้อำนาจปกครองของรัฐบาลแอฟริกาใต้ซึ่งมีนโยบายแบ่งแยกสีผิว. เราคนผิวขาวไม่ได้รับอนุญาตให้คำพยานในบริเวณพื้นที่อยู่อาศัยของคนผิวดำ หากไม่ได้รับอนุญาตจากทางการ. เราติดต่อขออนุญาตครั้งแล้วครั้งเล่า แต่พวกเจ้าหน้าที่วางเฉยไม่ยอมอนุมัติ.
หลังจากอยู่ในเขตมอบหมายต่างแดนสองปี เราประสบสิ่งที่เราคาดไม่ถึง. โคราลีตั้งครรภ์. แล้วชาร์ลอตต์ลูกสาวของเราก็คลอดในเดือนตุลาคม 1955. ถึงแม้เราไม่สามารถเป็นมิชชันนารีต่อไป แต่ผมได้งานที่ไม่ต้องทำตลอดวัน และยังคงเป็นไพโอเนียร์ต่อชั่วระยะหนึ่ง.
คำตอบสำหรับคำอธิษฐานของเรา
ปี 1960 เราประสบปัญหาอีกครั้งหนึ่ง. โคราลีได้รับจดหมายแจ้งว่าแม่ของเธอป่วยหนัก ซึ่งหากโคราลีไม่กลับบ้าน เธอคงจะไม่ได้เห็นหน้าแม่อีก. ดังนั้นเราจึงวางแผนย้ายออกจากแอฟริกาตะวันตกเฉียงใต้แล้วกลับออสเตรเลีย. แล้วมีเหตุการณ์บางอย่างเกิดขึ้น. ในสัปดาห์นั้นเองที่เรากำหนดจะออกเดินทาง ผมได้รับจดหมายจากเจ้าหน้าที่ในท้องถิ่นอนุญาตให้เราเข้าไปยังบริเวณพื้นที่ที่คนผิวดำ
อาศัย คือคาตูตูรา. ทีนี้เราจะทำอย่างไรดี? คืนใบอนุญาตให้เขาไปอย่างนั้นหรือ หลังจากอุตสาหะพยายามนานถึงเจ็ดปีกว่าจะได้รับอนุญาต? คงง่ายที่จะหาเหตุผลว่าคนอื่นก็คงสามารถทำงานต่อจากที่เราเริ่มต้นไว้. แต่นี่ไม่ใช่พระพรจากพระยะโฮวาหรอกหรือที่การอธิษฐานของเราได้รับคำตอบ?ผมตัดสินใจทันที. ผมจะไม่ไปจากประเทศนี้ เกรงว่าความเพียรพยายามของเราเพื่อจะได้ที่พำนักถาวรนั้นจะเสียไปเปล่า ๆ หากเราพากันกลับไปออสเตรเลียหมดทุกคน. วันรุ่งขึ้นผมยกเลิกการจองตั๋วเรือและส่งโคราลีและชาร์ลอตต์ลงเรือไปพักผ่อนระยะยาวที่ออสเตรเลีย.
ระหว่างที่ภรรยาและลูกสาวไม่อยู่ ผมเริ่มให้คำพยานแก่ชาวเมืองในบริเวณพื้นที่อาศัยของคนผิวดำ. ปรากฏว่ามีผู้คนมากมายแสดงความสนใจ. เมื่อโคราลีกับชาร์ลอตต์กลับมา ก็มีคนจำนวนหนึ่งจากเมืองของคนผิวดำได้เข้าร่วมการประชุมของเรา.
ถึงตอนนี้ ผมมีรถเก่าคันหนึ่งซึ่งผมสามารถพาผู้สนใจมายังการประชุม. การประชุมแต่ละครั้งผมขับรถสี่หรือห้าเที่ยว เที่ยวหนึ่ง ๆ รับได้เจ็ดหรือแปดคน, บางทีก็เก้าคน. เมื่อคนสุดท้ายลงจากรถ โคราลีจะถามติดตลกว่า “ยังเหลืออยู่ใต้ที่นั่งอีกกี่คน?”
เพื่อจะให้งานเผยแพร่มีประสิทธิภาพมากขึ้น พวกเราต้องมีสรรพหนังสือในภาษาของชนพื้นเมือง. ดังนั้น ผมถือว่าเป็นโอกาสอันดียิ่งที่จะดำเนินงานเพื่อให้มีการแปลแผ่นพับชีวิตในโลกใหม่ เป็นภาษาพื้นเมืองสี่ภาษา ได้แก่ ภาษาเฮอเรโร, นามา, นดองกา, และกวานยามา. ผู้แปลเหล่านี้เป็นคนมีการศึกษาซึ่งเรานำการศึกษาพระคัมภีร์กับเขา แต่ผมต้องนั่งทำงานร่วมกับเขาเพื่อให้แน่ใจว่าการแปลนั้นถูกต้องทุกประโยค. ภาษานามาเป็นภาษาซึ่งมีคำศัพท์จำกัด. ยกตัวอย่าง ผมพยายามอธิบายประโยคที่ว่า “เดิมทีอาดามเป็นมนุษย์สมบูรณ์.” ผู้แปลเกาหัวแกรก ๆ และบอกว่าเขานึกคำ “สมบูรณ์” ภาษานามาไม่ออก. “ผมคิดออกแล้ว” เขาพูดในที่สุด. “เดิมทีอาดามเป็นเหมือนลูกพีชสุก.”
เรามีความสุขในเขตมอบหมายต่างแดน
เวลาผ่านไปมากกว่า 49 ปีแล้วนับตั้งแต่เราได้มาถึงประเทศนี้ ซึ่งปัจจุบันเรียกว่านามิเบีย. ไม่จำเป็นอีกแล้วที่ต้องขอใบอนุญาตเข้าชุมชนที่อยู่อาศัยของคนผิวดำ. นามิเบียปกครองโดยรัฐบาลใหม่ซึ่งมีรัฐธรรมนูญที่ไม่มีการแบ่งแยกสีผิว. เวลานี้มีสี่ประชาคมใหญ่ในเมืองวินด์ฮุกซึ่งจัดประชุมกันในหอประชุมราชอาณาจักรที่สะดวกสบาย.
บ่อยครั้งเรามักจะนึกถึงถ้อยคำที่ได้ยินที่กิเลียดว่า “ทำให้เขตงานมอบหมายในต่างแดนเป็นบ้านของคุณ.” โดยดูจากวิธีที่พระยะโฮวาทรงชี้นำในเรื่องต่าง ๆ เราจึงมั่นใจได้ว่า พระทัยประสงค์ของพระองค์คือให้เราถือเอาถิ่นฐานในต่างประเทศแห่งนี้เป็นบ้านของเรา. เราบังเกิดใจรักพวกพี่น้อง พร้อมกับความหลากหลายทางวัฒนธรรมของเขาซึ่งก็น่าสนใจ. เราหัวเราะเริงร่ากับเขาเมื่อเขาปีติยินดี และร้องไห้กับเขาเมื่อเขามีความทุกข์ระทม. คนใหม่ ๆ บางคนที่เราเคยเอารถไปรับและนั่งเบียดเสียดกันมาที่หอประชุม เวลานี้กลายเป็นเสาหลักในประชาคมของเขา. เมื่อเรามาถึงประเทศที่กว้างใหญ่ไพศาลนี้ในปี 1953 คนท้องถิ่นที่เผยแพร่ข่าวดีมีไม่ถึงสิบคน. จากการเริ่มต้นด้วยคนเพียงเล็กน้อย จำนวนผู้เผยแพร่เพิ่มทวีมากกว่า 1,200 คน. จริงตามคำสัญญาของพระองค์ พระยะโฮวาทรงอวยพรการงานที่พวกเราและคนอื่น ๆ ‘ได้ปลูกและรดน้ำไว้’ ให้เจริญงอกงาม.—1 โกรินโธ 3:6.
เมื่อเราย้อนไปดูงานรับใช้ตลอดเวลาหลายปี ทีแรกเมื่ออยู่ที่ออสเตรเลียและเวลานี้อยู่ที่นามิเบีย ผมกับโคราลีมีความรู้สึกอิ่มใจพอใจอย่างลึกซึ้ง. เราหวังและอธิษฐานว่าพระยะโฮวาจะทรงประทานกำลังให้เราต่อ ๆ ไปเพื่อกระทำตามพระทัยประสงค์ของพระองค์ทั้งในเวลานี้และตลอดไป.
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 22 เรื่องราวที่น่าตื่นเต้นของครอบครัววอลดรันซึ่งพากเพียรอดทนอยู่ในงานมอบหมายที่เต็มไปด้วยความยากลำบากเช่นนี้ได้อย่างไรนั้นมีกล่าวไว้ในหอสังเกตการณ์ (ภาษาอังกฤษ) ฉบับ 1 ธันวาคม 1952 หน้า 707 ถึง 708 โดยไม่ได้เอ่ยชื่อพวกเขา.
[ภาพหน้า 26, 27]
การย้ายไปเขตงานมอบหมายของเราในร็อกแฮมป์ตัน ออสเตรเลีย
[ภาพหน้า 27]
ณ ท่าเรือตอนเดินทางไปโรงเรียนกิเลียด
[ภาพหน้า 28]
การให้คำพยานในนามิเบียทำให้เราชื่นชมยินดีมาก