การให้จนเกินที่เราจะให้ได้
การให้จนเกินที่เราจะให้ได้
“คุณจะเรียกผมว่าขอทานก็ได้; ผมจะไม่ขัดเคืองใจที่ถูกเรียกอย่างนั้น. ผมขอเงินบริจาคเพื่อพระเยซู.” คำพูดที่เปิดเผยเช่นนั้นของนักเทศน์โปรเตสแตนต์คนหนึ่งทำให้เห็นชัดเจนถึงความขัดแย้งในเรื่องการจัดหาเงินทุนทางศาสนา. ศาสนาที่มีการตั้งขึ้นมาดูเหมือนสามารถอยู่รอดได้ก็ต่อเมื่อได้รับเงินสนับสนุนจำนวนมาก. เงินเดือนที่ต้องจ่าย, โบสถ์วิหารที่ต้องสร้างขึ้นและบำรุงรักษา, การรณรงค์เผยแพร่ ล้วนจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนทางด้านการเงิน. จะหาเงินที่จำเป็นนี้ได้โดยวิธีใด?
สำหรับหลายคริสตจักร คำตอบคือส่วนสิบชักหนึ่ง. * นอร์มัน โรเบิร์ตสัน ผู้เผยแพร่กิตติคุณอ้างว่า “การถวายส่วนสิบชักหนึ่งเป็นวิธีการของพระเจ้าในการสนับสนุนด้านการเงินแก่ราชอาณาจักรของพระองค์บนแผ่นดินโลก. นี่เป็นระบบเศรษฐกิจของพระองค์ซึ่งทำให้สามารถเผยแพร่กิตติคุณได้.” โดยไม่ลังเลในการเตือนเหล่าสานุศิษย์ของเขาให้ระลึกถึงหน้าที่รับผิดชอบในการให้ เขากล่าวอย่างหนักแน่นว่า ‘การถวายส่วนสิบชักหนึ่งไม่ใช่สิ่งที่คุณทำเพราะคุณสามารถให้ได้. แต่เป็นการกระทำที่แสดงความเชื่อฟัง. การไม่ถวายส่วนสิบชักหนึ่งเป็นการละเมิดพระบัญญัติของพระเจ้าอย่างชัดแจ้ง. เป็นการยักยอกเงิน.’—การถวายส่วนสิบชักหนึ่ง—แผนการของพระเจ้าทางด้านการเงิน (ภาษาอังกฤษ).
ส่วนใหญ่คุณคงจะเห็นด้วยว่าการให้ควรเป็นส่วนหนึ่งแห่งการนมัสการของคริสเตียน. อย่างไรก็ดี คุณรู้สึกว่าการขอเงินอยู่เรื่อย ๆ เป็นการรบกวน บางทีทำให้ขัดเคืองใจด้วยซ้ำไหม? อีนาซยู สทรีเดอร์ นักเทววิทยาชาวบราซิลได้กล่าวหาคริสตจักรเรื่องการใช้ส่วนสิบชักหนึ่งเป็นวิธีการขอความช่วยเหลือเพื่อ “แก้ปัญหาด้านสถาบันของพวกเขา” และเรียกกิจปฏิบัติดังกล่าวว่าเป็น “เรื่องที่ผิดทำนองคลองธรรม, การใช้อำนาจในทางที่ผิด, และเป็นการเบี่ยงเบนทางเทววิทยา.” เขาตั้งข้อสังเกตว่า ผลก็คือ “คนว่างงาน, แม่ม่าย, ผู้ที่อาศัยอยู่ในแหล่งเสื่อมโทรม, และคนเหล่านั้นซึ่งไม่สามารถคิดตามเหตุผลต่างก็ลงความเห็นว่าพระเจ้าทรงละทิ้งพวกเขาแล้วและพวกเขาถูกบีบบังคับในการให้อย่างมากมายแก่ ‘นักเทศน์’ จนครอบครัวของตนเองไม่มีจะกิน.”
คุณอาจสงสัยว่า ‘คริสตจักรที่บังคับใช้การถวายส่วนสิบชักหนึ่งนั้นนำพระคัมภีร์มาใช้อย่างถูกต้องไหม? หรือว่าบางศาสนาอาจใช้ความกลัวเรื่องการถูกพระเจ้าลงโทษเพื่อขูดรีดเอาเงินจากสมาชิกโบสถ์? ที่จริง พระเจ้าทรงคาดหมายจากเราในการให้เกินกว่าที่เราสามารถให้ได้ไหม?’
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 3 ส่วนสิบชักหนึ่งได้รับการจำกัดความว่าเป็น 10 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ทั้งหมดก่อนหักค่าใช้จ่าย.