“เซปตัวจินต์” เป็นประโยชน์ทั้งในอดีตและปัจจุบัน
“เซปตัวจินต์” เป็นประโยชน์ทั้งในอดีตและปัจจุบัน
ชายผู้ทรงอิทธิพลคนหนึ่งจากเอธิโอเปียกำลังเดินทางกลับบ้านจากกรุงเยรูซาเลม. ขณะเดินทางผ่านทางทุรกันดาร เขานั่งอ่านออกเสียงม้วนหนังสือทางศาสนาม้วนหนึ่งอยู่บนรถม้าของเขา. คำอธิบายถ้อยคำที่เขาได้อ่านนั้นส่งผลกระทบต่อเขาอย่างมากจนชีวิตของเขาเปลี่ยนแปลงไปนับจากนั้น. (กิจการ 8:26-38) ชายผู้นั้นได้อ่านยะซายา 53:7, 8 จากคัมภีร์ไบเบิลฉบับแปลแรกสุด นั่นคือ เซปตัวจินต์ ในภาษากรีก. งานแปลชิ้นนี้มีบทบาทสำคัญในการ แพร่กระจายข่าวสารในคัมภีร์ไบเบิลตลอดหลายศตวรรษจนถูกขนานนามว่าคัมภีร์ไบเบิลฉบับแปลที่เปลี่ยนโลก.
เมื่อไรและภายใต้สภาพการณ์ใดที่ฉบับเซปตัวจินต์ ถูกจัดทำขึ้น? ทำไมมีความจำเป็นต้องจัดทำฉบับแปลนี้? ฉบับแปลนี้ได้ปรากฏว่าเป็นประโยชน์อย่างไรตลอดหลายศตวรรษ? มีอะไรบ้างไหมที่เราจะเรียนได้จากเซปตัวจินต์ ในทุกวันนี้?
จัดทำขึ้นเพื่อชาวยิวที่พูดภาษากรีก
ในปี 332 ก่อน ส.ศ. เมื่ออะเล็กซานเดอร์มหาราชเคลื่อนทัพเข้าไปในอียิปต์หลังจากทำลายเมืองไทร์ (ตุโร) ของชาวฟินิเซีย พระองค์ได้รับการต้อนรับในฐานะผู้ปลดปล่อย. ที่นั่น พระองค์สร้างเมืองอะเล็กซานเดรีย ซึ่งกลายเป็นศูนย์กลางทางการศึกษาแห่งหนึ่งของโลกสมัยโบราณ. เนื่องจากปรารถนาจะแพร่วัฒนธรรมกรีกไปสู่ประชาชนที่อาศัยในดินแดนที่พระองค์พิชิตได้ อะเล็กซานเดอร์เริ่มทำให้ภาษากรีกแบบสามัญ (คีนี) เป็นภาษาที่ใช้กันทั่วอาณาจักรอันกว้างใหญ่ไพศาลของพระองค์.
ในศตวรรษที่สามก่อน ส.ศ. เมืองอะเล็กซานเดรียได้กลายเป็นแหล่งชุมชนขนาดใหญ่แห่งหนึ่งของชาวยิว. หลังจากกลับจากถูกเนรเทศไปบาบิโลน ชาวยิวจำนวนมากซึ่งอาศัยอยู่ตามนิคมต่าง ๆ ที่กระจัดกระจายอยู่นอกเขตปาเลสไตน์ได้ย้ายถิ่นฐานไปยังเมืองอะเล็กซานเดรีย. ชาวยิวเหล่านี้รู้ภาษาฮีบรูดีแค่ไหน? สารานุกรม ของแมกคลินทอกและสตรองก์กล่าวดังนี้: “เป็นที่ทราบกันดีว่า ชาวยิวที่กลับจากการเป็นเชลยในบาบิโลนได้สูญเสียความรู้จักคุ้นเคยภาษาฮีบรูโบราณไปมาก การอ่านม้วนหนังสือของโมเซในธรรมศาลาในปาเลสไตน์มีการอธิบายแก่พวกเขาเป็นภาษาแคลเดีย . . . ชาวยิวในเมืองอะเล็กซานเดรียคงจะยิ่งรู้ภาษาฮีบรูน้อยกว่า; ภาษาที่พวกเขาคุ้นเคยคือ ภาษากรีกที่ใช้ในอะเล็กซานเดรีย.” ดูเหมือนว่าสภาพการณ์ในอะเล็กซานเดรียทำให้เหมาะแก่การแปลพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูไปเป็นภาษากรีก.
อาริสโตบุลุส ชาวยิวคนหนึ่งที่มีชีวิตในศตวรรษที่สองก่อนสากลศักราชเขียนไว้ว่า การแปลพระบัญญัติฮีบรูเป็นภาษากรีกเสร็จสมบูรณ์ในรัชกาลปโตเลมี ฟิลาเดลฟุส (285-246 ก่อน ส.ศ.). มีความเห็นที่หลากหลายกันว่าอาริสโตบุลุสหมายถึงอะไรเมื่อเขาใช้คำ “พระบัญญัติ.” บางคนคิดว่าเขาหมายถึงเพียงหมวดเพนทาทุก (พระธรรมห้าเล่มแรกของโมเซ) ในขณะที่คนอื่นกล่าวว่าเขาคงหมายถึงพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูทั้งหมด.
ไม่ว่าจะเป็นอย่างไร ตามที่เล่าสืบต่อกันมา กล่าวกันว่ามีผู้คงแก่เรียนชาวยิวราว 72 คนเกี่ยวข้องในการแปลพระคัมภีร์จากภาษาฮีบรูไปเป็นภาษากรีกฉบับแรก. ต่อมา เริ่มมีการใช้ตัวเลขที่ได้จากปัดเศษคือ 70. ดังนั้น จึงเรียกฉบับแปลนี้ว่าเซปตัวจินต์ หมายถึง “70” และกำหนดสัญลักษณ์แทนว่า LXX ซึ่งเป็นเลขโรมันสำหรับ 70. พอถึงปลายศตวรรษที่สองก่อนสากลศักราช พระธรรมทุกเล่มของพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูก็หาอ่านได้ในภาษากรีก. ด้วยเหตุนี้ เซปตัวจินต์ จึงกลายมาเป็นชื่อเรียกพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูทั้งหมดที่แปลไปเป็นภาษากรีก.
เป็นประโยชน์ในศตวรรษแรก
ฉบับเซปตัวจินต์ ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายโดยชาวยิวที่พูดภาษากรีกทั้งก่อนและระหว่างสมัยพระเยซูคริสต์และอัครสาวกของพระองค์. ชาวยิวและผู้ที่เปลี่ยนมาถือศาสนายิวซึ่งร่วมชุมนุมกันที่กรุงเยรูซาเลมในวันเพนเตคอสเต ปี ส.ศ. 33 หลายคนมาจากมณฑลเอเชีย, อียิปต์, ลิเบีย, กรุงโรม, และเกาะครีต ซึ่งเป็นดินแดนที่ผู้คนพูดภาษากรีก. ไม่มีข้อสงสัยว่าปกติแล้วพวกเขาอ่านจากฉบับเซปตัวจินต์. (กิจการ 2:9-11) ด้วยเหตุนี้ ฉบับแปลนี้จึงมีบทบาทสำคัญในการแพร่กระจายข่าวดีในศตวรรษแรก.
เพื่อเป็นตัวอย่าง เมื่อพูดกับชาวยิวที่มาจากเมืองไซรีน (กุเรเน), เมืองอะเล็กซานเดรีย, มณฑลซิลีเซีย (กิลิเกีย), และมณฑลเอเชีย ซะเตฟาโนผู้เป็นสาวกกล่าวว่า “โยเซฟจึงได้เชิญยาโคบผู้บิดากับบรรดาวงศ์ญาติของตนเจ็ดสิบห้าคน [จากคะนาอัน] ให้มาหา.” (กิจการ 6:8-10; 7:12-14) ข้อความภาษาฮีบรูที่พระธรรมเยเนซิศบท 46 กล่าวว่าจำนวนวงศ์ญาติของโยเซฟคือเจ็ดสิบ. แต่จำนวนที่ระบุในฉบับเซปตัวจินต์ คือเจ็ดสิบห้า. เห็นได้ชัดว่าซะเตฟาโนยกข้อความนี้มากล่าวจากฉบับเซปตัวจินต์.—เยเนซิศ 46:20, 26, 27, เชิงอรรถ ล.ม.
ขณะที่อัครสาวกเปาโลเดินทางไปทั่วเอเชียน้อยและกรีซระหว่างการเดินทางรอบสองและสามของท่านในฐานะมิชชันนารี ท่านได้ประกาศแก่ชาวต่างชาติหลายคนที่เกรงกลัวพระเจ้ารวมทั้ง “ชาวกรีกที่ถือพระเจ้า.” (กิจการ 13: 16, 26; 17:4, ฉบับแปลใหม่) คนเหล่านี้ได้เข้ามาเกรงกลัวพระเจ้าและนมัสการพระองค์ก็เพราะพวกเขาได้รับความรู้บางส่วนเกี่ยวกับพระองค์จากฉบับเซปตัวจินต์. ในการประกาศกับประชาชนที่พูดภาษากรีกเหล่านี้ เปาโลมักยกข้อความหรือถอดความมากล่าวจากฉบับแปลดังกล่าว.—เยเนซิศ 22:18; ฆะลาเตีย 3:8.
พระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีกยกข้อความจากพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูมากล่าวโดยตรงประมาณ 320 ครั้ง รวมการยกข้อความมากล่าวและอ้างถึงได้ประมาณ 890 ครั้ง. การยกข้อความมากล่าวส่วนใหญ่แล้วอาศัยฉบับเซปตัวจินต์. ผลก็คือข้อความที่ยกมากล่าวจากฉบับแปลนั้น ไม่ใช่จากฉบับสำเนาภาษาฮีบรู ได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีกที่มีขึ้นโดยการดลใจ. นี่นับว่าเป็นข้อเท็จจริงที่สำคัญ! พระเยซูทรงบอกล่วงหน้าว่าข่าวดีเรื่องราชอาณาจักรจะได้รับการประกาศทั่วทั้งแผ่นดินโลกที่มีคนอาศัยอยู่. (มัดธาย 24:14, ล.ม.) เพื่อให้สิ่งนี้บรรลุผลสำเร็จ พระยะโฮวาจึงทรงอนุญาตให้แปลพระคำที่มีขึ้นโดยการดลใจของพระองค์เป็นภาษาต่าง ๆ ที่คนทั่วโลกสามารถอ่านได้.
เป็นประโยชน์ในทุกวันนี้
ฉบับเซปตัวจินต์ ยังคงมีคุณค่าในปัจจุบันและถูกนำมาใช้เพื่อช่วยค้นหาข้อผิดพลาดซึ่งเกิดจากการคัดลอกที่อาจค่อย ๆ ปนเข้ามาในฉบับสำเนาภาษาฮีบรูที่มีการคัดลอกในสมัยต่อมา. ยกตัวอย่าง เรื่องราวที่เยเนซิศ 4:8 อ่านว่า “ฝ่ายคายินก็บอกกับเฮเบลน้องชายของตน. [“ให้เราไปที่นาด้วยกัน.” ล.ม.] ภายหลังเมื่ออยู่ที่นาด้วยกัน, คายินก็ลุกขึ้นฆ่าเฮเบลน้องชายของตนเสีย.”
อนุประโยคในวงเล็บเหลี่ยมที่ว่า “ให้เราไปที่นาด้วยกัน” ไม่พบอยู่ในฉบับสำเนาภาษาฮีบรูที่คัดลอกตั้งแต่ศตวรรษที่สิบ ส.ศ. เป็นต้นมา. อย่างไรก็ตาม อนุประโยคดังกล่าวมีอยู่ในฉบับสำเนาเซปตัวจินต์ ที่เก่าแก่กว่าและในฉบับสำเนายุคต้น ๆ อีกบางฉบับที่ใช้อ้างอิง. ข้อความที่อยู่ในฉบับสำเนาภาษาฮีบรูนี้เป็นถ้อยคำที่ปกติแล้วแนะว่าจะมีคำพูดตามมา แต่ก็ไม่มีคำพูดใด ๆ ตามมา. อะไรอาจเป็นเหตุให้เป็นอย่างนั้น? เยเนซิศ 4:8 มีสองอนุประโยคที่ต่อกันซึ่งจบลงด้วยวลี “ที่นาด้วยกัน.” สารานุกรม ของแมกคลินทอกและสตรองก์เสนอแนะเหตุผลว่า “ผู้คัดลอกชาวฮีบรูอาจตาลายเมื่อเห็นวลีเดียวกัน . . . อยู่ท้ายอนุประโยคทั้งสอง.” ผู้คัดลอกจึงอาจมองข้ามอนุประโยคที่อยู่ก่อนหน้านั้นซึ่งจบลงด้วยถ้อยคำที่ว่า “ที่นาด้วยกัน.” เห็นได้ชัดว่าฉบับเซปตัวจินต์ และฉบับสำเนาอื่น ๆ ที่มีอยู่ที่เก่าแก่กว่าเป็นประโยชน์ในการระบุข้อผิดพลาดที่เกิดจากการคัดลอกข้อความภาษาฮีบรูในฉบับสำเนาสมัยต่อมา.
ในอีกด้านหนึ่ง ฉบับคัดลอกของเซปตัวจินต์ เองก็อาจมีข้อผิดพลาดเช่นกัน และบางครั้ง ข้อความภาษาฮีบรูก็ถูกใช้เป็นพื้นฐานสำหรับแก้ไขข้อความภาษากรีก. ดังนั้น โดยการเทียบฉบับสำเนาภาษาฮีบรูกับฉบับแปลภาษากรีกและกับฉบับแปลภาษาอื่น ๆ ทำให้สามารถพบข้อผิดพลาดที่เกิดจากการแปลและการคัดลอก และทำให้เรามั่นใจได้ว่ามีการแปลพระคำของพระเจ้าอย่างถูกต้อง.
ฉบับสำเนาที่ครบถ้วนของเซปตัวจินต์ ที่เรามีในทุกวันนี้มีอายุย้อนไปถึงศตวรรษที่สี่ ส.ศ. ฉบับสำเนาเหล่านี้และฉบับคัดลอกในสมัยต่อ ๆ มาไม่มีพระนามของพระเจ้า คือยะโฮวา ที่แสดงด้วยอักษรฮีบรูสี่ตัวที่เรียกว่าเททรากรัมมาทอน (ยฮวฮ). ฉบับคัดลอกเหล่านี้ได้ใช้คำภาษากรีกที่แปลว่า “พระเจ้า” และ “องค์พระผู้เป็นเจ้า” ใส่แทนทุกที่ที่เททรากรัมมาทอนปรากฏอยู่ในข้อความภาษาฮีบรู. อย่างไรก็ตาม การค้นพบในเขตปาเลสไตน์ประมาณ 50 ปีมาแล้วได้ช่วยไขความกระจ่างในเรื่องนี้. ทีมงานที่สำรวจถ้ำใกล้ชายฝั่งด้านตะวันตกของทะเลตายได้ค้นพบชิ้นส่วนม้วนแผ่นหนังโบราณของพวกผู้พยากรณ์น้อย 12 คน (โฮเซอาถึงมาลาคี) ที่เขียนด้วยภาษากรีก. งานเขียนเหล่านี้ได้รับการระบุอายุว่าอยู่ในช่วงปี 50 ก่อน ส.ศ. ถึงปี ส.ศ. 50. ในชิ้นส่วนฉบับสำเนาเซปตัวจินต์ ที่เก่าแก่กว่าเหล่านี้ เททรากรัมมาทอนไม่ถูกแทนที่ด้วยคำภาษากรีกที่แปลว่า “พระเจ้า” และ “องค์พระผู้เป็นเจ้า.” ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นการยืนยันว่ามีการใช้พระนามของพระเจ้าในฉบับแปลเซปตัวจินต์ ยุคต้น ๆ.
ในปี 1971 ได้มีการพิมพ์ภาพชิ้นส่วนม้วนแผ่นพาไพรัสโบราณเพื่อเผยแพร่แก่สาธารณชน (พาไพรัสฟูอัด 266). ชิ้นส่วนของเซปตัวจินต์ เหล่านี้ที่มีอายุย้อนหลังไปถึงศตวรรษที่สองหรือหนึ่งก่อน ส.ศ. ได้เปิดเผยอะไร? พระนามของพระเจ้าได้รับการรักษาไว้ในชิ้นส่วนเหล่านี้เช่นกัน. ชิ้นส่วนเซปตัวจินต์ ในยุคต้น ๆ เหล่านี้ให้หลักฐานที่หนักแน่นว่าพระ
เยซูและเหล่าสาวกในศตวรรษแรกรู้จักและใช้พระนามของพระเจ้า.ทุกวันนี้ คัมภีร์ไบเบิลเป็นหนังสือที่ได้รับการแปลอย่างกว้างขวางมากที่สุดในประวัติศาสตร์. มากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ของครอบครัวมนุษย์สามารถหาคัมภีร์ไบเบิลอ่านได้อย่างน้อยบางส่วนในภาษาของตนเอง. เรารู้สึกขอบคุณเป็นพิเศษที่มีฉบับแปลหนึ่งที่แปลอย่างถูกต้องแม่นยำโดยใช้ภาษาสมัยปัจจุบัน คือพระคัมภีร์บริสุทธิ์ฉบับแปลโลกใหม่ ซึ่งปัจจุบันมีให้อ่านได้ทั้งเล่มหรือบางส่วนในกว่า 40 ภาษา. พระคัมภีร์บริสุทธิ์ฉบับแปลโลกใหม่—พร้อมด้วยข้ออ้างอิง บรรจุเชิงอรรถที่อ้างอิงถึงฉบับเซปตัวจินต์ และฉบับสำเนาสมัยโบราณอื่น ๆ ไว้หลายร้อยแห่ง. ที่จริงแล้ว ฉบับเซปตัวจินต์ ยังคงน่าสนใจและมีคุณค่าสำหรับนักศึกษาคัมภีร์ไบเบิลในยุคของเรา.
[ภาพหน้า 26]
ฟิลิปผู้เป็นสาวกอธิบายข้อความที่อ่านจากฉบับ “เซปตัวจินต์”
[ภาพหน้า 29]
อัครสาวกเปาโลมักยกข้อความมากล่าวจากฉบับ “เซปตัวจินต์”