นมัสการพระเจ้า “ด้วยวิญญาณ”
นมัสการพระเจ้า “ด้วยวิญญาณ”
“ท่านจะเปรียบพระเจ้าเหมือนผู้ใด? หรือจะสร้างรูปพระองค์ให้คล้ายกับอะไร?” ยะซายา 40:18 “เดอะ เจรูซาเลม ไบเบิล”
บางทีคุณอาจเชื่ออย่างจริงใจว่าการใช้รูปบูชาเป็นที่ยอมรับได้ในการนมัสการพระเจ้า. คุณอาจรู้สึกว่าการทำเช่นนั้นทำให้คุณเข้าใกล้พระผู้ทรงสดับคำอธิษฐานมากยิ่งขึ้น ซึ่งพระองค์นั้นไม่ทรงประจักษ์แก่ตาทั้งยังอาจดูเหมือนไม่ใช่บุคคลและปราศจากตัวตน.
แต่เรามีอิสระอย่างเต็มที่ที่จะเลือกวิธีการของเราเองในการเข้าหาพระเจ้าไหม? ไม่ใช่พระเจ้าเองหรอกหรือที่ควรเป็นผู้มีสิทธิ์ตัดสินในที่สุดว่าอะไรเป็นสิ่งที่ยอมรับได้และอะไรที่ยอมรับไม่ได้? พระเยซูทรงอธิบายทัศนะของพระเจ้าในเรื่องนี้เมื่อพระองค์ตรัสว่า “เราเป็นทางนั้น เป็นความจริงและเป็นชีวิต. ไม่มีผู้ใดมาถึงพระบิดาได้นอกจากจะมาทางเรา.” (โยฮัน 14:6) * เพียงคำตรัสของพระเยซูในข้อนี้ข้อเดียวก็เห็นได้ชัดว่าไม่อนุญาตให้มีการใช้รูปบูชาหรือวัตถุศักดิ์สิทธิ์อื่นใด.
ถูกแล้ว มีวิธีการนมัสการเฉพาะอย่างหนึ่งซึ่งพระยะโฮวาพระเจ้าทรงยอมรับ. นั่นคือการนมัสการแบบใด? ในอีกโอกาสหนึ่ง พระเยซูทรงชี้แจงว่า “วาระนั้นจะมา—ที่จริงก็ถึงแล้ว—เมื่อผู้ที่นมัสการอย่างถูกต้องจะนมัสการพระบิดาด้วยวิญญาณและความจริง: นั่นเป็นผู้นมัสการแบบที่พระบิดาทรงต้องการ. พระเจ้าทรงเป็นพระวิญญาณ และผู้ที่นมัสการพระองค์ต้องนมัสการด้วยวิญญาณและความจริง.”—โยฮัน 4:23, 24.
รูปที่เป็นวัตถุจะสามารถเป็นตัวแทนของพระเจ้าผู้ทรง “เป็นพระวิญญาณ” ได้ไหม? ไม่ได้. ไม่ว่ารูปบูชาจะสวยงามน่าประทับใจเพียงใด ก็ไม่อาจเทียบได้กับสง่าราศีของพระเจ้า. ดังนั้น รูปของพระเจ้าจึงไม่อาจเป็นตัวแทนที่แท้จริงของโรม 1:22, 23) ใครคนหนึ่งจะ ‘นมัสการด้วยความจริง’ ไหมหากเขาเข้าหาพระเจ้าโดยผ่านทางรูปบูชาที่มนุษย์ทำขึ้น?
พระองค์ได้. (คำสอนที่ชัดเจนของคัมภีร์ไบเบิล
กฎหมายของพระเจ้าห้ามการทำรูปต่าง ๆ เป็นวัตถุสำหรับนมัสการ. ข้อที่สองของพระบัญญัติสิบประการบัญชาไว้ดังนี้: “เจ้าอย่าทำรูปเคารพสำหรับตนเป็นรูปสิ่งใดซึ่งมีอยู่ในฟ้าเบื้องบนหรือบนแผ่นดินเบื้องล่างหรือในน้ำใต้แผ่นดิน; อย่ากราบไหว้หรือปรนนิบัติรูปเหล่านั้น.” (เอ็กโซโด 20:4, 5) นอกจากนี้ พระคัมภีร์คริสเตียนซึ่งมีขึ้นโดยการดลใจยังสั่งอีกด้วยว่า “ท่านต้องอยู่ห่างจากการบูชารูปเคารพ.”—1 โกรินโธ 10:14.
จริงอยู่ หลายคนอาจแย้งว่าการที่พวกเขาใช้รูปจำลองต่าง ๆ ในการนมัสการนั้นไม่ใช่การบูชารูปเคารพ. ตัวอย่างเช่น คริสเตียนออร์โทด็อกซ์มักปฏิเสธว่าแท้จริงแล้วพวกเขาไม่ได้นมัสการรูปบูชาขณะที่เขาก้มคำนับ, คุกเข่า, และอธิษฐานต่อหน้ารูปเหล่านั้น. บาทหลวงออร์โทด็อกซ์คนหนึ่งเขียนว่า “เราแสดงความเคารพต่อรูปบูชาเพราะรูปเหล่านั้นเป็นสิ่งบริสุทธิ์ และเพราะเราเคารพผู้ที่รูปบูชานั้นแสดงถึง.”
อย่างไรก็ตาม ยังคงมีคำถามว่า พระเจ้าทรงเห็นชอบกับการใช้รูปบูชาต่าง ๆ เพื่อจุดประสงค์สำหรับสิ่งที่เรียกว่าเป็นการแสดงความเคารพทางอ้อมไหม? ไม่มีที่ใดในคัมภีร์ไบเบิลอนุญาตให้ทำเช่นนั้น. เมื่อชาวอิสราเอลทำรูปโคขึ้นโดยอ้างว่าทำเพื่อถวายความเคารพต่อพระยะโฮวา พระองค์ทรงแสดงให้เห็นว่าไม่ทรงเห็นชอบด้วยอย่างยิ่ง โดยตรัสว่าสิ่งที่พวกเขาทำนั้นเป็นการออกหาก.—เอ็กโซโด 32:4-7.
อันตรายที่แฝงเร้น
การใช้รูปบูชาในการนมัสการเป็นกิจปฏิบัติที่อันตราย. การทำเช่นนั้นสามารถล่อผู้คนอย่างง่ายดายให้นมัสการวัตถุแทนที่จะนมัสการพระเจ้าผู้ซึ่งวัตถุนั้นเป็นตัวแทนถึง. พูดอีก
อย่างก็คือ รูปบูชากลายมาเป็นจุดรวมความสนใจจนเป็นการนมัสการรูปเคารพ.นั่นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับวัตถุสิ่งของมากมายในสมัยของชาวอิสราเอล. ตัวอย่างเช่น โมเซได้ทำรูปงูทองแดงขึ้นระหว่างที่พวกเขาเดินทางในถิ่นทุรกันดาร. ทีแรกจุดประสงค์ของรูปงูบนเสานั้นก็เพื่อใช้เป็นวิธีการเยียวยารักษา. ผู้ที่ถูกลงโทษให้งูกัดสามารถมองที่งูทองแดงนั้นและได้รับการช่วยเหลือจากพระเจ้า. แต่หลังจากที่ผู้คนตั้งรกรากในแผ่นดินตามคำสัญญาแล้ว ดูเหมือนว่าพวกเขาได้ทำให้เสาที่มีงูพันอยู่นี้กลายเป็นรูปเคารพ ราวกับว่างูทองแดงนั้นเองที่มีอำนาจรักษาพวกเขาได้. พวกเขาได้เผาเครื่องหอมบูชาแก่รูปงูนั้นและกระทั่งตั้งชื่อให้รูปนั้นว่า นะฮุศธาน.—อาฤธโม 21:8, 9; 2 กษัตริย์ 18:4.
นอกจากนั้น พวกอิสราเอลยังได้พยายามจะใช้หีบสัญญาไมตรีเป็นเครื่องรางป้องกันเหล่าศัตรู ซึ่งการทำเช่นนั้นยังผลเป็นความหายนะ. (1 ซามูเอล 4:3, 4; 5:11) และในสมัยของยิระมะยา ชาวเมืองเยรูซาเลมสนใจในพระวิหารมากกว่าการนมัสการพระเจ้าที่นั่น.—ยิระมะยา 7:12-15.
แนวโน้มที่จะนมัสการสิ่งต่าง ๆ แทนพระเจ้ายังคงแพร่หลายอยู่จนทุกวันนี้. นักวิจัยชื่อวิทาลี อิวานยิช เปเทรนโก กล่าวว่า “รูปบูชา . . . กลายมาเป็นวัตถุสำหรับนมัสการและเสี่ยงที่จะกลายเป็นการนมัสการรูปเคารพ . . . คนเราต้องยอมรับว่าโดยแท้แล้วการนมัสการรูปบูชาเป็นแนวคิดแบบนอกรีตซึ่งถูกนำเข้ามาโดยทางความเชื่อต่าง ๆ อันเป็นที่นิยม.” คล้ายคลึงกัน บาทหลวงกรีกออร์โทด็อกซ์ชื่อดิมิทริออส คอนสตันเตลอสกล่าวไว้ในหนังสือของเขาที่ชื่อการเข้าใจคริสตจักรกรีกออร์โทด็อกซ์ ว่า “เป็นไปได้ที่คริสเตียนจะทำให้รูปบูชากลายเป็นวัตถุสำหรับนมัสการ.”
คำกล่าวอ้างที่ว่ารูปบูชาเป็นเพียงเครื่องช่วยในการนมัสการโดยอ้อมนั้นยังคงเป็นเรื่องน่าสงสัยอยู่มาก. เพราะเหตุใด? ก็ไม่จริงหรอกหรือที่อาจมีการถือกันว่ารูปบูชาของมาเรียหรือของ “นักบุญ” บางรูปนั้นมีค่า
คู่ควรแก่การเลื่อมใสยิ่งกว่าหรือทำอะไร ๆ ได้มากกว่ารูปบูชาอื่น ๆ ของบุคคลเดียวกันนี้ซึ่งเสียชีวิตไปนานแล้ว? ตัวอย่างเช่น เมื่อเทียบกันแล้ว ผู้เคร่งศาสนาชาวออร์โทด็อกซ์ที่เลื่อมใสศรัทธาต่อรูปบูชาของมาเรียที่เกาะทินอส ประเทศกรีซนั้นมีจำนวนมากพอ ๆ กับกลุ่มที่จงรักภักดีต่อรูปมาเรียในซุเมลา ซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของกรีซ. ทั้งสองกลุ่มต่างก็เชื่อว่ารูปบูชาของตนนั้นเหนือกว่าและทำสิ่งอัศจรรย์ที่ยิ่งใหญ่กว่าของอีกฝ่ายหนึ่ง ทั้ง ๆ ที่ทั้งสองรูปต่างก็เป็นเป็นตัวแทนของบุคคลเดียวกันซึ่งเสียชีวิตนานมาแล้ว. ดังนั้น ในความเป็นจริงแล้ว ผู้คนเชื่อกันไปเองว่ารูปบูชาบางรูปมีอำนาจที่แท้จริงและนมัสการรูปเหล่านั้น.เข้าเฝ้า “นักบุญ” หรือมาเรีย?
ถ้าเช่นนั้นจะว่าอย่างไรสำหรับการแสดงความเคารพต่อบุคคล เช่น มาเรียหรือ “นักบุญ”? ในคำตอบของพระเยซูเมื่อซาตานมาทดลอง พระองค์ทรงอ้างถึงพระบัญญัติ 6:13 และตรัสว่า “จงนมัสการองค์พระผู้เป็นเจ้าพระเจ้าของท่าน และปรนนิบัติพระองค์แต่ผู้เดียว.” (มัดธาย 4:10) ต่อมาภายหลังพระองค์ตรัสว่าผู้นมัสการแท้จะนมัสการ “พระบิดา” ไม่ใช่ผู้อื่น. (โยฮัน 4:23) โดยตระหนักในเรื่องนี้ ทูตสวรรค์องค์หนึ่งจึงว่ากล่าวอัครสาวกโยฮันที่พยายามจะนมัสการท่าน โดยกล่าวว่า “อย่าเลย . . . จงนมัสการพระเจ้าเถิด.”—วิวรณ์ 22:9.
เป็นการเหมาะสมไหมที่จะอธิษฐานถึงมาเรีย มารดาทางแผ่นดินโลกของพระเยซูหรือถึง “นักบุญ” บางคนเพื่อขอให้คนเหล่านั้นเป็นผู้กลางระหว่างพระเจ้าเพื่อใครคนใดคนหนึ่ง? คำตอบตรง ๆ จากคัมภีร์ไบเบิลคือดังนี้: “มีคนกลางแต่ผู้เดียวระหว่างพระเจ้ากับมนุษย์, พระคริสต์เยซูผู้ทรงสภาพเป็นมนุษย์.”—1 ติโมเธียว 2:5.
จงรักษาสัมพันธภาพของคุณกับพระเจ้า
การใช้รูปบูชาในการนมัสการซึ่งเป็นการขัดต่อหลักคำสอนที่ชัดเจนของคัมภีร์ไบเบิลนั้น ไม่สามารถช่วยผู้คนให้ได้มาซึ่งความพอพระทัยจากพระเจ้าและรับความรอดได้. ตรงกันข้าม พระเยซูตรัสว่าชีวิตนิรันดร์ขึ้นอยู่กับการที่เรารับเอาความรู้ถ่องแท้เกี่ยวกับพระเจ้าเที่ยงแท้องค์เดียว ทำความคุ้นเคยกับบุคลิกภาพที่ไม่อาจเอาอะไรมาเทียบได้ของพระองค์ รวมถึงพระประสงค์ต่าง ๆ ของพระองค์และวิธีที่พระองค์ทรงปฏิบัติกับมนุษย์. (โยฮัน 17:3) รูปบูชาต่าง ๆ ที่มองไม่เห็น, ไม่มีความรู้สึก, หรือพูดไม่ได้นั้นไม่ได้ช่วยคนเราให้รู้จักพระเจ้าและนมัสการพระองค์ในแบบที่ยอมรับได้. (บทเพลงสรรเสริญ 115:4-8) ความรู้เกี่ยวกับพระเจ้าเที่ยงแท้องค์เดียวเช่นนั้นจะมีได้โดยการศึกษาคัมภีร์ไบเบิล พระคำของพระเจ้าเท่านั้น.
การนมัสการรูปบูชาต่าง ๆ นอกจากจะไม่ให้ประโยชน์อันใดแล้ว ยังเป็นอันตรายทางฝ่ายวิญญาณด้วย. เป็นเช่นนั้นได้อย่างไร? แรกทีเดียว การทำเช่นนั้นสามารถทำให้สัมพันธภาพระหว่างคนเรากับพระยะโฮวาร้าวฉาน. พระเจ้าได้ทรงตรัสล่วงหน้าถึงพวกอิสราเอลผู้ซึ่ง “ทำให้พระทัยพระองค์มีความหวงแหนด้วยพระอื่น ๆ” ว่า “เราจะซ่อนหน้าของเราเสียจากเขา.” (พระบัญญัติ 32:16, 20) เพื่อจะสร้างสัมพันธภาพกับพระเจ้าขึ้นใหม่นั้นพวกเขาจะต้อง ‘ทิ้งรูปเคารพของตนซึ่งได้ทำขึ้นอย่างบาปหนา.’—ยะซายา 31:6, 7, ฉบับแปลใหม่.
ดังนั้น นับว่าเหมาะเพียงไรที่พระคัมภีร์ให้คำแนะนำดังนี้: “ลูกทั้งหลายเอ๋ย จงระวังรักษาตัวอย่าเกี่ยวข้องกับรูปเคารพ.”—1 โยฮัน 5:21, ฉบับแปลใหม่.
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 4 เว้นแต่มีการแสดงไว้เป็นอย่างอื่น ข้อคัมภีร์ที่ยกมากล่าวแปลจากคัมภีร์ฉบับแปลเจรูซาเลมไบเบิลของคาทอลิก.
[กรอบหน้า 6]
ได้รับการช่วยให้นมัสการ “ด้วยวิญญาณ”
โอลิเวราเคยเป็นสมาชิกผู้เคร่งครัดของคริสตจักรออร์โทด็อกซ์ในแอลเบเนีย. เมื่อประเทศนี้ประกาศให้การนับถือศาสนาเป็นสิ่งผิดกฎหมายในปี 1967 โอลิเวรายังคงปฏิบัติศาสนาของเธอต่อไปอย่างลับ ๆ. เธอใช้เงินส่วนใหญ่ของเบี้ยบำนาญอันน้อยนิดไปกับการซื้อรูปบูชาทำด้วยทองคำและเงิน, เครื่องหอม, และเทียน. เธอซ่อนของเหล่านี้ไว้ที่เตียงนอนและตัวเธอเองก็มักจะนอนบนเก้าอี้ใกล้ ๆ เนื่องจากกลัวว่าจะมีคนมาเห็นหรือมาขโมยของเหล่านั้น. เมื่อมีพยานพระยะโฮวามาเยี่ยมในช่วงต้นทศวรรษ 1990 โอลิเวราได้ตระหนักว่าข่าวสารของพวกเขาเป็นความจริงจากคัมภีร์ไบเบิล. เธอได้เห็นสิ่งที่ไบเบิลกล่าวเกี่ยวกับการนมัสการแท้ว่าเป็นการนมัสการ “ด้วยวิญญาณ” และเธอได้เรียนรู้ว่าพระเจ้าทรงรู้สึกอย่างไรกับการใช้รูปบูชา. (โยฮัน 4:24, ล.ม.) พยานฯ ที่ศึกษาคัมภีร์ไบเบิลกับเธอได้สังเกตว่าในแต่ละครั้งที่มาเยี่ยม บ้านของโอลิเวราจะมีรูปบูชาน้อยลง. ในที่สุดก็ไม่มีรูปใด ๆ เหลืออยู่เลย. หลังจากที่เธอรับบัพติสมาแล้ว โอลิเวราให้ความเห็นว่า “ทุกวันนี้ แทนที่จะมีรูปบูชาซึ่งช่วยอะไรไม่ได้ ดิฉันมีพระวิญญาณบริสุทธิ์ของพระยะโฮวา. ดิฉันรู้สึกขอบคุณอย่างยิ่งที่สามารถมีพระวิญญาณบริสุทธิ์ของพระยะโฮวาได้โดยไม่ต้องใช้รูปบูชาใด ๆ.”
อะทีนา จากเกาะเลสบอส ในประเทศกรีซ เป็นสมาชิกคริสตจักรออร์โทด็อกซ์ที่กระตือรือร้นอย่างยิ่ง. เธอเป็นสมาชิกคณะร้องเพลงในโบสถ์และติดตามประเพณีทางศาสนาอย่างเคร่งครัดรวมถึงการใช้รูปบูชาต่าง ๆ. พยานพระยะโฮวาได้ช่วยอะทีนาให้ตระหนักว่าไม่ใช่ทุกสิ่งที่เธอได้รับการสอนมาจะสอดคล้องกับคัมภีร์ไบเบิล. นี่รวมถึงการใช้รูปบูชาต่าง ๆ และไม้กางเขนในการนมัสการด้วย. อะทีนายืนกรานที่จะค้นคว้าด้วยตัวเองเพื่อหาที่มาของวัตถุบูชาทางศาสนาเหล่านี้. หลังจากที่ได้ค้นคว้าอย่างถี่ถ้วนจากหลักฐานอ้างอิงมากมาย เธอก็มั่นใจว่าวัตถุบูชาเหล่านั้นไม่ได้มีต้นตอมาจากศาสนาคริสเตียน. ความปรารถนาของเธอที่จะนมัสการพระเจ้า “ด้วยวิญญาณ” กระตุ้นให้เธอกำจัดรูปบูชาทั้งหมดที่เธอมี แม้ว่าของเหล่านั้นจะมีมูลค่ามากก็ตาม. แต่อะทีนาก็ยินดียอมสูญเสียไม่ว่าสิ่งใดเพื่อจะนมัสการพระเจ้าในวิธีที่สะอาดและเป็นที่ยอมรับได้ทางฝ่ายวิญญาณ.—กิจการ 19:19.
[กรอบ/ภาพหน้า 7]
รูปบูชาเป็นเพียงงานศิลป์หรือ?
ไม่กี่ปีมานี้ รูปบูชาของออร์โทด็อกซ์กลายเป็นของสะสมของผู้คนทั่วโลก. เหล่านักสะสมมักมองว่ารูปบูชาไม่ใช่วัตถุศักดิ์สิทธิ์ทางศาสนา แต่เป็นงานศิลป์ที่สะท้อนวัฒนธรรมยุคไบแซนไทน์. ไม่แปลกที่จะพบรูปบูชาทางศาสนาเหล่านี้ประดับอยู่ในบ้านหรือในสำนักงานของใครคนหนึ่งซึ่งอ้างตัวว่าเป็นนักอเทวนิยม.
อย่างไรก็ตาม คริสเตียนที่จริงใจไม่ลืมจุดประสงค์เบื้องต้นของรูปบูชา. รูปเช่นนั้นเป็นวัตถุสำหรับใช้ในการนมัสการ. แม้ว่าคริสเตียนจะไม่คัดค้านสิทธิของผู้อื่นในการเป็นเจ้าของรูปเหล่านั้น แต่โดยส่วนตัวแล้วพวกเขาจะไม่มีรูปบูชาไว้เป็นของเขาเอง แม้จะเป็นในรูปของของสะสมก็ตาม. การทำเช่นนั้นประสานกับหลักการที่พบในพระบัญญัติ 7:26 ที่ว่า “เจ้าอย่าได้เอาของซึ่งเป็นที่เกลียดชัง [รูปจำลองที่ใช้ในการนมัสการ] เข้ามาในเรือนของเจ้า, กลัวว่าเจ้าเองจะเป็นที่ต้องแช่งด้วยกัน: แต่เจ้าจงเกลียดชังของเหล่านั้นอย่างยิ่งที่สุด; ด้วยเป็นของที่ถูกแช่งแล้ว.”
[ภาพหน้า 7]
พระเจ้าไม่ทรงอนุญาตให้ใช้รูปจำลองใด ๆ ในการนมัสการ
[ภาพหน้า 8]
ความรู้จากคัมภีร์ไบเบิลช่วยเราให้นมัสการพระเจ้าด้วยวิญญาณ