ต้นตอแต่โบราณของรูปบูชาทางศาสนา
ต้นตอแต่โบราณของรูปบูชาทางศาสนา
“รูปบูชาเป็นวิธีหนึ่งที่เชื่อมเราเข้ากับความดีงามและความบริสุทธิ์ของพระเจ้าและเหล่านักบุญของพระองค์.” เขตปกครองของอาร์ชบิชอปกรีกออร์โทด็อกซ์แห่งออสเตรเลีย
ในวันที่ร้อนอบอ้าวของเดือนสิงหาคมเช่นนี้ ดวงอาทิตย์สาดแสงจ้าบนขั้นบันไดซีเมนต์ที่จะขึ้นไปยังอารามแห่ง “พระมารดาผู้บริสุทธิ์ที่สุดของพระเจ้า” บนเกาะทินอส ในทะเลอีเจียน. ความร้อนที่แผดเผาไม่ได้ทำให้ความมุ่งมั่นของเหล่าผู้แสวงบุญชาวกรีกออร์โทด็อกซ์ที่เปี่ยมศรัทธากว่า 25,000 คนลดน้อยถอยลงแต่อย่างใดขณะที่พวกเขาก้าวตามกันไปอย่างเชื่องช้า เพียรพยายามจะไปให้ถึงรูปบูชาพระมารดาของพระเยซูซึ่งประดับตกแต่งไว้อย่างหรูหรา.
เด็กหญิงขาพิการคนหนึ่งกำลังคลานด้วยเข่าที่โชกเลือด เห็นได้ชัดว่าเธอกำลังเจ็บปวดและใบหน้าของเธอดูสิ้นหวัง. ไม่ไกลจากเด็กคนนั้น หญิงชราที่จวนจะหมดแรงผู้ซึ่งเดินทางมาจากสุดปลายอีกด้านหนึ่งของประเทศกำลังพยายามอย่างหนักเพื่อจะยกเท้าที่อ่อนล้าให้ก้าวต่อไป. ชายวัยกลางคนผู้กระตือรือร้นตัวเปียกชุ่มไปด้วยเหงื่อขณะที่เขาพยายามจะแทรกตัวอย่างเร่งรีบฝ่าฝูงชนที่เบียดเสียดเยียดยัด. เป้าหมายของพวกเขาคือที่จะได้จูบรูปบูชาของมาเรียและก้มกราบต่อหน้ารูปนั้น.
ไม่ต้องสงสัยว่าคนเหล่านี้ที่ศรัทธาในศาสนาอย่างเหลือล้นมีความปรารถนาอย่างจริงใจที่จะนมัสการพระเจ้า. อย่างไรก็ตาม มีสักกี่คนที่ตระหนักว่าความเลื่อมใสเช่นนั้นต่อรูปบูชาทางศาสนามีต้นตอมาจากกิจปฏิบัติที่เคยทำกันเมื่อหลายร้อยปีก่อนยุคคริสเตียน?
การแพร่หลายของรูปบูชา
ในโลกของออร์โทด็อกซ์ รูปบูชามีอยู่ทุกหนทุกแห่ง. ในโบสถ์วิหารต่าง ๆ รูปของพระเยซู, มาเรีย, และ “นักบุญ” มากมายตั้งอยู่ในที่ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่ง. เหล่าผู้ศรัทธามักจะแสดงความคารวะต่อรูปเหล่านี้โดยการจูบ, เผาเครื่องหอม, และจุดเทียนถวายแก่รูป. นอกจากนั้น ในบ้านของชาวออร์โทด็อกซ์เกือบทุกหลังจะมีมุมหนึ่งสำหรับตั้งรูปบูชา ซึ่งพวกเขาใช้เป็นที่สวดอธิษฐาน. เป็นธรรมดาที่คริสเตียนออร์โทด็อกซ์จะกล่าวว่าเมื่อพวกเขานมัสการรูปบูชาเขารู้สึกใกล้ชิดกับพระเจ้า. หลายคนเชื่อว่ารูปบูชาเหล่านั้นเต็มไปด้วยพระกรุณาคุณจากพระเจ้าและอำนาจอัศจรรย์.
ผู้เชื่อถือเหล่านั้นคงต้องแปลกใจเมื่อได้ทราบว่าคริสเตียนในศตวรรษแรกไม่เห็นชอบกับการใช้รูปบูชาในการนมัสการ. หนังสือไบแซนทิอุม (ภาษาอังกฤษ) กล่าวดังนี้: “คริสเตียนในยุคแรก ๆ ผู้ซึ่งสืบทอดความเกลียดชังการไหว้รูปเคารพมาจากลัทธิยูดายไม่เห็นด้วยกับการเคารพบูชารูปภาพของบุคคลผู้บริสุทธิ์ไม่ว่าแบบใด.” หนังสือเล่มเดียวกันนี้ยังให้ข้อสังเกตอีกว่า “ตั้งแต่ศตวรรษที่ห้าเป็นต้นมา รูปบูชาและรูปจำลอง . . . ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นในการนมัสการทั้งในแบบสาธารณะและส่วนตัว.” หากการใช้รูปบูชาทางศาสนาไม่ได้มีต้นตอมาจากศาสนาคริสเตียนในศตวรรษแรกแล้ว กิจปฏิบัติเช่นนี้มีที่มาจากแหล่งใด?
ค้นหาต้นตอ
นักวิจัยชื่อวิทาลี อิวานยิช เปเทรนโกเขียนไว้ดังนี้: “การใช้รูปจำลองและประเพณีที่เกี่ยวข้องมีมานานก่อนยุคคริสเตียนและมี ‘ต้นตอมาจากลัทธินอกรีต.’” นักประวัติศาสตร์หลายคนเห็นพ้องในเรื่องนี้โดยกล่าวว่าต้นตอของการนมัสการรูปบูชาพบในศาสนาต่าง ๆ ของชาวบาบิโลน, อียิปต์, และกรีซในสมัยโบราณ. ตัวอย่างเช่น ในกรีซโบราณรูปจำลองทางศาสนาอยู่ในแบบของรูปปั้น. ผู้คนเชื่อว่ารูปปั้นเหล่านี้มีอำนาจเยี่ยงพระเจ้า. พวกเขาเชื่อว่ารูปจำลองบางรูปไม่ได้ทำขึ้นด้วยมือมนุษย์แต่ตกลงมาจากสวรรค์. ระหว่างช่วงเทศกาลสำคัญ ๆ รูปที่ใช้ในการนมัสการเหล่านี้จะถูกนำไปร่วมในขบวนแห่เพื่อแห่ไปรอบเมืองและมีการถวายเครื่องสักการะบูชาแก่รูปนั้น. เปเทรนโกกล่าวว่า “บรรดาผู้เคร่งครัดในศาสนาต่างถือว่ารูปเหล่านั้นคือพระเจ้า แม้จะมีความพยายามมากมายเพื่อแยกพระเจ้าออกจากรูปจำลองของพระองค์ก็ตาม.”
แนวคิดและกิจปฏิบัติดังกล่าวแทรกซึมเข้ามาในศาสนาคริสเตียนได้อย่างไร? นักวิจัยคนเดียวกันได้ให้ข้อสังเกตว่า ในศตวรรษหลัง ๆ นับตั้งแต่อัครสาวกของพระคริสต์เสียชีวิตไป “ความเชื่อของคริสเตียนก็เผชิญหน้ากับ ‘ความเชื่อนอกรีตแบบผสมผเส’ ซึ่งมีที่มาจากกิจปฏิบัติและความเชื่อของชาวอียิปต์, ชาวกรีก, ชาวยิว, ชาวตะวันออกและชาวโรมันซึ่งมีการปฏิบัติควบคู่ไปกับการสารภาพบาป” โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอียิปต์. ด้วยเหตุนั้น “ช่างฝีมือที่เป็นคริสเตียนจึงได้รับเอาวิธีการ [แบบรวมความเชื่อ] และเริ่มใช้สัญลักษณ์ต่าง ๆ แบบนอกรีตโดยทำให้อยู่ในรูปลักษณ์ใหม่ แม้ว่าจะไม่ได้ทำให้มันปราศจากซึ่งอิทธิพลของศาสนานอกรีตอย่างสิ้นเชิง.”
ไม่ช้า รูปบูชาก็เริ่มกลายเป็นส่วนสำคัญในชีวิตทางศาสนาทั้งในแบบสาธารณะและส่วนตัว. ในหนังสือยุคแห่งความเชื่อ (ภาษาอังกฤษ) นักประวัติศาสตร์ วิลล์ ดูแรนต์ได้อธิบายว่าเรื่องนี้เป็นไปได้อย่างไรโดยกล่าวว่า “ขณะที่จำนวนของนักบุญที่ได้รับการนมัสการเพิ่มสูงขึ้น ก็มีความจำเป็นยิ่งขึ้นที่จะระบุตัวและจดจำพวกเขา; มีการผลิตรูปภาพของพวกเขาและมาเรียออกมาจำนวนมาก; และในกรณีของพระคริสต์ ไม่เพียงแต่รูปของพระองค์เท่านั้น แม้แต่ไม้กางเขนของพระองค์ก็กลายเป็นสิ่งสำหรับสักการบูชา และกระทั่งกลายเป็นเครื่องรางของขลังสำหรับคนที่งมงายด้วยซ้ำ. จินตนาการที่หลากหลายท่ามกลางประชาชน
ได้ทำให้รูปภาพ, รูปปั้น, และกระดูกหรือสิ่งของของผู้บริสุทธิ์กลายเป็นสิ่งซึ่งได้รับการยกย่องบูชาที่ผู้คนจะก้มกราบ, จูบ, จุดเทียนและเผาเครื่องหอมถวาย, นำดอกไม้มาสวมเป็นมงกุฎให้, และแสวงหาการอัศจรรย์จากอำนาจที่แฝงอยู่ในสิ่งเหล่านั้น . . . . เหล่าบาทหลวงและสภาคริสตจักรต่างเพียรพยายามจะอธิบายครั้งแล้วครั้งเล่าว่ารูปเหล่านั้นไม่ใช่พระเจ้า แต่เป็นเพียงเครื่องเตือนใจให้ระลึกถึงพระเจ้าเท่านั้น กระนั้น ผู้คนก็ไม่สนใจที่จะแยกแยะ.”ทุกวันนี้ หลายคนที่ใช้รูปบูชาทางศาสนาอาจแย้งเช่นเดียวกันว่ารูปเหล่านั้นเป็นเพียงสิ่งสำหรับเคารพนับถือเท่านั้น ไม่ใช่สิ่งสำหรับนมัสการแต่อย่างใด. พวกเขาอาจอ้างว่าภาพวาดทางศาสนานั้นเป็นเครื่องช่วยที่ถูกต้องเหมาะสมในการนมัสการพระเจ้าและถึงกับเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้เสียด้วยซ้ำ. บางทีคุณเองอาจรู้สึกอย่างเดียวกัน. แต่มีคำถามว่า พระเจ้าทรงรู้สึกอย่างไรเกี่ยวกับเรื่องนี้? เป็นไปได้ไหมว่าแท้จริงแล้วการสักการะรูปบูชาอาจเท่ากับเป็นการนมัสการรูปนั้น? กิจปฏิบัติเช่นนั้นโดยแท้แล้วอาจมีอันตรายแฝงอยู่ไหม?
[กรอบ/ภาพหน้า 4]
รูปบูชาคืออะไร?
รูปบูชาต่างจากรูปปั้นที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในการนมัสการของชาวโรมันคาทอลิก. รูปบูชาเป็นภาพสองมิติแสดงรูปพระคริสต์, มาเรีย, “นักบุญ”, ทูตสวรรค์, บุคคลและเหตุการณ์ในคัมภีร์ไบเบิล, หรือแม้แต่เหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ของคริสตจักรออร์โทด็อกซ์. มักมีการวาดรูปเหล่านี้ลงบนแผ่นไม้ขนาดพกพาได้.
ตามคำกล่าวของคริสตจักรออร์โทด็อกซ์ “รูปบูชาของนักบุญจะดูไม่เหมือนกับภาพของคนธรรมดา.” นอกจากนี้ รูปบูชา “จะมีทัศนมิติแบบหลังมาหน้า” นั่นคือ มุมมองของภาพดูเหมือนจะยิ่งกว้างขึ้นเมื่อมองยังจุดที่ไกลออกไปในภาพ. รูปเช่นนี้มักจะ “ไม่มีแสงเงาหรือสิ่งที่ทำให้แยกออกว่ากลางวันหรือกลางคืน.” เป็นที่เชื่อกันด้วยว่าไม้และสีของรูปนั้นอาจ “เป็นที่ที่พระเจ้าสถิตอยู่” ได้.
[ภาพหน้า 4]
การใช้รูปจำลองต่าง ๆ มีต้นตอมาจากกิจปฏิบัติแบบนอกรีต
[ที่มาของภาพหน้า 3]
© AFP/CORBIS