ความร่วมรู้สึก—กุญแจสู่ความกรุณาและความเมตตาสงสาร
ความร่วมรู้สึก—กุญแจสู่ความกรุณาและความเมตตาสงสาร
“ขอเพียงคุณสามารถบรรเทาความเจ็บปวดของผู้อื่นได้ ชีวิตก็จะไม่เสียเปล่า” เฮเลน เคลเลอร์ เขียนไว้ดังนั้น. เฮเลนคงได้รู้ซึ้งถึงความเจ็บปวดทางอารมณ์เป็นอย่างดี. เมื่ออายุได้เพียงขวบกับเจ็ดเดือน ความเจ็บป่วยทำให้ตาของเธอบอดสนิทและหูหนวก. กระนั้น ครูผู้มีความเมตตาได้สอนเฮเลนให้อ่านและเขียนอักษรเบรลล์ ทั้งยังสอนให้เธอพูดได้ในที่สุด.
แอน ซัลลิแวน ครูของเฮเลนรู้ดีถึงความข้องขัดใจที่จะต้องต่อสู้กับความทุพพลภาพทางกาย. เธอเองก็แทบจะมองไม่เห็น. แต่ด้วยความอดทนเธอได้คิดหาวิธีจะสื่อสารกับเฮเลน โดย “สะกด” ตัวอักษรทีละตัวบนมือของเฮเลน. เนื่องจากถูกกระตุ้นใจจากความร่วมรู้สึกที่ครูแสดงต่อเธอ เฮเลนจึงตัดสินใจอุทิศชีวิตของเธอเพื่อช่วยเหลือคนตาบอดและหูหนวก. เนื่องจากเฮเลนได้เอาชนะความทุพพลภาพของตนเองด้วยความพยายามอย่างหนัก เธอจึงรู้สึกเห็นใจและสงสารคนอื่น ๆ ซึ่งอยู่ในสภาพการณ์ที่คล้ายคลึงกัน. เธอปรารถนาจะช่วยพวกเขาเหล่านั้น.
คุณคงได้สังเกตอยู่บ้างว่า ในโลกที่เห็นแก่ตัวนี้เป็นการง่ายเพียงไรที่จะ “ปิดประตูแห่งความเมตตาสงสารอันอ่อนละมุนของตน” และเพิกเฉยต่อความจำเป็นของผู้อื่น. (1 โยฮัน 3:17, ล.ม.) อย่างไรก็ตาม คริสเตียนได้รับพระบัญชาให้รักเพื่อนบ้านของตนและมีความรักอันแรงกล้าต่อกันและกัน. (มัดธาย 22:39; 1 เปโตร 4:8) กระนั้น คุณคงทราบความจริงที่ว่า แม้เราอาจตั้งใจเต็มที่ที่จะรักกันและกัน แต่บ่อยครั้งเรามักมองข้ามโอกาสต่าง ๆ ที่จะบรรเทาความเจ็บปวดของคนอื่นไป. นั่นอาจเป็นเพียงเพราะเราไม่ทราบว่าพวกเขามีความจำเป็นอะไร. ความร่วมรู้สึกจึงเป็นกุญแจที่จะไขประตูไปสู่ความกรุณาและความเมตตาสงสารของเรา.
ความร่วมรู้สึกคืออะไร?
พจนานุกรมฉบับหนึ่งกล่าวว่า ความร่วมรู้สึกคือ “ความเห็นอกเห็นใจและความเข้าใจในสถานการณ์, ความรู้สึก, และแรงกระตุ้นของอีกคนหนึ่ง.” ความร่วมรู้สึกยังได้รับการพรรณนาอีกด้วยว่าเป็นความสามารถในการสมมุติตนเองอยู่ในสถานการณ์เดียวกับคนอื่น. ดังนั้น สิ่งที่ความร่วมรู้สึกเรียกร้องคือ ประการแรก เราต้องเข้าใจสภาพการณ์ของผู้อื่น และประการที่สอง เราต้องร่วมในความรู้สึกต่าง ๆ ที่สภาพการณ์เหล่านั้นก่อขึ้นในตัวเขา. ใช่แล้ว ความร่วมรู้สึกเกี่ยวข้องกับการที่เรารู้สึกถึงความเจ็บปวดของผู้อื่นในหัวใจของเรา เอง.
คำว่า “ความร่วมรู้สึก” ไม่ปรากฏในคัมภีร์ไบเบิล แต่ข้อคัมภีร์หลายข้อได้พาดพิงถึงคุณสมบัตินี้เป็นนัย ๆ. อัครสาวกเปโตรได้แนะนำคริสเตียนให้แสดง ‘ความเห็นอกเห็นใจ ความรักใคร่ฉันพี่น้องและความเมตตาสงสาร.’ (1 เปโตร 3:8, ล.ม.) คำภาษากรีกที่ได้รับการแปลว่า “ความเห็นอกเห็นใจ” มีความหมายตามตัวอักษรว่า “ร่วมทุกข์ด้วยกันกับผู้อื่น” หรือ “มีความเมตตาสงสาร.” อัครสาวกเปาโลแนะให้มีความรู้สึกที่คล้ายกันนั้นด้วยเมื่อท่านกระตุ้นเตือนเพื่อนคริสเตียนให้ ‘มีใจยินดีด้วยกันกับผู้ที่มีความยินดี ร้องไห้ ด้วยกันกับผู้ที่ร้องไห้.’ และท่านเสริมอีกว่า “จงเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน.” (โรม 12:15, 16) และคุณไม่เห็นด้วยหรอกหรือว่า แทบจะเป็นไปไม่ได้ที่จะรักเพื่อนบ้านของเราเหมือนที่เรารักตัวเอง หากเราไม่สมมุติตัวเองอยู่ในสถานการณ์อย่างเขา?
โดยธรรมชาติแล้วผู้คนส่วนใหญ่มีความร่วมรู้สึกในระดับหนึ่ง. ใครบ้างจะไม่ถูกกระตุ้นใจเมื่อเห็นภาพที่ทำให้หดหู่ใจ เช่นภาพของเด็ก ๆ ที่อดอยากหิวโหยหรือผู้อพยพที่กลัดกลุ้ม? หรือมารดาที่มีความรักคนใดจะทนนิ่งเฉยต่อเสียงสะอื้นไห้ของบุตรได้? กระนั้น มิใช่ความทุกข์ทั้งหมดจะสังเกตเห็นได้ในทันที. เป็นการยากเพียงไรที่จะเข้าใจความรู้สึกของใครสักคนที่กำลังประสบความซึมเศร้า, อุปสรรคทางกายที่ซ่อนเร้นอย่างใดอย่างหนึ่ง, หรือแม้แต่ผู้ที่มีความผิดปกติด้านการกิน หากเราไม่เคยประสบปัญหาเช่นนั้นด้วยตนเอง! อย่างไรก็ตาม พระคัมภีร์แสดงว่าเราสามารถพัฒนาความเห็นอกเห็นใจต่อคนเหล่านั้นซึ่งเราไม่ได้อยู่ในสภาพเดียวกับเขาได้และเราควรทำเช่นนั้น.
ตัวอย่างความร่วมรู้สึกในพระคัมภีร์
พระยะโฮวาทรงเป็นตัวอย่างอันยอดเยี่ยมสำหรับพวกเราในเรื่องการแสดงความร่วมรู้สึก. แม้ทรงสมบูรณ์พร้อม พระองค์ไม่เคยคาดหมายความสมบูรณ์เช่นนั้นจากเรา “เพราะพระองค์ทรงทราบโครงร่างของเรา พระองค์ทรงระลึกว่าเราเป็นแต่ผงคลี.” (บทเพลงสรรเสริญ 103:14, ฉบับแปลใหม่; โรม 5:12) ยิ่งกว่านั้น เนื่องจากพระองค์ทรงทราบข้อจำกัดของเรา ‘พระองค์จะไม่ทรงยอมให้เราถูกทดลองเกินที่จะทนได้.’ (1 โกรินโธ 10:13) โดยทางผู้รับใช้และพระวิญญาณของพระองค์ พระยะโฮวาทรงช่วยเราให้หาทางออกได้.—ยิระมะยา 25:4, 5; กิจการ 5:32.
พระยะโฮวาทรงรู้สึกด้วยพระองค์เองถึงความเจ็บปวดที่ไพร่พลของพระองค์ต้องทนทุกข์. พระองค์ตรัสแก่ชาวยิวที่กลับมาจากบาบิโลนว่า “ผู้ใดแตะต้องเจ้าก็แตะต้องนัยน์ตาเรา.” (ซะคาระยา 2:8, ล.ม.) ด้วยสำนึกอย่างแรงกล้าถึงความร่วมรู้สึกของพระเจ้า ดาวิดผู้เขียนคัมภีร์ไบเบิลคนหนึ่งทูลพระองค์ดังนี้: “พระองค์ทรงเก็บน้ำตาของข้าพเจ้าไว้ในขวดของพระองค์; น้ำตานั้นก็จดไว้ในบัญชีของพระองค์แล้วไม่ใช่หรือ?” (บทเพลงสรรเสริญ 56:8) ช่างเป็นการปลอบประโลมเพียงไรที่ได้ทราบว่าพระยะโฮวาทรงจดจำน้ำตาของผู้รับใช้ที่ซื่อสัตย์ของพระองค์ที่หลั่งรินเมื่อพวกเขาต่อสู้ดิ้นรนเพื่อรักษาความซื่อสัตย์มั่นคง—ราวกับว่าทรงจดบันทึกไว้ในสมุด!
เช่นเดียวกับพระบิดาฝ่ายสวรรค์ของพระองค์ พระเยซูคริสต์ทรงไวต่อความรู้สึกของผู้อื่น. เมื่อพระองค์ทรงรักษาชายหูหนวก พระองค์ทรงนำเขาออกห่างจากฝูงชน ดูเหมือนว่า เมื่อทำเช่นนั้น การที่ชายนั้นหายโรคได้อย่างอัศจรรย์จะไม่ทำให้เขาอายจนเกินไปหรือไม่ทำให้เขาตกใจ. (มาระโก 7:32-35) ในอีกโอกาสหนึ่ง พระเยซูทรงสังเกตเห็นหญิงม่ายที่กำลังจะนำศพลูกชายคนเดียวของเธอไปฝัง. พระองค์ทรงรู้สึกถึงความทุกข์เจ็บปวดใจของหญิงนั้นได้ในทันที จึงเสด็จไปใกล้ขบวนศพนั้นและปลุกชายหนุ่มให้เป็นขึ้นจากตาย.—ลูกา 7:11-16.
หลังจากฟื้นคืนพระชนม์ พระเยซูทรงปรากฏแก่เซาโลบนทางที่จะไปยังเมืองดามัสกัส [ดาเมเซ็ก] พระองค์ทรงบอกให้เซาโลทราบว่าการข่มเหงอันร้ายกาจซึ่งเขาทำกับสาวกของพระองค์นั้นส่งผลกระทบต่อพระองค์อย่างไร. พระองค์ตรัสแก่เซาโลว่า “เราคือเยซูซึ่งเจ้าข่มเหงนั้น.” (กิจการ 9:3-5) พระเยซูทรงรู้สึกด้วยพระองค์เองถึงความ เจ็บปวดที่เหล่าสาวกของพระองค์ต้องทนทุกข์ เช่นเดียวกับมารดาที่รู้สึกเจ็บปวดเมื่อเห็นบุตรเจ็บป่วย. ทำนองเดียวกัน ในฐานะมหาปุโรหิตฝ่ายสวรรค์ของเรา พระเยซู ‘ทรงร่วมทุกข์กับเรา’ หรือ ทรงมี ‘ความเห็นอกเห็นใจในความอ่อนแอของเรา’ ตามฉบับแปลของรอเทอร์แฮม.—เฮ็บราย 4:15.
อัครสาวกเปาโลได้เรียนรู้ที่จะเป็นคนที่ไวต่อความทุกข์และความรู้สึกของคนอื่น ๆ ด้วย. ท่านถามว่า “มีใครบ้างเป็นคนอ่อนกำลังและข้าพเจ้าไม่ได้แสดงตัวเป็นคนอ่อนกำลัง? มีใครบ้างที่ถูกนำให้สะดุดและข้าพเจ้าไม่เป็นทุกข์เป็นร้อนด้วย?” (2 โกรินโธ 11:29) เมื่อทูตสวรรค์องค์หนึ่งปล่อยเปาโลและซีลาจากการถูกจำจองในคุกที่เมืองฟิลิปปี [ฟิลิปปอย] โดยการอัศจรรย์ สิ่งแรกที่เปาโลคิดถึงคือจะต้องบอกให้ผู้คุมรู้ว่าไม่มีใครหนีไป. ท่านตระหนักอย่างร่วมรู้สึกว่าผู้คุมนั้นอาจจะฆ่าตัวตาย. เปาโลทราบว่า ตามธรรมเนียมโรมันผู้คุมจะถูกลงโทษอย่างรุนแรงหากนักโทษหนีไปได้ โดยเฉพาะถ้าเขาได้รับคำสั่งให้คอยเฝ้าดูอย่างเข้มงวด. (กิจการ 16:24-28) การช่วยชีวิตด้วยความกรุณาของเปาโลประทับใจผู้คุมอย่างยิ่ง และเขาพร้อมทั้งคนในครัวเรือนจึงได้เข้ามาเป็นคริสเตียน.—กิจการ 16:30-34.
วิธีปลูกฝังความร่วมรู้สึก
พระคัมภีร์สนับสนุนเราครั้งแล้วครั้งเล่าให้เลียนแบบพระบิดาฝ่ายสวรรค์ของเราและพระเยซูคริสต์ พระบุตรของพระองค์ ดังนั้น ความร่วมรู้สึกจึงเป็นคุณสมบัติที่เราต้องพัฒนา. เราจะทำเช่นนั้นได้โดยวิธีใด? มีสามวิธีหลักที่เราสามารถทำให้ความรู้สึกของเราต่อความจำเป็นและความรู้สึกของผู้อื่นไวขึ้นได้ คือ โดยการฟัง, การสังเกต, และใช้จินตนาการ.
จงฟัง. โดยการฟังอย่างตั้งใจ เราจึงจะรู้ถึงปัญหาที่ผู้อื่นเผชิญ. และยิ่งเราตั้งใจฟังมากเท่าไร พวกเขาก็ดูเหมือนจะเปิดหัวใจของตนและเผยความรู้สึกมากขึ้นเท่านั้น. มิเรียมอธิบายว่า “ดิฉันสามารถพูดกับผู้ปกครองได้ ถ้าดิฉันรู้สึกมั่นใจว่าเขาจะฟัง. ดิฉันต้องการจะรู้ว่าเขาเข้าใจปัญหาของดิฉันอย่างแท้จริง. ดิฉันรู้สึกมั่นใจในตัวเขามากขึ้นเมื่อเขาถามคำถามต่าง ๆ ที่เจาะลึกซึ่งแสดงว่าเขาตั้งใจฟังสิ่งที่ดิฉันเล่าจริง ๆ.”
จงสังเกต. ไม่ใช่ทุกคนที่จะบอกเราตรง ๆ ว่าเขารู้สึกอย่างไรหรือเจอะเจอกับสิ่งใดบ้าง. อย่างไรก็ดี คนที่ช่างสังเกต จะมองเห็นได้ว่าเมื่อไรที่เพื่อนคริสเตียนรู้สึกหดหู่ เมื่อไรที่เด็กหนุ่มสาวกลายเป็นคนไม่ค่อยพูดค่อยจา หรือผู้รับใช้ที่มีใจแรงกล้าไม่กระตือรือร้นอีกต่อไป. ความสามารถที่จะรู้สึกถึงปัญหาเช่นนี้แต่เนิ่น ๆ จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับบิดามารดา. มารีบอกว่า “ด้วยวิธีบางอย่าง คุณแม่ทราบว่าดิฉันรู้สึกอย่างไรก่อนที่ดิฉันจะพูดคุยเรื่องนั้นกับท่าน ดังนั้นจึงง่ายสำหรับดิฉันที่จะพูดกับท่านอย่างเปิดอกเกี่ยวกับปัญหาของดิฉัน.”
จงใช้จินตนาการ. วิธีที่มีพลังมากที่สุดที่จะกระตุ้นความร่วมรู้สึกคือ คุณต้องถามตัวเองดังนี้: ‘ถ้าตัวฉันอยู่ในสถานการณ์เช่นนั้น ฉันจะรู้สึกอย่างไร? ฉันจะตอบสนองอย่างไร? ฉันจะต้องการอะไร?’ ผู้ปลอบโยนจอมปลอมสามคนที่มาหาโยบได้พิสูจน์ตัวว่าเป็นคนที่ไร้ความสามารถในการสมมุติตัวเองเข้าไปอยู่ในสถานการณ์ของโยบ. ดังนั้น พวกเขาจึงประณามท่านเรื่องความผิดบาปต่าง ๆ ที่พวกเขาทึกทักเอาว่าท่านได้ทำ.
มนุษย์ไม่สมบูรณ์มักพบว่า เป็นเรื่องง่ายกว่าที่จะวิพากษ์วิจารณ์ข้อผิดพลาดแทนที่จะเข้าใจความรู้สึกต่าง ๆ. อย่างไรก็ดี หากเราพยายามอย่างจริงจังที่จะจินตนาการถึงความเดือดร้อนใจของใครคนหนึ่งที่กำลังเป็นทุกข์อยู่ นั่นจะช่วยให้เราเห็นอกเห็นใจแทนที่จะกล่าวตำหนิเขา. ผู้ปกครองที่มีประสบการณ์คนหนึ่งชื่อฮวน ให้ความเห็นว่า “ผมให้คำแนะนำที่ดีกว่ามากเมื่อผมได้ฟังอย่างตั้งใจและพยายามที่จะเข้าใจสถานการณ์ทั้งหมดก่อนที่จะให้คำแนะนำใด ๆ.”
สรรพหนังสือที่แจกจ่ายโดยพยานพระยะโฮวาได้ช่วยหลายคนในเรื่องนี้. วารสารหอสังเกตการณ์ และตื่นเถิด! ได้เคยพูดถึงปัญหาต่าง ๆ ที่ซับซ้อนเช่นอาการซึมเศร้าและ
การทำร้ายเด็ก. ข้อมูลที่ทันกาลเหล่านี้ช่วยผู้อ่านให้มีความรู้สึกไวขึ้นต่อความรู้สึกของผู้ที่ต้องทนทุกข์เนื่องจากสาเหตุเหล่านี้. นอกจากนี้ หนังสือคำถามที่หนุ่มสาวถาม—คำตอบที่ได้ผล ได้ช่วยบิดามารดาหลายคนให้เข้าใจปัญหาของบุตรเช่นกัน.ความร่วมรู้สึกช่วยในการทำกิจกรรมคริสเตียน
คงแทบจะไม่มีใครในพวกเราที่จะดูดายต่อสภาพอันน่าสังเวชของเด็กที่อดอยากหิวโหยหากเรามีอาหารพอที่จะแบ่งให้ได้. ถ้าเรามีความร่วมรู้สึก เราจะเข้าใจสภาพฝ่ายวิญญาณ ของผู้อื่นด้วย. คัมภีร์ไบเบิลเล่าถึงพระเยซูว่า “แต่เมื่อพระองค์ทอดพระเนตรเห็นประชาชนก็ทรงพระกรุณาเขา, ด้วยเขาอิดโรยกระจัดกระจายไปดุจฝูงแกะไม่มีผู้เลี้ยง.” (มัดธาย 9:36) หลายล้านคนในทุกวันนี้อยู่ในสภาพฝ่ายวิญญาณที่คล้ายกันนั้น และพวกเขาจำต้องได้รับการช่วยเหลือ.
เช่นเดียวกับในสมัยพระเยซู เราอาจต้องเอาชนะอคติหรือธรรมเนียมที่ฝังรากลึกเพื่อจะเข้าถึงหัวใจของบางคน. ผู้รับใช้ที่ร่วมรู้สึกจะพยายามหาจุดที่เห็นพ้องกันหรือพูดเกี่ยวกับเรื่องที่ผู้คนกำลังสนใจเพื่อทำให้ข่าวสารของเขาน่าดึงดูดใจยิ่งขึ้น. (กิจการ 17:22, 23; 1 โกรินโธ 9:20-23) การกระทำที่กรุณาซึ่งถูกกระตุ้นโดยความร่วมรู้สึกยังช่วยให้ผู้ฟังของเราตอบรับมากขึ้นต่อข่าวสารเรื่องราชอาณาจักร เช่นที่เป็นจริงในกรณีของนายคุกชาวเมืองฟิลิปปี.
ความร่วมรู้สึกช่วยเรามากจริง ๆ ให้มองข้ามข้อผิดพลาดของคนอื่น ๆ ในประชาคม. หากเราพยายามจะเข้าใจความรู้สึกของพี่น้องที่ทำให้เราขุ่นเคือง ไม่ต้องสงสัยว่า เราจะพบว่าง่ายขึ้นที่จะยกโทษให้เขา. อาจเป็นได้ว่า เราอาจมีปฏิกิริยาอย่างเดียวกันหากเราอยู่ในสถานการณ์และมีภูมิหลังเช่นเดียวกับเขา. ความร่วมรู้สึกของพระยะโฮวากระตุ้นพระองค์ให้ ‘ระลึกว่าเราเป็นแต่ผงคลี’ ดังนั้น ไม่ควรหรอกหรือที่ความร่วมรู้สึกจะกระตุ้นเราให้คำนึงถึงความไม่สมบูรณ์ของคนอื่น ๆ และ ‘อภัยให้พวกเขาอย่างใจกว้าง’?—บทเพลงสรรเสริญ 103:14, ฉบับแปลใหม่; โกโลซาย 3:13, ล.ม.
หากเราจะต้องให้คำแนะนำ เราอาจทำเช่นนั้นด้วยวิธีที่กรุณายิ่งขึ้นหากเราเข้าใจความรู้สึกและความอ่อนไหวของคนที่ได้พลาดไปนั้น. คริสเตียนผู้ปกครองที่ร่วมรู้สึกจะเตือนตนเองว่า ‘ฉันเองก็อาจทำผิดพลาดอย่างนี้ได้เช่นกัน. ฉันอาจตกอยู่ในสถานการณ์อย่างเขาก็ได้.’ ด้วยเหตุนั้นเปาโลจึงแนะนำดังนี้: “จงพยายามปรับคนเช่นนั้นให้เข้าที่ด้วยน้ำใจอ่อนโยน ขณะที่ท่านแต่ละคนเฝ้าระวังตนเอง เกรงว่าท่านอาจถูกล่อใจด้วย.”—ฆะลาเตีย 6:1, ล.ม.
นอกจากนี้ ความร่วมรู้สึกยังอาจกระตุ้นเราให้เสนอการช่วยเหลือเชิงปฏิบัติ หากอยู่ในอำนาจของเราที่จะทำเช่นนั้น แม้ว่าเพื่อนคริสเตียนของเราอาจลังเลใจที่จะร้องขอ. อัครสาวกโยฮันเขียนว่า “คนใดที่มีทรัพย์สมบัติในโลกนี้, และเห็นพี่น้องของตนขัดสน, แล้วและกระทำใจแข็งกะด้างไม่สงเคราะห์เขา, ความรักของพระเจ้าจะอยู่ในคนนั้นอย่างไรได้? . . . อย่าให้เรารักเพียงแต่ถ้อยคำและลิ้นเท่านั้น, แต่ให้เรารักด้วยการประพฤติและด้วยความจริง.”—1 โยฮัน 3:17, 18.
เพื่อที่จะรัก “ด้วยการประพฤติและด้วยความจริง” เราต้องมองเห็นความจำเป็นเฉพาะของพี่น้องก่อน. เราสังเกตอย่างจริงจังถึงความจำเป็นของคนอื่น ๆ ด้วยเจตนาที่จะช่วยพวกเขาไหม? นั่นแหละคือสิ่งที่ความร่วมรู้สึกหมายถึง.
จงปลูกฝังความเห็นอกเห็นใจ
เราอาจไม่ใช่คนที่ร่วมรู้สึกโดยธรรมชาติ กระนั้น เราสามารถปลูกฝังความรู้สึกเห็นใจผู้อื่นเช่นนี้ได้. หากเรารับฟังอย่างตั้งใจมากขึ้น, สังเกตอย่างกระตือรือร้นยิ่งขึ้น, และนึกภาพตัวเราเองอยู่ในสถานการณ์ของคนอื่นบ่อยขึ้น ความร่วมรู้สึกในตัวเราก็จะพัฒนาขึ้น. ผลคือ เราจะได้รับการกระตุ้นที่จะแสดงความรัก, ความกรุณา, และความเมตตาสงสารต่อบุตรของเรา, ต่อเพื่อนคริสเตียน, และต่อเพื่อนบ้านมากยิ่งขึ้น.
จงอย่ายอมให้ความเห็นแก่ตัวปิดกั้นความร่วมรู้สึกของคุณ. เปาโลเขียนว่า “อย่าให้ต่างคนต่างคิดแต่การงานของตนฝ่ายเดียว, แต่ให้คิดถึงการงานของคนอื่น ๆ ด้วย.” (ฟิลิปปอย 2:4) อนาคตถาวรของเราขึ้นอยู่กับความร่วมรู้สึกของพระยะโฮวาและของมหาปุโรหิตของพระองค์ คือ พระเยซูคริสต์. ดังนั้น เรามีพันธะทางศีลธรรมที่จะปลูกฝังคุณสมบัตินี้. ความร่วมรู้สึกจะเสริมพลังเราให้เป็นผู้รับใช้ที่ดีขึ้นและเป็นบิดามารดาที่ดีขึ้นด้วย. เหนือสิ่งอื่นใด ความร่วมรู้สึกจะช่วยเราให้พบว่า “การให้เป็นเหตุให้มีความสุขยิ่งกว่าการรับ.”—กิจการ 20:35.
[ภาพหน้า 25]
ความร่วมรู้สึกเกี่ยวข้องกับการสังเกตอย่างจริงจังถึงความจำเป็นของผู้อื่นด้วยเจตนาที่จะช่วยพวกเขา
[ภาพหน้า 26]
เราสามารถเรียนรู้ที่จะแสดงความร่วมรู้สึกเช่นมารดาที่มีความรักรู้สึกต่อบุตรโดยธรรมชาติได้ไหม?