คุณได้รับผลกระทบจากพวกซินิกไหม?
คุณได้รับผลกระทบจากพวกซินิกไหม?
“ซินิกคือผู้ที่ไม่เคยเห็นคุณลักษณะที่ดีในตัวคนอื่น และมองหาแต่ลักษณะที่ไม่ดีเสมอ. เขาเป็นคนที่เหมือนนกเค้าแมว คอยระวังอยู่ในความมืด, ปิดตาต่อแสงสว่าง, ค่อย ๆ ย่องไปจับสัตว์เล็ก ๆ และไม่เคยมองเห็นสัตว์ชนิดดีเลิศที่จะล่าเอาตัวมา.” เข้าใจกันว่านี่เป็นคำพูดของเฮนรี วอร์ด บีเชอร์ นักเทศน์ชาวอเมริกันในศตวรรษที่ 19. หลายคนอาจคิดว่าถ้อยคำดังกล่าวพรรณนาอย่างถูกต้องถึงน้ำใจของซินิกสมัยปัจจุบัน. แต่คำ “ซินิก” เริ่มขึ้นในกรีซโบราณ ที่นั่นคำนี้ไม่เพียงหมายถึงคนที่แสดงเจตคติดังกล่าวเท่านั้น. เป็นเวลาหลายศตวรรษ คำนี้พาดพิงนักปรัชญาพวกหนึ่ง.
ปรัชญาของพวกซินิกเกิดขึ้นอย่างไร? พวกเขาสอนอะไร? ลักษณะนิสัยของซินิกจะเป็นสิ่งที่พึงมีในตัวคริสเตียนไหม?
พวกซินิกสมัยโบราณ—ที่มาและความเชื่อของพวกเขา
กรีซโบราณเป็นแหล่งของการถกและการโต้แย้งกัน. ตลอดศตวรรษต่าง ๆ มาจนถึงสากลศักราชของเรา บุคคลต่าง ๆ เช่น โสกราตีส, เพลโต, และอาริสโตเติลได้เสนอปรัชญาต่าง ๆ ซึ่งทำให้พวกเขามีชื่อเสียง. คำสอนของพวกเขามีผลกระทบลึกซึ้งต่อผู้คน และแนวคิดดังกล่าวยังคงปรากฏอยู่ในวัฒนธรรมตะวันตก.
โสกราตีส (ปี 470-399 ก่อนสากลศักราช) ได้อ้างเหตุผลว่าความสุขถาวรใช่ว่าจะพบได้ในการติดตามสิ่งฝ่ายวัตถุหรือการได้รับความพอใจจากความเพลิดเพลินทางราคะตัณหา. เขายืนยันว่า ความสุขแท้เป็นผลมาจากชีวิตที่อุทิศให้กับการแสวงหาคุณธรรม. โสกราตีสถือว่าคุณธรรมเป็นความดีสูงสุด. เพื่อบรรลุเป้าหมายนี้ เขาปฏิเสธความหรูหราทางวัตถุและความพยายามที่ไม่จำเป็นเพราะเขารู้สึกว่าสิ่งเหล่านี้จะทำให้เขาไขว้เขว. เขาสนับสนุนการรู้จักประมาณตนและการปฏิเสธตัวเอง ดำเนินชีวิตแบบเรียบง่าย มัธยัสถ์.
โสกราตีสได้พัฒนารูปแบบการสอนซึ่งเป็นที่รู้จักกันว่าวิธีการแบบโสกราตีส. ขณะที่คนช่างคิดส่วนใหญ่เสนอแนวคิดและให้เหตุผลสนับสนุน โสกราตีสได้ทำตรงกันข้าม. เขาฟังทฤษฎีต่าง ๆ ของนักปรัชญาคนอื่น ๆ แล้วพยายามจะเปิดโปงข้อบกพร่องในแนวคิดของพวกเขา. วิธีการเช่นนี้สนับสนุนเจตคติที่ชอบวิจารณ์และดูหมิ่นคนอื่น.
ในบรรดาสานุศิษย์ของโสกราตีสก็มีนักปรัชญาชื่ออันติสเทนิส (ประมาณปี 445-365 ก.ส.ศ.) เขาและคนอื่นหลายคนเอาคำสอนพื้นฐานของโสกราตีสมาสอนล้ำไปอีกขั้นหนึ่งโดยกล่าวว่าคุณธรรมเป็นความดีอย่างเดียวเท่านั้น. สำหรับพวกเขาแล้ว การติดตามความสนุกเพลิดเพลินมิใช่เป็นเพียงการทำให้ไขว้เขวเท่านั้น แต่เป็นความชั่วร้ายรูปแบบหนึ่ง. โดยกลายเป็นคนต่อต้านสังคมอย่างสุดโต่ง พวกเขาแสดงความดูถูกอย่างรุนแรงต่อเพื่อนมนุษย์. พวกเขากลายเป็นที่รู้จักว่าพวกซินิก. ชื่อซินิกอาจได้มาจากคำภาษากรีก (คีนีคอส) ซึ่งพรรณนาถึงพฤติกรรมที่วิตถารและจองหองของพวกเขา. คำนี้หมายถึง “เหมือนสุนัข.” *
ผลกระทบต่อแนวทางชีวิตของพวกเขา
ขณะที่หลักสำคัญของปรัชญาแบบซินิก เช่น การต่อต้านลัทธิวัตถุนิยมและการทำตามอำเภอใจนั้นเองได้รับ
การมองดูว่าน่าชมเชย พวกซินิกยึดถือความคิดของเขาอย่างเลยเถิด. เรื่องนี้ปรากฏชัดในชีวิตของซินิกซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีที่สุด คือนักปรัชญาชื่อดิโอยีนิส.ดิโอยีนิสเกิดในปี 412 ก.ส.ศ. ในซีโนปี เมืองซึ่งตั้งอยู่ติดกับทะเลดำ. เขากับบิดาได้ย้ายไปอยู่กรุงเอเธนส์ แล้วได้มาสัมผัสกับคำสอนของพวกซินิก. ดิโอยีนิสได้รับการสอนจากอันติสเทนิส แล้วถูกครอบงำด้วยปรัชญาของซินิก. โสกราตีสได้ดำเนินชีวิตแบบเรียบง่าย และอันติสเทนิสดำเนินชีวิตแบบสมถะ. แต่ดิโอยีนิสดำเนินชีวิตแบบเข้มงวด. เพื่อเน้นการที่เขาปฏิเสธความสะดวกสบายทางด้านวัตถุ เล่าลือกันว่าดิโอยีนิสใช้ชีวิตอยู่ในถังชั่วระยะเวลาสั้น ๆ!
ในการสืบค้นหาความดีขั้นสูงสุด กล่าวกันว่า ดิโอยีนิสเดินทั่วกรุงเอเธนส์ตอนกลางวันแสก ๆ โดยถือตะเกียงจุดไฟเพื่อเสาะหาบุคคลที่มีคุณธรรม! พฤติกรรมดังกล่าวดึงดูดความสนใจและเป็นวิธีการที่ดิโอยีนิสกับซินิกคนอื่น ๆ ใช้สอนผู้คน. กล่าวกันว่าครั้งหนึ่งอะเล็กซานเดอร์มหาราชเคยถามดิโอยีนิสว่า เขาต้องการอะไรมากที่สุด. ตามที่เล่ากัน ดิโอยีนิสกล่าวว่า เขาต้องการเพียงให้อะเล็กซานเดอร์หลบไปอีกทางเพื่อจะไม่บังแสงอาทิตย์!
ดิโอยีนิสกับซินิกคนอื่น ๆ เลี้ยงชีพด้วยการเป็นขอทาน. พวกเขาไม่มีเวลาสำหรับมนุษยสัมพันธ์ตามปกติ และพวกเขาปฏิเสธหน้าที่ของพลเมือง. บางทีอาจได้รับผลกระทบจากวิธีการอ้างเหตุผลแบบโสกราตีส พวกเขาจึงกลายเป็นคนที่ขาดความนับถือคนอื่น. ดิโอยีนิสกลายเป็นที่รู้จักในการชอบพูดเยาะเย้ยถากถางทิ่มแทงคนอื่น. พวกซินิกมีชื่อเสียงในการเป็น “เหมือนสุนัข” แต่ดิโอยีนิสเองมีชื่อเล่นว่าสุนัข. เขาเสียชีวิตราว ๆ ปี 320 ก.ส.ศ. ตอนที่อายุประมาณ 90 ปี. มีการสร้างอนุสาวรีย์หินอ่อนซึ่งรวมเอารูปลักษณะของสุนัขไว้เหนือหลุมฝังศพของเขา.
มีการรับเอาบางแง่มุมของปรัชญาแบบซินิกเข้าไว้ในกลุ่มนักปราชญ์อื่น ๆ. อย่างไรก็ตาม ต่อมาพฤติกรรมแบบวิตถารที่เกี่ยวข้องกับดิโอยีนิสและสานุศิษย์ที่มีมาภายหลังนั้นได้ทำให้พวกซินิกเสียชื่อเสียง. สุดท้าย พวกนี้ก็สาบสูญไปอย่างสิ้นเชิง.
พวกซินิกในทุกวันนี้—คุณควรแสดงลักษณะนิสัยแบบพวกเขาไหม?
ดิ ออกซฟอร์ด อิงลิช ดิกชันนารี พรรณนาถึงซินิกสมัยปัจจุบันว่าเป็น “บุคคลที่มีแนวโน้มจะดุด่าหรือชอบจับผิด. . . . บุคคลที่มีแนวโน้มไม่เชื่อในความจริงใจหรือความดีในเจตนาและการกระทำของมนุษย์ และมักจะแสดงให้เห็นแนวโน้มเช่นนี้โดยการเย้ยหยันและการเหน็บแนมถากถาง; เป็นผู้ชอบจับผิดอย่างเย้ยหยัน.” ลักษณะนิสัยเหล่านี้ปรากฏชัดในโลกรอบ ๆ ตัวเรา แต่แน่นอน นิสัยดังกล่าวเข้ากันไม่ได้กับบุคลิกภาพแบบคริสเตียน. ขอพิจารณาคำสอนและหลักการของคัมภีร์ไบเบิลต่อไปนี้.
“พระยะโฮวาทรงพระเมตตากรุณา, พระองค์ทรงพระพิโรธช้า ๆ, และทรงพระเมตตาบริบูรณ์ [“บริบูรณ์ด้วยความรักกรุณา,” ล.ม.]. พระองค์จะไม่ทรงติเตียนเป็นนิตย์; หรือทรงพระพิโรธตลอดชั่วนิรันดร์.” (บทเพลงสรรเสริญ 103:8, 9) คริสเตียนได้รับการกำชับให้ “เป็นผู้เลียนแบบพระเจ้า.” (เอเฟโซ 5:1, ล.ม.) หากพระเจ้าผู้ทรงฤทธานุภาพทุกประการทรงเลือกจะแสดงความเมตตาและความรักกรุณาบริบูรณ์แทนที่จะ “มีแนวโน้มจะดุด่าหรือชอบจับผิด” แล้ว แน่นอน คริสเตียนก็ควรพยายามทำอย่างเดียวกัน.
พระเยซูคริสต์ซึ่งเป็นการถอดแบบอย่างแม่นยำของพระยะโฮวา ‘ทรงวางแบบอย่างไว้ให้เรา เพื่อจะได้ดำเนินตามรอยพระบาทของพระองค์อย่างใกล้ชิด.’ (1 เปโตร 2:21, ล.ม.; เฮ็บราย 1:3, ล.ม.) บางครั้ง พระเยซูทรงเปิดโปงความเท็จทางศาสนาและทรงยืนยันเกี่ยวกับการงานที่ชั่วของโลกนี้. (โยฮัน 7:7) กระนั้น พระองค์ตรัสสิ่งที่เป็นคำชมเชยเกี่ยวกับสุจริตชน. ตัวอย่างเช่น พระองค์ตรัสเกี่ยวกับนะธันเอลว่า “นี่แหละ คนชาติยิศราเอลแน่ ๆ ซึ่งไม่มีอุบายในตัว.” (โยฮัน 1:47, ล.ม.) เมื่อพระเยซูทรงทำการอัศจรรย์ บางทีพระองค์เพ่งเล็งที่ความเชื่อของผู้ที่ได้รับการรักษานั้น. (มัดธาย 9:22) และเมื่อบางคนคิดว่าของให้ด้วยความหยั่งรู้ค่าของหญิงคนหนึ่งเป็นของฟุ่มเฟือย พระเยซูมิได้เยาะเย้ยถากถางเกี่ยวกับเจตนาของเธอ แต่ได้ตรัสว่า “กิตติคุณนี้จะประกาศที่ไหน ๆ ทั่วพิภพ, การซึ่งหญิงนี้ได้กระทำก็จะเลื่องลือไปเป็นที่ระลึกถึงเขาที่นั่น.” (มัดธาย 26:6-13) พระเยซูเป็นมิตรที่ไว้ใจคนอื่นและเป็นเพื่อนที่มีความรักใคร่ต่อเหล่าสาวกของพระองค์ ‘ทรงรักพวกเขาจนถึงที่สุด.’—โยฮัน 13:1, ล.ม.
เนื่องจากพระเยซูทรงสมบูรณ์พร้อม พระองค์สามารถจับผิดผู้คนที่ไม่สมบูรณ์ได้อย่างง่ายดาย. อย่างไรก็ดี แทนที่จะสำแดงน้ำใจที่ไม่เชื่อและชอบจับผิด พระองค์พยายามทำให้ผู้คนสดชื่น.—มัดธาย 11:29, 30.
1 โกรินโธ 13:7, ล.ม.) ถ้อยคำดังกล่าวต่างกันอย่างเห็นได้ชัดจริง ๆ กับแนวโน้มของคนที่ชอบเยาะเย้ยถากถาง ผู้ซึ่งสงสัยเจตนาและการกระทำของคนอื่น. แน่นอน โลกเต็มด้วยผู้คนที่มีเจตนาแอบแฝง ดังนั้น จำเป็นต้องมีความระมัดระวัง. (สุภาษิต 14:15) ถึงอย่างไรก็ตาม ความรักพร้อมที่จะเชื่อ เพราะความรักไว้วางใจ ไม่ใช่สงสัยอย่างไม่สมควร.
“[ความรัก] เชื่อทุกสิ่ง.” (พระเจ้าทรงรักและไว้วางใจผู้รับใช้ของพระองค์. พระองค์ทรงทราบขีดจำกัดของเขาดียิ่งกว่าที่พวกเขาทราบด้วยซ้ำ. อย่างไรก็ดี พระยะโฮวาไม่เคยปฏิบัติกับไพร่พลของพระองค์ด้วยความสงสัย และพระองค์มิได้คาดหมายจากพวกเขามากกว่าที่พวกเขาจะทำได้อย่างสมเหตุผล. (บทเพลงสรรเสริญ 103:13, 14) นอกจากนี้ พระเจ้าทรงมองหาความดีในตัวมนุษย์ และในลักษณะที่แสดงความไว้วางใจ พระองค์ทรงประทานสิทธิพิเศษและอำนาจให้แก่ผู้รับใช้ที่ภักดีของพระองค์ ถึงแม้เขาเป็นคนไม่สมบูรณ์ก็ตาม.—1 กษัตริย์ 14:13; บทเพลงสรรเสริญ 82:6.
“เรา ยะโฮวา ค้นดูหัวใจ ตรวจดูไต เพื่อจะให้แต่ละคนสมกับแนวทางของเขา สมกับผลแห่งแนวปฏิบัติของเขา.” (ยิระมะยา 17:10, ล.ม.) พระยะโฮวาสามารถอ่านหัวใจคนได้อย่างถูกต้อง. เราทำไม่ได้. เพราะฉะนั้น เราต้องระวังในการถือว่าคนอื่นมีเจตนาอย่างใดอย่างหนึ่ง.
การยอมให้น้ำใจเยาะเย้ยถากถางงอกรากขึ้นในตัวเราและในที่สุดครอบงำความคิดของเราทำให้เกิดความเป็นไปได้ที่จะก่อการแตกแยกขึ้นระหว่างเรากับเพื่อนร่วมความเชื่อ. นั่นอาจทำลายสันติสุขของประชาคมคริสเตียนได้. ฉะนั้น ขอให้เราติดตามแบบอย่างของพระเยซู ผู้ทรงมองตามสภาพจริง กระนั้นก็ทรงมองในแง่บวกในการปฏิบัติกับเหล่าสาวกของพระองค์. พระองค์ทรงกลายเป็นมิตรที่ได้รับความไว้วางใจของพวกเขา.—โยฮัน 15:11-15.
“ท่านทั้งหลายปรารถนาจะให้เขาทำแก่ท่านอย่างไร. ท่านทั้งหลายจงกระทำอย่างนั้นแก่เขาเหมือนกัน.” (ลูกา 6:31) มีหลายวิธีที่จะเอาคำแนะนำนี้ของพระเยซูคริสต์มาใช้. ตัวอย่างเช่น เราทุกคนชอบให้คนอื่นพูดกับเราด้วยความกรุณาและความนับถือ. ดังนั้นแล้ว เราควรพูดกับคนอื่นด้วยท่าทีกรุณาและนับถืออย่างแน่นอน. แม้แต่เมื่อพระเยซูทรงเปิดโปงคำสอนเท็จของพวกหัวหน้าศาสนาอย่างแข็งกร้าวก็ตาม พระองค์ไม่เคยทำเช่นนี้ด้วยท่าทีเยาะเย้ยถากถาง.—มัดธาย 23:13-36.
วิธีต่อสู้กับการชอบเยาะเย้ยถากถาง
หากเราประสบความผิดหวัง อาจเป็นเรื่องง่ายที่จะปล่อยให้ตัวเราได้รับผลกระทบจากการชอบเยาะเย้ยถากถาง. เราจะต่อสู้กับแนวโน้มนี้ได้โดยตระหนักว่าพระยะโฮวาทรงปฏิบัติกับไพร่พลที่ไม่สมบูรณ์ของพระองค์ด้วยความไว้วางใจ. นี่อาจช่วยเราให้ยอมรับผู้นมัสการพระเจ้าคนอื่น ๆ ในสิ่งที่พวกเขาเป็น—มนุษย์ไม่สมบูรณ์ซึ่งพยายามจะทำสิ่งที่ถูกต้อง.
ประสบการณ์ที่เจ็บปวดอาจทำให้บางคนไม่ไว้ใจคนอื่น. จริงอยู่ เป็นการไม่ฉลาดที่จะมอบความไว้วางใจทั้งสิ้นของเราในตัวมนุษย์ที่ไม่สมบูรณ์. (บทเพลงสรรเสริญ 146:3, 4) อย่างไรก็ดี ในประชาคมคริสเตียน หลายคนต้องการอย่างจริงใจที่จะเป็นแหล่งแห่งการชูใจ. ขอให้คิดถึงคนนับพันซึ่งเป็นเหมือนมารดา, บิดา, พี่น้องชายหญิง, และลูก ๆ ของคนเหล่านั้นซึ่งได้สูญเสียครอบครัวของตนเอง. (มาระโก 10:30) คิดดูสิว่ามีหลายคนสักเพียงไรที่ได้พิสูจน์ว่าเป็นมิตรแท้ในยามทุกข์ร้อน. *—สุภาษิต 18:24.
หาใช่การเยาะเย้ยถากถางไม่ แต่เป็นความรักฉันพี่น้องที่ระบุตัวเหล่าสาวกของพระเยซู เพราะพระองค์ตรัสว่า “โดยเหตุนี้คนทั้งปวงจะรู้ว่าเจ้าทั้งหลายเป็นสาวกของเรา ถ้าเจ้ามีความรักระหว่างพวกเจ้าเอง.” (โยฮัน 13:35, ล.ม.) ดังนั้น ขอให้เราแสดงความรัก และให้เราเพ่งเล็งในคุณลักษณะที่ดีของเพื่อนคริสเตียน. การทำเช่นนี้จะช่วยเราหลีกเลี่ยงลักษณะนิสัยของคนที่ชอบเยาะเย้ยถากถาง.
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 8 ความเป็นไปได้อีกทางหนึ่งคือการที่ชื่อซินิกมาจากคีนอซารีส โรงพลศึกษาในเอเธนส์ที่อันติสเทนิสสอนอยู่.
^ วรรค 27 โปรดดูบทความเรื่อง “ประชาคมคริสเตียน—แหล่งแห่งความช่วยเหลือที่เสริมกำลัง” ในหอสังเกตการณ์ ฉบับวันที่ 15 พฤษภาคม 1999.
[ภาพหน้า 21]
ดิโอยีนิส ซินิกซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีที่สุด
[ที่มาของภาพ]
From the book Great Men and Famous Women