“สิ่งน่าปรารถนา” กำลังเข้ามาสู่นิเวศของพระยะโฮวา
“สิ่งน่าปรารถนา” กำลังเข้ามาสู่นิเวศของพระยะโฮวา
“เรา [พระยะโฮวา] จะเขย่าชาติทั้งปวง และสิ่งน่าปรารถนาแห่งชาติทั้งปวงจะต้องเข้ามา; และเราจะทำให้นิเวศนี้เต็มไปด้วยสง่าราศี.”—ฮาฆี 2:7, ล.ม.
1. ในเวลาฉุกเฉิน ทำไมเราคิดถึงคนที่เรารักก่อน?
อะไรคือสิ่งน่าปรารถนาที่มีอยู่ในบ้านของคุณ? คุณมีเฟอร์นิเจอร์ที่หรูหรา, คอมพิวเตอร์ระดับสุดยอด, และรถยนต์คันใหม่อยู่ในโรงรถไหม? ถึงแม้คุณมีสิ่งเหล่านี้ทั้งหมด คุณจะไม่เห็นด้วยหรือว่าสิ่งมีค่าที่สุดในบ้านของคุณคือคน—สมาชิกครอบครัวของคุณ? ลองนึกภาพว่าคืนหนึ่งคุณตกใจตื่นขึ้นมาเพราะได้กลิ่นควันไฟ. บ้านของคุณไฟไหม้ และคุณมีเวลาเพียงไม่กี่นาทีที่จะหนี! คุณห่วงอะไรเป็นอันดับแรก? เฟอร์นิเจอร์ของคุณไหม? หรือว่าคอมพิวเตอร์? หรือรถยนต์? คุณคงจะคิดถึงคนที่คุณรักมากกว่ามิใช่หรือ? แน่นอน คุณคิดถึงคนที่คุณรักก่อน เพราะคนย่อมมีค่ามากกว่าสิ่งของ.
2. อะไรคือขอบเขตแห่งการสร้างของพระยะโฮวา และส่วนไหนของการสร้างที่พระเยซูทรงพอพระทัยที่สุด?
2 ทีนี้ ขอให้คิดถึงพระยะโฮวาพระเจ้าและพระบุตร พระเยซูคริสต์. พระยะโฮวาเป็นผู้ “ทรงสร้างฟ้า, แผ่นดิน, ทะเล, และสรรพสิ่งซึ่งมีอยู่ในที่เหล่านั้น.” (กิจการ 4:24) พระบุตรของพระองค์ ซึ่งได้รับการพรรณนาว่าทรงเป็น “ลูกมือ [“นายช่าง,” ล.ม.]” เป็นผู้ที่พระยะโฮวาทรงใช้ให้สร้างสิ่งอื่น ๆ ทั้งหมด. (สุภาษิต 8:30, 31; โยฮัน 1:3; โกโลซาย 1:15-17) แน่นอน ทั้งพระยะโฮวาและพระเยซูทรงเห็นค่าทุกสิ่งที่ได้ทรงสร้าง. (เทียบกับเยเนซิศ 1:31.) แต่ส่วนไหนของสิ่งทรงสร้างที่คุณคิดว่ามีความหมายต่อพระองค์ทั้งสองมากที่สุด—สิ่งของต่าง ๆ หรือว่าผู้คน? ในบทบาทของสติปัญญาซึ่งมีการกล่าวถึงเสมือนเป็นบุคคล พระเยซูตรัสดังนี้: “ความชื่นชมยินดีของเราก็คลุกคลีอยู่กับพงศ์พันธุ์ของมนุษย์” หรือตามที่ฉบับแปลโดยวิลเลียม เอฟ. เบก แปลไว้ว่า พระเยซู “ทรงปลื้มปีติในมนุษย์.”
3. พระยะโฮวาตรัสคำพยากรณ์อะไรโดยทางฮาฆี?
3 ไม่มีข้อสงสัยเลยว่าพระยะโฮวาทรงเห็นว่ามนุษย์เรามีค่าสูง. สิ่งหนึ่งซึ่งบ่งชี้เช่นนั้นเห็นได้จากพระคำเชิงพยากรณ์ที่พระองค์ตรัสในปี 520 ก่อนสากลศักราชโดยทางผู้พยากรณ์ฮาฆี. พระยะโฮวาทรงประกาศว่า “เราจะเขย่าชาติทั้งปวง และสิ่งน่าปรารถนาแห่งชาติทั้งปวงจะต้องเข้ามา; และเราจะทำให้นิเวศนี้เต็มไปด้วยสง่าราศี. . . . สง่าราศีของนิเวศหลังใหม่นี้จะยิ่งกว่าหลังเดิม.”—ฮาฆี 2:7, 9, ล.ม.
4, 5. (ก) เหตุใดจึงไม่สมเหตุผลที่จะลงความเห็นว่าวลี “สิ่งน่าปรารถนา” หมายถึงความสง่างามทางวัตถุ? (ข) คุณจะอธิบายความหมายของ “สิ่งน่าปรารถนา” ว่าอย่างไร และเพราะเหตุใด?
4 อะไรคือ “สิ่งน่าปรารถนา” ที่จะเข้ามาสู่ราชนิเวศของพระยะโฮวาและทำให้ราชนิเวศนี้มีสง่าราศีอย่างไม่ * แน่นอน พระยะโฮวาคงไม่คาดหมายชาวยิวกลุ่มค่อนข้างเล็กที่กลับมาให้สร้างพระวิหารที่สง่างามกว่าพระวิหารของซะโลโมในด้านวัตถุ!
เคยเป็นมาก่อน? เครื่องตกแต่งที่หรูหราและของประดับที่วิจิตรบรรจงไหม? เป็นพวกทอง, เงิน, และเพชรพลอยไหม? คงไม่สมเหตุผลที่จะเป็นอย่างนั้น. ต้องไม่ลืมว่าพระวิหารหลังเดิมซึ่งเริ่มเปิดใช้ประมาณห้าศตวรรษก่อนหน้านั้นเป็นสิ่งปลูกสร้างที่มีมูลค่านับล้านล้านบาท!5 ถ้าอย่างนั้น อะไรคือ “สิ่งน่าปรารถนา” ที่จะเข้ามาสู่ราชนิเวศของพระยะโฮวา? เห็นได้ชัด สิ่งน่าปรารถนานี้ต้องได้แก่ผู้คนทั้งหลาย. ที่จริง สิ่งที่ทำให้พระทัยของพระยะโฮวายินดีนั้นไม่ใช่เงินและทอง แต่เป็นผู้คนที่รับใช้พระองค์ด้วยความรักต่างหาก. (สุภาษิต 27:11; 1 โกรินโธ 10:26) ถูกแล้ว พระยะโฮวาทรงถือว่าชายหญิงและเด็กทุกคนที่นมัสการพระองค์อย่างที่ทรงยอมรับนั้นมีค่ายิ่ง. (โยฮัน 4:23, 24) คนเหล่านี้คือ “สิ่งน่าปรารถนา” และสำหรับพระยะโฮวาแล้วพวกเขามีค่ายิ่งกว่าเครื่องตกแต่งหรูหราทั้งหมดที่ประดับพระวิหารของซะโลโมมากนัก.
6. พระวิหารของพระเจ้าในสมัยโบราณมีจุดประสงค์เพื่ออะไร?
6 แม้ว่ามีการต่อต้านอย่างไม่ละลด พระวิหารเสร็จสมบูรณ์ในปี 515 ก.ส.ศ. จนกระทั่งถึงตอนที่พระเยซูทรงสละพระองค์เองเป็นเครื่องบูชา พระวิหารในกรุงยะรูซาเลมก็ยังคงเป็นศูนย์กลางการนมัสการแท้สำหรับ “สิ่งน่าปรารถนา” มากมาย ซึ่งประกอบด้วยชาวยิวโดยกำเนิดและชาวต่างชาติผู้เปลี่ยนมาถือศาสนายิว. แต่พระวิหารนี้เล็งถึงบางสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่ามาก ดังที่เราจะได้เห็น.
ความสำเร็จสมจริงในศตวรรษแรก
7. (ก) พระวิหารของพระเจ้าในกรุงยะรูซาเลมสมัยโบราณเป็นภาพเล็งถึงอะไร? (ข) จงอธิบายขั้นตอนต่าง ๆ ที่มหาปุโรหิตทำในวันไถ่โทษ.
7 พระวิหารในกรุงยะรูซาเลมเป็นภาพเล็งถึงการจัดเตรียมที่ยิ่งใหญ่กว่าเพื่อการนมัสการ. การจัดเตรียมนั้นคือพระวิหารฝ่ายวิญญาณของพระเจ้า ซึ่งพระยะโฮวาทรงก่อตั้งขึ้นใน ส.ศ. 29 โดยมีพระเยซูเป็นมหาปุโรหิต. (เฮ็บราย 5:4-10; 9:11, 12) ขอให้พิจารณาความคล้ายคลึงกันระหว่างหน้าที่ของมหาปุโรหิตของชาติยิศราเอลกับสิ่งที่พระเยซูทรงทำ. แต่ละปีในวันไถ่โทษ มหาปุโรหิตจะเข้าไปที่แท่นบูชาในลานพระวิหารและถวายโคผู้ตัวหนึ่งเพื่อไถ่โทษบาปของเหล่าปุโรหิต. ต่อมา เขาก็จะเข้าไปในพระวิหารพร้อมกับเลือดของโคผู้ ผ่านประตูซึ่งกั้นระหว่างลานพระวิหารกับห้องบริสุทธิ์ แล้วก็ผ่านม่านที่กั้นระหว่างห้องบริสุทธิ์กับห้องบริสุทธิ์ที่สุด. ครั้นอยู่ในห้องบริสุทธิ์ที่สุดแล้ว มหาปุโรหิตก็จะประพรมเลือดเบื้องหน้าหีบสัญญาไมตรี. จากนั้น ตามขั้นตอนอย่างเดียวกัน เขาจะถวายแพะตัวหนึ่งเพื่อไถ่โทษยิศราเอล 12 ตระกูลที่ไม่ใช่ปุโรหิต. (เลวีติโก 16:5-15) การปฏิบัติดังกล่าวนี้เกี่ยวข้องอย่างไรกับพระวิหารฝ่ายวิญญาณของพระเจ้า?
8. (ก) มีการถวายพระเยซูตั้งแต่ปี ส.ศ. 29 ในความหมายใด? (ข) พระเยซูทรงมีสัมพันธภาพพิเศษอะไรกับพระยะโฮวาตลอดชีวิตการรับใช้ของพระองค์บนแผ่นดินโลก?
8 จริง ๆ แล้ว พระเยซูทรงถูกถวายบนแท่นบูชาแห่งพระทัยประสงค์ของพระเจ้าเมื่อพระองค์รับบัพติสมาและได้รับการเจิมโดยพระวิญญาณบริสุทธิ์ของพระเจ้าใน ส.ศ. 29. (ลูกา 3:21, 22) ที่จริง เหตุการณ์นี้บ่งชี้ถึงการเริ่มต้นแนวทางชีวิตที่เสียสละพระองค์เองของพระเยซูซึ่งนานสามปีครึ่ง. (เฮ็บราย 10:5-10) ระหว่างช่วงนั้น พระเยซูทรงมีสัมพันธภาพกับพระเจ้าอันเนื่องมาจากการที่พระองค์ทรงได้รับกำเนิดด้วยพระวิญญาณ. มนุษย์คนอื่น ๆ ไม่มีทางเข้าใจได้อย่างครบถ้วนเกี่ยวกับฐานะพิเศษนี้ที่พระเยซูทรงมีกับพระบิดาผู้อยู่ในสวรรค์. ทั้งนี้ราวกับว่ามีม่านบังสายตาแห่งความเข้าใจของพวกเขาไว้ แบบเดียวกับที่ม่านบังสายตาของคนที่อยู่ในลานพลับพลาไม่ให้เห็นห้องบริสุทธิ์.—เอ็กโซโด 40:28.
9. เหตุใดพระเยซูไม่สามารถเสด็จเข้าสู่สวรรค์ในฐานะมนุษย์ และมีการแก้ไขเรื่องนี้อย่างไร?
9 แม้ว่าทรงเป็นพระบุตรที่ได้รับการเจิมด้วยพระวิญญาณของพระเจ้า มนุษย์เยซูไม่สามารถได้รับชีวิตในสวรรค์. เพราะเหตุใด? เพราะกายที่เป็นเนื้อและเลือดไม่อาจรับมรดกราชอาณาจักรฝ่ายสวรรค์ของพระเจ้าได้. (1 โกรินโธ 15:44, 50) เนื่องจากกายมนุษย์ซึ่งประกอบ ด้วยเลือดเนื้อของพระเยซูเป็นเครื่องกีดกั้น จึงได้มีการให้สัญลักษณ์ไว้อย่างเหมาะเจาะด้วยม่านซึ่งกั้นห้องบริสุทธิ์กับห้องบริสุทธิ์ที่สุดในพระวิหารของพระเจ้าในสมัยโบราณ. (เฮ็บราย 10:20) แต่หลังจากพระเยซูสิ้นพระชนม์ได้สามวัน พระเจ้าทรงปลุกพระองค์ให้มีชีวิตอีกครั้งในฐานะกายวิญญาณ. (1 เปโตร 3:18) ครั้นแล้ว พระองค์จึงสามารถเสด็จเข้าไปในห้องบริสุทธิ์ที่สุดแห่งพระวิหารฝ่ายวิญญาณของพระเจ้า ซึ่งก็คือสวรรค์นั่นเอง. และนั่นแหละคือสิ่งที่ได้เกิดขึ้น. เปาโลเขียนว่า “พระคริสต์เสด็จเข้าไป ไม่ใช่ในสถานที่บริสุทธิ์ [เห็นได้ชัดว่า หมายถึงห้องบริสุทธิ์ที่สุด] ซึ่งทำด้วยมืออันเป็นแบบจำลองจากของจริง แต่ในสวรรค์นั้นเองเพื่อปรากฏเบื้องหน้าองค์พระเจ้าเพื่อเราทั้งหลาย.”—เฮ็บราย 9:24, ล.ม.
10. พระเยซูทรงทำอะไรเมื่อเสด็จกลับสู่สวรรค์แล้ว?
10 ในสวรรค์ พระเยซู ‘ทรงประพรมโลหิต’ แห่งเครื่องบูชาของพระองค์โดยเสนอคุณค่าแห่งโลหิตชีวิตของพระองค์แด่พระยะโฮวาเพื่อเป็นค่าไถ่. อย่างไรก็ตาม พระเยซูทรงทำมากกว่านั้นอีก. ไม่นานก่อนพระองค์วายพระชนม์ พระองค์ตรัสแก่เหล่าสาวกว่า “เราจะไปจัดเตรียมที่ไว้สำหรับเจ้า. นอกจากนั้น ถ้าเราไปจัดเตรียมที่ไว้สำหรับเจ้าทั้งหลายแล้ว เราจะมาอีกและจะรับเจ้าไปอยู่กับเรา เพื่อว่าเราอยู่ที่ไหนเจ้าจะอยู่ที่นั่นด้วย.” (โยฮัน 14:2, 3, ล.ม.) ดังนั้น โดยเข้าไปในห้องบริสุทธิ์ที่สุดหรือสวรรค์ พระเยซูทรงเปิดทางไว้สำหรับคนอื่น ๆ ที่จะตามพระองค์ไป. (เฮ็บราย 6:19, 20) คนเหล่านั้น ซึ่งจะมีจำนวน 144,000 คน จะรับใช้เป็นรองปุโรหิตในการจัดเตรียมของพระเจ้าเกี่ยวกับพระวิหารฝ่ายวิญญาณ. (วิวรณ์ 7:4; 14:1; 20:6) เช่นเดียวกับมหาปุโรหิตของชาติยิศราเอลจะนำโลหิตโคผู้เข้าไปในห้องบริสุทธิ์ที่สุดเพื่อไถ่โทษบาปของเหล่าปุโรหิตเป็นอันดับแรก คุณค่าแห่งพระโลหิตที่หลั่งออกของพระเยซูก็ใช้กับบรรดารองปุโรหิต 144,000 คนเป็นกลุ่มแรก. *
“สิ่งน่าปรารถนา” สมัยปัจจุบัน
11. มหาปุโรหิตแห่งชาติยิศราเอลถวายแพะเพื่อประโยชน์ของใคร และการทำอย่างนี้เป็นภาพเล็งถึงอะไร?
11 ดูเหมือนว่าเมื่อถึงปี 1935 การรวบรวมชนผู้ถูกเจิมโดยทั่วไปก็ครบถ้วน. * แต่พระยะโฮวายังไม่เสร็จจากการทำให้ราชนิเวศของพระองค์ได้รับสง่าราศี. “สิ่งน่าปรารถนา” ยังจะต้องเข้ามาสู่ราชนิเวศของพระองค์. คงไม่ลืมว่ามหาปุโรหิตแห่งชาติยิศราเอลถวายสัตว์สองตัว—โคผู้สำหรับบาปของเหล่าปุโรหิตและแพะสำหรับบาปของตระกูลที่ไม่ใช่ปุโรหิต. เนื่องจากปุโรหิตเป็นภาพเล็งถึงชนผู้ถูกเจิมที่จะอยู่กับพระเยซูในราชอาณาจักรฝ่ายสวรรค์ ตระกูลที่ไม่ใช่ปุโรหิตเป็นภาพเล็งถึงใคร? คำตอบพบได้ในคำตรัสของพระเยซูที่โยฮัน 10:16 (ล.ม.) ที่ว่า “เรามีแกะอื่นซึ่งมิได้เป็นของคอกนี้; แกะเหล่านั้นเราจะต้องพามาด้วย และแกะเหล่านั้นจะฟังเสียงของเรา และจะรวมเป็นฝูงเดียว มี ผู้เลี้ยงผู้เดียว.” ดังนั้น พระโลหิตของพระเยซูที่หลั่งออกนั้นให้ประโยชน์แก่คนสองกลุ่ม—กลุ่มแรก คริสเตียนซึ่งมีความหวังจะปกครองกับพระเยซูในสวรรค์ และกลุ่มที่สอง คนที่มีความหวังจะได้รับชีวิตนิรันดร์บนแผ่นดินโลกที่เป็นอุทยาน. เห็นได้ชัด เป็นกลุ่มที่สองนี้เองซึ่งมีการพรรณนาในคำพยากรณ์ของฮาฆีว่าเป็น “สิ่งน่าปรารถนา.”—มีคา 4:1, 2; 1 โยฮัน 2:1, 2.
12. มีการชักนำอย่างไรให้ “สิ่งน่าปรารถนา” มากมายเข้ามายังราชนิเวศของพระเจ้าในปัจจุบัน?
12 “สิ่งน่าปรารถนา” เหล่านี้ยังคงหลั่งไหลเข้าสู่ราชนิเวศของพระยะโฮวา. ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ ได้มีการยกเลิกการสั่งห้ามในยุโรปตะวันออก, บางส่วนของแอฟริกา, และดินแดนอื่น ๆ ทำให้ข่าวดีเรื่องราชอาณาจักรซึ่งได้รับการสถาปนาแล้วของพระเจ้ารุ่งเรืองเฟื่องฟูในเขตต่าง ๆ ซึ่งก่อนหน้านี้ไม่เคยมีการประกาศเลย. ขณะที่ชนผู้น่าปรารถนาเหล่านี้เข้ามาสู่การจัดเตรียมเกี่ยวกับพระวิหารของพระเจ้า พวกเขาเองก็เหมือนกันพยายามทำคนให้เป็นสาวกต่อไป ตามพระบัญชาของพระเยซู. (มัดธาย 28:19, 20) ขณะที่พวกเขาทำอย่างนั้น พวกเขาพบกับหลายคนทั้งคนหนุ่มและผู้สูงอายุซึ่งมีศักยภาพที่จะกลายมาเป็น “สิ่งน่าปรารถนา” ซึ่งจะทำให้ราชนิเวศของพระยะโฮวาได้รับสง่าราศี. ขอให้พิจารณาบางตัวอย่างว่าเป็นเช่นนั้นอย่างไร.
13. เด็กหญิงเล็ก ๆ คนหนึ่งที่โบลิเวียแสดงให้เห็นอย่างไรถึงความมีใจแรงกล้าของเธอในการเผยแพร่ข่าวราชอาณาจักร?
13 ที่โบลิเวีย เด็กหญิงอายุห้าขวบคนหนึ่งซึ่งได้รับการเลี้ยงดูโดยบิดามารดาที่เป็นพยานฯ ขออนุญาตคุณครูเพื่อจะหยุดเรียนในระหว่างสัปดาห์การเยี่ยมของผู้ดูแลหมวด. ทำไม? เธอต้องการมีส่วนร่วมในกิจกรรมรับใช้ระหว่างสัปดาห์พิเศษนั้นทั้งสัปดาห์. เรื่องนี้ทำให้บิดามารดาของเธอประหลาดใจ แต่ทั้งสองดีใจที่เธอมีเจตคติที่ดีเช่นนั้น. เวลานี้ เด็กหญิงคนนี้นำการศึกษาคัมภีร์ไบเบิลห้าราย และนักศึกษาบางคนเข้าร่วมการประชุมคริสเตียนด้วย. เธอเคยพาครูที่โรงเรียนมาหอประชุมราชอาณาจักรเสียด้วยซ้ำ. อาจ
เป็นไปได้ว่าในอีกไม่ช้า นักศึกษาคัมภีร์ไบเบิลของเธอบางคนจะแสดงตัวเป็น “สิ่งน่าปรารถนา” ที่จะทำให้ราชนิเวศของพระยะโฮวาได้รับสง่าราศี.14. ที่เกาหลี ความพยายามอย่างไม่ละลดของพี่น้องหญิงคนหนึ่งที่จะให้คำพยานแก่คนซึ่งดูเหมือนไม่สนใจเกิดผลอย่างไร?
14 ขณะคอยรถไฟที่สถานี สตรีคริสเตียนคนหนึ่งที่เกาหลีเข้าไปหานักศึกษาคนหนึ่งซึ่งกำลังฟังเพลงจากหูฟัง. เธอถามเขาว่า “คุณมีศาสนาไหม?” “ผมไม่สนใจเรื่องศาสนา” นักศึกษาคนนั้นตอบ. พี่น้องหญิงไม่ท้อถอย. เธอกล่าวต่อว่า “เมื่อเวลาผ่านไป คนเราอาจต้องการเลือกนับถือศาสนา. แต่ถ้าเขาไม่มีความรู้เกี่ยวกับศาสนา เขาอาจจะเลือกศาสนาผิดก็เป็นได้.” ท่าทีของนักศึกษาคนนั้นเปลี่ยนไป และเขาเริ่มฟังพี่น้องหญิงของเราด้วยความสนใจ. เธอเสนอหนังสือพระผู้สร้างผู้ใฝ่พระทัยในตัวคุณมีไหม? แก่เขา และกล่าวว่าหนังสือนี้จะเป็นประโยชน์อย่างมากเมื่อถึงเวลาที่เขาจะเลือกศาสนา. เขารับหนังสือนั้นด้วยความเต็มใจ. สัปดาห์ต่อมา เขาเริ่มศึกษาคัมภีร์ไบเบิลกับพยานพระยะโฮวา และในเวลานี้เขาเข้าร่วมการประชุมประชาคมทุกรายการ.
15. เด็กหญิงคนหนึ่งที่ญี่ปุ่นเริ่มนำการศึกษาคัมภีร์ไบเบิลอย่างไร และความพยายามของเธอเกิดผลอย่างไร?
15 ที่ญี่ปุ่น เมะกุมิอายุ 12 ปี ถือว่าโรงเรียนเป็นเขตทำงานที่เกิดผลอย่างดีสำหรับการประกาศและการสอน. เธอถึงกับสามารถเริ่มนำการศึกษาคัมภีร์ไบเบิลแล้วหลายราย. เมะกุมิทำได้อย่างไร? เนื่องจากเธออ่านคัมภีร์ไบเบิลหรือเตรียมส่วนสำหรับการประชุมในช่วงพักเที่ยง เพื่อนร่วมชั้นมักจะถามว่าเธอทำอะไร. บางคนถามเมะกุมิว่าทำไมเธอไม่ร่วมกิจกรรมบางอย่างของโรงเรียน. เมะกุมิตอบคำถามเหล่านั้นและบอกเพื่อน ๆ ว่าพระเจ้าทรงมีพระนาม. เรื่องนี้มักจะกระตุ้นความสนใจของคนที่ฟังเธอ. เมื่อเป็นอย่างนั้น เธอก็จะเสนอการศึกษาคัมภีร์ไบเบิล. ในเวลานี้ เมะกุมินำการศึกษา 20 ราย—18 รายเป็นเพื่อนร่วมชั้นของเธอ.
16. พี่น้องชายคนหนึ่งที่แคเมอรูนสามารถเริ่มนำการศึกษาคัมภีร์ไบเบิลกับบางคนในกลุ่มผู้เยาะเย้ยได้อย่างไร?
16 ที่แคเมอรูน ผู้ชายแปดคนซึ่งกำลังทำงานด้วยกัน ณ สถานก่อสร้างแห่งหนึ่งตะโกนเรียกพี่น้องชายซึ่งกำลังเสนอหนังสืออธิบายคัมภีร์ไบเบิลแก่ผู้ที่ผ่านไปมา. ด้วยเจตนาจะเยาะเย้ยพี่น้องคนนี้ พวกเขาถามว่าทำไมจึงไม่เชื่อเรื่องตรีเอกานุภาพ, ไฟชำระ, หรือความเป็นอมตะของจิตวิญญาณ. พี่น้องของเราตอบคำถามของพวกเขาโดยใช้คัมภีร์ไบเบิล. ผลก็คือ สามคนในกลุ่มนี้ตอบรับการศึกษาคัมภีร์ไบเบิล. คนหนึ่ง ชื่อแดเนียล เริ่มเข้าร่วมการประชุมและถึงกับทำลายสมบัติส่วนตัวทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับลัทธิภูตผีปิศาจ. (วิวรณ์ 21:8) ไม่ถึงปี เขาก็รับบัพติสมา.
17. พี่น้องบางคนที่เอลซัลวาดอร์ใช้ไหวพริบอย่างไรเพื่อจะประกาศกับชายคนหนึ่งซึ่งในตอนแรกไม่ต้องการฟังข่าวเรื่องราชอาณาจักร?
17 ที่เอลซัลวาดอร์ ชายคนหนึ่งจะล่ามสุนัขดุของเขาไว้ที่หน้าประตูบ้านเมื่อไรก็ตามที่เขาเห็นพยานพระยะโฮวาอยู่แถวนั้น. ชายคนนี้จะคอยจนกระทั่งพยานฯ ผ่านไป เขาจึงจะนำสุนัขกลับเข้าบ้าน. พวกพี่น้องไม่เคยมีโอกาสสนทนากับชายคนนี้เลย. ดังนั้น มาวันหนึ่งพวกเขาจึงตัดสินใจจะลองเข้าถึงชายคนนี้โดยวิธีที่ต่างไปจากปกติ. โดยรู้อยู่ว่าชายคนนี้จะได้ยินสิ่งที่เขาพูด พวกเขาจึงตัดสินใจว่าจะประกาศกับสุนัขตัวนั้น. พอถึงบ้านหลังนั้นเขาก็ทักทายสุนัข และบอกว่าดีใจที่มีโอกาสคุยกับมัน. เขาคุยถึงเรื่องสมัยที่จะมีอุทยานบนแผ่นดินโลก เมื่อจะไม่มีใครโกรธอีก—และแม้แต่สัตว์ก็จะไม่ดุร้าย. จากนั้นเขาก็กล่าวลาสุนัขนั้นอย่างสุภาพแล้วก็ออกเดินต่อไปตามทางเดิน. พี่น้อง
รู้สึกแปลกใจมากเมื่อชายคนนี้ออกมาจากบ้านและขอโทษที่ไม่เคยให้โอกาสพยานฯ คุยกับเขา. เขารับวารสาร และการศึกษาคัมภีร์ไบเบิลก็ได้เริ่มขึ้น. เดี๋ยวนี้ ชายผู้นี้เป็นพี่น้องของเรา—คนหนึ่งในบรรดา “สิ่งน่าปรารถนา”!“อย่าได้กลัวเลย”
18. คริสเตียนหลายคนเผชิญข้อท้าทายอะไร แต่พระยะโฮวาทรงมีทัศนะอย่างไรต่อผู้นมัสการพระองค์?
18 คุณกำลังมีส่วนร่วมในงานสำคัญ คือการประกาศเรื่องราชอาณาจักรและงานทำให้คนเป็นสาวกไหม? หากเป็นอย่างนั้น คุณได้รับสิทธิพิเศษจริง ๆ. ที่จริง พระยะโฮวาทรงชักนำ “สิ่งน่าปรารถนา” เข้าสู่ราชนิเวศของพระองค์โดยอาศัยงานนี้เอง. (โยฮัน 6:44) จริงอยู่ บางครั้งคุณอาจเหนื่อยหรือท้อใจอยู่บ้าง. บางครั้ง แม้แต่ในหมู่ผู้รับใช้ที่ซื่อสัตย์ของพระยะโฮวาก็มีบางคนที่ต้องต่อสู้กับความรู้สึกว่าตัวเองไร้ค่า. แต่อย่าท้อถอย! พระยะโฮวาทรงถือว่าผู้นมัสการแต่ละคนของพระองค์นั้นน่าปรารถนา และพระองค์ทรงใฝ่พระทัยในเรื่องความรอดของคุณ.—2 เปโตร 3:9.
19. พระยะโฮวาทรงให้การหนุนใจอะไรโดยทางฮาฆี และพระดำรัสดังกล่าวอาจเป็นแหล่งที่ให้ความเข้มแข็งแก่เราได้อย่างไร?
19 เมื่อเรารู้สึกท้อแท้ ไม่ว่าจะเพราะการต่อต้านหรือสถานการณ์ที่ไม่น่ายินดีอื่น ๆ พระดำรัสของพระยะโฮวาซึ่งตรัสแก่ชาวยิวที่กลับสู่มาตุภูมิอาจเป็นแหล่งที่ทำให้เข้มแข็งขึ้น. ที่ฮาฆี 2:4-6 เราอ่านว่า “พระยะโฮวาตรัสว่า, ‘ดูก่อนซะรุบาเบล, บัดนี้เจ้าจงแข็งข้อขึ้นเถอะ, ยะโฮซูอะบุตรยะโฮซาดักปุโรหิตใหญ่, เจ้าจงตั้งข้อให้แข็งขึ้นเถอะ’ พระยะโฮวาตรัสว่า, ‘บรรดาเจ้า, ชาวเมืองทั้งหมด, เจ้าจงทำการก่อสร้างเถอะ, เพราะเราอยู่กับเจ้า.’ พระยะโฮวาจอมพลโยธาตรัสต่อไปว่า, ‘นี่แหละเป็นคำสัญญาที่เราได้ทำไว้กับเจ้าทั้งหลายในขณะเมื่อเจ้าทั้งหลายยกออกมาจากประเทศอายฆุบโต, และพระจิตต์ของเรายังคงสถิตอยู่ในท่ามกลางเจ้าทั้งหลาย, เจ้าทั้งหลายอย่าได้กลัวเลย.’ เพราะพระยะโฮวาจอมพลโยธาตรัสว่าดังนี้: ‘อีกสักหน่อยเถอะ, เราจะจับนภาลัยและพิภพ, ทะเลและบกเขย่าให้หวั่นไหว.’ ” โปรดสังเกตว่าพระยะโฮวาไม่เพียงแต่กระตุ้นเราให้เข้มแข็ง แต่ยังจัดให้เรามีวิธีที่จะได้ความเข้มแข็งด้วย. โดยวิธีใด? ขอให้สังเกตพระดำรัสที่ให้ความมั่นใจ: “เราอยู่กับเจ้า.” ช่างเสริมความเชื่อจริง ๆ เมื่อตระหนักว่าไม่ว่าเราเผชิญอุปสรรคใดก็ตาม พระยะโฮวาทรงสถิตอยู่กับเรา!—โรม 8:31.
20. ราชนิเวศของพระยะโฮวากำลังเต็มด้วยสง่าราศีอย่างไม่เคยเป็นมาก่อนอย่างไร?
20 แน่นอน พระยะโฮวาได้ทรงพิสูจน์แล้วว่าพระองค์ทรงสถิตอยู่กับไพร่พลของพระองค์. จริงทีเดียว เป็นดังที่พระองค์ทรงแจ้งโดยทางผู้พยากรณ์ฮาฆี: “สง่าราศีของนิเวศหลังใหม่นี้จะยิ่งกว่าหลังเดิม . . . และในสถานแห่งนี้เราจะประทานสันติสุข.” (ฮาฆี 2:9, ล.ม.) แท้จริง สง่าราศียิ่งใหญ่ที่สุดในทุกวันนี้พบได้ในพระวิหารฝ่ายวิญญาณของพระยะโฮวา. หลายแสนคนหลั่งไหลเข้ามาสู่การนมัสการแท้ในแต่ละปี. คนเหล่านี้กำลังได้รับการบำรุงเลี้ยงอย่างดีฝ่ายวิญญาณ และแม้แต่ในโลกที่ปั่นป่วนวุ่นวายนี้ พวกเขามีสันติสุขที่เฉพาะแต่โลกใหม่ของพระเจ้าเท่านั้นจะมีสันติสุขยิ่งกว่า.—ยะซายา 9:6, 7; ลูกา 12:42.
21. ความตั้งใจแน่วแน่ของเราควรเป็นเช่นไร?
21 จวนจะถึงเวลาอยู่แล้วที่พระยะโฮวาจะเขย่านานาชาติ ณ อาร์มาเก็ดดอน. (วิวรณ์ 16:14, 16) ด้วยเหตุนั้น ให้เราใช้เวลาที่เหลืออยู่ช่วยชีวิตผู้คนมากขึ้น. ขอให้เราเข้มแข็งและมีความไว้วางใจพระยะโฮวาอย่างเต็มเปี่ยม. ให้เราตั้งใจแน่วแน่จะนมัสการ ณ พระวิหารฝ่ายวิญญาณอันยิ่งใหญ่ของพระองค์ต่อ ๆ ไป นำผู้คนที่เป็น “สิ่งน่าปรารถนา” เข้าสู่พระวิหารฝ่ายวิญญาณต่อ ๆ ไป จนกว่าพระยะโฮวาจะตรัสว่างานของเราสำเร็จเสร็จสิ้นแล้ว.
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 4 จำนวนทรัพย์ที่บริจาคสำหรับใช้ในการสร้างพระวิหารของซะโลโมคงจะมีมูลค่าประมาณ 1.6 ล้านล้านบาทตามค่าเงินในปัจจุบัน. ทรัพย์ส่วนใดที่ไม่ได้ใช้ในการก่อสร้างก็ได้เก็บไว้ในคลังพระวิหาร.—1 กษัตริย์ 7:51.
^ วรรค 10 ไม่เหมือนกับมหาปุโรหิตแห่งชาติยิศราเอล พระเยซูไม่มีบาปซึ่งจำเป็นต้องมีการไถ่ถอน. อย่างไรก็ตาม เหล่าปุโรหิตที่สมทบกับพระองค์มีบาปเนื่องจากพวกเขาถูกซื้อจากท่ามกลางมนุษยชาติที่ผิดบาป.—วิวรณ์ 5:9, 10.
^ วรรค 11 ดูหอสังเกตการณ์ ฉบับ 15 กุมภาพันธ์ 1998 หน้า 17-22.
คุณจำได้ไหม?
• อะไรมีค่าต่อพระยะโฮวามากกว่าสิ่งฝ่ายวัตถุ?
• พระโลหิตที่หลั่งออกของพระเยซูให้ประโยชน์แก่คนสองกลุ่มใด?
• ใครคือ “สิ่งน่าปรารถนา” ที่จะทำให้ราชนิเวศของพระยะโฮวาเต็มด้วยสง่าราศี?
• เรามีหลักฐานอะไรที่แสดงว่าคำพยากรณ์ของฮาฆีกำลังสำเร็จในปัจจุบัน?
[คำถาม]
[ภาพหน้า 16]
(รายละเอียดดูจากวารสาร)
คุณทราบไหมว่าพระวิหารของพระยะโฮวาในสมัยโบราณมีความหมายโดยนัยเช่นไร?
ห้องบริสุทธิ์ที่สุด
ม่าน
ห้องบริสุทธิ์
แท่นบูชา
ซุ้มทางเข้า
ลานพระวิหาร
[ภาพหน้า 17]
มหาปุโรหิตถวายโคผู้สำหรับบาปของเหล่าปุโรหิต และถวายแพะสำหรับบาปของตระกูลต่าง ๆ ที่ไม่ใช่ปุโรหิตแห่งชาติยิศราเอล
[ภาพหน้า 18]
งานประกาศราชอาณาจักรทั่วโลกกำลังชักนำชนเป็นอันมากเข้าสู่ราชนิเวศของพระยะโฮวา