ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

มีผู้ออกแบบไหม?

ผิวหนังที่สกัดความชื้นได้ของกิ้งก่าปีศาจหนาม

ผิวหนังที่สกัดความชื้นได้ของกิ้งก่าปีศาจหนาม

กิ้งก่าปีศาจหนาม (Moloch horridus) ของออสเตรเลียสกัดความชื้นจากหมอก ความชื้นในอากาศ และทรายเปียกออกมาเป็นน้ำแล้วก็ลำเลียงไปที่ปากของมัน มันทำได้อย่างไร? ผิวหนังที่น่าทึ่งของกิ้งก่าชนิดนี้จะช่วยให้รู้คำตอบ

เนื่องจากร่องที่อยู่บนผิวหนังเชื่อมกับท่อที่ต่อกันเป็นโครงข่ายใต้ผิวหนัง น้ำจึงถูกลำเลียงไปที่มุมปากทั้งสองข้างของเจ้าปีศาจหนามได้

ลองคิดดู: ผิวหนังของเจ้าปีศาจหนามมีเกล็ดที่ซ้อนเหลื่อมกันเป็นแถว นักวิทยาศาสตร์บางคนคิดว่าความชื้นหรือหยดน้ำค้างที่เกาะอยู่บนเกล็ดจะซึมผ่านผิวหนังที่หยาบกร้านของมันเข้าไปในช่องหรือร่องที่มีอยู่ตามผิวหนังซึ่งอยู่ระหว่างเกล็ดแต่ละชิ้น ช่องเหล่านี้เชื่อมต่อกันและจะลำเลียงน้ำไปที่มุมปากทั้งสองข้างของเจ้าปีศาจหนาม

แต่กิ้งก่าจะฝืนกฎแรงโน้มถ่วง โดยดึงน้ำจากขาผ่านลำตัวให้ไปถึงปากเพื่อเข้าสู่กระบวนการในร่างกายได้อย่างไร? แล้วเจ้าปีศาจหนามจะสกัดความชื้นจากพื้นผิวที่เปียกได้อย่างไรตอนที่มันเอาท้องถูกับพื้น?

ดูเหมือนนักวิจัยจะรู้ความลับของเจ้าปีศาจหนามนี้แล้ว พวกเขาพบว่าช่องที่อยู่บนผิวหนังมีท่อเชื่อมต่อกับช่องที่อยู่ใต้ผิวหนัง โครงสร้างของช่องเหล่านี้ทำให้เกิดคะปิลลารีแอคชั่น (capillary action) ซึ่งเป็นกระบวนการที่น้ำถูกดึงขึ้นไปตามช่องเล็ก ๆ แม้จะต้านแรงโน้มถ่วงก็ตาม ผิวหนังของกิ้งก่านี้จะดูดน้ำขึ้นมาเหมือนฟองน้ำ

เจไนน์ เบนเยส ประธานสถาบันการเลียนแบบสิ่งมีชีวิตบอกว่า เทคโนโลยีต่าง ๆ ที่เลียนแบบวิธีสกัดความชื้นนี้อาจช่วยวิศวกรให้สามารถออกแบบระบบดูดความชื้นออกจากอากาศซึ่งช่วยทำให้อาคารเย็นลงอย่างมาก และยังทำให้มีน้ำดื่มด้วย

คุณคิดอย่างไร? ผิวหนังที่สกัดความชื้นได้ของกิ้งก่าปีศาจหนามเกิดขึ้นโดยวิวัฒนาการหรือมีผู้ออกแบบ?