มีผู้ออกแบบไหม?
ระบบนำทางของด้วงมูลสัตว์
ด้วงมูลสัตว์หรือแมงกุ๊ดจี่ใช้ประโยชน์หลายอย่างจากมูลสัตว์ เช่น กินเป็นอาหาร ใช้เป็นที่วางไข่ หรือในบางครั้งตัวผู้จะปั้นขี้วัวขี้ควายเป็นของขวัญให้ตัวเมียเพื่อหวังจะเอาชนะใจเธอ พวกมันจะแข่งขันกันอย่างดุเดือดเพื่อแย่งชิงอาหารสดใหม่อันโอชะนี้ ครั้งหนึ่งนักวิจัยเคยสังเกตดูด้วงมูลสัตว์กว่า 16,000 ตัวแห่ขึ้นไปบนกองขี้ช้างและกวาดจนเรียบภายในเวลาแค่สองชั่วโมง
ด้วงมูลสัตว์บางชนิดหนีจากตัวอื่น ๆ โดยการปั้นมูลสัตว์เป็นก้อนกลม ๆ กลิ้งไปให้ไกลจากกองมูลเดิมแล้วเอาไปฝังไว้ใต้ดินนุ่ม ๆ พวกมันกลิ้งก้อนมูลเป็นเส้นตรงเพราะวิธีนี้เร็วที่สุดและจะได้ไม่ถูกตัวอื่นแย่งไป
แต่ด้วงมูลสัตว์ทำอย่างไรจึงไม่เดินวนไปวนมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตอนกลางคืน?
ลองคิดดู: การวิจัยก่อนหน้านี้บอกให้รู้ว่าด้วงมูลสัตว์ใช้แสงอาทิตย์หรือแสงจันทร์ในการนำทาง แม้แต่คืนที่ไม่มีแสงจันทร์เลยพวกมันก็ยังเดินเป็นเส้นตรงได้ นักวิจัยในแอฟริกาใต้พบว่าด้วงมูลสัตว์ไม่ได้ใช้แสงจากดาวดวงใดดวงหนึ่ง แต่ใช้แสงจากกาแล็กซีทางช้างเผือก วารสารฉบับหนึ่ง (Current Biology) บอกว่า “นี่เป็นครั้งแรกที่มีการบันทึกว่าสัตว์บนโลกใช้กาแล็กซีทางช้างเผือกเพื่อช่วยให้มันเดินถึงจุดหมาย”
นักวิจัยชื่อมาร์คัส เบิร์นบอกว่า “ด้วงมูลสัตว์มีระบบนำทางด้วยสายตาที่ดีมาก แม้แต่ในคืนเดือนมืดพวกมันก็ยังมองเห็นและเดินได้โดยแทบไม่ต้องใช้สมองคิดเลยด้วยซ้ำ” เขาบอกอีกด้วยว่า “ปัญหาของหุ่นยนต์และกล้องถ่ายรูปที่มนุษย์สร้างขึ้นก็คือไม่สามารถแยกแยะวัตถุได้ถ้าแสงไม่พอ แต่นักวิทยาศาสตร์ก็หวังว่าจะเรียนรู้วิธีแก้ปัญหานี้ได้จากด้วงมูลสัตว์” ตัวอย่างเช่น หุ่นยนต์อาจถูกสร้างขึ้นโดยเลียนแบบระบบนำทางของด้วงมูลสัตว์ ซึ่งจะช่วยให้ค้นหาผู้รอดชีวิตจากตึกถล่มได้แม้พื้นที่นั้นจะมีแสงน้อยมากก็ตาม
คุณคิดอย่างไร? ระบบนำทางของด้วงมูลสัตว์เกิดขึ้นโดยวิวัฒนาการหรือมีผู้ออกแบบ?
คุณรู้ไหม?
ด้วงมูลสัตว์ช่วยพรวนดินและบำรุงดิน ช่วยกระจายเมล็ดพืช และช่วยควบคุมจำนวนแมลงวัน