จากอดีต
เจิ้งเหอ
“เราเดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลไปไกลกว่าแสนลี้ * และได้เห็นคลื่นมหาสมุทรลูกใหญ่มหึมาดั่งขุนเขาสูงเสียดฟ้า. เราเฝ้ารอวันที่จะได้เห็นดินแดนของอนารยชนที่อยู่ไกลโพ้น . . . ขณะที่กองเรือของเราชักใบเรือขึ้นสูงและกางออกอย่างสง่างามเหมือนหมู่เมฆที่ล่องลอยไปข้างหน้าอย่างไม่หยุดยั้งทั้งกลางวันกลางคืน (รวดเร็วดุจ) ดวงดาว และแล่นฝ่าคลื่นอันโหดร้ายราวกับกำลังย่างกรายอยู่บนถนนหลวงที่คลาคล่ำด้วยผู้คน.”—บันทึกการเดินเรือของเจิ้งเหอบนศิลาจารึกในศตวรรษที่สิบห้า ที่เมืองฉางเล่อ มณฑลฝูเจี้ยน ประเทศจีน
จีนเป็นดินแดนแห่งความยิ่งใหญ่. จีนมีประชากรมากที่สุด และเป็นหนึ่งในประเทศที่มีผืนแผ่นดินกว้างใหญ่ที่สุดในโลก. ชาวจีนสร้างกำแพงเมืองจีนซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการก่อสร้างที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์. กองเรืออันเกรียงไกรซึ่งสร้างขึ้นโดยจักรพรรดิราชวงศ์หมิงสององค์คือหย่งเล่อและซวนเต๋อ เป็นกองเรือที่ยิ่งใหญ่กว่ากองเรือใด ๆ ที่อาจถูกสร้างขึ้นในอีกห้าร้อยปีต่อมา. ผู้บัญชาการกองเรือนี้เป็นชาวมุสลิมที่มาจากทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน. เขามีนามว่า เจิ้งเหอ.
อำนาจ การค้า และเครื่องบรรณาการ
ในบันทึกเดียวกับที่ยกมากล่าวบางส่วนในตอนต้นได้บอกเพิ่มเติมว่า ภารกิจของเจิ้งเหอคือ “เพื่อประกาศศักดาและคุณความดี (ขององค์จักรพรรดิ) และปฏิบัติต่อประชาชนในดินแดนอันไกลโพ้นด้วยความกรุณา.” แผ่นศิลาจารึกนั้นกล่าวว่าผลที่ได้จากการเดินทางคือ “ประเทศต่าง ๆ ที่อยู่ไกลสุดขอบฟ้า ตั้งแต่ปลายพิภพข้างนี้ถึงปลายพิภพข้างโน้นล้วนยอมสวามิภักดิ์ [ต่อจีน] . . . ชนต่างประเทศไกลสุดขอบทะเล . . . ได้มาเข้าเฝ้าพระจักรพรรดิ [ที่ราชสำนัก] พร้อมกับนำของมีค่ามากมายมาถวายเป็นเครื่องบรรณาการ.”
เหตุผลที่จักรพรรดิราชวงศ์หมิงดำริให้สร้างกองเรือยิ่งใหญ่นี้ขึ้นมายังเป็นเรื่องที่ถกเถียงกัน. บางคนมองว่า เจิ้งเหอเป็นทูตวัฒนธรรมผู้มี
ไมตรีซึ่งเป็นตัวแทนของประเทศมหาอำนาจที่ยิ่งใหญ่แต่ก็รักสันติ. แต่บางคนบอกว่าภารกิจของเขาก็เพื่อแผ่อาณานิคมทางทะเลซึ่งเป็นนโยบายที่แข็งกร้าวทางการเมือง. ที่จริง เจิ้งเหอให้ของกำนัลที่ล้ำค่าและให้การสนับสนุนทางการเมืองแก่ผู้ปกครองที่ยอมอ่อนน้อมต่อเขา แต่ใครก็ตามที่ไม่ยอมสวามิภักดิ์และถวายเครื่องบรรณาการต่อจักรพรรดิราชวงศ์หมิงก็จะถูกปราบปรามและจับไปเป็นนักโทษ. ผลก็คือ การเดินทางที่ยิ่งใหญ่ของเจิ้งเหอทำให้มีผู้ปกครองมากมายจากหลายประเทศแถบมหาสมุทรอินเดียส่งทูตไปจีนเพื่อคารวะพระจักรพรรดิ.ไม่ว่ากองเรือของเจิ้งเหอจะเดินทางด้วยเหตุผลใด พวกเขาก็ได้นำสิ่งของล้ำค่า เช่น เครื่องเขิน เครื่องถ้วยชาม และผ้าไหมที่ทอโดยช่างฝีมือของราชวงศ์หมิงไปขายตามเมืองท่าต่าง ๆ ที่อยู่ห่างไกล. กองเรือเหล่านี้กลับมาพร้อมกับอัญมณี งาช้าง เครื่องเทศ ไม้จากป่าเขตร้อน และสิ่งของอื่น ๆ ที่ชาวจีนถือว่ามีค่า รวมถึงยีราฟซึ่งกล่าวกันว่าได้สร้างความแตกตื่นฮือฮาให้กับชาวจีนอย่างมาก. การแลกเปลี่ยนสินค้าและความคิดเห็นต่าง ๆ ทำให้ชาวโลกได้เห็นความเจริญรุ่งเรืองของประเทศจีนในช่วงศตวรรษที่ 15.
ภายในเวลาไม่กี่สิบปี การเดินทางที่น่าทึ่งของเจิ้งเหอก็ยุติลงหลังจากที่จีนเลิกนโยบายทางการทูตและการค้ากับต่างชาติ. เนื่องจากไม่เห็นความจำเป็นต้องติดต่อกับประเทศอื่น ๆ จักรพรรดิองค์ใหม่และเหล่าเสนาบดีซึ่งศรัทธาในลัทธิขงจื๊อพยายามปิดประเทศเพื่อปิดกั้นอิทธิพลจากต่างชาติ. พวกเขาปล่อยกองเรือมหาสมบัติให้เป็นเพียงอดีตที่ผ่านไป และดูเหมือนบันทึกต่าง ๆ ที่เป็นมหากาพย์แห่งการเดินทางกับเรือเหล่านั้นได้ถูกทำลายไปด้วย. เพียงเมื่อไม่กี่ปีมานี้เองที่ผู้คนทั้งในและนอกประเทศจีนได้รู้จักตำนานการเดินเรืออันยิ่งใหญ่ของเจิ้งเหอและกองเรือมหึมาของเขา.
^ วรรค 3 ลี้ เป็นมาตรวัดระยะทางของจีนที่ใช้กันมาตลอดหลายพันปี. เชื่อกันว่าในสมัยของเจิ้งเหอ หนึ่งลี้ มีความยาวประมาณหนึ่งในสามของไมล์ หรือครึ่งกิโลเมตร.