มีผู้ออกแบบไหม?
“ตา” บนลำตัวของดาวเปราะ
ดาวเปราะอาศัยอยู่ตามแนวปะการัง. ผิวด้านบนของมันมีลักษณะเหมือนเสื้อเกราะที่น่าทึ่ง. ผิวลำตัวของดาวเปราะเต็มไปด้วยเลนส์ขนาดจิ๋วที่มองด้วยตาเปล่าไม่เห็นเรียงอยู่เป็นแถว ๆ. เลนส์ทั้งหมดนี้ทำหน้าที่เป็นตาประกอบของมัน.
ขอพิจารณา: วารสารแนเชอรัล ฮิสตอรี กล่าวว่า เมื่อนักวิทยาศาสตร์เอาลำตัวของดาวเปราะไปศึกษาอย่างละเอียด พวกเขาสังเกตเห็น “โครงสร้างที่มีลักษณะเฉพาะซึ่งเต็มไปด้วยปุ่มใสเหมือนคริสตัล และแต่ละปุ่มมีเส้นผ่าศูนย์กลางเล็กกว่าเส้นผมของมนุษย์.” ปุ่มใสเหล่านี้ซึ่งเกิดจากแคลเซียมคาร์บอเนต แท้จริงแล้วคือเลนส์ขนาดจิ๋วที่มีคุณภาพสูง. เลนส์เหล่านี้ช่วยรวมแสงให้ตกกระทบบนเส้นประสาทที่อยู่ใต้ผิวของมันซึ่งรับแสงได้ดีเยี่ยม. นอกจากนี้ แต่ละเลนส์ยังมีรูปทรงที่ช่วยให้สามารถมองเห็นวัตถุได้ชัด.
นักเคมีชื่อโจอันนา ไอเซนเบิร์กกล่าวว่า ผิวด้านนอกของดาวเปราะซึ่งทำหน้าที่สองอย่าง “แสดงให้เห็นหลักการสำคัญทางชีววิทยาที่ว่า วัตถุที่ถูกออกแบบอย่างดีเยี่ยมมักจะใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย.”
จากการศึกษาลำตัวของดาวเปราะ นักวิจัยสามารถคิดวิธีสร้างแผงเลนส์ขนาดจิ๋วจากแคลเซียมคาร์บอเนตซึ่งทำได้ง่ายและราคาถูก. แผงเลนส์เหล่านี้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้มากมาย รวมทั้งด้านโทรคมนาคม เช่น เป็นตัวนำสัญญาณแสงผ่านเส้นใยแก้วนำแสง.
คุณคิดอย่างไร? “ตา” บนลำตัวของดาวเปราะเกิดขึ้นโดยวิวัฒนาการหรือมีผู้ออกแบบ?