มีผู้ออกแบบไหม?
อวัยวะควบคุมการบินของแมลงวัน
ทำไมแมลงวันบ้านจึงสามารถบินฉวัดเฉวียนในอากาศได้? เมื่อมันปะทะกับลมกระโชก ทำไมแมลงวันจึงทรงตัวและบินต่อไปได้อย่างมั่นคง? คำตอบอยู่ที่อวัยวะเล็ก ๆ ที่อยู่หลังปีกแต่ละข้างซึ่งยื่นออกมาจากลำตัวของแมลงวันที่เรียกว่า แฮลเทอร์ (haltere). *
ขอพิจารณา: แฮลเทอร์มีลักษณะคล้ายไม้กลองที่มีตุ่มอยู่ตรงปลาย. ขณะที่แมลงวันบินอยู่ แฮลเทอร์จะขยับขึ้นลงในอัตราความถี่เดียวกับปีกแต่จะเป็นไปในทิศทางตรงข้ามกัน. นักวิทยาศาสตร์ค้นพบว่าแฮลเทอร์ทำหน้าที่เป็นไจโรสโกปชนิดหนึ่งซึ่งช่วยให้แมลงวันทรงตัวได้ดีขณะที่มันบินอยู่. *
สารานุกรมการปรับตัวในโลกธรรมชาติ (ภาษาอังกฤษ) บอกว่า ปลายที่เป็นตุ่มของแฮลเทอร์ “ขยับไปในทิศทางเดียวเท่านั้นซึ่งคล้ายกับลูกตุ้มของนาฬิกา.” แมลงวันเปลี่ยนทิศทางการบินได้ทันทีไม่ว่าโดยตั้งใจหรือบังเอิญปะทะกับลมกระโชกอย่างกะทันหัน สารานุกรมนั้นกล่าวเสริมว่า “แกนของแฮลเทอร์จะหมุน. แล้วกลุ่มเส้นประสาทรอบแกนจะตรวจจับการหมุนของแกนนั้น แล้วส่งข้อมูลไปยังสมองของแมลงวันเพื่อมันจะทรงตัว . . . อยู่ได้.” เพราะเหตุนี้ แมลงวันจึงเปลี่ยนทิศทางได้รวดเร็วและถูกตีได้ยาก.
วิศวกรหลายคนได้แรงบันดาลใจในการพัฒนาเทคโนโลยีมากมายจากแฮลเทอร์ของแมลงวัน เช่น หุ่นยนต์ แมลงหุ่นยนต์จิ๋ว และยานอวกาศ. ราฟัล ซบีคอฟสกี นักวิจัยห้วงอากาศอวกาศเขียนว่า “ใครจะไปคิดว่าแมลงตัวเล็ก ๆ ที่น่ารังเกียจอย่างแมลงวันจะสอนเราได้มากมายขนาดนี้?”
คุณคิดอย่างไร? แฮลเทอร์ที่ทำหน้าที่เป็นไจโรสโกปของแมลงวันเกิดขึ้นโดยวิวัฒนาการหรือมีผู้ออกแบบ?
^ วรรค 3 แมลงที่มีปีกเป็นคู่ เช่น แมลงวัน ยุง และริ้นมีแฮลเทอร์.
^ วรรค 4 ไจโรสโกปโดยทั่วไปเป็นอุปกรณ์ที่มีล้อหมุนเร็วรอบแกนใด ๆ ซึ่งบรรจุอยู่ในกรอบ. ล้อมักจะรักษาระดับทิศทางของแกนหมุนไว้ไม่ว่าสภาพภายนอก สนามแม่เหล็ก หรือแรงโน้มถ่วงจะเป็นเช่นไรก็ตาม. ดังนั้น ไจโรสโกปจึงถูกใช้ในการทำเข็มทิศที่มีความแม่นยำสูง.