มีผู้ออกแบบไหม?
อวัยวะรับความรู้สึกของแมลงทับ
ไฟป่าได้ขับไล่สัตว์ส่วนใหญ่ออกไปจากผืนป่า แต่ได้ดึงดูดแมลงทับชนิดหนึ่ง (black fire beetle, ชื่อทางวิทยาศาสตร์ Melanophila acuminata) เข้ามา. เพราะเหตุใด? เนื่องจากซากต้นไม้ที่เพิ่งถูกไฟไหม้เป็นแหล่งวางไข่ที่ดีที่สุดสำหรับแมลงทับชนิดนี้. นอกจากนั้น ไฟป่าได้ขับไล่สัตว์นักล่าซึ่งทำให้แมลงทับสามารถหากิน ผสมพันธุ์ และวางไข่ได้อย่างปลอดภัย. แต่แมลงทับชนิดนี้รู้ได้อย่างไรว่าเกิดไฟป่าขึ้นที่ไหน?
ขอพิจารณา: บริเวณหลังขาคู่กลางของมันมีอวัยวะรับความรู้สึกซึ่งก็คืออวัยวะที่เป็นร่องเล็ก ๆ ซึ่งสามารถตรวจจับรังสีอินฟราเรดที่ออกมาจากไฟป่าได้. เมื่อมันได้รับรังสีอินฟราเรดอวัยวะนี้จะร้อนขึ้น ด้วยเหตุนี้แมลงทับจึงรู้ว่าจะบินไปหาเปลวไฟบริเวณไหน.
แต่แมลงทับเหล่านี้มีอวัยวะอย่างอื่นที่ใช้ในการตรวจจับความร้อนด้วย. เมื่อต้นไม้ชนิดที่แมลงทับชอบวางไข่ถูกไฟไหม้ หนวดของแมลงทับจะตรวจจับสารที่เกิดจากการเผาไหม้ของต้นไม้นั้นได้ แม้มีปริมาณเพียงเล็กน้อยในอากาศ. ดังที่นักวิจัยบางคนกล่าวไว้ แมลงทับสามารถใช้หนวดของมันเป็น “เครื่องตรวจจับควัน” ของต้นไม้ที่มันชอบ แม้ว่าต้นไม้นั้นจะอยู่ห่างออกไปกว่า 800 เมตร. ด้วยความสามารถในการตรวจจับเช่นนี้ ดูเหมือนว่าแมลงเหล่านี้จะรู้และพบบริเวณที่เกิดไฟป่าได้แม้จะอยู่ไกลกว่า 48 กิโลเมตร!
นักวิจัยกำลังศึกษาอวัยวะที่เป็นร่องเล็ก ๆ และหนวดของแมลงทับชนิดนี้เพื่อจะพัฒนาอุปกรณ์ในการตรวจจับรังสีอินฟราเรดและการเกิดไฟไหม้. เครื่องตรวจจับอินฟราเรดที่มีประสิทธิภาพสูงโดยปกติแล้วจะต้องเก็บไว้ในที่เย็น การศึกษาแมลงทับอาจจะช่วยให้นักวิทยาศาสตร์สามารถพัฒนาเครื่องตรวจจับที่ทำงานได้แม้อยู่ในอุณหภูมิห้อง. หนวดของแมลงทับสร้างแรงบันดาลใจให้บรรดาวิศวกรอยากจะพัฒนาระบบตรวจจับไฟไหม้ที่ตรวจจับได้ไวขึ้นและสามารถแยกแยะความแตกต่างระหว่างสารที่เกิดจากไฟป่าและสารเคมีอื่น ๆ.
นักวิจัยรู้สึกประหลาดใจกับวิธีหาที่วางไข่ของแมลงทับชนิดนี้ซึ่งพิเศษไม่เหมือนใคร. อี. ริชาร์ด โฮเบเค ผู้เชี่ยวชาญด้านแมลงปีกแข็งแห่งมหาวิทยาลัยคอร์เนลล์ ในสหรัฐถามว่า “แมลงทับเหล่านี้รู้วิธีหาที่วางไข่เช่นนี้ได้อย่างไร? ลองคิดดูว่าเรารู้เรื่องแมลงที่มีอวัยวะตรวจจับที่น่าทึ่งและสลับซับซ้อนเหล่านี้น้อยมาก.”
คุณคิดอย่างไร? ความสามารถในการตรวจจับไฟป่าของแมลงทับเกิดขึ้นโดยวิวัฒนาการหรือมีผู้ออกแบบ?