ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

ข้อแนะเพื่อความปลอดภัยสำหรับผู้สูงอายุ

ข้อแนะเพื่อความปลอดภัยสำหรับผู้สูงอายุ

ข้อ​แนะ​เพื่อ​ความ​ปลอด​ภัย​สำหรับ​ผู้​สูง​อายุ

เด็ก​ผู้​หญิง​คน​หนึ่ง​เล่น​สเกต​น้ำ​แข็ง​ไป​รอบ ๆ ลาน. เธอ​ลื่น​ล้ม. ไม่​กี่​วินาที​ต่อ​มา เธอ​ลุก​ขึ้น​ได้​โดย​ไม่​เจ็บ​สัก​นิด​นอก​จาก​เขิน​อาย​เล็ก​น้อย. หญิง​สูง​วัย​คน​หนึ่ง​สะดุด​ล้ม​ใน​บ้าน​เป็น​เหตุ​ให้​สะโพก​หัก. เธอ​ต้อง​รับ​การ​ผ่าตัด​และ​พักฟื้น​อยู่​หลาย​เดือน. ตอน​นี้​เธอ​กลัว​การ​หก​ล้ม​มาก​จน​ไม่​ยอม​ทำ​อะไร​ที่​ต้อง​ออก​แรง​และ​เธอ​ก็​อ่อนแอ​ลง​เรื่อย ๆ.

ใน​ประเทศ​หนึ่ง​ทาง​ตะวัน​ตก แต่​ละ​ปี มาก​กว่า​หนึ่ง​ใน​สาม​ของ​ผู้​มี​อายุ 65 ปี​ขึ้น​ไป​หก​ล้ม. ยิ่ง​กว่า​นั้น การ​ล้ม​สำหรับ​คน​วัย​นี้​เป็น​สาเหตุ​หลัก​ของ​การ​เสีย​ชีวิต​อัน​เนื่อง​มา​จาก​การ​บาดเจ็บ. ด้วย​เหตุ​ผล​ที่​ดี คัมภีร์​ไบเบิล​กล่าว​ถึง​คน​สูง​อายุ​ว่า “เขา​จะ​กลัว​ภัย​ซึ่ง​มา​จาก​เบื้อง​สูง, และ​เมื่อ​ความ​น่า​กลัว​จะ​มี​อยู่​ใน​หน​ทาง.”—ท่าน​ผู้​ประกาศ 12:5

ถึง​แม้​ผู้​สูง​อายุ​มัก​มี​ขีด​จำกัด​ด้าน​ร่าง​กาย คุณ​สามารถ​ทำ​ตาม​ขั้น​ตอน​ต่าง ๆ เพื่อ​เพิ่ม​ความ​ปลอด​ภัย​และ​คุณภาพ​ชีวิต​ให้​ดี​ขึ้น. สิ่ง​หนึ่ง​ก็​คือ​พยายาม​รักษา​สุขภาพ​และ​กำลัง​วังชา​ของ​คุณ​ใน​ระดับ​หนึ่ง. และ​อีก​อย่าง​หนึ่ง คุณ​สามารถ​ทำ​ให้​บ้าน​ของ​คุณ​มี​ความ​ปลอด​ภัย​มาก​ขึ้น.

รักษา​สุขภาพ​และ​กำลัง​วังชา​ของ​คุณ

ขณะ​ที่​เรา​แก่​ตัว​ลง การ​ประสาน​งาน​ของ​ร่าง​กาย​อาจ​เสื่อม และ​เรา​อาจ​มี​ปัญหา​เกี่ยว​กับ​สายตา​และ​การ​ทรง​ตัว. นอก​จาก​นั้น เรา​อาจ​อ่อนแอ​ลง​เนื่อง​จาก​กล้าม​เนื้อ​และ​กระดูก​ไม่​แข็งแรง. อย่าง​ไร​ก็​ตาม การ​ออก​กำลัง​กาย​เป็น​ประจำ​และ​นิสัย​การ​กิน​ที่​ดี​ก็​อาจ​ชะลอ​อาการ​เสื่อม​ได้. นิตา นัก​กายภาพ​บำบัด​พูด​ว่า “สิ่ง​สำคัญ​คือ​การ​ออก​กำลัง​กาย​เพื่อ​ปรับ​การ​ทรง​ตัว​ให้​ดี​ขึ้น รวม​ถึง​ท่า​นั่ง​ท่า​ยืน พละกำลัง และ​ความ​ยืดหยุ่น​ของ​ร่าง​กาย.”

เอกสาร​ของ​กระทรวง​สาธารณสุข​และ​บริการ​มนุษยชน​แห่ง​สหรัฐ​แจ้ง​ว่า “ไม่​ว่า​พวก​เขา​จะ​มี​สุขภาพ​และ​ศักยภาพ​ด้าน​ร่าง​กาย​เช่น​ไร ก็​ยัง​จะ​เป็น​ประโยชน์​อย่าง​มาก​แก่​ผู้​สูง​อายุ​ถ้า​เขา​ทำ​กิจกรรม​ที่​ต้อง​ออก​แรง​อยู่​เสมอ. แม้​คุณ​จะ​ลุก​ยืน​หรือ​เดิน​ไม่​สะดวก คุณ​ก็​ยัง​สามารถ​ออก​กำลัง​กาย​และ​ได้​รับ​ประโยชน์​ด้วย. ที่​จริง ใน​กรณี​ส่วน​ใหญ่ คุณ​มี​แต่​เสีย​กับ​เสีย​ถ้า​ไม่ ทำ​อะไร​เลย.” * กิจกรรม​ที่​ต้อง​ออก​แรง​ช่วย​คุณ​ได้​หลาย​อย่าง อาทิ สู้​กับ​โรค​หัวใจ อาการ​เจ็บ​ข้อ โรค​กระดูก​พรุน และ​โรค​ซึมเศร้า. การ​ออก​กำลัง​กาย​อาจ​ช่วย​ระบบ​ไหล​เวียน​โลหิต ระบบ​ย่อย​อาหาร และ​การ​นอน​หลับ รวม​ทั้ง​เพิ่ม​ความ​มั่น​ใจ​ใน​ตัว​เอง​และ​ความ​ตื่น​ตัว​ด้วย.

ถ้า​คุณ​ไม่​เคย​ชิน​กับ​การ​ออก​กำลัง​กาย คุณ​ควร​ปรึกษา​แพทย์​ก่อน. นอก​จาก​นั้น คุณ​ควร​ปรึกษา​แพทย์​ด้วย​ถ้า​คุณ​รู้สึก​วิง​เวียน​หรือ​เจ็บ​หน้า​อก​ขณะ​ออก​กำลัง​กาย. ที่​จริง ใน​กรณี​เช่น​นี้ คุณ​ควร​โทรศัพท์​แจ้ง​หมาย​เลข​ฉุกเฉิน. อาการ​เหล่า​นี้​อาจ​เป็น​อันตราย​มาก อย่า​ถือ​เป็น​เรื่อง​เล็ก​น้อย! และ​สม​ควร​ที่​คุณ​จะ​ตรวจ​สายตา​กับ​จักษุ​แพทย์​ปี​ละ​ครั้ง.

ใน​เรื่อง​อาหาร ให้​หลีก​เลี่ยง​อาหาร​ที่​ไม่​ค่อย​มี​วิตามิน​และ​แร่​ธาตุ แม้​ว่า​จะ​ทำ​ได้​สะดวก​รวด​เร็ว​ก็​ตาม. ผู้​สูง​อายุ​ต้องการ​อาหาร​ที่​มี​วิตามิน​ดี​และ​แคลเซียม​สูง ซึ่ง​อาจ​ช่วย​รักษา​มวล​กระดูก​หรือ​อย่าง​น้อย​ก็​ชะลอ​การ​สูญ​เสีย​มวล​กระดูก. ฉะนั้น ควร​พยายาม​กิน​อาหาร​ที่​ใส่​ธัญพืช​ทั้ง​เมล็ด ผลิตภัณฑ์​จาก​นม​พร่อง​มัน​เนย และ​ผัก​ผลไม้​สด. ให้​ถาม​แพทย์​ก่อน​ที่​คุณ​จะ​เปลี่ยน​นิสัย​การ​กิน​ครั้ง​สำคัญ. เขา​อาจ​มี​ข้อ​แนะ​ที่​เป็น​ประโยชน์​เกี่ยว​กับ​ทาง​เลือก​หรือ​อาหาร​ที่​พึง​หลีก​เลี่ยง​เนื่อง​จาก​ปัจจัย​ทาง​สุขภาพ​บาง​อย่าง.

นอก​จาก​นั้น พยายาม​อย่า​ให้​ร่าง​กาย​ขาด​น้ำ. ภาวะ​ขาด​น้ำ​เกิด​ขึ้น​บ่อย ๆ ท่ามกลาง​ผู้​สูง​อายุ โดย​เฉพาะ​อย่าง​ยิ่ง​คน​ที่​อยู่​ตาม​ลำพัง​หรือ​ใน​บ้าน​พัก​คน​ชรา และ​ภาวะ​ขาด​น้ำ​นี้​อาจ​ทำ​ให้​ผู้​สูง​อายุ​ล้ม​ง่าย สับสน ท้อง​ผูก ผิวหนัง​ไม่​ยืดหยุ่น ติด​เชื้อ และ​แม้​กระทั่ง​เสีย​ชีวิต.

ทำ​ให้​บ้าน​มี​ความ​ปลอด​ภัย​มาก​ขึ้น

การ​หก​ล้ม​ส่วน​ใหญ่​เกิด​ขึ้น​ที่​บ้าน. กระนั้น โดย​ทำ​ตาม​ข้อ​ควร​ระวัง​บาง​อย่าง คุณ​อาจ​ลด​ความ​เสี่ยง​ลง​ได้​มาก. ขอ​ให้​คิด​ถึง​บ้าน​ของ​คุณ​ขณะ​ที่​คุณ​อ่าน​ข้อ​ความ​ต่อ​ไป​นี้.

ห้อง​น้ำ:

• พื้น​ห้อง​น้ำ​ไม่​ควร​ลื่น​แม้​จะ​เปียก.

• ห้อง​อาบ​น้ำ​หรือ​อ่าง​อาบ​น้ำ​ควร​มี​แผ่น​ยาง​หรือ​วัสดุ​กัน​ลื่น และ​ถ้า​คุณ​มี​เก้าอี้​นั่ง​อาบ​น้ำ ก็​ควร​ตั้ง​อยู่​ใน​ระยะ​ที่​เอื้อม​มือ​ไป​เปิด​ก๊อก​น้ำ​ได้​ง่าย. อาจ​เป็น​ประโยชน์​ด้วย​ที่​จะ​ใช้​ฝัก​บัว​สาย​อ่อน​เพื่อ​จะ​นั่ง​อาบ​น้ำ​ได้.

• เป็น​สิ่ง​ที่​ดี​หาก​จะ​มี​ราว​จับ​ขณะ​ที่​คุณ​ก้าว​เข้า​หรือ​ออก​จาก​อ่าง​อาบ​น้ำ​หรือ​ใช้​ห้อง​น้ำ. ราว​เหล่า​นี้​ควร​แข็งแรง​และ​ยึด​ให้​มั่นคง. นอก​จาก​นั้น ทำ​ให้​แน่​ใจ​ว่า​โถ​ส้วม​สูง​พอ​ที่​คุณ​จะ​นั่ง​และ​ลุก​ขึ้น​ได้​โดย​ไม่​ต้อง​ใช้​แรง​มาก.

• เปิด​ไฟ​ตอน​กลางคืน​ไว้​เสมอ หรือ​ใช้​ไฟ​ฉาย.

บันได:

• บันได​ไม่​ควร​มี​ข้าวของ​ระเกะระกะ มี​สภาพ​ที่​ดี และ​มี​แสง​สว่าง​เพียง​พอ.

• บันได​ควร​มี​ราว​ที่​แข็งแรง​ทั้ง​สอง​ข้าง​ถ้า​เป็น​ไป​ได้ รวม​ทั้ง​ควร​มี​แถบ​กัน​ลื่น และ​สวิตช์​ไฟ​ทั้ง​ด้าน​บน​และ​ด้าน​ล่าง​ของ​บันได.

• การ​เดิน​ขึ้น​ลง​บันได​อาจ​ช่วย​ผู้​สูง​อายุ​รักษา​กำลัง​ขา​ให้​แข็งแรง​ได้. แต่​ถ้า​คุณ​มี​ปัญหา​การ​ทรง​ตัว คุณ​ควร​เลี่ยง​การ​ขึ้น​ลง​บันได​ตาม​ลำพัง.

ห้อง​นอน:

• เว้น​ที่​รอบ ๆ เตียง​นอน​และ​เครื่อง​เรือน​อื่น ๆ เพื่อ​คุณ​จะ​เดิน​ได้​อย่าง​ปลอด​ภัย.

• ตั้ง​เก้าอี้​ไว้​ตัว​หนึ่ง​เพื่อ​จะ​นั่ง​แต่ง​ตัว​ได้.

• วาง​ตะเกียง​หรือ​ไฟ​ฉาย​ไว้​ใกล้​ที่​นอน​พอ​ที่​จะ​เอื้อม​ถึง​ได้.

ห้อง​ครัว:

• บน​โต๊ะ​ไม่​ควร​มี​ของ​วาง​เกะกะ​เพื่อ​คุณ​จะ​วาง​อาหาร​ที่​ซื้อ​มา​และ​สิ่ง​ของ​อื่น ๆ.

• พื้น​ครัว​ไม่​ควร​ลื่น​และ​ไม่​สะท้อน​แสง.

• ไม่​ควร​เก็บ​ของ​ใน​ตู้​ที่​สูง​หรือ​ต่ำ​เกิน​ไป​แต่​ให้​หยิบ​ได้​ง่าย​โดย​ไม่​ต้อง​ให้​ใคร​ช่วย. พยายาม​เลี่ยง​การ​ปีน​บันได​หรือ​เหยียบ​ม้า​นั่ง​เตี้ย ๆ ขึ้น​ไป​หยิบ​ของ และ​อย่า​ปีน​ขึ้น​ไป​ยืน​บน​เก้าอี้​โดย​เด็ดขาด!

ทั่ว​ไป:

• เปิด​ไฟ​ตรง​ทาง​เดิน​ไป​ห้อง​น้ำ​และ​ที่​อื่น ๆ ที่​คุณ​อาจ​เดิน​ไป​ตอน​กลางคืน.

• อาจ​มี​ประโยชน์​ที่​จะ​ใช้​ไม้เท้า​หรือ​อุปกรณ์​ช่วย​เดิน​ตอน​กลางคืน​ขณะ​ที่​ยัง​งัวเงีย​อยู่.

• เก้าอี้​ที่​คุณ​นั่ง​ควร​มั่นคง (ไม่​มี​ล้อ) มี​ที่​วาง​แขน และ​สูง​พอ​จะ​นั่ง​และ​ลุก​ได้​ง่าย.

• เพื่อ​ป้องกัน​การ​สะดุด​ล้ม ถ้า​มี​พรม​ที่​หลุด​ลุ่ย เสื่อ​น้ำมัน​ที่​เผยอ หรือ​กระเบื้อง​ที่​แตก คุณ​ควร​ซ่อม เปลี่ยน หรือ​เอา​ไป​ทิ้ง. วาง​สาย​ไฟ​ตาม​แนว​ผนัง ไม่​ใช่​วาง​ขวาง​ทาง​เดิน.

• พรม​ผืน​เล็ก ๆ อาจ​เป็น​ของ​สะดุด​ได้​และ​ควร​เอา​ออก​ไป​จาก​พื้น​ที่​ปู​พรม​ไว้. ถ้า​วาง​ไว้​บน​พื้น​เรียบ ๆ เช่น บน​พื้น​กระเบื้อง​หรือ​พื้น​ไม้ ก็​ควร​ยึด​ไม่​ให้​ลื่น​ไถล.

• หลีก​เลี่ยง​การ​สวม​รอง​เท้า​หลวม ๆ หรือ​รอง​เท้า​สึก หรือ​แบบ​ไม่​หุ้ม​ส้น​หรือ​พื้น​รอง​เท้า​ที่​ลื่น. และ​อย่า​สวม​รอง​เท้า​ส้น​สูง.

• ยา​บาง​ชนิด​อาจ​ทำ​ให้​เวียน​ศีรษะ​หรือ​เดิน​ไม่​มั่นคง. ถ้า​คุณ​รู้สึก​อย่าง​นี้​หลัง​จาก​กิน​ยา อย่า​ลืม​บอก​แพทย์. เขา​อาจ​เปลี่ยน​ปริมาณ​ยา​ที่​กิน​หรือ​เปลี่ยน​ยา​ให้.

ถ้า​คุณ​สังเกต​อะไร​ที่​ต้อง​จัด​การ​ซึ่ง​คุณ​ทำ​เอง​ได้​แต่​ไม่​ปลอด​ภัย คุณ​ควร​ขอ​ความ​ช่วย​เหลือ​จาก​สมาชิก​ครอบครัว เพื่อน หรือ​คน​ที่​ดู​แล​อาคาร. และ​พยายาม​ไม่​ผัด​วัน​ประกัน​พรุ่ง.

สิ่ง​ที่​คน​อื่น​ทำ​ได้

ถ้า​คุณ​มี​พ่อ​แม่​ปู่​ย่า​ตา​ยาย​หรือ​เพื่อน​ที่​สูง​อายุ คุณ​จะ​ทำ​อะไร​ได้​บ้าง​เพื่อ​ช่วย​ไม่​ให้​เขา​ล้ม​ซึ่ง​เป็น​อันตราย​มาก? ประการ​หนึ่ง คุณ​อาจ​พิจารณา​รายการ​ข้าง​ต้น​กับ​พวก​เขา​อย่าง​ผ่อน​หนัก​ผ่อน​เบา และ​จัด​การ​แก้ไข​ส่วน​ที่​เป็น​ปัญหา. ขึ้น​อยู่​กับ​ความ​จำเป็น คุณ​อาจ​ทำ​อาหาร​ที่​มี​ประโยชน์​สัก​มื้อ​หรือ​สอง​มื้อ​ให้​พวก​เขา​ใน​แต่​ละ​สัปดาห์. ผู้​สูง​อายุ​จำเป็น​ต้อง​ออก​กำลัง​กาย​เป็น​ประจำ. คุณ​จะ​พา​พวก​เขา​ออก​ไป​เดิน​ได้​ไหม โดย​อาจ​จะ​ทำ​ร่วม​กับ​กิจกรรม​อื่น ๆ ของ​คุณ? ผู้​สูง​อายุ​หลาย​คน​จะ​ดีใจ​ที่​ได้​ออก​จาก​บ้าน​หาก​มี​เพื่อน​ที่​ไว้​ใจ​ได้​ไป​ด้วย. ใน​บาง​ดินแดน รัฐบาล​ให้​การ​ช่วยเหลือ​โดย​จัด​การ​ดู​แล​ที่​บ้าน, กายภาพ​บำบัด​หรือ​กิจกรรม​บำบัด, และ​การ​ดู​แล​ความ​ปลอด​ภัย​ตาม​บ้าน. แพทย์​ของ​คุณ​น่า​จะ​แนะ​นำ​ได้​ถึง​การ​บริการ​เช่น​นั้น.

พระ​ผู้​สร้าง​ของ​เรา ซึ่ง​ได้​ชื่อ​ว่า​เป็น “ผู้​ทรง​พระ​ชนม์​แต่​เบื้อง​บรรพ์” เรียก​ร้อง​ให้​เรา​แสดง​ความ​นับถือ​ผู้​สูง​อายุ โดย​เฉพาะ​อย่าง​ยิ่ง​พ่อ​แม่​ที่​สูง​อายุ. (ดานิเอล 7:9) พระองค์​บัญชา​ว่า “จง​นับถือ​บิดา​มารดา​ของ​เจ้า.” (เอ็กโซโด 20:12) พระองค์​ยัง​สั่ง​ด้วย​ว่า “จง​คำนับ​คน​ผม​หงอก​และ​นับถือ​คน​แก่, และ​เกรง​กลัว​พระเจ้า.” (เลวีติโก 19:32) ใช่​แล้ว การ​นับถือ​ผู้​สูง​อายุ​แสดง​ว่า​เรา​เกรง​กลัว​พระเจ้า! ส่วน​ผู้​สูง​อายุ​นั้น ถ้า​พวก​เขา​รู้สึก​ขอบคุณ​อย่าง​แท้​จริง​สำหรับ​ความ​ช่วยเหลือ​ต่าง ๆ ก็​คง​ยิ่ง​มี​คน​ห่วงใย​เขา​และ​รัก​เขา​มาก​ขึ้น. การ​ช่วยเหลือ​คน​เหล่า​นั้น​ไม่​ได้​เป็น​ภาระ​หนัก​เลย. แต่​เป็น​เรื่อง​ที่​น่า​ยินดี!

[เชิงอรรถ]

^ วรรค 7 ตื่นเถิด! ฉบับ 8 มิถุนายน 2005 พิจารณา​ราย​ละเอียด​เกี่ยว​กับ​ประโยชน์​ของ​การ​ออก​กำลัง​กาย​เป็น​ประจำ.

[กรอบ/ภาพ​หน้า 15]

อุปกรณ์​อิเล็กทรอนิกส์ สำหรับ​ใช้​ใน​ภาวะ​ฉุกเฉิน

ใน​บาง​ประเทศ​คน​สูง​อายุ​สามารถ​หา​อุปกรณ์​อิเล็กทรอนิกส์​เล็ก ๆ มา​ใช้​ใน​ภาวะ​ฉุกเฉิน​เพื่อ​ขอ​ความ​ช่วยเหลือ​โดย​การ​กด​ปุ่ม เช่น ใน​กรณี​ที่​ล้ม​แล้ว​บาดเจ็บ​จน​ไม่​อาจ​ลุก​ขึ้น​ยืน. อุปกรณ์​เหล่า​นี้​อาจ​แขวน​ไว้​รอบ​คอ​หรือ​สวม​ไว้​ที่​ข้อ​มือ. ถ้า​ใน​ท้อง​ที่​ของ​คุณ​มี​บริการ​อย่าง​นี้ คุณ​อาจ​คิด​ถึง​การ​ใช้​ประโยชน์​จาก​มัน โดย​เฉพาะ​อย่าง​ยิ่ง​ถ้า​คุณ​อยู่​เพียง​ลำพัง.