ศาสนาเป็นพลังที่ทำให้เกิดสันติภาพไหม?
ศาสนาเป็นพลังที่ทำให้เกิดสันติภาพไหม?
บางคนถือว่าโบสถ์แห่งอุโมงค์ฝังศพศักดิ์สิทธิ์ในกรุงเยรูซาเลมเป็นโบสถ์ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดในคริสต์ศาสนจักร แต่โบสถ์นี้ก็ทำให้นึกถึงการต่อสู้และการเป็นปฏิปักษ์ทางศาสนาด้วย. ตามเรื่องที่เล่าสืบต่อกันมา โบสถ์นี้ตั้งอยู่บนสถานที่ “ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นที่ฝังศพพระคริสต์และที่ซึ่งพระองค์ถูกปลุกให้คืนพระชนม์.” อย่างไรก็ตาม สถานที่ที่ผู้คนนับถือบูชาแห่งนี้เคยเกิดการปะทะกันอย่างรุนแรงหลายครั้งหลายหน. นักบวชและบาทหลวงในหกนิกายของ “ศาสนาคริสต์” ได้โจมตีและทำร้ายกันเพื่อแย่งสิทธิ์การใช้โบสถ์. ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ความขัดแย้งยิ่งทวีความรุนแรง. ตำรวจปราบจลาจลพร้อมปืนยาวชนิดจู่โจมต้องเข้าขัดขวางและควบคุมโบสถ์นั้นไว้ชั่วคราว.
ความรุนแรงมีมาช้านานแล้ว
ความรุนแรงที่โบสถ์แห่งอุโมงค์ฝังศพศักดิ์สิทธิ์เป็นเพียงเหตุการณ์ตอนหนึ่งในประวัติอันยาวนานของการนองเลือดและการฆ่าฟันกันอันเกิดจากการคลั่งศาสนา. หนังสือความรุนแรงในนามของพระเจ้า (ภาษาอังกฤษ) ได้ทบทวนดูเหตุการณ์การต่อสู้เมื่อเร็ว ๆ นี้ในภูมิภาคต่าง ๆ ของโลก และได้กล่าวว่า “จากอินโดนีเซียถึงไอร์แลนด์เหนือ, จากตะวันออกกลางถึงแคชเมียร์, จากอินเดียถึงไนจีเรีย, จากบอลข่านถึงศรีลังกา ไม่ว่าจะเป็นชาวคริสต์, ชาวพุทธ, ชาวยิว, ชาวฮินดู, ชาวมุสลิมและชาวซิกข์ต่างก็อ้างว่าถูกต้องแล้วที่จะใช้ความรุนแรงเพื่อปกป้องศาสนาและผลประโยชน์ด้านศาสนาของตน.”
กระนั้น ศาสนาส่วนใหญ่อ้างว่าคำสอนหลักของตนส่งเสริมสันติสุขและความปรองดอง. ตลอดทุกยุคทุกสมัย ศาสนาได้ส่งเสริมหลักการเรื่องความไม่เห็นแก่ตัว เช่น ความรักเพื่อนบ้านและความศักดิ์สิทธิ์ของชีวิตมนุษย์. ในเมื่อเป็นเช่นนั้น ศาสนาก็ควรใช้อำนาจเพื่อสร้างสันติภาพไม่ใช่หรือ? ผู้ที่จริงจังกับศาสนาคงอยากพิจารณาคำถามนี้.