มารู้จักชาวเขาหลากหลายเผ่าในประเทศไทย
มารู้จักชาวเขาหลากหลายเผ่าในประเทศไทย
ตลาดในเชียงใหม่คึกคักและมีชีวิตชีวา. ผู้คนเบียดเสียดกันตามเพิงขายสินค้าแปลก ๆ ข้างถนน. คนซื้อพยายามต่อรองกับคนขายซึ่งต่างก็พูดแข่งกับเสียงรถที่วิ่งกันขวักไขว่. ในนครแห่งนี้ทางภาคเหนือของประเทศไทยที่มีผู้คนอยู่กันคับคั่ง นักท่องเที่ยวสามารถพบกับชาวเขาหลากหลายเผ่าที่น่าสนใจ.
ประชากร 65 ล้านคนในประเทศไทยรวมเอาชนกลุ่มน้อย 23 กลุ่มที่ถูกเรียกว่าชาวเขา. ชาวเขาส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในภาคเหนือของประเทศไทย ซึ่งเป็นพื้นที่ภูเขาสูง มีแม่น้ำและหุบเขาอุดมสมบูรณ์ อาณาเขตครอบคลุมไปถึงประเทศพม่าและลาว.
ชาวเขาส่วนใหญ่เข้ามาอยู่ในประเทศไทยในช่วง 200 ปีหลังนี้. ในเผ่าหลัก ๆ หกเผ่า ชาวกะเหรี่ยงเป็นเผ่าใหญ่ที่สุดซึ่งมาจากพม่า. ชาวลาฮู, ลีซู, และอาข่ามาจากมณฑลหยุนหนาน ในพื้นที่ภูเขาทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน. และชาวม้งกับเย้ามาจากจีนภาคกลาง. *
ส่วนใหญ่แล้ว เผ่าต่าง ๆ อพยพเข้ามาเพื่อหนีภัยสงคราม, ความกดดันในสังคม, และการแย่งชิงพื้นที่อันอุดมสมบูรณ์. * ภาคเหนือของประเทศไทยเป็นที่ลี้ภัยที่เหมาะมาก เพราะอยู่ห่างไกลผู้คน, พื้นที่เป็นเขาสูง, และไม่ค่อยมีคนอาศัยอยู่. และประเทศไทยก็ยอมให้ผู้อพยพอยู่ได้. ไม่นาน หมู่บ้านชาวเขาก็กระจายอยู่ทั่วไป เผ่าต่าง ๆ ตั้งบ้านเรือนอยู่บนพื้นที่ใกล้กันจึงทำให้เกิดความหลากหลายทางวัฒนธรรมและภาษา.
เครื่องแต่งกายที่โดดเด่นและประเพณีที่น่าสนใจ
ชาวเขาแต่ละคนอยู่ในเผ่าอะไรดูได้จากเครื่องแต่งกาย. ตัวอย่างเช่น ผู้หญิงชาวอาข่าจะมีเครื่องประดับศีรษะที่งามประณีตทำด้วยเงิน ซึ่งดูคล้ายหอคอยที่สวยงามติดพู่ห้อย,
ผ้าปัก, และเหรียญ. เครื่องประดับศีรษะอื่น ๆ เป็นหมวกหุ้มแผ่นโลหะประดับด้วยกระดุม, ลูกปัด, และลูกกลม ๆ ที่งามระยิบระยับ. ผู้หญิงเย้าสวยเด่นอยู่ในชุดกางเกงผ้าปักที่งามวิจิตร ซึ่งแต่ละตัวอาจต้องใช้เวลาปักถึงห้าปีกว่าจะเสร็จ. ชุดที่สวยตระการตาของพวกเขารวมไปถึงผ้าโพกศีรษะที่งดงาม, เสื้อยาวกรอมข้อเท้าพร้อมกับปกเสื้อฟู ๆ สีแดง, และผ้าคาดเอวสีน้ำเงิน.เมื่อแต่งกายครบชุด ผู้หญิงชาวเขาจะใส่เครื่องประดับเงินหลายชิ้นซึ่งส่งเสียงกริ๊ง ๆ และดูแวววาว เป็นการประกาศสถานะและความมั่งคั่ง และทำให้คนรอบข้างและชายหนุ่มที่มาติดพันชื่นชม. เครื่องประดับอื่น ๆ อาจประกอบด้วยแก้ว, ไม้, และเส้นด้าย.
ชาวเขาส่วนใหญ่ภูมิใจในวัฒนธรรมของตนเอง. ตัวอย่างเช่น วัยรุ่นชาวกะเหรี่ยงจะแต่งตัวดีเป็นพิเศษในงานศพมากกว่าโอกาสอื่น. เหตุผลคืออะไร? หนุ่มสาวหลายคนไปในงานโดยหวังจะได้พบคู่ครองในอนาคต. หลังดวงอาทิตย์ตก ชายหนุ่มหญิงสาวหลายคนจะจับมือกันเดินช้า ๆ เวียนรอบศพ และร้องเพลงรักประจำท้องถิ่นตลอดคืน.
หนุ่มสาวชาวม้งจะพูดเกี้ยวขณะมีการละเล่นพิเศษในเทศกาลปีใหม่. เด็กหนุ่มสาวที่ชอบพอกันจะจับคู่และยืนเรียงแถวหันหน้าเข้าหากัน โดยอยู่ห่างกันสองสามก้าว. ครั้นแล้ว เด็กหนุ่มเด็กสาวจะโยนม้วนผ้ากลม ๆ ส่งไปมาให้กัน. เมื่อฝ่ายหนึ่งทำผ้าตก โดยเจตนาหรือโดยบังเอิญก็ตาม คนนั้นต้องมอบเครื่องประดับชิ้นเล็ก ๆ ให้อีกฝ่ายหนึ่ง. พอพลบค่ำ เพื่อจะได้เครื่องประดับคืน คนนั้นต้องร้องเพลง. ถ้าเขาร้องเพลงได้ไพเราะ ก็จะดึงดูดผู้คนเข้ามาฟังจำนวนมาก และเพิ่มโอกาสของคนนั้นจะชนะใจคู่รัก.
รับมือกับการเปลี่ยนแปลง
เมื่อก่อน ชาวเขาส่วนใหญ่ทำไร่เลื่อนลอย โดยถางป่าเพื่อทำไร่และเลี้ยงสัตว์. การทำอย่างนี้ก่อผลเสียหายอย่างร้ายแรงต่อสิ่งแวดล้อม. แต่เวลานี้ ผู้คนบริหารจัดการที่ดินอย่างมีความรับผิดชอบมากขึ้น และมีผลที่ดี.
ชาวเขาหลายคนอยู่ในพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำ ซึ่งรวมถึงประเทศไทย, ลาว, และพม่า และคนเหล่านี้เคยปลูกฝิ่น. แต่ปัจจุบัน พวกเขาปลูกกาแฟ, ผัก, ผลไม้, และดอกไม้แทน ทั้งนี้เนื่องจากโครงการหาพืชทดแทนซึ่งสนับสนุนโดยโครงการหลวงและองค์กรระหว่างชาติ. ชาวเขาหลายคนยังได้ขายสินค้า, การบริการ, และงานฝีมือพื้นบ้านแก่นักท่องเที่ยวที่มีจำนวนมากขึ้น.
กระนั้นก็ดี ความยากจน, การสุขาภิบาลที่ย่ำแย่, และการไม่รู้หนังสือทำให้ชีวิตหลายคนต้องยากลำบาก. ปัจจัยอื่น ๆ
ที่ส่งผลเสียรวมไปถึงทรัพยากรธรรมชาติที่ร่อยหรอ, การเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม, อคติในเรื่องเชื้อชาติ, ยาเสพติดและการดื่มจัด. บรรพบุรุษของชาวเขาได้หนีปัญหาคล้าย ๆ กันนี้เข้ามาอยู่ในประเทศไทย. แต่ตอนนี้พวกเขาจะหาที่ลี้ภัยได้ที่ไหน?ที่ลี้ภัยซึ่งวางใจได้
ชาวเขาหลายคนพบที่ลี้ภัยที่ดีที่สุด นั่นคือพระยะโฮวาพระเจ้าเที่ยงแท้. คัมภีร์ไบเบิลกล่าวไว้ที่บทเพลงสรรเสริญ 34:8 ว่า “ท่านทั้งหลายจงชิมดูจึงจะรู้ว่าพระยะโฮวาเป็นผู้ประเสริฐ; ผู้ใดที่พึ่งอาศัยในพระองค์ก็เป็นสุข.” ยอเหล่ ชาวลาฮูคนหนึ่งเล่าว่า “เมื่อผมแต่งงานตอนอายุ 19 ปี ผมเป็นคนขี้เมาและติดยา. ถ้าไม่เสพยา ผมก็ทำงานไม่ได้ และถ้าไม่มีงาน ผมก็ไม่มีเงิน. อโณทัย ภรรยาของผมรู้สึกถูกทอดทิ้งและไม่เป็นที่รัก. เราทะเลาะกันบ่อยมาก.
“หลังจากสุภาวดี ลูกสาวของเราเกิด อโณทัยก็เริ่มศึกษาพระคัมภีร์กับพยานพระยะโฮวา. แต่ผมจะหนีเข้าป่าทุกครั้งเมื่อพยานฯ มาที่บ้านเรา. อย่างไรก็ตาม ไม่นานความประพฤติของภรรยาผมเริ่มดีขึ้น. เธอพูดกับผมด้วยความนับถือและเอาใจใส่งานบ้านมากขึ้น. ดังนั้น เมื่อเธอชวนผมศึกษาพระคัมภีร์ ผมจึงตอบตกลง.
“เมื่อคำสอนของคัมภีร์ไบเบิลประทับใจผม ผมก็ค่อย ๆ ก้าวหน้า. ในที่สุด ด้วยความช่วยเหลือของพระเจ้า ผมเลิกนิสัยเสพติดได้. ตอนนี้ครอบครัวของผมมีความสุขจริง ๆ เพราะเราพบทางชีวิตที่ดีที่สุด! นอกจากนั้น เรายังยินดีที่ได้แบ่งปันคำสอนในคัมภีร์ไบเบิลแก่ชาวเขาคนอื่น ๆ ด้วย.”
คำพูดของยอเหล่ทำให้นึกถึงคำพยากรณ์ในหนังสือวิวรณ์ของคัมภีร์ไบเบิล ซึ่งกล่าวว่าในสมัยสุดท้ายของยุคชั่วนี้ “ข่าวดีนิรันดร์” จะได้ประกาศแก่ “ทุกประเทศ ทุกตระกูล ทุกภาษา และทุกชนชาติ.” (วิวรณ์ 14:6) พยานพระยะโฮวาถือเป็นสิทธิพิเศษที่จะร่วมในงานนี้ อันเป็นการยืนยันความรักของพระเจ้าที่มีต่อคนทุกชนชาติ รวมทั้งชาวเขาหลากหลายเผ่าในประเทศไทยด้วย.—โยฮัน 3:16
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 4 ชาวเขาอาจมีหลายชื่อ. ตัวอย่างเช่น ในประเทศอื่น ๆ ชาวเย้าถูกเรียกว่า เมี่ยน, ลูเมี่ยน, เดา, เซา, หรือมาน.
^ วรรค 5 ชาวเขาจำนวนมากยังอยู่ในประเทศจีน รวมทั้งเวียดนาม, ลาว, และพม่า. ในระยะหลังนี้ มีชุมชนชาวเขาอพยพค่อนข้างใหญ่ในออสเตรเลีย, ฝรั่งเศส, สหรัฐ, และประเทศอื่น ๆ.
[กรอบ/ภาพหน้า 16]
ห่วงยืดคอให้ยาวขึ้นไหม?
ผู้หญิงกะยัน (กะเหรี่ยงคอยาว) หลายคนใส่เครื่องประดับพิเศษ คือห่วงคอทองเหลืองสุกอร่ามซึ่งอาจเรียงซ้อนกันสูงถึง 38 เซนติเมตร. * การใส่ห่วงเริ่มตั้งแต่เด็กผู้หญิงอายุประมาณห้าขวบ. ทุกสองหรือสามปีพวกเขาจะเปลี่ยนห่วงให้สูงขึ้นและหนักขึ้น จนเมื่อเด็กโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว หญิงสาวเหล่านี้อาจใส่ห่วงถึง 25 ห่วงและหนักเกือบ 13 กิโลกรัม. ไม่เหมือนกับที่ตามองเห็น คอของพวกเขาไม่ได้ยาวขึ้น. แต่ห่วงเหล่านั้นจะดันกระดูกไหปลาร้าและกดซี่โครงลง.
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 25 ชาวกะยันเข้ามาในประเทศไทยจากพม่า และยังคงมีประมาณ 50,000 คนอยู่ที่นั่น. ในพม่าพวกเขาถูกเรียกว่า ปาเดาง์ หมายถึง “คอยาว.”
[ที่มาภาพ]
Hilltribe Museum Chiang Mai
[กรอบหน้า 17]
ตำนานเรื่องน้ำท่วมครั้งใหญ่
ทั้งชาวลีซูและชาวม้งมีตำนานเล่าขานเรื่องน้ำท่วมครั้งใหญ่. ตำนานเรื่องหนึ่งของเผ่าม้งเล่าว่า “เทพแห่งท้องฟ้า” เตือนพี่ชายกับน้องชายว่าไม่นานจะมีน้ำท่วมโลก. เทพองค์นั้นสั่งพี่ชายที่เป็นคนก้าวร้าวให้สร้างเรือเหล็ก และให้น้องชายที่เป็นคนอ่อนโยนสร้างเรือไม้. แล้วเทพก็สั่งน้องชายให้พาน้องสาวเข้าไปในเรือไม้ พร้อมทั้งสัตว์แต่ละชนิดทั้งตัวผู้และตัวเมีย อีกทั้งให้นำเอาเมล็ดพืชแต่ละชนิด ชนิดละสองเมล็ดเข้าไปด้วย.
เมื่อเกิดน้ำท่วมครั้งใหญ่คราวนั้น เรือเหล็กจม แต่เรือไม้ลอยอยู่ได้. จากนั้นมังกรที่แปลงร่างเป็นรุ้งได้สูบน้ำให้แผ่นดินแห้ง. ในที่สุด น้องชายก็แต่งงานกับน้องสาว แล้วให้กำเนิดลูกหลานเต็มแผ่นดินโลก. ขอสังเกตความคล้ายกันระหว่างตำนานนี้กับบันทึกที่แม่นยำในพระคัมภีร์บริสุทธิ์ที่เยเนซิศบท 6 ถึงบท 10.
[ภาพหน้า 16, 17]
ผู้หญิงชาวเขาที่แต่งกายครบชุด
[ที่มาภาพ]
Hilltribe Museum Chiang Mai
[ภาพหน้า 17]
ยอเหล่กับครอบครัว
[ที่มาภาพหน้า 15]
Both pictures: Hilltribe Museum Chiang Mai