ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

ผิดไหมถ้าต้องการความเป็นส่วนตัวบ้าง?

ผิดไหมถ้าต้องการความเป็นส่วนตัวบ้าง?

หนุ่ม​สาว​ถาม​ว่า

ผิด​ไหม​ถ้า​ต้องการ​ความ​เป็น​ส่วน​ตัว​บ้าง?

ให้​กา​เครื่องหมาย ✔ หน้า​ข้อ​ที่​ใกล้​เคียง​กับ​ปฏิกิริยา​ของ​คุณ​มาก​ที่​สุด​ถ้า​คุณ​อยู่​ใน​ฉาก​เหตุ​การณ์​แต่​ละ​อย่าง​ต่อ​ไป​นี้.

1. คุณ​ปิด​ประตู​อยู่​ใน​ห้อง​นอน และ​พี่​หรือ​น้อง​ของ​คุณ​โผล่​พรวด​เข้า​มา​โดย​ไม่​เคาะ​ประตู.

○ ‘ไม่​มี​ปัญหา . . . ฉัน​ก็​ทำ​อย่าง​นั้น​กับ​พี่​น้อง​ของ​ฉัน​เหมือน​กัน.’

○ ‘ไม่​มี​มารยาท​เลย! ถ้า​ฉัน​กำลัง​แต่ง​ตัว อยู่​ล่ะ?’

2. คุณ​กำลัง​คุย​กับ​เพื่อน​ทาง​โทรศัพท์ แม่​ก็​อยู่​ใกล้ ๆ และ​ดู​เหมือน​ตั้งใจ​ฟัง​ทุก​คำ​พูด.

○ ‘ไม่​มี​ปัญหา . . . ฉัน​ไม่​มี​อะไร​ต้อง​ปิด​บัง.’

○ ‘น่า​อึดอัด​จริง ๆ! ฉัน​รู้สึก​เหมือน​กับ​ว่า​ถูก​ดัก​ฟัง!’

3. คุณ​เพิ่ง​กลับ​ถึง​บ้าน และ​ตอน​นี้​ทั้ง​พ่อ​และ​แม่​ก็​เริ่ม​ซักไซ้​คุณ​หลาย​เรื่อง. “ลูก​ไป​ไหน​มา? ไป​ทำ​อะไร? ไป​กับ​ใคร?”

○ ‘ไม่​มี​ปัญหา . . . ปกติ​ฉัน​ก็​เล่า​ให้​พ่อ​แม่​ฟัง​ทุก​เรื่อง​อยู่​แล้ว.’

○ ‘น่า​หงุดหงิด​จริง ๆ! พ่อ​แม่​ไม่​ไว้​ใจ​ฉัน​เลย!’

ตอน​อายุ​ยัง​น้อย ความ​เป็น​ส่วน​ตัว​ของ​คุณ​ดู​จะ​ไม่​ใช่​เรื่อง​สำคัญ​สัก​เท่า​ไร. หาก​น้อง​วิ่ง​พรวด​พราด​เข้า​มา​ใน​ห้อง​นอน​ของ​คุณ คุณ​ก็​ยินดี​ให้​เข้า​มา. ถ้า​พ่อ​แม่​ถาม​อะไร​บาง​อย่าง คุณ​ก็​ตอบ​โดย​ไม่​รีรอ. ตอน​นั้น ชีวิต​ของ​คุณ​ไม่​มี​อะไร​ต้อง​ปิด​ซ่อน. แต่​มา​ตอน​นี้ บาง​ครั้ง​คุณ​ไม่​อยาก​ให้​คน​อื่น​รู้​ทุก​เรื่อง​ใน​ชีวิต​ของ​คุณ. คอรีย์ วัย 14 ปี​กล่าว​ว่า “ผม​อยาก​จะ​เก็บ​บาง​เรื่อง​ไว้​ไม่​ให้​ใคร​รู้.” *

ทำไม​จู่ ๆ คุณ​จึง​อยาก​มี​ความ​เป็น​ส่วน​ตัว? ส่วน​หนึ่ง​เป็น​เพราะ​คุณ​กำลัง​เติบโต. ตัว​อย่าง​เช่น การ​เปลี่ยน​แปลง​ใน​ร่าง​กาย​ระหว่าง​วัย​เริ่ม​เจริญ​พันธุ์​อาจ​ทำ​ให้​คุณ​ขาด​ความ​มั่น​ใจ แม้​แต่​เมื่อ​อยู่​กับ​ครอบครัว​ของ​คุณ​เอง. นอก​จาก​นั้น เมื่อ​คุณ​โต​ขึ้น คุณ​ก็​เริ่ม​รู้สึก​ต้องการ​คิด​ใคร่ครวญ​บาง​เรื่อง​ตาม​ลำพัง​อย่าง​ที่​ไม่​เคย​เป็น​มา​ก่อน. นี่​เป็น​สัญญาณ​ว่า​คุณ​กำลัง​พัฒนา “ความ​สามารถ​ใน​การ​คิด” ซึ่ง​เป็น​คุณลักษณะ​ที่​คัมภีร์​ไบเบิล​ยกย่อง​ถ้า​มี​อยู่​ใน​คน​หนุ่ม​สาว. (สุภาษิต 1:1, 4, ล.ม.; พระ​บัญญัติ 32:29) แม้​แต่​พระ​เยซู​ก็​ได้​เสด็จ​ไป “ใน​ที่​ห่าง​ไกล​ผู้​คน” เพื่อ​คิด​ไตร่ตรอง.—มัดธาย 14:13

แน่นอน คุณ​ยัง​อยู่​ใต้​อำนาจ​พ่อ​แม่ และ​ท่าน​ย่อม​มี​สิทธิ์​จะ​รู้​ความ​เป็น​ไป​ใน​ชีวิต​ของ​คุณ. (เอเฟโซส์ 6:1) แต่​เมื่อ​คุณ​ผนวก​ความ​ต้องการ​ของ​พ่อ​แม่​ที่​จะ​รู้​เข้า​กับ​ความ​ต้องการ​ของ​คุณ​ที่​จะ​เป็น​ผู้​ใหญ่ ก็​อาจ​เกิด​ความ​ขัด​แย้ง​ขึ้น​ได้. คุณ​จะ​รับมือ​ข้อ​ท้าทาย​นี้​อย่าง​ไร? ขอ​พิจารณา​สอง​ขอบข่าย​ที่​อาจ​เกิด​ปัญหา​ขึ้น.

เมื่อ​คุณ​ต้องการ​อยู่​ตาม​ลำพัง

มี​เหตุ​ผล​อัน​สม​ควร​หลาย​อย่าง​ที่​คุณ​จะ​ต้องการ​อยู่​ตาม​ลำพัง. คุณ​อาจ​ต้องการ “ได้​พัก​สัก​หน่อย.” (มาระโก 6:31) หรือ​เมื่อ​คุณ​ต้องการ​อธิษฐาน คุณ​อาจ​ทำ​อย่าง​ที่​พระ​เยซู​แนะ​นำ​เหล่า​สาวก​ว่า “จง​เข้า​ไป​อยู่​ใน​ห้อง​เป็น​ส่วน​ตัว และ​เมื่อ​ปิด​ประตู​ห้อง​แล้ว จง​อธิษฐาน​ถึง​พระ​บิดา​ของ​เจ้า.” (มัดธาย 6:6; มาระโก 1:35) ปัญหา​คือ เมื่อ​ปิด​ประตู​อยู่​ใน​ห้อง​ส่วน​ตัว​ของ​คุณ (ถ้า​คุณ​มี) พ่อ​แม่​อาจ​ไม่​คิด​ว่า​คุณ​กำลัง​อธิษฐาน! และ​พี่ ๆ น้อง ๆ อาจ​ไม่​เข้าใจ​ว่า​คุณ​ต้องการ​อยู่​คน​เดียว.

สิ่ง​ที่​คุณ​ทำ​ได้. แทน​ที่​จะ​ทำ​ให้​ห้อง​นอน​กลาย​เป็น​สนาม​รบ ให้​ทำ​ตาม​ข้อ​แนะ​ต่อ​ไป​นี้.

• ถ้า​เป็น​พี่​หรือ​น้อง​ของ​คุณ ลอง​วาง​กฎ​ที่​สม​เหตุ​ผล​สอง​สาม​ข้อ เพื่อ​คุณ​จะ​มี​เวลา​ส่วน​ตัว​บ้าง. ถ้า​จำเป็น พ่อ​แม่​อาจ​ช่วย​ใน​เรื่อง​นี้​ได้.

• ถ้า​เป็น​พ่อ​แม่​ของ​คุณ จง​พยายาม​เข้าใจ​ความ​คิด​ของ​ท่าน. รีเบกาห์​วัย 16 ปี​กล่าว​ว่า “บาง​ครั้ง พ่อ​แม่​จะ​เข้า​มา​ดู​ว่า​หนู​ทำ​อะไร​อยู่. แต่​จริง ๆ แล้ว ถ้า​หนู​มี​ลูก​วัยรุ่น หนู​ก็​คง​จะ​ทำ​อย่าง​เดียว​กัน โดย​เฉพาะ​เมื่อ​รู้​ว่า​หนุ่ม​สาว​สมัย​นี้​ต้อง​เผชิญ​การ​ล่อ​ใจ​หลาย ๆ อย่าง!” เช่น​เดียว​กับ​รีเบกาห์ คุณ​จะ​เข้าใจ​ความ​ห่วงใย​ของ​พ่อ​แม่​ได้​ไหม?—สุภาษิต 19:11

• ถาม​ตัว​เอง​ด้วย​ความ​จริง​ใจ​ว่า ‘ฉัน​เคย​ทำ​ให้​พ่อ​แม่​มี​เหตุ​ที่​จะ​สงสัย​ไหม​ว่า​ฉัน​ทำ​อะไร​ไม่​ดี​เมื่อ​ปิด​ประตู​อยู่​ใน​ห้อง? ฉัน​ปก​ปิด​ไม่​ให้​พ่อ​แม่​รู้​เรื่อง​ชีวิต​ส่วน​ตัว​ไหม​จน​ท่าน​รู้สึก​ว่า​ต้อง​แอบ​ดู​แอบ​ฟัง​ว่า​ฉัน​ทำ​อะไร?’ ตาม​ปกติ ยิ่ง​คุณ​เปิด​เผย​กับ​พ่อ​แม่​มาก​เท่า​ไร ท่าน​ก็​จะ​สงสัย​คุณ​น้อย​ลง​เท่า​นั้น. *

แผน​ปฏิบัติการ. ใน​ช่อง​ข้าง​ล่าง​นี้ เขียน​ว่า​คุณ​จะ​พูด​อย่าง​ไร​เมื่อ​นำ​เรื่อง​นี้​ขึ้น​มา​สนทนา​กับ​พ่อ​แม่.

․․․․․

เมื่อ​คุณ​คบ​เพื่อน

ใน​ช่วง​หนุ่ม​สาว เป็น​เรื่อง​ปกติ​ที่​คุณ​จะ​มี​เพื่อน​นอก​เหนือ​จาก​คน​ใน​ครอบครัว. เป็น​เรื่อง​ปกติ​เช่น​กัน​ที่​พ่อ​แม่​ของ​คุณ​จะ​อยาก​รู้​ว่า​ใคร​เป็น​เพื่อน​ของ​คุณ​และ​คุณ​ทำ​อะไร​ร่วม​กับ​เขา​บ้าง. สำหรับ​พ่อ​แม่​แล้ว นี่​เป็น​หน้า​ที่​อย่าง​หนึ่ง​ของ​ท่าน. แต่​สำหรับ​คุณ ความ​ห่วงใย​ของ​พ่อ​แม่​อาจ​ดู​เหมือน​เป็น​ความ​หวาด​ระแวง​มาก​ไป. เอมี​วัย 16 ปี​กล่าว​ว่า “หนู​เพียง​แต่​ต้องการ​มี​โทรศัพท์​มือ​ถือ​และ​อีเมล โดย​ที่​พ่อ​แม่​ไม่​ชะโงก​หน้า​มา​ดู​ทุก ๆ สิบ​นาที​และ​ถาม​ว่า​หนู​กำลัง​คุย​กับ​ใคร.”

สิ่ง​ที่​คุณ​ทำ​ได้. แทน​ที่​จะ​ปล่อย​ให้​มิตรภาพ​ของ​คุณ​เป็น​เครื่อง​ขวาง​กั้น​ระหว่าง​คุณ​กับ​พ่อ​แม่ ให้​ลอง​ทำ​ตาม​ข้อ​แนะ​ต่อ​ไป​นี้.

• พา​เพื่อน​มา​รู้​จัก​คุ้น​เคย​กับ​พ่อ​แม่. ที่​จริง คุณ​อาจ​ไม่​ชอบ​ให้​พ่อ​แม่​ทำ​ตัว​เป็น​นัก​สืบ แต่​ท่าน​ก็​ไม่​มี​ทาง​เลือก​อื่น​ถ้า​เพื่อน​ของ​คุณ​เป็น​ใคร​ก็​ไม่​รู้. อย่า​ลืม พ่อ​แม่​รู้​ว่า​การ​เลือก​เพื่อน​ของ​คุณ​จะ​มี​ผล​กระทบ​ต่อ​คุณ​มาก. (1 โครินท์ 15:33) ยิ่ง​พ่อ​แม่​ของ​คุณ​รู้​จัก​คน​ที่​คุณ​ใช้​เวลา​คบหา​กับ​เขา​มาก​เท่า​ไร ท่าน​ก็​ยิ่ง​จะ​สบาย​ใจ​มาก​ขึ้น​กับ​เพื่อน​ที่​คุณ​เลือก​คบ.

• คุย​กับ​พ่อ​แม่​ของ​คุณ​เกี่ยว​กับ​เรื่อง​นี้​ด้วย​ความ​นับถือ. อย่า​ตำหนิ​ท่าน​ว่า​เป็น​คน​ก้าวก่าย. คุณ​อาจ​พูด​ทำนอง​นี้​แทน: “หนู​รู้สึก​ว่า​ดู​เหมือน​ทุก ๆ สิ่ง​ที่​หนู​คุย​กับ​เพื่อน​ถูก​จับ​ผิด​และ​ถูก​ตัดสิน. หนู​แทบ​จะ​พูด​คุย​กับ​ใคร​ไม่​ได้​เลย.” พ่อ​แม่​อาจ​จะ​ยอม​ให้​คุณ​มี​ความ​เป็น​ส่วน​ตัว​มาก​กว่า​นี้​บ้าง​กับ​เพื่อน​ของ​คุณ.—สุภาษิต 16:23

• จง​ซื่อ​สัตย์​ต่อ​ตัว​เอง: นี่​คือ​เรื่อง​ส่วน​ตัว​หรือ​ความ​ลับ? บริตทานี วัย 22 ปี​พูด​ว่า “ถ้า​คุณ​ยัง​อยู่​ที่​บ้าน​กับ​พ่อ​แม่ และ​ท่าน​เป็น​ห่วง​บาง​เรื่อง คุณ​ควร​คิด​ว่า ‘ฉัน​ไม่​ได้​ทำ​อะไร​เสียหาย​นี่ แล้ว​จะ​ปก​ปิด​ทำไม?’ ใน​อีก​ด้าน​หนึ่ง ถ้า​คุณ​จำเป็น ต้อง​เก็บ​เป็น​ความ​ลับ ก็​แสดง​ว่า​มี​บาง​สิ่ง​ผิด​ปกติ.”

แผน​ปฏิบัติการ. ใน​ช่อง​ข้าง​ล่าง​นี้ เขียน​ว่า​คุณ​จะ​พูด​อย่าง​ไร​เมื่อ​นำ​เรื่อง​นี้​ขึ้น​มา​สนทนา​กับ​พ่อ​แม่.

․․․․․

ความ​เป็น​ส่วน​ตัว​และ​คุณ

ตอน​นี้​คุณ​มี​โอกาส​จะ​คิด​หา​แนว​ทาง​การ​แก้​ปัญหา​บาง​อย่าง​เกี่ยว​กับ​ความ​เป็น​ส่วน​ตัว​ด้าน​ใด​ด้าน​หนึ่ง​ซึ่ง​คุณ​เป็น​ห่วง.

ขั้น​ที่ 1: ระบุ​ปัญหา.

คุณ​รู้สึก​ว่า​อยาก​มี​ความ​เป็น​ส่วน​ตัว​มาก​ขึ้น​ใน​ด้าน​ใด​บ้าง?

․․․․․

ขั้น​ที่ 2: คำนึง​ถึง​ทัศนะ​ของ​พ่อ​แม่.

คุณ​คิด​ว่า​อัน​ที่​จริง​ท่าน​เป็น​ห่วง​เรื่อง​อะไร?

․․․․․

ขั้น​ที่ 3: ลง​มือ​แก้​ปัญหา.

(ก) คิด​ถึง​อย่าง​น้อย​สัก​จุด​หนึ่ง​ที่​คุณ​อาจ​มี​ส่วน​สร้าง​ปัญหา​โดย​ไม่​ตั้งใจ และ​เขียน​ไว้​ข้าง​ล่าง.

․․․․․

(ข) เมื่อ​คำนึง​ถึง​คำ​ตอบ​ข้าง​ต้น คุณ​จะ​เปลี่ยน​แปลง​อะไร​ได้​บ้าง?

․․․․․

(ค) คุณ​อยาก​จะ​ให้​พ่อ​แม่​ทำ​อย่าง​ไร​กับ​เรื่อง​ที่​คุณ​กังวล​ใจ?

․․․․․

ขั้น​ที่ 4: พูด​กัน​ตรง ๆ.

ใน​เวลา​ที่​เหมาะ​สม ปรึกษา​กับ​พ่อ​แม่​เกี่ยว​กับ​สิ่ง​ที่​คุณ​เขียน​ไว้​ข้าง​ต้น.

ถ้า​ต้องการ​อ่าน​บทความ​ชุด “หนุ่ม​สาว​ถาม​ว่า” เพิ่ม​เติม ให้​ดาวน์​โหลด​ตื่นเถิด! ฉบับ​อื่น ๆ จาก​เว็บไซต์ www.isa4310.com

[เชิงอรรถ]

^ วรรค 13 บาง​ชื่อ​ใน​บทความ​นี้​เป็น​ชื่อ​สมมุติ.

^ วรรค 21 ถ้า​พ่อ​แม่​ยัง​มี​ที​ท่า​ไม่​ไว้​ใจ​คุณ จง​บอก​ท่าน​ด้วย​ใจ​เย็น ๆ และ​ด้วย​ความ​นับถือ​ว่า​คุณ​รู้สึก​อย่าง​ไร. จง​ตั้งใจ​ฟัง ว่า​ท่าน​ห่วงใย​เรื่อง​อะไร และ​พยายาม​ไม่​ทำ​สิ่ง​ใด​ที่​จะ​กลาย​เป็น​ปัญหา.—ยาโกโบ 1:19

ข้อ​ชวน​คิด

• ทำไม​พ่อ​แม่​จึง​มี​สิทธิ​ที่​จะ​ไต่ถาม​เกี่ยว​กับ​ชีวิต​ของ​คุณ?

• การ​ที่​คุณ​พยายาม​พัฒนา​ทักษะ​ใน​การ​สื่อ​ความ​กับ​พ่อ​แม่​จะ​ช่วย​คุณ​อย่าง​ไร​ที่​จะ​สื่อ​ความ​กับ​ผู้​ใหญ่​คน​อื่น ๆ ใน​เวลา​ต่อ​มา?

[กรอบ/ภาพ​หน้า 19]

สิ่ง​ที่​คน​รุ่น​เดียว​กับ​คุณ​พูด

“ถ้า​หนุ่ม​สาว​พูด​คุย​กับ​พ่อ​แม่​อย่าง​เปิด​เผย พ่อ​แม่​ก็​คง​ไม่​มี​เหตุ​ผล​ใด ๆ ที่​จะ​เปิด​อ่าน​อีเมล​และ​ดู​ข้อ​ความ​ใน​โทรศัพท์​เพื่อ​รู้​ความ​เป็น​ไป​ใน​ชีวิต​ของ​ลูก.”

“ผม​จะ​ไม่​ว่า​อะไร​เลย​ถ้า​พ่อ​แม่​อ่าน​อีเมล​ของ​ผม. หาก​นาย​จ้าง​มี​สิทธิ์​อ่าน​อีเมล​ของ​ลูกจ้าง แล้ว​ทำไม​พ่อ​แม่​จะ​อ่าน​อีเมล​ของ​ลูก​ไม่​ได้?”

“พ่อ​แม่​ไม่​อยาก​ให้​คุณ​ประสบ​สิ่ง​ร้าย ๆ และ​บาง​ครั้ง​ท่าน​ก็​ดู​เหมือน​จะ​เข้า​มา​ยุ่ง​กับ​เรื่อง​ส่วน​ตัว​ของ​คุณ. มัน​ดู​ไม่​เหมาะ​เลย. แต่​ว่า​กัน​ตาม​จริง ถ้า​ดิฉัน​เป็น​แม่ ดิฉัน​ก็​คง​ทำ​อย่าง​เดียว​กัน.”

[ภาพ]

อีเดน

เควิน

แอเลนา

[กรอบ​หน้า 21]

ถึง​คุณ​พ่อ​คุณ​แม่

• ลูก​ชาย​ของ​คุณ​อยู่​ใน​ห้อง​นอน​ปิด​ประตู. คุณ​ควร​จะ​เปิด​เข้า​ไป​โดย​ไม่​เคาะ​ก่อน​ไหม?

• ลูก​สาว​ของ​คุณ​ลืม​โทรศัพท์​มือ​ถือ​ขณะ​รีบ​ไป​โรง​เรียน. คุณ​ควร​เปิด​ดู​ข้อ​ความ​ใน​โทรศัพท์​ของ​เธอ​ไหม?

ไม่​ง่าย​ที่​จะ​ตอบ​คำ​ถาม​ข้าง​ต้น. ด้าน​หนึ่ง คุณ​ก็​มี​สิทธิ์​จะ​รู้​ความ​เป็น​ไป​ใน​ชีวิต​ของ​ลูก​วัยรุ่น​และ​มี​หน้า​ที่​ต้อง​ป้องกัน​เขา​ให้​พ้น​อันตราย. อีก​ด้าน​หนึ่ง คุณ​จะ​เป็น​พ่อ​แม่​ที่​สอดส่อง​ดู​แล​ลูก ๆ ทุก​ฝี​ก้าว​อย่าง​ไม่​ไว้​วางใจ​ตลอด​ไป​ไม่​ได้. แล้ว​คุณ​จะ​ดูแล​ลูก​อย่าง​สมดุล​ได้​อย่าง​ไร?

ประการ​แรก ตระหนัก​ว่า​ความ​ต้องการ​ของ​ลูก​วัยรุ่น​ที่​จะ​มี​ความ​เป็น​ส่วน​ตัว​ไม่​ใช่​เรื่อง​ที่​ต้อง​วิตก​เสมอ​ไป. บ่อย​ครั้ง​นั่น​คือ​ส่วน​หนึ่ง​ของ​การ​เติบโต​ตาม​ปกติ. ความ​เป็น​ส่วน​ตัว​ช่วย​วัย​รุ่น​ทดสอบ​ความ​สามารถ​ของ​เขา​ด้วย​การ​สร้าง​มิตรภาพ​และ​คิด​ใคร่ครวญ​วิธี​แก้​ปัญหา​โดย​อาศัย “ความ​สามารถ​ใน​การ​ใช้​เหตุ​ผล.” (โรม 12:1, 2) นอกจาก​นั้น ความ​เป็น​ส่วน​ตัว​ช่วย​วัยรุ่น​พัฒนา​ความ​สามารถ​ใน​การ​คิด ซึ่ง​เป็น​คุณสมบัติ​สำคัญ​เพื่อ​พวก​เขา​จะ​เป็น​ผู้​ใหญ่​ที่​มี​ความ​รับผิดชอบ. (1 โครินท์ 13:11) ความ​เป็น​ส่วน​ตัว​ยัง​ทำ​ให้​เขา​มี​โอกาส​ได้​ไตร่ตรอง​ก่อน​ตอบ​ปัญหา​ยาก ๆ ด้วย.—สุภาษิต 15:28

ประการ​ที่​สอง จง​ตระหนัก​ว่า​ความ​พยายาม​ที่​จะ​ควบคุม​ชีวิต​ของ​ลูก​วัยรุ่น​ทุก​ฝี​ก้าว​อาจ​ทำ​ให้​เกิด​ความ​ขุ่นเคือง​และ​การ​ขืน​อำนาจ. (เอเฟโซส์ 6:4; โกโลซาย 3:21) ทั้ง​นี้​จะ​หมาย​ความ​ว่า​คุณ​ควร​ปล่อย​ตาม​ใจ​ลูก​ไหม? ไม่​ใช่ เพราะ​คุณ​ก็​ยัง​คง​เป็น​พ่อ​แม่​ของ​เขา. อย่าง​ไร​ก็​ตาม เป้าหมาย​ของ​คุณ​คือ​ช่วย​ให้​ลูก​มี​สติ​รู้สึก​ผิด​ชอบ​ที่​ได้​รับ​การ​ฝึกฝน. (พระ​บัญญัติ 6:6, 7; สุภาษิต 22:6) ท้าย​ที่​สุด การ​ชี้​นำ​ก็​เกิด​ผล​ดี​กว่า​การ​ควบคุม​อย่าง​เข้มงวด.

ประการ​ที่​สาม พิจารณา​เรื่อง​นี้​กับ​ลูก​วัยรุ่น. ฟัง​สิ่ง​ที่​เขา​เป็น​ห่วง. อาจ​มี​บาง​ครั้ง​ที่​คุณ​จะ​ยอม​เขา​ได้​ไหม? (ฟิลิปปอย 4:5) บอก​ลูก​วัยรุ่น​ว่า​คุณ​จะ​ให้​เขา​มี​ความ​เป็น​ส่วน​ตัว​ใน​ระดับ​หนึ่ง​ตราบ​เท่า​ที่​เขา​ไม่​ทรยศ​ความ​ไว้​วางใจ​ของ​คุณ. บอก​ถึง​ผล​ของ​การ​ไม่​เชื่อ​ฟัง และ​จง​ทำ​ตาม​ที่​พูด​ไว้​เมื่อ​จำเป็น. จง​มั่น​ใจ​ว่า​คุณ​ยอม​ให้​ลูก​มี​ความ​เป็น​ส่วน​ตัว​ได้ โดย​ไม่​ละเลย​หน้า​ที่​ของ​พ่อ​แม่.

[ภาพ​หน้า 20]

ความ​ไว้​วางใจ​เปรียบ​ได้​กับ​เงิน​เดือน คือ​ต้อง​ทำ​งาน​เพื่อ​จะ​ได้​มา