การบินที่ใช้เครื่องยนต์
การบินที่ใช้เครื่องยนต์
นานนับหลายศตวรรษ มนุษย์เราใฝ่ฝันอยากจะบินได้. แต่มนุษย์ไม่มีกล้ามเนื้อที่แข็งแรงพอจะยกน้ำหนักตัวเองขึ้นไปในอากาศ. ในปี 1781 เจมส์ วัตต์ได้ประดิษฐ์เครื่องจักรไอน้ำซึ่งสามารถหมุนเพลาได้ และในปี 1876 นิโคเลาส์ ออทโทได้ปรับปรุงแนวคิดนี้และสร้างเครื่องยนต์เผาไหม้ภายใน. ตอนนั้นเอง มนุษย์ก็ได้เครื่องยนต์ซึ่งสามารถขับดันเครื่องบินได้. แต่ใครจะสร้างเครื่องบินล่ะ?
สองพี่น้องตระกูลไรต์ คือวิลเบอร์กับออร์วิลล์ อยากบินได้นับตั้งแต่เขารู้จักเล่นว่าวสมัยเป็นเด็ก. ต่อมา พวกเขาเรียนทักษะด้านวิศวกรรมจากการสร้างจักรยาน. พวกเขาตระหนักว่าปัจจัยหลักของการบินคือการออกแบบเครื่องบินที่สามารถบังคับได้. เครื่องบินที่ไม่สามารถบังคับให้ทรงตัวอยู่ในอากาศได้ก็ไร้ประโยชน์เหมือนจักรยานที่บังคับให้เลี้ยวไม่ได้. วิลเบอร์เฝ้าดูนกพิราบที่กำลังบินและสังเกตว่ามันเอียงตัวขณะเลี้ยว เหมือนนักปั่นจักรยาน. เขาได้ข้อสรุปว่านกเลี้ยวและทรงตัวอยู่ได้ด้วยการบิดปลายปีก. เขาได้ความคิดที่จะสร้างปีกซึ่งบิดได้.
ในปี 1900 วิลเบอร์กับออร์วิลล์ได้สร้างเครื่องบินที่มีปีกบิดได้. ทีแรก คนทั้งสองบังคับเครื่องบินให้ขึ้นไปได้เหมือนว่าว แล้วต่อมาทำเป็นเครื่องร่อนที่มีคนบังคับอยู่ในเครื่อง. พวกเขาค้นพบว่าจำเป็นต้องควบคุมสามแกนหลัก คือแกนขวางให้หัวยกขึ้นหรือกดลง, แกนตามยาวเพื่อให้เอียงไปทางใดทางหนึ่ง, และแกนแนวตั้งเพื่อเลี้ยวซ้ายหรือขวาได้. อย่างไรก็ตาม สองพี่น้องรู้สึกผิดหวังเมื่อปีกของเครื่องนั้นไม่อาจสร้างแรงยกได้มากพอ ดังนั้นพวกเขาจึงสร้างอุโมงค์ลมและทดลองปีกรูปแบบต่าง ๆ หลายร้อยแบบจนกระทั่งได้ค้นพบปีกที่มีรูปทรง, ขนาด, และมุมที่เหมาะสม. ในปี 1902 โดยใช้เครื่องบินลำใหม่ พวกเขาได้ฝึกทักษะการควบคุมเครื่องบินในกระแสลมจนเชี่ยวชาญ. ตอนนี้พวกเขาจะนำเครื่องยนต์ไปใส่ไว้ในเครื่องบินลำนั้นได้ไหม?
ก่อนอื่นพวกเขาต้องประดิษฐ์เครื่องยนต์เอง. อาศัยความรู้ที่ได้จากอุโมงค์ลม พวกเขาได้แก้ปัญหาที่ซับซ้อนของการออกแบบใบพัด. ในที่สุด เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 1903 ทั้งสองติดเครื่องแล้วใบพัดก็หมุน และเครื่องบินก็ทะยานขึ้นฝ่าลมที่หนาวจัด. ออร์วิลล์พูดว่า “เราทำได้สำเร็จแล้วตามที่เราเคยใฝ่ฝันครั้งยังเป็นเด็ก. เรารู้วิธีบินได้แล้ว.” สองพี่น้องกลายเป็นคนมีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลก. แต่พวกเขาทำได้อย่างไรจึงสามารถพาตัวเองขึ้นไปในอากาศ? ใช่แล้ว ต้องมีธรรมชาติเกี่ยวข้องด้วย.
[ภาพหน้า 4]
เครื่องบิน “ฟลายเออร์” ของพี่น้องตระกูลไรต์ นอร์ทแคโรไลนา สหรัฐอเมริกา 1903 (ภาพจำลอง)